การแข่งขันแบบ Time Attack ถ้าแปลตรงตัวก็จะหมายความว่า “ต่อสู้” กันด้วยความเร็ว แล้วอย่างงี้มันจะต่างจากแบบอื่นยังไง เพราะถ้าแข่งรถมันก็ต้องสู้กันด้วยความเร็วอยู่แล้ว ยกเว้นแข่งขันประหยัดน้ำมัน
ขออธิบายแบบภาษาสบายว่า “Time Attack” คือการแข่งขันที่ว่าด้วยความเร็วต่อ 1 รอบสนาม โดย เอาเวลาที่เร็วที่สุดต่อ 1 รอบ (Best Lap) ของรถทุกคันที่เข้าแข่งขันมาเรียงลำดับกัน ใครเร็วสุดชนะไป เหมือนกับการแข่งขันควอเตอร์ไมล์ แค่เปลี่ยนจากทางตรง เป็นสนามแข่ง Circuit นั่นเอง
ฉนั้นแล้ว Time Attack ก็คือการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบอีกแบบหนึ่ง แต่การปรับแต่งจะต่างกันการควอเตอร์ไมล์โดยสิ้นเชิง เพราะรถ Time Attack เกิดมาเพื่อ “เลี้ยว” เน้น Aero Part ที่ทำให้ยึดเกาะถนนด้วยหลักอากาศพลศาสตร์ หรือฝรั่งเรียก Aero Dynamic อุปกรณ์พวกนี้ไม่ได้ทำให้รถวิ่งเต็ม Max Speed ได้ในทางตรง แต่จะสามารถทำให้รถทำเวลาได้ดีทั้งทางตรงและทางโค้ง ไม่เหมือนกับรถแดร็ก ที่เน้นนำหนักเบา และลดการต้านลมให้มากที่สุด นั่นเอง
จริงๆแล้วรถแข่ง Circuit แบบ Sprint Race ที่กำหนดจำนวนรอบ และผู้ที่วิ่งครบตามจำนวนรอบได้ก่อนเป็นผู้ชนะ ยกตัวอย่างเช่น Super GT ที่เราคุ้นเคยกันดี การปรับแต่งก็เน้นที่การลดน้ำหนักเหมือนกัน แต่จะมีเกณฑ์ว่าห้ามต่ำกว่ากี่กิโลฯ และยังถ่วงน้ำหนักขึ้นไปอีกตามแต้มต่อ (Handicap) หรือการปรับโทษต่างๆ แล้วแต่รุ่น และ รายการการแข่งขัน แต่กติกาของ Time Attack นั้น เปิดให้ Modify ได้เต็มที่ เท่าที่จะยัดเข้าไปในรถคันนึงได้
- การแข่งขัน Sprint Race จะเริ่มต้นแข่งขันด้วยการ Standing (หยุดนิ่งแล้วออกสตาร์ตพร้อมกัน) หรือ Rolling (วิ่งผ่านเส้นตามอันดับ Qualify) กันเป็นกลุ่ม ผู้ที่เข้าเส้นชัยครบตามจำนวนรอบก่อน เป็นผู้ชนะ
ด้วยเหตุนี้ การปรับแต่งตัวรถแข่ง Time Attack ที่จะวัดความสามารถของทีมช่าง นอกจากเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อนต่างๆแล้ว การติดตั้ง Aero Part เพื่อความได้เปรียบตามหลักอากาศพลศาสตร์ จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่วิศวกรต้องออกแบบมาเป็นอย่างดี และส่วนนี้ก็ได้ปฏิวัติวงการ body part ที่นำเอารูปแบบจากรถแข่ง Time Attack มาผลิตขายให้นักแต่งรถที่ชื่นชอบความ "อลัง" เรียกได้ว่าเป็นอีกแนวทางการแต่งรถที่มีวิวัฒนาการมาอย่างช้านาน แต่ก็ต้องขอเตือนไว้ก่อนว่า อุปกรณ์แนวนี้ถ้าติดตั้งโดยขาดความเข้าใจแล้ว แทนที่จะได้การเกาะถนนที่ดีขึ้น อาจกลายเป็นเพิ่มแรงยกตัวรถ ทำให้สูญเสียการควบคุมในขณะทำความเร็ว และสิ่งที่พี่ตูนเคยพูดไว้ก็จะเป็นจริงอีกครั้งว่า “อยากเห็นคนไทย บินได้”
มันส่งผลขนาดนั้นเลยหรือ!!? ผมจะยกตัวอย่างการทำงานของอุปกรณ์ชิ้นนึงที่เรียกว่า “Canard”
อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำหน้าที่เหมือนปีกเครื่องบิน โดยจะทำหน้าที่เพิ่มแรงยกใต้ปีก ขณะเครื่องบินเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึงจุดที่กำหนด เครื่องบินทั้งลำก็จะลอยตัวขึ้นได้ (Lift Force) แต่เมื่อนำมาติดอยู่ที่กันชนหน้ารถยนต์ การตั้งองศาจะปรับให้ “กดลง” (down force) ยิ่งทำความเร็วสูงขึ้น แรงกดในส่วนหน้าของรถก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าปรับองศาผิด แทนที่จะกด ก็กลายเป็นงัด และนี้คือสิ่งที่จะทำให้คนไทย บินได้!!
รถเซอร์กิตก็นิยมใช้เจ้า Canard แต่ไม่ระเบิดระเบ้อเท่ารถแข่ง Time Attack
การติดตั้ง Aero Part อ้างอิงตามหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานจริง
ดังนั้น รถแข่ง Time Attack คือรถที่จัดเต็มขุมกำลังที่สุด ทั้งในเรื่องแรงม้าที่ต้องเอาแรงกดมหาศาลให้อยู่ ช่วงล่างและยางที่ต้องอึดพอสำหรับทำงานในจุด “พีค” อยู่ตลอดเวลา และอีกต่างๆนาๆเพื่อให้ได้เวลาที่ดีที่สุด ในรอบนั้น
WTAC ( World Time Attack Championship )
จริงๆแล้วการแข่งขัน Time Attack ได้รับความนิยมในหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา แคนาดา สวีเดน สเปน รัสเซีย บราซิล ในเอเซียก็มีญี่ปุ่น แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็เคยจัดการแข่งขันรูปแบบนี้มาแล้ว ส่วนการแข่งขัน WTAC เริ่มมาจากรายการ Superlap Australia ด้วยความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทีมแข่งที่มีมากขึ้น และค่าการตลาดที่เติบโตขึ้น ในปี 2008 และ ปี 2009 ทำให้ทีมงานจัดการแข่งขันประกาศยกระดับการแข่งขันเป็น World Time Attack Championship ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ทำให้มหาโหดทั้งจากฝั่งอเมริกา และ ญี่ปุ่น มาร่วมการแข่งขันกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น PanSpeed, CyberEvo, R-Magic , Sierra Sierra และ The Hurricane ตัวแข่งจากทีมคนไทย จากปี 2014
XO เคยจัดการแข่งขัน Time Attack ในปี 2009
อาจจะเป็นการเล่าให้ฟังอีกครั้งสำหรับแฟนๆ ที่อาจจะรู้จักการแข่งขันประเภทนี้มาแล้ว แต่ก็ถือว่าให้แฟนๆ ที่อาจจะเพิ่งทราบชัดเจนว่า Time Attack เป็นการแข่งขันที่มีอิทธิพลต่อวงการ “รถซิ่ง” ขนาดไหน จะได้พลักดันวงการรถซิ่งกันต่อไปครับ
เรื่อง : เกตวิชาญ ก้อนทอง (McXO) - XO Autosport