เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (SlowTake)
.
อารมณ์ “อเมริกัน” เข้าสิง “หนุ่มมาร์ค” โต้โผใหญ่ FATBOY DESIGN Custom Bike และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแต่งจาก Mooneyes แต่ไฉนสาย “อเมริกันจ๋า” จึงมาสนใจ “JAP Retro” อย่าง TOYOTA CROWN SL Hardtop คันนี้ได้ ด้วย “กลิ่น” ของญี่ปุ่นที่ผสมสไตล์ “อเมริกัน” ไว้มากโข ด้วยความที่เป็นรถขนาดใหญ่ หรูหรา นั่งสบาย ขับทางไกลได้โดยไม่เหนื่อยเหมือนรถรุ่นเล็ก มีความมั่นคง แข็งแรงสูง จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ชวนหลงใหล ในบางทีเราไม่ยึดติดกับประเทศผู้ผลิต ก็อาจจะได้ “รสสัมผัส” ใหม่ๆ ต่างมุมจากที่เราเคยเสพย์ก็เป็นได้…
- ขุมพลัง M-B 6 สูบ 2.0 ลิตร คาร์บูคู่ MIKUNI แบบ “ขวดนม” (ดูดน้ำมันลงล่าง) ที่ยังคง “คำรามได้” เพิ่มเฮดเดอร์สเตนเลส Custom Made เพิ่มพลังไฟด้วย CDI จาก MSD ส่วนสายไฟเจตนาปล่อยไว้แบบนั้น ไม่เก็บใหม่ เพราะต้องการให้รถดูดั้งเดิมจริงๆ
- ความงดงามดั้งเดิมของ MS70 ต้องดูด้วยตาจะรู้ว่า “คลาสสิก” เป็นเช่นไร
- ความละเอียดและสวยงาม ใส่ใจรายละเอียด เป็นเสน่ห์ของ “รถย้อนเวลา” ที่ไม่มีทางเห็นในรถยุคใหม่
Kujira Kuraun
แปลเป็นอังกฤษ ว่า “Blue Whale Crown” เป็นนิยามของรุ่นนี้ ในรหัสแชสซี MS60-70 เป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 นับจากรุ่นแรก “RS Series” ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1955 ในรุ่น MS60-70 ออกจำหน่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1971 ด้วยทรวดทรงที่กลมกลึง ใหญ่โตโอฬาร เหมือน “ปลาวาฬ” จึงเป็นชื่อเรียกในรุ่นนี้ แต่บ้านเรา “จินตนาการบรรเจิด” เรียกมันว่า “ปลากะโห้” (ญี่ปุ่นไม่มีกะโห้แน่นอน) สำหรับรหัสตัวถัง ถ้าเป็น MS6X จะเป็นแบบ “Sedan” และ “Estate” แต่ถ้าเป็น MS7X จะเป็นตัว “Hardtop” สองประตู ไม่มีเสากลาง สำหรับรายละเอียด ขอพูดถึงตัว Hardtop อย่างเดียวนะครับ ในช่วงปี 1971 จะออกมาเป็นรุ่น Super Saloon หรูหราสุด รหัสตัวถัง MS65 เครื่องยนต์ 4M 6 สูบ 2.6 ลิตร 130 PS ตามมาด้วย Super Deluxe และ Deluxe โดยมีเครื่องยนต์ M 6 สูบ 2.0 ลิตร (บรรพบุรุษ 1G Series นั่นเอง) 115 PS รหัสตัวถัง MS60 และ 5R 4 สูบ 98 PS รหัสตัวถัง RS6X ถ้าเป็นรุ่น Hardtop จะเป็นรหัส MS7X รุ่น 2000 รหัส MS70 รุ่น 2600 รหัส MS75 สำหรับรุ่น SL จะออกมาในช่วงปี 1973 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง “หน้าตา” หรือ Facelift กันใหม่เล็กน้อย ถ้าเป็น JDM รุ่น Hardtop จะเป็น “ไฟเหลี่ยมสองดวง” ส่วนขุมพลังในรุ่น 2000 จะมีการเพิ่มพลังกันหน่อย เป็นบล็อก M-B ซึ่งจะเป็น “คาร์บูคู่” มีกำลังเพิ่มมาเป็น 125 PS ส่วนรุ่น 2600 จะเพิ่มแรงม้าเป็น “140 PS” ครับ…
- ทรวดทรงรุ่น MS60-70 สไตล์ “ยากูซ่าเรโทร” มี “กลิ่น” อเมริกันค่อนข้างชัดเจน
- รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนไฟท้ายใหม่ เป็นแบบ “แถวยาว 3 โหนก” ถ้าเป็นรุ่นแรก จะเป็นแบบ “2 ดวง แยกกัน”
- ล้อ Mooneyes SPEED MASTER ขนาด 8 x 17 นิ้ว ซึ่งตรงรุ่น CROWN ทำไมถึงมีของรถญี่ปุ่น เนื่องจากประธาน Mooneyes คือ Mr. Shige Sugamuna หลงใหลและสะสม CROWN อยู่แล้ว จึงผลิตของแต่งออกมาขายด้วย
- สิ่งละอันพันละน้อย อุปกรณ์ต่างๆ มากมายชนิด “รถใหม่มีเขิน” เช่น ไฟเตือนระบบไฟแสงสว่างจุดใดจุดหนึ่ง “ขาด” ระบบหาคลื่นวิทยุอัตโนมัติ (Automatic Radio Seeking) ทุกอย่างของคันนี้ยัง “ดั้งเดิม” และ “สวยงาม” จริงๆ ที่ “แป้นเบรก” จะมีตัวนูนคำว่า DISC BRAKE เหมือนรถอเมริกันยุคก่อน เหมือนจะโฆษณาว่า “รถกูใช้ดิสก์เบรกหน้าแล้วนะ” เพราะสมัยก่อนจะเป็น “ดรัมเบรก 4 ล้อ” ซะส่วนมาก
- เบาะเดิมไร้ร่องรอยเสียหาย หัวยึดเบลท์มีโลโก “มงกุฎ” แสดงถึงความละเอียดในเนื้องาน สายเบลท์จะเป็นแบบ “เหน็บขอบหลังคา” เวลาจะใช้ก็ดึงออกมาคาด
X-TRA ORDINARY
TOYOTA CROWN จะมีรุ่นที่ “ประหลาด” จากไลน์ผลิตอยู่ คือ “CROWN EIGHT” ออกมาในปี 1964-1967 โดยการนำรูปโฉมของรุ่น S40 เจเนอเรชั่นที่ 3 มาใช้ แต่มีการ “ขยายฐานตัวรถ” ใหม่ ความกว้างมากถึง “1,845 มม.” (เกือบเท่ากับ R35 ซึ่งรถญี่ปุ่นสมัยนั้นถือว่าใหญ่มากๆ) จึงไม่สามารถใช้อะไหล่ร่วมกันได้กับรุ่นปกติ เพื่อยกระดับความหรูหราให้เหนืออีกระดับ โดยมีคู่แข่งสุดหรูอย่าง PRINCE GLORIA SUPER, MITSUBISHI DEBONAIR ใช้เครื่องยนต์ V8 บล็อก V 2.6 ลิตร (ชื่อบล็อกเครื่อง คือ V นะครับ ไม่ได้เขียนผิด ตอนหลังเอามาใช้กับ TOYOTA CENTURY ด้วยนะ) ซึ่ง CROWN EIGHT ก็เป็นบรรพบุรุษของ CROWN Majesta ที่มีความหรูหราพิเศษ ใช้เครื่อง 1UZ-FE แบบ V8 ต่างจากรุ่นปกติที่จะใช้เครื่อง 2JZ-GE 6 สูบ…