XO AUTOSPORT No.256
REEDXO256 (R33 Story Part I)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : www.r33gt-r.com, www.gtr-registry.com, www.google.com
SKYLINE GT-R “R33” Full Story (Part I)
“ปฐมบท” เจาะลึก “เส้นขอบฟ้าที่โลกลืม”
กลับมาพบกันกับ “วาระปกติ” นะครับ กับ Reed It More ที่ครั้งนี้จะขอเสนอเรื่องราวของ SKYLINE GT-R รุ่นที่ 9 ในรหัสสวย “R33” ที่ออกแบบมาเน้นความเรียบหรู แบบ “สปอร์ตรุ่นใหญ่” แต่ว่าความดุดันใน R32 นั้น มัน “ตรึงจิต” จนยากที่จะถอน พอมาเปลี่ยนลุคใหม่ คนกลับนิยมน้อยลง เพราะมัน “ไม่ดุ” ซึ่งคนที่ชอบก็จะออก “ผู้ใหญ่วัยรุ่น” (รวมถึง “วัยแรด”) กันไปสักหน่อย และมาฮิตกันอีกทีก็คือ R34 ซึ่งเป็นการ “ปิดวิก” ตำนาน SKYLINE GT-R กับเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง อย่าง RB26DETT ไป ดังนั้น R33 ก็เหมือนกับเป็น “เส้นขอบฟ้าที่โลกลืม” แต่ความที่มัน “ดูแปลกแยก” แต่กลับกลายเป็น “เอกลักษณ์อีกทางหนึ่ง” ซึ่งก็มี “ชนกลุ่มน้อย” ที่หลงใหลในสไตล์ของมัน ซึ่งเราได้รับความรู้เชิงลึกจาก “SKYLINE R33 CLUB THAILAND” ที่ “ตัวพ่อ” ทั้งหลายได้ครอบครอง ส่วนในเล่มหน้า พร้อมเจาะลึกของแต่ง NISMO แบบ Super Rare Items ที่ “มีตังค์ก็ซื้อไม่ได้ทุกครั้งไป” พร้อมกับ R33 ที่แต่งด้วยของ Rare Item เป็น Version ต่างๆ อีก “เกินครึ่งโหล” ห้ามพลาดทั้งฉบับนี้ และฉบับหน้า เด็ดขาดครับ…
- ด้วยทรวดทรงที่ “โค้งมน” ดูไม่หาเรื่องเหมือน R32 มันเลยไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก
Full Grand Touring Style
R33 จะออกแบบรูปทรงมาดู “หนัก” กว่า R32 ด้วยความที่ต้องการให้เป็นรถสปอร์ตในลักษณะของ GT หรือ Grand Touring ที่มี 4 ที่นั่ง แบบที่ด้านหลังสามารถ “นั่งได้จริง” แน่นอนว่า SKYLINE ก็ยืนหยัดรูปแบบ GT มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสปอร์ตพันธุ์แท้ เนื่องจากว่ามีแบบ 4 ประตู เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งสปอร์ตแท้ๆ อย่าง FAIRLADY Z นั้นจะมีเฉพาะ 2 ประตู เท่านั้น สำหรับ R33 จะยืดขนาด “ช่วงล้อหน้าถึงหลัง” ให้ยาวถึง 2,720 มม. ส่วน R32 จะอยู่เพียง 2,612 มม. ทำให้ห้องโดยสารของ R33 นั้น สามารถ “ยืด” ให้นั่งสบายขึ้นกว่า R32 และมีความกว้างขวาง นั่งสบาย คนที่เล่น R33 จะชอบตรงนี้กันมาก เพราะมัน “นั่งทางไกลแล้วสบาย” และด้วยน้ำหนักรถเปล่าถึง “1,540 กก.” (V-SPEC) ทำให้เกิดความนุ่มนวล หนักแน่นมากขึ้น…
6 สูบเรียง เท่านั้น !!!
R33 จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านเครื่องยนต์ของรุ่น “น้องรอง” แต่ที่แน่ๆ จะมีจำหน่ายเฉพาะบล็อก “RB” เท่านั้น ซึ่งบล็อกเล็กๆ 4 สูบ อย่างตัว CA18E ใน R32 4 ประตู ตัวถูกสุดนั้นไม่มีอีกต่อไป ในรุ่น GTS (HR33) จะเป็นเครื่อง RB20E 12 วาล์ว 130 PS ขึ้นมาเลยก็เป็น GTS-25 (ER33 และ ENR33 ที่เป็น 4WD) จะเป็นเครื่อง RB25DE ที่พัฒนาจากเครื่อง R32 รุ่น GXE โดยมีระบบ “กระดิกแคมไอดี” หรือ NVCS (NISSAN Valve Timing Control System คนละเรื่องกับ VVL นะ) ส่วน GTS-25T (ECR33) ก็จะเป็น RB25DET 250 PS ซึ่งเป็น “ยีบห้าเทอร์โบ” ที่ยอดฮิตกันนั่นเอง แต่รุ่นเทอร์โบนี้ไม่มี “ขับสี่” นะครับ และสุดๆ กับ RB26DETT 280 PS ใน GT-R รหัสBCNR33 ซึ่งเป็นตัวแรงที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้…
Tips
รหัสต่างๆ ที่ NISSAN SKYLINE ใช้มายาวนาน มีดังนี้…
- H หมายถึง เครื่องยนต์ 6 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร ตั้งแต่ L20 ไปจนถึง RB20
- E หมายถึง เครื่องยนต์ 6 สูบ ขนาดเกินกว่า 2.0 ลิตร ถ้าใน R33 ก็คือ RB25 นั่นเอง…
- B หมายถึง เครื่องยนต์ RB26DETT แน่นอน…
- N จะหมายถึง “ขับเคลื่อนสี่ล้อ” และมีระบบ “ATTESSA” ควบคุม ซึ่งจะใช้กันในรถขับสี่แบบสปอร์ตของค่ายตัวอื่นๆ ที่ใช้ระบบนี้ ด้วย เช่น PULSAR GTi-R “RNN14” เป็นต้น…
- R รุ่นรถ ถ้าเป็น SKYLINE ก็จะ “เริ่ม” ใช้รหัส R3X จาก R30 ปี 1981 (ก่อนหน้าคือ C210 ไม่มี R29 นะจ๊ะ) ไปยัน R35 ปัจจุบันกันเลย…
“ถอดรหัส” อะไรคือ C ใน BCNR33
“ปัญหาโลกแตก” ซึ่งก็น่าแปลกว่า R33 เป็น GT-R ตัวเดียวที่มีตัว C แทรกมา ซึ่งใน BNR32 ไม่มี และพอเป็น BNR34 ก็เสือกไม่มีอีก ก็มีกระแสข้องใจกันว่า C น่าจะมาจาก “Comfortable” เพราะตัวรถมีขนาดยาวขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ว่าน่าจะมาจาก Coupe แต่สองอันนี้มันไม่มี Reference ยืนยันได้ คำตอบเดียวที่มี “ตัวจริง” มายืนยัน คนนี้ “Aki Itoh” (อากิ อิโตะ) เป็น “ตัวพ่อสายลึก R33” ที่มีเว็บ r33gt-r.com ชื่อว่า One Man’s Lonely in His R33 SKYLINE GT-R ได้มาตอบในเว็บ GT-R UK ใช้ล็อกอินว่า AKASAKA R33 ว่า “ตัว C นั้นหมายถึง ระบบ 4WS หรือเลี้ยวสี่ล้อ ที่เป็นแบบ Super-HICAS เหตุที่ต้องมี C เนื่องจากว่า ในช่วงที่ R33 ผลิต จะมีรถรุ่นอื่นของ NISSAN ที่มีเฉพาะ ATTESSA (รหัส N) แต่ไม่มีระบบ Super-HICAS ก็เลยต้อง “จำแนก” มาเป็นแบบนี้ รวมถึงตัว GTS-25t ด้วยนะครับ ที่มีระบบ HICAS ก็ใช้รหัส ECR33 นั่นเอง แต่ยังไม่ใช่ขับสี่นะ…
- ระบบ Super-HICAS และ ATTESSA ET-S PRO ที่ให้วงเลี้ยวแคบลง เปิดให้ล้อหลังเลี้ยวช่วย ลดอาการ “อันเดอร์สเตียร์” และกระจายแรงไปยังล้อคู่หน้าและหลัง ตามอาการรถจริงได้เหนือกว่ารุ่นธรรมดา
Tips “Super-HICAS” ดีกว่าตรงไหน
ระบบ HICAS ของ R32 ยังต้องใช้แรงดันจากปั๊มเพาเวอร์ จากการหมุนพวงมาลัยมาควบคุมการเลี้ยวของล้อหลังอยู่ ปั๊มเพาเวอร์จะมี 2 ห้อง คุมแร็คหน้าและหลัง ส่วน Super-HICAS ใน R33 จะควบคุมการเลี้ยวด้วย “ไฟฟ้า” โดยตรง ปั๊มเพาเวอร์จะตัวเล็กลง เหลือเพียง 1 ห้อง คุมแร็คหน้าเท่านั้น โดยประมวลผลจาก “เซ็นเซอร์ที่คอพวงมาลัย” และ G-Sensor ที่ด้านในจะเป็น Crystal Clock ส่งสัญญาณว่าตอนนี้รถเอียงไปทางไหน จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าคอย “ขยับการเลี้ยว” โดยตรง ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมันไฮดรอลิกมาดัน สำหรับ “องศาการเลี้ยว” ก็ช่วยเพียง 1-2 องศา (โดยประมาณ) แต่มีผลมาก ในการเลี้ยว หากเป็นความเร็วต่ำกว่า 80 km/h ล้อหลังจะเลี้ยว “สวนทางกับล้อหน้า” เพื่อให้วงเลี้ยวแคบ ขับสะดวก แต่ถ้าความเร็วเกินกว่านั้น ล้อหลังจะเลี้ยว “ทิศทางเดียวกับล้อหน้า” เพื่อให้เข้าโค้งได้ง่ายขึ้น…
- R33 GT-R Concept ที่เอาดีไซน์หน้ากระจัง R32 ติดมา
R33 Concept – 1993
ปี 1993 ในช่วง “ฤดูใบไม้ผลิ” (Autumn) ณ Tokyo Motor Show ครั้งที่ 30 ทาง NISSAN ก็ได้โชว์ New SKYLINE GT-R Concept Car ซึ่งในช่วงนั้น SKYLINE R33 ได้เปิดตัวและจำหน่ายแล้ว แต่เป็นตัว GTS ต่างๆ (ในตอนนั้นยังมี R32 ขายอยู่เลย) ซึ่งตัว GT-R Concept ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างจาก “ตัวจริง” โดยเฉพาะ “กันชนหน้า” ที่เหมือนกับเอา GTS มาเหลา มันจะดูเรียบไปหน่อย ส่วน “ตัวจริง” โผล่มาในเดือนมกราคม ปี 1995 พร้อมจำหน่ายอย่างเป็นทางการ…
- R33 GT-R Series I-II หน้าตาจะเหมือนกันครับ ลิ้นหน้าเล็ก ยังไม่มีรูจมูกกันชน
- ไฟถอยจะเป็นสีขาวสองข้าง ส่วนปัดน้ำฝนหลัง เป็น Option เสริม ที่หลายคนคิดว่ามันเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งสามารถเช็กได้ในเว็บว่ารถแต่ละคันมีอะไรมาจากโรงงานจริงๆ บ้าง
- พวงมาลัย Series I-II จะเป็นทรงนี้ครับ ส่วนเบาะและแผงข้างก็จะเป็นสีเทาแซมม่วง
Series I – 1995
R33 จะมีทั้งหมด 3 Series ซึ่งตอนแรกผมก็นึกว่ามันมีแบ่งด้วยเหรอวะ ไหนๆ ก็มาลองดูกันว่า แต่ละซีรีส์ต่างกันอย่างไร เริ่มที่ Series I ก่อนก็แล้วกัน สำหรับรหัสตัวถัง หรือ Vin Number นั้น จะเป็นซีรีส์ไหน เลขเท่าไร ดูที่รูป Vin Range ได้เลย บอกชัดเจน…
- ผลิตในต้นปี 1995 ถึงกลางปี 1996…
- กล่อง ECU จาก 8 Bits ใน R32 ถูกเปลี่ยนเป็น 16 Bits ในรุ่นนี้…
- ไฟหน้าจะเป็นแบบ H4 ธรรมดา ไฟถอยหลังจะเป็นสีขาวทั้งคู่…
- ลิ้นหน้าจะเป็น “ลิ้นเล็ก” อยู่ใต้กันชน ส่วนตัวกรอบไฟเลี้ยววงกลมที่กันชนหน้า จะไม่มีรูดักลม…
- ภายใน “พวงมาลัย” จะเป็นแบบ “สี่ก้าน ซาลาเปาใหญ่” คือ แป้นแตรตรงกลางจะใหญ่ๆ หนาๆ ดูไม่สปอร์ตเอาเสียเลย ก็เป็นเหตุที่หลายคนไม่ชอบภายในของ R33 เพราะมันดู“เรียบเกินไป” ถ้าเทียบกับ R32 แล้ว คนละโลก ส่วน “Airbag” จะมีเฉพาะ “ตำแหน่งคนขับ” เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน…
- “หน้าปัด” ก็มีข้อแตกต่างๆ ใน Series I จะมี “ช่องใส่เหรียญ” ด้านขวามือถัดจากสวิตช์ปรับกระจกไฟฟ้า ส่วน “ปุ่มกดตั้งนาฬิกา” จะ “นูน” ขึ้นมา…
- “เบาะนั่ง” และ “แผงข้าง” จะเป็น “สีเทาแซมม่วง” ส่วนชุด “แป้นเหยียบ” จะพิเศษหน่อย เพราะมี “โลโก R” ที่แป้นคลัตช์และเบรก ส่วนแป้นคันเร่ง จะมี “ติ่ง” เอาไว้ให้ทำ Heel & Toe โดยง่าย ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษของ GT-R ตั้งแต่ R32 แล้ว…
- สำหรับ “ตัว Actuator ของ ABS” จะมีกล่องสีดำ ปั๊ม NISSAN UNISIA ติดตั้งที่ซอกตรงซุ้มโช้คหน้าซ้าย…
- เครื่องยนต์เป็น RB26DETT ที่พัฒนาขึ้นมาจาก R32 ในอีกระดับ ประการแรก “ปลั๊กหัวฉีด” และ “เซ็นเซอร์ Air Temp” จะเป็น “สีแดงอิฐ” ประการสอง “รางหัวฉีด” จะมี “ลิ่ม” ที่เสียบ “ปลั๊ก Knock Sensor (ซึ่งของ R32 จะไม่มีลิ่มนี้ ตัวปลั๊กจะอยู่ด้านล่างแถวๆ ตัวปรับรอบเดินเบา) ต่อมา “ข้อเหวี่ยง” ตัวลิ่มที่เสียบกับปั๊ม จะเป็นแบบ “เสียบเต็ม” ลดปัญหาเรื่องงัดปั๊มแตก ทำให้ใช้รอบสูงสุดได้ถึง “8,000 rpm” บนรถเดิมๆ !!! (ซึ่ง R32 หมุนรอบขนาดนี้ก็เสี่ยงปั๊มแตก) กล่อง ECU อัปเกรดใหม่ โปรแกรมกล่องให้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น “อีกนิด” เป็น 37.5 kg-m ส่วนแรงม้าก็ถูกจำกัดไว้ที่ 280 PS เท่าเดิม ตามกฎหมายของญี่ปุ่น แต่รู้กันว่า ถ้าแค่ “เปลี่ยนรอม” ในสเป็กส่งออก เช่น อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ก็สามารถอัปเป็น 320 PS ได้ในพริบตา !!!
- ย้ายแบตเตอรี่มาด้านหลัง พร้อมมี “เหล็กค้ำ” ที่เป็นทั้งตัวยึดอุปกรณ์ต่างๆ และเสริมความแข็งแรงไปในตัว…
- ถังน้ำมัน ลดขนาดลงเหลือ 65 ลิตร (ของ R32 จุถึง 72 ลิตร)
- ระบบช่วงล่างก็พัฒนาใหม่ ใช้ “อะลูมิเนียม” มากขึ้น แม้ดูเผินๆ จะเหมือนกับ R32 แต่มัน “ผิดกัน” ชัดๆ ก็ “แพหลัง” ที่นิยมเอามาใส่ CEFIRO กัน จุดยึดปีกนกล่างจะ “ขยับใหม่” เพื่อให้เวลายุบตัว แล้ว “ล้อแบะน้อยลง” เกาะถนนมากขึ้น จุดยึดแพหลังกับ R32 จะ “เยื้องกันนิดหน่อย” ฝืนใส่ A31 ล่ะได้ ขันเบียดๆ เอา แต่ “ไม่แนะนำ” นะครับ…
- มีสีให้เลือก 6 สี คือ LP2 Midnight Purple, BN6 Deep Marine Blue, QM1 White, KL0 Sparkling Silver, KN6 Dark Grey Pearl, KH3 Black…
- สำหรับสี LP2 Midnight Purple ที่เป็นสี Signature และเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ R33 GT-R หากเป็นในรุ่นรองๆ จะมีเฉพาะตัวพิเศษ อย่าง GTS-25t Type M 40 th Anniversary เท่านั้น…
- อันนี้เป็นผลรวมของ Option Code ว่าในรถแต่ละรุ่น มีใส่อะไรไปบ้าง จำนวนกี่คัน
- แผนผังของ Vin Code ว่า “ตัวอักษรอังกฤษ” แต่ละตัวหมายถึงอะไร เป็นรถรุ่นอะไรกันแน่ ส่วน Option Code ห้าหลักสุดท้าย อันนี้สามารถไปเช็กในเว็บได้อีก ว่าคันนี้มีใส่อะไรมาบ้าง ก็รบกวนไปเปิดดูเองนะครับ ลงหมดทะลุเล่มแน่ๆ
- อยากรู้อะไรก็เข้าเว็บ gtr-registry ได้เลยครับ มี VIN Code ใส่เข้าไปมันจะบอกรายละเอียดเลย ว่ารถปีอะไร สีอะไร มีอุปกรณ์อะไรบ้าง เจ๋งมากครับเว็บนี้
Optional
สำหรับอุปกรณ์เสริมพิเศษ ใน GT-R ก็มีหลายอย่างให้เลือก “ทุกอย่างสามารถเช็กในเว็บได้” ซึ่งโดยหลักมีดังนี้…
- สี AN0 Clear Red ซึ่งอันนี้เป็น Special Color Paint ที่ต้องสั่งพิเศษ…
- เคลือบสีพิเศษ “S.F.H.C.” หรือ Super Fine Hard Coating ถ้ารถที่เคลือบออกมาจากโรงงาน จะต้องมีสติกเกอร์ S.F.H.C. ที่ใต้แกนปัดน้ำฝนหลังอยู่ด้วย…
- Cold Weather Package เป็นชุดสำหรับ “ลุยหิมะ” มีโซ่รัดรอบยางเพื่อตะกุย รวมถึงมีแร็คหลังคาพร้อมชุด “สกี” และอื่นๆ อีกด้วย…
- “ปัดน้ำฝนหลัง” อันนี้หลายคน (รวมถึงผมเอง) ก็คิดว่ามันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานโรงงาน แต่จริงๆ แล้ว เป็น Option และหลายคนคิดว่า “ไม่มีปัดน้ำฝนหลัง คือ N1” ไม่ใช่นะครับ ต้องเช็กดูในเว็บจะชัวร์สุด ว่ารถคันนี้มีอะไรมาจากโรงงานบ้าง ตรงกับที่เรามีหรือเปล่า…
- เครื่องเสียง KENWOOD Cruising Sound System CD Type พร้อมลำโพง 6 ตัว…
- Passenger Airbag ถุงลมนิรภัยฝั่งคนนั่ง…
- GT-R ที่ใส่ Full Option คันแรก จะเป็นรหัส BCNR33-000156 สี BN6 Deep Marine Blue เป็น Series I ปี 1995 ล็อตแรกเลย…
- สำหรับเรื่อง Optional ต่างๆ ในแต่ละ Series ลองหาในเว็บดูครับ มันจะมีบอกไว้ว่า “เป็นรหัสอะไร” และ “อยู่ใน Vin Code หลักที่เท่าไร” โดย Optional Code จะเป็น “อักษร” อยู่ตั้งแต่หลักที่ 14-18 เช่น S.F.H.C. จะเป็นตัว G อยู่ในหลักที่ 14 หรือ ปัดน้ำฝนหลัง จะเป็นตัว J อยู่ในหลักที่ 15 ส่วน Series ต่างๆ ก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งในตารางจะมีบอกเลยครับใน Series I-II-III ลองไล่ดูเอาเองแล้วกัน เพราะมันละเอียดจริงๆ เขียนหมดคงโดน “อ้อย คลองแปด” ฆ่าแน่นอน…
- VIN RANGES จะบอกว่าในแต่ละ Series ต่างๆ จะมีเลขอะไรบ้าง ส่วน PP ก็คือ Pre-Production ตัวที่ออกทดสอบก่อนจำหน่ายจริง
- อันนี้จะบอกได้ทั้ง “ตารางสี” ว่าแต่ละรุ่น มีสีอะไรบ้าง สีละกี่คัน และบอกยอดรวมของแต่ละรุ่น แต่ละปีอย่างละเอียด บอกเลยว่าคนทำเว็บนี้ “แม่งโคตรลึก” อย่างไม่น่าเชื่อ
V-SPEC
สำหรับตัว V-SPEC หรือ Victory Spec นั้น ก็เหมือนกับเวอร์ชันพิเศษขึ้นมาอีกหน่อย แต่ของ R33 นั้นจะไม่ค่อยแตกต่างจากรุ่น GT-R ธรรมดาชัดเจนเหมือน R32 เหมือนกับว่า R33 ให้ของดีและ “ใหญ่” มาหมดแล้ว เช่น ล้อก็เป็นขนาด 9 x 17 นิ้ว ยางก็ 245/45R17 เบรก BREMO ก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในตัว V-SPEC ก็จะเป็นระบบ “ATTESSA PRO” ที่ประมวลผลเร็วกว่า และมีการแบ่งกำลังที่เหมาะสมขึ้น เมื่อเทียบกันแล้ว ทำให้ “วงเลี้ยว” แคบกว่า ATTESSA ธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด (เป็นการลดวงเลี้ยว เนื่องจาก R33 เป็นรถบอดี้ยาว) ส่วน “ลิมิเต็ดสลิป” ก็จะเป็นแบบ “Active LSD” หรือ A-LSD (ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์เสริมในรุ่นธรรมดา) สังเกตที่ “วัดรอบ” จะมีไฟเตือน A-LSD เป็นเม็ดเล็กๆ อยู่ตรงกลาง ซึ่งรุ่นธรรมดาไม่มี การทำงานของมันก็จะอาศัย “แรงดันน้ำมัน” มาดันที่แผ่นคลัตช์ LSD โดยสั่งตามเงื่อนไขการขับขี่จริง เวลาทำงานก็จะขึ้นไฟโชว์ที่วัดรอบ นับว่าเป็นของไฮเทคที่ SKYLINE บรรจงสร้างให้นักขับทุกคน…
- อันนี้เป็นรูปถ่ายในไทยนี่แหละ เทียบกันระหว่างปั๊มน้ำมันเครื่องปกติ (ด้านบน) กับ N1 ในด้านล่าง ซึ่งแตกต่างกันชัดเจน
GT-R & GT-R V-SPEC “N1”
เป็นเวอร์ชันพิเศษ N1 มีทั้ง GT-R และ GT-R V-SPEC ก็คือรถที่ผลิตไว้สำหรับ Homologate ในการแข่งขัน “Group N” จริงๆ แล้วไม่ต้องตื่นเต้น มันก็คือ “รถสแตนดาร์ดเอาไปทำแข่ง” เครื่องยนต์จะเป็น RB26DETT N1 สเป็กพิเศษ เป็นเครื่องที่เหมาะสำหรับการแข่งขัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นเอกสิทธิ์ในรุ่น N1 มีอีกมากมาย ที่อดจะกล่าวถึงมิได้ งั้นผมรวบทั้ง 3 Series เลยทีเดียวแล้วกัน มีรายละเอียด ดังนี้…
- เปลี่ยนใบเทอร์โบ จาก “เซรามิก” เป็น “โลหะ” เพื่อทนการบูสต์ที่สูงและยาวนานมากขึ้น…
- ลูกสูบแตกต่างกัน ของ N1 ในช่วงร่องแหวนที่สอง (Second Ring Land) จะหนาขึ้น จาก 4.0 มม. เป็น 4.6 มม. ส่วน “Gap แหวนลูกสูบ” จะ “ชิด” มากขึ้น จาก 1.5 มม. เป็น 1.2 มม. ลดการรั่วไหล ให้การตอบสนองที่ดีขึ้น…
- เปลี่ยนก้านสูบใหม่ ใช้วัสดุที่ทนทานมากขึ้น…
- เสื้อสูบตอกรหัส 24U เพิ่มความแข็งแรงบริเวณนอตยึดฝาสูบ และรอบๆ กระบอกสูบ…
- แคมชาฟต์ไม่เหมือน เพิ่ม Over lap ด้านไอเสียไปอีก 5 องศา…
- มี “ออยล์คูลเลอร์” แบบระบายด้วยอากาศ ติดตั้งอยู่มุมกันชนหน้าซ้าย ซึ่งจุดนั้นจะมี “รูดักลม” เพื่อไปเป่าตัวออยล์คูลเลอร์…
- ปั๊มน้ำ เป็นแบบ “6 ใบพัดใหญ่” (ตัวธรรมดา 8 ใบเล็ก ของแท้นะ ถ้าเจอของเทียมก็ 7 ใบเล็กลงไปอีก ตอนซื้อดูด้วยนะครับ) ส่วนปั๊มน้ำมันเครื่อง จะเน้น “Flow Rate” หรืออัตราการไหลที่มากขึ้น เฟืองปั๊มจะเป็นแบบ “กงจักร” (ตัวธรรมดาจะเป็นเฟืองธรรมดา) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่โตกว่า (ตอนนั้นซื้อมาใส่ ก็ลืมวัดว่ามันเท่าไร แต่มันโตเห็นๆ เลยแหละ) หน้าตาภายนอกดูเผินๆ เหมือนกัน แต่ไม่เป๊ะ แต่ถ้าพลิกดูด้านหลัง อันนี้จะต่างกันชัดเจน ท่อส่งน้ำมันใหญ่กว่า และดูง่ายๆ นอตยึดเพลทที่ปิดตัวเฟืองปั๊ม จะมี “แปดตัว” ถ้ารุ่นธรรมดาจะมี “เจ็ดตัว” นั่นแหละ อันนี้บอกไว้ ถ้าใครไปเจอจะได้ไม่โดนหลอก…
- แต่ระวังไว้อย่าง ปั๊ม N1 มันก็คือสำหรับ Group N ที่เน้น Flow Rate อย่างที่บอกไป มันจะไม่สามารถทนรอบเครื่องสูงกว่า 8,000 rpm ไปมากได้ ถ้าจะโมดิฟายเพิ่มรอบมากๆ แรงม้าเยอะๆ ก็จะต้องซื้อ “ปั๊มโคตรซิ่ง” ตามสำนักโมดิฟายมาใช้ ที่แพงและทนสุด เท่าที่เห็นก็ปั๊ม TOMEI UMEDA (โทเม่ ยูเมดะ) ที่ทำไมมันใหญ่กว่าชาวบ้านเขา…
- กันชนหน้า จะมี “จมูก” สองรูข้างป้ายทะเบียน ที่หลายคนบอกเป็นกันชน NISMO นั่นแหละ คอยดักลมไปเป่าระบายความร้อน และด้านในเหมือนจะ “เอาพวกแผ่นกั้นต่างๆ บางจุดออก” เพื่อให้ลม Flow มากที่สุด…
- สปอยเลอร์หลัง ชิ้นกลางจะเป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” เปลี่ยนทรงใหม่ ให้สร้างแรงกดได้มากขึ้น…
- ตัวรถมีแค่สี QM1 White อย่างเดียว อุปกรณ์บางอย่างถูก “ตัด” ออก เช่น เครื่องเสียว เอ๊ย เครื่องเสียง แอร์ ปัดน้ำฝนหลัง กระจกแบบ UV Cut (ซึ่งเป็น Option ในตัวปกติและ V-SPEC ของ Series III) Airbag ฝั่งคนนั่ง และไม่มีการเคลือบสี S.F.H.C…
- ที่แชสซี ตามข้อมูล “ตีความ” ได้ว่า “มีจุดยึดสำหรับใส่ออยล์คูลเลอร์เกียร์และเฟืองท้าย” เผื่อมาให้ด้วย หากต้องการใส่เป็น Optional…
- ราคา V-SPEC N1 จะแพงกว่า GT-R ถึง 1,200,000 เยน และแพงกว่า V-SPEC ถึง 700,000 เยน !!!
- รหัสตัวถัง (Vin Code) ของ N1 คันสุดท้าย คือ BCNR33-043012 ซึ่งเป็นรถ Series III ออกจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1998 ซึ่งเป็นปีท้ายแล้ว…
- สำหรับ Option Code ถ้าเป็น N1 จะดูในหลักที่ 16 เริ่มจาก Series I จะเป็นตัว C ถ้าเป็น Series II จะเป็นตัว N ถ้าเป็น Series III จะเป็นตัว R ครับ…
NISMO GT-R LM Edition Road Going Version “(Maybe) One in the World”
โคตรอภิมหา Rare Item เพราะเป็นรถที่ผลิตขึ้นมาสำหรับให้ผ่าน Homologate ในการแข่งขัน Le Mans 24 Hours (LM) ในคลาส GT1 ซึ่ง NISMO ได้ผลิตขึ้นมา ซึ่ง “น่าจะ” เป็นเพียงคันเดียวในโลก เพราะขนาดเว็บ GT-R Registry ก็มีข้อมูลตัวเลข Vin เพียงหนึ่งเดียว คือ N400R-05014 ซึ่งมีแรงม้าอยู่ที่ 300 PS ตัวรถขยายโป่งออกไปข้างละ 50 มม. รถคันนี้ถูกเก็บไว้ที่ NISSAN Heritage Collection ในเมือง Zama ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงตัวแข่งที่พูดถึงด้านล่างนี้ด้วย…
- เบอร์ 22 นี่ตัวบุกเบิกปีแรก ทำผลงานได้ดีกว่าคันอื่น
- นี่เป็นตัวปีหลัง เปลี่ยนลายใหม่ เราจะคุ้นกันมากกว่า อีกคันก็ทีม KURE สีดำสนิท หรือ UNISIA สีขาว/ส้ม จริงๆ มีหลายคันครับ แต่ยกตัวอย่างพอประมาณ
NISMO GT-R LM Race Car
สำหรับตัวแข่ง Le Mans ของจริง จะมีทั้งหมด 5 คัน…
- คันแรก ปี 1995 เบอร์ 22 เป็นสี “ขาว/น้ำเงิน” น้ำหนักรถ 1,370 กก. ใช้เกียร์ NISSAN 6 สปีด ขับโดย Shunji Kasuya, Mashiko Kondo และ Hideo Fukuyama สตาร์ตอันดับ 28 Over All จบได้อันดับ 10 Over All และอันดับ 5 รุ่น GT1…
- คันที่สอง ปี 1995 เบอร์ 23 เป็นสี “ขาว/ชมพู” น้ำหนักรถ 1,285 กก. ทดลองใช้เกียร์ Sequential 6 สปีด (ไม่บอกยี่ห้อ แต่น่าจะเป็นพวก Hewland หรือ Getrag นะ ถ้าผิดขออภัย) ขับโดย Kazuyoshi Hoshino, Toshio Suzuki & Masahiko Kageyama ทำเวลาต่อรอบได้ดี แต่ “แป้ก” ไม่จบการแข่งขัน เพราะ “เกียร์เดี้ยง” เลย DNF ไปอย่างน่าเสียดาย…
- คันที่สาม ปี 1996 เบอร์ 22 ซึ่งเครื่องถูกขยายความจุเป็น 2.8 ลิตร บูสต์ 1.4 บาร์ ได้แรงม้าถึง 600 PS !!! ขับโดย Aguri Suzuki, Masahiko Kageyama & Masahiko Kondo ออกสตาร์ต อันดับ 35 Over All และอันดับ 21 ของ GT1 นี่ก็ไปไม่ถึงฝั่งอีก DNF ซะก่อน ด้วยปัญหา “เบรก” ทำให้เกิดอุบัติเหตุต้องออกจากการแข่งขันไป…
- คันที่สี่ ปี 1996 เบอร์ 23 สเป็กเหมือนเบอร์ 22 ขับโดย Masahiro Hasemi, Kazuyoshi Hoshino & Toshio Suzuki ซึ่งนักขับคนแรก ถ้าเป็นรุ่นเก๋าๆ จะรู้จักกัน เพราะเป็นคนขับ SKYLINE มาอย่างยาวนาน ที่เด่นๆ ก็ตั้งแต่ SKYLINE DR30 TOMICA Silhouette Group 5 ในตำนาน และเป็นเจ้าของสำนักแต่ง Hasemi หรือ “ฮาเซมิ” ซึ่งเขาเคยมาเมืองไทยด้วยนะ มาสอนวิธีการขับ และการดูแลรักษารถแข่ง NISSAN PRIMERA ตัวแข่ง Class 1 ในทีม Aim Motorsport สีฟ้าๆ นั่นแหละ คันนี้จบดีหน่อย อันดับ 15 Over All และ อันดับ 10 GT1.
.. - คันที่ห้า เบอร์ 24 อันนี้ไม่มีตำแหน่งและข้อมูลอะไร เนื่องจากลงชื่อมาแข่ง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มา อาจจะเกิดความไม่พร้อมอะไรบางอย่าง เลยเป็นรถที่ถูกเก็บไว้เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะมีโชว์ในงาน NISMO Festival เท่านั้น…
- NISSAN R390 GT1 Road Car
End of R33 GT1 Le Mans
หลังจากนั้น NISSAN ก็หยุดใช้ R33 แข่งในรุ่น GT1 ไป เพราะค่ายยุโรปก็ต่างสร้างรถ GT1 แบบเฉพาะทางขึ้นมา การที่จะเอา R33 มาทำเพื่อไปสู้กับเขาได้นั้น น่าจะเป็นการลงทุนที่มหาศาล ด้วยความที่ตัวรถเป็น GT อะไรต่างๆ ก็ออกจะเสียเปรียบเขา ทำไปปลายทางอาจจะไม่คุ้มค่า คิดว่า “ผลิตรถใหม่” น่าจะดีกว่า ซึ่ง NISSAN ก็ได้ผลิต R390 GT1 ออกมาในปี 1997-1998 ซึ่งเป็นรถแข่งเฉพาะทางออกมา ได้สรีระตามต้องการ เครื่อง VRH35L ทวินเทอร์โบ 550 PS แบบ “ไม่ต้องเค้นกันมาก” และยังมี R390 GT1 Road Car เพื่อให้ผ่าน Homologate ออกมาอีกด้วย ซึ่งเป็นรถระดับ Exotic car ที่ราคาแพงมาก เพราะมันมีจำนวนน้อยจริงๆ…
Victory of Production Car
แม้จะดูว่า R33 อุ้ยอ้าย แต่เอาเข้าจริง สมรรถนะมันเหนือกว่า R32 เยอะนะ ยิ่งสร้างชื่อในตอนที่ถูกส่งไป “ทดสอบ” ในสนาม Nurburgring ประเทศเยอรมนี ขับโดย “Dirk Schoyman” นักแข่งแถวหน้าของเยอรมัน ที่มีประสบการณ์ขับในสนามแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า “14,000 รอบ” เรียกว่า “รู้ยันหญ้า” และเป็นนักทดสอบ เซตช่วงล่างให้กับ SKYLINE GT-R ตั้งแต่ R32-R34 ขับ R33 GT-R แรดในสนามได้ในเวลา “ต่ำกว่า 8 นาที” จำได้ว่าน่าจะแถวๆ “7 นาที 55-56 วินาที” หากจำไม่ผิด (เคยเห็นในคลิปเก่าๆ นี่แหละ) ซึ่งเป็น Production Car จากญี่ปุ่นคันแรกที่ทำลายสถิติเลข 8 วินาที นี้ลงได้ ตอนนั้น R32 GT-R ก็อยู่แถวๆ 8 นาที 20 กว่าวินาที นับว่าเป็นการเปิดตัวอย่างสวยงามของ R33 GT-R แต่เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่จะต้องสงสัยกับเวลานี้บ้าง ???
สำหรับ “ดราม่า” เรื่องของ “สถิติเวลา” ของ R33 GT-R ในสนาม Nurburgring ก็มีข่าวเป็นกระแสอยู่พักหนึ่งในเว็บไซต์ใหญ่ของ R33 เว็บหนึ่ง ตีประเด็นสงสัยว่า “เป็นรถเดิมจากโรงงานจริงหรือ” ซึ่งมันไม่น่าจะทำเวลาได้เร็วขนาดนั้น เพราะก่อนหน้านั้นเร็วสุดก็ NSX Type R ก็ประมาณ 8 นาที 10 กว่าๆ วินาที ซึ่ง R33 ที่ทั้งใหญ่และหนักกว่าชาวบ้านเขาหลายร้อย กก. มันไม่น่าจะเร็วกว่านั้น ข่าวมันมาว่า ตอนที่เอารถคันนี้ไปจอดโชว์งานอะไรสักที่ แล้วมีใครสักคน (งานอะไรกับใคร ไม่รู้จริงๆ ว่ะ อย่าถามเลย) ไปเปิดดูแล้วสังเกตเห็น “สวิตช์ปริศนา” ที่คอนโซลกลาง เลยเป็นประเด็นว่า “แอบโมฯ เครื่องเพิ่มมาหรือเปล่า” สวิตช์อันนี้ อาจจะเอาไว้กด Over Boost เพื่อเพิ่มอัตราเร่งหรือไม่ ก็คงเป็นปริศนากันต่อไป เราเพียงนำมา “เล่าสู่กันฟัง” สนุกๆ เท่านั้น…
Series II – 1996
มันอาจจะมี “ยุคคาบเกี่ยว” จาก Series 1 มาในช่วงต้นๆ ปีนี้บ้างนะ แต่ถ้าเอาให้เข้าใจง่าย ก็ “ปัดเศษ” เลยก็แล้วกัน เดี๋ยวคนเขียนคนอ่านจะ “งง” ทั้งคู่ สำหรับสิ่งที่ “เปลี่ยนแปลง” หรือ “ปรับปรุง” เพิ่ม ก็มีดังนี้…
- เพิ่ม Airbag ด้านคนนั่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เปลี่ยน “พวงมาลัย” เป็นแบบ 4 ก้าน ทรงสปอร์ตใหม่ ซึ่งจะเหมือนกับพวก S14 หรือรุ่นอื่นๆ แต่ของ GT-R จะ “เย็บด้ายแดง” ไม่เหมือนใคร…
- แผงหน้าปัด เปลี่ยนวัสดุใหม่ให้ดู “หรูหรา” ขึ้น ซึ่งโดนต่อว่ามากในรุ่นก่อนที่ Look Cheap เหมือนรถราคาถูก ตัว “ปุ่มตั้งนาฬิกา” จะเป็นแบบ “ร่องเว้า” ลงไป เหมือนกับกันนิ้วไปโดนเวลา “เช็ดทำความสะอาด” ส่วน “ช่องเก็บเหรียญ” ก็หายไปเป็นแบบเรียบๆ…
- ช่องเก็บของที่คอนโซลกลางจะ “ตื้น” กว่า น่าจะเป็นจากการที่ติดตั้ง Airbag Sensor อยู่ด้านใต้…
- ย้ายสวิตช์ “เสาอากาศหลัง” ไปอยู่ที่หน้าปัด (ด้านหลังก้านสวิตช์ปัดน้ำฝน) จากของเดิมที่อยู่ด้านล่าง เหนือหัวเข่าซ้าย (พยายามเข้าใจหน่อยละกันนะ)
- สำหรับ “สี” ก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยการเอาสี KR4 Sonic Silver มาแทน KL0 Sparkling Silver ส่วนสีพิเศษ AN0 Super Clear Red ก็ยกเลิกไป เปลี่ยนเป็นสี AR1 Super Clear Red II…
“LM Limited” Special Limited Edition
จากการที่ R33 เป็นรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการแข่งขัน Le Mans ใน GT1 Class (ซึ่งปัจจุบันนี้ GT1 นั้นเลิกแข่งไปแล้ว เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก) ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1996 GT-R Series II ก็ได้ออก GT-R LM Limited เหมือนเป็นการ “ฉลอง” ซึ่งจะมีทั้ง GT-R LM Limited จำนวน 86 คัน กับ GT-R V-SPEC LM Limited จำนวน 102 คัน สำหรับสิ่งพิเศษในรุ่นนี้ก็มีมากมาย ดังนี้…
- ตัวรถจะเป็นสีฟ้า “BT2 Champion Blue” ซึ่งมีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น…
- กันชนหน้า จะมี “ช่องดักลม” เหมือนกับ V-SPEC N1 (N1 Front Duct) และมี “ลิ้นดักลม” (Bonnet Lip) ที่ฝากระโปรงหน้า…
- สติกเกอร์ที่เสา C จะเป็นรูป “ธงหมากรุก” พร้อมคำว่า GT-R SKYLINE…
- สำหรับ Vin Code หากเป็น GT-R LM Limited จะมีรหัส Q ในหลักที่ 6 (ซึ่งก็หมายถึงพื้นฐาน GT-R) และ R ในหลักที่ 16 ซึ่งในตาราง Option Code ก็เช็กได้เลยว่าเป็น LM Limited ส่วน V-SPEC จะเป็นรหัส W ในหลักที่ 6 (ซึ่งก็หมายถึงพื้นฐานตัว V-SPEC) ส่วนรหัส R ก็อยู่ในหลักที่ 16 เหมือนกัน…
- ปีที่ผลิต จะอยู่ในเดือน 5 ปี 1996 ไปจนถึงเดือน 8 ในปีเดียวกัน…
- Series III จะมีจมูกหน้าเหมือนกับ N1 เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้วนะครับ ลิ้นหน้าจะ “อัพไซส์” ทำให้หน้ารถดูเตี้ยลง ไว้อดใจรอดู “รถจริงสภาพกริ๊บ ดีเทลครบ” ในฉบับหน้าครับ งวดนี้หน้าไม่พอจริงๆ (อ้อย คลองแปด จะฆ่า)
Series III – 1997-1998
ยุคสุดท้ายของ R33 แล้วครับ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น R34 ในปีนี้ NISSAN เทของดีๆใส่หลายอย่าง เนื่องจากว่า “ต้องการโกอินเตอร์” ส่งรถไปขายในประเทศต่างๆ รวมถึง “อเมริกา” ด้วย ซึ่ง R33 ก็เน้นหนักในด้าน Safety ให้สูงสุด แต่ก็มีกระแสว่าทางอเมริกาได้ “กด” ด้วยกฎหมายมลพิษ (Emission Control) ที่เข้มงวดมาก ทำให้ GT-R ไม่สามารถผ่านไปขายในอเมริกาได้ เนื่องจากเครื่อง RB26DETT เป็นนิสัย “ใช้กำลังในรอบค่อนข้างสูง” ถ้าไปตอนให้น้ำมันบาง ก็คงจะไม่เหมาะนัก อีกอย่าง ในอเมริกาจะใช้น้ำมันออกเทน 91 เป็นหลัก (ซึ่ง GT-R จะให้ดีก็ต้องออกเทน 98 ขึ้นไปจนถึง 100 ในญี่ปุ่นและยุโรปบางประเทศ) ทำให้ “แรงม้าตกแน่ๆ” ยุ่งยากมากนัก ไม่ทำแม่งเลยดีกว่า ก่อนอื่นเรามาดู “สเป็กญี่ปุ่น” กันก่อนดีกว่า ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง…
- ไฟหน้าเปลี่ยนเป็น XENON พร้อมเลนส์แบบ Projector ที่ให้ความสว่างและมุมมองที่กว้างขึ้น บ้านเราจะเรียกว่า ไฟลูกแก้ว…
- กันชนหน้า จะมีรูจมูกเหมือน N1 และสังเกตดีๆ ที่ไฟเลี้ยวใต้กันชนฝั่งซ้าย ด้านข้างจะมี “ช่องดักลม” สำหรับไปเป่า “ออยล์คูลเลอร์” ที่เป็น Optional และข้างกันชนด้านซ้าย “บางคัน” ก็ใส่ “ช่องลมเสริม” เป็นการระบายลมที่เป่าออยล์ฯ ออกด้านข้าง ไม่ไปปนกับลมที่หมุนวนในซุ้มล้อ สไตล์รถแข่ง GT…
- ลิ้นหน้า (Front lip) จะใหญ่กว่าเดิม 20 มม. ทำให้ด้านหน้าเตี้ยลง ช่องดักลมเป่าเบรกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแน่นอน…
- ไฟถอยหลังจะเป็น “สีแดง” ในฝั่งขวา ฝั่งซ้ายเป็นสีขาวเหมือนเดิม…
- ไฟเบรก เวลาเบรกจะติดเพียง 2 วงนอก เท่านั้น (ตอนแรกก็นึกว่าหลอดขาด) แต่ไฟท้าย จะติด 4 วง…
- กระจกประตู เปลี่ยนเป็นวัสดุ Hydrophobic ที่ทนทานกว่าเดิม และกระจกรอบคัน สามารถสั่งพิเศษเป็น UV CUT Coating ได้…
- เพิ่มคานยึดขวางที่บริเวณพื้นตรงหลุมเก็บยางอะไหล่ทั้งสองฝั่ง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้ช่วงล่างหลังนั้น “นิ่ง” มากขึ้น ซึ่งรุ่นก่อนหน้ามี Comment ว่าถ้าเข้าโค้งแรงๆ ตัวถังส่วนด้านหลังยังแข็งไม่พอ ขออีกหน่อย…
- ภายใน จะเปลี่ยนจาก “สีม่วง” เป็น “สีแดง” ดูสปอร์ตมากขึ้น…
- สีรถยังคงเหมือน Series II แต่จะไม่มีสีรุ่น LM Limited ซึ่งจบไปใน Series II แล้ว…
- ตัว Actuator ของ ABS จะเปลี่ยนให้เล็กลง ไม่มีกล่องพลาสติกสีดำเกาะอยู่แล้ว…
- ตัว V-SPEC N1 ผลิตทั้งหมด 10 คัน…
- AUTECH Version ในแบบ Super Sedan ที่ดูไปดูมา มันน่าครอบครองมาก
- บอดี้ด้านท้ายเติม “โป่ง” เข้าอีกหน่อย ให้เป็น Wide Body สมศักดิ์ศรี เป็นรถที่น่าใช้และน่าขับมาก
GT-R AUTECH VERSION 40th Anniversary
มาดูเวอร์ชันพิเศษกัน กับ “GT-R 4 ประตู” ที่หลายคนหลงใหลในความแปลก ที่บริษัท AUTECH ได้ผลิตขึ้นมา เป็นการเอาเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อน อุปกรณ์ต่างๆ ของ BCNR33 มาใส่กับตัว 4 ประตู ซึ่งทำออกมาได้แหวกแนว และเป็นรถที่ขายจริง เป็น AUTECH VERSION ฉลองครบรอบ 40 ปี ภายนอก เป็นหน้า GT-R โป่งหลังขยายใหม่ ภายในจะเป็นเบาะสีแซมม่วงน้ำเงิน อุปกรณ์ภายในต่างๆ เป็น GT-R ซึ่งมีจำหน่ายทั้งหมด “416 คัน” มี 4 สี คือ KN6 Dark Grey Pearl น่าแปลก เพราะมี “คันเดียว” เป็นคันที่ 241/416 ต่อมาเป็น KR4 Sonic Silver 253 คัน, LP2 Midnight Purple 43 คัน, QM1 White 119 คัน…
- GT-R V-SPEC “Great Britain” or “UKDM” ที่หน้าตาดุดันมาแต่กำเนิด ใส่ของมาให้เพียบ สังเกตที่ไฟเลี้ยวกับไฟหรี่ในกันชนจะไม่เหมือน JDM
- กันชนหลังก็มี Item เพิ่มขึ้นมา ดูเท่ขึ้นเยอะเลย
GT-R V-SPEC “UK Spec”
นับว่าเป็นครั้งแรกของ GT-R ที่มีผลิตสำหรับ “สเป็กส่งออก” โดยเฉพาะ ซึ่งเป็น UK Spec หรือ Great Britain หรือ UKDM พูดง่ายๆ ก็ “สเป็กอังกฤษ” นั่นแหละ รายละเอียดบอกตรงๆ บางอย่างจะพิเศษกว่า JDM อย่างเห็นได้ชัด เพราะ “ฝรั่งสเป็กสูง” มีข้อบังคับในด้าน Safety เยอะกว่า โดยมีข้อแตกต่าง ดังนี้…
- มีจำนวนการผลิตจำหน่าย 100 คัน แต่มี +3 ก็คือ ตัว Prototype จำนวน 3 คัน รวมทั้งหมด 103 คัน…
- รหัส Vin Code ก็ไม่เหมือน JDM คือมันจะไม่ใช่ BCNR33 อีกต่อไป แต่จะเป็น JN1GAPR33U0000051 นี่คือ UK Spec ผลิตเดือน 8 ปี 1997 เป็นตัวที่ส่งออกจริงๆ แล้ว ส่วนตัวต้นแบบ 3 คัน ก็ยังเป็น BCNR33 นำมาใส่อุปกรณ์ทดสอบวิ่งก่อน ส่วนคันสุดท้ายก็ลงด้วยเลข 150 เท่ากับผลิตด้วยจำนวน 100 + 3 คัน…
- เรือนไมล์จะเป็น 180 mph และจะมีตัวเลข 280 km/h ที่วงใน แต่ความเร็วปลายจะถูกจำกัดไว้ถึง 155 mph หรือ 248 km/h ตามกฎหมายในยุโรป ซึ่งเอาจริงก็เหลือพอแล้ว…
- เครื่อง RB26DETT แจ้งแรงม้าไว้ 276 hp หรือ 280 PS แต่พอมีคนนำมาทดสอบ ได้แรงม้า Over Claim ไปถึง 300 hp ++
- มีออยล์คูลเลอร์ เครื่องยนต์ เกียร์ และเฟืองท้าย เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน อิจฉาเลยได้ของดีๆ…
- กันชนหน้าจะครบเครื่องแบบ Series III แต่จะมีช่องลมด้านข้างกันชนฝั่งซ้ายเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สิ่งที่แตกต่างชัดเจน คือ “ไฟเลี้ยวในกันชน” UK Spec จะเป็น “ทรงเหลี่ยม” มีไฟหรี่อยู่ข้างกัน…
- กันชนหลัง จะมี “ไฟตัดหมอก” ตามกฎหมายของ UKDM ไว้ที่ฝั่งขวา และมี “ทับทิม” ติดไว้สองฝั่ง…
- มี Option เป็น “เบาะหนัง Connolly” จะต้องเพิ่มเงินอีก 2,000 ปอนด์…
Last in The World of R33 GT-R
สำหรับ “แสงสุดท้าย” ของ R33 GT-R ก็จะอยู่ในช่วงเดือน 11 ปี 1998 ซึ่งตอนนั้น R34 GT-R ได้ออกมาแล้ว ก็จะแบ่งตัว “สุดท้ายในโลก” เรียงลำดับได้ดังนี้…
- GT-R V-SPEC N1 Series III รหัส BCNR33-043012 สี QV1 Black…
- GT-R Series III รหัส BCNR33-043740 สี QM1 White…
- GT-R V-SPEC Series III รหัส BCNR33-043743 สี QM1 White ซึ่งคันนี้แหละ “สุดท้ายในโลกจริงๆ” ของตระกูล R33 ปิดสายการผลิตอย่างถาวร…
Next Episode
ยัง ยังไม่จบแน่ๆ สำหรับเรื่องราวของ R33 GT-R ที่เล่มนี้เป็นเพียง “ปฐมบท” เท่านั้น เล่มต่อไปจะมี “Tips” ต่างๆ ที่น่าสนใจ และไฮไลต์ “โชว์ของแต่ง” และ “โชว์รถ” ที่บรรจุด้วย Rare Item NISMO กันทั้งคัน พาเหรดกันมากว่า “ครึ่งโหล” จุใจแน่ๆ อย่าพลาดเชียวนะ…
Special Thanks
คุณอ๊อด, คุณโอ๋ สำหรับข้อมูลในฉบับนี้
Facebook/SKYLINE R33 CLUB THAILAND
ข้อมูลอ้างอิง
www.gtr-registry.com, www.r33gt-r.com