เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้อ, พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ
ULTRA QUAD TURBO CYCLONE
L200 “สี่หอย” สายซิ่งยุค 90
“ส.รัตนดีเซล” ชุมแพ จัดหนักตามจินตนาการ
คงจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วในงาน “มอเตอร์โชว์” ทาง XO autosport ได้จัดประกวด “กระบะซิ่ง” ซึ่งเจ้า L200 CYCLONE คันนี้จะลงประกวดในรุ่น Open เพราะเป็น “ปั๊มสาย” เรียกว่าได้กระแสดี สไตล์ยุค 90 ที่ “กำลังมา” เรียกว่า “อดีตเคยแรง” กับเครื่องยนต์ “Swirl Chamber” บล็อก 4D56 ที่ขึ้นชื่อในด้าน “รอบจัด” กว่าพรรคพวกมานาน เลยทำให้มันมีตำนานที่คนกลับมาเล่นอีกครั้ง และแน่นอนว่า การกลับมาครั้งนี้ย่อมไม่เหมือนเดิม เติมเอกลักษณ์ “หอยสี่พี่น้อง” มาอัดแน่นอยู่ในห้องเครื่องให้เราได้ “ยิงภาพ” มาให้ชมนั่นเอง…
ทำตามใจรัก เท่านั้นก็พอ
จากใจของ “Build” เจ้าของรถ แห่งร้าน “ส.รัตนดีเซล” ชุมแพ ขอนแก่น ที่เคยผ่านเรื่องราวในยุค 90 มาก่อน จึงมีความคิดที่จะ “ปลุกลุง” อีกครั้ง ครั้นจะย้อนไปเล่นกับ “เฉินหลง” ตัวก่อนก็เก่าไปหน่อย พอดีมีรุ่นนี้อยู่คันหนึ่ง ตอนแรกจะทำเป็นรถใช้งานธรรมดาๆ แต่คิดว่าคงไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าตัว CYCLONE นี้อีกแล้ว เลย “จัดหนักตามจินตนาการ” ออกมาเป็นแบบนี้ ที่ทำให้ “ใครๆ ก็รู้ว่ารถผม” โดยเน้นงานเก็บรายละเอียดที่ลงตัว คงเอกลักษณ์รถยุค 90 แต่ก็ขอ “เติม” อะไรให้มัน “ตื่นเต้น” กันหน่อย ด้วยสไตล์ทันสมัย คันนี้ไม่ได้ทำมาแข่งกับใคร แต่ขอทำ “ตามใจตัวเองรัก” แค่นั้นพอ…
แต่งซิ่งสไตล์ 90
ในยุค 90 การแต่งรถกระบะก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่า “สีสวย + ล้อลึก + เตี้ยมุดซุ้ม” ซึ่งน้องๆ รุ่นใหม่อาจจะนึกภาพไม่ออก ตามคำยอดฮิต “เกิดไม่ทัน” ไม่ทันก็ไม่เป็นปัญหา เพราะจะ “เหลา” ว่าแต่ง L200 สไตล์ 90 นั้น ทำยังไงก่อน…
- สีสด เงาแว้บบบ : แน่นอนครับ รถสีสดๆ ก็ย่อมจะ มี “Attraction” หรือ “การดึงดูด” ได้มากกว่า ปกติรถกระบะสมัยนั้นก็จะมีแต่โทนสีเรียบๆ มาให้เป็นหลัก ให้มันดูแล้วไม่ค่อยเลอะเทอะ รักษาง่าย เพราะเน้นใช้งานจริงๆ เช่น สีเทาดำ หรือสีน้ำเงิน ประมาณนี้ วัยรุ่นไม่นิยมแน่ เลยต้องเปลี่ยนสีเป็น “แดง” หรือ “เหลือง” เป็นสียอดฮิตสมัยนั้น อาจจะมีสี “เขียวมินต์” โผล่มาบ้าง บางคันก็ทำ “สีเกล็ด” ก็แล้วแต่ความนิยม…
- เลาะตะขอ อุดเอว : รถกระบะในยุคก่อนจะมี “ตะขอ” อยู่ข้างกระบะ เพื่อเอาไว้เกี่ยวมัดรัดของ แล้วจะมี “ร่องเอวกระบะ” เพื่อให้สอดเชือกเข้าไปมัดได้ แต่สายซิ่งแล้ว มันดู “ไม่เท่ ไม่โดน” ก็เลยต้องหาทาง “เลาะตะขอ” ออก แล้วก็ “เหล็กตีโป๊ปิดร่องเอว” ให้เรียบเนียนไปเลย…
- ล้องาม เมื่อยามสาวโบก : แต่ก่อนก็จะมีกระบะแต่ง 2 แนว คือ “ล้อล้น” ขอบ 15 ออฟเซตลบเยอะๆ ยางป่องๆ แต่ถ้าแนว “สปอร์ต” ก็จะต้องเอา “ล้อของรถเก๋ง” มาใส่ ยอดฮิตตลอดกาลก็ RIAL MESH 17 นิ้ว “ออฟเซตกระป๋องโค้ก” คือ สามารถวางที่ขอบได้สบายๆ หรือ “ออฟแมวนอน” ก็แล้วแต่เรียก แต่ถ้า “ป๋าสุด” จริงๆ ต้อง BBS RS ขอบ 18 นิ้ว กับรถสีเงาๆ นะพี่น้องเอ๊ยยย…
- ภายในครีม พวง BENETTON : ตามที่บอก ภายในของเดิมสีเทาๆ ตุ่นๆ มันไม่โดนใจ ต้อง “หุ้มหนังสีครีม” กันให้สนั่นเมือง เบาะก็ต้อง “รถสปอร์ตเซียงกง” ให้ทรงมันซิ่งๆ หน่อย พวงมาลัย ถ้าจะสุด ต้อง BENETTON หรือ BBS ครึ่งหนังครึ่งไม้ เครื่องเสียงตึ้บๆ ถ้าเซตโบก็ต้อง “วัดบูสต์ AUTO METER หน้าน้ำมัน” ถ้าเหลืออีกหน่อยก็ต้อง “วัดรอบตัวใหญ่” ติดไว้บนหน้าปัดให้ “ล่อใจโจร” เล่น (ก็งงว่าวัดรอบเบนซินมาใช้กับดีเซลจะทำให้ขึ้นยังไง)
- เปลี่ยน “สปริงเบนซ์” : นับว่าเป็นจุดเด่นของ L200 AERO BODY รุ่นนี้ที่ใช้ “คอยล์สปริงด้านหน้า” ก่อนใคร พรรคพวกยังเป็น “ทอร์ชันบาร์” กันอยู่เลย ถ้าจะโหลดเตี้ยแล้วไม่อยากจะกระด้าง (นัก) ไม่อยากตัดสปริง ก็หา “สปริงเบนซ์” มาใส่ รถจะเตี้ยลงมา และยังพอดีความนุ่มนวลอยู่…
- สายโหด ร่นบอดี้ต่ำ : ถ้าใครเคยเล่นรุ่นนี้มาก่อน จะรู้ทันทีว่า เวลาโหลดจนแชสซีจะติดพื้นแล้ว ตัวบอดี้ยังลอยอยู่เลย ทำให้ตัวรถดูไม่เตี้ยเหมือนชาวบ้าน หนทางแก้ ถ้าจะเล่นสายโหดจริงๆ ก็ต้อง “ผ่าร่นบอดี้ลงต่ำ” เหมือนพวก “สายหมอบ” PRO TRUCK เมื่อ 2-3 ปีก่อน เพื่อให้บอดี้ลงสวยพอดี…
90 Featuring New Era
สำหรับคันนี้ก็เป็นการตกแต่งและโมดิฟายที่ผสมผสานระหว่างยุค 90 และยุคบัดนาว ภายนอกก็คงไม่มีอะไรไปกว่าการ “เก็บเดิม” เน้นงานสีที่ “เนี้ยบ” เพราะรถเก่าอยากสวย ต้องเน้นจุดนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทำได้ มันจะทำให้ดูมี “คุณค่า” โดดเด้งขึ้นมาทันใด ผสานกับ “งานคาร์บอนพร้อมใยแดง” จาก AKANA เช่น ฝากระโปรง และกระจกมองข้าง ส่วนด้านท้ายก็พิมพ์กระบะซิ่งยุคใหม่นิยม ใส่ “ค้ำกระบะ” จาก IRON BAR ที่ Custom สำหรับคันนี้โดยเฉพาะ พร้อมถัง “นอส” คู่ ยิงให้เถิดเทิงกันไปเลย …
Quad-Compound Turbo
การต่อเทอร์โบแบบ “อนุกรม” หรือ Compound นั้น จะเป็นการ “ทวีคูณ” ของการอัดอากาศ โดยปกติเทอร์โบ 1 ลูก ก็จะมีข้อจำกัดของตัวมันเองในด้าน “ประสิทธิภาพในการดูดและอัดอากาศ” ได้ตามขนาดของเทอร์โบที่ใช้ ถ้าเอาเทอร์โบเล็กหน่อย ต้นและกลางจะดี แต่ “ท้ายไม่เดิน” แต่ถ้าเทอร์โบใหญ่เกินไป ก็จะ “รอรอบมาก” ไปดีแค่ช่วงปลายนิดเดียวก็ไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าเป็นเครื่องเบนซินไม่ค่อยมีปัญหา เพราะ “รอบเครื่องสูง” ใช้ไอเสียไปปั่นเทอร์โบได้มาก ถ้าแข่งรุ่นใหญ่ก็ “ยิงแก๊ส” ช่วยได้อีก เลยใช้หอยใหญ่ตัวเดียวได้…
แต่ว่า “เครื่องดีเซล” มันมีข้อจำกัดที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า “รอบเครื่องน้อย” แต่ “ต้องการบูสต์เยอะ” แล้วเราจะทำยังไง ถ้าไอเสียในรอบสูงมีไม่พอที่จะไปปั่นหอยยักษ์ๆ กว่าจะบูสต์ได้ก็คงหมดรอบไปซะก่อน ตัวเดียวมันก็ได้แต่มีข้อจำกัด ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ไปขยายเทอร์โบใหญ่ขึ้นอีก แล้วจะเอารอบเครื่องจากไหนมาปั่น ก็เลยต้องใช้การพ่วงเทอร์โบแบบ Compound เอาเทอร์โบต่างขนาดมาต่อทวีแรงดันกัน เพื่อให้บูสต์มากกว่า 100 psi สำหรับการแข่งขันตั้งแต่ PRO TRUCK ไปยัน SUPER DRAGSTER ที่ต้องใช้ “แก๊ส” ช่วยเพิ่มแรงดันไอเสีย ไม่งั้นคงไม่บูสต์แน่ๆ…
แต่คันนี้ขอ “แหวกแนว” ด้วยเทอร์โบ 4 ตัว แต่เซตในแบบ “วิ่งถนนได้จริง” โดยที่ไม่ได้เน้นเทอร์โบใหญ่เกินไป ก็จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ตัวแรก MITSUBISHI TF-08 L1 เป็นตัวต้นกำลัง เอาไว้อัดบูสต์สูงสุด โดยรับไอดีจากตัวที่ 2-3-4 แล้วค่อยอัดเข้าเครื่อง ส่วนไอเสียก็กลับไปขับเคลื่อนย้อนทางกันกับไอดี…
- ตัวที่ 2 เป็น HOLSET HX45 ที่มีขนาดกลาง ติดบูสต์ต่อในช่วงกลาง เป็นตัวดูดไอดี…
- ตัวที่ 3-4 เป็น HOLSET HX35-40 มีขนาดเล็กสุดที่ใช้ ติดบูสต์ก่อน เป็นตัวดูดไอดีเช่นกัน…
ขอหล่อๆ ขับถนนได้ ไม่เน้นบ้าพลัง
สำหรับการปรุงความแรง เป็นหน้าที่ของ “ส. รัตนดีเซล” ทั้งหมด “ฝาสูบ” ก็จะมี “วาล์วใหญ่” บวก “สปริงวาล์ว” ตบตูดด้วย “แคมชาฟต์” ที่ทางร้าน Custom เอง ส่วน “ท่อนล่าง” ก็มีเพียงแค่ลูกสูบ 4D56 Turbo แท้ๆ ส่วน “หัวฉีด” และ “ปั๊ม” ก็จัดการโมดิฟายใหม่หมด ให้รองรับกับ Nos หรือ “ไนตรัสออกไซด์” ส่วน “เฮดเดอร์” กับ “ท่ออินเตอร์” ก็จัดการใหม่หมด อันนี้ “คิดนาน” เพราะทำยังไงที่จะต้องสวย และหลีกเลี่ยงการตัด ทุบ ที่ตัวรถหรือห้องเครื่อง ที่สำคัญ “จะต้องปิดฝากระโปรงได้อย่างปกติ” ส่วน “หม้อน้ำ” ต้องไปไว้ท้ายรถ เพราะ “ห้องเครื่องเต็มแล้ว” เป็นของ BRD คันนี้บูสต์อยู่แค่ 30 ปอนด์ ก็พอ เพราะต้องการขับเนียนๆ บนถนนได้จริง ไม่เอาแรงแบบบ้าคลั่ง…
X-TRA ORDINARY
L200 CYCLONE ในเมืองไทยจะมีจำหน่าย 2 รุ่น คือ Single Cab หัวเดี่ยว หรือ “ตอนเดียว” และ Aero Body แบบมีแค็บ หรือที่เรียกกันว่า “ตอนครึ่ง” ในยุคนั้น ส่วนตัว 4 ประตู Double Cab หรือ “สองตอน” ที่เป็นรถแท้จากโรงงาน จำได้ว่าไม่มีขายในไทย (ที่เห็นนั้นส่วนใหญ่เป็นรถจาก “ศรีเทพไทย” หรือเจ้าอื่นๆ ที่ต่อในบ้านเรา) รุ่นนี้นับว่าเป็นรถสร้างชื่อของ MMC ประเทศไทย เพราะผลิตในเมืองไทย แต่ส่งออกไปยัง “โปรตุเกส” ในปี 2532 และ “ตุรกี” กับ “ยุโรป” ในปี 2535 เป็นการยกระดับมาตรฐานรถกระบะที่ผลิตในบ้านเรา…
ขอขอบคุณ
คุณ Build แห่ง “ส. รัตนดีเซล” : Facebook/build natthawin, Tel. 08-3144-4431
ECU=SHOP : Facebook/ECU=SHOP
TECH SPEC
ภายนอก
งานสี : อู่สมนึก ชุมแพ
ฝากระโปรง : AKANA
กระจกมองข้าง : AKANA
ภายใน
เบาะ : KIRKEY
พวงมาลัย : NARDI
เกจ์วัด : AUTO METER
หัวเกียร์ : IRON BAR Titanium
เครื่องยนต์
รุ่น : 4D56
ฝาสูบ : ส. รัตนดีเซล
วาล์ว : ส. รัตนดีเซล
แคมชาฟต์ : ส. รัตนดีเซล
ลูกสูบ : 4D56 Turbo
ก้านสูบ : 4D56 Turbo
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 L1 + HOLSET HX45 + HOLSET HX3540
เวสต์เกต : HKS GT2
เฮดเดอร์ : ส. รัตนดีเซล
อินเตอร์คูลเลอร์ : ส. รัตนดีเซล
ท่ออินเตอร์ฯ : ส. รัตนดีเซล
ปั๊มดีเซล : ส. รัตนดีเซล
หัวฉีด : ส. รัตนดีเซล
หม้อน้ำ : BRD
ไนตรัส : NOS
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : TRITON 5 สปีด
คลัตช์ : ส. รัตนดีเซล
เพลาท้าย : NISSAN CEDRIC
ตัวล็อกเบรกเบิร์นยาง : JEG’S
ช่วงล่าง
ล้อหน้า : WELD ขนาด 8 x 17 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 12 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : RAIDEN WOLVERINE X401 ขนาด 225/55R17
ยางหลัง : RAIDEN HERO DRAG ขนาด 275/60R15
- กระบะ 90 “แก่แต่อย่าขิง” นะ
- อะไหล่ต่างๆ เบิกใหม่หมดเท่าที่มี ทำให้ลุคดู “ใสๆ” ไม่แก่ตามวัย
- กระจังหน้ารุ่นหายาก โดยปกติบ้านเราจะเจอพวก “ยูคว่ำ ยูหงาย” แล้วแต่ปี ฝากระโปรงคาร์บอน “ใยแดง” ช่วยขับให้ “ขึ้น” แบบ “กลมกลืน” มากทีเดียว
- เอกลักษณ์กระบะยุคแรก ถึงยุค 90 ก็คือ “รั้วกระจกหลัง” เอาไว้กันของกระแทกกระจกแตก รวมไปถึง “ขอกระบะ” ถ้าแนวซิ่งยุคนั้นก็ต้อง “เลาะออกให้หมด” แต่ยุคนี้ต้องมีไว้เพราะ “คลาสสิก” นะจ๊ะ
- ตอนแรกใส่ล้อ 6 ก้าน 4 วง ก็ดูแนวเรียบร้อยแบบรถบ้านซิ่งๆ หน่อย แต่ใส่ WELD “ลูกโม่” เข้าไป ก็จะเปลี่ยนเป็นแนว Street Drag ทันที
- “เสี่ยสั่งจัด” ล้อชุดนี้มาให้เราถ่ายโดยเฉพาะ ล้อธรรมดามัน “อยู่ยาก” ต้องมีของพิเศษมาล่อใจแฟนคลับหน่อย
- ทรงเครื่องท้ายเต็ม ชุดบาร์ไทเทเนียม IRON BAR พร้อมขายึดถัง NOS คู่
- หน้าปัดเดิม เรือนไมล์รุ่นแรกแบบไม่มีวัดรอบ เน้นเรียบๆ เพราะทำให้ขับบนถนนได้จริงโดยไม่ต้องฝืน
- ขุนพลเกจ์ยุค 90 “ออโต้มิเตอร์” สิครับ
- เบาะ KIRKEY เน้นเท่ (แต่อาจจะเจ็บดากหน่อย) ถัง NOS ใบที่ 3 เอาให้เถิดเทิงกันไปเลย ด้านหลังติดตั้งตู้แอร์แขวนไว้ด้วย ตามคอนเซปต์ แอร์เย็น เพลงเพราะ เบาะ (ไม่) นุ่ม แต่เครื่องแรง
- สาย Drag ต้องมี สวิตช์เบิร์นยาง
- การวางตำแหน่งเทอร์โบต้อง “คิดหนัก” กว่าอย่างอื่น เพราะยัดเข้าไปตั้ง 4 ลูก แถมยังต้องกำหนดว่า “ปิดฝากระโปรงได้ตามปกติ” ซึ่งต้อง “กระดกด้านหลังขึ้นหน่อย” สไตล์รถซิ่ง 90 แต่ก็ยังไม่น่าเกลียดอะไร พวกท่ออินเตอร์ ท่อไอเสีย วางตำแหน่งได้พอดี ดู “เยอะ” แต่ “ไม่รก” สวยงามลงตัว
- มาให้บ๊วบซะดีๆ
- TF-08 นี่ก็เล่นมานานนมแล้วสำหรับดีเซล ท่อไอดีจะดูย้อนไปย้อนมาหน่อย เพราะเครื่อง 4D56 เป็นฝาสูบแบบ Turn Flow ไอดีกับไอเสียอยู่ฝั่งเดียวกัน คนทำต้อง “มือถึง” เพราะท่อมันจะเลี้ยวไปเลี้ยวมาเยอะหน่อย