เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
เซฟิโร่ 1.9 สามร้อยม้า “ก็มาดิคร้าบบบบ”
“ช่างหน่อย เพชรบุรี” โปรเจกต์ “ธรรมดาโลกไม่จำ”
ฉบับนี้ขอหา “ของประหลาด” มาเล่นกันหน่อย กับคำว่า “ธรรมดาโลกไม่จำ” มันคือเรื่องจริง กับ “วาระรถซิ่งแห่งชาติ” ตลอดกาล ตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นมา ใช่แล้วครับ ไม่มีอะไรเกินไปกว่า CEFIRO A31 แน่นอน ที่ “เกิดมาหรู แต่เอากูไปซิ่ง” มันก็จริงครับ เพราะพื้นฐานรถ “ขับหลัง” ที่ดี มีความแข็งแรง มั่นคง ระบบช่วงล่างแบบอิสระ Multi-links ยุคใหม่ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถใช้ของจาก SKYLINE GT-R R32 มา “ร้อยนอต” ใส่ได้เลย มันไม่แปลกที่จะได้รับความนิยมสูง โดยปกติถ้าคนอยากแรงในสาย “เบนซิน” ก็คงหนีไม่พ้นเครื่องยนต์ JZ ทั้งหลาย จะ 1 หรือ 2 ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ จนกลายเป็น “เครื่องตรงรุ่น” ไปเสียแล้ว เรียกว่าตระกูล RB ทั้งหลายเป็นของ “ไม่ตรงรุ่น” ไปเสียอย่างนั้น…
แต่กาลเวลาผ่านไป ความนิยมในเครื่องยนต์ “ดีเซล คอมมอนเรล” นั้น ทวีความรุนแรงมากขึ้น จากรถเก๋ง กระแสเปลี่ยนเป็น “รถกระบะ” อย่างที่เราเห็นกัน แต่…ในเมื่อมีความ “อยากแปลก” และ “อยากให้โลกจำ” เกิดขึ้น มันต้องทำอะไรแปลกๆ หน่อย !!! เลยเป็นที่มาของ CEFIRO มา “สะเวิ้บ” ขุมพลังรุ่นใหม่สาย “ดีเซล” ในปัจจุบัน คือ ISUZU 1.9 BLUE POWER ที่นับว่า “ใหม่” สำหรับบ้านเราในการนำมาวางในรถเก๋ง จริงๆ แล้ว กระแสรถเก๋งขับหลัง จะญี่ปุ่น หรือยุโรป ก็มีกระแสการวางเครื่องดีเซล คอมมอนเรล กันมาพักใหญ่แล้ว โดยเป็นเครื่อง KD ของ “โตต้า” หรือ JK-JJ ของ “อีซุ” ได้อย่างสบาย ไร้ปัญหา แต่ถ้าเป็นเครื่อง RZ4E-TC 1.9 BLUE POWER แล้ว ดูเผินๆ เหมือนจะง่ายนะ เพราะเครื่องมันเล็ก แต่เอาจริงๆ “เล่นเลี้ยว” เลยเหมือนกัน มันไม่ง่ายอย่างที่คิดแน่ๆ เพราะถ้ามัน “ง่ายไปโลกไม่จำ” นั่นเอง…
ใจไม่ถึง ห้ามดู
รถคันนี้เป็นผลงานจาก “หน่อย รีแม็พ เพชรบุรี” ที่มี “ไดโนเทสต์” ไว้คอยบริการด้วย ซึ่ง “ช่างหน่อย” เอง ก็เป็นเพื่อนสนิทของ “ช่างวี” แห่ง V-TUNER จัดจ้านย่าน “คลองห้า” เราก็เลยมีโอกาสได้ไปถ่ายทำทั้งคอลัมน์ Souped Up Special และรายการ “สาระเร็ว” XO autosport on YouTube Channel เราเห็นว่า นอกจากจะแปลกในด้านการวางเครื่องแล้ว ยังมี “เทคนิคการวาง” หลายๆ อย่าง กับเครื่องรุ่นใหม่ ที่ไม่เหมือนเครื่องรุ่นดั้งเดิมที่เรารู้จัก ทำให้บางสิ่งอย่างที่ดูจะไม่มีอะไร แต่มัน “มีอะไร” ให้ต้องทำเยอะแยะ จนถึงขนาดต้อง “ตัดรถ” เพื่อที่จะให้เครื่องวางลงไปได้ จนเรียกว่า “ใจไม่ถึง ห้ามดู” สำหรับคนที่ทำใจไม่ได้…
เครื่องเล็กจริง แต่…
คำแรกที่หลายคนคิด (รวมถึงข้าพเจ้าด้วย) คือ มันจะไปยากอะไรวะ เครื่อง 1.9 ตัวมันเล็กนิดเดียว ไอ้เล็กน่ะ เล็กจริงๆ แต่ “สรีระมันเปลี่ยนแปลงทั้งหมด” และมีหลายจุดที่ “ทำเกมเปลี่ยน” และต้องถึงขนาด “ตัดรถ” ทั้งๆ ที่ดูเผินๆ มันก็ไม่น่าจะต้องขนาดนั้น จะมีอะไรบ้าง เรามาดูกัน…
- มิติของเครื่อง : จากขนาดที่เรามองด้านบน มัน “เล็ก” ประมาณเครื่อง SR20DET ถ้าใครเคยวางใน CEFIRO จะรู้เลยว่ามัน “แสนสบาย” เนื้อที่เหลือเยอะแยะ น้ำหนักเบา เลี้ยวง่าย มันจึงเป็นกระแสของรถ Drift อยู่พักใหญ่ รวมถึง Circuit ในบางคัน แต่ว่า เครื่อง 1.9 นั้น พอวางจริงๆ จะต้อง “ยกระดับขึ้นสูง” เพราะ “แคร็งค์น้ำมันเครื่องมันย้อยลงต่ำมาก” เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันเครื่องให้เพียงพอ เนื่องจากเครื่องเล็ก จะไปขยายข้างๆ ก็ไม่ได้ เลยต้องขยายลงล่าง รถกระบะมันไม่มีปัญหา เพราะว่า “ใต้ท้องสูง” อยู่แล้ว แต่พอมาวางในเก๋ง มีปัญหาแน่ๆ ก็เลยต้อง “หาระดับเครื่องที่เหมาะสม” โดยที่เครื่องต้องไม่ทะลุฝากระโปรงด้วยนะ คันนี้หาได้ตำแหน่งพอดี แต่ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนอน…
- แคร็งค์ตัดต่อไม่ได้ เกมเปลี่ยนโลก : ตอนที่เราเลือกตำแหน่งเครื่องวางพอดีๆ กำลังสวย โดยที่ไม่ต้องตัดหรือทุบอะไรทั้งนั้น แต่แคร็งค์เจ้ากรรมเสือกไปคร่อมอยู่บน “คานหน้า” และ “แร็คพวงมาลัย” พอดี !!! งานมาสิครับ ตอนแรกก็ว่าไม่ยากนะ ตัดต่อแคร็งค์ ย้าย “ฝักบัว” แบบที่ทำๆ กันเป็นปกติ แต่ “ฝันสลาย” ตัวแปรก็คือ “ปั๊มน้ำมันเครื่อง” มันหล่อมาเป็นชิ้นเดียวกับแคร็งค์ ทำให้ไม่สามารถไปตัดต่อหรือยุ่งอะไรกับมันได้เลย จะทำเป็น Dry Sump ก็ “เวอร์ไป” อีกอย่างคือ “ตำแหน่งด้ามเกียร์ไม่ได้” ถ้าวางเครื่องกลางห้องเครื่องพอดี ด้ามเกียร์จะ “มุดอยู่ในคอนโซล” จะต่อ Linkage ออกมาอีกก็โคตรวุ่นวาย เลยต้องจำใจ “ถอยเครื่องหนี” เข้าไปอีก 40 ซม. จนต้องตัด Firewall แล้วต้องตัดเผื่อให้มีเนื้อที่ด้วยครับ เพราะเครื่อง 1.9 “เฟืองแคมอยู่ด้านหลัง” รวมถึง “ปั๊มดีเซล” ยังหันหลังอีกด้วย ถ้าไม่เผื่อมันจะไม่สามารถถอดอะไรได้เลย เรียกว่า “งานมา” จริงๆ เครื่องซื้อมาแล้ว จะถอยก็ไม่ได้ เดี๋ยว “โลกไม่จำ” เลยต้อง “ดำเนินต่อไป” ครับ…
- แอร์ใส่ไม่ได้ แต่จะใส่ก็ได้ แต่… : หลังจากที่ตัด Firewall หลบเข้าไป ทำให้มันไปเบียดบังเนื้อที่ในการวาง “ตู้แอร์” มันแลดูวุ่นวาย “ช่างหน่อย” เลยตัดสินใจ “ไหนๆ จะซิ่งแล้ว ก็ไม่ต้องมีมันละกันแอร์” แต่ว่าถ้าลูกค้าที่ต้องการ “แอร์เย็น เพลงเพราะ” ก็สามารถใส่แอร์ได้ครับ แต่ต้อง “ใช้ตู้แอร์แขวนลอย” แบบรถ Retro นิยมกัน โดยการแขวนไว้ด้านซ้ายหลังเก๊ะ แต่ต้องยอมถอดเก๊ะออก แล้วทำแผงปิด ฝังเกจ์ สไตล์ 90 ไปแทน เออ ก็ไม่เลวนะเว้ย แล้วอย่างนี้ แอร์มันก็ไปเป่าแค่คนนั่งน่ะสิ ไม่เป็นไรครับ เราสามารถต่อท่อย่นมาที่ช่องแอร์เดิมบนหน้าปัดได้เลย…
Max power : 315.4 hp @ 4,700 rpm
Max Torque : 364.8 ปอนด์–ฟุต @ 4,450 rpm
นับว่าโชคดีที่ “ช่างหน่อย” เป็นเพื่อนกับ “ช่างวี” แห่ง V-TUNER ที่มีไดโนเทสต์ ก็เลยได้ทั้งถ่ายรายการ “สาระเร็ว” และ Souped up โดยได้กราฟมาฝากกัน ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเครื่อง RZ4E-TC ขนาดเล็กเพียง 1.9 ลิตร ที่เขาว่า “ต้องใช้รอบเยอะ” มันจะตอบสนองอย่างไรกันแน่…
เมื่อมาดูกราฟแรงม้าและแรงบิด มันก็จริงอย่างที่ “เขาว่า” ก็ไม่แปลก เพราะเครื่องมันเล็ก ถ้าไม่ใช้รอบเครื่องที่สูงกว่าเครื่องใหญ่แล้ว มันจะเอากำลังมาจากไหนกัน ??? กราฟทั้งสองมันก็เลย “เชิดปลาย” คล้ายๆ เครื่องเบนซิน ในส่วนของกราฟแรงม้า (เส้นล่าง) ช่วงรอบไม่เกิน 3,000 rpm ดูจะไม่มีอะไรเลย กราฟทยอยขึ้น ไม่โดดขึ้นเป็นก้อนเหมือนเครื่องความจุเยอะ เพราะตอนที่วัดก็ฟังเสียงเครื่องอยู่ มันต้องไล่รอบเหมือนเครื่องเบนซิน ในช่วง 3,500 rpm มีแรงม้าให้ใช้ 180 hp กราฟก็ทยอยขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 4,000 rpm มีแรงม้าให้ใช้ 250 hp และกราฟก็ขึ้นสู่จุด Peak ที่ 4,700 rpm ได้แรงม้าสูงสุด 315.4 hp ไม่ได้มากมาย เพราะยังใช้เทอร์โบขนาดปาก 41 มม. อยู่ สาเหตุที่ใช้เทอร์โบไซซ์เล็ก เพราะไม่ต้องการให้มันกระโชกโฮกฮากมาก เนื่องจากน้ำหนักของ CEFIRO นั้นเบากว่า D-MAX และเครื่องดีเซลแรงบิดเยอะ เลยกลัวจะ “เสียอาการ” ตอนกดไปเสียก่อน หลังจากนั้น กราฟก็เริ่มโรยตัวลง เริ่มจะ “หมด” แถวๆ 5,000 rpm อาจจะเป็นเพราะเครื่องเดิม แคมเดิม เทอร์โบเล็ก นั่นแล…
สำหรับกราฟแรงบิด (เส้นบน) ก็มาทรงเดียวกันกับแรงม้า ซึ่งปกติแรงบิดของเครื่องดีเซลจะ “มาหนัก มาไว” แต่ “ลงไว” แต่เครื่อง 1.9 ก็ยังต้องใช้รอบเครื่องเรียกกำลังอยู่ กราฟเลย “ไปทางปลาย” เหมือนเครื่องเบนซิน แรงบิดสูงสุด ถ้าแปลงเป็นหน่วยที่เราคุ้นเคย จะได้ตัวเลข “50.4 กิโลกรัม–เมตร” @ 4,450 rpm นับว่าแรงบิดไม่มากนักสำหรับเครื่องดีเซล ถ้าเทียบกับบล็อกที่คุ้นเคย แต่ก็มา “รอบสูง” พอสมควร เลยเรียกว่า “นิสัยคล้ายเบนซิน” เลยก็ว่าได้นะ เพราะฉะนั้น คนขับจะต้อง “ใช้รอบเป็น” และเกียร์ 6 สปีด ก็ต้อง “อัตราทดชิด” เฟืองท้ายก็ต้อง “ค่อนข้างจัด” ไม่งั้น “ห้อย” ก็เรียกว่าถ้าใครจะเล่นเครื่อง 1.9 ก็ต้อง “มีรอบติด Teen” กันหน่อย คนที่เล่นอยู่ก็จะรู้ว่ามัน “ไหลดี” ในขณะรถลอยตัว รอบสูงๆ ไปดีกว่า ถ้าเทียบกับเครื่อง 4JK 2.5 ลิตร…
Comment : ช่างหน่อย รีแม็พ เพชรบุรี
สำหรับคันนี้ ตอนแรกก็เป็นรถที่ให้ศรีภรรยาขับใช้งานทั่วไปนี่แหละ เครื่อง 1JZ-GE VVT-i เกียร์ออโต้ แต่พอซื้อรถใหม่แล้ว คันนี้ก็เลยว่าง เหลือบไปมองว่าจะทำอะไรดี เลยได้คิดว่า ไหนๆ เรามาสายดีเซลแล้ว ก็อยากจะวางเครื่องดีเซลดูหน่อยสิ ก็เลยมองว่าเครื่อง 1.9 มันยังใหม่ และยังไม่มีคนเอามาวางใน CEFIRO A31 เลยไปหามาจนได้ ซื้อเครื่อง + เกียร์ 6 สปีด VGS + ชุดสายไฟ + หน้าปัด ตอนนั้นโดนไป “แสนสาม” พอมาวางก็ “บรรลุสัจธรรม” รถต้อง “ตัด” ไอ้เราก็ว่าจะตัดทำไมวะ เครื่องก็เล็กนิดเดียว มันจะไปติดอะไรได้ แต่ความจริงก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ จากที่วางไว้ “แอร์เย็น เพลงเพราะ” เลยต้องกลายร่างเป็น “แอร์ไม่มี เพลงไม่เพราะ เบาะตัวเดียว” แต่ถ้าจะต้องการ แอร์เย็น เพลงเพราะ ก็ทำได้ครับ แต่ต้องยอมรับว่าต้องยอมตัดรถ และมีการดัดแปลงเพิ่มระบบแอร์อยู่พอสมควร ตอนนี้ราคาเครื่องเหลือ “หกหมื่นห้า” หล่นมาครึ่งนึง มันก็ยั่วใจนะสำหรับคนแบบ “ธรรมดาโลกไม่จำ” สนใจติดต่อมาได้ครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ด้วยความบังเอิญไปเห็น A31.9 คันนี้บนหน้าเฟซของ V-TUNER ก็เลยมองว่ามันแปลกดีวะ ในตอนแรกก็คิดว่าคงจะเป็นแค่ “รถกระแส” วางเครื่อง 1.9 เฉยๆ ไม่มีอะไรมากมาย เครื่องก็เล็ก ไม่น่าจะมีอะไรยาก แต่ดูตอนแรกก็สังเกตว่า “ทำไมต้องตัดไฟร์วอลล์” อันนี้ชวนสงสัย พอได้เห็นหน้างาน ก็รู้ว่า “ธรรมดาทำไม่ได้” จริงๆ เพราะต้องตัดรถ ดัดแปลงอะไรหลายอย่างพอสมควร คนทำใจไม่ได้ก็หมดสิทธิ์ไป ห้องเครื่องสวยดี มีการจัดตำแหน่งหม้อน้ำและอินเตอร์ใหม่ ให้ดูแล้วไม่โล่งเกินไป แต่ก็ยังเหลือรายละเอียดในห้องโดยสารที่น่าจะปรับปรุงเพิ่มหน่อย เช่น เก็บงานถังน้ำมันในรถ อันนี้สำคัญ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงโรลบาร์ ที่ ช่างหน่อย กำลังจะทำเพิ่ม ให้รถมันมีดีเทลเพิ่มหน่อย และช่วยปกป้องคนขับ อันนี้อยากฝากให้ “เน้น” หนักๆ เลยครับ…
Special Thanks
ช่างหน่อย เพชรบุรี รีแม็พ & ไดโนเทสต์ : Facebook/ณัฏฐพล หน่อย ฉ่ำแสง, Tel. 08-9836-0170
V-TUNER : Facebook/Flash Ecu Vtuner 1, Tel. 08-9184-2990
X-TRA ORDINARY
ในช่วงที่ ISUZU D-MAX/MU-X 1.9 Ddi BLUE POWER ออกมาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตอนนั้น หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีเครื่อง “หลุด” ออกมา จาก “รถอุบัติเหตุ” ยกมาทั้งเซต ตอนนั้นขายกันอยู่แถว “แสนหนึ่ง” ถึง “แสนสาม” แล้วแต่สภาพ (เครื่องสภาพใหม่ แต่ถ้าเป็นรถอุบัติเหตุ มันอาจจะมีชิ้นส่วนบางอย่าง แตกหัก เสียหาย หรือมีตำหนิ ราคาก็จะลดลงไปตามสัดส่วน) นับว่าแพงมากพอสมควร ซึ่งหลายคนก็ “จ้อง” จะเอาไปวางในรถหลายแบบ เช่น กระบะ Retro พวก ISUZU FASTER-Z หรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่ง “รถเก๋ง” ที่อยากได้เครื่องดีเซล แรง ประหยัด ใช้กันยาวๆ ไป ตอนนี้ราคาเครื่องร่วงลงมา 2 เท่า ก็ไม่ยากที่จะตัดสินใจ แต่ต้องดูว่า “วางลงไปได้ง่ายๆ ไหม” ถ้ารถใช้งานจริงๆ จะมาตัดอะไรมากมายก็คงไม่ใช่ แต่ถ้า “เข้าเกิบ” กับรถบางรุ่นที่วางได้ง่ายๆ ก็ “จัดไป” ครับ…
TECH SPEC
ภายนอก
สี : ช่างหน่อย เพชรบุรี
กระจกรอบคัน : โพลีคาร์บอเนต โดย ดิว อินเตอร์ซิ่ง
ภายใน
เบาะ : KIRKEY
วัดบูสต์ : AUTO METER
จอเรือนไมล์ : ISUZU D-MAX 1.9
เครื่องยนต์
รุ่น : RZ4E-TC
เทอร์โบ : ISUZU ปาก 41 มม.
ท่ออินเตอร์ : ดิว อินเตอร์ซิ่ง
ท่อร่วมไอดี : ดิว อินเตอร์ซิ่ง
อินเตอร์คูลเลอร์ : ดิว อินเตอร์ซิ่ง
สายถักต่างๆ : PRC (เหรียญชัย เทอร์โบ)
กรองอากาศ : HURRICANE
กล่อง ECU : Remap by ช่างหน่อย เพชรบุรี
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : ISUZU 1.9 6 สปีด
คลัตช์ : ตั้ม คลัตช์ซิ่ง
เฟืองท้าย : อัตราทด 3.9 : 1
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : GAB
ชุดช่วงล่างปรับได้ : ทองรัก ช็อป (ทองรัก สนุ๊กเกอร์)
ล้อหน้า : NISSAN SKYLINE GT-S ขนาด 6.5 x 16 นิ้ว
ล้อหลัง : VOLK TE37 ขนาด 10 x 17 นิ้ว
ยางหน้า : BRIDGESTONE MY-02 ขนาด 185/55R16
ยางหลัง : TOYO PROXES R1R ขนาด 275/40R17 นิ้ว
- “ก็มาดิคร้าบ” ธรรมดาโลกไม่จำ A31.9
- ดูข้างนอกก็ไม่ต่างจาก CEFIRO Drag Style ทั่วไป แต่มีเซอร์ไพรส์เมื่อ “ต๊าดเครื่อง”
- ตำแหน่งการวางเครื่อง ส่วนสูงพอดี ฝากระโปรงเดิมปิดได้แน่นอน
- ตอนแรกจะ “แอรเย็น เพลงเพราะ” ไปๆ มาๆ ด้วยการที่ระบบแอร์ต้องวางจุดกันอีกยกใหญ่ เลยตัดสินใจ “ทำซิ่ง” เอาไว้ขับเล่นๆ ในสนาม
- กระจกเดิมถอดออก เพราะกระจกบานหน้าโดนฝากระโปรงตีแตก เลยทำเป็น “โพลีคาร์บอนเนต” ทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติให้การ “ยืดหยุ่น” และ “เหนียว” กว่า “อะคริลิก” ซึ่งเหมาะสมในการใช้งานกับรถยนต์มากกว่า เพราะรถมีความเร็ว เกิดมีอะไร “บินเข้าหา” พวกเศษหิน กรวด (บางทีไม่เศษละ แม่งมาทั้งก้อนเลย) มันก็ยังรับมือได้มากกว่า รวมถึงการ “กระพือ” น้อยกว่า ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนกว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น
- มองมุมนี้เข้าไป ตัด Firewall ไปเพียบเหมือนกัน เพราะต้องถอยเครื่องเข้าไปถึง 40 ซม. ส่วนอินเตอร์คูลเลอร์ วางตำแหน่ง V-mount เพราะ “เนื้อที่เหลือเยอะ” ไม่มีแผงแอร์แล้วก็วางได้เต็มที่
- สร้าง Air Duct แทนไฟหน้าเดิม ดักลมเข้ากรองอากาศ
- ล้อกับเบรกในตำนาน จาก SKYLINE GT-S ขอบ 16 นิ้ว สมัยยุค 90 ต้องใส่ล้อสูตร “หน้า S หลัง R” ซึ่ง GT-S กว้าง 6.5 นิ้ว ส่วน GT-R กว้าง 8 นิ้ว มันเลยเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ตอนนั้นก็จะนิยม “จับคู่ขาย” ส่วนยางตามสูตรรถยุคนั้น ก็ต้อง ด้านหน้า 205/55R16 ด้านหลัง 225/50R16 ลงตัวสุดๆ กับ CEFIRO และรถขับหลัง ไซซ์ประมาณนี้ แต่คันนี้ใช้ยางหน้าเพียง 185/55R16 เพราะต้องการให้ “หน้าต่ำ” ซึ่งไม่อยากไปโหลดช่วงล่างมาก
- ตอนนี้ล้อจะฟรีค่อนข้างมาก เรื่องแรก CEFIRO น้ำหนักเบากว่ารถกระบะ แต่ได้เรื่อง Balance หน้า–หลัง ได้ดีกว่า และระบบช่วงล่างเป็นแบบ “อิสระ” Multi-links ที่มีการให้มุมล้อได้มากตอนช่วงล่างทำงาน เพราะเน้น “การเข้าโค้งที่ดี” แบบการขับขี่ทั่วไป แต่พอมาเซตแบบ Drag ก็จะต้องเปลี่ยนมุมล้อใหม่ทั้งหมด เพราะเวลาออกตัวแรงๆ ช่วงล่างจะยุบ ทำให้กดล้อหลังเป็น “แคมเบอร์ลบ” หน้ายางแนบไม่เต็มพื้น ล้อก็ฟรีได้เยอะ ทุกอย่างจะค้านทฤษฎีรถปกติ แต่กระบะจะ “เล่นง่าย” กว่า เพราะเป็น คานแข็ง + แหนบ มุมล้อไม่เปลี่ยน ออกตัวทางตรงได้เยี่ยมยอด อย่างที่เคยบอกว่า แหนบมันเป็นแผ่น “น้ำหนักกดได้เต็มหน้า” กระบะจึงวิ่ง Drag ได้ดี แต่ก็ต้องยอมด้อยทางโค้งเป็นปกติ
- ขอความเป็น CEFIRO ให้เหลืออยู่บ้าง พวงมาลัยเดิม 24 วาล์ว คอนโซลเดิม
- ถังน้ำมันอยู่ในรถ การติดตั้งและการป้องกัน “น้ำมันหก” ต้องระวังมากๆ เพราะมันใกล้ตัวคนขับ ส่วน “ซุ้มเกียร์” ต้อง “ตัดสร้างใหม่หมด” เพราะเกียร์ 1.9 มัน “ใหญ่” กว่าเกียร์ JZ หรือ RB มาก ตามสไตล์กระบะ ถ้าเป็นรถถนนที่ต้องการของครบ ก็ต้อง “สร้างคอนโซลเกียร์” ใส่ใหม่ จะดูเรียบร้อยสไตล์รถบ้าน
- ชุดเกจ์ ISUZU 1.9 ทั้งหมด ใส่ในคอนโซลเดิม โชคดีว่าขนาดมัน “ลงตัว” อย่างมาก ตำแหน่งเกจ์วัดและไฟเตือน ไม่มีอะไรบดบังหรือตกขอบ ทุกอย่างยัง “รายงานผลครบถ้วน” และเที่ยงตรง (แต่เรือนไมล์อาจจะมีเพี้ยนๆ บ้าง ตามขนาดล้อและเฟืองท้ายที่เปลี่ยนไป) ที่ต้องเปลี่ยนเพราะระบบ CAN bus ในรถสมัยใหม่ การอ่านค่าต่างๆ ต้อง “ครบจริง” ถึงจะทำงานได้สมบูรณ์
- เบาะยอดฮิต “เคอร์กี้ ลายทหาร”
- ขุมพลัง 1.9 BLUE POWER บล็อก RZ4E-TC ที่กว่าจะวางลงไปได้ก็ต้อง “ทำใจตัดรถ” ก็ดีเรื่องการ Balance น้ำหนักที่ไปกลางรถมากขึ้น เน้นห้องเครื่อง “บลูทูธ” ใสๆ วัยรุ่นชอบ
- เทอร์โบ ISUZU “สามพัน” บล็อก 4JJ ปาก 41 มม. เอาแค่นี้ก่อน ไม่อยากผลีผลาม เพราะเน้นตอบสนองไว “ขับง่าย มาไว” ไม่มาแบบโหดๆ จนทำให้ “เสียหลัก” เอาง่ายๆ
- งานท่อถังกะละมังต่างๆ จาก ดิว อินเตอร์ซิ่ง หัวฉีดยังเดิม ใช้ Remap ช่วยเอา เพราะแรงม้าระดับ 300 เศษๆ ยัง “เอาอยู่”
- หม้อน้ำจะวางล้ำเข้ามาด้านในเยอะ เพราะไม่ต้องการให้หน้าเครื่องโล่งเกินไปจนดูไม่งาม จึงต้องมีแผ่น Cooling duct ดักลมให้ไปเป่าหม้อน้ำเต็มๆ ไม่งั้นมันลอดหนีหมด ส่วนท่อร่วมไอดี ได้ Custom และ “ย้ายปากทางเข้าใหม่” เพราะปกติมันจะออกข้าง (หันปากขึ้นบน) พอมาวางใน CEFIRO ที่ใช้ช่วงล่างหน้าแบบ “แม็คเฟอร์สัน สตรัท” มันติดซุ้ม เลยต้องย้ายออกมาด้านหน้า แต่กระบะไม่มีซุ้มโช้ค ก็เลยไม่มีปัญหา