เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง
Cool Street Machine
SEEKER CIVIC FD2 & SPOON FIT RS K-Swap
OAK CLUB Import Show
หลังจากครั้งที่แล้ว ได้ “สัญญา” กับท่านผู้อ่านเอาไว้ ว่าจะนำตัวแรง “ซิ่งยุ่นแท้” มา “แฉ” ให้ชมกันสองหน่วย แน่นอนว่าฉบับนี้ต้องไม่พลาดที่จะนำเสนอให้ และกับการที่ OAK CLUB ได้นำรถทั้งสองคันนี้ ที่ใช้ขุมพลัง K Power ทั้งคู่ คือ CIVIC Type R FD2 ที่ผ่านการโมดิฟายอย่างจัดจ้านจากสำนัก SEEKER และ FIT RS ที่เล่นแรงแบบ Swap ซึ่งเราก็ได้อ่านบททดสอบกันในครั้งก่อนไปแล้ว ซึ่งในครั้งนี้เราจะมา “แฉ” รายละเอียดและจุดประสงค์การโมดิฟายรถทั้งสองคันนี้กันแบบมันส์ๆ ว่า “เขาทำอะไร” และ “ผลออกมาเป็นเช่นไร” ส่วนตัวผมเอง ไม่อยากให้มองแค่ความสวยงามเพียงผิวเผิน แต่จะนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ว่า “แนวคิดที่น่าสนใจ” มันอยู่ตรงไหน ไม่ได้ให้ “ลอกการบ้าน” นะครับ แต่ขอให้เป็นการนำแนวคิดดีๆ มา “ปรับปรุงใช้” ได้อย่างไร…
- SEEKER มาในมาด “แซบเวอร์” ชุดพาร์ทและสีสันที่เด่น แต่ยังขับถนนได้
SEEKER FD2 ความจัดจ้านของสมรรถนะและสีสัน
อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันนะ สำหรับสำนัก SEEKER ก็ขอกล่าวถึง “ที่มาที่ไป” กันหน่อย จริงๆ แล้ว SEEKER นั้นก็เป็นการก่อตั้งมาจาก “ลูกค้า” ของสำนัก SPOON นี่เอง แต่สไตล์ของ SEEKER ที่โดดเด่นเลยก็คือ “ความจัดจ้าน หวือหวา ทั้งในด้านสมรรถนะ และภาพลักษณ์ของรถ” ที่จะโดดเด่นกว่า SPOON ที่เน้นความเรียบง่าย “นิดหน่อยพอ” ในด้านการโมดิฟาย ทาง SEEKER จะเน้นในการทำรถทั้งคันแบบสมบูรณ์ แต่ในส่วนของเครื่องยนต์ ก็จะให้ทาง K-TECH ที่เป็นอดีตทีมงานของ MUGEN ซึ่งจะมีความละเอียดมากในการทำเครื่องยนต์ HONDA ตัวซิ่งทั้งหลาย และราคาก็ไม่ธรรมดา (โคตรแพง บอกตรงๆ) เป็น “ค่าฝีมือ” ที่เน้นในด้าน Performance จริงๆ สำหรับเครื่องยนต์ K20A ของคันนี้ มีชื่อว่า K215 SL (Super Lambda) ซึ่งตัวเลขนี้มาจาก 2,156 C.C. เป็นความจุที่ขยายขึ้นมาจาก 1,998 C.C. ของเดิม (เดี๋ยวจะมีตารางเทียบเรื่อง Mechanic ของเครื่องยนต์ให้ดู) ซึ่งเคลมแรงม้าไว้ที่ 284 PS โดยการขยายและทำเครื่องของ K-TECH ที่เน้นในด้าน “แรงบิด” ที่เป็น Flat Torque คือ “ต้องการจะให้รถมีอัตราเร่งที่ดี ตอบสนองเร็ว ดุดัน แต่ยังต้องขับง่ายด้วย” จริงๆ นิสัยของเครื่อง K20A ก็จะเป็นลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว ด้วยการพัฒนามาดี แถมระบบ i-VTEC ที่ปรับเปลี่ยนทั้งจังหวะ Over lap ของแคมชาฟท์ รวมถึงเปลี่ยนลูกเบี้ยวแคมชาฟท์ไปใช้เป็นองศาสูง ทั้งหมดนี้จึงทำให้การตอบสนองดี แรง ขับทั่วไปก็ค่อนข้างประหยัด แต่ถ้าจะให้มันส์ ทาง K-TECH และ SEEKER จึงต้องใช้ Stroker Kit ขยายความจุเข้ามาช่วยตรงนี้ให้ตอบสนองเหนือขึ้นอีกอีกระดับ สำหรับการขับทดสอบในไทย เสียดายที่เจ้าของสำนักมาไม่ได้ และรถต้องกลับไปถ่ายรายการที่ญี่ปุ่น แต่ในอนาคต SEEKER และ SPOON กำลังพิจารณาการ “ร่วมการแข่งขันในเมืองไทย” ก็ต้องรอชมครับ…
- ล้อหลังยังมีหุบเข้าในซุ้มนิดๆ เป็นสเป็กที่ SEEKER สั่งทำพิเศษ เพื่อให้เหมาะสมและสวยงาม โดยยังสามารถขับได้โดยไม่ติดขัด
หน้าใหญ่…หลังเล็ก…
แหก !!! เทรนด์กันดีไหม เขามีแต่ล้อแบบ “หน้าเล็ก หลังใหญ่” เห็นใส่กันให้เกร่อ ถ้ารถคุณท่าน “ขับหลัง” ก็เหมาะสมดีอยู่ แต่เห็น “ขับหน้า” ใส่แบบนี้แล้ว ก็อาจจะดูสวยนะ แต่ “ผิดทาง” เพราะรถขับหน้า กำลังลงล้อหน้า ล้อหน้าก็ไม่ควรจะเล็กกว่าล้อหลัง อย่างน้อย “เท่ากัน” ก็ยังดี สำหรับ SEEKER คันนี้ ใช้สูตร “หน้าใหญ่ หลังเล็ก” ด้านหน้าใช้หน้ากว้างถึง 295 เชียวนะ ส่วนด้านหลังใช้เพียง 225 เท่านั้น !!! เป็นที่แน่นอนว่าเป็นรถ “ขับหน้า” ที่มีแรงม้าและแรงบิดเยอะ จึงต้องใช้ล้อหน้าที่ใหญ่กว่า เพื่อ “ส่งถ่ายกำลัง” สู่พื้นให้หมด แต่ในอีกนัย มันมีความหมายมากกว่านั้น มันเป็นการ “ลดอาการอันเดอร์สเตียร์” ที่เกิดขึ้นกับรถขับหน้า เมื่อหน้ายางใหญ่กว่า ใช้ล้อหน้ากว้างกว่า Offset ล้อหน้าอยู่ที่ +15 ทำให้ “ความกว้างฐานล้อเพิ่มขึ้น” การยึดเกาะจึงทำได้ดีขึ้น ส่วนในด้านหลัง สังเกตดีๆ นะครับ ว่ายังไม่ได้ทำ Wide Body และล้อหลังหน้ากว้างเพียง 8.5 นิ้ว ออฟเซ็ต +51 ซึ่งล้อชุดนี้ก็เป็นสเป็กที่ “SEEKER สั่ง RAYS ทำพิเศษ” ตอนนี้เท่ากับความกว้างฐานล้อหน้ากว้างกว่าหลัง มีข้อดีคือ “คุมรถง่าย” และมีอีกสิ่งที่ตามมา เมื่อล้อหลังแคบกว่า การยึดเกาะจึงสู้ล้อหน้าไม่ได้ใช่ไหม ??? กรณีนี้จะทำให้เกิด “โอเวอร์สเตียร์” (ท้ายออก) เยอะขึ้น ซึ่งกลายเป็นการ “แก้ทาง” สำหรับรถขับหน้า ที่จะ “เซ็ตให้ท้ายออกช่วย” เมื่อท้ายไหลออกอาการโอเวอร์สเตียร์ ด้านหน้าก็จะหันเข้าโค้ง ทำให้รถเลี้ยวได้เร็วขึ้น ส่วนใหญ่รถแข่งเซอร์กิตที่เป็นขับหน้า ก็จะเซ็ตเป็นลักษณะนี้ อาจจะ “ขับยาก” สำหรับ “มือใหม่” แต่พอเริ่มเก๋าเกมก็จะจับอาการได้เอง (ส่วนตัวผมก็ชอบแบบนี้ครับ) อีกอย่าง ล้อหลังไม่จำเป็นต้องใหญ่ เพราะไม่ได้ขับเคลื่อน และน้ำหนักด้านท้ายก็เบากว่าด้านหน้าเยอะ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ล้อหลังใหญ่ให้ “มีภาระแรงต้านการหมุน” (Rolling Resistance) เพิ่มขึ้น ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ SEEKER เซ็ตมา “อยู่ที่สไตล์” ไม่ได้บอกว่าอย่างนี้ถูกเสมอไป มันมีอีกหลายอย่างที่จะเซ็ตให้รถออกอาการอย่างที่ต้องการได้ครับ และท้ายสุด ลองเอาตารางเทียบสเป็กระหว่าง K215 SL (Super Lambda) กับ K20A Type R เดิมๆ ดู ว่าเขาเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง…
- โหดไหม ??? ใส่ล้อหน้า “สิบครึ่ง” กับยาง “สองเก้าห้า” ไม่แรงจริงคงไม่ทำ แต่เบื้องหลังแล้วก็เป็นการ “แก้อาการรถ” ตามที่บอกไป
X-TRA Ordinary
สำหรับลูกสูบของ F1 นั้น จะเป็นแบบ “ไม่มีกระโปรงสูบ” เน้นน้ำหนักเบา และลดความฝืด (Friction) เพื่อให้รอบขึ้นเร็ว ความร้อนในการเสียดสีน้อยที่สุด แต่อายุก็ไม่ยืนมาก วัสดุต้องโคตรมหาเทพ คงไม่เอาไว้ใช้กับรถทั่วไปแน่นอน สำหรับลูกสูบของรถโมดิฟายวิ่งถนน ก็อาจจะเป็นแบบ “กระโปรงสูบสั้น” แทน เพื่อลดความฝืด ตรงนี้ก็จะเป็นลูกเล่นของแต่ละยี่ห้อ อาจจะเคลือบสารพวก “เทฟลอน” เพื่อให้ “ลื่น” ขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจสำหรับเครื่องแรงม้ามากๆ รวมถึงเรื่อง “ความแม่นยำในการประกอบเครื่อง” ที่คนทำเป็นจะต้อง “เผื่อ Clearance” ไว้ให้เหมาะสมกับแรงม้าที่ต้องการอีกด้วย…
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.seeker.co.jp
- เห็นเงียบๆ อย่างนี้ K-TECH จัดหนัก ขยายความจุ และเน้นที่ “วัสดุชั้นเยี่ยมและน้ำหนักเบา” เป็นสไตล์การโมดิฟายเครื่อง A. ที่หมุนรอบสูงเป็นหลัก และเน้นการตอบสนองด้วยแรงบิดแบบ Flat Torque
Tech Spec
ภายนอก
ชุดพาร์ท : SEEKER ultimate wide body kit
ฝากระโปรงหน้า-หลัง : SPOON Carbon
สปอยเลอร์หลัง : SEEKER Carbon
หลังคา : SPOON Carbon
ครอบไฟท้าย : SEEKER
ภายใน
เกจ์ : Defi + SEEKER FRP meter hood
เบาะ : SEEKER by BRIDE
เข็มขัด : SCHROTH Racing
พวงมาลัย : MOMO
หัวเกียร์ : SEEKER Heavy shift knob
เครื่องยนต์
รุ่น : K20A K-TECH 215 SL Complete Engine
เฮดเดอร์ : SEEKER & K-TECH
ชุดท่อไอเสีย : SEEKER S.E.S. muffler kit
พูลเลย์ : SEEKER Light weight pulley kit
หม้อน้ำ : TABATA S2
กล่อง ECU : SEEKER Optimum
ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : SEEKER
ฟลายวีล : SEEKER
ลิมิเต็ดสลิป : ATS Carbon
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : SEEKER S.A.S. damper kit
ล้อหน้า : RAYS TE37SL ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว ออฟเซ็ต +15 (SEEKER Special Order)
ล้อหลัง : RAYS TE37SL ขนาด 8.5 x 18 นิ้ว ออฟเซ็ต +51 (SEEKER Special Order)
ยางหน้า : DUNLOP DIREZZA ZII Star ขนาด 295/35R18
ยางหลัง : DUNLOP DIREZZA ZII Star ขนาด 225/40R18
เบรก : BREMBO F50
ผ้าเบรก : SEEKER Type C
สายอ่อนเบรก : SEEKER
- คงไม่ต้อง “เยอะ” นัก กับภายในที่ออกแบบมาดีอยู่แล้ว ใส่เกจ์เฉพาะเท่าที่จำเป็น ติดตั้งอย่างสวยงาม ดูดีมีราคา
- การไล่โทนสีของ SEEKER ยอมรับว่า “เข้าตา” ไม่ได้สักแต่ว่าใส่ของเข้าไปแต่ “โดดโทน” จนน่าเกลียด
- SPOON ไม่เน้นความหวือหวา เน้นเรียบง่าย โดยรถคันนี้ทำมาเพื่อเป็นการ R&D ทดสอบและพัฒนาในการเป็น Street Car ที่สมบูรณ์แบบ ขับแล้ว Happy ทั้งแรงและขับใช้งานได้จริง
SPOON GK K20A แตกต่าง เรียบแรง แฝงสบาย
ก็คงผ่านตากันไปแล้วสำหรับรถคันนี้ ก็ขอพูดถึง “Feedback จากการทดสอบ” ก็แล้วกัน หลังจากที่ OAK Club ได้พาเหล่า SPOON Fan Club รวมถึงสื่อสายรถโมดิฟายได้สัมผัสสมรรถนะของรถตัวเป็นๆ ไปแล้ว ก็ได้รู้ว่า “ญี่ปุ่นทำรถยังไงถึงจะได้ดี” ซึ่งก็มีทั้งความละเอียด ความสวยงาม สะอาด เรียบง่ายแต่มีสไตล์ แรงแต่ต้องขับใช้งานได้อย่างสบาย เป็นเอกลักษณ์ของ SPOON อยู่แล้ว อีกประการ ในการ Swap เครื่องยนต์ข้ามรุ่นเป็น K20A นั้น ทาง SPOON จะต้องจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด เช่น เครื่องควรจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งความสวยงาม ไม่ติดขัด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ถึงติดแต่ต้องแก้ไขให้น้อยที่สุด Weight balance น้ำหนักทั้ง หน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา ที่ต้องเหมาะสม ตำแหน่งเพลาขับต้องอยู่ในแนวที่เหมาะสม อันนี้สำคัญครับ ถ้าเพลาอยู่ในแนวที่ผิดมุม การส่งกำลังจะทำได้ไม่ดี เพลาจะเสียหายเร็ว ฯลฯ พวกนี้ก็ต้องอาศัยความละเอียดสูง ไม่ใช่ขอแค่ยัดเครื่องเข้าไปได้เป็นพอ และต้องขับใช้งานได้ดี แน่นหนา เงียบ “เหมือนกับรถใหม่เดิมๆ” อีกด้วย “งานนี้ไม่ง่ายนะครับ” ใครบอกทำรถโมดิฟายบ้านๆ เรียบๆ เป็นงานง่าย ไม่มีอะไร ลองคิดดูใหม่ครับ…
- เสือซ่อนเล็บ กับพลัง K20A แบบ “เงียบซุ่ม” ท่อไอเสียเอาของ FD2 Type R เดิมๆ มาใช้ เนื่องจากต้องการความเงียบ และสามารถผ่านการตรวจสภาพในประเทศญี่ปุ่นได้
จำเป็นต้อง “ล้อล้น” เสมอไปหรือเปล่า
คันนี้ล้อจะหุบเข้าด้านใน ไม่เต็มซุ้ม โดยเฉพาะล้อหลัง สไตล์นี้รับรองไม่โดนใจ “เด็กซิ่ง” บ้านเรา ที่ต้องเต็มๆ ล้นๆ ไว้ก่อน แต่การที่ SPOON ทำแบบนี้ก็เพราะว่า “ต้องการให้ยางไม่ติดซุ้มในการขับใช้งานปกติ” เช่น นั่ง 4 คน พร้อมสัมภาระ ขึ้นลงคอสะพานเร็วๆ ยางก็ยังไม่ติดซุ้ม ซึ่งเขาทำรถมาให้ “ขับใช้งานได้จริง” โดยไม่ต้องมา “มีข้อจำกัด” อะไรกันมากมาย ส่วนใหญ่คนไทยนิยมใส่ล้อล้นๆ ก็จะมีปัญหามากมายตามมา ยางขูดซุ้มจะ “ระเบิดตอนไหนก็ไม่รู้” ใครจะเสี่ยงก็เอาเลย ผมไม่เอาด้วยคนละนะ ยางแพงๆ ใส่ไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะขับเร็วไม่ได้ ถ้าอยากจะใส่ล้อใหญ่เวอร์จริงๆ ก็ต้องทำ Wide Body ก็ลองพิจารณาดูครับ ไม่ต้องเชื่อผมทั้งหมดก็ได้ ถ้าอยากสะใจจะทำอะไรก็ทำเลย แต่อยากจะ “ขับง่าย” ด้วย ก็เลือก “ขนาดและออฟเซ็ตล้อให้เหมาะสม” จะดีที่สุดครับ…
- ภายในยังคงเป็นมาตรฐานของ FIT RS ทุกประการ ยกเว้นเบาะคนขับที่เปลี่ยนเป็น Bucket Seat เท่านั้น
Tech Spec
ภายใน
เบาะ : SPOON Carbon Bucket Seat
หัวเกียร์ : DURACON
เครื่องยนต์
รุ่น : K20A
แคมชาฟท์ : SPOON
ชุดท่อไอเสีย : CIVIC FD2 Type R Standard
ท่อยางหม้อน้ำ : SPOON
วาล์วน้ำ : SPOON
แท่นเครื่อง : HASPORT
กล่อง ECU : SPOON SPOTS ECU
ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : SPOON non asbestos
ฟลายวีล : SPOON
ลิมิเต็ดสลิป : SPOON 1.5 ways
เพลาขับ : SPOON
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : SPOON Full spec
สปริง : ด้านหน้า 8 k ด้านหลัง 4.5 k
ล้อ : SPOON CR93 ขนาด 7 x 17 นิ้ว ออฟเซ็ต +53
ยาง : BRIDGESTONE RE-11 ขนาด 215/40R17
เบรก : SPOON Twin block
ผ้าเบรก : SPOON
- “โชว์งาน” กันหน่อย ดูเหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริง รายละเอียดมันเยอะมาก โดยเฉพาะแท่นเครื่องและเกียร์ต้อง “สร้างใหม่” ด้วยฝีมือของ HASPORT งานเรียบร้อยดีมากๆ ผม “ไม่ได้บ้าของนอก” แต่คิดว่า “คนไทยทำได้นะ” เพียงแต่ “ใส่ใจเพิ่มขึ้น” แค่นั้นเอง
- ชุดเบรกของ SPOON ก็จ้าง NISSIN ที่เป็นโรงงานผลิตเบรกให้ HONDA ทำให้ ซึ่งสไตล์ของ SPOON ก็จะให้ Supplier ที่ผลิตอะไหล่และชิ้นส่วน HONDA เป็นผู้ผลิต อย่างเป็นโช้คอัพ ก็จ้าง SHOWA ผลิตให้ แต่ก็จะให้สเป็กที่สูงขึ้นกว่าของเดิมโรงงาน
X-TRA Ordinary
SPOON SPORTS เป็นแบรนด์ที่เก่าแก่กว่า 40 ปี เริ่มต้นยุคปี 70 กับ HONDA ตระกูล N ทั้งหลาย เรื่อยมาจนถึงยุคปี 90 ก็ได้ออกมาแข่งระดับนานาชาติ รายการประเภท Endurance ต่างๆ และในปี 2000 ก็ได้ร่วมแข่งขัน Nurburgring 2000 24 hours Endurance Race และได้รางวัล (ในเว็บไซต์ของ SPOON ไม่ได้บอกไว้ว่าอันดับที่เท่าไร) ซึ่งเป็นผลงานในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ใช่การแข่งในประเทศเพียงอย่างเดียว…
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.spoon.jp
ขอขอบคุณ : OAK CLUB Thailand Contact : 08-4160-6600, www.facebook.com/oak club thailand