วิถี ECO CAR Mod. : TRIO BRIO EPISODE II : 1.5 L Battle

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่, ศราวุธ เวียงสมุทร    

                อู่…ตาพูน & AKE ENGINE

                พาชมพันห้าซิ่ง สเต็ปไหนเวิร์กสำหรับคุณ

        กลับมาพบกันอีกครั้งตามสัญญา XO TEST กับ “วาระต่อเนื่อง” จากคราวที่แล้ว พาชม “พันสองจ้องจะแรง” ใน BRIO โมดิฟาย 3 สเต็ป เพื่อเป็น “ทางเลือกสำหรับผู้อ่าน ที่กำลังจะเลือกโมดิฟายในสเต็ปต่างๆ” จะได้พิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” ที่เจ้าของรถจะต้องประเมินด้วยตัวเองเท่านั้น !!! เล่มนี้ต่อกันเลยกับสเต็ป “พันห้าพาซิ่ง” ด้วยการเอาเครื่อง L15A ยกลงไปแทนที่ L12A ทั้งตัว เพื่อเพิ่มความจุ และต่อยอดในการโมดิฟายได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วย “งบประมาณที่สูงขึ้น” ในการซื้อเครื่องมาใส่ ก็อยู่ที่ว่าคุณยอมจะเสียตรงนี้หรือเปล่า และต้องการแรงม้าขนาดไหน ถ้าอยากต่อยอดง่ายๆ ก็ต้อง “ยอม” ครั้งนี้เรามีการโมดิฟายบนพื้นฐานเครื่อง L15A มา 3 สเต็ป แบบ “วิ่งถนนได้” เช่นเดิม คันแรก “เปลี่ยนเครื่อง โมฯ นิดหน่อย ไม่หอย” จาก อู่…ตาพูน คันที่สอง “เอ็นเอ จัดเต็ม” คันที่สาม “เทอร์โบ โมฯ มันส์ๆ” สองคันนี้จาก AKE ENGINE ชอบคันไหน อ่านแล้วเลือกเอง เข้าใจตรงกันนะ…

 

จุดประสงค์ในการทดสอบ

 

–                    เพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับผู้อ่าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานและขับขี่ รวมถึงงบประมาณที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จะได้มี Choice ให้กับตัวเอง ว่าควรจะเลือกทางไหน ให้เหมาะสมกับตัวท่านเองที่สุด…

–                    คอลัมน์นี้ “ไม่ใช่การนำรถมาแข่งขัน” เพื่อเอาเวลาที่เร็วที่สุด หรือแรงม้าที่มากที่สุด หรืองบประมาณแพงที่สุด มาเป็นตัวตัดสิน เราจะนำเสนอเป็น “การทดสอบ” หลายๆ แบบ ในพื้นฐานรถพิกัดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ว่าในแต่ละคัน หรือการโมดิฟายแต่ละ Steps ให้ผลออกมาอย่างไร โดยมี Comment จากทางทีมงาน XO AUTOSPORT และทาง Speed Shop ที่ทำรถคันนั้น เป็นส่วนประกอบในการพิจารณา…

–                    ในการโมดิฟายแต่ละ Step นั้น เราจะใส่ “งบประมาณ” ที่เจ้าของรถได้จ่ายจริงมาด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาสำหรับการโมดิฟาย  Step นั้นๆ โดยจะ “เป็นราคารวมของการโมดิฟายเครื่องยนต์ อุปกรณ์กล่อง ECU และระบบส่งกำลังเท่านั้น” ไม่รวมของแต่งอื่นๆ ส่วนราคาที่นำมาอ้างอิงนี้ จะเป็นราคาที่เจ้าของรถได้แจ้งมากับทางเรา “ราคาที่แสดงจะไม่ได้เป็นมาตรฐานตายตัว” ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ประกอบกันหลายส่วน ควรจะสอบถามราคากับ Speed Shop ที่ท่านจะนำรถไปโมดิฟายให้แน่ชัดก่อนลงมือทำทุกครั้ง…

–                    สำหรับ Speed Shop ที่เราเลือกมาแต่ละครั้ง จะพิจารณาจากผลงานการโมดิฟายที่เห็นได้ชัดเจน แต่ “ไม่ได้เป็นการเชียร์ หรือรับประกัน ว่า Speed Shop ที่เรานำเสนอ จะต้องดีที่สุด” และทาง XO AUTOSPORT ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ Speed Shop ที่นำเสนอแต่อย่างใด ซึ่งท่านสามารถเลือกโมดิฟายกับ Speed Shop ที่อื่นๆ นอกเหนือจากที่นำเสนอมานี้ก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล…

อุปกรณ์และสถานที่ทดสอบ

–                    เครื่องมือ Drift Box สำหรับวัดค่าอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ในเงื่อนไข 0-100 กม./ชม. และ 0-402 ม.

–                    โปรแกรมคำนวณความเร็ว Gear Calculator (ใช้ต่อเมื่อกรณีที่ทราบอัตราทดเกียร์ และอัตราทดเฟืองท้ายของรถที่นำมาทดสอบอย่างแน่ชัดเท่านั้น)

–                    แท่นวัดแรงม้า DYNOJET สนาม Bangkok Drag Avenue (สนใจวัดแรงม้า ติดต่อ ช่างต่อ ลพบุรี โทร. 08-9802-3080)

สนาม Bangkok Drag Avenue สำหรับการทดสอบจับเวลา และถ่ายทำคอลัมน์

 

First Step : BRIO อู่…ตาพูน  

BRIO ขาวนวลชวนสยิว จาก อู่…ตาพูน ใน First Step คันนี้ ไม่มีอะไรมาก เปลี่ยนเครื่องเป็น L15A แต่ยังไม่มีการโมดิฟายที่ตัวเครื่องยนต์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่สเต็ป “กล่อง กรอง ท่อ ปาดฝา” แค่นั้นเอง ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากรู้ว่า พอเปลี่ยนเครื่องแล้วจะได้ผลที่ดีขึ้นแค่ไหน จริงอยู่ว่าคงไม่มีใครจะทนขับ L15A เดิมๆ ได้นาน ส่วนใหญ่แล้ววางลงไปก็มักจะ “ต่อยอด” ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก่อนจะต่อยอดนั้น ต้องรู้ “พื้นฐาน” ก่อน ว่ามันจะไปยังไง หลายคนไม่ให้ความสำคัญกับพื้นฐาน จึงต่อยอดไม่ถึงฝั่งฝันครับ…

Comment : อู่…ตาพูน  

                สำหรับงบประมาณในการทำ ราคาเครื่องยนต์ L15A ของคันนี้ อยู่ที่ 45,000 บาท เป็นเกียร์ออโต้มา เลยสลับเอาเกียร์ L12A มาใส่ ส่วนกล่อง HKS F-CON V-PRO กล่องทอง อยู่ที่ “42,000 บาท” ค่าจูนพร้อมวายริ่ง “12,000 บาท” ชุดคลัตช์ “8,500 บาท” ชุดท่อไอเสียประมาณ “8,500 บาท” รวมเป็น “116,000 บาท” สำหรับฟีลลิ่งที่ได้หลังจากทำเสร็จแล้ว อัตราเร่งดีกว่าเดิมแบบชัดเจน แรงบิดมาดีขึ้น ขับสนุก ประหยัดน้ำมันไม่ต่างจากเดิม เป็นเพราะ BRIO น้ำหนักเบากว่า JAZZ จึงเห็นผลในเรื่องนี้ การใช้งานก็ไม่มีปัญหา ขับได้เหมือนรถสแตนดาร์ด…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี 

                สำหรับการเปลี่ยนเครื่อง L15A นั้น เป็นทางเลือกที่อาจจะ “แพงตอนต้น” เพราะค่าเครื่องก็ปาเข้าไป 40,000 กว่าบาทแล้ว และต้องเสี่ยงกับสภาพเครื่องที่ได้มาว่าจะสดจริงหรือเปล่า ตรงนี้ถ้าเจอ “อู่มีคุณธรรม” และ “เป็นงาน” รับประกันสภาพเครื่องด้วยก็จะยิ่งอุ่นใจ ถ้าจะพิจารณากับงบประมาณ “116,000 บาท” เทียบกับแรงม้า “117.41 PS” ก็อาจจะดูสูงสักหน่อย แต่ผมก็คิดว่า คนที่ลงทุนเปลี่ยนเครื่อง L15A คงไม่ได้พอใจกับการขับสเต็ปเดิมๆ อย่างนี้ตลอดไปแน่นอน ต้องมีการ “ต่อยอดในอนาคต” ซึ่ง L15A จะได้ความแรงมากกว่า L12A อย่างเห็นได้ชัด การตัดสินใจก็อยู่ที่ท่านแล้วครับ ว่ามีจุดมุ่งหมายในการโมดิฟายอยู่ตรงไหน และสามารถจ่ายได้หรือไม่…

Max Power : 117.41 PS @ 135 km/h

                ย้ำอีกที แรงม้าของแท่น DYNOJET ที่นี่ เป็น Wheel Horsepower หรือ “แรงม้าที่ล้อ” นะครับ ตัวเลขอาจจะดูไม่ “หะ-รู-หะ-รา” มาก แต่เราชอบ เพราะมันคือ “ม้าใช้งาน” จริงๆ เงื่อนไขก็เหมือนเดิม คือ วัดที่เกียร์ 3 เหมือนกันทุกคัน เอาละครับ ถ้าเทียบกับ L12A สเต็ปแรกแล้ว ลักษณะกราฟแรงม้าก็คล้ายกัน แต่  L15A จะขึ้นเร็วกว่า ได้แรงม้ามากกว่า L12A ตามประสาเครื่องใหญ่กว่า ค่อนข้างจะเป็น Flat Torque ทำให้การตอบสนองดีขึ้น ไม่ต้องลากรอบสูงเพื่อเรียกกำลังเพียงอย่างเดียว ช่วงกลางๆ ก็ยังไปได้ดี ส่วน L12A จะต้องเน้นรอบสูงเป็นหลัก คันนี้ได้แรงม้าสูงสุด “117.41 PS” ลงล้อ ถ้าอยู่ที่ Flywheel ก็น่าจะเพิ่มไปอีก 30 PS ++ เนื่องจากหักในส่วนของการ Loss ในระบบส่งกำลังนั่นเอง ก็น่าจะสร้างอัตราเร่งที่เหนือกว่า L12A ได้อย่างชัดเจน…

0-100 km/h : 7.58 sec. @ 110.44 m 

0-402 m : 15.88 sec. @ 150.37 km/h 

                ดูกราฟการ Test Run ของคันนี้กัน เป็น “เส้นสีแดง” ในช่วงออกตัว เสียดายผิดจังหวะ “ปล่อยไหลออก” ไป ดูกราฟช่วงออกตัวนะ นอนนิ่งไหลไป ไม่มีอัตราเร่ง ก็จะทำให้เสียเวลาจุดนี้ไปอีกนิดหน่อย ส่วนจังหวะ 4-4.5 วินาที กราฟจะเป็นขยักขึ้นมา 3 ขยัก ตรงนี้เป็นไปได้สูงว่าเกิดอาการ “รถเต้น” เวลาเปลี่ยนเกียร์ 1 ไป 2 จึงมีขยักขึ้นมาแบบนี้ ถ้าจะให้ดี ก็ควรจะทำช่วงล่างเพิ่ม ดามโครงสร้างรถและช่วงล่างให้แข็งแรงขึ้น ใส่ Limited Slip ถ้าชอบขับสไตล์นี้ สำหรับอัตราเร่ง 0-100 km/h คันนี้ทำได้ “7.58 วินาที” เข้า 402 ม. ที่ “15.88 วินาที” ความเร็ว 150.37 km/h ก็ไม่เลวนักสำหรับเครื่อง L15A สเต็ปต้น ถ้าเทียบกับ L12A สเต็ปต้นด้วยกันก็เร็วกว่าประมาณ 3 วินาที ถือว่าเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนต่างตรงนี้บอกได้ว่าคุ้มหรือเปล่าที่จะลงทุนเปลี่ยนเครื่องเป็น L15A นั่นแหละครับ…

Tech Spec

ภายนอก

กระจกมองข้าง : CRAFT SQUARE              

 

ภายใน

จอ Display : Defi ZD x 2

เกจ์วัด : Defi   

เบาะ : BRIDE STRADIA

เข็มขัดนิรภัย : Sabelt  

พวงมาลัย : VERTEX

หัวเกียร์ : GREX

ชุดค้ำเสาหลัง : X-Bar

 

ระบบส่งกำลัง

ชุดคลัตช์ : BERAL

เครื่องยนต์

รุ่น : L15A 

ฝาสูบ : ปาดเพิ่มกำลังอัด

เฮดเดอร์ : อู่…ตาพูน Custom Made

กล่อง ECU : HKS F-CON V-PRO by V-Tuner    

ชุดท่อไอเสีย : PIPE WORKS

กรองอากาศ : HKS  

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : SILVER’S

ล้อ : VOLK TE37 ขนาด 7 x 15 นิ้ว

นอตล้อ : RAYS

ยาง : YOKOHAMA NEOVA AD08 ขนาด 195/50R15

เบรก : Project Mu

 

ขอขอบคุณ : อู่…ตาพูน โทร. 08-9204-3866

 

Second Step : BRIO Friend Shop & AKE ENGINE    

มาถึงสเต็ปสอง น้ำเงินสดใส จาก “Friend Shop” ที่ให้ทาง AKE ENGINE เป็นผู้จัดการโมดิฟายในส่วนของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง สเต็ปนี้วางเครื่องยนต์  L15A พร้อม “โมดิฟายฝาสูบชุดใหญ่” แต่ “ไม่พึ่งหอย” ภาพลักษณ์ก็พยายามจะเป็นรถบ้านซิ่งๆ ใช้งานได้ (บ้าง) ตอนนี้สเต็ป L15A โมดิฟายแบบไร้หอยนี้กำลังมาแรง เป็นการต่อพื้นฐานจากสเต็ปแรก ก็อย่างที่บอกว่าคงไม่มีใครวางเครื่อง L15A แล้วทนขับเดิมๆ ได้แน่นอน ลองมาดูว่า สเต็ปเต็มในแบบ N.A. จะได้สมรรถนะมากน้อยแค่ไหน…

 

Comment : Friend Shop & AKE ENGINE

                สำหรับการโมดิฟายสเต็ปนี้ ให้ AKE ENGINE เป็นคนทำเครื่องให้ทั้งหมด จะเน้นการเบ่งพลังจากเครื่อง L15A แบบ N.A ให้ได้มากที่สุด แบบโมดิฟายฝาสูบเต็ม แต่ “ท่อนล่างเดิมสนิท” อยากดูว่ามันไปได้มากแค่ไหน และไม่ต้องการใช้งบประมาณเยอะเกินไปในขั้นแรก สำหรับงบประมาณ จะแพงหน่อยในส่วนของสปริงวาล์วและรีเทนเนอร์ ราคา “25,000 บาท” แคมชาฟท์ “15,000 บาท” ชุดลิ้นเร่ง 4 ลิ้น ประมาณ “12,000 บาท” กล่อง ECU “45,000 บาท” เครื่อง “35,000 บาท” โมดิฟายเกียร์ “15,000 บาท” ลิมิเต็ดสลิป “20,000 กว่าบาท” เพลาขับ “10,000 บาท” เบ็ดเสร็จรวมจุกจิกอื่นๆ ก็ประมาณ “200,000 กว่าบาท” ครับ แต่เราก็เน้นของใหม่ทั้งหมด ยกเว้นเครื่อง ที่ไม่ได้ถอดท่อนล่าง มายังไง ใช้ยังงั้น แต่ก็ต้องมีการตรวจสภาพก่อนทุกครั้ง สำหรับเวลาควอเตอร์ไมล์คันนี้ วิ่งดีที่สุด “14.6 วินาที” ครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี 

                สำหรับการโมดิฟายเครื่องสเต็ปนี้ กับงบประมาณ 200,000 กว่าบาท ที่จัดเต็มหมด ยกเว้นท่อนล่าง นับว่าเป็นอีกสไตล์ที่กำลังฮิตกัน ณ ตอนนี้ ก็อย่างที่บอกไป ยอมเสียแพงเปลี่ยนเครื่อง ถ้าอยากได้แรงม้าเยอะก็ต้องยอม ไม่แน่เหมือนกัน การจะขุน L12A ให้ได้แรงม้าขนาดนี้ก็ต้องหมดไม่น้อยเหมือนกัน เผลอๆ จะมากกว่าด้วย เข้าแก๊บที่ว่า “ใหญ่กว่าได้เปรียบ” สำหรับแรงม้า “130.95 PS” ลงพื้น ออกฟลายวีลก็น่าจะอยู่แถวๆ 160-170 PS นับว่าใช้ได้ครับ พอมาอยู่ใน BRIO ที่น้ำหนักเบากว่า JAZZ เป็นร้อย กก. ก็จะช่วยให้อัตราเร่งรุนแรงขึ้น แต่ก็อย่างที่คาดเดากัน แรงม้าเยอะขนาดนี้ สมควรจะ “ดามช่วงล่างให้แข็งแรง” เพราะพื้นฐานของ BRIO เป็นรถที่โครงสร้างอ่อนแอ เห็นออกตัวก็ “สั่น” ทั้งคัน เป็นอย่างนี้ทุกคัน อีกประการ “โรลบาร์” ครับ อย่าลืม แม้จะอยากเป็นรถ Street แต่ความปลอดภัยก็ต้องมาก่อน…

Max Power : 130.95 PS @ 150 km/h

                ถ้าจะดูกราฟแรงม้าเปรียบเทียบกับคันสีขาว ซึ่งเป็นสเต็ปแรก ในช่วงต้นๆ ที่ความเร็ว 60-90 km/h  แรงม้าไม่ต่างกัน แสดงว่าในรอบกลางๆ ก็ยังไม่มีอะไรพิเศษ แต่หลังจาก 100 km/h ไปแล้ว สเต็ปนี้ก็จะเริ่ม “แซง” ไปทีละน้อย จนไปถึงช่วงปลายที่จะทิ้งห่างสเต็ปแรกไปอย่างเห็นได้ชัด เป็นธรรมดาของเครื่อง N.A. ที่ต้องเอา “รอบเครื่องมาปั่นแรง” ไม่เหมือนเครื่องที่มีระบบอัดอากาศ ที่จะได้เปรียบตั้งแต่ช่วงกลางเป็นต้นไปจนถึงปลาย (เดี๋ยวเรามาดูคันต่อไปเปรียบเทียบเอา) ค่าแรงม้าได้มากกว่าสเต็ปแรกอยู่ 13.54 PS อาจจะดูไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับความจุเพียงแค่ 1.5 ลิตร การเบ่งเพิ่มแรงม้าขนาดนี้ก็ต้อง “ใส่ของเยอะ” พอสมควร จึงเป็นข้อที่คนเล่นเครื่องความจุน้อยต้องยอมรับ…

0-100 km/h : 6.79 sec. @ 109.73 m 

0-402 m : 14.97 sec. @ 151.32 km/h 

                มาดูกราฟ Test Run ของคันนี้กัน (เส้นสีน้ำเงิน) ในช่วงต้น ถ้าเทียบกับอีกสองคัน มี Surprise เพราะ “คันนี้ออกตัวได้เร็วที่สุด” เร็วกว่าคันเทอร์โบอย่างเห็นได้ชัด เส้นกราฟจะโดดหนีเป็นแนวที่ราบเรียบ ออกตัวได้พอดี คนขับจับจังหวะรถได้ ไม่ออกแรงหรือห้อยเกินไป เกียร์ 1 ไป 2 จะมีฟรีทิ้งนิดหน่อย กราฟจะนอนลงไปแป๊บนึง เสร็จแล้วก็ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีขยัก แสดงให้เห็นอีกอย่างว่า “เซ็ตช่วงล่างและยางได้ดี” ไม่มีอาการเต้น หรือฟรีทิ้ง ส่วนในช่วงกลางถึงปลาย อัตราเร่งจะขึ้นนำคันสเต็ปแรกเป็นแนวขนานกัน ลักษณะ Feeling การดึงอาจจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ได้เวลาดีกว่าครับ สำหรับเวลาที่ได้ในการทดสอบครั้งนี้ กับเวลาที่เจ้าของรถได้แจ้งมา มีส่วนต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากมี Test Run Condition ที่ต่างกันเยอะ เอาน่า ก็อย่างที่บอก ไม่ได้เอามาแข่ง เอามาเป็นตัวอย่างให้พิจารณาครับ…

BRIO Fried Shop & AKE ENGINE  

Max Power : 130.95 PS @ 150 km/h

0-402 m : 14.97 sec. @ 151.32 km/h 

 

Tech Spec

ภายนอก

กระจกมองข้าง : CRAFT SQUARE

 

ภายใน

จอ Display : GReddy  

เกจ์วัด : Defi   

เบาะ : BRIDE VORGA  

พวงมาลัย : NARDI

หัวเกียร์ : CIVIC Type R

 

ระบบส่งกำลัง

ชุดคลัตช์ : AKE ENGINE

เกียร์ : Close Ratio 3-4-5 by AKE ENGINE                 

ลิมิเต็ดสลิป : M-FACTORY

เพลาขับ : TAKER DRIVER

เครื่องยนต์

รุ่น : L15A 

ฝาสูบ : AKE ENGINE  

สปริงวาล์ว : BISIMOTO

รีเทนเนอร์ : BISIMOTO

แคมชาฟต์ : AKE ENGINE Custom Made

เฮดเดอร์ : BC Turbo  

ลิ้นเร่ง : 4A-GE 20 Valves

หัวฉีด : 2ZZ-GE

หม้อน้ำ : HYBRID RACING

กล่อง ECU : AEM EMS by AKE ENGINE     

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : GAB

ล้อหน้า : BUDDY CLUB P1 ขนาด 7.5 x 15 นิ้ว

ล้อหลัง : LENSO Compact Size ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว

นอตล้อ : RAYS

ยางหน้า : TOYO R1R ขนาด 195/50R15

เบรก : ENDLESS

 

ขอขอบคุณ : AKE ENGINE โทร. 08-6330-6216

 

Second Step : BRIO AKE ENGINE    

สเต็ปสุดท้าย แรงสุดๆ กับการเล่นเครื่อง L15A โมดิฟายไส้ในเต็ม แถมยังใส่ “หอย” อีกต่างหาก เอาให้แรงสุดๆ แต่ทางเจ้าของรถก็แจ้งไว้ว่าเป็น “รถรับ ผบ.ทบ.” (ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) ขับใช้งานได้อยู่ สงสัยจะไปรับแบบด่วนๆ หรือไงก็ไม่ทราบได้ ตอนนี้สเต็ป L15A ติดหอย ใน BRIO ก็กำลัง “เริ่มมา” มีหลายสำนักที่ทำแบบนี้อยู่ กะว่าเอาให้ “ปลิว” ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งต่างๆ ก็ต้อง “รองรับ” ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วงล่างที่ต้องพัฒนาให้ดีและแข็งแรงขึ้น รวมถึง “คนขับ” ที่ต้องจับจังหวะรถให้ดี ลองมาดูกัน ว่าสเต็ปนี้จะ “แสดงผล” ออกมาอย่างไร…

Comment : AKE ENGINE

                คันนี้เป็นรถของทาง AKE ENGINE เองครับ ต้องการลองสเต็ปเทอร์โบ ทำไส้ในเต็ม เพื่อให้สามารถทนกับแรงม้าไหว และยังคงขับใช้งานได้ตามปกติ สำหรับงบประมาณคันนี้อาจจะสูงสักหน่อย เพราะเราต้องทำไส้ในเพิ่มเพื่อให้รับกับเทอร์โบ โดยเป็นของใหม่ทั้งหมด เริ่มจากเครื่อง L15A เกียร์ธรรมดา ประมาณ “32,000 บาท” ชุดไส้ใน ลูก-ก้าน-ชาฟท์ อยู่ที่ “50,000 บาท” เทอร์โบ  ประมาณ “60,000 บาท” แคมชาฟท์-สปริงวาล์ว-รีเทนเนอร์ ประมาณ “40,000 บาท” เกียร์โมดิฟาย ประมาณ “30,000 กว่าบาท” ลิมิเต็ดสลิป “20,000 กว่าบาท” ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด “30,000 บาท” กล่อง ECU “45,000 บาท” ท่อต่างๆ “20,000 บาท” เบ็ดเสร็จแล้วประมาณ “350,000 บาท” แต่ต้องเตรียมไว้เผื่อพวกค่าแรงอะไรต่างๆ อีกส่วนหนึ่งครับ สำหรับการโมดิฟายเครื่องสเต็ปนี้ วัตถุประสงค์คือ เป็นรถที่ใช้งานได้ทุกวัน และต้องวิ่งสนามได้ ถ้าจะโมดิฟายแบบ  N.A. ก็จะต้องมีแคมองศาสูง กำลังอัดสูง ซึ่งกลายเป็นว่า มันจะขับแบบรถบ้านใช้งานไม่ได้ ผมจึงเล่นทางลัดด้วยเทอร์โบ ซึ่งสามารถเพิ่มแรงม้าได้ง่าย ตัวเครื่องก็ไม่ต้อง Over Spec มาก สามารถขับใช้งานทั้งในเมืองและทางไกลได้ดีกว่า ส่วนข้อควรระวังในการเล่นเทอร์โบกับเครื่อง L15A ก็จะมีเรื่องของการจูน ที่ต้องระวังและละเอียด ถ้าพลาดคือเสียหายหนัก เพราะชิ้นส่วนเครื่องยนต์มันค่อนข้างเล็กและบอบบาง ตรงนี้ต้องยอมรับและรู้จุดกับมันครับ คันนี้เคยทำเวลาดีที่สุด อยู่ที่ “13.6 วินาที” กับอาการคลัตช์ลื่นครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี 

                ในด้านแรงม้า กับค่าใช้จ่ายระดับนี้ “อยากแรงก็ต้องจ่าย” ต้องทำความเข้าใจว่า หากเราอยาก “แรงบนเครื่องเล็ก” และเครื่องที่ไม่ได้มีพื้นฐานของระบบอัดอากาศมาแต่ดั้งเดิม ประการแรก “เราต้องสร้างความทนทานให้กับมันก่อน” โดยการใช้ของโมดิฟายเกรดดี เพื่อให้เครื่องอยู่ได้นานขึ้น จึงเป็นเงินก้อนใหญ่ที่จะต้องจ่ายก่อน และไปหนักที่ระบบส่งกำลัง ระบบช่วงล่าง เราอยากได้ความแรงจากรถเล็ก ที่กว่าจะไปถึงจุดมุ่งหมายก็ต้องทำเยอะ เป็นสิ่งที่คนเล่นรถแบบนี้แล้วจะเน้นแรงๆ ต้องเข้าใจและยอมจ่าย ในส่วนของการ Test Run คนขับ (ตี้ คนรักแมว ณ T&T GARAGE และสหาย) ก็บอกว่า ในความเร็วสูง รถมีอาการสั่นกระพือมาก เกิดอาการไม่มั่นใจ “เสียววววววว” จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่อยากฝากไว้ รถที่โมดิฟายเยอะขนาดนี้ และจะเอาไว้ใช้งานด้วย “ควรจะใส่โรลบาร์ที่ไม่เกะกะห้องโดยสารมากไป” แต่ต้องแข็งแรงเพียงพอ เพื่อดามตัวถัง และป้องกันชีวิตเวลาเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถเล็กที่ตัวถังไม่แข็งแรงพอที่จะมารับแรงม้าเยอะๆ ควรพยายามใส่อุปกรณ์เน้นความปลอดภัยให้มาก ด้วยความปรารถนาดีครับ…

Max Power : 279.68 PS @ 155 km/h

                ชัดเจนครับ กราฟที่จู่ๆ ขึ้นชันและเชิดปลายแบบนี้ มาจาก “พลังหอยถีบ” ที่บูสต์หนักถึง “1.8 บาร์” ก็อย่างที่ทางอู่บอกว่าต้องระวังในการจูน และเลือกใช้ “ของถึง” ไม่งั้นคงกระจายเป็นชิ้นคาที่ แรงม้าช่วงต้นไม่ต่างจากคันสีน้ำเงินมาก แต่จะ “มาไว” กว่า เข้าใจว่าบูสต์เริ่มมา แต่พอช่วง 110 km/h บูสต์เริ่ม Shoot ขึ้น กราฟแรงม้าจึง “โดด” เป็นมุมชันขนาดนี้ ช่วง 110-130 km/h อันนี้จะเห็นชัดเจนที่สุด เพราะ “ม้าถีบ” ตั้งแต่ 140 PS ไปถึง 250 PS กันเลยทีเดียว งานนี้ไม่ “ดึงหน้าหงาย” ก็ “ฟรีทิ้งกระจุย” มีสองอย่าง อยู่ที่ Traction ของรถว่าดีแค่ไหน (เดี๋ยวค่อยดูผลการ Test Run กัน) หลังจากนี้กราฟเริ่มนอนตัวลง แต่มีขยักๆ ที่อาจจะเกิดจากเรื่องของส่วนผสม เนื่องจากตอน Dyno เป็นช่วงบ่าย ร้อน และฝนกำลังจะตกอีก หรือไม่ก็เกิดการสั่นของช่วงล่าง ก็มีส่วนให้กราฟเป็นขยักแบบนี้ได้เหมือนกัน ผลสรุป คันนี้มีช่วงกำลังให้ใช้แบบมาไม่ช้านัก ตั้งแต่ช่วงกลางก็ถีบหนักแล้วไปเชิดตรงปลาย ก็ต้องระวังเรื่องฟรีทิ้ง และคันนี้ก็ใช้เกียร์อัตราทดชิด (Close Ratio) เข้าช่วย เพื่อให้รอบไม่ตก Power Band ครับ…

 

0-100 km/h : 6.79 sec. @ 109.73 m 

0-402 m : 14.49 sec. @ 177.10 km/h 

                ท้ายสุดและสุดท้ายกับการ Test Run ในคราวนี้ ลองดูเรื่องของเวลากันก่อน ทาง AKE ENGINE บอกว่า คันนี้ตอนขับเอง กลางคืน ได้เวลาดีสุดที่ 13.6 วินาที กับอาการคลัตช์ลื่น แต่งวดนี้มากลางวัน (อากาศร้อนอ้าวก่อนฝนเท) และไม่ได้ขับเอง เวลาที่ออกมาอาจจะไม่ได้ตามเป้า ซึ่งดีที่สุดก็อย่างที่จั่วหัวไป รถมีอาการฟรีทิ้งมาก คนขับอาจจะยังไม่ชินรถ มาดูกราฟ (สีฟ้า) จะบอกได้ชัดเจน ในช่วงออกตัว กราฟจะขึ้นช้ากว่าคันสีน้ำเงินด้วยซ้ำ ความเร็วขึ้นช้า เพราะอาการ “ฟรีทิ้ง” เยอะ คันนี้เกียร์ 1 จะทดให้ต่ำลง เพื่อลดอาการฟรีทิ้ง (กลับทางกับเกียร์ 3-4-5 ที่ต้องทดให้จัดขึ้น เพื่อเรียกอัตราเร่งในระยะควอเตอร์ไมล์) จังหวะเปลี่ยนเกียร์ 1 ไป 2 (ระยะ 4-4.5 วินาที) ช่วงนี้กราฟจะนอนลง รถฟรีทิ้ง ความเร็วไม่เพิ่ม แต่หลังจากนี้ไป พอล้อหยุดฟรี ความเร็วจะถีบขึ้นเหนือกว่าทุกคันอย่างเห็นได้ชัดจนไปสุดระยะ 402 ม. เป็นข้อดีของเทอร์โบ ที่ “ดันปลาย” หนีไปอย่างชัดเจน แต่ยังไงก็ต้องพยายามทำ Traction ให้มากขึ้น และยิ่งต้องดามช่วงล่างให้แข็งแรงขึ้นเพื่อลดอาการเต้นของล้อ ก็จะช่วยให้รถมีความเสถียรและเวลาดีขึ้นครับ …

BRIO AKE ENGINE  

Max Power : 279.68 PS @ 155 km/h

0-402 m : 14.49 sec. @ 177.10 km/h 

 

Tech Spec

ภายใน

จอ Display : Defi ZD Club Sport  

เบาะ : SUBARU IMPREZA   

หัวเกียร์ : K-TUNED  

ปรับบูสต์ : GReddy Profec Color

เกจ์ A/F Ratio : AEM

 

ระบบส่งกำลัง

ชุดคลัตช์ : AKE ENGINE

เกียร์ : Close Ratio 1-2-3-4-5 by AKE ENGINE               

ลิมิเต็ดสลิป : M-FACTORY

เพลาขับ : TAKER DRIVER

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพ : D2

ล้อหน้า-หลัง : BUDDY CLUB P1 ขนาด 7 x 15 นิ้ว

นอตล้อ : RAYS

ยางหน้า : TOYO R1R ขนาด 195/50R15

ยางหลัง : ACHILLES 123S ขนาด 195/50 R15

เครื่องยนต์

รุ่น : L15A

ฝาสูบ : AKE ENGINE  

สปริงวาล์ว : BCรีเทนเนอร์ : BC

แคมชาฟท์ : BISIMOTO Stage 2

ลูกสูบ : CP

ก้านสูบ : K1

แบริ่งชาฟท์ : CALICO

เทอร์โบ : GARRETT GTX

เฮดเดอร์ : BC Turbo

เวสต์เกต : HKS

อินเตอร์คูลเลอร์ : HYBRID Racing

โบล์วออฟวาล์ว : HKS SQV

ท่อร่วมไอดี : AKE ENGINE  

หัวฉีด : Deatschwerks 920 cc.

รางหัวฉีด : AKE ENGINE

เร็กกูเลเตอร์ : Aeromotive

กล่อง ECU : AEM EMS 4 by AKE ENGINE  

ขอขอบคุณ : AKE ENGINE โทร. 08-6330-6216