เรื่อง เกตวิชาญ ก้อนทอง : McXO (XO Autosport)
หลังจากที่ XO Autosport ได้ติดตามข่าวของ “The Hurricane” ชื่อที่มีเพียงหนึ่งเดียวในวงการ แม้ปีนี้จะเป็นอีกครั้งที่ Mazda RX-7 ลายพายุสีฟ้าคันนี้จะเข้าร่วมการแข่งขันสุดยอดรถยนต์ทางเรียบที่เร็วที่สุดของโลก นั่นคือรายการ WTAC ( World Time Attack Championship ) แต่ทว่าในปี 2014 นี้ พี่โอ๊ต Overdrive เข้ามาช่วยควบคุมการปรับแต่งและวางแผนการแข่งขันทั้งหมด ร่วมกับสำนักทำรถแข่ง Rotary ระดับโลก อย่าง RE-AMEMIYA เข้าร่วมสู้ศึกในนามทีมแข่งจากประเทศไทย ภายใต้ชื่อทีมว่า “Overdrive M-Storm RE-Amemiya”
ดังที่เราทราบผลการแข่งขันกันเป็นอย่างดีแล้วว่า The Hurricane จบการแข่งขันด้วยอันดับที่ 5 ของรุ่น “Pro Class” และเป็นอันดับที่ 6 ของผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด ทางทีมงาน XO Autosport จึงได้ขออนุญาตนัดพี่โอ๊ตเพื่อที่จะพูดคุยถึงรายละเอียดในการแข่งขัน ครั้งนี้
พี่โอ๊ตท้าวความให้ฟังถึงจังหวะที่เปลี่ยนใจนำเจ้า Hurricane กลับมาแข่ง Time Attack เหมือนเดิม ว่าไหนๆก็จะแข่งแล้ว ก็ต้องเอาจริงกันหน่อย จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลทุกๆส่วนของตัวรถ เพื่อที่จะหาคำตอบว่า “สู้เขาไม่ได้ ตรงไหน?”
หลังจากที่ปรึกษากับลุงอมิมียะ (เจ้าสำนัก RE-Amemiya) จึงได้ข้อสรุปว่า รถมีน้ำหนักมากไป
ต้องขอบอกก่อนว่า เนื่องจากรถแข่งคันนี้เป็น RX-7 ถ้าเทียบรุ่นกับรถแข่งคันอื่นๆ ถือว่าเป็นรองในเรื่องข้อจำกัดของการปรับแต่ง ด้วยบอดี้ที่มาจากยุคของเทคโนโลยีเก่ากว่า เหมือนมวยที่ชกข้ามรุ่นไปซักหน่อย โปรเจคการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมของรถคันนี้จึงเริ่มต้นขึ้น ภายใต้คอปเซปท์ของสำนัก RE-Amemiya ว่า “ต้องใช้งานได้จริง!” (เดี๋ยวจะอธิบายวลีนี้เพิ่มเติมในเนื้อเรื่อง)
ตลอดการปรับแต่งเจ้า Hurricane ลุงอมิมียะ มอบหมายให้ “นาเบะซัง” ผู้ที่สร้างรถคันนี้ขึ้นมาและดูแลเซอร์วิสมาโดยตลอด เป็นผู้ควบคุมโปรเจคนี้ และให้ “เอ็นโด้ซัง” มือจูนอันดับต้นๆของญี่ปุ่นเป็น “Tuner” ประจำรถ และอย่างที่เราทราบกันว่า ผู้ขับขี่ก็คือ “แม๊กซ์ โอริโดะ”
ทำไมต้อง โอริโดะ?
จริงๆแล้วรถคันนี้ผ่านมือนักแข่งมาแล้ว 2 คน ได้แก่ คานิกูจิ และโอริโดะ เท่าที่เคยรายงานไปแล้วถึงอุปนิสัยในการขับที่บ้าบิ่น และความสม่ำเสมอในเรื่องการทำเวลาต่อรอบ แต่สาเหตุที่แท้จริง มีมากกว่านั้น…..
จากซ้ายไปขวา : เอ็นโด้ซัง – นาเบะซัง – ลุงอมิมียะ – พี่โอ๊ต – โอริโดะซัง
ข้อแรกที่ต้องเป็นโอริโดะก็คือ นาเบะซังและโอริโดะมีความเข้าขากันในเรื่อง “ความเป็นไปในขณะนั้นของรถแข่ง” พี่โอ้ตเล่าว่า นาเบะซังถึงกับชื่นชมทักษะในการบอกอาการของตัวรถ ทั้งที่ขับเพียง 2-3 รอบแรกในตอนซ้อม ส่วนนี้ถือว่าเป็นพรสวรรค์ที่ไม่ได้มีกับนักแข่งทุกคน พี่โอ๊ตบอกว่า ทุกครั้งที่เข้าพิทในตอนซ้อม นาเบะ และ โอริโดะต่างทำงานของตัวเอง แต่รอบไหนที่โอริโดะเอามือมาตีหลังคาเบาๆตอนเข้าพิท ตอนนั้นแหละ ถึงเวลาที่นาเบะและโอริโดะจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว
ทักษะนี้ของโอริโดะก็มีประโยชน์ต่อเอ็นโด้ซัง เช่นกัน เพราะในส่วนการประมวลผลที่ใช้กล่องควบคุมและระบบเซนเซอร์ของ Motec โอริโดะสามารถอธิบายเพิ่มเติมในแต่ละจุดได้อย่างสอดคล้องกัน ทำให้หาข้อบกพร่องในของการปรับจูนแต่ละจุดได้ง่ายขึ้น
อีกอย่างที่ทีมงาน “Overdrive Hurricane Project” ชื่นชอบในความเป็นมืออาชีพของโอริโดะ ก็คือ โอริโดะลงทุนซื้อโปรแกรม Simulator เสมือนจริงของ Hurricane สเปค 2013 ในสนาม Sydney Speedway มาซ้อมทำเวลาเองที่บ้าน จนเวลาที่ได้เร็วกว่าคนขับเดิมปีที่แล้ว “1 วินาที” ซึ่งเจ้าโปรแกรมนี้ขอบอกว่า “แพงมาก”
หลังจากเซตทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านพร้อมแล้ว เจ้า Hurricane ก็ได้เวลาเดินทางจากญี่ปุ่นมาออสเตรเลียด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากยาง Yokohama ทันทีที่ถึงสนาม Sydney Speedway ในเวลา 5 ทุ่มของเวลาท้องถิ่น ทางทีมงานวางแผนไว้ว่าอยากมาก่อนซัก 2-3 วันเพื่อทำการซ้อม จะได้ไม่ทับเวลากับรถคันอื่นๆที่จะเดินทางมาแข่งขันรายการนี้ร่วมกัน แต่ก็ต้องตกใจว่าเวลาขนาดนี้ทำไม่มีรถแข่งมาสนามอีกหลายคัน มาทราบทีหลังว่า ที่สนาม Sydney Speedway นี้ ถูกจองเต็ม “ทั้งปี” ด้วยรายการที่อยู่ในช่วง Weekday นี้เป็นรายการแข่ง Gymkhana ท้องถิ่น ทั้งๆที่บรรยากาศสนามไม่ต่างจากพีระเซอร์กิตเท่าไร ที่ต่างกันก็ในส่วน Pit ที่เป็นเหมือนพิท 2 แถวหันหลังชนกัน ทำให้รถที่ใช้พื้นที่เซอร์วิสนอกจากจะมีด้านซ้ายและขวาแล้ว ยังมีด้านหลังด้วย สิ่งนี้ถือว่าเป็นวัฒนธรรมทางมอเตอร์สปอร์ตที่น่าชื่นชมเลยทีเดียว
แม้สัปดาห์นั้นจะตรงกับการแข่งขัน D1 ที่ประเทศญี่ปุ่น และทีม RE-Amimeya ก็มีลุ้นกับรายการนี้ แต่ลุงอมิมียะก็ยกทีมใหญ่มาร่วมการแข่งขัน WTAC 2014 แบบ “Full Team” ด้วยหวังกับการแข่งขันนี้ไว้มากเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม การแข่งขันถูกแบ่งออกเป็นรุ่น ซึ่งในรุ่นที่ Overdrive M-Storm RE-Amemiya ลงแข่งขันก็คือรุ่น Pro Class รุ่นใหญ่สุดของการแข่งขัน นอกจากรถแข่งจะเป็นรุ่นที่เปิดการปรับแต่งแบบ Maximum แล้ว กติกาก็กำหนดเอาไว้ว่า นักแข่งต้องเป็นระดับ Pro ด้วย และนี่คืออีกเหตุผล ว่าทำไมต้องเลือกนักขับกันขนาดนี้ การเซตของรถที่ลงทำการจับเวลาในวันนี้ ทีมแข่งส่วนใหญ่จะทำการวอร์มและสร้างความคุ้นเคยกับสนามก่อน พูดง่ายๆว่า “อม” ไว้นั่นเอง เพราะถ้าทีมแข่งอื่นๆ รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง จะต้องหาทางเพิ่มขีดจำกัดให้เหนือกว่าคู่แข่งไปอีกแน่นอน
จนวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม เริ่มจัดอันดับให้เหลือ 5 คันแรกของรุ่นเพื่อไปวิ่งทำเวลารอบ Super Lap ในวันอาทิตย์ วันนี้ต่างคนต่างเริ่มปล่อยของออกมาเรื่อยๆ โดยจะวิ่งอัดเต็มที่ให้ถึงขีดสุดของรถและเก็บรถเลย ถ้าฝืนวิ่งต่อรถอาจจะ “พัง” ทำให้เสียโอกาส แต่คอนเซปท์ของ RE-Amimeya คือ “ต้องวิ่งได้จริง” Hurricane ของเราภายใต้การควบคุมของโอริโดะจึงวิ่งขยับความเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านการจัดอันดับไปแข่งขันในวันอาทิตย์ นี่ถือว่าเป็นจุดเด่นของรถแข่งตามคอนเซปท์สำนัก ที่สามารถวิ่งในขีดจำกัดสูงสุดได้อย่างต่อเนื่อง สังเกตรถคันอื่นๆ จะวิ่งทำเวลาเพียงไม่กี่รอบต่อวันแล้วเก็บรถ เนื่องจากรถวิ่งเกินขีดจำกัดแล้วนั่นเอง หลังจากจบการแข่งขัน โอริโดะปรึกษากับทีมงานว่าการจะวิ่งให้ทะลุ 1 นาที 27 วินาที ถือว่าต้องเสี่ยงเอาแล้ว ที่ประชุมจึงสรุปว่า มาแล้วถ้าป๊อดจะมาทำไม ดังที่คนญี่ปุ่นจะมีคำพูดติดปากว่า “ถ้ามาแล้วไม่เต็มที่ กลับบ้านก็เสียใจตาย”
วันอาทิตย์ในรอบ Super Lap โอริโดะ ทำเวลาได้ดีขึ้นอีกเล็กน้อยแต่ก็เสียโอกาสในรอบสุดท้ายเมื่อรถคันที่ปล่อยออกไปในลำดับก่อนหน้าเกิดความเสียหาย จึงต้องยกเท้าออก ทำให้ได้เวลาที่ดีสุดของทัวนาเม้นท์ที่ 1:27.341 นาที
หลังจากที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจของทุกคนในทีมมาทั้งหมด เพื่อตัวเลข 1:27.341 นาที ถือว่าคุ้มหรือไม่?
พี่โอ๊ตบอกว่า คุ้ม!
1 เพราะที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ Scoop ที่แล้ว ผมตั้งเป้าไว้ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม แต่นี่เราเร็วขึ้น 3 วินาที ถ้าเทียบกับทีมอื่นๆแล้ว เราเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้เราจะจบที่อันดับที่ 5 แต่เราได้พัฒนามาจากจุดเดิมแล้ว แถมยังได้รู้ข้อดีข้อเสียในการทำรถครั้งนี้หลังจากผ่านการแข่งขันจริงอีก เราค้นพบแล้วว่า การเพิ่ม Down Force คราวนี้ทำให้ เกิด Drag Force (แรงต้าน)ขึ้นมาด้วย ปีหน้าถ้าแก้ไขได้ รถเราก็ต้องเร็วขึ้นอีกอย่างแน่นอน
2 นี่เป็นการแข่งขันอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากที่เคยๆมา มันเป็นความสนิทสนม หลายๆทีมก็ช่วยเหลือกันทั้งในเรื่องอุปกรณ์ ของแต่ง บางทีมมีปัญหาเรื่องกล่อง ECU ถึงขนาดไม่สามารถแข่งขันต่อได้ แต่ก็ยังอยู่ในการแข่งขัน เผื่อจะช่วยเหลือทีมอื่นได้ การแข่งขันแบบนี้ ถ้าแพ้ก็ไม่เสียใจเลย เพราะแม้ว่าแข่งเต็มที่แล้วแพ้ ก็แพ้เพื่อนกันอยู่ดี ถือว่าการแข่งครั้งนี้ ทำให้พวกเรามาไกลขึ้นอีกขั้น…
3 การแข่งขันนี้สร้างความหวังใหม่อีกอย่างให้กับคนไทย เพราะที่แข่งก็เพื่ออยากให้มีทีมไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกรายการหนึ่ง แม้ปีนี้จะยังไม่มีคนเชียร์มากเท่าไร แต่ปีหน้าเราแข่งอีกแน่นอน ถึงตอนนั้น ขอให้คนไทยร่วมเชียร์พวกเราอีกครั้ง
พี่โอ๊ตเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า มีโอกาสได้คุยกับคุณเอียน เบคเกอร์ ซีอีโอของ WTAC คุณเอียนบอกว่า ดีใจอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความตั้งใจใหม่ๆ เข้ามาสู่วงการ Time Attack หลังจากนี้ The Hurricane ไม่ได้เป็นเหมือนเดิมแล้ว เชื่อว่าปีต่อๆไปต้องพัฒนาขึ้นไปอีก และครั้งนี้จะเป็นกรณีศึกษาให้กับหลายๆทีม อีกทั้งยังเป็นแรงบรรดาลใจใหม่ของคลื่นลูกต่อๆไปอีกด้วย
แผนสำหรับปีหน้า พี่โอ๊ตเตรียมเทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่มาช่วยออกแบบการปรับแต่งเจ้าเฮอริเคนแล้ว โดยจะนำรถเข้าสู่ขั้นตอนที่ชื่อว่า CFD (Computational fluid dynamics) ถ้าส่วนนี้จบแล้ว ขั้นตอนอื่นๆก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะเร็วกว่าเดิมอีกมากขึ้นแค่ไหน XO จะติดตามข่าวคราวต่อไปและนำมารายงานให้แฟนๆทราบเป็นระยะครับ
ขอขอบคุณ Special Thanks : รูป Photo Re-Amimeya & Story พี่โอ๊ต Oat Overdrive
Xtra Ordinary : จริงๆแล้วลุงอมิมียะมาสอบถามพี่โอ๊ตว่า “ปีนี้ Hurricane อยู่ภายใต้การดำเนินงานของทีมแข่งจากประเทศไทยแล้ว โอ๊ตจะเปลี่ยนเป็นลาย Overdrive มั๊ย” พี่โอ๊ตบอกว่า Hurricane ก็คือ Hurricane ติด Sticker ตามลายเดิมนั่นแหละครับ เดี๋ยวผมหาวิธีให้เป็นไปได้เอง……..