เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ศราวุธ เวียงสมุทร
คอลัมน์ XO Knowledge ที่กลับมาพบกันท่านใน “วาระอันเหมาะสม” อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ขอ “เกาะกระแส Drag” ที่เพิ่งจะจบไป ใช่ครับ คือ SOUPED UP THAILAND RECORDS 2015 ไหน ๆ ก็จะว่ากันถึงเรื่องของ “ซิ่งทางตรง” กันแล้ว ผมก็ได้ไอเดียมาจาก “ท่านอภิฯ” บก.บห. ก็จะว่ากันถึง Knowledge เรื่องเกี่ยวกับ “ความรู้ในอุปกรณ์ที่ใช้กับการแข่งขันแบบ Drag Racing” อย่างละเอียด ก็จะเป็นความรู้กับคนที่กำลังจะทำรถ และต้องซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ ว่า “มันมีคุณสมบัติอย่างไร” จะได้นำไปให้ใช้ “ถูกที่ ถูกเวลา” ซึ่งบทความนี้มุ่งเน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จากผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในวงการนี้โดยตรง…
เลือกให้เป็น !!!
ไอ้การที่จะ “เลือกซื้ออุปกรณ์” อะไรสักอย่าง มันไม่ใช่แค่ “มีตังค์ก็สักแต่ว่าซื้อใส่เข้าไป” ซึ่งถ้าซื้อหรือใส่ด้วยความ “ไม่รู้ ไม่เข้าใจ” ก็จะกลายเป็นผลเสียในทันที “คุณจะไม่สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แม้จะว่าลงทุนแสนแพง ซื้ออุปกรณ์ขั้นเทพ รุ่น Top กะว่ากูใส่เต็ม ยังไงก็ต้องดี ช้าก่อนครับ บางอย่างมันก็มี Detail มากมายที่จะต้อง “เลือกให้เหมาะสม” และที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ “นำอุปกรณ์รถ Drag หรือรถแข่งชนิดอื่น ๆ ไปใช้กับรถบ้าน วิ่งถนนทั่วไป” ของรถแข่งกับของรถบ้านมันต่างกันเยอะนะครับ ไม่ใช่ว่า “ยิ่งแพงยิ่งดี” ไม่ต้องอะไรครับ คุณเอาผ้าเบรกรถแข่งไปใช้กับรถบ้าน ตอนขับทั่วไป ความร้อนผ้าเบรกไม่ถึงจุดที่มันจะทำงานได้ดี มันก็เบรกไม่อยู่ครับ เจอกันมาเยอะแล้วกับความ “พลาด” ในสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้เราจะมา “แฉ” ในตัวอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ใน Drag Racing โดยเฉพาะ ส่วนเล่มต่อ ๆ ไป ก็จะเป็น Circuit, Drift อะไรก็ตามสะดวก (ผม) นั่นเอง…
ร่มเบรก (Decelerate Parachute)
เริ่มกันจากอุปกรณ์ที่ “ดูจะง่ายสุด” กันก่อน ก็คือ “ร่มเบรก” ที่เวลารถเข้าเส้นแล้วจะต้องทิ้งร่ม ร่มก็จะคอยดึงรถให้มีระยะเบรกสั้นลง เพราะรถ Drag มีล้อหน้าแคบ เบรกไม่ใหญ่ และมีช่วงล้อที่ยาว แต่ฐานล้อแคบมาก มันจึง “ไปตรงท่าเดียว” เท่านั้น และความเร็วเข้าเส้นมันมากมาย รุ่น SUPER MAX หรือ Dragster พวกนี้เข้าเส้นเฉลี่ย 300 km/h ทั้งสิ้น การจะพึ่งเบรกที่รถอย่างเดียวมันคงไม่ได้การ เสี่ยงต่ออาการ “เป๋” และ “ฟาด” ได้ง่าย จึงต้องใช้ร่มมาช่วยเบรก จะเป็นทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรถ Drag ระดับเทพทั้งหลาย…
ในมุมมองของคนทั่วไปจะคิดว่า “ร่มยิ่งใหญ่ยิ่งดี จะทำให้ระยะเบรกสั้นลง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น “ใหญ่เกินไปก็ยิ่งทำให้ระยะเบรกยาวขึ้น” อ้าว ยังไงละเนี่ย ??? ก็ไม่มีอะไรมาก “ร่มเบรก” มันจะมีเรื่องของ “ขนาด” และ “ความยาว” ที่แปรผันไปตาม “สเป็กของรถแข่ง” สิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้ คือ “น้ำหนักรถ ความเร็วเข้าเส้นของรถ” แล้วค่อยนำไปเทียบกับตารางเลือก “สเป็กร่มที่เหมาะสม” กับแนวความคิดที่ว่า “ยิ่งใหญ่ ยิ่งยาว ยิ่งดี” มันใช้ไม่ได้นะครับ เนื่องจากร่มที่ใหญ่เกินไป ถ้าความเร็วเข้าเส้น “ไม่ถึงตามสเป็กที่ร่มกำหนด” จะทำให้เกิดการ “Delay” รถวิ่งช้า แต่กว่าร่มใหญ่และยาวเกินไป กว่าจะกินลมกางได้เต็ม กว่าจะดึงรถให้เริ่มชะลอความเร็ว (Deceleration) มันต้อง “ใช้เวลามากกว่าปกติ” จึงทำให้ “ระยะเบรกเพิ่ม” มันก็ไม่ดี ส่วนรถที่ใช้ “ร่มเล็กเกินไป” ความเร็วสูงก็จะดึงรถหยุดได้ช้า สรุปคือ “เลือกให้เหมาะสม” ตามสเป็กที่ผู้ผลิตร่มกำหนดไว้…
- ร่มเบรก ก็มีหลายขนาด เลือกให้ถูกต้องตามสเป็ก และสำคัญ การพับร่มก็ต้อง “เป็น” พับผิดไม่กางละฮาสนานแน่
- ร่มเบรกแบบคู่ ดึงเท่ากันในสองข้าง จะเฉลี่ยแรงดึงได้มั่นคงกว่าอันเดียว
ส่วนการ “ใช้ร่มคู่” มันก็จะเป็นแบบ “ตัวเล็กคู่” ไม่ใช่เอาร่มใหญ่ไปใส่คู่นะครับ อันนั้นจะยิ่งช้าไปกันใหญ่ ข้อดีของร่มคู่ คือ “สามารถดึงรถเบรกได้นิ่งกว่าร่มเดี่ยว” รถจะเบรกได้ตรงกว่า คุมง่ายกว่า ส่วนการติดตั้งกับรถแข่ง ก็จะต้อง “ยึดกับโครงสร้างที่แข็งแรง” ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรถเฟรมก็ไม่มีปัญหา เพราะต้องสร้าง “ฐานยึดร่ม” จากเฟรมของตัวรถอยู่แล้ว แต่รถพวก Stock Body (ตัวถังเดิม) ก็ต้องสร้างฐานยึดร่มใหม่ และยึดกับตัวถังรถให้แข็งแรงเพียงพอ ไม่ใช่พอร่มกางปุ๊บ แม่งกระชากฐานร่มขาดออกมา งานนี้ตัวใครตัวมันเด้อ…
ไนตรัสออกไซด์ (N2O)
สารนี้รู้กันว่า คันไหนได้ “เสพย์” มันต้อง “แรง” แบบกะทันหันมาเชียว ในรถ Drag ถ้าเป็นรุ่นใหญ่ ๆ ก็จะอนุญาตให้ใช้ได้ตามสะดวก สำหรับ “ไนตรัสออกไซด์” ก็เป็นการผสมผสานระหว่าง “ออกซิเจน” ที่ทำให้เกิดพลังงาน ออกซิเจนยิ่งมาก พลังงานก็ยิ่งสูง เมื่อเกิดการเผาไหม้ ก็จะเกิด “ความร้อนสูงจัด” ที่จะทำให้เครื่องยนต์ทนไม่ไหว พังคามือคาตีนไปโดยไม่เห็นซาก เพราะฉะนั้น จึงมีสาร “ไนโตรเจน” ซึ่งมีคุณสมบัติในการ “ลดอุณหภูมิ” ลง เพื่อมา “ควบคุมความร้อนที่เกิดจากออกซิเจน” ไม่ให้มันอาละวาดมากไปนั่นเอง…
- ถังไนตรัส บรรจุก๊าซ N2O ก็มีวาล์วเปิด-ปิดและวาล์วปรับแรงดันให้ได้ตามที่ต้องการ
รถแข่งที่ใช้ไนตรัส ก็เป็นการ “แรงกะทันหันในระยะสั้น” ซึ่งการคิดค้นไนตรัสออกไซด์ขึ้นมา แรกเริ่มก็เพื่อ Drag Racing โดยเฉพาะ ตอนหลังก็จะนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ตามแฟชั่นรถแรงนิยม สำหรับข้อดีของไนตรัส อย่างรถ Drag ที่ใช้เทอร์โบแบบ “บิ๊กโคตร” เพราะฉะนั้น ตีนต้นจึงไม่มี บูสต์ได้ช้า “รอรอบ” หรือ Turbo Lag แต่ Drag มันต้องออกตัวให้เร็ว ปลายต้องดันได้ เทอร์โบใหญ่ ๆ จึงเกิดปัญหาในข้อนี้ จึงต้องเอาไนตรัสออกไซด์ป้อนเข้าไปช่วยเรียกกำลังออกมาปั่นเทอร์โบให้ติดบูสต์เร็วขึ้น มันช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ แล้วก็อาจจะฉีดช่วยในเกียร์ปลาย ๆ เพื่อถีบให้รถเข้าเส้นเร็วขึ้น ความเร็วปลายมากขึ้น…
- ชุดอุปกรณ์ ก็จะมี Solenoid ชุดหัวฉีด สายน้ำมัน สายก๊าซ N2O อันนี้เป็นแบบชุดใหญ่
สำหรับการติดตั้งไนตรัส ก็จะมีการฉีดอยู่ 2 แบบ คือ Dry System กับ Wet System ระบบแรก ก็จะ “ฉีดเฉพาะไนตรัส” เข้าไปอย่างเดียว ตรงนี้เราจะต้องไปเพิ่มน้ำมันเอาเองที่หัวฉีดหลัก สั่งการด้วยกล่อง ECU จะต้องจูนว่า เมื่อมีการเปิดใช้ไนตรัส จะต้องเพิ่มน้ำมันเท่าไหร่ ให้พอเพียงกับปริมาณไนตรัสที่ฉีดเข้าไป ส่วนระบบที่สอง ก็จะ “ฉีดน้ำมันพร้อมไนตรัส” สามารถเซ็ตได้ที่ “นมหนู” ทั้งน้ำมันและไนตรัส การจูนก็ต้องดู A/F Ratio และ Exhaust Temp (ความร้อนไอเสีย) ประกอบด้วย ถ้าร้อนเกินไป โอกาส “พลีชีพ” มีสูง ที่เห็น ๆ พวกยิงไนตรัสแล้วโข่งหลังเทอร์โบระเบิด ไฟลุก เครื่องกระจาย ก็เป็นการผิดพลาดทั้งสิ้น การติดตั้งก็ต้อง “จูนเป็น” ไม่ใช่ซื้อมาใส่เองแล้วทำไม่เป็น หมุน ๆ ฉีด ๆ เข้าไป เอาเยอะไว้ก่อนเพราะอยากแรง ระวังนะครับ…
ล้อ (Drag Racing Wheel)
ล้อรถ Drag พวกตระกูลโหด ๆ ก็จะเป็นทรงประหลาดหน่อย หน้ากว้างมาก บางทีถึง 15 นิ้ว แต่เส้นผ่าศูนย์กลางเพียงแค่ 15-16 นิ้ว แต่ส่วนใหญ่เป็น 15 นิ้ว มันไม่ใช่สเกลของรถปกติแน่ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะใส่ยางหน้ากว้างมาก ๆ แก้มสูง ๆ ได้ (สำหรับล้อขับเคลื่อน) ส่วนที่ไม่ทำขอบใหญ่มากเกินกว่า 15 นิ้ว เพราะต้องการ “เบา” เป็นหลัก รถ Drag เบรกก็ไม่ได้ใหญ่ ใส่ล้อ 15 นิ้ว พอแล้ว ส่วนล้อหน้า ก็จะเป็นล้อหน้าแคบมาก ๆ เหมือนล้อจักรยาน หน้ากว้าง 3-4 นิ้ว แค่นั้นเอง ทั้งนี้ เพื่อต้องการ “ลดน้ำหนัก ลดความฝืด” ให้ได้มากที่สุด สำหรับล้อที่ไม่ได้ขับเคลื่อน ไม่จำเป็นต้องใส่ใหญ่ให้มันถ่วงเวลาเล่น…
- ล้อแบบมี Beard Lock (ขอบสีดำ) เอาไว้ล็อกขอบยางให้ติดแน่น ไม่ดุ๊กดิ๊กไปไหน
มันจะมีล้ออีกประเภทหนึ่ง ในรูปจะเห็นเป็นขอบประหลาด ๆ ไม่ปกติ จะเรียกกันว่า “Beard Lock” กล่าวคือ ไอ้วงขอบที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะทำหน้าที่ “ล็อกขอบยาง” ให้ติดกับล้ออย่างแน่นหนา เพราะรถแรงม้ามหาศาล ระดับ 2,000 แรงม้า ถ้าออกตัวเต็ม ๆ อาจจะมีโอกาสที่ “ยางเลื่อนหรือหลุดจากขอบล้อได้” ล้อบางรุ่นก็จะมี “นอตล็อก” ขันยึดขอบยางเอาไว้ แต่อันนี้จะเป็น “ขอบยึดล็อกทั้งวง” ทำให้มีความแน่นหนาและปลอดภัยกว่า แต่น้ำหนักก็จะมากกว่าล้อที่ไม่มี Beard Lock อยู่นิดหน่อย เพราะน้ำหนักที่เพิ่มมา จากตัวขอบล็อก และขอบล้อก็ต้องทำหน้าแปลนสำหรับขันยึดขอบล็อก ซึ่งถ้ามันดีก็น่าแลก เมืองนอกใช้ล้อแบบ Beard Lock มานานแล้ว ซึ่งบ้านเราก็เริ่มนำมาใช้กันแล้ว…
- การถอดใส่ยางก็ไม่ลำบากนัก ถอดขอบล็อกออก เอายางใส่กระทะล้อ เสร็จแล้วก็ขันล็อกขอบล้อเข้าไปดังเดิม ง่ายดี
สำหรับล้อ Drag นั้น คุณสมบัติของมัน คือ “เน้นเบา” เป็นหลัก แต่มันเป็นล้อที่ “ไม่ทนทานต่อแรงกระแทกอะไรเลย” เนื่องจากวิ่งระยะสั้น ทางเรียบเท่านั้น อย่างพวกล้อรถแข่ง Circuit ก็จะต้องเผื่อความแข็งแรงไว้ “ปะทะ” บ้าง เวลาปีน Bank แต่รถ Drag ไม่ใช่ ถ้าได้ลองอ่าน “คำเตือน” ที่อาจจะเป็นฉลาก หรือหล่อติดมากับล้อ จะพบกับถ้อยคำประมาณว่า For Drag Purpose Only บ้าง Not for street used บ้าง นั่นคือข้อบ่งชี้ว่า “ใช้กับในสนาม Drag เท่านั้น” ก็เคยเห็นคนพิลึก เอาล้อพวกนี้ไปใส่วิ่งถนนเล่น มักจะเจอกับล้อหน้า บางทีมันไม่ได้เสียหายให้เห็นหรอก แต่อาจจะ “คด” ได้ ถ้าซวย ๆ ขับเล่น แต่ดันไปตกหลุมแรง ๆ ด้วยความ…อะไรก็แล้วแต่ ล้อเสียหายได้ทันที อย่าใช้ผิดประเภทเด็ดขาด…
ยาง (Drag Tire)
เห็นมั้ยครับ เจ้ายางสลิคใหญ่บะเร่อในล้อหลัง และยางแคบ ๆ ในล้อหน้า มันช่างไม่เหมือนกับยางที่เราเห็นในรถแข่งอย่างอื่นเลย พวกนี้จะเป็นยางที่เรียกว่า Drag Slick คือ เป็นยาง “ผ้าใบล้วน” ไม่มีโครงเหล็กด้านในเลย เอามือไปตบที่ยาง มันเสียงแบบโปร่ง ๆ ไม่แน่น เนื้อนิ่มมาก สำคัญคือ “แก้มยางจะนิ่มและสูง” เพื่อเอาไว้ “ซับแรงเพิ่ม Traction ในการออกตัว” ถ้าใครเคยดูพวก VDO ภาพ Slow Motion เวลาออกตัว แก้มยาง Drag Slick จะ “บิดตัวเป็นริ้ว” ก่อนในจังหวะที่ล้อขับเคลื่อนเริ่มหมุน มันจะรั้งไว้ไม่ให้เกิดการ “หมุนทันทีทันใด” เพื่อไม่ให้ฟรีทิ้งมากเกินไป ถ้าเป็นยางแก้มแข็ง เวลาล้อหมุน ยางจะหมุนตามทันที ไม่มีการซับแรง ทำให้ล้อฟรีทิ้งมากนั่นเอง ส่วนยางอีกประเภท ก็คือ Drag Radial พวกนี้จะเป็นยางหน้าตาคล้ายยางสปอร์ตทั่วไป จะมีโครงสร้างเป็นใยเหล็กด้านในด้วย ก็จะใช้ในพวกรถแข่งที่เป็นรุ่น Street ที่ไม่ได้โหดร้ายมาก ผมไม่ขอพูดถึงแล้วกัน…
- ยาง Drag Slick จะเป็นโครงสร้างนิ่ม ๆ เพราะมันไม่มีใยเหล็กเลย เป็นผ้าใบล้วน
ข้อควรระวัง ในการใช้ยางประเภท Drag Slick ก็คือ “มันเป็นยางที่วิ่งทิศทางตรงเท่านั้น” ด้วยความที่แก้มนิ่มมาก ๆ “จึงไม่สามารถรับแรงเคลื่อนที่ในด้านข้างได้” เวลารถเกิดเสียการทรงตัว จึง “น่ากลัว” เพราะมันเลี้ยวไม่ได้เลย ก็ต้องเซ็ตรถดี ๆ ไปตรง ๆ แล้วกัน อีกประการคือ ยางพวกนี้จะ “เติมลมอ่อนมาก” น่าจะอยู่ประมาณไม่เกิน 10 ปอนด์ เท่านั้นเอง เวลา “จอดพักรถ” เป็นเวลานาน อย่างช่วงที่ไม่ได้แข่งขัน จะต้อง “เอารถขึ้นสามขาเอาไว้ ให้ยางลอยพ้นจากพื้น” เพราะยางที่มีความนิ่มมากขนาดนี้ เวลาจอดนาน ๆ ยางจะถูกรถทับอยู่จุดเดียว ก็คือ จุดที่กดทับกับพื้น จะเกิดเป็น Blind Spot ทำให้ “ยางไม่กลม” ได้ง่าย ก็ต้องระวังกันตรงนี้ด้วย…
- ยางใน สำหรับป้องกันลมยางซึม แต่จะมีน้ำหนักเพิ่มหน่อย
สำคัญมากอีกข้อ คือ “ห้ามเติมลมเกินกว่า 1 บาร์” หรือ 15 ปอนด์ ในยาง Drag Slick ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อกำหนดของผู้ผลิตยาง ถ้าลมยางแข็งเกินกว่าที่กำหนด จะทำให้ “โครงสร้างยางเสียหายได้ง่าย” จึงต้องระวังจุดนี้เป็นพิเศษ ส่วนอีกอย่างที่ต้องระวังสูงสุด คือ “ไม่ควรนำยางประเภทนี้ไปใช้งานบนที่ที่ไม่ใช่ Track การแข่งขัน” อย่างเช่น นึกสนุกใส่ไปวิ่งถนนเล่น ยางพวกนี้โครงสร้างไม่ได้ออกแบบมาเผื่อการวิ่งบนถนนที่ผิวหยาบ หรือมีหลุมบ่อ อย่างถนนหลวงทั่วไป (โดยเฉพาะไทยแลนด์ แม่มมมม เรียบมากกก) จะทำให้ยางเสียหายได้ง่าย หรือไปแข่งใน Track ที่มีพื้นผิวหยาบ โดยเฉพาะเวลาออกตัว หรือเบรก ยางจะเกิดการสึกหรอมากจนเกิดอันตรายจาก “ยางระเบิด” ได้ ใช้บนผิวยางมะตอย (Asphalts) เท่านั้น ของแถมอีกอย่างคือ “ยางใน” อันนี้ก็เป็นการ “กันรั่ว” เพราะการสูบลมน้อย ๆ จอดนาน ๆ โอกาสลมยาง “ซึม” จนยางแบนมีสูง ถ้ายางแบน ไม่ยอมเอารถขึ้นสามขา ยางจะเสียหายได้ง่าย ยางในจึงช่วยทำให้ลมไม่รั่วออกมาเร็วนัก เป็นการรักษายางได้อีกทางหนึ่ง…
เบรก (Brake Kit)
เรื่องเบรกสำหรับรถ Drag ก็จะไม่ค่อยเน้นกันเท่าใดนัก แต่จริง ๆ มันก็สำคัญนั่นแหละ เพราะเราก็ต้องมีการเบรกช่วยก่อนรถจะหยุดอยู่ประมาณหนึ่ง สำหรับคุณสมบัติของเบรกที่ใช้กับรถ Drag แบบโดยเฉพาะ คือ “น้ำหนักเบา” ไว้ก่อน เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์ ขนาดก็พอประมาณจะใส่ล้อ 15 นิ้ว ได้ ตัวคาลิเปอร์เบรก ก็จะเป็น “อะลูมิเนียม” คือ เน้นความเบาจริง ๆ ส่วนจานเบรก ถ้าคุณลองสังเกต มันจะหนาไม่เกิน 1 ซม. และ “ไม่ใช่จานที่เป็นรูระบาย” แบบรถปกติ เป็นจานแบบ Solid บาง ๆ แค่นั้นเอง เพราะการเบรกมันไม่ได้ใช้ระยะยาว เบรกแป๊บเดียวแล้วก็เลิกกัน ส่วนผ้าเบรก ก็จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทุกสิ่งทุกอย่างก็เน้นความเบาทั้งสิ้น…
- คาลิเปอร์เบรก มีขนาดเล็ก เน้นน้ำหนักเบาเป็นหลัก
อีกประการที่เป็นข้อน่าสนใจ และคนที่ไม่เคยสัมผัสอาจจะยังไม่ทราบ โดยปกติแล้ว ระบบดิสก์เบรกของรถทั่วไป ตัวผ้าเบรกจะ “เลีย” กับจานเบรกอยู่นิดหน่อย แม้เราจะยังไม่เหยียบเบรกก็ตาม แต่กับเบรก Drag จะมีข้อแตกต่าง คือ เมื่อเรายังไม่เหยียบเบรก “ผ้าเบรกจะไม่แตะกับจานเบรกเลย” ทั้งนี้ก็เพื่อ “ลดการเสียดสี” ทำให้ล้อหมุนลื่นขึ้น ลดภาระการขับเคลื่อนลงได้มากพอประมาณ แต่ !!! ข้อเสียมันตามมาครับ คือ “ต้องย้ำเบรก” ตอนแรกมันจะรู้สึกเบรกจม เพราะผ้าเบรกกับจานมันมีระยะห่าง (Gap) กันอยู่ จึงไม่เหมาะกับการใช้กับรถทั่วไป เคยเห็นมีใส่กันในรถถนนทั่วไป ถ้าจะเอา “เท่” ก็อีกเรื่อง (อ่านข้ามไปได้เลย) แต่ข้อเสียมันก็มีมาก ถ้ามีการ “เบรกบ่อย เบรกยาว ที่ความเร็วสูง” จานเบรกอาจจะ “คด” ได้ง่าย ทำให้เบรกสั่น เพราะการเบรกของรถถนน จะใช้เบรกบ่อยและนาน ส่วนการเบรกก็จะไม่ฉับไวด้วย อย่างที่บอกไปเรื่องผ้าเบรกมันถอยห่างจานเบรกออกมา คิดดูดี ๆ ก่อนจะเอามาใส่ในรถถนนทั่วไปก็แล้วกัน…
- สังเกตจานเบรก จะเป็นแบบบาง ๆ ธรรมดา เจาะรูลดน้ำหนักอีกต่างหาก จึงไม่ค่อยเหมาะที่จะนำไปใช้งานปกติ
ระบบเกียร์ (Gearbox)
เอาพอเป็นสังเขปก็แล้วกันครับ เพราะมันเยอะเหลือเกิน ส่วนใหญ่แล้ว มันก็จะเน้น “เข้าเร็ว” ไว้ก่อน เกียร์แข่ง Drag ก็จะมีหลายประเภท แยกเป็น “เกียร์ธรรมดา” และ “เกียร์อัตโนมัติ” เกียร์ธรรมดา ไม่ต้องพูดกันมาก มันยังแยกประเภทไปอีกเยอะแยะ หลัก ๆ ก็มี H-Pattern with Dog Engage ก็เป็นเกียร์ธรรมดา ที่เข้าแบบ H-Pattern แต่ใช้ฟันเฟืองเกียร์แบบ Dog box หรืออะไรก็แล้วแต่เรียก ส่วนต่อมาคือ Sequential มันเป็นการเข้าเกียร์แบบ “เรียงลำดับ” ไม่สามารถ “ข้ามเกียร์” ได้เหมือนกับ H-Pattern แล้วก็ยังแยกย่อยไปอีกมากมาย ตามลักษณะการเข้าเกียร์ เช่น Air Shifter ใช้ “ลม” ในการสั่งกลไกเปลี่ยนเกียร์ ผู้ขับ “กดปุ่ม” ระบบลมก็จะไปเปลี่ยนเกียร์ให้เรียงตามลำดับขึ้นไป แต่จะไม่สามารถ “เปลี่ยนเกียร์ลง” ได้ เว้นแต่ตอนจอด ก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 1 แล้วคลานกลับพิต หรือพวกเกียร์แบบ V-Gate ที่ใช้การโยกคันเกียร์แบบ “ดันขึ้น-ดึงลง” เช่น 1 ดันขึ้น 2 ดึงลง 3 ดันขึ้น 4 ดึงลง ฯลฯ มองข้าง ๆ มันจะเคลื่อนที่เหมือนกับตัว V อันนี้ก็กันเข้าเกียร์พลาดเหมือนกัน…
- ระบบเกียร์ Air Shifter ที่มี Solenoid ลม ที่จะดันกลไกแต่ละเกียร์ให้ทำงาน
ส่วน “เกียร์อัตโนมัติ” หรือ “เกียร์ออโต้” ก็จะดีตรงที่ว่า “ผู้ขับไม่ต้องพะวงเปลี่ยนเกียร์” ส่วนใหญ่ก็เป็นเกียร์แบบ 2 หรือ 3 สปีด แล้วแต่รุ่น มันดีอย่างตรงที่ “การตัดต่อกำลังเนียนกว่าเกียร์ธรรมดา” มันก็ยังมี Torque Converter เหมือนปกติ แต่เป็นแบบพิเศษ รับแรงม้าได้มาก สำหรับเกียร์เฉพาะทางรถ Drag นั้น ก็ “ไม่สามารถนำไปใช้งานแบบอื่นได้” เป็นอันรู้กัน เพราะกลไกการทำงาน หรือการเข้าเกียร์ ต่างก็เน้นในทาง “เร่งขึ้นอย่างเดียว” เท่านั้นเอง…
- หน้าตาของเกียร์ออโต้ สำหรับ Drag Race ไม่มีอะไรมาก เพราะมันแค่ 2-3 สปีด ลดการเปลี่ยนเกียร์ที่มากเกินไป
ที่นั่ง (Seat)
สำหรับ “ที่นั่ง” ส่วนใหญ่เราจะเห็นกัน เป็นแบบอะลูมิเนียม ของ KIRKEY ตรงนี้ทางผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการ Drag ก็บอกว่า “อาจจะเป็นเรื่องของแนวความชอบ” อย่างพวกอเมริกัน ก็จะชอบอะไรที่เป็นโลหะ เงางาม หรือเน้นความดิบ เพราะอย่างที่นั่งนี้ ตัวมันมาเป็นอะลูมิเนียมเลย ส่วนนวมหุ้มรองนั่ง ก็มีต่างหากให้ จะใส่หรือไม่ใส่ก็แล้วแต่สะดวก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใส่ อาจจะเป็นไปได้ว่า แข่ง Drag มันนั่งอยู่ไม่นาน จึงยังไม่ค่อยรู้สึกอะไรนัก แต่ถ้านั่งนาน ๆ ก็ไม่เหมาะ เพราะความแข็งของมัน ทำให้ “เจ็บ” ก็คงจะไม่เหมาะกับการขับรถระยะยาวสักเท่าไหร่ ส่วนบ้านเราที่ใส่ก็เน้น “เท่” นั่นแหละ ไม่มีเหตุผลอะไร…
- เบาะนั่งแบบนี้ คงได้เฉพาะ Drag ถ้าเจอพวก Circuit นั่งนาน ๆ คง “ช้ำ”
ชุดเพลาท้าย (Rear Axle)
คงจะเคยเห็นหน้าตาเพลาท้ายประหลาด ๆ ที่ไม่เหมือนปกติ สำหรับเพลาท้ายรถ Drag ก็จะมีให้เลือกหลายรุ่น บางรุ่นก็เป็นแนว Street เป็นเพลาที่ “กระบะบ้าพลัง” ใส่กันมาก หน้าตาคล้ายของเดิม แต่เสื้อเพลาทำแข็งแรงขึ้น มีการดามเสื้อเพลากันบิด เหมือนกับ “ใส่เกราะ” เลยก็ว่าได้ พวกนี้จะเป็นสเป็กที่ทำให้ใช้กับรถ Stock Body ต่าง ๆ ได้ มีความยาวใกล้เคียงของเดิม เพลาข้างใหญ่กว่า เฟืองท้ายก็ใส่ได้ใหญ่กว่าเดิม ส่วนเพลาท้ายอีกแบบหนึ่ง หน้าตาเพลาท้ายจะใหญ่ แต่ไม่ยาว สั้น ๆ กุด ๆ แต่หนาเป็นบ้า พวกนี้จะเอาไว้สำหรับรถระดับ Spaceframe หรือ Dragster เพราะต้องการความแข็งแรงสูงมาก ที่เห็นมันสั้นกุด ก็เพราะ “ต้องการให้ใส่ล้อและยางใหญ่มาก” แล้วก็มีจุดยึดไว้ใส่กับสำหรับช่วงล่าง 4 Links โดยเฉพาะ สำหรับการแข่งขัน Drag เท่านั้น อย่างอื่นหมดสิทธิ์…
- เพลาท้ายพิเศษ เน้นความทนทานสูงมาก ขนาดใหญ่โตมากมาย และมีจุดยึดสำหรับช่วงล่าง 4 Links เท่านั้น
โช้คอัพ (Shock Absorber)
โช้คอัพรถ Drag ถ้าเป็นรถขับหลัง ด้านหน้าคงไม่สำคัญอะไรมากนัก (จริง ๆ มันมีผล แต่ยังไม่พูดถึง) ส่วนด้านหลัง จะเน้นหนักกันพอสมควร เพราะเป็นหัวใจในการออกตัว จะดีหรือจะแ-ก (กำแพง) ก็อยู่ตรงนี้ด้วยแหละ สำหรับโช้คอัพสไตล์ Drag Race แบบของแข่งจริง ๆ ก็มักจะเป็นแบบพิเศษ ที่ใช้กับชุดเพลาท้ายแบบเมื่อครู่ ลักษณะการทำงานของมัน ก็จะเน้น “Bump นิ่ม Rebound หนืด” กล่าวถือ จังหวะ Bump หรือกด ต้อง “นิ่ม” เพราะมันจะทำให้ท้ายรถยุบตัวได้มากระดับหนึ่ง เพื่อการ Transfer น้ำหนักมากดล้อหลัง แต่จังหวะ Rebound หรือยืด จะต้อง “หนืด” รั้งไว้ไม่ให้ท้ายรถยืดเร็วเกินไป จนน้ำหนักเทกลับไปด้านหน้า ทำให้เกิดอาการ “ฟรีทิ้ง” ช่วงล่างกระดกเร็ว ควบคุมรถได้ยาก โดยรวมพวกโช้คอัพสำหรับ Drag ก็ต้องมีคุณสมบัติตามนี้ และควรจะต้องปรับ Bump กับ Rebound แยกกันได้ จะทำให้การ Setting สะดวกขึ้นมาก…
- โช้คอัพแบบ Drag จะเป็นลักษณะนี้ สำหรับใช้กับรถ Frame ทั้งหลาย ส่วนรถปกติ หน้าตาโช้คอัพก็เหมือนทั่วไป แต่จะมีการ Setting วาล์วด้านในให้เป็นลักษณะของ Drag
อินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำ (Air to Liquid Intercooler)
อินเตอร์ฯ ทำหน้าที่ “ระบายความร้อนของไอดี ก่อนเข้าสู่เครื่องยนต์” โดยปกติเราจะเห็นอินเตอร์ฯ แบบ “ระบายความร้อนด้วยอากาศ” หรือ Air to Air แบบในรถทั่วไป แต่สำหรับ Drag Race แบบเฉพาะทางจริง ๆ ก็จะเป็นอินเตอร์ฯ แบบ “ระบายความร้อนด้วยของเหลว” ที่เรียกกันว่า “อินเตอร์ฯ น้ำ” นั่นเอง สำหรับอินเตอร์ฯ แบบนี้ ข้อดีคือ “สามารถใช้ของเหลวที่มีความเย็นสูง เข้ามาลดอุณหภูมิไอดีให้ต่ำลงได้มาก” อย่างเช่น การใส่น้ำแข็งลงในถังน้ำที่ไปหล่อเย็น หรือบางอันก็ไม่ใช้ของเหลว แต่ใช้ “น้ำแข็งแห้ง” ใส่ลงไปแทนเลยก็มี เรียกกันว่า Ice Box พวกนี้มันจะใช้เฉพาะระยะสั้น ๆ แต่ยาว ๆ ไม่เหมาะ เพราะพอไปสักพัก น้ำแข็งละลายหมด น้ำก็ไม่เย็น สักพักน้ำก็ร้อนตามอุณหภูมิไอดี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรในรถวิ่งทางยาว หรือในรถปกติ ติดตั้งยาก ใช้พื้นที่มาก ท่อทางเดินเยอะ สู้แบบ Air to Air ที่ใช้กันปกติไม่ได้ รถวิ่ง ลมโกรกตลอด มันก็ใช้กันคนละแบบนะ…
- อินเตอร์คูลเลอร์ ก็จะเป็นลักษณะ “แบบปิด” อย่างนี้ ครีบอากาศจะอยู่ด้านใน หล่อเย็นด้วยน้ำ + น้ำแข็ง หรือจะเป็นน้ำแข็งแห้งเพียว ๆ ก็แล้วแต่เลือก
น้ำมันเครื่องเกรดพิเศษ (Special Engine Oil)
จริง ๆ การแข่งอะไรก็ตาม ก็จะมีน้ำมันเครื่องเกรดพิเศษ พวก Racing oil ที่มีสมรรถนะการหล่อลื่นสูง และทนความร้อนได้สูง โดยไม่เปลี่ยนสภาพกลายเป็น “น้ำ” ซะก่อน แต่จะมีน้ำมันเครื่องเกรดพิเศษ สำหรับรถ Drag ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบ Alcohol จะเพียว หรือจะมีส่วนผสมอยู่ในเบนซินเป็นจำนวนมาก อย่าง E85 ที่นิยมใช้กันอยู่ เชื้อเพลิงตระกูลแอลกอฮอล์ พวกนี้จะมีข้อควรระวัง บางครั้งมันมีการเปลี่ยนสถานะเป็น “ไอน้ำ” มาก เป็นปกติของเชื้อเพลิงพวกนี้ โดยเฉพาะพวก Pure Alcohol ทิ้งไว้นานเกิน 1 วัน มันจะเป็น “ตะกรัน” ไปจับระบบทางเดินเชื้อเพลิงทั้งหมดเกิดการเสียหายขึ้น และบางครั้งการจุดระเบิดก็จะมีไอน้ำปนมาในห้องเผาไหม้ ทำให้น้ำมันเครื่องเสียหาย สังเกตมันจะเปลี่ยนเป็นสีเหมือนกับ “กาแฟใส่นม” นั่นคือมีน้ำปนเข้าไป สำหรับน้ำมันเครื่องพิเศษที่ว่านี้ มันจะมีคุณสมบัติ “ไม่รวมตัวกับน้ำ” โดยจะแยกชั้นกันออกมาอย่างชัดเจน ไม่ปนกันนั่นเอง บางครั้งแข่งจบ 1 run เข้ามาถ่ายน้ำมันเครื่อง เขาสามารถ Drain ชั้นน้ำที่ปนมาออกไปได้ แล้วก็ใส่กลับแข่งต่อ เออ อย่างนี้ก็มีด้วย…
- น้ำมันเครื่องพิเศษ ที่มีราคาสูง ก็เลือกใช้ให้เหมาะสมกับการแข่งขัน อย่างในภาพ เป็นน้ำมันเครื่องที่เน้น Drag Race โดยเฉพาะ จากคุณสมบัติที่ว่าไป
น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับแข่ง (Racing Fuel)
อาจจะไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็น Drag เท่านั้น แต่มันก็เกี่ยวอยู่เหมือนกัน น้ำมันพวกเกรด Racing oil ก็จะมีจุดเด่นที่ “ออกเทนสูง” ออกเทนยิ่งสูง การต้านทานการ Knock ของเครื่องยนต์ก็ยิ่งมาก พวกรถ Drag ที่ทำแรงม้าสูง จะบูสต์กันมหาโหด (ไม่งั้นก็ไม่แรง) เครื่องยนต์ต้องรับภาระหนัก ห้องเผาไหม้ร้อนจัด ถ้าน้ำมันออกเทนต่ำ จะเกิดการ Knock ที่ทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ น้ำมันพวกนี้ ออกเทนสูงถึง 118 RON และราคาสูงมากจนไม่อยากนับ รถบ้านอย่าหวังจะเติม เติมก็ไม่ได้แรงขึ้น ไม่ใช่ออกเทนสูงแล้วมันจะแรง คนละเรื่องกัน…
สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงพวกนี้ ไม่ควรนำมาใช้กับรถบ้านปกติ ดูดี ๆ จะมีข้อควรระวัง คือ มันเป็นน้ำมันแบบ Low Lead ที่มี “สารตะกั่ว” เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปเมื่อต้นปีที่แล้ว (คอลัมน์ที่ลงรถ 200 SX จาก JUN THAILAND) เพราะฉะนั้น มันจึงมี “สารก่อมะเร็ง” ที่เป็นอันตรายสูง (Cancer Hazard) จะมีคำเตือนไว้เสมอ ให้หลีกเลี่ยงการสูดดม ถ้าต้องอยู่ใกล้ชิด ควรมีกรองอากาศปิดจมูกและปาก ลดการสูดดม ถ้าดมเต็ม ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ไม่ต้องบอกนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกกลิ่นน้ำมันหอม ๆ บางคนก็ชอบไปยืนดม แล้วมาบอกว่า “เฮ้ย น้ำมันออกเทนมันหอมว่ะ” หารู้ไม่นะครับ กำลังเอามะเร็งเข้าตัวเอง ผมขอบายไม่ดมกะคุณเด้อครับ…
- น้ำมันเชื้อเพลิงออกเทนสูง ราคาแพง อันตรายก็มีมากด้วย ถ้าจะใช้ก็ลองอ่านคำเตือนให้ละเอียด
ขอขอบคุณ : “คุณชนินทร์ ธรรมาธิคม” สนาม BDA และ “คุณอดิสรณ์ เจริญศักดิ์” MACTEC เป็นผู้ให้ข้อมูลในบทความนี้…