เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่
เปิดตำนาน “จตุรเทพช่วงสั้น”
รวมคัมภีร์ “รถกระบะสี่ขอ” แท้ไม่แท้ แฉกันจะจะ
สำหรับเรื่องราวของ “กระบะ” นั้น ในสมัยก่อนเราก็ไม่ใคร่สนใจ เพราะมันก็คือ “รถขนของ” เท่านั้น ขับไปก็ไม่เท่ ไม่เหมือนรถเก๋ง รถสปอร์ต ด้วยความที่รถกระบะยุคเก่านั้นผลิตมาเพื่อใช้งานจริงๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ผลิตมาให้ใช้งานสะดวกสบายเหมือนกับรถเก๋ง มันเลยถูกลืมไป แต่กาลเวลาผ่าน กระบะรุ่นเดอะถึงถูกนำกลับมาเล่นอีกครั้ง ครั้นจะเล่นกันในแบบ “เบๆ” ก็ดูจะธรรมดาเกินไป มันต้อง “รถมีเอกลักษณ์” กันหน่อย จึงมาลงเอยที่ “รถกระบะช่วงสั้น” หรือ “กระบะ 4 ขอ” ในภาษาบ้านๆ ที่ดูมัน “ทะมัดทะแมง” แต่งแล้วดูเท่ และความที่มันเป็น Rare item ที่ถึงขนาดจะต้อง “ไล่ล่าสุดหล้าฟ้าเขียวฟ้าเหลือง” กันเลยทีเดียว ดังนั้น “Reed it more” จึงต้อง “รวมฮิต 4 ขอ” ในยี่ห้อต่างๆ มาให้ชมกันเป็น “ตัวอย่าง” กับผู้ที่สนใจ…
- คำว่า “รถกระบะช่วงสั้น” ก็คือ “สั้นทั้งกระบะ ช่วงล้อ แชสซี” ทำให้รถดูสปอร์ตมากขึ้น ขับง่าย เพราะมิติเหมือนกับรถเก๋ง ได้รับความนิยมสูง เพราะหายาก
อะไร??? คือ 4 ขอ???
ขอเปิด Intro ก่อนละกันนะ ในอดีต รถกระบะจะมี “ตะขอข้าง” อยู่ตรงร่องเอวของใบกระบะท้าย เพื่อเอาไว้ “รัดของ” แต่ในช่วงหนึ่งแล้วมันดูไม่เท่ ดูเก่า โบราณ ก็เลยเปลี่ยนแบบมาเป็น “อุดเอว ไร้ตะขอ” ด้านนอก ย้ายมาอยู่ด้านในแทน โดยมากจะเป็นรถสไตล์ “แค็บ” หรือ “ดับเบิ้ลแค็บ” (4 ประตู) ที่ไม่เน้นการบรรทุกมากนัก จะใช้ออกแนวรถครอบครัวเสียมากกว่า จะมีก็ “หัวเดี่ยว” สายบรรทุกแน่นๆ จะมีตะขอไว้เหมือนเดิม…
- จริงๆ แล้ว กระบะช่วงสั้นก็เป็นรถที่มีขายในบ้านเรา เพียงแต่บางรุ่นจะไม่ได้ขายอย่างเป็นทางการ รู้กันวงใน ไปซื้อออกมาเท่านั้น
ย้อนกลับมาที่เรื่อง อะไรเรียกว่า 4 ขอ หรือ 5 ขอ นั้น มันไม่ใช่เรื่องของ “ทะเบียน” เช่น 4 ข – 5 ข ห่าเหวอะไรทั้งสิ้นนะ ก่อนอื่นขอเหลาในอดีต กระบะที่ขายในบ้านเราบางรุ่นก็จะมีให้เลือกกันระหว่าง “ช่วงสั้น” หรือ “Regular bed” ที่กระบะท้ายจะมีตะขอเพียง 4 อัน จึงเรียกว่า “4 ขอ” ส่วน “ช่วงยาว” หรือ “Long bed” อันนี้จะเห็นได้มาก เพราะคนส่วนใหญ่ซื้อรถมาเพื่อ “ใช้งานบรรทุก” เป็นหลัก ซื้อทีก็เอาให้คุ้มเลยคันเดียวถูกไหมล่ะ รถช่วงสั้นจึงขายได้แค่ “เฉพาะกลุ่ม” เท่านั้น เพราะบรรทุกได้น้อยกว่า แต่อาจจะโดนใจคนที่ไม่ชอบรถช่วงยาวเกะกะ เน้นใช้งาน ไม่บรรทุกหนักอะไรมากมายนัก หรือวิ่งในภาคเหนือ ขึ้น–ลงเขา ทางโค้งเยอะ รถช่วงสั้นจะ “ปราดเปรียวเลี้ยวง่าย” กว่า ดังนั้น มันจึงเป็น Rare Item ไง…
มักจะเจอในหน่วยงานต่างๆ
รถสเปกแปลกๆ พวกนี้ ที่เห็นบ่อยก็เป็นหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ยกตัวอย่างนะ) ก็จะสั่งรถสเปกพิเศษเหล่านี้เข้ามาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับงานที่ทำ ของราชการจะสั่งรถที่เป็น Lot ใหญ่ๆ หลายๆ สิบคัน ก็เลยมีสิทธิที่จะเลือกสเปกพิเศษที่บางรุ่นไม่มีขายตามโชว์รูมได้ บางทีเจอ “ช่วงสั้นขับสี่” อีกนะ เวลาไปเดินดูที่จอดรถหน่วยงานราชการใหญ่ๆ อาจจะเจอ Rare Item จอดโชว์โฉมอยู่ก็ได้ รถพวกนี้ถึงเวลาก็ “จำหน่ายออก” และ “รอการประมูล” ส่วนใหญ่คนที่ได้ก็ “คนใน” นั่นแหละครับ พอได้มาก็ออกมา “แห่” ได้ราคาดีก็ปล่อย เป็นธรรมชาติของธุรกิจการซื้อ–ขาย ครับ…
ผลิตจำนวนไม่มาก เพื่อเป็นพื้นฐานในการผลิตรถ PPV
อีกเรื่องที่กระบะช่วงสั้นถูกผลิตขึ้นมา บางยี่ห้อก็มีปริมาณน้อยสำหรับตลาดเมืองไทย เผลอๆ ก็ขายกัน “หลังไมค์” อย่าง REVO ช่วงสั้น ที่กำลังเล่นกันอยู่ตอนนี้ “ไม่มีบนโชว์รูม” นะครับ แล้วก็ไม่มีทุกโชว์รูมด้วย บางทีเซลส์ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีขาย เรื่องของเรื่อง กระบะช่วงสั้นจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็น “ต้นแบบของรถ PPV” PPV คือ Pickup Passenger Vehicle บางทีก็ว่า Pickup Platform Vehicle แปลรวมๆ ว่า “รถอเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจากรถกระบะ” ประมาณนี้ก็แล้วกัน ซึ่ง PPV จะเป็นชื่อที่ใช้ “เฉพาะในประเทศไทย” เท่านั้น รถ PPV จะใช้พื้นฐาน “แชสซีช่วงสั้น” ดังนั้น จึงต้องมีการผลิตกระบะช่วงสั้นขึ้นมา เพื่อเป็น “ตัวพื้นฐาน” ในการดัดแปลงเป็น PPV นั่นเอง…
สั้นไม่สั้น แท้ไม่แท้
คำว่า “รถกระบะช่วงสั้น” นั้น ความแท้ของมันจะต้อง “สั้นทั้งคัน” หัวเก๋งเหมือนกัน แต่ช่วง
“หลังจากหัวเก๋งไปจนถึงซุ้มล้อหลังจะสั้นกว่ากระบะช่วงยาว” ทำให้ “ช่วงล้อสั้นลงด้วย” ดังนั้น แชสซีก็จะต้องสั้นตามไปด้วย ไม่ใช่เจอรถ “ตัดตูด” เห็นเป็น 4 ขอ จริง แต่ “ช่วงล้อยาวเท่า 5 ขอ” อันนั้นก็ไม่ใช่นะครับ (บางคนก็ตัดออกเพื่อใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ) เอาเป็นว่า ถ้ารถช่วงสั้นแท้จะต้อง “รหัสตรง” และ “ไม่มีรอยตัด” ย้อนไปยุค 90 กระบะซิ่งจะนิยม “ตัดเป็นช่วงสั้น” เพราะดูสวย โดยดูมิติของรถแท้ แต่ก็อาจจะไม่เป๊ะไปทุกคัน เพราะสมัยก่อนได้แต่ “ดูรูป” และตัดกันตามความต้องการเป็นหลัก ยุคใหม่นี้จะดีหน่อย เพราะสามารถ Download สเกลรถ แล้วทำตามนั้นได้ การทำก็เนียนกว่าเดิมเยอะ หากคนที่ไม่มีประสบการณ์จะดูได้ยาก ก็ต้อง “พึ่งศาสดา” ผู้มีประสบการณ์เป็นหลักในการหาข้อมูล ที่แน่ๆ “ดูเล่มทะเบียน” และ “ดูรหัส” เพราะรถช่วงสั้นจะมีรหัสที่ไม่เหมือนกับช่วงยาว จะให้ดีก็หา “รถแห้งเดิม” สภาพสวย “ไม่เคยทำ” หรือถ้าจะไปซื้อรถที่ Built มาแล้ว พยายามหาจากกลุ่มที่เล่นอยู่ อย่างกลุ่ม “กระบะช่วงสั้น” หรือ SWP (Short Wheel Base Pickup) ยังไงลองหาข้อมูลเยอะๆ ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจก็ได้ครับ…
“ตัดสั้น” ต้องเจออะไรบ้าง
ผมเชื่อว่าใครๆ ก็อยากจะได้รถช่วงสั้นแท้ แต่ด้วย “ความหายาก” และ “ราคา” ที่สูง เพราะเป็นสิ่งที่คน “เล่น” กันเยอะ ไม่ใช่แค่บ้านเราซะด้วย แต่หลายคนก็อาจจะไม่พร้อม เลยคิดที่จะหารถช่วงยาวที่มีราคาถูก นำมา “ตัด” ทำเป็นช่วงสั้น ถามว่าทำได้ไหม “ทำได้ครับ” แต่จะมีสิ่งที่ตามมา ก็คือ “เกิดปัญหาในการต่อทะเบียน” เพราะเท่ากับว่า “ดัดแปลงสภาพรถ” อันนี้ทางคนเล่นว่ามาอย่างนี้ อีกเรื่อง “ราคาร่วง” รถที่ดัดแปลงคนจะไม่เล่น รถช่วงยาวอาจจะถูกจริง แต่โดนค่าทำไปก็ไม่ถูก พอเบื่อ ขายต่อก็ไม่ได้ราคา สู้ใจเย็นๆ เก็บตังค์ รอจังหวะหาเล่นรถแท้ไปเลยจะดีกว่าไหม อันนี้ลองตัดสินใจกันเองนะครับ…
- คำว่า “กระบะ 4 ขอ” ก็นับ “ขอยึด” ท้ายกระบะ เป็นศัพท์ที่เรียกง่ายๆ ในบ้านเรา และเสน่ห์อีกอย่างของกระบะยุคเก่า ก็คือ “รั้วกระบะหลังหัวเก๋ง” หรือ “หัวเตียง” ที่ดูคลาสสิก กระบะยุคใหม่ในบ้านเราไม่มีเพราะดูแล้วเชย แต่จริงๆ รถตัวนอกมีหมดนะครับ เพราะมันใช้ประโยชน์ได้จริง
TOYOTA HILUX “HERCULES”
เริ่มกันจาก “เก่าสุด” กันก่อน สำหรับเจ้า HILUX Gen 3 ยุค 80’s ในบ้านเราจะตั้งชื่อเก๋ๆ ว่า “ไฮลักซ์ ฮีโร่ เฮอร์คิวลิส” สื่อความหมายถึง “จอมพลัง” โดยมี Presenter คือ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” พระเอกกล้ามโตในจอแก้ว ที่ปัจจุบันทำประโยชน์เพื่อสังคม (ร่วมกับน้องชายฝาแฝด “เอกพันธ์”) ในยุคก่อน รถกระบะก็จะมีให้เลือกช่วงสั้นและยาวเป็นปกติ ไม่ต้องสั่งพิเศษ เพียงแต่รถช่วงสั้นคนจะนิยมน้อยกว่า มันเลยกลายเป็นของหายากไป คันนี้เป็นของ “ตอง” นักแข่ง Souped up สาย HONDA เชื่อเถอะว่าย้อนไปหลายปีก่อน รถแบบนี้ไม่อยู่ในสายตาเขาแน่ๆ แต่ตอนหลัง “บรรลุสัจธรรม” เล่นรถซิ่งมาเยอะ จนอยากเปลี่ยนแนว หันมาเล่นกระบะช่วงสั้นกันอย่างลงลึก เพราะแต่ก่อนที่บ้านก็ใช้รถกระบะทำมาหากิน แต่จะมีเสน่ห์อะไร รถก็ไม่แรง ไม่ซิ่ง แต่มัน “เท่ ไม่เหมือนใคร ปลอดภัย ใช้งานได้” เมียก็ Happy เพราะไม่ต้องเสี่ยงเหมือนรถซิ่งแรงๆ ลองดูรายละเอียดกันครับ…
- รหัส : รถช่วงสั้น จะใช้รหัส “LN51” ส่วนช่วงยาว จะเป็น “LN50” ครับ…
- สีภายใน : ถ้าเป็นรถรุ่นแรกๆ จะเป็นภายใน “น้ำตาล” ส่วนคันนี้เป็นรุ่นหลังๆ จะเป็นภายใน “เทา” และ “มีวัดรอบ” มาด้วย…
- 2.45 D : ออกจะงงๆ หน่อย เพราะปกติแล้วก็จะแค่ 2.4 D (D = ดีเซล) หรือไม่ก็ 2.5 ไปเลย คืองี้ เครื่องของรุ่นนี้จะเป็น “2L” แบบ “ฝาวาล์วเหล็ก” รุ่นเก่า ความจุ “2,446 ซี.ซี.” ก็เลยใช้เลขเท่ๆ ไม่เหมือนชาวบ้านเขา เป็น “2.45 D” เป็นจุดขายอีกอย่าง…
- ยิ่งเก่า ต้อง ยิ่งใหม่ : อาจจะฟังดูงงๆ หน่อย แต่คำนี้คือ “ยิ่งรถเก่า ยิ่งต้องหาอะไหล่ใหม่” เพื่อให้รถดู “สวยใส” ถูกใจวัยรุ่นและวัยแรดหลายคน ส่วนใหญ่แล้วอะไหล่ก็ต้องหาตามร้านอะไหล่เก่าๆ ตามต่างจังหวัด ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ อย่างคันนี้ก็ได้ “สติกเกอร์ข้างแท้” มาทั้งคัน เป็น NOS “ใหม่เก่าเก็บ” หรือ New old stock ได้มาก็มีรอยพับ ติดก็โคตรยากเพราะของแท้มัน “บาง” จริงๆ มันเหนียว รีดง่าย แต่พอมันเก่าแล้วก็ “กรอบ” ต้องค่อยๆ ปะติดปะต่อไป เล่นรถเก่าก็งี้แหละครับ ต้องพยายามสูง แต่ผลที่ได้ก็ “โบแดง” ละครับ…
- ตระเวนล่าช้างเผือก : คนเล่นรถเก่ารุ่นหายากจะรู้ศัพท์นี้กันดี ตาม “ชนบท” มีรถแปลกๆ ดีๆ ซ่อนอยู่เยอะ อย่างรถกระบะ สมัยก่อนในกรุงเทพฯ คนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาชีพขนของก็ไม่ค่อยใช้กันหรอก ส่วนใหญ่แล้วเป็นรถเก๋ง รถกระบะจะไปอยู่ชนบทเยอะ เพราะใช้งานจริง คันนี้ไปได้มาจาก “เชียงใหม่” เชียวนะ เป็นสภาพเดิมๆ แห้งๆ เจ้าของรถบอกว่า “ใช้ขับขึ้น–ลงเขา มันคล่องดี รถมันสั้น” ซึ่งตอนไปซื้อก็ยอมจบราคาสูงหน่อย เพราะคนขายก็รู้ว่ามาท่านี้ต้องคนเล่นแน่ๆ แต่ก็คุ้ม เพราะได้รถสภาพสวยมาก ดีกว่าไปซื้อรถราคาถูกแต่โทรมจัดจะทำไม่คุ้ม…
- ฮีโร่ เฮอร์คิวลิส “พี่บิณฑ์” ตัวดังในยุค 80 จะมีจุดขายที่เครื่อง 2.45 D และ เกียร์ 5 สปีด
- ทุกสิ่งอย่างเบิกใหม่ หาตามร้านอะไหล่เก่าๆ ช่วงกระแสมาเริ่มๆ ยังพอหาได้ เพราะบ้านเรานิยมใช้กัน
- ชุดสติกเกอร์ข้าง “ของใหม่แท้” อันนี้หายากเพราะส่วนใหญ่มันกรอบเสื่อมไปตามเวลา
- สติกเกอร์ส่วนใหญ่จะถูกแกะออก สมัยก่อนคนไม่ชอบ แต่จริงๆ มันเสริมเสน่ห์ให้กับรถได้มาก
- ล้อตรงยุค ขนาดตรงรุ่น ENKEI ยุ่นแท้ ลายหยดน้ำ 2 ชิ้น ขนาด 8 x 15 นิ้ว ยาง TOYO PROXES R1R ขนาด 205/50R15
- กระจกโครเมียมของแต่งโรงงาน อันนี้ Rare จริง
- โลโกข้างเสายังเป็น 2.4 D แต่ถ้าเป็นรุ่นปี 1988 โฉมสุดท้าย จะเป็น 2.45 D จริงๆ ก็ไม่ได้เพิ่มความจุอะไรหรอก เอาแค่มา “ล่อตาล่อใจ” ตามหลักการตลาด
- คิ้วสเตนเลสขอบกระบะ ของใหม่ TOYOTA แท้ เอาไว้กันกระแทก
- ภายในเทา รุ่นปีท้ายๆ
- เริ่มจะมีความทันสมัย “วัดรอบ” เริ่มมา
- หัวเกียร์ GREX ของเล่นยุค 90
- เบาะหนังช้าง หุ้มใหม่ ใช้ลายเดิม
- 2L รุ่นแรก ฝาเหล็ก ยังคงซื่อสัตย์ ถ้า “ไมตี้” จะเป็น 2L-II ฝาดำ
TOYOTA HILUX MIGHTY – X
ยอดฮิตกระบะปั๊มสายตลอดกาล กับ “ไมตี้เอ็กซ์” คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันมากถึงความนิยม เป็นหนึ่งในกระบะที่มีวงจรชีวิตอันยาวนานระดับ 2 ทศวรรษ !!! และมีรุ่นต่างๆ ออกมามากมาย ปรับโฉมกันไปเรื่อยๆ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นตระกูล “TIGER” จากประสบการณ์ตรงตอนผมได้ไปฝึกงานใน “องค์การโทรศัพท์” ก็จะเห็นเจ้า “ไมตี้ช่วงสั้น” จอดเรียงกันเป็นพรืด แต่เป็นรุ่นเครื่องเบนซิน 3Y 2.0 ลิตร เท่าที่เคยคุยกับพี่ๆ พนักงานขับรถ แกบอกว่า “รถมันทะมัดทะแมงดีครับ บางทีเราไปเซอร์วิสโทรศัพท์ในซอยแคบๆ เจอช่วงยาวจะไป ลำบากหน่อย” ก็เป็นคำบอกเล่าจากพี่เขาซึ่งมีประสบการณ์ตรง ก็น่าจะเชื่อถือได้อยู่ คันนี้เป็นของ “ตั้ม HILUX SHOP” เรียกว่า “สายตรงมาเอง” คันนี้จัดแนว “โคตรซิ่ง Amazing Thailand” พร้อมของแต่งจาก HILUX SURF ครบๆ เปลี่ยนลุคเป็น JDM ได้ครบถ้วนทีเดียว…
– รหัส : จะค่อนข้าง “ยุบยับ” หน่อย เพราะรุ่นมันเยอะ หากเป็น “ตัวเตี้ยช่วงสั้น” ก็จะเป็น “LN80” ถ้าเป็น “ตัวเตี้ยช่วงยาว” จะเป็น “LN85/90” ถ้าเป็น “ขับสี่ตัวสูงช่วงสั้น” จะเป็น “LN100” ถ้าเป็น “ขับสี่ตัวสูงช่วงยาว” จะเป็น “LN106” ตัวที่ “กรมป่าไม้” ฮิตกัน เอาหลักๆ ประมาณนี้นะครับ…
– SURF LN130 ส่วนผสมที่ลงตัว : ก็คล้ายๆ กับ BIG M ที่เอาของ TERRANO-I มาใส่ อุปกรณ์ชุดหัวใส่กันได้เลย เพราะโครงสร้างเหมือนกัน แต่ของ SURF N130 จะดูหรูหรา แต่ต้องเอามาให้ครบ จะมีหลักๆ สองแบบ คือ ตัว “ตาเต็ม” อีกตัวที่นิยมก็คือตัว “ตาโบ๋” รหัส VZN130 พวกรุ่น SSR แต่ก่อนก็ดูแล้วเชย แต่ตอนนี้ดูแล้ว “เท่” เพราะสามารถใส่ไฟหน้าแต่งได้สวยงาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ “โป่ง” ที่ใหญ่กว่า พอใส่โป่ง ใส่ล้อใหญ่ ตัวรถจะดูมีมิติดุดัน…
– กระบะหลัง ไม่ยาก : สำหรับขนาดของ “กระบะหลัง” รถช่วงสั้น จะเท่ากันกับ “รถแค็บ” สามารถใส่กันได้เลย เพราะฉะนั้น รถช่วงสั้นที่กระบะผุ หรือมาไม่สวย จะง่ายหน่อย เพราะสามารถหาของรถแค็บใส่แทนได้เลยครับ…
– จบด้วยโป่งหลัง MIGHTY-X PLUS : มีโป่งหน้าแล้ว จะปล่อยด้านหลังเรียบๆ ลีบๆ ก็แลจะเหมือน “โปลิโอ” หัวโต ตูดปอด จึงต้องผสมโรงกันหน่อย ด้วยการเอาโป่งหลังของ MIGHTY-X PLUS ปีท้ายๆ มาใส่ มันเป็นโป่งจากโรงงาน แต่มันไม่มีช่วงสั้น สิ่งที่ทำได้ คือ “ตัด” เอามาเชื่อมไปกับรถช่วงสั้น ก็จะได้โป่งหน้าและหลังครบถ้วน ทำให้รถดูมีทรวดทรงขึ้นมากมาย…
– ของ Mix เพียบ : ก็นับว่าดีที่ TOYOTA จะเน้นการผลิตรถที่หลากหลายรุ่น และมีการปรับโฉมไปเรื่อยๆ อย่างยาวนาน ทำให้มี “อะไหล่” ที่จะนำมามิกซ์ผสมกัน สามารถเลือกได้เยอะ อีกทั้งยังมีของ “สเปกอเมริกา” อีกด้วย ก็อย่างว่าแหละ รถมีขายทั่วโลก อะไหล่มันก็แพร่หลายหน่อย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องยอมจ่าย เพราะทั่วโลกเขาก็เล่นเหมือนเรา…
- MIGHTY-X จัดเต็มแนวโคตรซิ่ง แรงและสวย โหดด้วยล้อ WATANABE R-TYPE ขนาด 8.5 x 16 นิ้ว และ 9.5 x 16 นิ้ว พร้อมยาง TOYO PROXES R888R ขนาด 225/45R16
- ชุดหน้าทั้งหมด SURF “ตาโบ๋” V6 SSR VZN130 ไฟหน้า RAYBRIG นี่แหละ ที่เล่นตาโบ๋เพราะดู “ย้อนยุค” และเปลี่ยนไฟแต่งได้ บนแก้มซ้ายมี “กระจกส่องฟุตบาท” เพราะ SURF มันสูง กะยาก รถเตี้ยล้อล้นใช้ก็ยิ่งดี เวลาถอยจอดล้อจะได้ไม่เสยซะก่อน
- ไฟมุม USDM สีส้มขาว
- นี่แหละ เสน่ห์ของรถกระบะช่วงสั้น ดูทะมัดทะแมงแบบสปอร์ต ชุดสติกเกอร์ข้างขาดไม่ได้เลย หากจะทำรถย้อนยุค
- ประตูแบบมี “หูช้าง” ตัวนอก กันสาดตรงรุ่นจะเป็นแบบ “สั้น” เพราะเว้นตรงหูช้างเอาไว้ ถ้าเป็นของบ้านเราทั่วไปจะเป็นแบบยาว เพราะไม่มีหูช้าง กระจก CRAFT SQUARE ก้อนขนมปังซุ้มล้อหลังยังเบิกมาใส่ โป่งล้อหลังเลาะเอาของ MIGHTY-X PLUS มาเชื่อมใส่ทั้งแผ่น
- ของมันต้อง “เท่” ซันรูฟจาก LN100 “ขับสี่ช่วงสั้น” ตัวนอก
- ฝาท้ายสเปก “ออสเตรเลีย” แบบมือเปิดกลาง กระจกหลัง “บานเลื่อน” จาก LN100/106 ไฟท้ายของแต่งอเมริกา เป็น LED ไฟเบรกและเลี้ยวสีแดงเหมือนกัน มาเมืองไทยเลยต้องแปลงหลอดไฟเลี้ยวส้มใส่ในโคมขาว สติกเกอร์ฝาท้ายครบ
- พวงมาลัย NARDI Long Live The King “ทรงพระเจริญ” ที่ใส่เหรียญอันนี้หายาก อันนี้มีสปริงดันให้เหรียญอยู่แน่น ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ช่องวางเฉยๆ หัวเกียร์ Dragon Ball
- เรือนไมล์ US SPEC 110 mph/180 km/h ใส่กับพวงมาลัยขวาได้ วัดรอบดีเซล มีไฟเตือน TURBO (หากมีสิ่งผิดปกติ) และ CHECK ENGINE
- เบาะ RECARO สีนี้หายากมาก ราง SURF ตรงรุ่น ใส่ได้เลย เท้าแขนกลางจาก MIGHTY-X PLUS รุ่นปี 1997 อันนี้เบิกบ้านเรา แต่หายาก เพราะรถมันออกมาปีเดียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็น TIGER
- ฝากระโปรง AKANA แบบ “กลางใส” โชว์ขุมพลังรุ่นใหม่ 1KD-FTV
- เน้นตื๊ดๆ หน่อย กับเทอร์โบ 3000 ปาก 44 ตอบสนองไว บอกไม่ซิ่งแต่วิ่งทีหาย
NISSAN BIG M
มาถึงค่าย “เพื่อนที่แสนดี” กันบ้าง ใหม่ขึ้นมาหน่อยเป็นรถยุค 8 ปลายๆ จนถึง 90 ซึ่งเป็นรถที่มีวงจรชีวิตอย่างยาวนานรุ่นหนึ่งของ NISSAN เป็นรุ่น BIG M ที่ใช้ชื่อว่า “แชสซีแข็งแรง หนักถึก ทนทาน” จนเป็นที่นิยมตลอดกาล ตอนแรกเป็น “ฝากระโปรงเรียบ” ตอนหลังๆ ปรับโฉมเป็น “ฝากระโปรงโหนก” ปรับไฟหน้า กระจังใหม่ ได้รับรูปแบบมาจาก “TERRANO-I” ตัวนอก แต่คนไทยเรียก “หน้าโง่ ตาโบ๋” แล้วก็หน้านั่น หน้านี่ สารพัดแม่งเรียกซะเสียอนาคตเลย กูก็สงสาร BIG M จริงๆ แต่ด้วยรูปทรงมันเหลี่ยมเหมือนรถถังแบบนั้น ก็ถือเป็นเอกลักษณ์นะ สำหรับคันนี้เป็นของ “ปิง” ก็คือรถเก่าของ “ตอง” นั่นเอง สำหรับวิถีของ ปิง ก็พลิกผันจากการเล่น Super car และ Antique Car มาเล่นกับกระบะช่วงสั้น ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน ต้องการ “ความแปลกใหม่” ที่ไม่ซ้ำใคร จบง่ายๆ ขับหล่อๆ ไม่ต้องแข่งกับใคร คันนี้ก็เน้นการ Swap ของ จาก TERRANO-I ซึ่งเป็นเทรนด์นิยมในการแต่ง BIG M ให้ดูดุดันแปลกตามากขึ้นนั่นแล…
- รหัส : โดยปกติ BIG M จะเป็นชื่อในบ้านเรา หรือ HARD BODY ชื่อในอเมริกา จะใช้รหัส D21 เหมือนกัน แต่การจะแบ่ง “ช่วงสั้นหรือยาว” นั้น ให้ดูที่ “อักษรตัวหน้า” ถ้าเป็น “ช่วงยาว” จะเป็นรหัส “RGD21” ส่วน “ช่วงสั้น” จะเป็นรหัส “AD /CD /DD21” อันนี้ชัดเจนครับ ก่อนซื้อก็ตรวจสอบให้ดีก่อน ว่า “รถแท้” ก็ควร “ทะเบียนแท้” ด้วยครับ…
- NISSAN DATSUN TRUCK : จะสังเกตได้ว่า กระจังหน้าตัวนอก JDM จะมีโลโก DATSUN ติดมา และไม่ได้ติดมั่วด้วย เป็นของโรงงานแต๊ๆ ก็ยังงงๆ เพราะจริงๆ ยุคนี้มันเป็น NISSAN แล้ว ในญี่ปุ่นเอง จะเรียกเจ้า D21 นี้ว่า NISSAN DATSUN TRUCK เราก็ยังหาที่มาที่ไปอยู่ว่าทำไมถึงเรียกแบบนี้ เหมือนกับแยกไลน์การผลิตรถบรรทุกเล็ก (Light Truck) ออกมาเลยหรือเปล่านะ เอาไว้ก่อนแล้วกัน ให้รู้ไว้ว่า JDM เรียกแบบนี้…
- หายาก มักเป็นรถนำเข้า : ในอดีต BIG M หรือ NISSAN DATSUN จะนิยมเป็น “รถเซียงกง” วิ่งกันเกลื่อน โดยเฉพาะพวก “กระบะลอย” หรือ “กระบะมีรั้ว” กั้นหัวเก๋ง คนเล่นเรียก “หัวเตียง” เพื่อกันของไหลไปกระแทกกระจกแตก แล้วก็เป็นที่ผูกเชือกยึดของอย่างมั่นคง กระบะส่งออกที่อื่นมีหมดทุกรุ่น เพราะเป็น “กฎหมาย” ของเขา แต่บ้านเรา “เอาออก” ไม่ชอบ เพราะดูเป็นกระบะเกินไป (ก็ยังงงๆ ว่าถ้าไม่ชอบกระบะ ทำไมไม่ซื้อรถเก๋ง ???) อย่างคันนี้ก็เป็น “รถนำเข้า” JDM แท้ ถือว่าค่อนข้างหายากกว่าตระกูลเพื่อนฝูง ด้วยความที่มันไม่มีขายในเมืองไทย ก็ต้องรอรถนำเข้าเป็นหลัก…
- ดูความดั้งเดิม : เรื่องรถและรหัสเราบอกไปแล้ว แต่ที่ลึกกว่านั้น ต้องดั้งเดิมไปถึง “ที่มาที่ไปของรถ” ทะเบียนควร “ตรงยุค” ดูไปถึง “เจ้าของ” ถ้าได้ “คนตรงยุครถ” ดูมีอายุหน่อย และ “ขายเอง” ไม่ใช่นายหน้า (คุยดูก็รู้ครับ) ประเภทซื้อมาแล้วก็ใช้ยาวๆ สภาพเดิมๆ ไม่มีการแก้ไขดัดแปลงใดๆ นั่นแหละซื้อได้…
- ไม่ค่อยเห็นเหมือนกันสำหรับ D21 ช่วงสั้น สมัยก่อนก็มี “รถเซียงกง” อยู่บ้าง แต่คันนี้เป็น “รถบ้านแท้ๆ” ที่ยังคงสภาพสวย
- สติกเกอร์ลายข้างเป็นของตัวปีท้ายๆ ให้ดูโดดเด่นขึ้น แต่มาเป็นของช่วงยาว เลยต้องตัดให้เข้ากับช่วงสั้น
- พอทรงมันถึกๆ เป็นช่วงสั้นแล้วได้ใจว่ะ ใส่โป่งหน้า TERRANO-I รถมีมิติมากขึ้น สติกเกอร์ฝาท้าย NISSAN DATSUN อันนี้ตรงรุ่น JDM อย่างที่บอกไปครับ
- เปลี่ยนหน้าเป็น TERRANO-I ซึ่งมีพื้นฐาน D21 เหมือนกัน เอกลักษณ์คือ “ช่องลมฝากระโปรง” และ “คางล่าง” ที่ดูสปอร์ตขึ้น กระจังหน้าของรุ่น Diesel Turbo (มันมีรุ่น V6 3.0 ด้วยนะ) กระจกแก้มตรงรุ่น JDM
- ล้อแปลกหล่อๆ BIG HALF FRONT LINE ขนาด 8 x 16 นิ้ว ยาง TOYO PROXES R888 ขนาด 225/45R16
- นี่แหละ “หัวเตียง” ของเท่กระบะย้อนยุค
- ภายในเนี้ยบๆ ได้ของ TERRANO-I 4 ประตู หน้าปัดสภาพสวย พวงมาลัย NARDI GARA ตรงยุค 90 ของหายาก คือ “ทวิตเตอร์เสาหน้า” แบบ Built-in
- เรือนไมล์รุ่นสุดท้ายจะเป็น “เข็มแดง” วัดบูสต์ AUTO METER PRO-COMP หน้าน้ำมันกันเข็มสั่น
- พร้อม LAND METER สไตล์รถลุย
- แผงประตูหน้า TERRANO-I ตัว 5 ประตู จะมีสวิตช์กระจกไฟฟ้า 4 บาน จริงๆ แล้ว มันมีรุ่น 3 ประตู ก็จะได้สวิตช์แค่ 2 บาน อันนี้แล้วแต่เจอครับ
- ตามสูตร คงไม่ต้องบรรยาย
- เครื่องเดิมเป็น Z16 ปีท้ายๆ จะมี Z18 แต่ด้วยการยก TERRANO-I มาทั้งหัว เลยได้เครื่อง TD27 Turbo มาด้วย เปลี่ยนเทอร์โบเป็น GARRETT T04L
ISUZU TFR
คันสุดท้ายนี่ออกจะเป็น Super Rare Item จริงๆ ชื่อ “ไอ้ไข่ยาน” เป็นของ “น้าหมาก” แห่ง “ทุ่งซาฟารี” คนนี้ก็ตัวพ่อ “อีซุ” เล่นและขายอะไหล่ ISUZU ตัวนอกอยู่ น้าแกมี “ไอ้ไข่ย้อย” CAMEO ของ Rare ทั้งคัน แล้วก็มีคันนี้เป็น “มังกรช่วงสั้น” ในซีรีส์ TFR เพราะเราคงไม่ค่อย หรือ อาจจะ “ไม่เคย” เลยก็ว่าได้ ก็ไม่แปลก เพราะมันหายากจริงๆ เดี๋ยวมาดูกันว่ามีกี่คันในไทยกันแน่ แต่บอกเลยว่า “หลัก 10” เท่านั้น และการแปลงก็ไม่ได้ง่าย เพราะมันมีรายละเอียดหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับตัวปกติ หรือ Cab เลย คันนี้แต่งสไตล์ “เมกา” ทรงเครื่องด้วยของ RODEO รวมไปถึงของแต่งแบรนด์แปลกๆ ของอเมริกา ที่น้าแกไป “ไฝ่ฟ้า” มาจนได้…
- 16 คันทั่วไทย ต้นแบบ PPV : ข้อมูลตรงนี้ ทางเจ้าของรถได้สืบค้นกับ “กรมขนส่ง” เกี่ยวกับ TFR ช่วงสั้นนี้ หากเป็นรถที่นำเข้ามาขายอย่างถูกต้อง จะมีจดทะเบียนแท้ทั้งหมด “16 คัน” เท่านั้น และไม่ได้ขายออกห้างตามปกติ จะมีรู้ก็ “วงใน” แล้วก็วนกันในหมู่คนเล่น เหตุที่นำเข้ามาก็เพื่อเป็น “ตัวต้นแบบ” ในการผลิตรถแบบ PPV ซึ่งก็คือ “CAMEO” นั่นเอง ในตอนนั้นยังไม่เรียก PPV แต่เรียกว่า “รถตรวจการณ์” หรือ “รถอเนกประสงค์” ซึ่งใช้แชสซีตัวเดียวกัน เพียงแต่ยืดช่วงล้อให้ยาวขึ้นอีกหน่อย (แต่ไม่เท่าช่วงยาวนะ) เถิบล้อหลังถอยไป เพื่อให้ห้องโดยสารกว้าง ส่วนบอดี้ครึ่งท้ายของ CAMEO นั้น ใช้ของ RODEO ที่ขายในอเมริกา…
- รหัส : ถ้าเป็น TFR ช่วงสั้น จะใช้รหัส TFR52R ครับ…
- RODEO USDM : สำหรับ TFR ในอเมริกา จะเรียกกันว่า ISUZU RODEO (โรดิโอ) คันนี้ก็เอาชุดกาบข้าง ลูกจุกจิกต่างๆ มาใส่ เพราะตั้งเป้าไว้ว่าจะแต่งเป็น USDM ทั้งคัน…
- ระวังจ้า บอดี้ใช่ แชสซีไม่ตรงจ้า : อันนี้ระวังเลยครับ จะเจอรถ “เล่นลีลา” สว้าปปปปปปป แปลงกายมา โดยการนำหัวเก๋ง TFR และกระบะตัดสั้น หรืออาจจะเป็นกระบะช่วงสั้นแท้ก็ได้ มาวางครอบบนแชสซีของ KB2200 ช่วงสั้นอีกที อันนี้ต้องระวังนะครับ เช็กดีๆ เพราะเลขแชสซีมันจะฟ้องอยู่ว่าไม่แท้ ส่วนข้อสงสัยว่าครอบแชสซี Mu ได้ไหม คำตอบคือ “ไม่เนียน” เพราะมันจะสั้นกว่า TFR ช่วงสั้นอีก…
- กระบะท้าย ตัวปราบเซียน : อันนี้แหละของจริง เพราะกระบะท้ายของ TFR ช่วงสั้น “ไม่สามารถใส่กับ TFR ตัวอื่นได้เลย” ถ้าเทียบกับรถกระบะแค็บ ตัวกระบะมีมิติโดยรวม “ดู” ใกล้เคียงกันก็จริง แต่ช่วงซุ้มล้อจะไม่เหมือนกัน ดูดีๆ นะครับ กระบะแค็บ “ช่วงระยะหลังหัวเก๋งถึงซุ้มล้อจะสั้น ช่วงหลังซุ้มล้อถึงท้ายจะยาวกว่าช่วงสั้น” ใส่กันไม่ได้แน่นอนครับ เพราะตำแหน่งซุ้มล้อมันคนละที่กันเลย…
- เครื่องก็ไม่เหมือน : ปกติรถ TFR บ้านเรา จะใช้เครื่อง 4JA-1 “ฝาทอง” ในตำนาน ส่วนเครื่องของ TFR JDM คันนี้ จะเป็นเครื่อง C223 ความจุ 2.2 ลิตร หรือ 2,238 ซี.ซี. ก็เป็นเครื่องเดียวกับ KB2200 บ้านเรานั่นแหละครับ…
- ISUZU TFR ช่วงสั้น ดันสไตล์ RODEO USDM หายากจริงทั้งรถและของแต่ง
- กาบข้าง RODEO พร้อมชุดแต่งโครเมียม USDM แท้
- กระบะช่วงสั้น TFR ต้อง “เฉพาะรุ่น” ไม่สามารถเอากระบะ Cab มาใส่ได้เหมือนกับ MIGHTY-X อันนี้แหละที่เล่นยาก
- ของหายากอเมริกาล้วนๆ ไฟมุมส้ม คิ้วล้อโครเมียม สปอยเลอร์หน้า STILLEN กระจัง USDM
- อันนี้แหละ Rare จริง ไฟหน้า LED ของ LUND เป็นแบรนด์อเมริกา จะรู้จักกันในสายกระบะยุค 90 รวมถึงสายออฟโรด
- ไฟท้าย USDM จะมี “ทับทิม” สะท้อนแสงอยู่ด้านใน ตามกฎหมายอเมริกา เมื่อรถส่องไฟมาด้านข้าง จะต้องเห็นตำแหน่ง “หัวและท้าย” ของรถที่จอดอยู่ ส่วน “ราวตากผ้า” อันนี้ของแต่ง ISUZU แท้
- อเมริกัน “ดัน” ให้สุด CENTERLINE CONVO-PRO “ขอบจีบ” ในตำนาน ขนาด 9.5 x 16 นิ้ว กับยาง CONTINENTAL CONTACT MC5 ขนาด 225/55R16
- กระจกข้าง “แนวตั้ง” หายาก ประตูมีหูช้างเป็นรุ่นแรก
- พวงมาลัยเดิมของ ISUZU GEMINI COUPE รหัส PF60 ที่ต้องมานั่งแงะแล็กเกอร์ออกเพื่อให้เห็นงานไม้ดิบๆ พยายามจริงๆ
- TFR หัวเดี่ยวรุ่นแรกๆ ไม่มีวัดรอบ โคตรเท่
- แผงข้างตัวนอกมากับรถ พร้อมกระจกไฟฟ้า และไฟแผงข้าง ให้รู้ว่า “เปิดประตูอยู่นะ” เป็นเซฟตี้อีกจุดหนึ่ง
- เบาะโซฟาเดิม นั่งสบายสุดๆ เหมาะสำหรับคนตูดใหญ่อย่างผู้เป็นเจ้าของ
- C223 เสริมเทอร์โบ MITSUBISHI TD-04 ติด Teen หน่อย อินเตอร์คูลเลอร์ D-MAX
Contact
Facebook : กระบะช่วงสั้น (SWP)
ขอขอบคุณ เจ้าของรถทุกท่าน