เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
RACING GALANT GTO
Full Detail + All C II Modified
สำหรับรถสปอร์ตจากค่าย MITSUBISHI ถ้าคนเล่นรถสมัยก่อน ก็จะต้องรู้จักกับเจ้า COLT GALANT GTO กันอย่างแน่แท้ ด้วยรูปลักษณ์แห่งความเป็นสปอร์ตเต็มตัว แบบ “อเมริกันดีไซน์” ที่สร้างความประทับใจให้ไม่รู้ลืม ในเรื่องของความนิยม และความหลากหลาย อาจจะเป็นรองคู่แข่งอยู่พอสมควร แต่ก็กลับกลายเป็น “เสน่ห์” ในด้านที่คนไม่ค่อยเล่นกัน จึงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปนาน ปัจจุบันสิ่งที่ได้มาก็ไม่ได้ง่ายนัก ต้องลงทุน ลงแรง และ “ลงใจ” กับมันมากกว่ารถที่มีกันเยอะ ๆ เนื่องจากตัวรถเองก็มีน้อย รวมถึงอะไหล่ต่าง ๆ ก็น้อยตามไปด้วย แต่ก็มีคนที่ตั้งใจจะปลุกปั้นมันขึ้นมาจริง ๆ ทุ่มกับมันไปเยอะ แต่ผลตอบรับก็คุ้มค่า เพราะมัน “สวย ครบ แรง” จนเราต้องพามาเยือนคอลัมน์นี้อีกครั้ง…
โก๋วัยซิ่ง กับการคืนชีพอีกครั้ง…
เมื่อสักสองเดือนก่อน เราก็ได้ลง GTO สีเหลืองมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็น A57C เหมือนกัน ก็ได้ร่ายยาวถึงประวัติของรุ่น A57C แบบคร่าว ๆ กันไปแล้ว ครั้งนี้ก็ขอละไว้ เพราะมันทิ้งช่วงกันไม่นาน คันนี้สีเหลืองเหมือนกัน รถคนละคันกันนะ แต่เจ้าของก็รู้จักกันในกลุ่ม คันนี้เป็นของ “อายักษ์” แห่ง RPT TYRE นี่ก็เป็นขาเก๋าในวงการรถแข่งสมัยก่อน นึกอยากหวนคืนอดีตที่เมามันส์ ประกอบกับ “เคยใช้” รถรุ่นนี้อยู่ และเป็นรถที่ยังมีคนทำไม่มากนัก มาเหมาะพอดีในช่วง Retro Car กำลังนิยม ประกอบกับเจอรถที่มีสภาพ “ไปได้” เลยตัดสินใจทำขึ้นมา โดยตั้งคอนเซ็ปต์ไว้ว่า “แรงจริง วิ่งได้สบาย” ของแต่งจะเน้นในยุคของมัน แต่จะมีการดัดแปลงเอาของรุ่นใหม่ ๆ ใส่บ้าง เพื่ออัพเกรดสมรรถนะให้สูงขึ้น เพราะมีการเอาไปวิ่งในสนามแข่งบ้างแบบสนุกๆ แต่ก็ยังคงความ “เดิม” ในส่วนขององค์ประกอบภายนอกให้มากที่สุด…
โป่ง GS-R แท้ เก็บ Detail ให้ครบที่สุด
ในส่วนของภายนอก มีการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ก็นับว่าเป็นเรื่องโชคดี ที่ “มีเงิน” และ “หาของได้” ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะของ GTO จะมีน้อย บางจังหวะมีเงินก็ไม่มีของ เลยต้องพก “ดวง” มาด้วยกัน คันนี้ก็ได้มาครบ งานนี้ได้ “เฮียปุ๊ย โรตารี่” เป็นผู้ประมูลของรอบคันให้ โป่งของ GS-R แท้ จริง ๆ แล้ว GS-R ไม่ได้มีโป่งจากโรงงานไปซะทุกคัน ตัวโป่งเย็บมันเป็น Option ให้เลือกสั่ง แต่มีแล้วก็ดูดุดันไปอีกแบบ เหมาะกับล้อลึก ๆ กว้าง ๆ อุปกรณ์ส่วนประกอบรอบคัน ไม่ว่าจะเป็น ไฟต่าง ๆ คิ้ว โลโก ก็ใช้ของใหม่ หรือของสภาพใหม่มาใช้ ได้มาครบ ๆ ก็โชคดีมาก โดยเฉพาะ “ไฟถอย” ใต้กันชนหลัง อันนั้นแหละจะหายากสุด ส่วนใหญ่อุดทิ้ง หรือไม่ก็แปลงของใกล้เคียงมาใส่ ก็พอใช้ได้เหมือนกัน หากหาไม่ได้จริงๆ ส่วน “ภายใน” ก็เล่นชุดใหญ่ โดยการสั่งของตรงรุ่นมาใช้ทั้งหมด ทั้งเบาะ แผงข้าง รวมไปถึงผ้าหลังคา หน้าปัดทั้งชุดสั่งใหม่หมด เกจ์วัดต่าง ๆ ทำงานได้ครบ ก็ทำให้ GTO คันนี้ สามารถใช้งานได้อย่างสบาย…
4G32 (???) โมดิฟาย C II ครบตัว
รถคันนี้ใช้รหัสตัวถัง A57C ก็เป็นรุ่น 2000 SL/GS/GS-R (ใช้รหัสเดียวกัน แต่ผิดกันที่ของตกแต่ง ซึ่งว่าไปแล้วในฉบับเดือนเมษายน ที่ผ่านมา) เครื่องยนต์เดิมเป็น 4G52 2.0 ลิตร ตระกูล ASTRON ที่จัดว่าแรงใช้ได้ในสมัยนั้น แต่คันนี้ไม่ใช่เครื่องเดิมครับ เพราะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่อง 4G32 1.6 ลิตร ตระกูล SATURN ซึ่งมีอยู่ใน GTO รุ่น M Series รหัส A53C (รุ่นแรก ไฟท้ายสี่เหลี่ยม สี่ดวง) เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากเจ้าของเก่าเปลี่ยนมาเป็นเครื่องนี้อยู่แล้ว ตอนแรกก็ว่าจะเปลี่ยนกลับเป็น 4G52 ตามรุ่น แต่ติดปัญหาที่ว่า “จะหาของแต่งยาก” รวมถึงอะไหล่ด้วย (เรื่องอะไหล่ ก็คงจะเป็นเหตุผลที่เจ้าของเก่าเปลี่ยนเป็น 4G32) เครื่อง 4G32 สามารถหาของแต่งได้เยอะ อะไหล่ก็หาง่ายกว่า เลยคงเอาไว้ ตั้งใจไว้เลยว่าจะต้องโมดิฟายด้วยชุดแต่ง “C II” (ซีทู) ที่เป็นอะไหล่โมดิฟายของรถตระกูล MITSUBISHI โดยตรง คันนี้ก็จับโมดิฟายใหม่หมด แต่ก็ยังคงมีแอร์ ขับได้ปกติ ไม่ Over Heat (รายละเอียดชมบรรยายใต้รูปครับ) ระบบส่งกำลัง ก็มาเต็มชุดเหมือนกัน ใช้เกียร์เดิม แต่เรียงอัตราทดใหม่ให้ชิดขึ้น คลัตช์ทองแดงย้ำใหม่ เปลี่ยนระบบเป็นคลัตช์น้ำมัน เพราะจะทำให้เหยียบเบาแรงกว่าคลัตช์สายของเดิม ส่วนเฟืองท้าย เอาของ C II มาทั้งลูก อัตราทด 4.6 : 1 (จัดมาก) ซึ่งเป็นลิมิเต็ดสลิปด้วย อันนี้ก็เป็นของหายากอีกเหมือนกัน…
ช่วงล่างลูกผสม ใส่ Ball Joint ชุดใหญ่
ระบบช่วงล่างรุ่นนี้ ของเดิม ๆ จะค่อนข้างเป็นจุดอ่อนในด้านการทรงตัวที่ความเร็วสูง เพราะออกแบบมาง่าย ๆ ด้านหน้าเป็นแม็คเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลังเป็นคานแข็ง แหนบ แบบพื้น ๆ พอเอามาขับเร็ว ๆ จะต้องมีการปรับปรุงชุดใหญ่ ด้านหน้าเปลี่ยนบู๊ชยางเป็น “Ball Joint” ทั้งหมด ทุกจุดเท่าที่ทำได้ เป็นงานของทางยุโรป นำมาดัดแปลงใส่ โช้คอัพ BILSTEIN ทำสตรัทปรับเกลียว ด้านหลังก็เปลี่ยนแหนบ ไปสั่งทำให้ค่าความแข็งดีขึ้นกว่าเดิม โช้คอัพแก๊ส KAYABA ทำได้แค่นี้ ก็คงต้องมี “ทักษะ” ในการคุมรถรุ่นนี้บ้าง จากอาการ “ตูดไว” ที่เป็นปกติ เพราะท้ายเบา ดังนั้น คนขับต้อง “รู้ใจ” และคุมมันให้ถูกวิธี ระบบเบรก ด้านหน้าเอาของ 200 SX มาดัดแปลงใส่ โดยใช้การกัดอะลูมิเนียมเป็นอักษร GALANT ถ้าดูเผิน ๆ ไม่รู้ ก็เชื่อเหมือนกัน ก็หมดรายละเอียดแค่นี้ สรุปว่า คันนี้ออกมาถูกใจเจ้าของ ได้ทั้งความแรงและความสวย ซึ่งสามารถวิ่งได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย ไว้เจอกันฉบับหน้าครับ ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ “อายักษ์ RPT TYRE” เจ้าของรถ, “โมโม่ DUNLOP” หิ้วรถมาให้ถ่ายถึงที่…
- รถเก่า ๆ ได้ชุดไฟต่าง ๆ ใหม่ จะทำให้ดูสดใสขึ้นเยอะเลย
- ไฟท้ายของเวอร์ชั่นสาม ปี 1973 เป็นต้นไป จะเป็นทรงนี้ ทั้งรุ่น 1700 SL (A55C) และรุ่น 2000 ทั้งหมด (A57C) ยังขาดโลโก 5 SPEED ที่ข้างป้ายทะเบียนด้านซ้ายอยู่
- กระจกมองข้างตรงรุ่น
- อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ของสวย ไฟถอยนี่แหละหายากสุด
- ทรวดทรงแบบ Japanese Muscle ยอดฮิตในยุค “เซเว่นตี้” คู่แข่งโดยตรงกับ CELICA Liftback
- ล้อ AME ขอบสวย ยาง DUNLOP จากหลานชายสุดที่รัก
- ช่องลมในเวอร์ชั่นปี 1973 ขึ้นไป จะเป็นซี่ถี่แบบนี้ ส่วนรุ่น M และ X Series (ไฟท้ายสี่เหลี่ยม) จะเป็นครีบสามชั้น
- พวงมาลัยเวอร์ชั่นสุดท้าย สภาพสมบูรณ์
- สภาพภายในเรียบร้อย
- สวิตช์ต่าง ๆ ได้มาครบ และอยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ปกติทุกอย่าง
- อุตส่าห์ไปประมูลภายในเดิมมาจนได้ เบาะนั่งทรงกึ่ง Bucket Seat
- ของได้มาครบจริง ๆ ทำให้ดูสมบูรณ์แบบ
- 4G32 ลูกสูบ C III (ซีทรี) เป็นชุดสำหรับขยายเป็น 1.8 ลิตร คาร์บู WEBER 45 DCOE แคม C II 300 องศา เฮดเดอร์สูตรตัวแข่ง 4-2-1 ขยายวาล์ว ขัดขยายพอร์ต จัดให้โดย “ช่างตี๋โหลด” เจ้าเก่า งานนี้ใช้น้ำมัน “ไฮออกเทน” อย่างเดียว