86 ROCKET BUNNY Version II : Big Project by RS-R Thailand & Gear Auto Cars

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง   

THAI (LAND) MARK

86 ROCKET BUNNY Version II & MoTeC M150 ECU

Big Project RS-R Thailand & Gear Auto Cars

                อลังการสุดซอยกันเลยนะครับ TOYOTA 86 ที่กลับชาติมาเกิดอีกครั้ง กับการคงลักษณะของรถ “เครื่องยนต์หน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง” หรือ FR (Front Engine Rear Wheel Drive) ที่นับวันจะหายากขึ้นเรื่อยๆ ในรถขนาดย่อม ความแรงมากๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญในรถแบบนี้ แต่ “ความสนุกในการขับขี่” ต่างหาก ที่จะเป็นสิ่งยืนยันความเป็น 86 อย่างชัดเจน คันนี้ก็เป็น 86 ที่จัดได้ว่าอลังการสุดๆ อีกหนึ่งคันในประเทศไทย ด้วยการร่วมมือระหว่าง RS*R Thailand และ Gear Auto จัดทำคันนี้ขึ้นมา สิ่งที่พิเศษมากๆ ก็คือ “เป็นการทำด้วยไอเดียของคนไทยทั้งหมด” ตั้งแต่สติกเกอร์ที่เป็นลายของ RS-R Thailand ออกแบบเอง โช้คอัพพิเศษ RS-R Super Black-i สร้างโดย “ไทเทเนียม” ชุดแรกของโลก !!! สำหรับรถคันนี้โดยเฉพาะ เครื่องยนต์เสริม Supercharged โมดิฟายตามสูตรของ Gear Auto แถมกล่อง MoTeC M150 Stand Alone ที่รองรับการใช้งานปกติได้อีกอย่างครบถ้วน และอีกเยอะแยะมากมาย อ่านเลยครับ ไม่ต้องรอ…

 

MoTeC M150 Plug n Play

                ไหนๆ เขาว่า “กล่องเทพ” งั้นหรือ ??? เทพยังไง จะเหลาให้ฟัง โดยปกติกล่อง MoTeC จะเน้นในด้าน Motorsport เป็นหลัก ซึ่งทุกคนรู้ว่ามันมี Function และ Data logger ที่ตอบสนองได้ครบถ้วน ลักษณะของกล่อง MoTeC จะเป็น Stand Alone ที่ไม่ได้สนใจในด้านการใช้งานแบบ Daily Used เลย ซึ่ง Function การใช้งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันก็จะถูกยกเลิกไป หรือต่อใช้งานแบบ “พอใช้ได้” แต่ในรถรุ่นใหม่ที่มีการทำงานหลากหลาย ควบคุมโดยกล่อง ECU ใบเดียว พร้อมระบบ CAN Bus ที่ใช้สายไฟ Main เพียงไม่กี่เส้น ซึ่งแตกต่างจากรถยุคที่เราคุ้นเคยกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราไปใส่กล่อง Stand Alone เมื่อไร ระบบต่างๆ เช่น แอร์ เพาเวอร์ไฟฟ้าสำหรับพวงมาลัย  Function ต่างๆ บนหน้าปัด ระบบควบคุมการทรงตัว (Stability Control) อะไรพวกนี้จะ “ใช้การไม่ได้” ซึ่งรถแข่งก็ไม่ได้ใช้พวกนี้อยู่แล้ว แต่ “รถบ้านต้องใช้” จึงต้องมี MoTeC M150 ออกมา ที่เป็นระบบ Plug and Play สามารถ “เสียบแทนกล่อง ECU เดิมได้เลย” เป็น Stand Alone ที่ครบเครื่อง ก็คือยังมี Function ควบคุมระบบต่างๆ ของเดิมอยู่ ทำให้สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม (ยกเว้น Cruise Control) ซึ่งกล่องรุ่นนี้ก็จะมีของ “ตรงรุ่น” ของรถแต่ละยี่ห้อ เสียบแล้วสามารถใช้งานได้เลย มี Startup file สำหรับเครื่องรุ่นนั้นๆ ติดเครื่องได้ แต่จะ Tuning เพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของ Tuner ที่จะใส่ข้อมูลเข้าไป ซึ่งสรุปแล้ว กล่องรุ่นนี้เหมาะสำหรับรถรุ่นใหม่ที่มี Function การทำงานที่ซับซ้อนและหลากหลาย ให้ยังคงอยู่เหมือนเดิม และสามารถ Tune up เพิ่มความแรงได้อีก มี Function เพิ่มเติม เช่น Turbo & Supercharged Control ควบคุมระบบอัดอากาศ เนื่องจากเป็นส่วนที่เพิ่มเติมมา (เครื่องเดิมไม่มีระบบอัดอากาศ) อื่นๆ อีก เช่น Traction Control, Launch Control (ล็อกรอบตอนออกตัว) และ Gear Shift Ignition Cutting ที่ใช้การ “ตัดจังหวะไฟจุดระเบิด” เวลาเหยียบคลัตช์ เปลี่ยนเกียร์ เพื่อให้รอบไม่เกินที่กำหนด และไม่ต้องถอนคันเร่ง ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน…

(อ้างอิงจาก : www.motec.com)

 

D-4S Engine “การฉีดเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้”

สำหรับเทคโนโลยี D-4S หรือ Gasoline Direct Injection 4 Strokes Engine หรือ “การฉีดเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้” ที่ปกติเครื่องยนต์เบนซินจะฉีดน้ำมันที่ท่อไอดี แต่คราวนี้ฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้แบบเครื่องดีเซลกันเลย จริงๆ มันเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี แล้ว และก็ไม่ใช่ TOYOTA เจ้าเดียวที่ทำ แต่ตอนนี้เราจะพูดถึงเฉพาะ TOYOTA เพราะมันเป็น 86 ก็ต้องว่ากันตามนี้ สำหรับระบบการฉีดเชื้อเพลิง D-4S ใน TOYOTA 86/SUBARU BRZ/SCION FR-S (สเป็กอเมริกา) ก็ใช้การร่วมกัน (Combination) ระหว่างการฉีดตรง และการฉีดผ่านท่อไอดี เราจะพูดถึงลักษณะการ “ฉีดตรง” แบบพอสังเขปก่อนครับ…

ในการฉีดที่ท่อไอดีแบบปกติ จะมีระยะการเดินทางที่ยาว ตั้งแต่ท่อไอดี ผ่านวาล์ว แล้วค่อยเข้าห้องเผาไหม้ ระหว่างการเดินทาง น้ำมันกับอากาศก็จะเสียพลังงานไปบางส่วน เช่น การลดความร้อนที่วาล์วและท่อไอดี ก่อนจะเข้าเครื่อง และยังมีเวลา Delay อีก เมื่อไอดีและน้ำมันมีเวลาเดินทางมาก มีการคลุกเคล้ามาก่อน ถ้ามีข้อผิดพลาด โอกาสที่จะก่อให้เกิดการ “ชิงจุดระเบิด” นั้นง่ายกว่า และต้องใช้ปริมาณเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยการ Loss ไปในจุดต่างๆ ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อพัฒนาเป็นการฉีดตรง ข้อดีหลักๆ เลยก็คือ “ลดการสูญเสียการฉีดเชื้อเพลิง” เนื่องจากการ Loss ในช่วงการเดินทางของไอดีและเชื้อเพลิงนั้นแทบจะไม่มี เพราะฉีดเข้าห้องเผาไหม้เลย “ฉีดปุ๊บ จุดปั๊บ” จังหวะการจุดระเบิดก็จะแม่นยำขึ้น “ใช้เชื้อเพลิงปริมาณน้อยลง” แต่ได้พลังงานเท่าเดิม จะได้เรื่อง “ความประหยัด” และ “มลพิษต่ำ” มาด้วย “ลดการชิงจุดระเบิด” อันนี้สำคัญ สังเกตว่ากำลังอัดเดิมๆ ของเครื่องรุ่นนี้ จะสูงถึง 12.5 : 1 ถือว่าสูงมากในเครื่องรถบ้าน แถมยังใช้เชื้อเพลิงทั่วไปได้อีกด้วย ไม่ต้องใช้ Race Fuel ออกเทนสูงเหมือนเครื่องแบบทั่วไป สำหรับข้อเขียนดังกล่าวนี้ ผมได้ศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หลายแหล่ง ก็ได้ข้อมูลมาประมาณนี้ครับ ก็ลองใช้วิจารณญาณกันดู…

Full Titanium Material Damper 

คันนี้ทาง RS-R จัดหนัก จัดเต็มด้วยโช้คอัพพร้อมสปริง รุ่น Super Black-i ที่ผลิตจาก “ไทเทเนียม” ทั้งกระบอกและวาล์วด้านใน ที่พิเศษมากๆ คือ “ผลิตสำหรับรถคันนี้โดยเฉพาะ” เป็น Prototype ต้นแบบ ที่ยังไม่ได้จำหน่ายจริง ชุดนี้จะเน้นที่ “น้ำหนักเบา” และ “แข็งแรง” รวมไปถึง “ลดความสูงลงได้เยอะ” ซึ่งจะเป็นโช้คอัพแบบ Short Stroke “ช่วงชักสั้น” เนื่องจากต้องการความเตี้ยแบบสุดๆ ถ้าใช้โช้คอัพที่มีความยาวแกนและกระบอกที่ไม่ใช่ Short Stroke เมื่อรถเตี้ยมาก จะเกิดอาการ “โช้คอัพยัน” เมื่อเกิดการยุบแรงๆ แกนจะกระแทกกับก้นกระบอกอย่างรุนแรง ทำให้ “โช้คอัพแตก” วาล์วด้านในเกิดการเสียหายได้ง่าย เมื่อเป็น Short Stroke แกนกับกระบอกจะสั้น จะไม่เกิดอาการยัน ดังนั้น ช่วงการทำงานจึงมีไม่มากนัก เวลาวิ่งเร็วๆ ถนนเรียบๆ จะ “กระชับดี” แต่ถนนไม่ดีก็ต้องเบาๆ ลงหน่อย ได้อย่างเสียอย่างเสมอครับ…

Tech Spec
ภายนอก
ชุดพาร์ท : ROCKET BUNNY Version 2
ฝากระโปรงหน้า : SEIBON
กระจกมองข้าง : CRAFT SQUARE
ไฟหน้า : SPIDER
ไฟท้าย : VALENTI

ภายใน
เกจ์ : BLITZ
เบาะ : BRIDE STRADIA II
เข็มขัด : TAKATA
หัวเกียร์ : Billet Pro Shop
คันเกียร์ : Billet Pro Shop Short Shifter

เครื่องยนต์
รุ่น : 4U-GSE/FA20
ซูเปอร์ชาร์จ : Special Modified by GEAR AUTO CAR
ชุดท่อไอเสีย : Special Custom Made by GEAR AUTO CAR
อินเตอร์คูลเลอร์ : HKS
ไนตรัส : NOS
กล่อง ECU : MoTeC M150 Plug n Play

ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : ORC

ช่วงล่าง
โช้คอัพ : RS-R Super Black-i
สปริง : RS-R Ti 2000
ปีกนกล่างด้านหลัง : WHITE LINE
ปรับ Toe ด้านหลัง : ORT
ค้ำโช้คหน้า : WHITE LINE
เหล็กกันโคลง : WHITE LINE
ล้อหน้า : W Work MEISTER M1 ขนาด 9.5 x 18 นิ้ว ออฟเซ็ต -35
ล้อหลัง : W Work MEISTER M1 ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว ออฟเซ็ต -45
ยาง : YOKOHAMA NEOVA AD08 ขนาด 255/40R18
เบรก : PROJECT Mu Full Set

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome

X-TRA Ordinary

                สำหรับเครื่องรุ่นนี้จะมี 2 ชื่อ ถ้าขายในนามของ TOYOTA 86 หรือ SCION FR-S จะใช้รหัสว่า 4U-GSE แต่ถ้าเป็น SUBARU BRZ จะใช้รหัส FA20 ย้อนมาดูเครื่องตระกูล U ของ TOYOTA (U เฉยๆ นะครับ ไม่เกี่ยวกับ UZ อย่าเอาไปรวมกัน) ก็เป็นเครื่อง “สูบนอน” (Flat Oppose Engine) 2 สูบ ระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled) ตัวแรกรหัส U เฉยๆ ความจุ 700 C.C. ใช้ใน TOYOTA PUBLICA ถัดมาเป็น 2U ความจุเพิ่มขึ้นเป็น 800 C.C. ใช้ใน TOYOTA SPORT 800 สุดคลาสสิก นับเป็นรถสปอร์ตขนาดจิ๋วของ TOYOTA ที่ใช้เครื่องยนต์สูบนอนรุ่นแรก แล้วก็มาเป็น 86 ตัวปัจจุบันนี้ ที่ร่วมเทคโนโลยีกับ  SUBARU ออกแบบเครื่องสูบนอนมาใช้กับสปอร์ตในสังกัดอีกครั้ง…

 

Special Thanks