เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
สำนัก JUN AUTO MECHANIC เป็นสำนักโมดิฟายเก่าแก่ในญี่ปุ่น ซึ่งคนเล่นรถรุ่นกลางถึงรุ่นเดอะจะรู้จักกันดี จนเมื่อสิบกว่าปีก่อน JUN ก็มาเปิดในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ โดยมี “นายห้าง” เจ้าของสำนัก คือ “ป๊อปปิ” ฐิติพันธ์ สุทธิสัมพัทธ์ นักแข่งควอเตอร์ไมล์ชื่อดังในยุค “Race Hard” สนาม MMC ประตูน้ำพระอินทร์ อาวุธคู่กาย คือ NISSAN SKYLINE GT-R R32 “พันแรงม้า” คันแรกในเมืองไทย เรียกว่ายึดหัวหาดอยู่นาน ในยุคปัจจุบัน JUN THAILAND อาจจะดูเงียบ ๆ ไปจากกระแสบ้าง
แต่จริง ๆ แล้วก็ยังโมดิฟายรถออกมาอยู่เรื่อย ๆ เน้นไปในทางรถ Drift และ Circuit เยอะหน่อย สำหรับฉบับนี้มาพบกับ 200 SX ที่ถูกปรับแต่งในสไตล์ HYPER LEMON ที่เป็นเอกลักษณ์ของ JUN ปรุงชุดพาร์ทสไตล์ URAS GT รอบคัน เครื่องยนต์ SR20DET โมดิฟายเต็ม ระดับ 600 PS เกียร์ “ซิ่ง” OS Giken และอื่น ๆ อีกมากมาย แถมยังจะคุยเรื่องเกี่ยวกับ “น้ำมันเชื้อเพลิงออกเทนสูง” ในอีกแง่มุมที่น่าสนใจ เชิญทัศนาตามสะดวก…
- ชุดพาร์ท สไตล์ URAS GT ทำโดย MONSTER FIXED สีเหลืองอ๋อย HYPER LEMON แสบสะใจ ไฟหน้า RAYBRIG ฝากระโปรง D-MAX อินเตอร์คูลเลอร์ A’PEXi HYBRID
SR20DET จาก S14
ก่อนอื่นขอเท้าความถึงที่มาของเครื่องยนต์ SR20DET กันก่อน เป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 4 สูบ DOHC เทอร์โบ มันมาแทน CA18DET ที่เคยประจำการใน 180 SX รุ่นแรก (มีรูรับลมทรงยาวที่หน้ากันชน หน้าตาจะไม่เหมือนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ที่เรารู้จัก) เครื่อง CA18DET ถือว่าออกมานานมากแล้ว สมัยยุคต้นปี 80 พร้อมกับ FJ20ET ใน SKYLINE 2000 RS-X TURBO หรือ SILVIA RS-X (S12) เครื่องบล็อก SR จะถูกพัฒนามาใหม่ โดยสร้างเป็น “อะลูมิเนียมทั้งตัว” น้ำหนักเบา ทำให้มีภาระเกิดขึ้นน้อยกับตัวรถ ก็จะได้เรื่องอัตราเร่ง รวมไปถึง Handling ในการเลี้ยวโค้งที่ดีกว่าเครื่องหนัก แต่ข้อควรระวังก็คือ “ดูแลรักษาให้ดี” เพราะอุปกรณ์ภายในมันก็ค่อนข้างเล็ก เนื่องจากต้องการลดภาระ ดังนั้น ความทนทานจึงมีให้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะโมดิฟายเพิ่ม ก็ลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ “ชั้นดี” ไปเลยจะ “อุ่น” กว่าในระยะยาวครับ…
ย้อนมาที่คันนี้ แม้จะเป็นขุมพลัง SR20DET เหมือนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม เพราะมาจาก SILVIA รุ่น S14 หรือที่เรียกกันว่า “ฝาดำ หลังหักวน S13 จะเป็น “ฝาแดง หลังเรียบ” หรือ “ฝาดำ หลังเรียบ” ใน 200 SX Minor Change สำหรับเครื่องยนต์ SR20DET ใน S14 และ S15 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่หลายจุด โดยส่วนหลัก ๆ ที่เห็นคือ “ระบบปรับ Over Lap แคมชาฟท์ด้านไอดี” หรือ NVCS หรือ NVCT ย่อมาจาก NISSAN Variable Camshaft Timing System ที่ไม่ใช่ระบบ VVL หรือ “แปรผันองศาแคมชาฟท์” นะครับ จริง ๆ เรื่องนี้เคยพูดถึงไปแล้ว ใน XO AUTOSPORT ฉบับ 175 ต้องย้อนไปอ่านเอาเองครับ ส่วนการโมดิฟายของคันนี้ ก็เน้นอุปกรณ์ JUN ในส่วนของภายในเครื่องยนต์ทั้งหมด (ยกเว้นข้อเหวี่ยงเดิม) ทาง JUN THAILAND บอกว่า คันนี้ก็ต้อง “ใส่ปลอก” (Liner) เพราะใส่ลูกสูบ Oversize แต่ไม่อยากคว้าน เพราะเสื้อสูบเป็นอะลูมิเนียม ไม่ใช่เหล็กหล่อ พอคว้านแล้วความแข็งแรงอาจจะไม่ได้ เพราะเนื้อเสื้อสูบระหว่างลูกสูบจะบางลง ก็เลยใส่ Liner ใหม่ จะแข็งแรงและทนกว่า อันนี้เป็นสไตล์ของแต่ละ Shop นะครับ…
- Wide Body ฝากระโปรงท้าย เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ไฟท้าย + แผงกลาง รุ่นไมเนอร์เชนจ์
ว่าด้วยเรื่อง “น้ำมันซิ่ง” Racing Fuel VS 100LL มันคืออะไรแน่
หลายคนนิยมพูดคำว่า “เติมออกเทน” ในศัพท์รถซิ่ง ก็รู้กันว่า เป็นการเติมน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ ที่ “ออกเทนสูง” (Hi-octane) กว่าน้ำมันที่ขายทั่วไปในบ้านเรา จริง ๆ การเรียกว่าเติมออกเทน ผมไม่ค่อยสันทัดเท่าไหร่นัก เนื่องจากว่าน้ำมันเชื้อเพลิง Gasoline ที่มีขายทั่วไป รวมไปถึง Gasohol E10-E20 อะไรต่าง ๆ ทุกชนิดมันก็ต้องมี ออกเทน อยู่แล้ว แต่จะเท่าไหร่ 87-89 (มีจำหน่ายในอเมริกา) บ้านเราก็ 91-95 จะเรียกว่าเติมออกเทนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นศัพท์รถซิ่งก็อีกเรื่อง กลับมาพูดถึง “เติมออกเทน” ที่เด็กซิ่งชื่นชอบกันอีกครั้ง ซึ่งน้ำมัน Hi-octane ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป ก็มีจำหน่ายตามปั๊มปกติทั่วไป มีค่าออกเทนประมาณ 98-100 (ในมาเลเซีย มีออกเทน 97 จำหน่าย) แต่ในบ้านเรา มีเต็มที่ก็ 95 ดังนั้น จึงต้องดิ้นรนหาน้ำมันออกเทนสูงมาเติม…
ถามว่า จะเติมน้ำมันออกเทนสูงไปเพื่ออะไร ค่าออกเทน มันก็คือ “ค่าความต้านทานการน็อกของเครื่องยนต์” (Anti-Knock Quality) โดยปกติค่าออกเทนกำหนดมาโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ แต่เมื่อเราโมดิฟายเครื่องแรง มีบูสต์มาก เครื่องหมุนรอบสูง มีความร้อนในห้องเผาไหม้มาก เนื่องจาก “ความร้อนทำให้เกิดพลังงาน” นั่นเอง เมื่อความร้อนสูง โอกาสที่จะเกิดการ “ชิงจุดระเบิด” (Pre-Ignition) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “น็อก” ก็มีสูง ดังนั้น จึงต้องหาน้ำมันออกเทนสูงมาใช้ เพื่อที่จะได้กันการน็อกของเครื่องยนต์ ที่จะทำให้เกิดการ “เสียหายหนัก” นั่นเอง สำหรับการจูนเครื่องแรง ๆ ที่ใช้น้ำมันพวกนี้ ก็จะได้เปรียบที่ว่า สามารถ Advance ไทมิ่งไฟจุดระเบิดได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะน้ำมันสามารถต้านทานการน็อกได้มากขึ้น เพื่อให้ได้กำลังสูงสุด โดยที่เครื่องยนต์ไม่เป็นอันตราย หรือเป็นอันตรายน้อยลงกว่าน้ำมันออกเทนต่ำครับ…
- เจอป้ายนี้ เขาเตือนแล้วนะ
- พวกรถเติมน้ำมัน Low Lead ท่อไอเสียจะขาวนวลเป็นพิเศษกว่าเติมน้ำมันธรรมดา นั่นเป็นสีของ “สารตะกั่ว” ที่เคลือบอยู่ ส่วนน้ำมันแบบไร้สารตะกั่ว ปลายท่อจะไม่ค่อยขาวนัก จะออกเทาอมดำนิดหน่อย เพราะเป็นสีของสารอื่นที่ไม่ใช่สารตะกั่ว เป็นการลดมลภาวะตามกฎหมายมลพิษ
สำหรับน้ำมัน Hi-octane ที่เมืองไทยนิยมใช้เติม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำมัน “100LL” ที่รู้กันว่าเป็น “น้ำมันเครื่องบิน” ที่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ สันดาปภายใน (ไม่ใช่เครื่อง Jet ที่เป็นสันดาปภายนอก พวกนั้นใช้ตระกูล “น้ำมันก๊าด” ที่เป็นน้ำมันเฉพาะทางสำหรับเครื่อง Jet) ออกเทนประมาณ 102-103 ราว ๆ นี้ เป็นน้ำมันชนิดที่มี “สารตะกั่ว” ผสมอยู่เยอะหน่อย ซึ่ง LL นั้น ย่อมาจากคำว่า Low Lead ซึ่งสมัยก่อนน้ำมันพวกนี้จะมีสารตะกั่วผสมเยอะ ซึ่งสารตะกั่วจะทำหน้าที่เพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเป็นอย่างดี ซึ่งข้อเสียก็มีมาก คือ “สร้างมลภาวะ ก่อให้เกิดมะเร็ง” ตอนหลังน้ำมันที่ใช้ทั่วไป จึงต้อง “ไร้สารตะกั่ว” (Unleaded Fuel) โดยการนำสารอื่นมาผสมแทน ก็เป็นจำพวก MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ในน้ำมันเบนซินทั่วไป ส่วนน้ำมันแบบ Low Lead ก็ลดสารตะกั่วให้ “ต่ำลง” แต่ก็ยังคงมีอยู่ ใครทำงานใกล้ชิดน้ำมันพวกนี้ “ระวังมะเร็งนะครับ” อย่านึกว่ากลิ่นหอมรัญจวนใจแล้วจะยืนดมด้วยความสดชื่น…
แต่ในความเป็นจริง น้ำมัน Low Lead หรือ 100LL ที่เหมาะกับเครื่องบินใบพัด คนจะคิดว่าเครื่องบินมันรอบจัด แต่จริง ๆ แล้วไม่เท่าไหร่ เพราะมันก็คือเครื่อง 4 จังหวะ นี่แหละ รอบการทำงานก็ไม่ต่างจากเครื่องยนต์รถยนต์เท่าไหร่นัก คุณสมบัติอาจจะแตกต่างกันไม่มาก แต่ที่เราเรียกหากันก็คือ “ค่าออกเทนที่สูงขึ้น” เท่านั้นเอง ก็อย่างที่บอกไปว่าออกเทนสูงช่วยอะไรได้บ้าง ส่วนน้ำมันเพื่อการแข่งขันจริง ๆ ก็จะเป็นพวก Racing Fuel สำหรับเครื่องยนต์รอบจัดโดยเฉพาะ แต่หาซื้อยากและแพง สำหรับ Racing Fuel ที่มีค่าออกเทนสูงมาก ๆ คือ ยี่ห้อ VP Racing Fuel จาก San Antonio, Texas, U.S.A. ซึ่งมีค่าออกเทนสูงถึง “119 RON” เลยทีเดียว…
- ล้อ VOLK CE28N ยอดฮิต สีเขียวแปร๊ด ขนาด 18 นิ้ว ชุดเบรก ENDLESS Racing MONO 6 เต็มล้อ ส่วนแผ่น Canard ด้านหน้า เป็นคาร์บอนไฟเบอร์
Comment : JUN THAILAND
สำหรับ Concept การทำรถคันนี้ขึ้นมา ก็เน้นความสวยงามของชุด Aero Part หรือ Body Part ก็แล้วแต่จะเรียก เนื่องจากไม่ได้ทำไว้แข่งอย่างเดียว ก็ต้องมีการขับบนถนนในบางเวลาที่เหมาะสม การทำรถจึงเน้นการเก็บรายละเอียดอุปกรณ์ที่เรียบร้อย โดยจะต้องขับบนท้องถนนได้แบบ “ไม่ลำเค็ญ” เกินไปนัก เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ภายใน พยายามใช้ของที่มีคุณภาพดี มีผลในระยะยาว ตอนนี้วัดแรงม้าได้ประมาณ 600 PS นิดหน่อย (น่าเสียดายที่กราฟหายไป) เจ้าของรถต้องการขับควอเตอร์ไมล์ ขอขำ ๆ สัก “11 วิ.” เป็นบางโอกาสที่ “อยากขับสนุก” แค่นี้ก็พอใจแล้ว…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
NISSAN 200 SX เป็นรถที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีการนำมาตกแต่งกันอย่างมากมายนัก ก็แล้วแต่สไตล์ที่ใครจะต้องการ คันนี้เท่าที่ดู จะเน้นในด้านความเรียบร้อยของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งเข้าไป บางคนอ่านแล้วจะนึกว่า ไอ้นี่พูดเรื่องซ้ำอีกแล้ว มันก็จริงอยู่นะ ทำรถทั้งทีก็ควรจะเรียบร้อย คันนี้อาจจะไม่ได้ใส่ของเยอะนัก แต่มีการวางตำแหน่งที่ลงตัว เหมาะสมสำหรับการขับขี่ทั่วไปด้วย และขอขอบคุณ JUN THAILAND เจริญนคร 58 หากใครสนใจจะโมดิฟาย ติดต่อไปที่ 0-2877-7209 ได้เลย…
- ชุด Diffuser ด้านท้าย คาร์บอนไฟเบอร์ หม้อพัก Titanium ทรง BULLET ไม่ทราบยี่ห้อ
X-TRA Ordinary
สำนัก JUN AUTO MECHANIC ที่ญี่ปุ่น คนมักจะเข้าใจว่าเป็นของ “โคยาม่าซัง” มาโดยตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ โคยาม่าซัง เป็นรองประธาน จะเรียกให้หรูหน่อยก็คือ ฝ่ายปฏิบัติการ เราจะรู้จักกันมาก (ตอนหลัง ย้อนไปสักสองปีที่แล้ว โคยาม่าซัง ออกมาทำกิจการเอง แต่ตอนนี้เขาป่วยอยู่ ก็หวังว่าอาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ) จริง ๆ เจ้าของสำนัก JUN ก็คือ “จุนอิชิซัง” ที่เป็น CEO ซึ่งชื่อสำนัก JUN ก็มาจากชื่อเจ้าของนั่นเอง…
- หน้าปัด SILVIA S15 เกจ์วัด Defi 7 ตัว ครบชุด พวงมาลัย NARDI ORIDO STYLE แผงประตูคาร์บอน ORIGIN
- หัวเกียร์คาร์บอนไฟเบอร์ ปรับบูสต์ GReddy Profec B ไทเมอร์ GReddy และกล่องคอนโทรล Defi
- อุปกรณ์ยอดฮิต MIRACLE CROSS BAR By NEXT ชุดเต็ม ที่ต้องมีเพราะว่า รถแบบเปิดท้าย (Hatchback) เมื่อเปิดท้ายขึ้นมาแล้ว มองเข้าไปจะมีพื้นที่โล่งมาก ไม่มีอะไรดาม ซึ่งจะมีโอกาสทำให้ “ตัวถังบิด” มากกว่ารถแบบปกติ ที่มีเนื้อเหล็กส่วนด้านหลังมากกว่า จริงอยู่ว่ารถออกแบบโครงสร้างแบบเผื่อความแข็งแรงไว้ในจุดด้อยแล้ว แต่พอรถเริ่มมีอายุ มันก็ยังเป็นข้อเสียเปรียบอยู่ดี จึงต้องมีดามไว้
- เบาะ BRIDE JAPAN เข็มขัด TAKATA โรลบาร์ 6 จุด
- ชุด Links จาก ORT ของคนไทย โช้คอัพ TEIN TYPE FLEX ให้ทาง ATP เซ็ตใหม่สำหรับ Drag ลิมิเต็ดสลิป CUSCO RS 1.5 Ways
- SR20DET จาก S14 โมดิฟาย JUN เกือบทั้งตัว ประกอบไปด้วย สปริง + รีเทนเนอร์ + เฟืองแคม + แคม 272 องศา ลิฟต์ 11.5 mm. ท่อนล่าง ลูกสูบ + ก้านสูบ + ไลเนอร์ ข้อเหวี่ยงสแตนดาร์ด คอยล์จุดระเบิด SPLITFIRE ท่อร่วมไอดี GReddy โบล์ว ออฟ วาล์ว HKS SQV ชุดหน้าแปลนกรองน้ำมันเครื่อง + Oil Cooler HKS หัวฉีด 1,000 C.C. + ราง SARD หม้อน้ำ KOYORAD ท่อยาง SAMCO ทั้งหมด เกียร์ OS Giken H-Pattern 5 สปีด คลัตช์ OS Giken Twin Plates
- เทอร์โบ GReddy TD-06 25G เฮดเดอร์ + ท่อทั้งหมด จาก ต๋อง เฮดเดอร์ โช้คกันสะบัด มีผลมากเวลาเร่งแรง ๆ เพราะมันทำให้เครื่องบิดตัวน้อยลง สามารถส่งกำลังได้เร็วขึ้น และลดการเสียหายของยางแท่นเครื่อง ท่อสเตนเลสถัก EARL’S ทั้งหมด
- พูลเลย์ GReddy พูลเลย์ข้อเหวี่ยง ATi Super Damper มองไปด้านล่าง จะเห็น Oil Crank จาก ARC