เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : วิวัฒน์ ภัยวิมุติ
Special Retro Rebuilt
อัพเกรดช่วงล่าง ยัดหัวฉีด ให้ “ปู่ Z”
สำหรับคอลัมน์ RETURN TO RETRO ฉบับนี้ ก็ออกจะ “พิเศษ” กว่าปกติอยู่สักหน่อย เพราะเราจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการ “อัพเกรดช่วงล่าง” ให้กับรถ RETRO อย่าง FAIRLADY Z (S30) คันนี้ ถ้าใครติดตามกันมาโดยตลอด จะเห็นไปโชว์โฉมอยู่ใน XO SPECIAL RETRO CAR ฉบับที่แล้ว แต่ตอนนี้เจ้าของรถต้องการปรับปรุง “ช่วงล่าง” และ “เบรก” ใหม่ทั้งหมด โดยต้องการสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีขึ้นกว่าเก่าแบบเห็นหน้าเห็นหลัง เพราะบางคราวก็เอาไปวิ่งเล่นในสนามบ้าง ช่วงล่างเดิมไม่สามารถรองรับการขับขี่แบบนั้นได้ จึงตัดสินใจ “ยกชุด” กันใหม่ทั้งหมด ครั้นจะหาของแต่งเดิม ๆ มันก็คงยาก และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ หาโช้คอัพ สปริง และเบรกของรถรุ่นใหม่ ใส่เข้าไปเลยจะดีกว่า เสียก็หาของซ่อมของเปลี่ยนได้ง่าย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม มีข้อแม้ว่า จะต้อง “ไม่ไปดัดแปลงใด ๆ ที่ตัวรถเลย” Layout ทุกอย่างยังเป็นของเดิม ทั้งนี้ ก็ต้องมี “การดัดแปลงอย่างถูกต้อง” ไม่ใช่ยัดเข้าไปโดยไม่ดูอะไร รวมถึงการใส่ “หัวฉีด” ไฟฟ้าอีกด้วย การดัดแปลงเป็นฝีมือของ “พี่ทร” สุนทร เจริญสุข จากอู่ TORNTO ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวิธีการทำที่ปลอดภัย ถูกต้อง จึงนำมาเสนอให้กับผู้ที่เล่นรถเก่า แต่อยากได้สมรรถนะสูงขึ้น ตรงนี้อย่างน้อยก็เป็น “แนวทาง” ในการดัดแปลงรุ่นอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เชิญชม ณ บัดนาว…
ขอขอบคุณ : “เจ้าของรถ” (ไม่ประสงค์ออกนาม), “พี่ทร” สำหรับข้อมูล และ “ราชาแม็ก” สถานที่ถ่ายทำ…
- มาเริ่มต้นกันที่ “โช้คอัพหน้า” ถอดของเดิมมาเทียบกับของใหม่ ไปได้ TEIN HA ของ RX-7 ตัว FD ที่ใกล้เคียงสุด ซึ่งก็ต้องลองวัด “ความยาวแกน” ให้ใกล้เคียงกว่าของเดิม และ “Stroke” ของโช้คอัพ มันสามารถยืดหดได้ในระยะที่เหมาะสมหรือเปล่า เหตุที่เลือก TEIN เพราะ “ซ่อมและปรับปรุงได้” สปริงก็เทียบเอาใหม่ ให้ค่า K ที่เหมาะสม ข้างหน้าอยู่ที่ “7 kg-mm.” ส่วน “เบรก” เป็นของ RX-7 ตัว FC ที่ขนาดไม่ใหญ่โตเกินไปนัก ยังพอจะยัดในล้อ 14 นิ้ว ของที่ใส่อยู่ได้ แต่ต้องทำ “อะแดปเตอร์” ต่อหน้าแปลนล้อให้ยื่นออกมา เพื่อให้ล้อหลบคาลิเปอร์ และที่สำคัญ ตรงดุมกลางล้อ ทำ “บ่ารับศูนย์” (Center Bore) ให้สวมเข้ากับรูกลางของล้อได้อย่างพอดี เพื่อลดอาการ “สั่น” เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้…
- มาดู “ข้างหลังภาพ” กันบ้าง ตรงที่ศรชี้ จะเป็นจุดที่ปลายโช้คอัพจะยึดกับปีกนก เราจะเรียกว่า “เหง้า” อันนั้นเป็นของเดิม (แต่พ่นสีเขียวให้เข้ากัน) โดยปกติเหง้านี้จะอัดติดกับตัวเสื้อโช้คอัพ ก็ถอดเอาโช้คอัพเก่าออก เสร็จแล้วก็ “กลึง” ออก ให้รูใหญ่ขึ้น เนื่องจากเสื้อโช้คอัพใหม่จะใหญ่กว่าเดิม (ต้องเลือกให้ใหญ่กว่าครับ ไม่งั้นจะหลวม ซึ่งจะทำยากกว่า) เอาของใหม่เสียบกลับเข้าไป เชื่อมติดก็เป็นอันจบ ส่วนการซ่อมบำรุงในอนาคต ไม่ต้องไปเลาะเสื้อโช้คออกจากเหง้ายึดอีก เพราะโช้ครุ่นนี้สามารถ “ชักไส้” ออกมาได้ เพราะออกแบบมาให้ซ่อมได้อยู่แล้ว (เป็นการวางแผนไว้ตั้งแต่แรก) การยึดโช้คแบบนี้ เราจะได้ศูนย์ของเดิมอยู่ เพราะไม่ได้ไปดัดแปลงตัวเหง้าให้ผิดไปจากเดิม ถ้าไปเปลี่ยนแปลงตัวเหง้าเป็นของรุ่นอื่น ก็จะมีผลต่อ “ศูนย์ล้อ” ซึ่งมีผลมาก ไม่ใช่เรื่องที่จะมักง่าย อะไรก็ได้ ส่วน “เบรก” ก็สร้างขายึดคาลิเปอร์ขึ้นมาใหม่ทั้งอัน แน่นหนา มั่นคง ไม่ได้สร้างเป็นขาต่อยื่นออกมาดื้อ ๆ แล้วเชื่อมแต้มเฉย ๆ อันนั้นอันตรายครับ..
- มาดู “เบ้าโช้คอัพ” กันบ้าง ของ Z เดิม ๆ จะมีขนาดเล็ก มันออกจะหายากสักหน่อย แต่ก็โชคดีอย่าง เพราะมีของ “MR2” (SW20) ที่เบ้าหลังมันมีขนาดใกล้เคียงกับของเดิม เลยเอามาใส่ได้ การดัดแปลงอันดับแรกเลยคือ “รูนอต” 3 ตัว เราบอกแล้วว่าจะ “ไม่ยุ่งกับตัวรถ” เป็นอันขาด จะไปเจาะที่จานเบ้าโช้คแทน ก็อุดรูให้หมด แล้วเจาะรูใหม่ ให้เท่ากับของ Z แล้วก็ฝังสตัดเกลียว เพื่อให้ขันยึดกับตัวถังรถได้ ส่วนตรงรูกลาง ก็กลึงบ่าให้พอดีกับที่ตัวรถ เพื่อให้เสียบล็อกเข้าไป เป็นการกันสั่นได้ดีเยี่ยมทีเดียว…
- จบในส่วนของช่วงล่างหน้า การดัดแปลงครั้งนี้ สามารถใส่ล้อ 14 นิ้ว ของเดิมได้ เป็นเรื่องที่เจ้าของกำหนดมาเป็นไฟต์บังคับว่าต้องใช้ล้อชุดนี้ได้เหมือนเดิม…
- มาที่ช่วงล่างหลังกันบ้าง เริ่มกันที่ “เบรก” ของเดิมด้านหลังเป็นแบบดรัม จึงต้องการเปลี่ยนเป็น “ดิสก์” เบรกชุดนี้จะไปเอาของ MR2 (SW20) ที่เป็นรุ่นเครื่อง “3S-GE” ไม่มีเทอร์โบ เพราะถ้าเอารุ่นเทอร์โบมาใช้ จานเบรกจะใหญ่เกินไป ทำให้เบรกหลังล็อกง่าย เป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะตอนถนนลื่น ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่ายิ่งใหญ่ยิ่งดี อยู่ที่ความเหมาะสม การดัดแปลงก็ไม่ยาก ถอดชุดดรัมเบรกของเดิมออกให้หมด ก็จะเหลือดุมล้อเปลือย ๆ ไม่ต้องไปยุ่งกะมันครับ เพราะเราจะยืนยันรูนอตเดิมเท่านั้น ก็เพียงแต่เจาะรูที่จานเบรกใหม่ ให้เป็น 4 รู 114.3 มม. ไม่มีปัญหาครับ เพราะมันจะมีนอตอยู่ 1 ตัว ที่ตรงกันพอดี จับจุดตรงนี้ และจับที่ดุมกลาง ก็หาศูนย์ที่ถูกต้องเจอแล้ว ส่วนคาลิเปอร์ก็ยึดเหมือนกับด้านหน้า สายอ่อนเบรกก็เทียบหาใกล้เคียงใส่ไม่ยาก…
- มาดูเรื่องโช้คอัพกันบ้าง ก็ยังใช้ยี่ห้อเดียวกับด้านหน้า แต่อันนี้ไปเทียบเอาของพวก HONDA มาใช้ (จำรุ่นไม่ได้) การดัดแปลงตัวเหง้าก็เหมือนกับด้านหน้า เพียงแต่ข้างหลังจะยากกว่าพอควร เพราะทั้งเหง้ามันดันไปติดเป็นชิ้นเดียวกับดุมล้อ (ตรงที่มือชี้) ถ้าจะทำทีก็ต้องรื้อออกมาทั้งหมด ยุ่งยากพอควร เลยต้องจัดการให้เสร็จในครั้งเดียว…
- ตรงที่มือชื้ คือ จุดที่เสียบโช้คอัพยึดกับเหง้า ก็จะต้องกลึงรูเหง้าออกให้ใหญ่ขึ้น เอาโช้คอัพใส่เข้าไป แล้วเชื่อมติดเหมือนกันกับด้านหน้า ส่วนบ๊ชสีแดง ๆ ที่เห็น ก็เป็น “ยูรีเทน” ของแต่งตรงรุ่น เพื่อเพิ่มความกระชับให้กับช่วงล่าง และจุดหมุนต่าง ๆ ก็มีผลเรื่องการทรงตัว…
- ยังไม่จบ เพราะต้องมาเล่นกันที่ “หม้อลมเบรก” กันต่อ ของเดิมเล็กไป เบรกใหม่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องอัพเกรดตามไปด้วย อันนี้กลับเป็นของ TOYOTA เนื่องจากรูยึดหม้อลมสามารถใส่กับที่ตัวรถได้พอดีเป๊ะ ไม่ต้องดัดแปลงใด ๆ และตอนนี้ใช้ดิสก์เบรกหลังแล้ว แรงดันก็จะต้องเปลี่ยนไป จึงต้องใส่ Servo ปรับแรงดันเบรกแยกหน้า–หลัง เข้าไปใหม่ เพื่อกระจายแรงเบรกให้เหมาะสม อันนี้เอาของ LEVIN AE101 ตัวนอกมาใส่ เพราะเป็นดิสก์ 4 ล้อ เหมือนกัน (AE101 บ้านเรา จะเป็นหลังดรัม) ใส่แล้วก็ลองขับ ปรับแรงดันให้เหมาะสม…
- เครื่องยนต์ L24 เดิม แต่อัพเกรด “ใส่หัวฉีด” ชุดหัวฉีดและลิ้นเร่ง เป็นของ RB26DETT ซึ่งเป็นแบบ 6 ลิ้น (ไม่ใช่สไลด์) พร้อมปากแตรเท่ ๆ สไตล์ Retro รางหัวฉีดสร้างขึ้นมาใหม่ สังเกตตรงคอท่อน้ำ จะมีการฝัง Water Temp Sensor เพื่อเอาสัญญาณรายงานไปยังกล่อง ECU ของ WOLF ซึ่ง “ทอมมี่” เป็นคนจูน…
- ชุดคอยล์จุดระเบิด ใช้ของ JZ-GTE ที่เป็นคอยล์ 6 ตัว นำมาติดบนแผงยึดที่สร้างขึ้นมาใหม่ วางระยะห่างของคอยล์ให้พอดีกับหัวเทียนในแต่ละสูบ…
- อันนี้เป็นชุดควบคุมรอบเดินเบา ของ NISSAN ยึดติดกับ “ถังพักลม” ที่ทำขึ้นมาใหม่ เพราะไม่มีท่อร่วมไอดีคอยเก็บ ต้องสร้างถังเก็บต่างหากแทน
- “พี่ทร” ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจ็กต์นี้…