เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
Knowledge of “Shock Absorber”
จะ “โช้ค” หรือ “ช็อค” เรียนให้รู้ ดูให้เป็น
สวัสดีครับ ข้าพเจ้า “พี สี่ภาค” ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการ “คอลัมน์ใหม่” ที่ชื่อว่า XO KNOWLEDGE ซึ่งมุ่งเน้นเจาะประเด็นความรู้เกี่ยวกับ “อุปกรณ์ในรถยนต์” ส่วนต่าง ๆ ว่าแต่ละชิ้นที่ว่า มัน “มีหน้าที่อะไร” และ “ทำงานอย่างไร” จะได้รู้กันว่า ไอ้ที่อยู่ในรถเราน่ะ มันคืออะไร พร้อมกับความรู้ในแง่ของการ “โมดิฟาย” ว่าจะเลือกของชนิดไหนให้เหมาะกับการใช้งานของเรา ไม่ได้สักแต่ว่าซื้อ ๆๆๆๆๆๆๆ มาใส่ เอาของแพง ๆ แข็ง ๆ ซิ่ง ๆ ไว้ก่อน ตรงนี้เราจะมาแชร์ความรู้กัน ว่าควรจะเลือกการเซ็ตอัพอย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งานของรถคันนั้น ๆ ที่สุด สำหรับในครั้งนี้ ก็มาว่ากันถึงเรื่องของ “โช้คอัพ” เป็นสิ่งแรก ๆ ของระบบช่วงล่าง ที่จะลงมือ “เปลี่ยน” กันก่อนเพื่อน (แต่ส่วนมากจะหลังจาก “ล้อและยาง” ไว้ว่าง ๆ มานั่งคุยกันอีกที) แล้วเราอยากรู้ไหม ว่าเจ้า “โช้คอัพ” มันทำหน้าที่อะไร และควรจะใช้ของแบบไหน…
ชื่อก็บอกว่า Shock Absorber มันต้องซับแรงกระแทกสิ
ไอ้อุปกรณ์ที่เราพูดถึงงวดนี้ คนไทยจะเรียกกันติดปากว่า “โช้คอัพ” หรือ “โช้ค” เฉย ๆ บางคนก็เขียนว่า Choke up บ้าง หรือ Shock up บ้าง ก็ค่อนข้างจะผิดคำอยู่พอสมควร คำว่า “โช้ค” ในความหมายจริง ๆ มันหมายถึง Choke เป็นตัวช่วยปรับน้ำมันให้หนาขึ้น เอาไว้ช่วยสตาร์ทตอนเครื่องยนต์เย็น ส่วนคำว่า Shock Absorber นั้น Shock ก็คือ “แรงกระแทก” Absorber ก็คือ “การซึมซับ ดูดซับ” มารวมกันก็คือ “อุปกรณ์ดูดซับแรงกระแทก” นั่นเอง จะเรียกว่า “ช็อคอัพ” น่าจะถูกสุด ส่วนนิตยสารเรา จะใช้คำว่า “โช้คอัพ” นะครับ แต่เอาเถอะ คนไทยเรียกอะไร ก็เข้าใจตามนั้นไป ที่พูดถึงเรื่องนี้เพราะอยากทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า จริง ๆ “โช้คอัพ” คืออะไร…
หน้าที่ของโช้คอัพ จะทำการ “หน่วงการเต้นและการสะเทือนของช่วงล่าง” ทำไมต้องหน่วงการเต้น โดยปกติเมื่อรถเราวิ่งไปบนถนนไม่เรียบ สปริงจะมีหน้าที่รับน้ำหนักรถ และยืดหดตัว เพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนนั้นไว้ แต่ด้วยคุณสมบัติของสปริงที่จะมีการเต้นกันอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลานานกว่าจะหยุดเต้นได้ (อันนี้พูดถึงว่ารถที่มีสปริงเปล่า ๆ นะครับ ยังไม่มีโช้คอัพ) สมัยโบราณกาล รถมีความเร็วต่ำ ก็จะมีเฉพาะสปริง (ส่วนใหญ่จะเป็นสปริงแผ่นหรือแหนบ) ยังไม่มีโช้คอัพ พอวิ่งเข้าทางไม่เรียบ ก็จะโยน ๆ เด้ง ๆ ไปเรื่อย ๆ หัวสั่นหัวคลอนดีแท้ ทำให้นั่งไม่สบายเอาเสียเลย ดังนั้น ก็เลยมีการคิดค้นโช้คอัพออกมา เพื่อเป็น “ตัวหน่วง” ให้เหล่าสปริงและช่วงล่างมันหยุดเต้นให้เร็วที่สุด รถก็จะมีความ “นิ่ง” และเสถียรมากขึ้น ล้อจะไม่เต้นไปจนทำให้เกิดการลอยตัว ไม่เกาะถนน พอช่วงล่างหยุดเต้นไว ล้อก็จะอยู่กับถนนเยอะขึ้น ทำให้ทรงตัวดีขึ้น นี่เองเป็นเหตุว่าทำไมต้องมีการคิดค้นโช้คอัพดี ๆ ออกมาให้ใช้กันนั่นแหละครับ…
- รถโบราณ จะมีเฉพาะแหนบเพียงอย่างเดียว เอาไว้ยืดหยุ่นเฉย ๆ ไม่มีโช้คอัพ เวลาวิ่งทางไม่ดีก็จะหัวสั่นหัวคลอนกันหน่อย เพราะไม่มีการหน่วงให้หยุดการเต้น แต่อาศัยว่าความเร็วรถมันยังต่ำอยู่เลยพอรับได้ (ในภาพเป็น FORD MODEL T ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกของโลก ที่เข้าสู่กระบวนการแบบ Conveyer หรือ แบบสายพานการผลิต)
How Shock Absorber Work : โช้คอัพทำงานได้อย่างไร ???
โช้คอัพ ไม่ได้เป็นไม้ตีพริกทื่อ ๆ อยู่เฉย ๆ นะครับ ถ้าเราจะสแกนให้ถึงภายในตัวกระบอกโช้คอัพ มันก็จะมีกลไกอยู่หลายอย่าง หลัก ๆ ก็คือ “น้ำมัน” จะเป็นตัวกำหนดให้โช้คอัพมี “ความหนืด” เวลาโช้คอัพเคลื่อนที่ ที่แกนโช้คอัพด้านล่างจะมี “ลูกสูบ” ตัวลูกสูบมีรูเล็ก ๆ (Orifice) อยู่รอบ ๆ เพื่อกำหนดให้น้ำมันไหลผ่านได้จำกัด เมื่อลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นลงตามจังหวะการทำงานของแกนโช้คอัพ น้ำมันจะไหลลอดไปมาแบบไม่สะดวกนัก จึงทำให้เกิดแรงต้าน หรือ “ความหนืด” มากขึ้น ยิ่งมีการเคลื่อนที่ (Travel) มาก ก็จะยิ่งมีแรงต้านมากขึ้น ซึ่งแรงต้านก็จะแปรผันตามความเร็วในการเคลื่อนที่ของลูกสูบเช่นกัน ตรงนี้จะทำให้โช้คอัพมีความหนืด ทำให้มันสามารถหน่วงการเต้นของช่วงล่าง รวมถึงการเต้นของตัวรถได้ หน้าที่มันก็ประมาณนี้แหละครับ…
- รถแข่งในสนาม ย่อมต้องการความหนืดของโช้คอัพสูงมาก เพื่อทำให้การตอบสนองเร็ว กระชับ แน่น แต่ก็ทำให้มีความแข็งมาก ในทางเรียบย่อยไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอามาใช้กับรถถนนทั่วไปไม่ดีแน่ คงได้ไส้แตกก่อน และไม่เกาะถนนด้วย เพราะมันแข็งเกินไป
- รถบ้านธรรมดา จะออกแบบโช้คอัพที่เน้นนิ่มนวลเป็นหลัก ความหนืดไม่มาก เพราะต้องการการยืดหยุ่นที่สูง พอไปขับเร็ว เข้าโค้งเร็ว รถก็จะเอียงมาก ก็เลยต้องเปลี่ยนโช้คอัพที่หนืดขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับอาการสะเทือนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ถ้าเป็นพวกชุด Street ก็จะไม่แข็งมากนัก แต่ให้ความรู้สึกที่มั่นใจกว่าเดิม
- การแข่งขันมีหลายประเภท โช้คอัพก็จะทำสเป็กและการทำงานต่างกัน ก็ต้องเลือกให้ถูกรุ่น โดยเช็คจากผู้แทนจำหน่ายยี่ห้อนั้นโดยตรง จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด บ้านเราชอบ “ยัด” อะไรก็ได้ ขอให้มี ก็จะส่งผลให้สมรรถนะของรถไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจจะแย่เลยก็ได้
- รถแข่งแรลลี่ ที่ต้องกระแทกกระทั้นหนัก หรือ “เหินหาว” บ่อย ๆ โช้คอัพที่ใช้ต้องทำพิเศษ เพื่อให้ทนทานกับงานโหดร้ายได้ พวกนี้จะเซ็ตค่า Rebound หนืดมาก เพราะต้องการหน่วงตัวรถไม่ให้ลอยเด้งเร็วไป สังเกตเวลารถพวกนี้ลงพื้น มันจะค่อย ๆ ยืดตัว
The Kind of Shock Absorber : ชนิดของโช้คอัพ
ส่วนนี้ก็จะแยกเป็นลักษณะของโช้คอัพแบบต่าง ๆ แบบไหน ดีอย่างไร หน้าที่เดียวกัน แต่ต่างกันที่ “คาแร็กเตอร์” ซึ่งเราก็คงได้ยินมาหลายแบบหลากชนิด ก็จะนำมา “แฉ” กันให้ชมอย่างแจ่มแจ้ง จะดีหรือจะด้อย คอยฟังให้เข้าใจ…
โช้คอัพน้ำมัน
โดยปกติโช้คอัพจะต้องมีน้ำมันผสมอยู่ด้านในอยู่แล้ว คงไม่มีโช้คอัพใด ๆ ที่ไม่มีน้ำมันอยู่ เพราะไม่งั้นมันจะไม่มีตัวถ่ายเทแรงดันเพื่อสร้างความหนืด ยังไงมันก็ต้องมีครับ แต่ ณ ที่นี้ จะพูดถึง “โช้คอัพที่ใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียว” ซึ่งจะนิยมใช้กันในรถบ้านทั่วไป โช้คอัพแบบนี้จะมี “ข้อเด่น” ในด้าน “ความนุ่มนวล” เนื่องจากมันไม่มีแรงดันภายในสูงมากเหมือนโช้คอัพแก๊ส จะใช้ความหนืดของน้ำมันเพียงอย่างเดียว ทำให้มีการยืดหยุ่นในการทำงานที่สูง จึงทำให้มีความนุ่มนวล ขับสบาย ไม่สะเทือน และด้วยความนุ่มนวลของมัน จึงเหมาะกับรถบ้าน ๆ ทั่วไป ที่ไม่ได้เน้นสมรรถนะสูงนัก และราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับโช้คอัพแก๊สแล้วก็ยังถูกกว่า รวมถึงการซ่อมบำรุงก็มีอยู่ทั่วไป ค่าซ่อมก็ไม่สูงมาก แต่ก็ต้องดูนะครับ ถ้าทำแบบผิดวิธี ก็จะทำให้โช้คอัพแข็งกระด้าง ไม่เกาะถนน จะยิ่งแย่ไปกว่าซื้อใหม่…
สำหรับ “ข้อด้อย” ก็ต้องมี คือ จากความนุ่มนวลของมัน จะทำให้การทรงตัวในความเร็วสูง การเข้าโค้งแรง ๆ ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร การโยนตัวจะมีค่อนข้างชัด เพราะไม่มีแรงต้านมากนัก เมื่อใช้งานไปนาน ๆ น้ำมันเริ่มร้อน ความหนืดของน้ำมันจะลดลง โช้คอัพก็จะรั้งการเต้นของตัวรถและช่วงล่างได้ดีน้อยลงไปตามลำดับ รถก็จะมีอาการโยนมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็ไม่เหมาะกับการใช้งานหนัก หรือขับเร็ว อีกเรื่องก็คือ อาจจะเกิดเสียงดังที่ผิดปกติ จากการอัดตัวของน้ำมัน เมื่อน้ำมันวิ่งไปมา มันก็จะเกิด “โพรงอากาศ” ขึ้น จาก “แรงดันไม่คงที่” ก็จะมีเสียงดังเหมือนอากาศรั่วขึ้น แต่ถ้ามีอากาศมากเกินไป และน้ำมันเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ ก็จะเกิดอาการ “โช้คอัพเฟด” (Fade) ก็คือ โช้คอัพเสียประสิทธิภาพไปชั่วขณะ แต่ก็ใช่ว่าโช้คอัพน้ำมันจะต้องไม่ดีสำหรับความเร็วสูงเสมอไปนะครับ โช้คอัพน้ำมันประสิทธิภาพสูง ๆ แบบที่ผลิตออกมาเจ๋ง ๆ เพื่อการขับขี่แนวสปอร์ตก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน พวกนี้จะออกแบบวาล์วมาดี และใช้น้ำมันเกรดสูง มันก็ให้ความรู้สึกที่ดีในความเร็วสูงเหมือนกัน อยู่ที่เกรดของโช้คอัพด้วยว่าจะผลิตมาแบบไหน…
โช้คอัพแก๊ส
สืบเนื่องจากข้อจำกัดของโช้คอัพน้ำมัน จึงมีการคิดค้นโช้คอัพแบบ “แก๊ส” ที่แก้ปัญหานี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “โช้คอัพแก๊ส” คืออะไร จริง ๆ แล้ว มันก็มีรากฐานมาจากโช้คอัพน้ำมันนั่นแหละครับ เพียงแต่มีการเติม “แก๊สไนโตรเจน” เข้าไป ไม่ใช่ว่าจะบรรจุแก๊สเพียว ๆ นะครับ ระเบิดพอดีกัน หน้าที่ของแก๊สที่ใส่เข้าไปนั้น มันจะช่วย “รักษาแรงดันในกระบอกโช้คอัพให้คงที่” เนื่องจากตัวแก๊สมีแรงดันสูงกว่าน้ำมัน เวลาโช้คอัพทำงาน เริ่มจากจังหวะ “ยุบ” (Compression หรือ Bump) ลูกสูบเคลื่อนที่ลงด้านล่าง น้ำมันห้องด้านล่างจะวิ่งสู่ห้องด้านบน จังหวะที่น้ำมันวิ่งนี่เอง จะทำให้เกิดโพรงอากาศจากแรงดันที่ไม่คงที่อย่างที่ว่าไปตอนที่แล้ว เมื่อมีช่องว่าง ตัวแก๊สมีแรงดัน มันก็จะช่วยดันให้น้ำมันอัดตัว ทำให้เกิดแรงดันสม่ำเสมอ ก็ลดอาการที่ว่ามานั้นได้ อีกเรื่องก็คือ เมื่อแก๊สถูกอัด มันก็พยายามจะดันตัวออก โช้คอัพก็จะยุบตัวได้ไม่มากนัก ทำให้มีแรงต้านการยุบตัวได้ดีกว่าโช้คอัพน้ำมัน ส่วนในทางกลับกัน จังหวะ “ยืด” (Rebound) ลูกสูบและแกนโช้คอัพ จะเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน น้ำมันจะไหลลงห้องด้านล่าง ช่วงนี้ก็จะมีแรงดันไม่คงที่เช่นกัน (เนื่องจากแรงดันบางพื้นที่จะลดลง ทำให้เกิดช่องว่างนั่นเอง) พูดง่าย ๆ ก็คือ แก๊สจะช่วยให้เกิดแรงต้านภายในกระบอกโช้คอัพที่มากขึ้น ทำให้การทำงานของโช้คอัพมีความเสถียรขึ้นนั่นเอง…
สำหรับ “ข้อเด่น” ของโช้คอัพแก๊ส ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า มันมีความเสถียร จึงทำให้ตัวรถมีการทรงตัวที่ดีในย่านความเร็วสูง หรือการใช้งานหนัก มีภาระสูง เนื่องจากความหนืดมันมีค่อนข้างมาก มีแรงต้านการกระทำที่คงที่ จะสังเกตได้ว่า โช้คอัพแก๊สจะถูกใช้กับรถที่เน้นสมรรถนะ และเป็นของแต่งที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในสมัยนี้รถบ้าน ๆ ทั่วไป ก็เป็นโช้คอัพแก๊สมาแต่ดั้งเดิมแล้ว เพราะเน้นในด้านการทรงตัวที่ดีกว่า ส่วน “ข้อด้อย” ก็คือ ต้นทุนการผลิตสูงกว่าแบบน้ำมัน ก็คงไม่เชิงข้อด้อยหรอก มันเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนมากกว่า ส่วนต่อมาคือ “สะเทือนกว่า” ถ้าเทียบกับโช้คอัพน้ำมัน เนื่องจากมันมีแรงดันสูง คอยต้านการยุบและยืดไว้มากกว่า จึงทำให้การยืดหยุ่นน้อย แรงกระทำจะส่งผลถึงตัวถังมากกว่า อย่างกรณี “ยุบ” โช้คก็จะยุบตัวลงไม่ได้มากเกินไปนัก ทำให้ใต้ท้องรถไม่ลงต่ำจนกระแทกพื้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อจังหวะ “ยืด” ล้อรถจะลอย ตัว โช้คอัพที่หนืดจะพยายามดึงตัวรถไม่โยนขึ้น และพอจังหวะ “ยุบ” อีกครั้ง โช้คอัพก็จะพยายามดันล้อให้ยึดเกาะกับถนนไว้ให้มากที่สุด ทำให้รถมีการทรงตัวที่ดี แต่พอไปวิ่งทางไม่เรียบ การให้ตัวน้อย จึงออกจะ “แข็ง” อยู่บ้าง ส่วนจะแข็งแค่ไหนนั้น ก็อยู่ที่การเซ็ตโช้คอัพและสปริง รวมไปถึงยาง ลมยาง ไม่ได้หมายความว่าโช้คอัพแก๊สจะต้องกระด้างเสมอไป ปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องวาล์วด้านในไปมาก อย่างโช้คอัพราคาแพง ๆ ก็จะให้ความนุ่มและเกาะถนนดี ตรงนี้ก็อยู่ที่เกรดของโช้คอัพ ซึ่งปัจจุบันมีโช้คอัพแก๊สมากมายให้เลือกจนตาลาย และใช้กันอย่างแพร่หลายแทบจะหมดโลก…
โช้คอัพแบบกระบอกเดี่ยว หรือ Monotube
ตอนนี้ก็มาแยกชนิดโครงสร้างภายในของโช้คอัพแบบต่าง ๆ กัน โดยหลักแล้ว ก็จะมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือ โช้คอัพแบบกระบอกเดี่ยว หรือ Monotube (โมโนทูบ) หลายคนอาจจะสงสัย มันก็เป็นดุ้น ๆ อันเดียวโดด ๆ อยู่มิใช่รึ ??? ไม่ใช่ครับ อันนี้ขอให้ดูภายในของมัน โช้คอัพแบบนี้ จะเป็นตัวกระบอกเดี่ยว ๆ ชิ้นเดียวเลย ดูจะง่ายนะครับ จริง ๆ โครงสร้างมันก็ไม่มีอะไร แต่กลับกลายเป็นแพง เนื่องจากตัวกระบอกจะต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงสูง ทนต่อแรงกระทำ แรงกระแทก ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้ากระบอกไม่แข็งแรงพอคงไม่ดี เนื่องจากโช้คอัพ จะเป็นส่วนที่อยู่ด้านล่าง อาจจะมีโอกาสโดนแรงกระแทกได้บ้าง (ถ้ากระแทกแรง ๆ ถึงกับหัก อันนั้นก็ช่วยไม่ได้) ถ้าเกิดกระบอกมีรอยบุบ ทำให้ผิวด้านในไม่เรียบ ลูกสูบที่เคลื่อนที่ขึ้นลง จะเกิดอาการสะดุด ทำให้เกิดการเสียหาย ซีลรั่ว แรงดันรั่ว โช้คอัพก็เสียเลย ก็จึงต้องใช้วัสดุชั้นดีที่ทนทานมาก ๆ จึงทำให้มีราคาแพง ก็เป็นเรื่องหลักที่เป็นข้อเสียของโช้คอัพแบบกระบอกเดี่ยว…
มาดูข้อดีกันบ้าง ด้วยความที่เป็นกระบอกเดี่ยว ไร้ไส้ใน พื้นที่ด้านในมีมากกว่าโช้คอัพแบบ “กระบอกคู่” ถ้าเทียบในขนาดกระบอกเท่ากัน (เดี๋ยวจะพูดถึงต่อไป) แบบกระบอกเดี่ยวก็สามารถใส่ “วาล์วใหญ่กว่า” ได้ การ Flow ของน้ำมันก็จะดีกว่า ตัวกระบอก “บรรจุน้ำมันได้เยอะกว่า” ทำให้การตอบสนองของโช้คอัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การกั้นห้องแก๊สกับน้ำมัน จะแยกกันอย่างเด็ดขาด ตัวห้องแก๊สจะอยู่ด้านล่างสุด ห้องน้ำมันจะอยู่ด้านบน มีตัวกั้นก็คือ Free Piston หรือลูกสูบอิสระ มันจะลอยตัวอยู่ ไม่ยึดติดกับฝ่ายใด เคลื่อนที่ขึ้นลงตามจังหวะการทำงานของโช้คอัพ เมื่อมีแรงกดจากน้ำมัน ลูกสูบอิสระก็จะถูกแก๊สไนโตรเจนดันต้านไว้ ในทางกลับกัน เมื่อมีแรงยืด ลูกสูบอิสระจะถูกแก๊สดันขึ้นไป เพื่อดันไม่ให้ห้องน้ำมันเกิดฟองอากาศ ทำให้ห้องน้ำมันไม่มีช่องว่าง น้ำมันจะเต็มระบบตลอดเวลา การไหลของน้ำมันจะกระทำภายในห้องเดียวกัน และ “แก๊สจะไม่ปะปนกับน้ำมันโดยเด็ดขาด” ท้ายสุดคือ “ระบายความร้อนได้ดี” เพราะตัวกระบอกเป็นแบบชั้นเดียว การถ่ายเทความร้อนออกมาจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการ “เสถียร” ในการขับขี่ เพราะโช้คอัพทำงานได้อย่างคงที่ ทำให้โช้คอัพ Mono Tube มีราคาแพง แต่ประสิทธิภาพก็สูงตามไปด้วย จะเห็นได้จากโช้คอัพประสิทธิภาพสูง ๆ ราคาแพง ๆ ก็จะเป็นแบบ Mono Tube ทั้งสิ้น ถ้าต้องการขับรถได้อย่างเสถียรก็ควักกระเป๋าหน่อยแล้วกัน…
- โช้คอัพแบบ Mono Tube กระบอกชั้นเดียว มีแกนโช้คอัพและลูกสูบมีวาล์ว เพื่อกำหนดความหนืดของแรงดันน้ำมัน เมื่อโช้คอัพทำงาน น้ำมันจะไหลผ่านขึ้นลงอยู่สองห้องด้านบน ตามการทำงานของแกนโช้คอัพ ส่วนหมายเลข 28 อันนั้นเป็น Free Piston ที่ไม่ยึดติดกับฝ่ายใด จะเคลื่อนที่ขึ้นลงตามแรงกระทำ หน้าที่ของมัน ก็คือ กั้นห้องแก๊สไนโตรเจน ให้แยกต่างหากจากห้องน้ำมัน จึงมีการทำงานที่เสถียร สำหรับโช้คอัพแบบปรับความหนืดตรงหัว ตัวปรับจะต่อแกนยาวสอดมาในแกนโช้ค (แกนโช้คจะกลวง) เพื่อจิ้มลงมาปรับที่วาล์วในลูกสูบ ก็จะเปลี่ยนความหนืดได้
- โช้คอัพแบบ Twin Tube จะเป็นกระบอกสองชั้น โซนสีส้มคือน้ำมันอยู่เต็ม ด้านล่างสุดจะมี Base Valve คอยกักหรือปล่อยน้ำมันไปยังห้องสำรองโซนสีเหลือง ความหนืดก็จะเปลี่ยนไปตามแรงกระทำ ส่วนโซนสีขาว ก็จะเป็น Free Space ไว้สำรองพื้นที่น้ำมัน เวลาโช้คยุบยืดเยอะ ๆ ส่วนด้านขวามือ จะเป็นโช้คอัพแบบแก๊ส โดยรวมเหมือนกัน แต่โซนสีฟ้า จะเป็นแก๊สไนโตรเจน ที่คอยเสริมแรงดันไว้ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าโช้คอัพแข็ง เพราะมันจะพยายามดันยืดไว้ตลอด แต่ทรงตัวได้มั่นคงกว่า
โช้คอัพแบบกระบอกคู่ หรือ Twin Tube
ดู ๆ กระบอกคู่มันก็น่าจะดีกว่ากระบอกเดี่ยวนะ อะไรที่ “เบิ้ล” ใครเห็นก็ตาลุกวาว สำหรับโช้คอัพแบบกระบอกคู่ บอกตรง ๆ ว่ามันทำงานค่อนข้างซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าแบบ Mono Tube พอสมควรเลยทีเดียว ด้านในกระบอกจะมี “กระบอกซ้อน” ชั้นในอีก ตรงนั้นทำหน้าที่เป็น “กระบอกสูบ” ที่จะมีน้ำมันเก็บเอาไว้เต็มเปี่ยม ส่วนช่องว่างระหว่างกระบอกสูบกับกระบอกนอก จะเป็น “ห้องน้ำมันสำรอง” ที่จะมีน้ำมันเก็บสำรองไว้ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนที่เหลือจะมี “อากาศ” บรรจุไว้ ในกรณี “โช้คอัพน้ำมัน” นะ ถ้าเป็น “โช้คอัพแก๊ส” ก็จะบรรจุแก๊สไว้ในห้องน้ำมันสำรองนี้เลย ไม่ได้แยกโดยเด็ดขาดเหมือนแบบ Mono Tube แต่อย่างใด…
การทำงานของมันโดยคร่าว ๆ ด้านในกระบอกสูบ ก็จะมีห้องแรงดันสองห้อง คือ ด้านบน และด้านล่าง กั้นโดยลูกสูบ ตัวลูกสูบก็จะมีวาล์วต่าง ๆ ติดอยู่กับแกนโช้คอัพ เคลื่อนที่ตามกันไป โดยที่ด้านล่างสุดของกระบอก จะมี “เบสวาล์ว” (Base Valve) ติดอยู่กับที่ เพื่อทำหน้าที่ระบายหรือกักแรงดันในยังห้องน้ำมันสำรอง เมื่อโช้คอัพยุบตัว ลูกสูบเคลื่อนที่ “ลง” ด้วยความเร็ว แรงดันในห้องล่างจะเพิ่มขึ้น น้ำมันจะดันลิ้นกันกลับที่วาล์วของลูกสูบให้เปิด แรงดันจะไหลเข้าห้องบน ปริมาณน้ำมันที่ไหลเพิ่มเข้ามาจากห้องบนสู่ห้องล่าง มันก็จะไปดันเบสวาล์ว ให้เปิดเข้าสู่ห้องน้ำมันสำรอง ตรงนี้จะทำให้เกิดแรงต้านขึ้น ถ้าเป็นโช้คอัพแก๊ส แรงดันแก๊สในห้องน้ำมันสำรองก็จะต้านไว้อีกระดับ ทำให้โช้คอัพเกิดความหนืด ส่วนในทางกลับกัน ถ้าเป็นจังหวะยืด ห้องแรงดันด้านล่างจะเกิดช่องว่างขณะรอน้ำมันจากห้องบนไหลลงมา ตรงนี้แรงดันในห้องน้ำมันสำรองจะดันเบสวาล์วให้เปิด น้ำมันจากห้องสำรองก็จะไหลเข้ามาที่ห้องด้านล่างแทนที่ช่องว่างนั่นเอง…
ข้อดีของโช้คอัพแบบ Twin Tube คือ แก้จุดเรื่อง “ต้นทุนการผลิต” ให้ถูกลงกว่า Mono Tube จุดหลักก็จะเป็นในด้าน “วัสดุการทำกระบอก” ที่ไม่จำเป็นต้องแพงและดีเหมือน Mono Tube ก็ได้ เพราะกระบอกสูบจริง ๆ มันอยู่ด้านใน ด้านนอกเหมือนเป็นเปลือกหุ้มและเป็นห้องน้ำมันสำรอง จึงไม่ค่อยกลัวเรื่องแรงกระแทกนิด ๆ หน่อย ๆ จึงเป็นข้อดีที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนข้อเสียก็คือ กลไกภายในจะซับซ้อนกว่าแบบ Mono Tube และถ้าเทียบกับขนาดกระบอกเท่ากัน แบบ Twin Tube จะทำลูกสูบและวาล์วได้เล็กกว่า ตัวแก๊สกับน้ำมันจะปน ๆ กันอยู่ แยกกันไม่ขาด การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร เพราะกระบอกสูบมันอยู่ชั้นใน ทำให้วิ่งไปนาน ๆ ใช้งานหนัก ๆ น้ำมันโช้คอัพจะร้อนกว่า แต่ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่ามันจะแย่ทั้งหมด ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ “เกรดของการผลิต” เป็นสำคัญ ก็ไม่แน่ แบบ Twin Tube เกรดดี ๆ อาจจะดีไม่แพ้ หรือดีกว่า Mono Tube บางรุ่นก็ได้นะ…
สตรัทปรับเกลียว
ไหน ๆ ก็ขอพูดถึงมันหน่อยแล้วกัน เพราะนิยมกันเหลือเกิน หน้าตาของมันก็จะเป็นโช้คอัพแบบ “สตรัท” (ไม่นับพวกช่วงล่างแบบอื่น เช่น ปีกนกคู่ แหนบ ฯลฯ) แต่ทำเป็นแบบ “ปรับเบ้าสปริง เลื่อนสูงต่ำได้” เพื่อปรับความสูงของตัวรถ ในสมัยก่อนการเซ็ตความสูงก็จะทำการเปลี่ยนคอยล์สปริงให้มีความสูงแตกต่างกันออกไป จะมีให้เลือกหลายอย่าง ซึ่งบางทีมันก็ดูวุ่น ๆ หน่อย เพราะ “ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด” ไอ้นี่ว่าเตี้ย ไอ้นั่นว่าเตี้ยไม่พอ อยากได้กว่านั้น ไอ้นู่นบอกขอแป้กๆ บางทีซื้อมาพอดี แต่พอไปใส่ล้อต่างขนาด ก็กลับสูงหรือต่ำไปอีก ถ้าทำสปริงสูงต่ำก็ต้องหลายอย่าง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ จึงต้องคิดทำ “สตรัทปรับเกลียว” ขึ้นมา เพื่อปรับความสูงได้อย่างละเอียด จะเอาสูงต่ำแค่ไหนก็หมุนเอา สปริงทำออกมาความสูงเท่ากัน (ต่างกันที่ค่าความแข็ง) ไม่ต้องทำสปริงสูงต่ำเยอะมากมายนัก ตัวสปริงเองก็เป็น “สปริงหลอด” ทำออกมาทรงเดียว แต่ใช้กันหลากหลาย เพราะมันไม่ได้เป็นทรงเข้าเบ้าปกติเหมือนแบบธรรมดา จริงๆ ก็นับเป็นแผนการตลาดที่แยบยลเหมือนกันนะ เพราะไม่ต้องทำสปริงหลายแบบ ทำแม่งแบบเดียวใช้กันหลากหลาย คนซื้อก็ชอบเพราะเซ็ตง่าย…
ตอนนี้สตรัทปรับเกลียวก็ถูกพัฒนาขึ้นเป็นแบบ “สไลด์กระบอก” โดยการปรับความสูงที่ตัวกระบอกโช้คอัพกันเลย ตัวโช้คอัพจะมีแยกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระบอกโช้คอัพ กับส่วนที่เป็นจุดยึด (เหง้า) ที่จะไปยึดกับดุมล้อ หรือคอม้า (แล้วแต่ชนิดของรถ) สองส่วนนี้ ปกติจะแยกกัน แต่เชื่อมต่อกันด้วย “เกลียว” ขันเข้าหากัน เวลาปรับความสูง ก็หมุนปรับที่ตรงนี้เลย ไม่ต้องไปปรับที่เบ้าสปริง ข้อดีคือ การปรับสูงต่ำอะไรก็ตามแต่ ไม่ต้องไปยุ่งกับ Stroke ของสปริงเลย ถ้าเป็นสตรัทปรับเกลียวแบบธรรมดา ก็จะต้องหมุนที่เบ้าสปริง ยิ่งเตี้ยมาก ก็ยิ่งบีบช่วงชักของโช้คอัพให้น้อยลง ทำให้เกิดการแข็งกระด้าง แต่กับแบบสไลด์กระบอก จะไม่ต้องไปยุ่งเลย จึงทำให้การตอบสนองไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง ก็นับเป็นข้อดีที่นิยมใช้กันในปัจจุบันสำหรับโช้คอัพซิ่ง ๆ ทั้งหลาย…
เลือกโช้คอัพให้ถูกเรื่อง มั่วไปเดี๋ยวงานงอก
ก็มีคำถามมามากเหมือนกัน ว่าจะเลือกโช้คอะไรดี ผมก็อาจจะไม่ได้ตอบเป็นยี่ห้อ เพราะมันมีหลากหลายเหลือเกิน แต่ผมมักจะ “ไกด์ไลน์” ไปว่า “เลือกแบบที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองเป็นหลัก” โช้คอัพบนโลกนี้มันมีหลายแบบ สำหรับใช้งานทั่วไป อัพเกรดสปอร์ตขึ้นมาอีกนิด ไม่ถึงกับซิ่ง ซิ่งเริ่มต้น ซิ่งกลาง ๆ รวมไปถึงแบบเฉพาะทาง เช่น เซอร์กิต แรลลี่ จิมคาน่า ควอเตอร์ไมล์ ดริฟต์ ฯลฯ ห่าเหวอะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด เราก็มีหน้าที่ “เลือกให้ถูกต้อง” นะครับ แต่ส่วนใหญ่มักจะ “เลือกผิด” ทำไมถึงเลือกผิด มีสาเหตุประมาณนี้ครับ…
- คิดว่า ยิ่งแข็ง ยิ่งดี : บางอย่างมันก็ใช่ครับ (ร่างกายแข็งแรง อย่าคิดมาก) ส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้นซะด้วย คิดว่าโช้คอัพดี ๆ ต้องแข็ง ๆ เหมือนกับรถแข่ง ผมเข้าใจ ว่ารถแข่งมันก็ต้องเกาะถนนดี แต่มันคือ “สนามทางเรียบ” เท่านั้น โช้คอัพแข็ง รถจะไม่โคลงมาก ฉับไว แต่ถ้าคนไม่ชิน รถไว ๆ จะทำให้เกิดอันตรายก็ได้เหมือนกันนะ อีกอย่างคือ ถนนบ้านเรามันแสนจะเรียบ ไปใส่โช้คอัพแข็ง ๆ รถจะ “กระดอน กระเด้ง” ยังไงก็ไม่เกาะครับ รถกระดอน ๆ มันจะเกาะได้ไง ตัวถังโดด ล้อลอยพ้นพื้น แถมยังทรมานตัวเองอีก อันนี้จะเป็นแนวเลือกใช้ไม่ถูกประเภท ขาดความเข้าใจในการทำรถ ถ้าเป็นรถใช้งานบนถนนด้วย พยายามเลือกระดับพวก Street สเต็ปต้น ๆ ถึงกลาง ๆ ก็พอครับ…
- เห็นยี่ห้อถูกใจก็ซื้อ ไม่ได้รู้รุ่นอะไร : ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อของมือสอง พอเห็นยี่ห้อถูกใจ ใส่กับรถเราได้ บางคนก็จะไม่ค่อยพิจารณาว่ามันคือรุ่นอะไร ขอให้ยี่ห้อถูกใจ ยัดใส่ได้เป็นพอ อันนี้ก็อาจจะ “ผิดรุ่น” อย่างเคสตะกี้ ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาด้วย ว่าไอ้รุ่นที่มามันเหมาะสมกับอะไร จะได้ไม่ Miss Match ถ้าเลือกผิด นอกจากจะส่งผลกับความนุ่มนวลแล้ว อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ในบางเคส อย่างตะกี้ เอาโช้คอัพแข็ง ๆ มาใช้วิ่งถนนบ้านเรา วิ่ง ๆ ไป เจอหลุม เนิน ประเภทดักควายทั้งหลาย โช้คอัพไม่มีการยืดหยุ่น โดนไปทีตัวรถกระดอน โดด เด้ง ล้อลอยจากพื้นอย่างรวดเร็ว แถมตอนลงยังไม่ Absorb แรงกระแทก จะทำให้รถ “เสียอาการ” ได้ หรือในทางตรงกันข้าม รถแข่ง แต่ประหยัดเกินเหตุ ซื้อโช้คอัพรุ่นธรรมดา ๆ ใส่ ก็จะทำให้ตอบสนองแย่ อันตรายอีกเช่นกัน อย่านึกว่าเรื่องเล็ก ๆ เล่าขำ ๆ นะครับ ถ้าเจอกับตัวจะรู้สึก…
- AZTEX FORCE โช้คคุณภาพฝีมือคนไทย มีให้แต่งไม่เลือกสเปค .
บทสรุป
ก็คุยจบกันไปแล้ว สำหรับเรื่องราวของ “โช้คอัพ” แบบพอสังเขป หวังว่าคงจะได้รับสาระกันไปพอสมควร อาจจะไม่ได้หยั่งเชิงลึกมาก เพราะไม่อยากให้มันเป็นตำราเรียนมากไป แต่ก็ขอให้ทราบข้อมูลพื้นฐานกันไว้ ว่ามันมีกี่แบบ แบบไหนมีโครงสร้างและคุณสมบัติเป็นอย่างไร สำคัญคือ “การเลือกใช้” นั่นเอง ในประเทศไทย ก็มีโช้คอัพหลายยี่ห้อจำหน่าย ต่างก็มีคุณลักษณะเด่นในแต่ละด้านกันไป บทท้ายเรื่อง ก็เป็น “ทางเลือก” ของผู้ที่สนใจจะซื้อโช้คอัพ เราก็จะนำเสนอ พร้อมข้อมูลจากผู้จำหน่ายโดยตรง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจครับ…
* หมายเหตุ : ราคาสินค้า รวมถึงรุ่นสินค้าที่มีจำหน่าย ขอให้ติดต่อกับทางร้านผู้แทนจำหน่ายสินค้าที่ท่านสนใจโดยตรง เนื่องจากอาจจะมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม…