สำหรับการ Return ของคอลัมน์ XO TEST จะมุ่งเน้นการนำเสนอการทดสอบรถยนต์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะแปรเปลี่ยนรูปแบบไปตาม Concept ในแต่ละครั้ง แต่ในทุกครั้งจะมี “ผลแสดง” ด้วยเครื่องมือวัดที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ เพื่อการแสดงสมรรถนะที่แม่นยำ เชื่อถือได้ ซึ่งทางทีมงาน XO AUTOSPORT จะเป็นผู้ควบคุมการทดสอบ เพื่อความเป็นมาตรฐานสไตล์ของเรา ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นรถยนต์ HONDA BRIO Eco Car ยอดนิยม ที่นำมาโมดิฟายกันมากในยุคนี้ เราจึงมองเห็นความสำคัญ และนำมาทดสอบเพื่อให้ได้เห็นถึงสมรรถนะหลังจากการโมดิฟาย เงื่อนไขคือ เป็นการโมดิฟาย 3 Steps บนพื้นฐานเครื่องยนต์เดิมติดรถ บล็อก L12A ความจุ 1.2 ลิตร เหมือนกันทุกคัน แต่จะมีรายละเอียดการโมดิฟายที่ “แตกต่างกัน” ไปในแต่ละ Step รวมถึงการโชว์สมรรถนะการวิ่งทดสอบ รวมถึงตัวเลขแรงม้าที่เราจับทดสอบพร้อมกันทั้งหมด เพื่อให้มี Condition เดียวกันทั้ง 3 คัน ครั้งนี้พร้อมให้ท่านรับชมแล้วครับ ส่วนในโอกาสหน้า จะเป็น HONDA BRIO เหมือนเดิม แต่เล่นโหดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนเครื่องเป็น L15A โมดิฟาย 3 Steps รับรองสนุกไม่แพ้กันครับ…
จุดประสงค์ในการทดสอบ
– เพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับผู้อ่าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานและขับขี่ รวมถึงงบประมาณที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จะได้มี Choice ให้กับตัวเอง ว่าควรจะเลือกทางไหน ให้เหมาะสมกับตัวท่านเองที่สุด…
– คอลัมน์นี้ “ไม่ใช่การนำรถมาแข่งขัน” เอาเวลาที่เร็วที่สุด หรือแรงม้าที่มากที่สุด หรืองบประมาณแพงที่สุด มาเป็นตัวตัดสิน เราจะนำเสนอเป็น “การทดสอบ” หลายๆ แบบ ในพื้นฐานรถพิกัดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ว่าในแต่ละคัน หรือการโมดิฟายแต่ละ Steps ว่าให้ผลออกมาอย่างไร โดยมี Comment จากทางทีมงาน XO AUTOSPORT และทาง Speed Shop เป็นส่วนประกอบในการพิจารณา…
– ในการโมดิฟายแต่ละ Step นั้น เราจะใส่ “งบประมาณ” ที่เจ้าของรถได้จ่ายจริงมาด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาสำหรับการโมดิฟาย Step นั้นๆ โดยจะ “เป็นราคารวมของการโมดิฟายเครื่องยนต์ อุปกรณ์กล่อง ECU และระบบส่งกำลังเท่านั้น” ไม่รวมของแต่งอื่นๆ ส่วนราคาที่นำมาอ้างอิงนี้ จะเป็นราคาที่เจ้าของรถได้แจ้งมากับทางเรา “ราคาที่แสดงจะไม่ได้เป็นมาตรฐานตายตัว” ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ประกอบกันหลายส่วน ควรจะสอบถามราคากับ Speed Shop ที่ท่านจะนำรถไปโมดิฟายให้แน่ชัดก่อนลงมือทำทุกครั้ง…
– สำหรับ Speed Shop ที่เราเลือกมาแต่ละครั้ง จะพิจารณาจากผลงานการโมดิฟายที่เห็นได้ชัดเจน แต่ “ไม่ได้เป็นการรับประกัน” ว่า Speed Shop ที่เรานำเสนอ จะต้อง “ดีที่สุด” และทาง XO AUTOSPORT ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ Speed Shop ที่นำเสนอแต่อย่างใด ซึ่งท่านสามารถเลือกโมดิฟายกับ Speed Shop ที่อื่นๆ นอกเหนือจากที่นำเสนอมานี้ก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล…
อุปกรณ์และสถานที่ทดสอบ
– เครื่องมือ Drift Box สำหรับวัดค่าอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ในเงื่อนไข 0-100 กม./ชม. และ 0-402 ม.
– โปรแกรมคำนวณความเร็ว Gear Calculator
– แท่นวัดแรงม้า DYNOJET สนาม Bangkok Drag Avenue (สนใจวัดแรงม้า ติดต่อ ช่างต่อ ลพบุรี โทร. 08-9802-3080)
สนาม Bangkok Drag Avenue สำหรับการทดสอบจับเวลาและถ่ายทำคอลัมน์
First Step : BRIO HOBBY ME!
First Step เบาๆ สบายกระเป๋า จะเป็นการโมดิฟายเฉพาะอุปกรณ์ภายนอก เช่น กล่อง, ท่อไอเสีย, ชุดคลัตช์ ไม่แตะต้องเครื่องยนต์แต่อย่างใดทั้งสิ้น คันนี้เป็นรถแข่ง BRIO Super Cup จากบริษัท MOTORA ส่วนการโมดิฟายเพิ่มเติม เช่น กล่อง ECU และชุดท่อไอเสีย จะเป็นส่วนของทาง HOBBY ME! จัดการ โดยยังอยู่ในกฎการแข่งขัน BRIO Super Cup ซึ่งเรามองว่าแม้รถจะไม่มีอะไรมาก แต่เป็นสเต็ปแรกสำหรับการโมดิฟาย ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณมาก และขับใช้งานได้อย่างปกติสุข ขับสนุกมากขึ้นกว่าเดิมก็เพียงพอแล้ว สำหรับรถคันนี้จะมีการเปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้ายเป็น 4.9 ด้วย สำหรับการแข่งขัน BRIO Super Cup…
Comment : HOBBY ME!
สำหรับของที่ทำเพิ่มเติม ก็จะมีกล่อง Data Tec ราคา 25,000 บาท รวมจูน ถ้าใครต้องการจูน 2 Maps ก็เพิ่มอีก 2,000 บาท ใช้น้ำมัน E85 ได้สบาย ส่วนท่อไอเสียที่เราใช้ ก็อยู่ประมาณ 7,000-10,000 บาท แล้วแต่วัสดุที่เจ้าของรถสั่ง กรองอากาศ K&N Replacement ใส่เสื้อกรองเดิม แผ่นละ 2,000 บาท มี ++ นิดหน่อยแล้วแต่ผู้ขาย เบ็ดเสร็จใช้งบประมาณรวมประมาณ 40,000 บาท ในส่วนของรถที่ทำไป อัตราเร่งดีขึ้น ตอบสนองเร็วขึ้น ซึ่งของเดิมจะไม่ค่อยทันใจสไตล์เครื่องเล็ก อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงใกล้เคียงของเดิม อาจจะประหยัดกว่าในบางครั้ง ส่วนการใช้งานก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะเราไม่ได้ยุ่งกับเครื่องยนต์เลย…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
กับสเต็ปการทำแบบเริ่มต้น กับการเปลี่ยนอุปกรณ์ภายนอก โดยไม่ยุ่งกับเครื่องยนต์ กับเครื่องความจุ 1.2 ลิตร “อย่าไปหวังแรงม้ามากมายอะไรนัก” เรียกว่าขอให้การตอบสนองดีกว่าเดิม ขับสนุกขึ้นอย่างเห็นข้อแตกต่างชัดเจนก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเหมาะสมสำหรับรถที่ใช้งานทุกวัน เพราะเราไม่ได้ Over Spec เครื่องยนต์ไปมากนัก ส่วนอัตราสิ้นเปลืองที่ว่าน้อยลงกว่าเดิมในบางครั้ง ดูจะสวนทางกับความเป็นจริง แต่ก็มีส่วนถูก ถ้าเครื่องมีกำลังมากขึ้น เราก็จะเหยียบคันเร่งน้อยลง พูดง่ายๆ ไม่ต้องเค้น แต่ถ้า “มันส์ Teen” แน่นอนว่า มันต้องกินมากกว่าเก่า งบประมาณ 40,000 บาท โดยประมาณ ซึ่งเป็น “ของใหม่” ทั้งหมด อาจจะดูตัวเลขว่าแพงเมื่อเทียบกับแรงม้าที่เพิ่มขึ้นไม่มากจนตื่นเต้น แต่ถ้าอยากจะขับสนุก ไม่โหนเครื่อง ขับสบายเหมือนตอนเดิมๆ ก็น่าพิจารณา…
Max Power : 78.72 PS @ 5,600 rpm (115 km/h)
หลายคน “กลัว” แท่น Dyno Test อันนี้ ซึ่งได้กิตติศัพท์ว่า “ม้าแข็ง” ทาง ช่างต่อ ลพบุรี ก็บอกว่าใครวัดแรงม้าที่นี่แล้วขึ้นเยอะ แสดงว่าแรงจริง ซึ่งตรงนี้เราก็ขอยึดเป็นมาตรฐานในการทดสอบครั้งนี้เหมือนกันทั้ง 3 คัน สำหรับแรงม้าที่วัดแท่นนี้ เป็น “ม้าลงพื้น” หรือ Wheel Horsepower นะครับ ซึ่งต้องผ่านระบบส่งกำลังต่างๆ จนมาถึงล้อ “นี่แหละ ม้าใช้งานของจริง” พูดถึง BRIO เดิมสนิท เกียร์ธรรมดา เคยวัดที่นี่ได้ตัวเลขเฉลี่ย 62-65 แรงม้า ไม่เกินนี้แน่นอน กราฟแรงม้าก็ค่อยๆ ขึ้นสไตล์เครื่องเล็ก มีช่วงให้ใช้เต็มที่ระหว่าง 4,500-6,500 rpm เวลาเปลี่ยนเกียร์ รอบก็จะอยู่ช่วงนี้ อาศัยว่าเกียร์ของ HONDA ส่วนใหญ่ รวมถึง BRIO จะชอบใช้ “อัตราทดค่อนข้างจัดและชิด” จึงสบายไป (คันนี้เกียร์เดิม เปลี่ยนเฉพาะเฟืองท้าย) อันนี้ไม่ได้ปล่อยรอบเพิ่มครับ แต่คิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว เพราะหลังจากนี้ไป กราฟเริ่มตก สรุปว่า เพิ่มจากเดิม 10 กว่าแรงม้า แต่อย่าลืมนะครับ ว่ากับเครื่อง 1.2 ลิตร การเพิ่มแรงม้ามันไม่ได้ง่ายเหมือนเครื่องใหญ่ แค่นี้ก็เห็นผลแล้ว กับตัวถังเบาๆ ก็ทำให้ขับสนุกขึ้น โดยยังขับขี่สบายแบบเดิมได้…
0-100 km/h : 11.88 sec. @ 209.28 m
0-402 m : 18.06 sec. @ 122.32 km/h
มาดูส่วนของเส้นกราฟ (สีเขียว) ในช่วงออกตัวแรกๆ ถือว่าใช้ได้ มีการคุมคันเร่งที่ดีของคนขับ เส้นกราฟจะขึ้นไม่มีกระตุก เปรียบเทียบกับคันที่มีเทอร์โบ (กราฟสีน้ำเงิน) ช่วงออกตัวแรกๆ ขี่กันมาเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เดินขึ้นต่อเนื่อง ในการทำสเต็ปนี้ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 11.88 วินาที ส่วน 0-402 ม. อยู่ที่ 18.06 วินาที ที่ความเร็ว 122.32 กม./ชม. ซึ่ง BRIO เกียร์ธรรมดา รถเดิมๆ อยู่ประมาณนี้ สาเหตุที่เวลาไม่ดีมาก เพราะคันนี้ “เซ็ตมุมล้อหน้าเป็นแคมเบอร์ลบ สำหรับการวิ่งเซอร์กิต” ทำให้หน้ายางไม่แนบเต็มพื้น มีอาการล้อฟรีก่อนแล้วรถค่อยไป และใช้ยางที่เกาะถนนมาก จึงมี Friction สูง ก็มีผลในด้านการดึงเวลาให้ช้าลงบ้าง ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจว่าเอารถที่ไม่ได้เซ็ตมุมล้อสำหรับการออกตัวเร็ว เวลาควอเตอร์ไมล์จึงอาจจะไม่ค่อยดีนัก…
Tech Spec
ภายนอก
ชุดพาร์ท : BRIO Super Cup
หูลากรถ : SPARCO
ภายใน
จอ Display : Defi ZD
เบาะ : SPARCO FIA
เข็มขัดนิรภัย : Sabelt
พวงมาลัย : MOMO
โรลบาร์ : Custom Made by Motora
เครื่องยนต์
รุ่น : L12A
กล่อง ECU : Data Tec for HONDA Super Cup
ชุดท่อไอเสีย : HOBBY ME!
กรองอากาศ : K&N
ระบบส่งกำลัง
ชุดคลัตช์ : EXEDY
เฟืองท้าย : H-Drive อัตราทด 4.9 for BRIO Super Cup
ลิมิเต็ดสลิป : ATS
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : BUDDY CLUB N+
ล้อ : APEX ขนาด 7 x 15 นิ้ว
ยาง : BRIDGESTONE POTENZA RE11 ขนาด 205/50R15
ขอขอบคุณ : HOBBY ME! สนใจติดต่อ 08-1171-2434 (ต้อ)
Second Step : BRIO ADDZEST Turbo
สเต็ปสอง ตัวเครื่องเดิมสนิท แต่ “เล่นทางลัด” ด้วย “หอยย่อมๆ” สไตล์ “น้าแจ่ม” ถนัดในรถเล็กทั้งหลายนั่นเอง สำหรับคอนเซ็ปต์ก็ไม่มีอะไรมาก เน้นการขับที่สนุกขึ้น เพิ่มแรงบิดให้กับเครื่อง 1.2 ลิตร ที่เรี่ยวแรงอะไรๆ มันก็น้อยตามประสา Eco Car ซึ่งคันนี้ก็เน้นเพิ่มกำลังไว้วิ่งใช้งานเป็นหลัก ส่วนการโมดิฟายอื่นๆ ก็มีประกอบกัน เช่น เปลี่ยนหัวฉีดใหญ่ขึ้น อันนี้แน่นอน หัวฉีดเดิมไม่พอแน่ๆ ต้องจ่ายน้ำมันให้พอ ส่วนผสมไม่บาง เครื่องก็จะทนและมีอัตราเร่งดี ใคร “บ้าหอย” ก็ลองอ่านต่อไปครับ ว่าผลที่ได้จะเป็นเช่นไร…
Comment : ADDZEST
สำหรับ BRIO AMAZE สีดำคันนี้ คอนเซ็ปต์ในการเซ็ตเทอร์โบก็คือ “ใช้งานทุกวันของจริง วิ่งทางไกลเป็นประจำ” ซึ่งต้องการเพิ่มพลังให้ตอบสนองดีขึ้น เจ้าของก็ขอให้แรงกว่าเดิม และใช้งานได้ทนทานเหมือนรถบ้านเดิมๆ คันนี้ทำไปประมาณ 1 ปี ขับใช้งานแบบนี้ตลอด ก็ไม่พบปัญหาอะไร ส่วนตัวผมว่าเครื่อง HONDA ออกแบบมาได้ค่อนข้างดี คันนี้ตั้งบูสต์ไว้ที่ 0.4 บาร์ รับได้สบาย ส่วนตัวคิดว่าไปได้ถึง 0.7 บาร์ แต่อายุการใช้งานจะสั้นลง เลยเอาแค่นี้พอ แรงม้าที่กะไว้ก็ประมาณ 110-120 PS วัดออกมาได้ตามเป้า สำหรับงบประมาณในการทำ เอาเฉพาะเซ็ตเทอร์โบ อุปกรณ์ส่วนควบของเครื่องต่างๆ รวมกล่อง ECU Data Tec ก็อยู่ที่ “79,000 บาท” พร้อมใช้งาน ของที่เปลี่ยนไปเป็นของใหม่ทั้งหมด ยกเว้นเทอร์โบเป็นมือสอง มีการรับประกันในช่วง 3,000 กม. แต่เท่าที่ทำไปยังไม่เคยมีปัญหาอะไรครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ก็เป็นอีกแนวทางที่แปลกไป สไตล์ที่นี่จะนิยมเซ็ตเทอร์โบ เน้น “จี๊ดจ๊าด” กว่าเดิม ไม่ได้เน้นความรุนแรงอะไรมาก ก็ดีนะครับ หากทำแล้วเครื่องอยู่ได้ก็นับว่าน่าสนใจอยู่ สำหรับการใช้งานรถที่เป็นเครื่อง N.A. เพิ่มหอยแบบนี้ ก็ต้อง “ถนอม” กันบ้าง อย่าโหดร้ายกับมันเกินไปนัก ไม่พังก็จริงอยู่ แต่การสึกหรอก็จะต้องสูงกว่าเดิม หากขับแบบหนักหน่วงบ่อยๆ ถ้าจะเซ็ตเทอร์โบ ก็จะต้องมีการ Maintenance ที่ดีด้วย เช่น ใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงกว่าเดิม เปลี่ยนถ่ายบ่อยขึ้น ก็จะช่วยรักษาเครื่องได้ สำหรับงบประมาณ 79,000 บาท หากฟังเฉยๆ ก็ดูสูงเหมือนกัน แต่ถ้าคิดค่าของ รวมค่าแรงต่างๆ ในการทำแบบเบ็ดเสร็จ ก็น่าจะประมาณนี้ แต่มีรับประกันในระยะหนึ่งด้วย (ไปทำเองก็ไม่มีการรับประกันแต่อย่างใด) ซึ่งราคานี้กับแรงม้าที่เพิ่มมาประมาณ 40 PS ก็ถือว่าพอเหมาะในเครื่อง 1.2 ลิตร ที่ไส้ในไม่ได้ทำอะไร ก็ลองพิจารณาดูเอาเองครับว่าตรงกับความต้องการหรือไม่…
Max Power : 110.94 PS @ 5,500 rpm (126 km/h)
แรงม้าของคันนี้ก็ได้ออกมาตามเป้าที่ควรจะเป็น ทางเจ้าของรถบอกว่าตอนใหม่ๆ น่าจะดีกว่านี้ เพราะตอนนี้เครื่องใช้งานไปเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่อยู่ตามเป้าที่ทีมงานคาดการณ์ไว้ก็ไม่เลว ช่วงกราฟในรอบต้นๆ ก่อนเทอร์โบจะบูสต์ก็เหมือนกับคันก่อนหน้า (เพราะไส้เดิมเหมือนกัน) แต่หลังจากเทอร์โบเริ่มบูสต์ที่รอบประมาณ 2,700 rpm (ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม.) ก็ไม่รอรอบ (เทอร์โบเซ็ตค่าใหม่) กราฟจะเริ่มขึ้นชัน ก็ไปสู่จุด Peak ที่ย่าน 4,300-6,000 rpm (ขอ Play Safe ไว้อีกหน่อย ไม่ได้สุด 6,500 rpm) ช่วงย่านที่ให้กำลังสูงสุดก็ประมาณนี้แหละครับ อยู่ในช่วงรอบเครื่องเดียวกับคันก่อนหน้า นิสัยของเครื่องไม่ต่างกัน แต่คันนี้จะได้ค่าที่มากกว่า ก็เป็นข้อดีที่ “ระบบอัดอากาศ” ได้เปรียบ แต่ก็ต้องแลกกับงบประมาณการทำที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อแลกเปลี่ยน…
(วางกราฟ Brio Run วางรูป Test Run พร้อมคำบรรยาย)
0-100 km/h : 8.81 sec. @ 139.99 m
0-402 m : 16.55 sec. @ 140.20 km/h
กราฟของคันนี้ (เส้นสีน้ำเงิน) ในช่วงออกตัว กราฟจะมีช่วงนอนนิ่งไปประมาณ 20 ม. ความเร็วคงที่ น่าจะเกิดจากการ “ออกตัวแรงจนล้อฟรีแต่รถไม่ไป” หลังจากนั้นค่อยไปต่อ ทำให้เสียเวลาไปตรงนี้อยู่บ้าง ช่วง 60 ม. เป็นต้นไป อัตราเร่งจะเริ่มหนีห่างจากคันแรกไปอย่างเห็นได้ชัด ดูจากกราฟสีน้ำเงิน จะเริ่มหนีไปอีกในช่วงกลาง ประมาณ 220 ม. เป็นต้นไป ยิ่งปลายยิ่งหนีห่างจากคันแรก เกือบจะเข้าใกล้คัน N.A. โมฯ เต็ม (เส้นสีแดง) เป็นอุปนิสัยของเครื่องเทอร์โบอยู่แล้ว ที่ตีนปลายจะดันได้แรงกว่า N.A ที่ความจุเท่ากัน ทำเวลา 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลา 8.81 วินาที ที่ระยะทาง 139.99 ม. และทำเวลา 0-402 ม. ได้ในเวลา 16.55 วินาที ที่ความเร็ว 140.20กม./ชม….
Tech Spec
ภายนอก
Body Part : ADDZEST
ภายใน
จอ Display : A’PEXi RSM
เกจ์วัด : Defi
เบาะ : RECARO Alcantara
เข็มขัดนิรภัย : TAKATA
หัวเกียร์ : H-Drive
เครื่องยนต์
รุ่น : L12A
เทอร์โบ : TD-04 L Modified by ADDZEST
กล่อง ECU : Data Tec
เฮดเดอร์ : ADDZEST
ชุดท่อไอเสีย : ADDZEST
อินเตอร์คูลเลอร์ : ADDZEST Custom Made
โบล์วออฟวาล์ว : HKS
กรองอากาศ : HKS
หัวฉีด : 380 C.C.
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : H-Drive Street
ล้อ : VOLK TE37 ขนาด 7 x 15 นิ้ว
ยาง : YOKOHAMA NEOVA AD08 ขนาด 195/50R15
เบรกหน้า : ATS
ขอขอบคุณ : ADDZEST Car Color สนใจติดต่อ 08-1833-9998 (น้าแจ่ม)
Second Step : BRIO GT-PRO Full N.A. Modified
สเต็ปสุดท้าย จาก GT-PRO คันนี้ เป็นการโมดิฟายแบบเต็มรูปแบบบนเครื่อง L12A แบบ “ไร้ระบบอัดอากาศ” เต็มเกือกในรูปแบบของ N.A. ส่วนของเครื่องยนต์ จะเป็นหน้าที่ของ AKE Engine คันนี้จะเป็นรถแข่งควอเตอร์ไมล์เต็มรูปแบบ เราเอามาให้ดูกันมันส์ๆ ซึ่งจะมี Detail และการ Setting ที่แตกต่างจากรถวิ่งถนนอยู่หลายจุด ส่วนช่วงล่างและระบบส่งกำลัง ก็สำหรับควอเตอร์ไมล์โดยเฉพาะ ลองดูว่าเขาทำอะไรกันไปบ้าง…
Comment : GT-PRO
คันนี้เอาไว้แข่งเต็มรูปแบบครับ แต่จะปรับให้สามารถวิ่งถนนก็ได้ ด้วยการจูนและการเลือกใช้ของบางอย่างให้เหมาะสม จึงไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะเอาเวลาดีด้วย และใช้งานด้วย ก็ต้องยอมรับข้อเสียบางประการ เช่น ใช้รอบสูงตลอด สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เสียงท่อ, เครื่อง, ระบบส่งกำลัง ที่จะดังขึ้นกว่าเดิมมาก อาจจะทำให้วิ่งถนนไม่สะดวกนัก ตรงนี้ต้องรับให้ได้ และหาทางทำให้ไม่รบกวนคนอื่นมากไปนัก และส่วนตัวผมก็ไม่แนะนำให้ไปแข่งกันบนท้องถนน มาเล่นกันในสนามดีกว่าครับ ส่วนเรื่องงบประมาณในการโมดิฟายเครื่อง รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ อยู่ที่ 300,000 บาท (ราคานี้รวมกล่อง GT-PRO 24 bit พร้อมจูน 18,000 บาท) โดยเป็นของใหม่ทั้งหมด ระบบส่งกำลังสำหรับควอเตอร์ไมล์อยู่ที่ 100,000 บาท…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
อันนี้เป็นสเต็ปโหดๆ ในเครื่อง L12A ที่เน้นการแข่งขันอย่างเดียว เน้นใช้ของแต่งจากอเมริกา ผสมกับของที่หาได้ในบ้านเรา นำมาสะเวิ้บกัน ที่น่าสนใจก็คือ การนำคอยล์ของ Big Bike มาใส่ ซึ่งเครื่องพวกนี้จะหมุนรอบสูงเกือบ 20,000 rpm มันจึงมีเวลาสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อประจุไฟจุดระเบิดได้มากเหลือเฟือ ซึ่งรถยนต์รอบไม่ถึงขนาดนั้นอยู่แล้ว พูดถึงสเต็ปนี้ ถ้าเป็นรถแข่งก็แรงครับ ซึ่งถ้าจะเอาสเต็ปนี้มาใส่ในรถถนน ก็จะต้องเซ็ตเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังอีกแบบหนึ่ง ไม่สามารถเอาเกียร์ที่ทดชิดและจัดขนาดนี้ไปวิ่งใช้งานได้แน่นอน (ถ้าคิดว่าอยู่กับเสียงดังๆ ลากรอบสูงๆ ได้ตลอดเวลา ไม่สนใจเรื่องการสึกหรอและสิ้นเปลืองก็อีกเรื่องครับ แต่ยังไงเราก็ไม่แนะนำแน่) บอกไว้ตรงนี้ว่า เวลาและแรงม้าขนาดนี้ มันคือรถแข่ง ถ้าเป็นรถบ้านก็ต้องยอม “ลดสเป็ก” มาอีก ให้วิ่งถนนได้ด้วย ก็ใช้งบประมาณต่ำลงด้วย ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้ในรถบ้านก็ได้…Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
Max Power : 121.32 PS @ 100 km/h
คันนี้ขออภัย ที่ผมไม่สามารถ Convert จากความเร็วมาเป็นรอบเครื่องยนต์ ด้วยโปรแกรม Gear Calculator ได้ เพราะเราไม่ทราบอัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย (รถแข่งมักจะเป็นความลับเสมอ) กราฟแรงม้าก็เป็นสไตล์รถแข่ง คือ “เดินปลาย” เป็นหลัก รอบต่ำฉันไม่แคร์ แต่ช่วงที่ใช้ก็กว้างพอที่จะเปลี่ยนเกียร์แล้วไม่ห้อย ได้แรงม้าสูงสุด 121.32 PS ซึ่งมากกว่าเครื่อง L12A เดิมๆ ถึง “สองเท่า” อยากแรงก็ต้องจ่ายละครับงานนี้ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ แน่นอน…
0-100 km/h : 6.57 sec. @ 103.21 m
0-402 m : 14.95 sec. @ 144.50 km/h
กราฟของคันนี้ (เส้นสีแดง) ช่วงออกตัวดีมาก เส้นกราฟขึ้นโค้งสม่ำเสมอและเนียน การออกตัวจะขึ้นอยู่กับ “ช่วงล่าง” ว่าเซ็ตมาอย่างไร คันนี้ข้อได้เปรียบคือ เป็นรถที่เซ็ตช่วงล่างสำหรับแข่งควอเตอร์ไมล์โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีข้อแตกต่างจากรถบ้านหลายจุด ส่วนคนขับก็ควบคุมการออกตัวได้ดี รวมไปถึงระบบส่งกำลังที่ “จัดเต็ม” วิ่ง 5 เกียร์ หมดในระยะ 402 ม. พอดี กราฟจะขึ้นเป็นแนวชัน หนีออกไปจากคันอื่นอย่างชัดเจน แต่ในช่วงปลาย แถวๆ 320 ม. ก็จะมีแผ่วลงไปตามประสาเครื่อง N.A. ความจุน้อย ซึ่งคันเทอร์โบก็เริ่มเดินประชิดเข้ามาใกล้ขึ้นอีกหน่อย ช่วง 370 ม. คนขับถอนคันเร่งก่อนถึงระยะ ช่วง 380 ม. กราฟจะเริ่มตกก่อนถึงระยะ 402 ม. ทำเวลา 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลา 6.57 วินาที เรียกว่าเร็วขึ้นกว่าคันแรกเกือบ 2 เท่า ที่ระยะทาง 103.21 ม. และทำเวลา 0-402 ม. ได้ในเวลา 14.95 วินาที ที่ความเร็ว 144.50 กม./ชม. ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ค่อยเต็มตามที่รถคันนี้วิ่งได้จริง…
Tech Spec
ภายนอก
ฝากระโปรงหน้า : AKANA Carbon Fiber
ภายใน
เกจ์วัด : GReddy
พวงมาลัย : VERTEX
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : Sabelt
เครื่องยนต์
รุ่น : L12A
สปริงวาล์ว : BISIMOTO
รีเทนเนอร์ : BISIMOTO
แคมชาฟท์ : BISIMOTO Stage 2 for L15A
ลูกสูบ : SUZUKI SWIFT
เฮดเดอร์ : Chang
ท่อร่วมไอดี : AKE Engine
หัวฉีด : SUBARU 550 cc.
CDI : WINNING
คอยล์จุดระเบิด : Big Bike
กล่อง ECU : GT-PRO Mini Piggy Back 2 maps by ติ
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : โบ้ หลักสี่ และ บัง BB
คลัตช์ : GT-PRO
เฟืองท้าย : อัตราทด 4.67
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : D1
บู๊ชช่วงล่าง : Full Urethane
ล้อหน้า : WELD ขนาด 7 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD Forged ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : TOYO PROXES R1R ขนาด 195/50R15
ยางหลัง : M&H RACE MASTER ขนาด 3.5-22-15
ขอขอบคุณ : GT-PRO ECU รามคำแหง สนใจติดต่อ 08-9814-9084 (ดี้)