เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
ความใฝ่ฝันของคนที่นิยมรถยุคปี 80-90 จะต้องมีสิ่งที่ฝังอยู่ในใจ คือ “รถแข่ง” และตัวที่โดดเด่นในกาลก่อน หากเป็นทางเรียบ หนึ่งในรถ Group ต่างๆ ก็จะต้องมีรถแข่ง “Group A” ที่อยู่ในใจคนชอบความเร็ว ด้วยความเป็นรถที่มีลักษณะภายนอกดั้งเดิมจากโรงงาน ห้ามขยายโป่ง ห้ามเวอร์วังอลังการ แต่ “ยัดไส้” ของที่เป็น Racing Purpose Only ไว้เพียบ ซึ่งไม่ใช่ของโมดิฟายที่หาซื้อได้ในท้องตลาด “เฉพาะการแข่งขันเท่านั้น” เอกลักษณ์ของรถ Group A ก็คือ “ยางสลิคหน้ากว้าง พร้อมล้อแบบ Center Lock” แต่ “ห้ามล้นออกนอกตัวถังเดิม” ในบ้านเรารู้จัก Group A Racing จาก NISSAN SKYLINE GT-R R32 คู่แฝดจาก AIM MOTORSPORT ที่ผ่านการโมดิฟายจาก Gibson Motorsport ใน Australia และอีกคันก็เป็นทีม SINGHA PANASONIC (คันนี้เป็นรถจาก NISMO Japan) แต่คราวนี้เราได้รับเอกสิทธิ์พิเศษจาก OAK CLUB THAILAND ให้ “เจาะลึก” ตัวแสบ CIVIC Si (E-AT) Group A Racing ในตำนานแท้ๆ จาก SPOON บินลัดฟ้ามาให้เราชมความ “สนั่น” จากพลังเสียงเครื่องสูตรตัวแข่ง ซึ่งใครก็ยากที่จะลืมเลือน…
- ภาพรวมเหมือนรถแต่งคาดสติกเกอร์ธรรมดา แต่ความเป็น Group A ไม่ต้องมีอะไรมาก “วัดกันข้างใน” ล้วนๆ ครับ สำหรับ CIVIC Si รุ่นนี้ ออกจำหน่ายในช่วงปลายปี 1984 ซึ่งเป็น Sport Model ควบคู่กับตัว BALLADE CR-X ท้ายลาด
- เป็นรถแข่งที่ถูกเก็บรักษา และ Restore ใหม่ให้สวยสด ไม่หดหายไปตามเวลา ล้อหน้ากว้างกว่าล้อหลัง ไม่ผิดครับ เพราะต้องการ Traction ล้อหน้าเยอะกว่าล้อหลัง เพื่อแก้อาการ Understeer หรือ “หน้าดื้อ” อันเป็นเรื่องปกติของรถขับหน้า เลยเซตรถให้ Oversteer หรือ “ท้ายไหล” เพื่อแก้ทางกัน
FIA Group A Racing Category
สำหรับ Group A ถูกกำหนดเรื่อง Regulation โดย FIA ก็จะมีแบ่งย่อยไปอีกหลายประเภท ขอพูดถึงเฉพาะสาย “ทางเรียบ” ตัวรถก็จะเป็นเหล่า Grand Touring ที่มีสมรรถนะสูง การโมดิฟายเครื่องยนต์ใส่ได้เต็มเหนี่ยว แต่ความจุห้ามขยายไปจากเดิม โดยแบ่งเป็น Division ต่างๆ ดังนี้ Division 1 ความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,600 c.c. Division 2 ความจุเครื่องยนต์ระหว่าง 1,600-2,500 c.c. Division 3 ความจุเครื่องยนต์เกิน 2,500 c.c. ซึ่งในยุค 80 กลางๆ ถึง 90 ต้นๆ Group A จะรุ่งเรืองมากในรูปแบบรถ Stock Body ยุคหลังก็เปลี่ยนไปเป็นรุ่นอื่นๆ เช่น DTM ในเยอรมัน หรือในญี่ปุ่น ก็จะเป็น Japanese Touring Car Championship แล้วก็พัฒนาเป็นรุ่นอื่นๆ มากมายในปัจจุบัน…
- ล้อ ENKEI Center Lock ของแท้ดั้งเดิม ชุดเบรก MUGEN by NISSIN ซึ่งผลิตมาสำหรับ Group A Racing ที่เน้นสมรรถนะทั้งการเบรก และน้ำหนักที่เบา พร้อม Air Jack “งานเก่า” ดั้งเดิม ส่วนสติกเกอร์บนขวาสุด จากงาน SNETTERTON 24 Hours Race ในวันที่ 15-16 มิถุนายน 1991
- นับว่ารักษาได้สมบูรณ์ไปยันข้างในจริงๆ ดูสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย รถสมัยก่อนก็งี้แหละ ดิบๆ ซื่อๆ ไม่มีระบบไฟฟ้าอะไรซับซ้อน “คนขับ” นี่แหละต้องเป็นผู้สั่ง
- กล่อง ECU จาก KEIHIN โมดิฟายโดย SPOON สำหรับ Group A โดยเฉพาะ ปรับองศาไฟ และค่า AF Ratio (น่าจะใช่นะ) ได้แบบ Manual ซื่อๆ งี้แหละ ตรงกลางรถจะเป็น “คันปรับแรงดันเบรกเฉลี่ยหน้า-หลัง” ได้ แล้วแต่ลักษณะการขับ การเข้าโค้ง ไลน์สนาม คนขับก็ต้อง “เป็น” ถึงจะปรับได้ เรียกว่า “ยุคกลไก” กันสุดๆ ที่นักขับสมัยนี้ที่คุ้นเคยกับ “คอมพิวเตอร์” อาจจะใช้ทักษะสู้นักขับรุ่นเก่าไม่ได้…ก็เป็นได้…
- นี่แหละ ความเก๋าดั้งเดิม เกจ์ ND SPORTS PARTS สำหรับ “งานแข่ง” โดยเฉพาะ วัดรอบจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ 3,000 rpm แต่กวาดไปถึง 9,500 rpm !!! แบบโหดร้าย ซึ่งเกียร์ Close Ratio ก็จะชอบใช้รอบเฉียดหมื่นแบบนี้ตลอดเวลาซะด้วย ไฟเตือนต่างๆ Vintage ได้อารมณ์โคตรๆ
- Harness 4 จุด “งานเก่าก็มา” จะใช้เป็นแบบ “ล็อกเกี่ยว” อยู่เลย
Wonder Gone Mad
สำหรับคันนี้ถือเป็น “รถครู” ของ SPOON ที่ประธานใหญ่อย่าง “Mr. Tatsuru Ichishima” เรียกย่อๆ ว่า “อิชิซัง” ย้อนไปในปี 1985 อิชิซัง ดั้งเดิมเขาเป็น Test Driver ของบริษัท HONDA หลังจากที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพียงพอ “ฉันอยากจะแข่งรถ” จึงได้สร้างรถแข่งขึ้นมา ก็คือ HONDA CIVIC Si Hatchback รหัส E-AT ใน Gen 3 มีนิยามว่า “WONDER CIVIC” จะใช้คอนเซปต์การออกแบบ MM หรือ Man Maximum, Mechanics Minimum เป็นรถที่ขับสนุก มีสมรรถนะดี โครงสร้างไม่ซับซ้อน ถือว่าเป็นรถสไตล์สปอร์ตขนาดเล็ก ที่ได้รับความนิยมสูง ขุมพลัง ZC ในตำนาน แบบ DOHC 16 Valves ยังไม่มีระบบ VTEC ความจุ 1.6 ลิตร แต่กระนั้นก็ให้แรงม้าสูงถึง “130 PS” ซึ่งคู่แข่งโดยตรงของมันก็คือ AE86 นั่นเอง แต่ CIVIC ได้เปรียบเรื่องความ “เบา” ภาระขับเคลื่อนน้อย เพราะเป็นรถขับหน้า และรูปทรงของมันก็ดูจะเหมาะสมดี จึงได้โมดิฟายเพื่อลง Group A Racing ในรายการ Japanese Touring Car Championship ซึ่งรถคันนี้มีแรงม้ามากถึง “230 hp” โดยไม่พึ่งระบบอัดอากาศ และระบบ VTEC แต่อย่างใด ซึ่งทาง SPOON ก็ได้เซตรถคันนี้ในแบบ “ขับง่าย ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรพิสดารมากนัก” รวมไปถึง “ความทนทาน” (Durability) ที่สำคัญ “ต้องเร็ว” โดยภาพรวมต้องเป็น “Total Balance” เป็นนิยามของ “อิชิซัง” นั่นเอง…
- ZC ที่ถูก “ขุน” มาถึง 230 hp ที่รอบ 9,800 rpm !!! โดยไม่พึ่งระบบ VTEC ที่คนคลั่งไคล้ (ก็สมัยนั้นยังไม่มีนะ) ตอนมาโชว์ที่เมืองไทย “แว้ดสนั่น” ดีจริงๆ สตาร์ตยากมาก ต้องมี “ช่างประจำรถ” ไว้คอยสตาร์ตให้ โดยการใช้หัวเทียนเบอร์ต่ำ (ร้อน) สตาร์ตก่อน แล้วค่อยจูนลิ้นเร่ง พอเครื่องร้อนพร้อมเหนี่ยว ต้องเปลี่ยนเป็นหัวเทียนเบอร์สูง (เย็น) ค้ำโช้คหน้างานเก่า “ดิบ” สุดๆ
- อ่างน้ำมันเครื่อง “อะลูมิเนียม” เบา เพิ่มความจุน้ำมัน พูลเลย์ข้อเหวี่ยงน้ำหนักเบาสุดๆ CIVIC รุ่นนี้ คนเกิดไม่ทันจะรู้หรือไม่ ว่าช่วงล่างหน้า “ไม่มีสปริงขด” มีแต่ “ทอร์ชั่นบาร์” เหมือนรถกระบะ ดูโบราณสุดๆ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา
- ช่วงล่างหลังเป็น “คาน” โบราณเช่นกัน ตัว “กันเซ” แบบปรับได้ แต่อย่าดูถูกช่วงล่างแบบนี้เชียวนะ อาจจะสู้แบบอิสระไม่ได้ แต่ถ้า “เซตเป็น” และ “เข้าใจ” รวมถึง “คนขับรู้ใจ” มันก็ไม่ใช่ปัญหา ซึ่ง SPOON ก็ตั้งใจทำให้มัน “เลี้ยวเป็น เกาะอยู่” ในยุคนั้นรถคันนี้ก็ถือว่า “เฟี้ยว” ในการแข่งขัน Division 1 แล้วนะครับ
VS Kuroki Racing
สายทางเรียบจะต้องรู้จักกับ “Kuroki Racing” อย่างแน่นอน จากรุ่นพ่อ “Mr. Kenji Kuroki” ที่เป็น Co-Driver คู่กับ Mr. Ichishima ขับ CIVIC คันนี้มาด้วยกัน สมัยยังเป็น “เสือหนุ่ม” แต่ตอนนี้ “เสือเฒ่า” ทั้งสองโคจรมาเจอกันอีกทีในงานโชว์รถซิ่งที่ผ่านมา “คุโรกิซัง” ถาม “อิชิซัง” ว่ารถคันนี้ยังอยู่อีกเหรอ ยังวิ่งได้มั้ย ??? สิ้นคำถาม อิชิซัง จัดการ “ลั่นโชว์” ให้สนั่น ว่า “ถึงจะแก่แต่ยังมีรอบ” อยู่นะ นับว่าเป็นการรำลึกความหลังของทั้งสองคน และรถคันนี้ยังสร้างความตื่นเต้นให้กับคนรุ่นใหม่ ที่รู้จักว่า Group A คืออะไร ล่าสุดได้ไปวิ่งโชว์ในงาน HONDA DAY E-TOWN 2K13 ที่อเมริกา ได้เห็นตัวเป็นๆ และเรา XO AUTOSPORT ก็ได้ตามติด เพื่อนำคันนี้มาจัดโชว์ข้อมูล “สานฝัน” จากอดีตที่รุ่งเรืองครับ…
เหตุที่นำรถคันนี้เข้ามาโชว์ เพราะเป็นรถที่มี “ดีกรี” เป็นตัวแข่งคันแรกของ SPOON ซึ่งแข่งจริง และถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี มีสภาพสมบูรณ์มาก ซึ่ง อิชิซัง รักรถคันนี้มาก เคยเอารถรุ่นใหม่ๆ มาโชว์แล้ว เลยลอง “แหวกแนว” เอารถ Retro ที่เป็นรถแข่งจริงๆ ในตำนาน มาลองเรียกแขกดูดีกว่า รถคันนี้ถ้าดูเผินๆ คนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่อินกับมัน แต่ถ้าลองได้ฟังเสียงเครื่องลั่นๆ รับรองอารมณ์เปลี่ยนทันที เพราะมันแตกต่างจากเครื่องโมดิฟายทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง…
Special Thanks From XO AUTOSPORT
OAK CLUB THAILAND
Tel. 08-1886-4461, 08-6338-6699
Facebook/OAK-CLUB-THAILAND
Official account Line: @oakclubthailand
Instagram : Oakclublifestyle
X-TRA ORDINARY
หลายคนอาจจะสงสัย ว่าแบรนด์ SPOON มาได้อย่างไร คำว่า SPOON ทั่วไป แปลว่า “ช้อน” แล้วจะเกี่ยวอะไรกับการโมดิฟาย ซึ่งความจริงแล้ว ชื่อนี้มาจากการแข่งขัน SPOON CUP ในญี่ปุ่น จะแข่งกันในสนามแบบวน loop แบบสนาม Twin Ring Moteki ก็เลยเอามาตั้งชื่อสำนักแต่ง SPOON นั่นเอง…
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน : www.superstreetonline.com
Tech Spec
ภายนอก
กระจกมองข้าง: EC WORK Type A
ตัวล็อกฝาท้าย: CHECKMAN
ภายใน
พวงมาลัย: SPOON by MOMO
หัวเกียร์: SPOON
เกจ์วัด: NIPPON DENSO SPORTS PARTS
เบาะ: Carbon Fiber FIA Group A Homologate
เข็มขัด: SIMPSON
โรลบาร์: Custom Made FIA Group A Homologate
ถังดับเพลิง: TOMCAT JAF Approve
เครื่องยนต์
รุ่น: ZC
โมดิฟายทั้งหมด: Custom Made by SPOON
เฮดเดอร์: Custom Made แบบสปริงรั้งข้อต่อ (Spring Flange Joint)
สายหัวเทียน: KGK
ฝาน้ำมันเครื่อง: SPOON
กล่อง ECU: KEIHIN
ระบบส่งกำลัง
เกียร์: 5 Speed Close Ratio by SPOON
คลัตช์: Custom Made
ฟลายวีล: SPOON
ช่วงล่าง
โช้คอัพ: SHOWA Custom Made for Group A Racing
ค้ำโช้คอัพหน้า: SPOON Custom Made
ล้อหน้า-หลัง: ENKEI Center Lock ขนาด 8 x 15 และ ขนาด 6.5 x 15 นิ้ว
ยางหน้า: YOKOHAMA ADVAN Slick ขนาด 190/580 R15
เบรก: MUGEN Group A Homologate by NISSIN