90’s The Golden Era of JAP Sport Epic III : MAZDA RX-7 FD3S Model

 

ยังคงเดินทางอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “Reed It more” ที่อยู่คู่ผู้อ่านมากี่เล่มแล้ว ??? ไม่ต้องจำหรอก รู้แต่ว่า “จะยังเดินต่อไป” แค่นั้นพอ… ฉบับนี้ มาเอาใจสาวก “โรเตอร์เฮด” กันบ้าง กับคิวของ MAZDA “Efini” RX-7 ในโมเดล FD3S ที่ถือว่าเป็น “อมตะ” สำหรับคนชอบตระกูล RX ที่จะต้องหามาครอบครองใน Garage ส่วนตัวสักคัน ด้วยรูปทรงที่ Low & Wide แบบสปอร์ตพันธุ์แท้ ผสานความจัดจ้านของเครื่องยนต์ Rotary & Turbo ที่ถูกพัฒนามาจนสมบูรณ์แบบ และที่สำคัญ ในด้าน Handling ที่ยอดเยี่ยม รถมีน้ำหนักเบาแต่ไม่ใช่เบาหวิว การ Balance น้ำหนักทำได้อย่างดี จึงเป็นรถที่มีสมรรถนะดีในแบบสปอร์ตแท้ๆ ที่ฝรั่งยังต้องยอม และแน่นอน ในประเทศไทย ก็มีแฟนๆ ของ RX-7 FD3S อยู่มากมาย ซึ่งเราจะมาตามหา “เรื่องราว” การเดินทางของ RX-7 FD3S ที่มีการผลิตและจำหน่ายนานถึง 10 ปี !!! ไม่ต้องรอครับ อ่านต่อไปเลย…

 

History

Model I

The Birth of Efini RX-7

สำหรับ Efini RX-7 ในโมเดล FD3S (หรือ JM1FD สำหรับรถสเป็กอเมริกัน) ถือว่าเป็น Gen. 3 ถูกพัฒนาให้เป็นรถสปอร์ตที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ดีไซน์จากฝีมือของ Mr. Yoichi Sato” จุดเริ่มต้นของรุ่นนี้ เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1991 เปลี่ยนชื่อจาก SAVANNA ในรุ่นก่อน มาเป็น Efini อ่านว่า “แองฟินี่” มาจาก Infinity ที่แปลว่า “อนันต์” หรือ “ไม่มีที่สิ้นสุด” (ซึ่งชื่อ Efini ข้อมูลบอกว่า เป็นชื่อของ Dealer ในญี่ปุ่น ซึ่งตอนแรกคนเข้าใจว่า Efini จะต้องเป็น RX-7 เท่านั้น จริงๆ ไม่ใช่ ยังมีรุ่นอื่นๆ อีก เช่น MPV, MS-8 etc.)

 

เครื่องยนต์ 13B-REW เป็น “หอยแฝดแบบเรียงลำดับการทำงาน” หรือ Twin Sequential Turbo ซึ่งเป็น “ครั้งแรกและครั้งเดียวในเครื่องโรตารี่” (รวมถึง 20B-REW ใน EUNOS COSMO ด้วยนะ) สำหรับแรงม้าที่ปั่นได้ อยู่ที่ 255 PS @ 6,500 rpm เมื่อหารกับน้ำหนักตัว 1,260 กก. (รุ่น Type R) จะได้ “อัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนัก” อยู่ที่ “4.94 กก./1 แรงม้า” เป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าสปอร์ตญี่ปุ่นในระดับเดียวกัน ทำให้รถมีความปราดเปรียวมากเป็นพิเศษ อัตราเร่ง 0-100 km/h ทำได้ในเวลาเพียง 4.9 วินาที เวลาควอเตอร์ไมล์ 13.5 วินาที ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของตัวรถในสิ่งที่มีข้อมูล ก็จะมี ไฟตัดหมอกทรงกลม แสงสีเหลือง, ขอบเกจ์วัดสีเงิน, ล้ออะไหล่เป็นอะลูมิเนียม, แป้นเหยียบคลัตช์และเบรก เป็นอะลูมิเนียมเจาะรู (ลายเหมือนของ Autolooks ของแต่งสมัยก่อน คนรุ่นเดอะน่าจะพอจำกันได้) ส่วน Sunroof เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ รุ่นนี้ยังเป็น “ฝาเหล็ก” อยู่ ในเดือนตุลาคม ปี 1992 มีการผลิตรุ่นพิเศษ “Type RZ” (Version 1) ออกมา เป็น Limited Edition จำนวน 300 คัน โดยมีข้อพิเศษที่เหนือกว่ารุ่นปกติ เช่น สีดำ Brilliant Black, ช่วงล่างที่แข็งกว่า, ล้อสีดำ (แต่เป็นลายเดียวกับตัวปกติ), ยาง PIRELLI P-ZERO โคตรซิ่ง, เบาะ RECARO Full Bucket Seat และไม่มีที่นั่งหลัง, เปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้าย จาก 4.100 ในรุ่นปกติ เป็น 4.300 เน้นความจัดจ้าน น้ำหนักลดลงเหลือ “1,230 กก.” ทำให้แรงม้าต่อน้ำหนักอยู่ที่ “4.82 กก./1 แรงม้า” เพิ่มความจัดจ้านได้มากโข และในปี 1991 ก็ได้รับรางวัล Automotive Researchers’ and Journalists’ Conference Car of the Year award in Japan อีกรางวัล.

 

สิ่งที่ MAZDA คำนึงถึงในเครื่องโรตารี่ นอกจากความแรงที่ไม่เหมือนใคร ก็ยังมีเรื่อง “การสมดุลน้ำหนัก” ซึ่งเครื่องโรตารี่จะ “สั้น” และ “วางชิดด้านใน” เลยทำให้น้ำหนัก Over Hang ด้านหน้า (จุดที่เลยคานหน้าไปถึงด้านหน้าสุดของรถ) มีน้อย รถก็จะเลี้ยวได้ดี ส่วนช่วงล่างก็พัฒนาใหม่ โดยการใช้ “อะลูมิเนียม” เพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง รวมถึงการใช้ Pillow Ball Mounting หรือ Ball Joint เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้นอีกด้วย

 

Model II

ในเดือนสิงหาคม ปี 1993 ได้มีการปรับปรุงบางอย่างเกี่ยวกับตัวรถ เช่น เปลี่ยนไฟตัดหมอกเป็นแสงสีขาว, ปรับช่วงล่างหลังให้นิ่มลง, เพิ่มความแข็งแรงให้กับ “ซับเฟรมหลัง”, ชิ้นส่วนพลาสติกภายในจะเป็นลายหนังช้าง (รุ่นแรกบางชิ้นทำเป็นสีดำเรียบ), ขอบเกจ์วัดเป็นสีดำ เปลี่ยน Font ตัวเลขใหม่ ขีดบอกค่าถี่ๆ แบบรุ่นแรกจะหายไป, เพิ่มที่เท้าแขนกลาง, เปลี่ยนน้ำยาแอร์จาก R12 เป็น R134A และมีล้อ BBS ขอบ 17 นิ้ว เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ ส่วนรุ่นที่จำหน่าย จะมี Type R, Type R II ไม่มีเบาะหลัง ลดน้ำหนัก และรุ่น Touring X (ก็เปลี่ยนชื่อจาก Type X มา) เพิ่ม Front Lip ส่วนขอบเกจ์วัดยังเป็นสีเงิน, Sunroof เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ เปลี่ยนจากฝาเหล็ก เป็น “กระจก” แล้วครับ

มาถึงตัว Limited Edition กันบ้าง “RZ Version 2” มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมขึ้นมา ก็คือ ล้อ BBS 17 นิ้ว, ยางหน้า 235/45R17 ยางหลัง 255/40R17, เบาะ Full Bucket Seat, ค้ำโช้คอัพหน้าและหลัง, แผ่นกันลื่นเท้าคนนั่ง, นวมกันเข่ากระแทกคอนโซลฝั่งคนขับ มีผลิตเพียง 150 คัน เท่านั้น ในเดือนกันยายน ปี 1994 ออกรุ่น Type R-II BATHURST เป็นการฉลองชัยชนะในการแข่งขัน Bathurst 12 Hours Endurance Race ที่ Australia ซึ่ง RX-7 รุ่นนี้ ชนะต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี (1992-1994) แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก ที่รู้ก็มี Sticker ไลน์สนาม Bathurst สีแดง (ดูคล้ายๆ ของ Nurburgring เหมือนกันนะ) ผลิตออกมา 350 คัน และในปีนี้เอง ได้รับรางวัล Import Car Of The Year จากนิตยสาร Motor Trend ไปนอนกอดให้สบายใจ…

 

Model III  

เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 1995 เปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกนิดหน่อย เปลี่ยนสปอยเลอร์หลังเป็นทรงใหม่ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า  Dolphin Type แบบสองขา กระดกปลายขึ้น ลองดูเอาเองก็แล้วกัน ทรงจะปราดเปรียวกว่าเดิม ไฟส่องในห้องเก็บของจะไม่มี (รุ่นก่อนดันมี) มาพูดถึงรุ่น “แหล่มๆ” กันดีกว่า

ในรุ่น Type RZ Version 3” จุดที่เพิ่มเติมมา เช่น จานเบรกขนาดใหญ่ขึ้น เป็น 314 มม., เปลี่ยน Limited Slip ใหม่ ส่วนรุ่น “Type R-S” ใช้พื้นฐาน Type R แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น พวงมาลัย MOMO, เบรกหน้าสเป็กเดียวกับ Type RZ Version 3…

 

Model IV

First Minor change 265 PS

ในเดือนมกราคม ปี 1996 มีการเปลี่ยนแปลงแบบ “ไมเนอร์เชนจ์” ครั้งแรก สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ ไฟท้ายเป็นแบบเลนส์กลม, ไม่มีปุ่มปรับแสงสว่างที่หน้าปัด, ไฟเกจ์วัดเปลี่ยนจากสีแดงอำพัน (Amber) เป็นสีเขียว (Green) ภายในจะลดต้นทุนการผลิตสำหรับอุปกรณ์บางชิ้น เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก, พรมพื้น, ล้ออะไหล่เปลี่ยนจากอะลูมิเนียมเป็นเหล็ก (หนักไปไหม) เปลี่ยนกล่อง ECU จาก 8 Bit เป็น 16 Bit ในรุ่นเกียร์ธรรมดา แรงม้าจะเพิ่มมาอีก 10 PS เป็น “265 PS” ส่วนแรงบิดยังคงอยู่ที่ “30.0 kg-m.” โดยมีรุ่น Type RS เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ล้อลาย 5 ก้านโค้ง แบบใหม่ ขอบ 17 นิ้ว ขนาดยางเท่ากับตระกูล RZ อัตราทดเฟืองท้าย “4.300” ลิมิเต็ดสลิปแบบ Torsen ช่วงล่างปรับให้แข็งขึ้น เบรกหน้าใหญ่ 314 มม. ส่วนอีกรุ่น คือ Type RB รองลงมา ล้อเป็นขอบ 16 นิ้ว ลายดั้งเดิมตั้งแต่แรก มีของน้อยกว่า Type RS แต่มีแรงม้าเท่ากัน ส่วนตัวแรงอย่าง “Type RZ Version 4” ก็ยังไม่มีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอะไร แรงม้าก็เพิ่มขึ้นเป็น 265 PS เท่ากับ Type อื่น แต่ยกเว้น “Touring X” ที่ยังคงไว้ที่ 255 PS เหมือนเดิม…

มาดูตัว “ลิมิเต็ด” กันบ้าง ในเดือนมกราคม ปี 1997 ได้ออกรุ่น Type RB BATHURST X” เปลี่ยนรายละเอียดภายใน เช่น เบาะหนังและพรมพื้นสีแดงแบบใหม่ พวงมาลัย MOMO 4 ก้าน แบบมี SRS Airbag มีจำนวน 700 คัน ต่อมา เดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ได้ออกรุ่น RS-R Rotary Engine 30 Years Anniversary” ฉลองครบรอบ 30 ปี ตำนานเครื่องโรตารี่ของ MAZDA ภายนอกมีสีพิเศษ ล้อเป็น 17 นิ้ว ลายเดียวกับ RS แต่พ่นสีดำ เปลี่ยนรูปแบบเกจ์ใหม่ สเกลละเอียด เข็มสีแดง ไฟเกจ์วัดสีเขียว พวงมาลัย MOMO 4 ก้าน แบบมี SRS Air Bag มีผลิตออกมาจำนวน 500 คัน แต่มี “ข้อสังเกต” อยู่นะครับ รุ่นนี้จะเป็น “ช่วงคาบเกี่ยว” จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อง “ชื่อ” โดย “หยุดการใช้ชื่อ Efini” และเรียกเป็น MAZDA RX-7 เฉยๆ และโลโก  Efini ไอ้ที่เป็น “สามเหลี่ยมพัวพัน” (ข้าพเจ้า “พี สี่ภาค” เรียกเอง) ก็ถูก “เก็บไว้” ซึ่ง RX-7 รุ่นหลังจากนี้ไปจนถึงสุดสายการผลิต จะเปลี่ยนเป็น “โลโก M นกบิน” แบบที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน…

Model V

Full Power 280 PS

เข้าสู่ “จุดสุดยอด” ของรุ่นนี้กันแล้ว ในเดือนธันวาคม ปี 1998 ซึ่งจะเรียกว่าเป็นรุ่นปี 1999 ก็ไม่แปลก ออก Model 5 มา ถือเป็นรุ่นที่ “พัฒนามาถึงขีดสุดของรุ่น” มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง “ส่งท้าย” ภายนอกมีเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน เช่น กันชนหน้า เปลี่ยนรูปทรงช่องลมเป็นแบบ 5 เหลี่ยม พวกทางดักลมต่างๆ ที่จะไปเป่าระบายความร้อน เช่น อินเตอร์คูลเลอร์, ออยล์คูลเลอร์, เป่าเบรกหน้า ฯลฯ ไฟเลี้ยวที่กันชน ด้านในจะเป็นโคมทรงกลม ลิ้นหน้าทำเป็น Side Canard ในตัว สปอยเลอร์หลังทรงใหม่ แบบ “ปรับองศาได้” ตั้งแต่ 1-14.5 องศา ไฟตัดหมอก เพิ่มจาก 35 วัตต์ เป็น 55 วัตต์ กระจกบานหลังเป็นแบบ “กรองแสง” ในตัว เครื่องยนต์มีการปรับปรุงใหม่ (เดี๋ยวไปว่ากันในส่วนของ Mechanic แล้วกัน) ทำให้แรงม้าเพิ่มเป็น 280 PS สุดที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด

ภายในเปลี่ยนเกจ์วัด เข็มวัดรอบทิ่มลงในแนวดิ่ง จอสีขาว เปลี่ยนจากเกจ์วัดแรงดันน้ำมันเครื่อง เป็น “เกจ์วัดบูสต์” พวงมาลัยเป็น NARDI 3 ก้าน เพิ่ม SRS Air Bag ฝั่งคนนั่งด้วย สำหรับรุ่นที่มีจำหน่าย ก็จะเป็น Type RS ล้อ 17 นิ้ว ช่วงล่าง BILSTEIN, Type R และ Type RB รุ่นถูกสุด เครื่องยังเป็น 255 PS เกียร์อัตโนมัติ กระจกหลังแบบธรรมดา ทั้ง Type R และ Type RB ปรับโช้คอัพให้นุ่มลง ได้ล้อ 16 นิ้ว ลายใหม่ น้ำหนักเบาลง ฝาปิดดุมล้อเป็นโลโก M ปรับปรุงโปรแกรม ABS ใหม่ ตั้งแต่เวอร์ชั่น 5 นี้ไป จะมีเฉพาะ “พวงมาลัยขวา” เท่านั้น โดยเน้นไปทางตลาดเอเชียเป็นหลัก แล้วก็มีการนำเข้าไปยัง ออสเตรเลีย อังกฤษ บ้าง เพราะเป็นพวงมาลัยขวาเหมือนกัน…

 

 

Model VI

Final Round !!!   

เดือนกันยายน ปี 2000 ยุค “Millennium” มาถึง “ยกสุดท้าย” ของ RX-7 กันแล้ว เป็นการ “ส่งท้าย” และปิดสายการผลิต RX-7 เพื่อเข้าสู่โมเดล RX-8 แต่แน่นอน ต้องมีอะไร “พิเศษ” มาฝากกัน รุ่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ เช่น ระบบเบรก เพิ่มระบบช่วยเสริมแรงดันเบรก หรือ EBD ส่วน ABS เปลี่ยนกล่องจาก 8 Bit เป็น 16 Bit เพื่อให้การทำงานเร็วและแม่นยำขึ้น มีระบบความปลอดภัย “ต้องเหยียบคลัตช์จึงจะสตาร์ทเครื่องได้” เกจ์วัดเปลี่ยนมาเป็นขอบโครเมียม “อีกครั้ง” ส่วนรุ่นที่จำหน่ายปกติ ก็จะมี Type RS, Type R, Type RB-S Package, Type RB

มาโม้กันที่ตัว “ลิมิเต็ด” กันอีกแล้ว เริ่มกันจาก “Type RZ Version 6” (เรานับกันตาม Type ของรถ) ซึ่งก็เป็น “นายแบบ” ในฉบับนี้นั่นเอง จุดที่พิเศษหลักๆ ก็คือ น้ำหนักตัวเบากว่ารุ่น RS 10 อยู่ 10 กก. ทำให้ Power Weight Ratio อยู่ที่ “4.55 กก./1 แรงม้า” เท่านั้น มีสีพิเศษ “Snow White Pearl Mica” ล้อ BBS 8 ก้านคู่ ขอบ 17 นิ้ว คาลิเปอร์เบรกสีแดง เบาะ RECARO คาร์บอนไฟเบอร์ สีแดง ไม่มีเบาะหลัง เบรกใหญ่ โช้คอัพ BILSTEIN เฟืองท้าย 4.3 และลิมิเต็ดสลิปแบบ Torsen ที่ปรับปรุงให้ “จับ” มากขึ้น รายละเอียดอื่นๆ ไปดูที่ “นายแบบ” เลยละกัน แล้วก็จะมี Type R BATHURST ออกมา ภายในประดับด้วย “คาร์บอนไฟเบอร์” ดูสวยและดุดันขึ้น

 

และมาถึง “สุดยอดขุนพล” ที่ออกมา “ปิดไลน์การผลิต” เป็น Last Limited Version คือรุ่น “SPIRIT R” ออกมาในเดือนมีนาคม ปี 2002 มีผลิตออกมาจำนวน 1,500 คัน ไฮไลต์ของรุ่นนี้จะต้องเป็นสี Titanium Grey ซึ่งเป็น Exclusive Color ของรุ่น SPIRIT R สำหรับสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของรุ่นนี้ก็คือ หน้ากากคอนโซล ฝาปิด SRS Air bag ฝั่งคนนั่ง จะเป็น “สีเทาด้าน” เบาะเป็น RECARO เหมือนกับ RZ ล้อ BBS 8 ก้านคู่ ขอบ 17 นิ้ว ดูเผินๆ เหมือนกับ RZ แต่ “ต่างกันโดยสิ้นเชิง” ดูรูปเปรียบเทียบเอาแล้วจะรู้เอง จานเบรกขนาดเดียวกับ RZ แต่ “เจาะรู” ระบายความร้อน และมี “โลโก 3 เหลี่ยม SPIRIT R” ติดที่แก้มหน้า สำหรับรุ่นที่มีจำหน่าย จะมีทั้งหมด 3 Type ได้แก่ “SPIRIT R Type A” เบาะ RECARO สีแดง ไม่มีเบาะหลัง เกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีผลิตกว่า 1,000 คัน ราคา “3,998,000 เยน” ทาง MAZDA ตั้งใจให้เป็นสุดยอดของรถสปอร์ตที่ตัวเองเคยทำมา จนมีคำกล่าวใน MAZDA Press Release ตอนเปิดตัวว่า “The Type-A Spirit R model is the ultimate RX-7, boasting the most outstanding driving performance in its history.” ส่วน “SPIRIT R Type B” เป็นแบบ 2+2 Seat มีเบาะหลัง เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และ SPIRIT R Type C เป็นแบบ 2+2 Seat และเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ถือว่าเป็นการ “จบอย่างสวยหรู” สำหรับตระกูล RX-7 ในโมเดล FD3S ที่ยังคงอยู่ในใจเหล่า Rotorhead เสมอ

 

Mechanics

เรามาดูเรื่อง “กลไก” และ “การพัฒนา” ต่างๆ ที่น่าสนใจของรุ่นนี้กันบ้าง เริ่มกันจาก “ระบบช่วงล่าง” ซึ่ง MAZDA ก็เน้นหนักในด้าน Handling อยู่แล้ว เป็นที่รู้กัน พวกแขนยึดต่างๆ เป็น “อะลูมิเนียม” ซึ่งทันสมัยมาก มีตั้งแต่รุ่นแรกเลยนะครับ การ Balance น้ำหนักก็อยู่ในเกณฑ์ 50:50 ซึ่งเป็นสิ่งที่ MAZDA ต้องการในสปอร์ตของค่าย รวมถึง MX-5 ด้วย เครื่องยนต์ 13B-REW แม้จะใช้กัน 10 กว่าปี แต่ก็มีการ “พัฒนาและปรับปรุง” มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับจุดเด่นในสมัยนั้น MAZDA ภูมิใจเสนอ Sequential Twin Turbo ที่ให้ HITACHI ผลิต โดยมีการทำงาน “ตามรอบเครื่องและตามโหลด” ซึ่งก็เหมือนกับในเครื่อง 20B-REW ที่ใช้กับ EUNOS COSMO เพื่อนำมาช่วย “เพิ่มแรงบิดในรอบต่ำและกลาง” ให้ตอบสนองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า พื้นฐานเครื่อง “โรตารี่” จะไม่ค่อยมีแรงบิดมากนัก แถมยังต้อง “เล่นรอบ” เพื่อให้มีแรง ทำให้ “ขับยาก” ก็เลยใช้เทอร์โบแบบ Sequential มาช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งเทอร์โบตัวแรกจะทำงานใน “รอบต่ำ” ตั้งแต่ 1,800 rpm และเทอร์โบตัวที่สอง จะทำงานเสริมที่ 4,000 rpm โดยใช้บูสต์อยู่ที่ “0.7 บาร์” ซึ่งก็ต้องระวัง ถ้าบูสต์ไหล หรือ “ซน” ไปปรับบูสต์เพิ่มเยอะเกินไป เทอร์โบลูกหน้าจะ “ปิ๊กบ้าน” อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับรายละเอียดของ “เครื่องยนต์” ในแต่ละปี เทียบกันระหว่าง “ตัวแรก 255 PS” และ “ตัวใหม่ 280 PS” ซึ่งมีข้อแตกต่างกันชัดเจน เริ่มกันจาก ท่อไอดี หรือ “งวง” ที่ออกมาจากกรองอากาศ ตัวแรกจะเป็น “สีเงิน” ตัวใหม่จะเป็น “สีดำ” MAP Sensor ตัวแรกจะมี “ขนาดใหญ่” ตัวใหม่จะมี “ขนาดเล็ก” กล่อง ECU ตัวแรกเป็น “8 Bit” และ “กล่องบาง” มีฝาเปิด 2 ด้าน และ “ปลั๊กบาง” ด้วย ตัวใหม่ จะเป็น “16 Bit” แบบ “กล่องหนา” ตัวกล่องจะเป็นอะลูมิเนียมหล่อมาทั้งชิ้น มีฝาปิดด้านเดียว และ “ปลั๊กหนา” (เหมือนพวกกล่อง TOYOTA JZ) คอเติมน้ำด้านบนเครื่อง ตัวแรกจะเป็น “2 ชิ้น” ตัวใหม่จะเป็น “1 ชิ้น หล่อจากอะลูมิเนียม” เพื่อป้องกันการ “รั่ว” ที่พบในตัวแรก Vacuum Solenoid ที่คุมระบบ Sequential Turbo ตัวแรกจะเยอะและยุ่งเหยิงหน่อย ซึ่งก็มีปัญหาค่อนข้างบ่อย (อยู่ที่การใช้งานและดูแลรักษาด้วยครับ) ตัวใหม่จะทำให้ “มีจำนวนน้อยลง” ไม่ยุ่งเหยิงเหมือนตัวแรก ส่วน “เทอร์โบ” หน้าตาเหมือนกัน แต่ “ความโตของใบไม่เหมือนกัน” ตัวใหม่ใบจะใหญ่กว่า อันนี้ต้องรื้อดู โดยเฉพาะตัว SPIRIT R เทอร์โบจะใหญ่ที่สุด เอกลักษณ์ของมัน คือ “ด้านในฝาจะมีขอบสีดำ” เหมือนกลึงปากให้ใหญ่ สำหรับรับใบเทอร์โบที่ใหญ่ขึ้น ถ้าใครเคยลอง ที่บูสต์เท่ากัน เทอร์โบของ SPIRIT R จะ “แรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด” ซึ่งแน่นอนว่า เทอร์โบรุ่นนี้ทำ Flow ได้เยอะกว่าที่บูสต์เท่ากัน สำหรับคำแนะนำ ถ้าใครอยากจะวางเครื่องใหม่ ให้เล่นกับตัวใหม่ 280 PS ไปเลยดีกว่า มันเป็นการพัฒนาแก้จุดอ่อนจากรุ่นแรกให้น้อยลง แรงกว่าเห็นๆ เครื่องสดกว่า ราคาเครื่องตัวใหม่ อยู่ประมาณ 60,000-70,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพ และราคาที่ผันผวนในขณะนั้นครับ

After Buy Service Guide

 

ตรงนี้เราขอพูดถึงรถเดิมๆ เป็นหลักนะครับ ซึ่งตอนนี้กระแสรถเดิมๆ กริ๊บๆ กำลังมาแรง โดยพื้นฐานแล้ว RX-7 ต้องมีการบำรุงรักษา รวมถึงการซ่อมที่ “เฉพาะทาง” ซึ่งในสมัยก่อน อู่ที่ทำ Rotary ก็มีน้อย อะไหล่แต่ละอย่างก็หายาก แถมแพงอีกต่างหาก แต่ในสมัยนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา อู่เฉพาะทางมีเยอะขึ้น ช่องทางการหาอะไหล่หรือของต่างๆ ก็ “ง่าย” ขึ้นมาก จึงไม่น่ากังวลอะไร (หากมี “ตังค์”)

พูดถึง “เครื่องยนต์” หากเป็นรถเดิมๆ และมีการซ่อมบำรุงอย่างถูกต้องมาตลอด เช่น การเลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูง หัวเทียนที่ “ถูกเบอร์” เพราะมันมีทั้งหัวเทียน Primary (จุดนำ) และ Secondary (จุดตาม) การดูแลระดับน้ำหล่อเย็น พวกนี้ “อย่าได้พลาด” เพราะถ้าละเลย เครื่องยนต์อายุสั้นแน่นอน (แต่ก็ “อย่าคิดกลัวมากไป”)

 

สำหรับส่วนที่ “ควรปรับปรุงเพิ่ม” ก็คือ “เปลี่ยนเทอร์โมสวิตช์คุมพัดลมหม้อน้ำเป็นของแต่ง” ที่เปิดการทำงานของพัดลมในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าของเดิม เนื่องจากในบ้านเรา “โคตรพ่อม โคตรแม่ม ร้อนนนนนนน” !!! ประการที่สอง “รื้อมาเปลี่ยนซีล Housing รวมถึงซีลอื่นๆ ปะเก็นต่างๆ” เพราะซีลเดิมมันเป็น “ยาง” ใช้ไปนานๆ จะ “รั่ว” ทำให้ “กำลังอัดรั่ว” ตรงนี้เครื่องโรตารี่ โดยโครงสร้างของมันก็จะมีจุดรั่วไหลได้เยอะอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องระวัง และเช็ก “ระบบน้ำหล่อเย็น” ให้ดี เพราะเครื่องโรตารี่จะค่อนข้าง “มีความร้อนสูง” เพราะพอร์ตไอดีและไอเสียอยู่ใกล้กันมาก เออ เกือบลืม “วาล์วน้ำของแต่ง” ที่เปิดเร็วกว่าของเดิมอีกสักตัวก็ดีนะ และ “ระวังบูสต์ไหล” เกินพิกัด จะเกิดปัญหา เทอร์โบพัง และเครื่องพังได้ง่าย รวมถึงการดูแล “เติม Auto Lube” อย่าได้ขาด จริงๆ ถ้าดูแลอย่างถูกต้อง เครื่องโรตารี่แบบเดิมๆ หรือ Light Tuning ก็ไม่ได้มีอะไรน่ากลัว หากทำให้สมบูรณ์แบบ…

 

Motorsport

สำหรับเรื่องราวของ “มอเตอร์สปอร์ต” ของ RX-7 FD3S ก็มีมากมายหลายหลาก ขอเล่าเฉพาะส่วนที่ “โดดเด่น” และ “ใกล้ตัวเรา” ก็แล้วกันนะครับ ถ้าเป็น “เซอร์กิต” ในญี่ปุ่น ที่โด่งดังแน่ๆ ก็คือ ทีม “RE AMEMIYA ASPARA DRINK” รถสีเหลือง ที่แข่งในรายการ JGTC จนตอนหลังมาเป็น SUPER GT รถคันนี้แข่งในรุ่น GT300 และชนะเลิศประเภททีมในปี 2006 ส่วนฝั่ง “ออสเตรเลีย” ที่ขึ้นชื่อในการ “บ้าโรตารี่” ก็ไม่น้อยหน้า นอกจากการแข่งขัน BATHURST 12 Hours Endurance Race ที่บอกไปตอนต้น และยังมีรถเวอร์ชั่นพิเศษ คือ “RX-7 SP” ที่ผลิตเป็น Homologate Car สำหรับแข่งขันในรายการ Australian GT Production Car Series และ Eastern Creek 12 Hour production car race ผลิตขึ้นมาในปี 1995 ข้อแตกต่างจากรุ่นปกติ คือฝากระโปรงหน้ามีรูระบายความร้อน กันชนหน้าและสปอยเลอร์หลัง เหล่านี้เป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” เพื่อลดน้ำหนัก ล้อ BBS 17 นิ้ว จุกปิดดุมกลาง จะเป็นโลโก “จิงโจ้” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความเป็น “ออสซี่” เครื่องยนต์ มีแรงม้า 276 PS กล่อง ECU โมดิฟายใหม่ เปลี่ยน Intercooler และระบบ “หล่อเย็น” ทั้งหลาย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ภายในเป็น Race Equipment ถังน้ำมันเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ความจุมากถึง “120 ลิตร” (รถเดิม 76 ลิตร) ลองดูตามรูป จะรู้เลยว่า “มีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่นอย่างชัดเจน” ถือว่าเป็น Rare Item ที่หายากและราคาแพง

ส่วนวงการ “ดริฟต์” คนที่เหมือนเป็น Signature ของรถรุ่นนี้ก็คงหนีไม่พ้น “Masao Suenaga” (มาซาโอะ ซูเอนากะ หรือ ซูเอนางะ) คนนี้คงไม่ต้องฝอยกันมาก เพราะรู้ “สรรพคุณ” ในการนำ RX-7 FD3S กวาดท้ายแบบลีลา และก็ยังใช้เครื่อง 13B-REW ที่ดูจะเสียเปรียบชาวบ้าน แต่อาศัย “ความเก๋า” วาดลวดลายได้ไม่แพ้ใคร และเป็นอาจารย์ของ “พี่โอ๊ต OVERDRIVE” ที่จัดเต็มกับเครื่อง 20B-REW ในรถดริฟต์ของเขา ข้ามมาฝั่ง “นิวซีแลนด์” ลืมคนนี้ไม่ได้ครับ “Mad Mike Whiddett” ขานี้ “บ้าจริง” เคยมาโชว์ลีลาสะเด่าโห้โปรโมชั่นในบ้านเรา ด้วยเครื่องยนต์ 26B 4 โรเตอร์ ที่เราก็ “เคย” ไปถ่ายรถคันนี้มาลงคอลัมน์ Souped Up Special เป็นที่เรียบร้อย…

 

ขอพูดถึงบ้านเราก็แล้วกัน เพราะนิยมกันมาก ถ้าเป็นวงการ “เซอร์กิต” ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน รายการ TGTC (Thailand Grand Touring Car) ที่ “พี่ปั้น” สมัยที่ยังทำ Aim Motorsport เป็นผู้จัด ตัวเด่นๆ ก็คงหนีไม่พ้น ทีม PENNZOIL DREAM SPORT ของ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” มี 3 คัน ลงแข่งในรุ่น GT Class B และได้แชมป์ (เรื่องนี้ “เสี้ยม ริมหาด” ได้เหลาไปแล้วในเล่มที่เป็นปกของ PULZAR ที่มี BMW E46 ของ “เจ” และ CEFIRO A31 ของ “ประทวย”) ถ้าเป็นรุ่นหลังๆ ก็ยังมีรถเซอร์กิต ของ “พีท ทองเจือ” ที่ให้ ROTARY REVOLUTION เป็นผู้โมดิฟาย ถ้าเป็น “ซิ่งทางตรง” ก็จะมีคันสีขาว ทีม “ORANGE” ของ “คุณบอย สรวงศ์ เทียนทอง” ให้ “พี่ใหม่ P&C” เป็นผู้ปรุงความแรง รถคันนี้มีความโดดเด่นมาก ส่วนอีกคัน ก็เป็นรถของ พี่ใหม่ P&C เอง ที่ทำเวลาได้พิกัด 8 วินาที ได้เป็นคันแรก กับเครื่อง 2 Rotors ในงาน Souped Up Thailand Records 2014 ที่ผ่านมา ถ้าเป็นการแข่งขันรูปแบบอื่นๆ ที่ดังๆ ในปี 1992 มีลงแข่งวิ่ง Top Speed ในทะเลเกลือ Bonneville ที่ U.S.A. เป็นรถจากสำนัก Racing Beat ที่ร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกา รถเวอร์ชั่นแรก สีขาว เครื่องยนต์ 20B-REW 800 PS แต่เสียดาย “I Believe I Can Fly” ไปซะก่อน ที่ความเร็ว “215 ไมล์/ชม.” หรือ “344 กม./ชม.” !!! โชคดีที่คนขับ “Jim Mederer” ไม่เป็นอะไร ระบบ Safety เขา “สุโค่ย” จริงๆ ในปี 1995 เป็นเวอร์ชั่น 2 สีดำ มีชื่อว่า “Back in Black” คราวนี้ไม่เหาะแล้ว ทำ Top Speed ได้ถึง “242 ไมล์/ชม.” หรือ “387.2 กม./ชม.” เชียวนะ

 

 

 

Modify Garage Guide

สำหรับอู่ที่รับซ่อมบำรุงและโมดิฟายเครื่องยนต์โรตารี่ ในปัจจุบันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดีครับ ผู้ใช้จะได้มี “ทางเลือก” สำหรับตัวเอง เหมือนเดิมครับ เรามี “ตัวเลือก” ทั้ง “อู่เก่าเก๋าเกม” กับ “อู่ใหม่ไฟแรง” มาให้ท่าน “พิจารณา” เลือกกันตามความเหมาะสม…

–                    P&C GARAGE: รู้จักกันดี “พี่ใหม่ ผู้ชายหน้าหวาน” กับประสบการณ์เครื่องโรตารี่ทุกรุ่น มีผลงานเป็นที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน Drag และ Drift Contact: Tel. 08-1855-8342, www.facebook.com/Mai PC Garage

–                    ROTARY REVOLUTION: “พี่มะ” ทายาท “อาสุขุม เผ่าจินดา” หรือสุขุมโรตารี่ ก็เป็นอีกเจ้าที่คุ้นเคยกับโรตารี่ มานาน มีผลงานทั้งในด้าน Circuit และ Drag Contact: Tel. 08-9151-1144, www.facebook.com/Ma Rotary-Revolution

–                    DREAM SPORT : รุ่นเก่าในวงการ “เฮียปุ๊ย” จริงๆ รถแรงทำได้ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นรถเดิมๆ Detail ครบๆ หรือจะ Retro ก็งานถนัด Contact: Tel. 08-1623-1001

–                   PROSTREET : โดย “พี่เอ๋” จริงๆ รับทำเครื่องโรตารี่ด้วยนะครับ เพียงแต่อาจจะจำกัดรถที่เข้าทำหน่อย เพราะส่วนใหญ่จะเน้น “รถแข่ง” เป็นงานหลัก สนใจก็ลองคุยดูก่อนแล้วกัน Contact: Tel. 08-1413-0200, www.facebook.com/อู่ Prostreet

–                    JICA TUNING : ชื่ออู่ว่า “ใจกล้า” โดย “ช่างเล็ก” เป็นอู่ที่เริ่มมาแรงในหมู่วัยรุ่น เริ่มมีผลงานในแนว Street Racing ขึ้นมาเรื่อยๆ Contact: Tel. 08-6958-5858, www.facebook.com/Spectum Jica Rotary

–                    CMZ ROTARY : ของ “ช่างชัย” นี่ก็เป็นอีกอู่ที่กำลังมาแรงใน “แนวซิ่ง” อีกเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็จะทำรถกันในกลุ่ม แต่อยากทำก็ติดต่อไปเซ่ Contact: Tel. 08-7922-5502, www.facebook.com/Chai CMZ Rotary

Owner & Specialist Comment

คุณติ่ง Auto Factory

                ก็เหมือนกับเป็น “ความฝันวัยเยาว์” สมัยเด็กได้หนังสือของ RX-7 รุ่นนี้มา เห็นแล้วรู้สึกว่า “โคตรชอบ” อย่างแรง เลยเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้อย่างดี พอโตขึ้นมา ก็มีโอกาสได้เดินตามฝัน มีโอกาสได้รู้จักกับ “พี่ล้าน” ที่เล่น RX-7 รุ่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงปรึกษาและซื้อรถ ส่วนตัวเป็นคนชอบรถแบบรุ่นพิเศษอยู่แล้ว ก็เลยได้ RZ คันนี้มา ส่วนตัวแล้วชอบครับ รถเดิมๆ ทำเนี้ยบๆ สามารถขับใช้งานทั่วไปได้อย่างสบาย เสียงก็ไม่ดังเกินเหตุ แต่จะมีข้อติ ก็คือ นั่งแล้วจะอึดอัดหน่อย เบาะอยู่ต่ำ ลุกนั่งยาก โดยเฉพาะคนตัวโตๆ เพราะรถดีไซน์มาทรงสปอร์ตจริงๆ อื่นๆ ก็ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแต่ทำรถให้สมบูรณ์ก็หมดกังวลแล้ว…

 

World Wide forRX-7 FD3S

เนื่องจากพื้นที่จะหมดแล้ว ก็ขอแนะนำ Community ที่เป็น “ยอดนิยม” ก็แล้วกันนะครับ เพราะมันเยอะเหลือเกิน ผมขอ “ยกตัวอย่าง” ของ Community ต่างๆ ทั้ง “สากล” และ “เมืองไทย” มีดังนี้ครับ…

–                    www.rx7club.com : เป็นเว็บไซต์ของ RX-7 ทุกเจนฯ ที่ทางเว็บกล้ายืนยันว่า “ใหญ่ที่สุดในโลก” ก็จะมีหลากหลายหัวข้อสนทนา ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ยันสำหรับการแข่งขัน เครื่อง ช่วงล่าง เบรก อะไหล่ ฯลฯ มีเพียบ เป็นภาษาฝรั่ง มีเวลาลองเข้าไปส่องดู หลากหลายจริงๆ ครับ…

–                    blog.livedoor.jp/rotaryspirits2 : เป็นกลุ่ม Blog ของ The Rotary Spirit II ของประเทศญี่ปุ่น ที่เกี่ยวข้องกับ RX-7 อันนี้จะเน้นแนว Owner มากกว่า มีเรื่องกิน เที่ยว แทรกอยู่ เพลินๆ แนว Relax อยากอ่านก็ลองใช้ “เว็บแปล” เป็นภาษาอังกฤษเอาเองแล้วกัน…

–                    www.siamspeed.com : เว็บของคนไทย จะมี Community ของ RX Club ซึ่งเป็นการรวมตัวของ MAZDA RX รุ่นต่างๆ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะ RX-7 อย่างเดียว แต่ FD3S ก็มีคนเล่นเยอะ จึงสามารถพูดคุยกันได้กับคอเดียวกัน…

–                    www.facebook.com/RX7 Club Thailand : ใน Facebook ของกลุ่ม RX-7 Club Thailand ลองเข้าไปส่องๆ หรือโพสต์พูดคุยกันดูครับ…

 

TIPS

–                    สำหรับผู้ที่จะซื้อเครื่องโรตารี่มือสอง สิ่งที่ควรระวัง คือ “เครื่องพัง” เวลาจะซื้อเครื่อง ให้ลอง “วัดกำลังอัด” ดูก่อน และดู “หัวเทียน” ว่ามีคราบน้ำมันเครื่องแฉะหรือไม่ เพราะถ้าเครื่องไหนสภาพแย่ สตาร์ทติดยาก บางร้านที่ “นิสัยไม่ดี” จะมีการ “ลักไก่” หยอดน้ำมันเครื่องลงไปเพื่อทำให้ “ซีลชั่วคราว” กันกำลังอัดรั่ว ให้สตาร์ทติดง่ายๆ ไปก่อน เพื่อตบตาลูกค้า ต้องระวังตรงนี้ด้วยครับ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะ “เอาอยู่” เวลาไปซื้อเครื่อง ก็ควรจะเอาคนที่ “ดูเป็น” หรือไม่ก็ให้ทางช่างเขาจัดการดีกว่า “เสี่ยงเอง” ครับ…

–                    เครื่องโรตารี่เวลา “พัง” ส่วนใหญ่ก็จะเป็น Apex Seal แตก และเสี่ยงจะ “พังทั้งเครื่อง” จากการที่เศษต่างๆ หมุนไปเสียดสีกับ Housing ให้เป็นรอย หรือกระเด็นออกมาแล้วทำให้ “เทอร์โบพัง” ตามไปด้วย ซึ่งก็แล้วแต่เคสไป หลายคนซื้อเทอร์โบซิ่งที่ใช้กับเครื่องโรตารี่ที่พังมา ใบเทอร์โบหลังจะ “กร่อน” และมีเศษ Apex Seal อยู่ด้านใน อันนั้นแหละพังชัวร์…

–                    รุ่นนี้จะมีปัญหา “ประตูตก” เพราะประตูรุ่นนี้จะ “ยาว” ทำให้น้ำหนักถ่วงที่สลักเยอะ รุ่นนี้ส่วนใหญ่จะ “เปิด-ปิด ประตูยาก” ก็เปลี่ยนสลักประตู อย่าฝืนกระแทกให้มันปิดขบบ่อยๆ เดี๋ยวจะพัง ส่วนมือเปิดจะหักบ่อยด้วย ถ้าประตูตก เพราะมัน “ขัด” ทำให้เปิดยากไงล่ะ…

–                    ในความเร็วสูง 200 km/h ขึ้นไป รถจะไม่ค่อยนิ่งเท่าที่ควร เพราะน้ำหนักด้านหน้าเบา เวลาวิ่งเร็วๆ น้ำหนักจะไปด้านท้ายมาก เลยเกิดอาการหน้าวอกแวก ถ้าใครจะวิ่งเร็วขนาดนั้นบ่อยๆ ก็ควรจะหา Aero part เพิ่มแรงกดในด้านหน้าให้ “นิ่ง” สักหน่อย…

–                    มีคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ เครื่องโรตารี่ควรจะ “ออกกำลังกาย” กันบ้าง อย่าติดเครื่องเดินเบาปล่อยไว้แล้วดับบ่อยๆ นานๆ เข้า “เขม่า” จะเกาะติดอยู่ด้านใน ทำให้ “ไม่คล่อง” และอาจจะเกิดการเสียหายได้…

–                    การดูเลขตัวถัง ดูง่ายๆ ครับ สมมติว่าเป็น FD3S-1XXXX จะหมายถึง Model I ไล่ไปจนถึง FD3S-6XXXX ก็คือ Model VI รุ่นสุดท้ายจ้า…

 

ขอขอบคุณ: คุณล้าน, คุณติ่ง Auto-Factory