ลีลา…สะบัดปลาย…เฉิดฉายด้วย “ลายตัด” !!!
แฟชั่นสติกเกอร์รถซิ่ง “ปีลึก” เอกลักษณ์ตามยุคที่ยากจะลืมเลือน
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เมื่อพูดถึง “ของแต่งของซิ่งยุคแปดศูนย์” กันแล้ว คงจะจุใจกับการย้อนอดีตไปในยุคนั้น ที่มีร้านขายของแต่งคุณภาพสูงกันแบบเพียบๆ ได้รับการตอบรับจากแฟนๆ Retro ทั้ง “คนตรงยุค” ที่เสียสละเวลามาย้อนอดีตกับเรา และ “คนยุคใหม่หัวใจเรโทร” ที่จะได้เห็นว่าสมัยก่อนเขามีอย่างนี้ด้วยเหรอ ??? ไอ้ผมเองกาลนั้นก็ยังเป็น “เด็กน้อย” คงยังไม่รู้เรื่องอะไร แต่พอโตมาและได้ยินได้ฟัง “ผู้ใหญ่เขาเล่า” จึงเกิดความมันส์มาขยายให้ทุกท่านได้อ่านกัน ว่าพัฒนาการของการแต่งรถในแต่ละยุคเป็นอย่างไร ฟังแล้ว “โคตรมันส์” จนอยากจะย้อนเวลากลับไปเที่ยวเล่นในยุคนั้นจริงๆ…
- แฟชั่นสติกเกอร์รถซิ่งยุคนั้น ดีไซน์ก็จะเน้นเป็นเส้นๆ แถบๆ แบบนี้แหละครับ แต่คันนี้จัดเต็มหน่อยเป็นคาดสีแถบใหญ่ สมัยนั้นแบบนี้ถือว่าเวอร์วังอลังการใช้ได้
สติกเกอร์ คำตอบแรกแห่ง Car Detailing
พูดถึงการแต่งรถ สิ่งหนึ่งนอกจากของแต่งสวยซิ่งแล้ว ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “สติกเกอร์” ที่เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของการแต่งรถ แม้จะเป็นเพียงของตัดแปะไปเฉยๆ แต่มันไม่เฉย เพราะมันก็เหมือนกับการ “เพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวรถ” เปรียบดัง “สตรีแต่งหน้าทาปาก” ต้องมี “ศิลปะดีไซน์” เข้าไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าตัดๆ แปะๆ เข้าไป จนกลายเป็น “ออกทะเลยิ่งเศร้ารัญจวน” แต่ถ้ามีศิลปะ ดูเส้นสาย สีสัน ที่ทำให้รถดูเด่นขึ้น ก็มีสองแนวครับ “แนวกลมกลืน” เรียบง่าย แต่มีจุดเด่นเตะตา อันนี้จะเป็นแนว “รถบ้าน” เน้นความโฉบเฉี่ยวแต่ไม่ฉูดฉาด อีกแนว “แนวคัดค้านแบบลงตัว” จะเหมาะสำหรับ “สายซิ่ง” เป็นพิเศษ ผมก็ไม่รู้จะบอกยังไงว่ะ เพราะมันอาจจะดู Contrast ตัดขัดแย้งกัน แต่มันต้อง “ไปกันได้” นี่แหละเป็นศิลปะที่ “ช่างสติกเกอร์” และ “เจ้าของรถ” ต้อง “จูน” กันให้ติด…
- ถ้าจะให้ปราดเปรียวขึ้น ต้องหา “สปอยเลอร์พร้อมสเกิร์ต” มาแปะเพิ่มไป คันนี้เป็นล้อ ZONA ลาย Stage 4 จำหน่ายโดย “จันทรเกษม ซัพพลาย” (ไว้มีโอกาสจะมาเหลาถึง “ร้านล้อแม็กในอดีต” ดีมะพี่น้อง)
สำหรับ “ลวดลาย” ยอดนิยมในยุคนั้น โดยหลักก็เน้น “ลายเส้นคาดตัวรถ” ที่นิยมก็ “คาดข้างตัวรถ” ไล่เส้นไปตามแนวตัวถัง จากหัวไปจรดท้าย เพราะรถ Retro ก็จะมีเสน่ห์ตรงเส้นสายทรงตัวถังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่นจริงๆ ไม่เหมือนกันเด๊ะจนขาดเอกลักษณ์เหมือนรถสมัยนี้ สติกเกอร์อาจจะเป็นเส้นเล็กๆ เดินคู่กัน หรือเป็นเส้นที่ไล่ความโตไปตามสรีระบั้นเอวของตัวรถ ท่อนหัวก็เล็กหน่อย จะไปบานก็ท่อนท้ายๆ และมีตัดลายทำลูกเล่น อาจจะเป็น “บั้งเฉียง” หรือ “ยี่ห้อกับรุ่นรถ” อันนี้แล้วแต่ชอบ โดยเฉพาะเหล่า “หัวเล็ก ท้ายลาด” หรือ “ทรงลิ่ม” ทั้งหลาย เช่น TOYOTA CELICA LB หรือ MITSUBISHI GTO หรือ NISSAN SKYLINE C110 อะไรพวกนี้ นิยมกันมากเพราะทำแล้ว “สวย” โดดเด้งขึ้นมาทันใด ส่วน “สี” ก็จะตัดกับตัวรถ แต่ให้มันไปกันได้ เช่น รถสีฟ้า คาดสติกเกอร์สีส้มอ่อน + สีน้ำตาล, รถสีส้ม คาดสีดำตัดขอบเหลือง ฯลฯ อะไรพวกนี้แหละครับ แนวลวดลายก็มาจาก “นอก” เป็นหลัก ไอ้ลายคาดๆ หรือ “ลายไฟ” ส่วนใหญ่ก็มาจาก “รถอเมริกัน” ไอ้เราก็มาดัดแปลงนิดหน่อย จะสังเกตพวกเหล่ารถญี่ปุ่นท้ายลาด (Fast Back) ทั้งหลายจะอิงลายประมาณนี้ แต่มาเหลาให้เข้ากับสรีระของรถญี่ปุ่นที่ “เล็ก” กว่ารถอเมริกัน จึงต้องคาดสติกเกอร์ให้ดูโดดเด่นมากขึ้น สรุป “ภาพ” อาจจะแปลกไป แต่ดูแล้ว “กลิ่น” ของเดิมยังชัดเจน…
- หันตูดมาแว๊บบบ รู้เลย เห็นคำว่า DANG STICKER ! แปะอยู่ คงไม่ต้องบรรยายว่าเป็นใครจรดมือ
อีกแนวหนึ่ง ก็จะเป็น “ตัดตัวหนังสือ” ก็มีสองแบบอีก เช่น ตัดตามสติกเกอร์ของต่างประเทศ แต่ก่อนก็นิยม “ฝรั่ง” เป็นหลัก “ญี่ปุ่น” ก็มีบ้าง หรือไม่ก็ตัดเอาแบบ Font จากนอก อาจจะเป็นแบรนด์ของโมดิฟายเท่ๆ หรือ ทีมแข่งดัง ก็เป็นได้ แต่มาใส่คำของไทยๆ เป็นชื่อเจ้าของรถ ชื่อสำนักแต่ง อะไรก็แล้วแต่ไอเดีย ยุคนั้นไม่ค่อยมีสติกเกอร์ในรูปแบบของ Custom Made เนื่องจากการออกแบบต้องเป็น “มือวาด” มาก่อน ซึ่งผมก็ชอบเพราะเป็น “ศิลปะ” จริงๆ มันต้องทุ่มเทมากๆ ไม่ชอบใจหรือผิดก็ต้องวาดใหม่เลย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ “คอมพิวเตอร์ช่วยท่านได้” มันง่ายกว่าเยอะ ซึ่งช่างสติกเกอร์สมัยก่อนจะต้อง “มือศิลป์” จริงๆ ต้องทำเองทุกอย่าง ตัดก็ต้องมือกับคัตเตอร์สองอย่างเท่านั้น เครื่องตัดคอมพิวเตอร์ก็ไม่มี อย่างที่บอกว่ามันคือศิลปะของแท้ และน่าหลงไหลในสาย Retro อย่างแท้จริง…
- CELICA 2000 GT ตัวถัง RA40 หรือ “เซลิก้าแอร์โร่” ก็คาดสีสันตัดกับตัวรถ ฝีมือของ AT STICKER ล้อเป็นรุ่น TURBONE 3
ช่างสติกเกอร์ในตำนาน
สำหรับช่างสติกเกอร์ในตำนาน ณ ปัจจุบันที่ยังคงทำอาชีพนี้อยู่แบบชัดเจน ก็คือ “แดง สติกเกอร์” สายเก๋าในวงการรถซิ่งและมอเตอร์สปอร์ตของไทย เริ่มต้นมาเมื่อกว่า 40 ปี ที่แล้ว คงจำได้กับการนั่งติดสติกเกอร์ของ “ป๋าแดง” วิชัย นุชพุ่ม บนรถแข่งควอเตอร์ไมล์ในยุค “วัชระภูมิ” ยุคเดียวกันก็จะมีหลายเจ้า ดังๆ หน่อยก็“แอ๊ด สติกเกอร์” หรือ AT STICKER DESIGN ที่ตอนหลังหันมาทำ “รถดัดแปลง” ชื่อ ATTHAM (แอ๊ดทำ) สร้างรถเป็นทรงเดียวกับ LOTUS ESPRIT ออกมาและ “ขับได้จริง” โดยใช้พื้นฐานช่วงล่างและเครื่องของรถญี่ปุ่นมาครอบกระดอง (อย่าพิมพ์ ง ตกหล่นเด็ดขาด) อีกคนก็ “โก สติกเกอร์” คนทำชื่อ “โกวัฒน์” เป็นนักแข่งเซอร์กิตยุค “สนามบินราชบุรี” (อ่านข้อมูลเจอในนิตยสารกรังด์ปรีซ์ โกวัฒน์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะแข่งรถ FIAT 131 Racing เพลาขาดพลิกคว่ำที่ความเร็วแถวๆ 180 km/h) แล้วก็ค่อยๆ มีร้าน “ลูกศิษย์ลูกหา” ทยอยกันเปิดเพิ่มเติม ขยายเครือข่ายมาเรื่อยๆ ซึ่งเยอะอยู่พอสมควร จึงขอกล่าวถึง “ระดับบุกเบิก” ก่อนแล้วกันนะครับ…
ขอขอบคุณ : “คุณวิชัย และ คุณภีมวัชช์ นุชพุ่ม” แห่ง DANG STICKER สำหรับข้อมูลย้อนอดีต
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
#Posttothepast #xoautosport #dangsticker #retroracing #cardetailing
เวบไซต์สาระรถซิ่ง : xo-autosport.com
Cr. Photo :
THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม
- GALANT LAMBDA นี่ก็คาดสีสันได้ Classic ตัดกันได้ลงตัว คันนี้ติด “ครอบไฟหน้าแต่ง” และ “สปอตไลท์เหลือง” ตัดหมอก ที่รถซิ่งยุคนั้นต้องมี เพราะไฟหน้ามันไม่มีหลอดวัตต์สูงๆ เหมือนสมัยนี้ ต้องเอาสปอตไลท์ส่องช่วย (ล่อตา “โปลิศ” ดีนักแล) คันนี้เป็นรถจากทีม RAINBOW RACING ที่สมัยนั้นถือว่า “ไฮโซ” ลูกคนรวยเกือบทั้งนั้น
- รวมเดอะแก๊งค์ โลเคชั่น “สยามเซ็นเตอร์” แหล่งวัยรุ่นยุคคลาสสิก
- CELICA GT (TA27 ไฟท้ายห้าแถว) อันนี้จะเอาโลโกมาเดินเส้น เท่ไปอีกแบบ
- COROLLA KE36 เดิมๆ จะจืดๆ หน่อย ก็คาดสติกเกอร์ลายเส้นเล็กๆ ดูแล้วเตะตามากขึ้นแบบแนวรถใช้งาน ซึ่งบางทีก็อาจจะมีเรื่องของ “แก้สีให้ถูกโฉลก” ด้วยก็เป็นได้
- ถ้าไม่คาดข้าง ก็ “คาดกาบล่าง” สไตล์ยุโรป
- บางทีก็คาดสั้นๆ แค่นี้
- อันนี้ลายซิ่งเต็มระบบ
- “มาแต่งรถกันเถอะ” อีกหนึ่งคอลัมน์ในนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ที่นำเสนอแนวทางการแต่งรถไว้ เล่มนี้พูดถึงลวดลายสติกเกอร์ในรถแต่ละรุ่น โดยเน้นทรงรถท้ายลาด ซึ่งสมัยก่อนได้รับความนิยมมาก ใครขับนี่โคตรเท่
- อันนี้ชัดเจน ตัดสติกเกอร์ลาย ALPINA
- นี่ก็มาเต็ม กับโลโก LT ที่แกะแบบมาจากท้ายรถ CELICA 1600 LT ที่ขายในบ้านเรา
- ถ้าเป็นรถออกแนวหรูหราหน่อย อย่าง SKYLINE 2000 GT-X (BJR30) ก็จะเน้นสติกเกอร์ที่เล็กๆ แต่ “มีเสน่ห์” ที่กาบประตูหลัง เป็นสติกเกอร์ Paul Newman Version ที่ตัดตามแบบ “ตัวนอก” คือ 2000 GT-EX ขุมพลัง L20ET 6 สูบ (HR30) Paul Newman Version ที่เป็นเวอร์ชั่นตกแต่งพิเศษ ที่เห็นนั่นก็คือ “ลายเซ็นต์ Paul Newman” นักแสดงชื่อดัง และเป็นนักแข่งรถค่าย NISSAN อเมริกา ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ SKYLINE รุ่นนี้ แต่บ้านเราแค่ตัดสติกเกอร์แปะเฉยๆ ครับ (ภาพนี้กำลังถ่ายปกนิตยสาร “ยวดยาน” สมัยที่ยังไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ไปถ่ายที่เขาใหญ่กันครับ)