เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
200 SX สีแดงคันนี้ จะมีจุดเด่นด้วยการ “ผสมผสาน” ระหว่าง “ท่อนล่าง SR20DET” ประกบกับ “ฝาสูบ SR20VE” ที่มีระบบ VVL ซึ่งแนวคิดนี้ต่างประเทศก็มีคนเริ่มทำกันพอสมควร แต่พี่ทูนก็ได้ลองมา “ทำเอง” โดยการศึกษาและแก้ไขจน “ใช้ได้จริง” เป็นคันแรกในเมืองไทย ที่สามารถวิ่งได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งก็ต้องใช้ “เทคนิคส่วนตัว” อยู่พอสมควร รายละเอียดเราก็จะนำเสนอ “เท่าที่ได้” ก็แล้วกัน เพราะข้อมูลบางอย่าง มันก็เป็น “สูตรหากิน” ที่อุตส่าห์คิดขึ้นมา จะปล่อยไปง่าย ๆ ได้อย่างไร…
- 200 SX ตอนนี้หาหน้าเดิมไม่ค่อยจะเจอแล้ว คันนี้เล่นหน้า S14 “ไฟเหยี่ยว” ไมเนอร์เชนจ์ต่อจาก “หน้าหมู” กันชนหน้าช่องลมใหญ่มโหฬาร ระบายความร้อนได้ดี
NISSAN 200 SX SR20DET + VE
สำหรับสเต็ปในการทำเครื่องของคันนี้ ไม่ต้องอะไรมากครับ “ต้องการลองของแปลกใหม่” ดูบ้าง จะโมดิฟาย SR20DET มันก็เหมือนกับ “เบสิก” ไปซะแล้ว ต้องการอะไรก็ใส่เข้าไป ก็เลยคิด Project ใหม่ เห็นกระแสประกบฝา VE มาแรง ก็เลย “ลองของ” ดูบ้าง จริง ๆ แล้ว เครื่อง SR20VET ที่เป็นเทอร์โบจากโรงงานก็มี อยู่ใน NISSAN X-TRAIL GT เพียงรุ่นเดียว ให้กำลังมากถึง 280 PS แบบเดิม ๆ แต่ติดปัญหาคือ “เครื่องหายาก” รถมันยังมีน้อยเลย เครื่องก็คงไม่ต้องสืบ เหมือนทำออกมาคล้าย ๆ เป็น “รุ่นพิเศษ” มากกว่า เลยคิดว่าหาฝา VE มาประกบ มันจะมีเรื่องให้คิดมากกว่า…
ข้อแตกต่างของฝา VE กับฝา DET จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากระบบ VVL ที่ทำงานเหมือนกับ VTEC นั่นเอง แต่ยังปรับจังหวะ Overlap หรือ “แคมกระดิก” ไม่ได้ ไม่เหมือนกับระบบ VVEL หรือ i-VTEC ที่ทำได้ และที่สำคัญคือ “การออกแบบกระเดื่องที่ดี” ไม่มีอาการ “กระเดื่องหลุด” หรือ “นกบิน” ที่เป็นปัญหาประจำตัวของ SR20DET และทำให้ “พัง” บางทีรอบไม่เกิน มันนึกจะหลุดก็หลุด สร้างปัญหาให้พอสมควร แต่พอเป็นฝา VE ปัญหานี้ไม่เกิดแน่นอน เพราะมีการยึดกระเดื่องที่ดูแล้วแน่นอนกว่า…
สำหรับระบบ VVL จริง ๆ ตอนนี้ก็ “ยังไม่ได้ใช้” เพราะเป็น “สเต็ปลองของ” ไปก่อน ต้องการประกบให้มันได้ก่อน จุดที่ต้องทำเพิ่มก็จะเป็น “การอุดท่อน้ำมันที่ไปดันกระเดื่องรอบสูง” ที่รูมันไม่ตรงกับของเดิม ก็มีจุดแตกต่างกันอยู่บ้าง เอาเป็นว่า “ปะเก็นฝาใช้กันไม่ได้” ส่วนจะเป็นอย่างใดนั้น ทางพี่ทูนเองก็ขอ “ไว้เป็นความลับ” สูตรเฉพาะตัว ในอนาคตก็อาจจะปรับให้ระบบ VVL ใช้ได้ สำหรับขนาด “วาล์ว” ของ VE ก็จะมีขนาดเล็กกว่า DET อยู่บ้างนิดหน่อย เพราะเป็นเครื่อง N.A. แล้วจะดีไหม พี่ทูนบอกว่า ไม่เป็นไร เพราะใช้ “แคมชาฟท์ลิฟต์เยอะ องศาเยอะ” ทดแทนแคมชาฟท์ 288 องศา ลิฟต์ดุเดือดถึง 12.0 มม. เป็นแคมของ MARK WORK อเมริกา ที่สั่งทำพิเศษ เพื่อยืดจังหวะการเปิดวาล์วให้นานที่สุด ก็เลยไม่กลัวเรื่องที่วาล์วเล็กกว่าจะส่งผลเสีย…
- การขดเฮดเดอร์ ท่อยาว 1 เมตร โดย ต๋อง เทอร์โบ พร้อมพันผ้ากันความร้อนแผ่กระจาย
เฮดเดอร์ยาวยืด เพื่ออะไร
ข้อสงสัยอีกประการ เห็นเฮดเดอร์ว่ามัน “ยาวพิลึก” ทำไมต้องขดไปขดมาอะไรขนาดนั้นให้ “เรื่องมาก” แต่มันต้องมีเหตุผลสิครับ ไม่งั้นจะทำให้ “มากเรื่อง” ทำไม ผมเองก็ไม่รู้หรอก “ไม่รู้จึงถาม” ก็ได้ความว่า เฮดเดอร์ชุดที่ใส่นี้ พี่ทูนสั่งทำ “ทุกท่อต้องยาวขนาด 1 เมตร” เนื่องจากเหตุผลสั้น ๆ แต่มีความหมายว่า “ต้องการสะสมไอเสียไว้ในท่อให้มากที่สุด” เพื่อที่จะ “ทำให้เวลาเร่งแล้วถอน แรงดันไอเสียก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง” ลดอาการ Turbo Lag หรือ “รอรอบ” เพราะในท่อที่ยาว มวลไอเสียก็ยังมีอยู่มากกว่าท่อสั้น เวลารอบต่ำ ท่อยาวอาจจะรอรอบอยู่สักหน่อย แต่เวลา “ได้รอบ” มวลไอเสียมาเพียงพอที่จะทำให้เทอร์โบบูสต์เต็ม ก็จะทำให้เกิดความรุนแรงได้มาก เวลาเปลี่ยนเกียร์ มีการถอนคันเร่ง ก็ยังมีมวลไอเสียคงอยู่มาก เวลาเร่งไปต่อ เทอร์โบก็จะทำงานต่อเนื่องกว่า เหตุผลก็ประมาณนี้แหละ แต่ก็ต้องอาศัย “มุมการวางท่อ” ให้ดีนะครับ ไม่ใช่ขดมั่วซั่ว จะทำให้แย่ลง…
- ลักษณะของฝา SR20VE ก็จะเหมือนกับ VTEC มีกระเดื่องสองชุด ตรงกลางจะเป็นของลูกเบี้ยวองศาสูง (High Profile) และออกแบบกระเดื่องได้ดีกว่า SR20DET ธรรมดา ดูแล้วปัญหากระเดื่องบินหมดไปแน่นอน
แปลงใส่ปั๊มน้ำมันเครื่อง PULSAR GTi-R (RNN14)
สำหรับระบบหล่อลื่นมีการโมดิฟายเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องดีสำหรับเครื่องยนต์ที่โมดิฟายเพิ่มขึ้น โดยปกติจะเห็นเปลี่ยนปั๊มน้ำมันเครื่อง สำหรับ RB26DETT เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว มันมีปั๊มน้ำมันเครื่องอัพเกรด ขายเครื่องตระกูลซิ่ง ๆ ทั่วไปอยู่มาก ส่วนตัวผมเองคิดว่า “จำเป็น” ครับ เพราะแรงม้าสูง เครื่องทำงานเกินรอบสแตนดาร์ด ก็สมควรจะอัพเกรดระบบหล่อลื่นไปด้วย ปั๊มน้ำมันเครื่องเดิม ก็พอสำหรับแรงม้าที่ไม่มากไปกว่าเดิมเยอะแบบ 3 เท่า อะไรยังงั้น เพราะปั๊มเดิมประสิทธิภาพมันก็จำกัดในระดับหนึ่ง ตาม “โครงสร้างกลไก” ของมัน ไม่ใช่ว่าเครื่องยิ่งหมุนรอบสูง ปั๊มยิ่งหมุนเร็ว จะยิ่งปั๊มน้ำมันเครื่องได้แรงมากขึ้น ไม่จริงครับ ตัวปั๊มมันมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง พอหมุนเกินจุด Peak ของมัน “แรงดันก็ไม่เพิ่มขึ้นครับ” ตรงกันข้าม อาจจะ “ถอย” ด้วย แต่ “ความเสียหาย” ของปั๊ม อาจเกิดขึ้นได้…
อย่างเครื่องคันนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนเอาปั๊มของ SR20DET เครื่องของ PULSAR GTi-R (RNN14) ตัวแรงขับสี่ในตำนาน ที่มีโครงสร้างของเครื่องยนต์ที่ดี และแข็งแรงกว่า SR20DET ในตระกูล S13 เยอะ ดูเครื่องมันคล้ายกัน แต่ Detail ที่แตกต่างก็เยอะพอดู อย่างปั๊มน้ำมันเครื่อง เอามาใส่ก็ต้อง “แปลง” กันบ้าง ของ PULSAR จะ “หนากว่า” เลยต้อง “เจียด้านหลังของ Pulley ข้อเหวี่ยงให้กว้างขึ้น” แล้วก็เจียแต่งตรงเดือยเสียบ ให้มันเข้ากันได้ อันนี้ก็ต้องอาศัยเทคนิคส่วนตัวเหมือนกัน…
- แพหลัง S14 ที่จุดยึดปีกนกอยู่ต่ำกว่า S13 หรือ 200 SX ทำให้เวลาออกตัว ปีกนกจะขนานพื้น มุมล้อไม่เปลี่ยนมากนัก ออกตัวได้ดี เลี้ยวโค้งก็ดีกว่า เสริมชุดห่วงบน ORT และลิงค์ปรับมุมโท CUSCO
Comment : TOON ENGINE SHOP
คันนี้ก็อยากทำอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ บ้าง จริง ๆ แล้วก็อยากจะแก้ปัญหาเรื่องของ “กระเดื่องวาล์วหลุด” ของเครื่อง SR20DET ไปเห็นเมืองนอกเขาเอาฝา SR20VE มาใส่ ก็เลยอยากลองทำบ้าง มันก็ต้องศึกษากันพอสมควรก่อนลงมือทำ ไม่อยากทำไปแบบลองผิดลองถูก ก็พยายามแก้ไขจนมันใช้ได้ปกติ คันนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ระบบ VVL เพราะคันนี้ต้องการสเต็ป “แคมองศาโหด” เน้นความมันส์ แต่เสียดายว่าตอนลงหนังสือยังไม่ได้จูน เพราะยังต้องทดลองและเก็บรายละเอียดนิด ๆ หน่อย ๆ ไว้สมบูรณ์ก่อนค่อยวัดแรงม้า แต่สเต็ปนี้ยังไงก็ต้องมี 600 PS ได้อยู่แล้ว ส่วนสเต็ปต่อไปที่จะทำให้ระบบ VVL ใช้งานได้สมบูรณ์ “รับรองทำแน่ครับ” แต่อาจจะเป็นรถคันใหม่ เครื่องตัวใหม่ ต้องติดตามชมกัน…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
เคยเห็นมาเหมือนกัน สำหรับสเต็ป “ข้ามรุ่นฝาสูบ” แบบนี้ ก็คิดว่ามันควรจะมีคนทำให้ดูสักที ทาง TOON ENGINE ก็จัดให้ นับว่าเป็นของแปลกที่ผมชอบ เพราะมันไม่ซ้ำใครดี แต่ที่อยากเห็นมาก ๆ ก็คือ “ทำให้ระบบ VVL มันใช้งานได้ปกติ” ก็จะทำให้สมบูรณ์แบบยิ่งกว่านี้ เชื่อว่า “Power Band ก็จะออกมากว้าง” มีกำลังให้ใช้กันต่อเนื่อง มันก็จะเข้ากับยุคสมัยที่ระบบ “เปิด-ปิดวาล์วแบบแปรผัน” จำเป็นสำหรับรถรุ่นใหม่ ซึ่งมีข้อดีมากมายนัก “ได้ทั้งความแรง และความประหยัด” สองอย่างนี้จะให้ผลที่เหนือกว่าระบบเปิด-ปิดวาล์วแบบธรรมดาอย่างแน่นอน ถ้าเสร็จเมื่อไหร่ ก็ไม่พลาดที่จะนำมาให้ชมกัน…
- เสียดายว่าขาดสเกิร์ตข้างไปหน่อย รวม ๆ คันนี้จะเน้นไปทางเครื่องมากกว่า
TECH SPEC
รถยนต์ : NISSAN 200 SX
ภายนอก
กันชนหน้า : WORK 9
กันชนหลัง : URAS
ฝากระโปรง : VARIS
ภายใน
พวงมาลัย : AUTO GARAGE
แป้นแตร : ATC
เกจ์วัด : MOTEC ADL
ชุดสวิตช์ : MOROSO
เบาะ : RECARO
เข็มขัด : TAKATA
หัวเกียร์ : TOMEI
โรลบาร์ : 6 จุด
เครื่องยนต์
รุ่น : SR20DET
ฝาสูบ : SR20VE
สปริงวาล์ว : BC 2 ชั้น
รีเทนเนอร์ : BC
แคมชาฟท์ : MARK WORK Custom Made 288 องศา ลิฟต์ 12.0 มม.
ลูกสูบ : CP 90.0 มม. (2.2 L)
ก้านสูบ : CROWER
แบริ่ง : CALICO
อ่างน้ำมันเครื่อง : GReddy
ปั๊มน้ำมันเครื่อง : SR20DET from PULSAR
เทอร์โบ : GReddy T78-29D
เฮดเดอร์ : ต๋อง เทอร์โบ
เวสต์เกต : GReddy Type C
ท่อร่วมไอดี : ต๋อง เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy
หม้อน้ำ : BLITZ
หัวฉีด : BOSCH 1,600 ซี.ซี.
รางหัวฉีด : SARD
ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : SARD
ปั๊มเชื้อเพลิง : SARD
คอยล์จุดระเบิด : MSD
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MoTeC
กล่องควบคุม : MoTeC M4 by POR
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : RB25DET
คลัตช์ : OS Triple Plates
เฟืองท้าย : 4.1 : 1
ลิมิเต็ดสลิป : CUSCO
ช่วงล่าง
แพท้าย : SILVIA S14
ชุด Links ต่าง ๆ : ORT + CUSCO
โช้คอัพหน้า-หลัง : K-SPORT Drag Spec
ค้ำโช้คหน้า-หลัง : คาร์บอนไฟเบอร์
ล้อหน้า : VOLK CE28 9 x 19 นิ้ว
ล้อหลัง : VOLK CE28 10 x 19 นิ้ว
ยางหน้า : NITTO NT555 Extreme ZR 245/35R19
ยางหลัง : BRIDGESTONE RE11 275/30R19
เบรกหน้า : SKYLINE R32
เบรกหลัง : SILVIA S14
- CE28 ขอบ 19 นิ้ว เบรกดูจะเล็กไปหน่อย ถ้าได้เบรกใหญ่จะดูสวยงามเต็มตาขึ้น แต่ก็คิดอีกทาง รถคันนี้เผื่อวิ่ง Drag ด้วย เบรกใหญ่อาจจะทำให้ “หนัก” มันก็มีผลอยู่ และความเร็วเข้าเส้นอาจจะไม่ได้สูงมากแบบรถ Open ที่ว่ากันระดับ 250 km/h ขึ้นไป เบรก SKYLINE จึงเอาอยู่สบาย
- สร้างกล่องเก็บแบตเตอรี่ไว้มิดชิด เอามาไว้ข้างหลัง ก็ช่วยเรื่องของ “ถ่วงน้ำหนักท้าย” ได้อีกหน่อย ส่วนด้านขวามือ เป็นถัง A และมีแผงระบายความร้อน หรือ Fuel Cooler ไม่ใช่ Oil Cooler เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับระบบหล่อลื่น ส่วน Regulator อยู่ด้านท้ายรถ ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟังว่ามันดีอย่างไร ส่วนค้ำหลังเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ไม่ทราบยี่ห้อ
- ภายในคันนี้ เน้นความเกลี้ยงเกลา ไม่มีเกจ์อะไรเยอะแยะทั้งสิ้น มีเพียง MoTeC ADL ตัวเดียวอยู่ ซึ่งก็เหมาะกับการแข่งขัน เพราะเกจ์เยอะ ๆ วางเต็มพรืด เอาเข้าจริง ๆ มองไม่ทันหรอก
- กล่อง MoTeC M4 และ CDI มาครบคู่ เน้นความละเอียดในการจูน
- ลูกผสมระหว่าง “ของเก่าเก๋าเกม” กับ “ของใหม่ไฮเทค” สเต็ปนี้ยังไม่เต็ม เพราะไม่ได้ใช้ระบบ VVL ที่ใช้เพราะเบื่อเรื่อง “กระเดื่องบิน” แต่อนาคต ใช้ VVL ได้แน่นอน
- GReddy T78-29D พร้อม “กันความร้อนโข่งหลัง” ก็ดีที่ว่า ความร้อนจะไม่กระจายไปมากจนทำให้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใกล้เคียงแถวนั้นเสียหายเร็ว