เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ
2nd Hand Engine Buyer Guide
ขั้นตอนการเลือก “เครื่องยนต์มือสอง” แม้ไม่เซียน แต่ไม่หมู O_o !!!
สวัสดีครับ กลับมาเจอกันในคอลัมน์ Knowledge อีกครั้ง หลังจากที่หายกันไป “ตามวาระกิจ” ซึ่งตอนนี้ก็จะพยายามดันกลับมาให้มีทุกฉบับ (หากมีข้อมูลพร้อม) โดยจะกล่าวถึงเรื่องราวเทคนิคที่คิดว่าผู้อ่านทุกคนก็น่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก ฉบับนี้ก็เป็น “เรื่องใกล้ตัว” ของใครหลายคน ที่นิยมการ “วางเครื่องใหม่” ทั้งอยากวางเครื่องแรงขึ้น หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ เพราะเครื่องเก่าลาโลก ฯลฯ อะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้อง “รู้ไว้” ก็คือ “จะเลือกซื้อเครื่องยนต์มือสองอย่างไร” ถึงจะไม่โดน “เชือด” บอกก่อนว่า วิธีนี้เราพยายามทำขั้นตอนให้ละเอียดที่สุด เท่าที่จะทำได้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่เพียงพอ อย่างน้อย “ไม่ถึงเซียน” แต่ก็ “ไม่ใช่หมู” ที่ใครจะมาหลอกกันแบบ “หน้ามึน” หรือ “กลืนลื่น” อย่างน้อยมีอะไร “ติดคอ” มันมั่ง ก็ยังดีแหละน่า…
ข้อตกลงเบื้องต้น ในการซื้อเครื่องมือสอง
มันมีสองกรณีครับ อย่างแรก เอารถไปวางเครื่องที่อู่ (อู่ไหนก็ตามใจชอบคุณ) โดยปกติแล้ว ทางอู่ก็จะต้องรับผิดชอบในการหาเครื่อง ถ้าอู่ที่ได้มาตรฐาน ก็จะคัดสภาพเครื่องยนต์ที่ “สวย” มาให้ลูกค้า (แต่อาจจะแบ่งเกรด เช่น A+, A อะไรอย่างนี้) แล้วแต่กำลังเงินลูกค้า ราคาไม่เท่ากัน อู่จะมีร้านเครื่องประจำที่เชื่อถือกันได้อยู่ เพราะไม่อยากมีปัญหาตามมาให้เสียชื่อ แต่ราคาก็จะต้องสูงหน่อย แต่ถ้า “ซวย” ไปเจออู่ที่ “ฟัน ฟัน ฟัน” เอาเครื่องสภาพแย่มาหลอกขาย ผมจะเรียกว่า “เครื่องยำยำ” เอากองเศษ ๆ อะไหล่ มาผสมกันให้เป็นเครื่อง 1 ตัว ของก็ไม่ครบ สภาพก็ไม่ได้ อันนั้น “ซวยสุด” เพราะใช้ไปก็มีปัญหาไม่จบไม่สิ้น เสือกแพงมหาโหดซะอีก บางคนท้อใจพาลเข็ดตลอดชีวิตก็มี อันนี้ไม่พูดเฉพาะเครื่องแรงนะครับ เครื่องรถบ้านทั่วไปก็มีสิทธิ “โดน” ได้ ก็ต้องใช้วิธีการ “เล็ง” ที่ “เหมาะเหม็ง” เพื่อให้เราเสียเปรียบน้อยที่สุดครับ…
สำหรับข้อตกลงกับทางอู่ ไอ้เรื่องการรับประกันเครื่อง ผมว่ามันไม่มีข้อตกลงตายตัวว่ะ อยู่ที่จะตกลงกับลูกค้าเป็นเคส ๆไปมากกว่า ส่วนใหญ่ก็จะยึดหลัก “หน้าเจ็ด หลังเจ็ด” ก็คงไม่ใช่แน่ ก็จะรู้กันว่า ใช้ระยะประมาณ “หนึ่งสัปดาห์” หลังจากวางเครื่อง ในการใช้งาน ถ้าไม่มีปัญหาถือว่าจบ แต่ถ้ามีปัญหา ก็ว่ากันเป็นเคสไป หากตรวจสอบแล้ว ปัญหานั้นเกิดจากตัวเครื่องจริง ๆ เช่น แหวนหลวม แกนเทอร์โบหลวม ควันออก เครื่องเดินไม่ดี เกียร์ออโต้กระตุก เปลี่ยนไม่ตรงจังหวะ ฯลฯ ทางอู่ก็ควรจะต้องรับผิดชอบ แต่ถ้า “อัดพัง” อันนี้คงคุยกันยาก โดยเฉพาะเครื่องแรง คนขับก็แรง ยิ่งถ้าเป็นพวก “จูนกล่อง ปล่อยรอบ” มันก็เสี่ยงอยู่ งานนี้เจ้าของรถอาจจะต้องซื้อเครื่องตัวใหม่แทน ตรงนี้ผมย้ำอีกครั้งว่า “ไม่มีข้อตกลงตายตัว” เพราะเครื่องมือสอง มันก็คือมือสอง โอกาสเสี่ยงมีสูง แต่อย่างน้อยถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เจ้าของรถก็ต้องยอมรับในระดับหนึ่ง รวมถึงทางอู่ก็ควรจะรับผิดชอบในส่วนที่เกิดข้อผิดพลาดที่เป็นจากงานของตัวเองครับ…
เคสที่สอง คือ “เจ้าของรถเลือกซื้อเครื่องไปเอง” แล้วหิ้วไปให้ทางอู่วาง เคสนี้ก็ต้องไว้ใจกัน ทั้งอู่ ทั้งเจ้าของรถ แต่ก็ระวังนะครับ ผมเตือนไว้ก่อนว่า ถ้าไปซื้อเครื่องมาเอง แล้วเครื่องตัวนี้ดันมีปัญหามาก่อนหน้า (เน่าใน) วางไปแล้วมีปัญหา ทางอู่ก็มีสิทธิ “ปฏิเสธความรับผิดชอบ” ในส่วนของเครื่องยนต์นะครับ เพราะจะอ้างว่า เครื่องนี้เจ้าของรถไปซื้อมาเอง ทางอู่ไม่รับรู้ด้วย งานนี้คุณก็ต้องวิ่งโร่ไปร้านขายเครื่อง เอาเครื่องกลับไปเช็ค ไปเคลม น่าจะวุ่นวายนะผมว่า เว้นแต่คุณมั่นใจว่าร้านนี้เครื่องเจ๋งจริง ๆ ไว้เนื้อเชื่อใจกันมานานก็อีกเรื่อง แต่ถ้าไม่แน่ใจ ควรจะให้ทางอู่เหมาไปเลย ทั้งหาเครื่อง วางเครื่อง มีปัญหาก็ให้ทางอู่ไปเคลมกันเอง ไม่งั้นเหนื่อยเราครับ เอ้า มาถึงขั้นตอน “วิธีดูเครื่อง” กันดีกว่า ว่าเราจะควรดูจุดไหนบ้าง…
ดูภายนอก เรี่ยมเร้เรไร
อันดับแรก First Impression ความประทับใจแรกแย้ม ก็ต้องดู “ภาพรวม” เป็นหลักก่อน นายแบบของเรา เป็น RB26DETT จาก SKYLINE GT-R (BCNR33) จริง ๆ แล้ว เครื่องไหนก็ใช้วิธีการดูเหมือนกันหมดนั่นแล…
- สำรวจภายนอกก่อนครับ ตัวเครื่อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ครบถ้วน ไม่มีร่องรอยการชน หรือกระแทกอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่แล้ว เครื่องมักจะถอดออกมาจากรถที่มีอุบัติเหตุ นิด ๆ หน่อย ๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีร่องรอยการกระแทกรุนแรงมากไป อาจจะส่งผลให้ชิ้นส่วนหลักของตัวเครื่อง “ร้าวใน” จะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ให้ดูที่ “เนื้อโลหะสีเงิน” ที่ตัวเครื่อง จะต้องสะอาด จริง ๆ มันล้างกันได้ แต่ถ้าเครื่องมันเก่ามาก ๆ ยังไงก็มีคราบสกปรกฝังแน่น อีกอย่างคือ ต้องไม่มีน้ำมันรั่วเยิ้มรอบ ๆ ด้าน แม้จะล้างออกแล้ว ยังไงก็ต้องมีคราบ “เหลืองคล้ำ” เกาะกับผิวโลหะให้เห็น เครื่องตัวนี้ อุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยกระแทก ชน หรือ คราบน้ำมันเกรอะกรังให้เห็น…
- ท่อยางต่าง ๆ ควรจะมีสภาพดี นิ่ม ไม่แข็งหรือแตก จริง ๆ เครื่องมีอายุมากแล้ว มันก็ต้องเสื่อมตามเวลา แต่ตรงนี้มันก็พอจะฟ้องได้อยู่ว่าเครื่องสภาพดี ของพวกนี้มันก็ควรจะดีด้วย อย่างท่อยางโค้งตรงปากเทอร์โบของ RB26DETT จะลงล็อกพอดี ส่วนใหญ่ถ้าเจอเปลี่ยนมา มักจะเป็นท่อยางอะไรก็ไม่รู้มายัดเข้าไป โค้งจะย่น ๆ ไม่สวย
- ลองเปิดฝาเติมน้ำมันเครื่องมาดูหน่อย อันนี้ทุกคนต้องเปิดดูอยู่แล้วตามฟอร์ม ต้องไม่มีคราบน้ำมันเก่าสีคล้ำ เน่า เกาะอยู่ มองลงไป จะเห็น “แคม” ด้านในต้องสะอาด ไม่ควรมีคราบยางเหนียว ๆ (Gum) ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของน้ำมันเครื่องเก่า
- รอบ ๆ ด้านที่เป็นโลหะต่าง ๆ จะต้องใสสะอาด “ในทุกซอกมุม” เอาว่า “เนียน” ถ้าเครื่องที่ล้างมาโดย “น้ำยาย้อมแมว” ยังไงก็สะอาดไม่เสมอกันหรอกครับ เพราะซอกมุมใน ๆ เขาคงไม่ลงทุนล้าง (เพราะล้างไม่ถึง และ เสียเวลา) พวกอุปกรณ์ที่เป็น “เหล็กชุบซิงค์” ทั้งหลาย จะต้องมี “สีรุ้ง” การันตีความใหม่ อย่างน้อยถ้าไม่รุ้ง ก็ให้มันดูใส ๆ หน่อยก็ยังดี ปลั๊กหัวฉีด ปลั๊กเซ็นเซอร์ ไม่ควรแตก ตัวหัวฉีดก็ไม่ควรมีคราบน้ำมันรั่ว เป็นไปได้ เอามือเปิดลิ้นเร่งดูภายในท่อร่วมไอดี จะต้องแห้ง ไม่มีคราบน้ำมันเยิ้มครับ
- หันมาดู “หลังเครื่อง” กันบ้าง ถ้าถอดเกียร์และชุดคลัตช์ออกมาแล้ว ดูสภาพหลังเครื่องโดยรวม ก็ต้องสวยสดงดงามเหมือนกัน สังเกตพวก “ท่อน้ำหลังเครื่อง” ต่าง ๆ ต้องไม่ผุกร่อน เกิดสนิม ต้องไม่บุบจากการกระแทก ท่อยางก็ควรอยู่ในสภาพดี จริง ๆ เครื่องเก่า มันก็ต้องไปตามเวลา ซึ่งถ้าเจ้าของเก่าดูแลดีจริง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามอายุใช้งานอยู่แล้ว สังเกต “ตาน้ำ” ต้องไม่มีคราบสนิม ไม่มีรอยตอกออก ไม่มีรอยน้ำรั่ว ดูที่ซีลต่าง ๆ ต้องไม่มีคราบน้ำมันเก่าเกรอะกรังจนเกินงาม
แคบมาอีกนิด ชิดมาอีกหน่อย ล้วงรูดูกันไป
หลังจากดูภายนอกกันแล้ว เราก็มาเจาะดู รูนั่นนี่ เพื่อล้วงลึกถึงสภาพของเครื่องยนต์แบบ “ชัดเจน” เท่าที่เราจะพอสังเกตด้วยตัวเองได้ ซึ่งก็มีอยู่หลายจุด ดังนี้…
- ดูสภาพของ “เทอร์โบ” จะต้องไม่มีน้ำมันเยิ้ม สำคัญมาก “นอตเทอร์โบต้องไม่มีรอยการถอด” ไอ้สนิมก็เรื่องปกติ ตามสภาวะอากาศ แต่ก็ไม่ใช่สนิมแบบเกรอะกรัง เหมือนเครื่องถูกทิ้ง เทอร์โบอาจจะเปลี่ยนได้ ถ้าเจอเครื่องที่โมดิฟายมาแล้ว พวกท่อน้ำเลี้ยงเทอร์โบ ต้องไม่มีการกระแทก บุบ หรือ เกิดสนิมมาก
- เอานิ้วล้วงดูท่อไอเสีย ปาดเขม่ามาดู ผงเขม่าต้องแห้ง ละเอียดเหมือนผงแป้ง สีเทาอมดำ ไม่ดำสนิท ไม่แฉะ เยิ้ม ถ้าเจอเขม่าเหนียว ๆ จับตัวเป็นก้อน นั่นหมายถึงเครื่องมีสภาพโทรม หลวม จนน้ำมันเครื่องออกทางท่อไอเสีย หรือแกนเทอร์โบหลวม ก็หมายถึงว่าใช้งานมาหนัก
- ท่อเดินอากาศต่าง ๆ จะต้องแห้ง สภาพสวย ไม่มีคราบน้ำมัน ท่อยางควรเป็นของที่ติดเครื่องมา และควรมีสภาพดี
- สำคัญอีกอย่าง “ท่อน้ำ” ถ้าเครื่องเก่า สภาพไม่ดี จะมีสนิมเต็มเป็นคราบไปหมด (มีนิด ๆ พออนุโลม ตามอายุเครื่อง) อันนี้ท่อยังใสสะอาด และให้สังเกต “หัวนอต” ต่าง ๆ ต้องไม่มีรอยการถอด ถ้ามีการถอดรื้อ หัวนอตจะมีรอยประแจขัน สังเกต “ปั๊มน้ำ” ก็ต้องไม่มีรอยรั่ว
- อันนี้ให้ดู “ซีลข้อเหวี่ยงหลัง” สภาพดี ไม่มีรอยเปื่อย แข็ง ดูหัวนอต ถ้าเดิม ๆ ต้องเนียน ไม่มีรอยขัน อันนี้พูดถึงการดูนอต “ทุกตัว” ถ้าเป็นนอตแท้จากโรงงาน จะดูมีคุณภาพ และมี “เบอร์” ตอกไว้ที่หัว (อันนี้ดูเอาเอง ของดีดูออกครับ ไม่ต้องกังวล) ไม่ใช่นอตโหล ๆ ทั่วไป นอตก็ต้องเป็นลักษณะเดียวกันทั้งชุด ไม่ใช่ในอุปกรณ์เดียวกัน มีนอตหลายแบบปนกันมั่วไปหมด และเป็นนอตคุณภาพต่ำ แสดงถึงการถอดมาแล้วแน่นอน
- แคร็งค์น้ำมันเครื่อง ต้องไม่มีรอยการถอด อย่าง NISSAN จะใช้ “น้ำยาซีลสีขาว” ถ้าเจอน้ำยาซีลสีส้มแดง แถมซีลมาเยิ้ม ๆ เลอะ ๆ ไม่เรียบร้อย นอตมีรอยถอดด้วย แสดงว่า “แคร็งค์ถูกเปิด” ก็ไม่น่าไว้ใจ ไม่รู้ว่าเปิดมาซ่อมอะไร ถ้าปกติคงไม่เปิดกัน ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เว้นแต่เครื่องที่โมดิฟายไส้ในมา ตัวแคร็งค์ต้องไม่มีรอยกระแทกอย่างรุนแรง เพราะอาจจะทำให้ร้าวใน ใช้ไปสักพัก อาจจะทำให้แตก รั่ว
- เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ต้องครบ ในรูปเป็น “ออกซิเจนเซ็นเซอร์” ที่อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยถอด สายไม่หัก ไม่งอ เพราะถ้าเซ็นเซอร์เสีย หรือไม่ครบ จะทำให้เครื่องทำงานผิดพลาดไป
- ชุดสายไฟต่าง ๆ “ห้ามมีรอยตัด” ถ้าสายไฟมีรอยตัดมา ถือว่าใช้ไม่ได้ (ใช้แค่ติดเครื่องล่ะได้ ที่เหลือเลิกคุย) มัดเดิมจากโรงงานจะเรียบร้อย แน่นหนา สายไฟจับดูแล้วต้องนิ่ม ไม่แข็ง ถ้าถูกแกะมาก็ควรเลี่ยง แม้จะพันกลับเหมือนเดิม ยังไงมันก็เป็นเทปพันสายไฟบ้านเรา เกรดค่อนข้างต่ำ เส้นขวา ปลั๊กต่าง ๆ ต้องมีสภาพดี สมบูรณ์ ไม่กรอบ ส่วนเส้นซ้าย ปลั๊กแตก สายไฟเริ่มกรอบ กระด้าง หมดอายุ
- ถ้ามีโอกาสถอดเกียร์ ซึ่งการขนส่งเครื่องบางทีก็จะถอดเกียร์ออก ไม่ให้ความยาวมากไปจนล้นออกนอกกระบะรถ ดู “ชุดคลัตช์” ที่ติดมากับเครื่อง ให้ดู “หวีคลัตช์” ตรงปลายหวี ที่มีรอยสีขาวที่โดนลูกปืนกดอยู่ ถ้ามันสึกขนาดกินเนื้อหวีเข้าไปลึก แสดงว่าใช้งานหนัก ใกล้หมดอายุ อันนี้จะมีรอยกดนิดหน่อยเรื่องปกติ แต่ตัวหวีไม่เป็นรอย ถือว่าใช้ได้ จริง ๆ มันเปลี่ยนกันได้ครับ ถ้าเครื่องสภาพเก่า แต่คลัตช์ใหม่ แสดงว่าเปลี่ยนมาแล้ว ยังไงดูสภาพเครื่องเป็นหลักก่อน และดูที่ “ฟันเฟืองฟลายวีล” และ “ฟันเฟืองมอเตอร์สตาร์ท” ถ้ามีร่องรอยสึกมาก แสดงว่า “สตาร์ทบ่อย” นั่นเอง
Warning
การเลือกเครื่องที่แนะนำไปนี้ เราสามารถพิจารณาได้ในแบบ “เกือบครบ” แต่ยัง “ไม่ครบ” เพราะไม่สามารถเปิดดูไส้ในได้เอง อาจจะเจอเครื่องดี สวย ใหม่ แต่ “ไส้พัง” มาแล้วก็ได้ แต่โอกาสก็คงมีไม่มากนัก ถ้าเป็นเครื่องเดิม ท้ายสุด ก็ต้องลองติดเครื่อง ใช้งานจริงดู และควรถามถึง “การรับประกันเครื่อง” มีกรณีใดบ้าง ระยะกี่วัน ถ้าไม่แน่ใจ ให้อู่ที่ท่านจะเข้าไปทำเป็นผู้รับผิดชอบดีกว่า แล้วอย่าลืม “เอกสารการซื้อขายเครื่อง” ที่ร้านจะต้องออกให้ เพื่อ “แจ้งเปลี่ยนเลขเครื่อง” และเป็นหลักฐานว่ามีการซื้อขายจริง ไม่ใช่ขโมยรถมาถอดเครื่องขาย บางทีก็ไม่ใช่ขโมย แต่ขี้เกียจแจ้ง เอกสารหาย เครื่องโทรม ยกลงขายต่อ อันนั้นจะเป็นแบบ “ไม่มีเอกสาร” หรือ “ไม่มีเลข” เจอกันบ่อยครับ…
ได้เครื่องมาแล้ว ก่อนวางลงไป ควรทำอะไรบ้าง
เอาล่ะครับ เมื่อเราได้เครื่องที่ชะตาต้องกันมาแล้ว จำไว้ว่า เครื่องมือสอง มันก็คือ “ของเก่า” ที่จะมีโอกาสเจอของเสื่อมเสียได้เสมอ ควรจะ “เช็ก” ก่อนที่จะหย่อน เพราะการทำด้านนอก มันง่ายกว่าทำในห้องเครื่องเยอะ อะไรดูแล้ว “เหลาเหย่” ก็เปลี่ยนก่อนเถิด ดีกว่าหย่อนเครื่องไปแล้ว ใช้ไปไม่นาน เจอของเสื่อมเสียทีหลัง ก็ต้องกลับมารื้อทำกันอีกรอบ ไม่คุ้มแน่ล่ะ แต่บอกก่อนว่า การเปลี่ยนอะไหล่ส่วนที่เพิ่มมานี้ เจ้าของรถต้อง “จ่ายเอง” นะครับ จำไว้ว่า “ของทุกชิ้น มีอายุการใช้งาน” แต่ยังไงก็ “ซื้อความสบายใจ” ไว้ดีกว่าไหมครับ…
สายพานไทมิ่ง
จำเป็นครับ เพราะเราไม่รู้หรอก ว่าเครื่องมันวิ่งมาระยะทางเท่าไหร่แน่ ปกติจะให้เปลี่ยนกันที่ 100,000 กม. ตามสติกเกอร์ที่อยู่บนฝาวาล์ว ตอนนี้เครื่องมาอยู่กับเราแล้ว ก็ควรจะเปิดฝาหน้าเครื่องมาตรวจสอบกันหน่อย ส่วนใหญ่แล้วจะแนะนำให้ “เปลี่ยน” สบายใจกว่าครับ เว้นแต่ว่าสภาพมันดีมากจริง ๆ เนื้อสายพานยังนิ่ม ไม่มีร่องรอยแตก แข็งกระด้าง และเครื่องสภาพดีด้วย มันพอใช้ต่อได้ แต่ถ้าไม่ชัวร์ก็จัดไป ดีกว่าขาดทีหลัง แล้ว “ลูกโหม่งวาล์ว” จะบรรลัยหนักทั้งเครื่อง พวกลูกรอกดันสายพานไทมิ่ง เปลี่ยนได้ควรเปลี่ยนครับ ยอมเชือดเนื้อแรก ๆ แล้วใช้ยาว ๆ แบบไร้กังวลดีกว่า…
ปั๊มน้ำ
อันนี้ก็ต้องดูประกอบสภาพเครื่องด้วย แต่โดยปกติ เครื่องที่เรานิยมเล่น ๆ กันในตลาด เช่น JZ, RB, 4G, 3S, B16A ฯลฯ พวกนี้เป็นเครื่องที่เริ่มมีอายุมากกันแล้ว อย่างน้อยก็เป็นสิบปีขึ้นไป อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ย่อมเสียไปตามกาลเวลา ตัวที่มักจะ “ทำเรื่อง” ให้ได้ ก็คือ “ปั๊มน้ำ” มันแช่น้ำอยู่ โอกาสเกิดการ “กร่อน” ก็มีสูง โดยเฉพาะเครื่องที่ดูแล้วมี “คราบตะกรัน” หรือ “สนิม” ในทางเดินน้ำ ลองถอดปั๊มน้ำออกมาดู ถ้าหน้าตามันเกรอะกรังก็ควรจะเปลี่ยน ไม่งั้นใช้ไปแล้วน้ำรั่วโดยที่เราไม่ได้สนใจ โดยเฉพาะคนประเภทไม่เคยเช็กอะไรเลย กูขับแม่มอย่างเดียว ถ้าน้ำในระบบหายไป ความร้อนจะสูงขึ้น โอกาส “น็อก” มีสูงครับ…
ซีล และท่อยางต่าง ๆ
เยอะแยะ ไหน ๆ รื้อแล้ว ก็ดู “ซีลข้อเหวี่ยงหน้าและหลัง” เปลี่ยนได้ควรเปลี่ยน พวกนี้มันรั่วขึ้นมาแล้วทำยาก ตัวซีลไม่แพงหรอก แต่ “แพงค่าแรง” รื้อเข้าออก มันไม่ได้รื้อง่ายนะครับ รวมไปถึงซีลต่าง ๆ เบ็ดเตล็ดมากมาย เช่น ซีลฝาวาล์ว ซีลฝาหน้าเครื่อง ถ้าซีลเก่า กรอบ แข็ง จะทำให้ของเหลวรั่วได้สารพัด อีกอย่างก็คือ “ท่อยางต่าง ๆ” ท่อยางน้ำ ท่อยางอากาศ ถ้าเจอสภาพแข็งกระด้าง แตกลายงา โยนทิ้งไปโลด ดีกว่า “แตกแล้ว” จะทำให้เดือดร้อนแบบไม่เข้าเรื่อง บางทีท่อพวกนี้ มันดันไปอยู่ในซอกหลืบ เปลี่ยนก็ยาก ไม่แน่ใจสภาพก็เปลี่ยนซะก่อน ไม่แพงหรอกครับ…
น้ำมันทุกชนิด
จริง ๆ คงไม่ต้องบอกนะเคสนี้ ยังไงมันก็ต้องเปลี่ยน แต่เคยเจอบางคนโคตรจะขี้เหนียว ดึงก้านน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ มาดู เห็นมันยังใส ๆ หน้าตาดี ก็ยืนยันจะใช้ต่อ ไม่รู้จะเหนียวไปถึงไหน อีกเรื่อง บางคนมีความเชื่อว่า น้ำมันเครื่องในญี่ปุ่น มัน “สุดยอด” ดีกว่าน้ำมันเครื่องที่ขายในไทย ถ้าใช้ได้ก็จะใช้ต่อ ไม่รู้เอาความคิดประหลาดนี้มาจากไหน พูดกันง่าย ๆ นะครับ เครื่องมือสองที่ถูกตัดมา มันถูกกองไว้เฉย ๆ และตัวเครื่องก็เปลือย ๆ โอกาสที่ฝุ่น ความชื้น จะเข้าไปในเครื่องก็มีสูงมาก โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือเดินสมุทร ไอเค็มจากทะเล จะยิ่งส่งผลให้เกิดการกัดกร่อน แม้ลิ้นเร่งจะปิดสนิท แต่ยังไงมันก็มีท่อทางที่จะเข้าไปได้อีกเยอะ “เปลี่ยนให้หมด” น้ำมันเครื่อง เกียร์ ถ้าเป็นเครื่องรถขับสี่ ส่วนใหญ่ก็จะมีน้ำมันเกียร์ Transfer เปลี่ยนให้หมดเลย อย่าคิดมาก…
สรุป
ก็อาจจะเยอะสักหน่อย แต่ก็พยายาม “จัดเต็ม” เท่าที่จะทำได้ ก็คงเป็น Engine Buyer Guide ที่สามารถจะทำความเข้าใจได้ง่าย อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย วิ่งไปชนปังตอก็จบเห่ล่ะครับ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ “ดวง” ของท่านด้วย ถ้าโชคดีก็จะได้เครื่องดี ราคาเหมาะสมกับสภาพ (ของถูกและดีไม่มีหรอก) แพงหน่อย แต่ “จบ” ดีกว่าเจอเครื่องเน่า ถูกแต่ “ไม่จบ” จะปวดกบาลหลายเท่า ก็ขอให้ท่านที่กำลังจะซื้อเครื่องยนต์มือสอง “โชคดี” ทุกท่านครับ…
ขอขอบคุณ : BIG JOHN SERVICE เอื้อเฟื้อข้อมูล และการถ่ายทำ โทร. 08-9818-1109