เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), Image JinZz
รถคันนี้ปรากฏออกมาประมาณ 2 ปีได้แล้ว และเรา XO AUTOSPORT แม้จะยังไม่ได้ลงคอลัมน์ในตอนที่มันเพิ่งเสร็จใหม่ๆ แต่ไม่ได้เพิกเฉย ยังคงเฝ้าติดตามผลงานคันนี้อยู่ ให้มีการพัฒนามาจนถึง “ขีดสมบูรณ์” ซึ่งเล็งเห็นความตั้งใจของเจ้าของรถ “ตี๋ Inkjet” จากทีม “พลังชล Pattaya Drift Team” ที่เป็นเจ้าของ Project ประหลาด “ผสมข้ามพันธุ์” !!! ระหว่างตัวถัง ISUZU D-MAX กับ Floorplan ของ CEFIRO A31 เรื่องทำคงไม่ยาก ถ้ามี “คนสั่งให้ทำ” คันนี้เหมือนเป็น “ตัวแข่งในจินตนาการ” ที่ต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” กันหลายฝ่าย และทำให้สังคมได้คิดว่า “ถ้าง่ายไป ก็ไร้การพัฒนา” คันนี้จึงมีจุดที่น่าสนใจอยู่มาก เพราะเป็น “งานสร้าง” ชุดใหญ่ สำคัญกว่านั้น คือ “การประสานงานที่ยอดเยี่ยม” ของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ งานนี้มีเรื่อง “เหลา” กันเยอะ รวมถึงช่วงล่าง WISEFAB ที่มาแรงในมอเตอร์สปอร์ต ณ บัดนาว จะระดับเทพหรือระดับเทวดาอะไร ผมก็ไม่รู้ แต่ต้องใช้ “วิชาการ” และ “ความเข้าใจ” ขั้นสูง งานนี้ไม่ง่ายเสียแล้ว…
- ทำกันหลายครั้ง จนได้ทุกอย่างที่ลงตัว ทั้งความสูงของรถ มุมของช่วงล่าง และอีกหลายๆ อย่าง ที่ผ่านการ “วางแผน” กันมาเป็นอย่างดี
All For One
หลายประสาน แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน น่าจะเป็นจุดสำคัญของการสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา ผมจะขอเล่าเป็น Story แบบ “เป็นฉาก” ไปแล้วกัน รถคันนี้ “ตี๋ Inkjet” เดิมทีก็ซื้อมาเพื่อ Drift เห็นว่า CEFIRO มันก็มีเป็น “รถสามัญประจำบ้าน” ดูไม่ตื่นเต้นเท่าไร ก็อยากจะสร้าง “ความแปลกใหม่ให้วงการดริฟต์” แปลกแยก แต่ “ไม่แตกแยก” แล้วจะเอาอะไรดีล่ะ จะเอารถยุโรป เช่น BMW มาดริฟต์ ก็มีคนทำแล้ว ตอนนี้เลยกลับมาคิดว่า จะเริ่มกับรถสามัญประจำบ้านก่อน แต่จะครอบ Body แปลกๆ ในตอนแรกก็ทำหน้า R32 ก่อน ส่วน Project 2 ก็เป็น “A31 ผสม Z33” ก็น่าจะแลดูดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่า “Wheelbase หรือช่วงล้อหน้าถึงหลัง ของ Z33 สั้นกว่า A31” ก็ตัด Floorplan ให้มันได้ สิ่งที่ตามมา คือ รถที่มีช่วงล้อสั้น แต่ “ฐานล้อ” (จากซ้ายถึงขวา) กว้าง อัตราส่วนมันจะทำให้รถ “เกาะถนน” (Grip) ได้สูง ถ้าขับแบบ Grip ก็จะดี แต่ถ้าเป็น Drift ถ้ารถ Grip สูง จะกลายเป็น Understeer ก็เลยเริ่ม Project 3 ตอนนี้ก็จะอาศัยความยาวของช่วงล้อ A31 เหมือนเดิม แล้วจะเอาอะไรครอบดีล่ะ ???
หวยมาออกที่ “All New ISUZU D-MAX” จริงๆ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดเรื่อง Wheelbase Ratio ก็เป็น “อัตราส่วนระหว่างฐานล้อและช่วงล้อ” ที่จะเป็นตัวกำหนดว่ารถคันนั้นมีมิติเป็นอย่างไร “สั้น” หรือ “ยาว” เราไม่ได้กำหนดเพียงแต่ช่วงล้อหน้า-หลัง เท่านั้น แต่ต้องดูอัตราส่วนด้วย แม้ว่ารถจะยาว แต่มีความกว้างมาก อัตราส่วนจะใกล้ๆ เป็น “สี่เหลี่ยมจัตุรัส” ก็ถือว่าเป็นรถที่ “สั้น” อยู่ดี พักไว้ก่อน สาเหตุหลักที่จะต้องเป็น D-MAX เพราะมันคือ “หลักการตลาด” รถกระบะ คือ “รถมหาชน” ที่เป็น Mass ขั้นต่อมา เวลาไปแข่ง หรือ Road Show ตามต่างจังหวัด คนจะรู้จัก “กระบะ” กันมาก ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างสูง จึงเป็น “เป้าหมายหลัก” ในการใช้ Body ตัวนี้มาครอบ และที่สำคัญ “ยังไม่มีใครทำ” บนพื้นฐาน A31 มาก่อน… .
- ช่วงล่าง WISEFAB ที่สร้างมาเป็นพิเศษ ทำให้ Angle การเลี้ยวมีมาก ก็จะกำหนดมุมขวางของรถได้เยอะ ตรงนี้จะมีเรื่องของ Grip เข้ามาเกี่ยว ถ้า Grip มาก Angle ของรถเยอะ ก็จะสามารถ “ใช้ความเร็วได้เยอะ เดินคันเร่งได้รุนแรง ปั่นควันได้มหาศาล” เป็นสิ่งที่สำคัญ และ “เรียกแต้ม” รวมถึงการใช้ความเร็วในการเข้าถึงคู่แข่ง
- เห็น “สติกเกอร์” ก็รู้ว่า “หลายฝ่าย” บนรถคันนี้ ขยายโป่งใหม่ สังเกตล้อหลังเป็น “แคมเบอร์บวก” ในขณะจอดนิ่ง โดยมีเหตุผลว่า เวลาเร่งแรงๆ รถจะยุบตัวจากแรงกด ทำให้ “แคมเบอร์เป็นศูนย์” หน้ายางจะสัมผัสเต็มพื้นที่ เวลาสึกจะเสมอกันหมด (เวลาดริฟต์เสร็จ ก็จะต้องดูรอยสึกหน้ายางด้วย วิเคราะห์ว่ามุมล้อถูกต้องหรือไม่) เพื่อให้เกิด Traction สูงสุด
- ชัดเจนว่าจัดท้ายต่ำกว่าด้านหน้า ด้วยเหตุผลที่บอกไปในเนื้อเรื่อง เพราะ “กระบะท้ายเบา” เลยต้องปรับช่วยในลักษณะนี้
หลังจากได้ไอเดียไปคุยกับสาย Body Work คือ “บอย Garage 2” (Boy G2) ที่มีชื่อเสียงในการ Swap แนวนี้อยู่แล้ว สมัยก่อน “บอย” ก็ Swap เอา Floorplan ของ COROLLA TE71 แล้วเอา Body Shell ของ TRUENO AE86 มาครอบ หรือ CEFIRO A31 ผสมกับ SKYLINE R32 มันเป็นไปได้ เพราะพื้นฐานใกล้เคียงกันมาก แต่ D-MAX กับ CEFIRO จะมี “มิติ” ที่ต่างกันพอสมควร งานนี้ไม่ง่ายเหมือนเดิม ก่อนอื่น จะต้องกำหนด “มิติ” รถกันก่อน โดยการซื้อ Body Shell ของ D-MAX ตั้งแต่ แก้มหน้า หัวรถทั้งหมด หัวเก๋งโดยสาร ไปยันกระบะท้าย มาจัดทรงกันก่อน ว่าจะเอาความยาว ความสูง อะไรขนาดไหน พอได้แล้วจึงต้องวางตำแหน่งให้แต่ละอย่างออกมาลงตัวที่สุด ต้องอาศัยประสบการณ์ของทีมช่าง Body Work เป็นสำคัญ และที่สำคัญ Wheelbase Ratio ของ D-MAX จะใกล้เคียงกับ A31 พอสมควร มีผิดกันไม่มากก็ “ตัดกระบะ” ช่วยเอา ทำกันจนออกมาสำเร็จเป็นคัน…
Most Wanted !!!
Wide Torque
มาถึง “ขุมพลัง” ก็ยังอาศัย “พี่เจ” คันนี้เป็น 2JZ-GTE VVT-i ที่เลือกเพราะ “เครื่องสดใหม่” เพราะเป็นรุ่นสุดท้ายของซีรีส์ เรื่องเครื่องยนต์ การวางเครื่องส่วนหลักๆ ก็เป็นหน้าที่ของ “Racing Golf” ส่วนการประกอบเครื่อง ส่วนหลักเป็น “Nui Engine” ร่วมมือกับ “Aor 77 Shop” พูดถึงเรื่องวางเครื่อง ก็ต้องคำนึงถึงตำแหน่ง “สมดุล” ว่าจะเอาไว้ตำแหน่งไหน วางอุปกรณ์อะไรบ้าง ให้ “การกระจายน้ำหนัก” (Weight Distributor) อย่างที่เราต้องการ ก่อนจะจัดทำก็ต้องเอาอุปกรณ์ที่จะใช้มา “ลองวางตำแหน่ง” ก่อน แล้วเช็กน้ำหนักดู ไม่ใช่ใส่ๆๆๆๆ เข้าไป แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง พอได้ตำแหน่งที่ต้องการ ก็จัดการติดตั้งถาวรได้ (แต่ไม่ได้ทำจบสมบูรณ์ในครั้งเดียว ภาคสองมีปรับปรุงอีก อ่านต่อไปเรื่อยๆ ละกัน)
ย้อนกลับมาที่เครื่อง สิ่งที่ “ตี๋” ต้องการ คือ “แรงม้า แรงบิด มาอย่างต่อเนื่องเป็น Wide Power Band” ก็เลยตัดสินใจที่จะใช้ไส้ใน “3.4 ลิตร” เพื่อเรียกกำลังออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เน้นตัวเลขแรงม้าสูงสุด แต่เน้นที่ “ช่วงการทำงานต้องกว้าง” จะมีผลอย่างมาก ถ้าเครื่องมี Power Band กว้าง ก็จะยิ่ง “ขับง่าย” จะขับยังไง มันก็ไป เพราะการแข่งขันจะมีผลมาก เพราะ “ไลน์สนามมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ” อาจจะมีมุมแคบ ทำให้ต้องชะลอความเร็ว แล้ว “กระชาก” ไปต่อ เครื่องที่มีแรงบิดมากในช่วงกว้าง ก็จะได้เปรียบตรงนี้ สามารถวิ่ง Battle กับรถที่ “เร็ว” หรือ “ช้ากว่า” ก็ได้ (อาจจะช้าเพราะ “ลีลา” ดึงเช็งช้าหน่อยแล้วกระชากหนี ก็แล้วแต่สไตล์) ไอ้วิ่งกับรถช้ากว่านี่สำคัญ เพราะไม่ต้อง “รอเค้นรอบสูง” อย่างเดียว รอบกลางไปไม่เป็นก็จะ “เสียจังหวะ” อันนี้สำคัญ ส่วนคนจูนคือ “อุบ วายริ่ง” ก็ “รับฟังความคิดเห็น” ว่าคนขับต้องการแบบนี้ และคุยกับคนทำเครื่อง ท้ายสุดก็ออกมาตามที่ต้องการ เป็นรถที่ขับง่าย รุนแรงแบบสั่งได้ ไม่ต้องยื้อรอบสูงมากๆ ก็ได้ความทนทานมาเป็นของแถม อาจจะลงทุนสูงในครั้งแรก แต่ระยะยาว “ประหยัดกว่า” ถ้าเครื่องไม่พัง ก็ไม่ต้องเสียค่าแรง ค่าซ่อม ตรงนี้มันมีค่าใช้จ่ายตามมาทั้งหมด…
- พื้นกระบะเป็น D-MAX ส่วนที่อยู่หลังหัวเก๋ง ยังมีรอยเว้าสำหรับใส่เบาะหลังของ A31 อย่างชัดเจน หม้อน้ำถ่วงกลางรถ ใส่พัดลมไฟฟ้าถึง 3 ตัว ต้องแรงหน่อย เพราะรถ Drift เวลา “หันไปหันมา” ลมจะไม่ค่อยปะทะรถอยู่แล้ว ถังน้ำมันถ่วงจุดท้ายสุด วางตำแหน่งและยึดได้สวยงามดี
- คอนโซล All-New D-MAX ส่วนการวางอุปกรณ์เน้น “ความเรียบง่าย ใช้ได้ไม่สับสน” มีส่วนสำคัญในเวลาแข่งขัน ส่วนเกจ์ติดที่เสา A จริงๆ ก็ดูไม่ทันอยู่แล้วครับ เพียงแต่เอาไว้เหลือบๆ ดู หากมี Peak Warning ขึ้นมา แสดงว่า “ผิดปกติ” แต่ถ้าไม่มีก็เหนี่ยวต่อไป
มาถึง “เรื่องยาว” แล้วละ “ฝีตีน” นี่เรื่องสำคัญ ในการกำหนดว่า “จะเกาะหรือเปล่า จะเร็วหรือช้า” หน้าที่นี้เป็นของ “เฮียหนึ่ง ไฮ้ เซอร์วิส” จัดการให้ ก่อนอื่นต้องกำหนด “ความสูง” ของรถให้ได้ก่อน ความสูงนี้จะต้องสัมพันธ์กับ “มุมการทำงานของช่วงล่าง” เรื่อง Roll Center ที่เคยพูดถึงกันไปแล้ว มาถึงเรื่องการกระจายน้ำหนัก และการสมดุลน้ำหนักแบบ “ทแยง” หรือ Cross Weight ที่ต้องสมดุลกัน ทำให้รถมีอาการ “Active” สูง ล้อทั้งสี่เกาะถนนแบบสัมพันธ์กัน เลี้ยวซ้ายและขวามีความสมดุลกันสูง เป็นเรื่องที่สำคัญมากก่อนอื่น สำหรับจุดสังเกตของคันนี้ คือ “ท้ายรถจะต่ำกว่าหน้า” ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะถ้าเป็นทรงกระบะ จะมีปัญหาเรื่อง “ท้ายเบา” ตามสรีระของรถ เราก็ต้อง “แก้ทาง” เช่น เอาอุปกรณ์ต่างๆ ไปวางไว้เพื่อเพิ่มน้ำหนักท้าย แต่ลดน้ำหนักด้านหน้าลง รวมถึงการปรับท้ายรถให้เตี้ยลง เพื่อให้น้ำหนักเทมาด้านหลังมากขึ้น…
สำหรับ “แพหลัง” คันนี้ แต่ก่อนก็เคยใช้ของ SKYLINE R33 มา แล้วก็เปลี่ยนเป็น SILVIA S15 ทำไมเหรอ ??? จากการทดลอง R33 GT-R เป็นช่วงล่างที่มีความแข็งแรงสูง แต่มีข้อเสียคือ “น้ำหนักมากเกินไป” สำหรับรถคันนี้เลยหาของ S15 ที่มีน้ำหนักเบากว่ามาใส่แทน สำหรับจุดดีของ R33-R34 และ S14-S15 คือ “มีการปรับปรุงจุดยึดลิงค์ต่างๆ ใหม่แล้ว” ทำให้จังหวะการ “ยุบ” และ “ยืด” มุมล้อมีความ “คงที่” มากกว่าตระกูล R32 หรือ S13 ที่เวลายุบและยืด มุมล้อจะเปลี่ยนพอสมควร คือ “ล้อแบะ” และ “โทเอาต์” ทำให้ Traction ในการยึดเกาะลดลง อันนี้คนที่เคยลองจะรู้ดี…
- ช่วงล่างหน้าจะเป็นปีกนกและคอม้าแบบลดน้ำหนักสุดๆ สามารถให้มุมเลี้ยวได้มาก รวมถึง Ball Joint ที่สามารถ “ให้มุมได้มาก” ทำให้การตอบสนองรวดเร็วในการใช้มุมล้อเลี้ยวเยอะๆ รวมถึงจังหวะการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งบู๊ชยางทำไม่ได้
สำหรับตอนนี้ก็ได้ใช้ช่วงล่างเป็นของ WISEFAB จาก “ออสซี่” ที่มีโครงสร้างพิสดารพันลึก เรียกว่าทำใหม่หมดเลย รวมถึง “คอม้า” จุดยึดต่างๆ ก็สร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ดูทรงมันจะประหลาดๆ เอาไว้ “เหลา” กันในบรรยายภาพก็แล้วกัน จริงๆ ซื้อมานานแล้ว แต่พอ D-MAX คันนี้ เริ่ม “จริงจัง” และต้องการขึ้นต่อยอดในอนาคต จึงได้นำมาใส่ แต่ก็สร้างความ “ปวดกบาล” ให้พอสมควร จะรู้ไหมว่า “มันใส่แล้วปรับไม่ได้” เฮ้ย ???
แล้วจะซื้อมาทำถ้วยอะไรครับ ??? เกลียวปรับก็ไม่มี มีแต่ “เกลียวล็อก” แบบทางเดียว ถ้าเป็นแบบปรับได้ จะต้องมี “เกลียวสองทาง” คือ “เกลียวซ้าย” และ “เกลียวขวา” และมีตัว Turn Buckle ตรงกลาง เพื่อให้สามารถปรับระยะต่างๆ ได้ แต่อันนี้ “ไม่มี” หนทางปรับก็คือ จะต้องคำนวณระยะตั้งแต่การใส่ครั้งแรก โดยการรื้อมาเป็นชิ้นๆ แล้วประกอบชิ้นส่วน ตรงนี้ต้องมีความรู้ในด้าน Geometry ด้วย ว่ามุมแบบนี้ ต้องปรับค่าเท่าไร ถ้าใส่เข้าไปในรถแล้ว ค่ายังไม่ถูกต้อง ก็ต้องถอดรื้อออกมาใส่ใหม่ “ยาก” นะงานนี้ แต่ถ้าปรับได้ถูกต้องแล้ว ก็จะได้การยึดเกาะที่สูงกว่าช่วงล่างปกติแบบคนละโลก ส่วนคุณสมบัติเพิ่มเติม ดูในบรรยายภาพแล้วกัน…
- ช่วงล่างหลัง มหัศจรรย์งานสร้าง เป็น “แขนง” ดูทรงจะแข็งแรงไหม ??? แต่จะบอกว่า การสานเป็น “สามเหลี่ยม” ซึ่งเป็นรูปทรงที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาทรงเหลี่ยมทั้งหมด มัน “คานแรง” กันเอง แต่ถ้าลองคิดถึงแนวทาง “การแตกแรง” แล้วจะคิดออก กล่าวคือ เวลามีการสะเทือนเกิดขึ้น แรงที่กระทำจะถูก “แตกแขนง” ไปตามกิ่งก้านสาขา ก็จะเกิดแรงกระทำไปที่ช่วงล่างน้อยลง ช่วงล่างก็จะทำงานได้เร็วขึ้นมาก ประกอบกับน้ำหนักที่เบามาก คอม้าด้านหลัง WISEFAB มีน้ำหนัก “3.8 กก.” ส่วนของเดิมหนักถึง “5.4 กก.” ทำให้ “น้ำหนักใต้สปริง” (Unsprung Weight) ต่ำลงมาก ช่วงล่างจะทำงานได้เร็ว ตอบสนองไว Grip จะมา เพราะล้อไม่ลอยมาก แม้จะลอยก็ “กลับที่เร็ว” ทำให้เกิดการ Active สูง ถ้าเป็นเหล็กหล่อของเดิมหนาๆ ตันๆ ก็เหมือนกับ “แรงที่วิ่งชนกำแพง” ทำให้เกิดแรงกระทำสูง น้ำหนักมาก แรงเหวี่ยงสูง ล้อลอย แล้วกลับช้า ทำให้เคลื่อนที่ก็ยาก ทำให้หยุดก็ยาก Grip ลดลง การตอบสนองก็ช้าลง หลายคนอาจจะสงสัยว่า มีผลอย่างไรในการ Drift จริงๆ แล้ว พื้นสนามก็อาจจะไม่ได้เรียบสนิท อาจจะมีคลื่นมีลอนบ้างพอสมควร มันก็จะมีผลตรงนี้แหละครับ
หลังจากที่ใส่ช่วงล่างเสร็จ ก็ส่งกลับไป GARAGE 2 อีกรอบ ตอนนี้ทุกคนก็ Brain Storm กันใหม่ เพราะจะต้องมีงาน “แก้ไข ปรับปรุง” คันนี้เพิ่มอีก ประการแรก เรื่อง Body ที่ต้องจัดทรงใหม่ให้สวยงามและถูกต้องมากขึ้น ประการที่สอง “แก้ไขตำแหน่งคานหน้าใหม่” เนื่องจากชุดช่วงล่าง WISEFAB จะเตี้ยกว่าเดิมมาก พอใส่ไปแล้วเกิดอาการ “ปลายปีกด้านยึดกับคอม้าลงต่ำเกินไป” เลยต้องปล่อยคานหน้าต่ำลงมาตาม เพื่อแก้ Roll Center เปลี่ยนตำแหน่งจุดยึดปีกนกที่ตัวถัง เป็น “แนวระนาบสัมพันธ์กับความสูงของรถ” ตรงนี้จะต้องแก้แท่นเครื่องใหม่ด้วย ด้านหลังก็ต้องดูให้มันได้แนวระนาบสัมพันธ์กับด้านหน้า ส่วนแท่นเกียร์ ก็จะวางตำแหน่งให้ “เพลากลางอยู่ในแนวตรง” อันนี้ทำมาอยู่ก่อนแล้ว เลยต้องส่งไปจัดระดับทุกอย่างกันใหม่ หั่นโป่งล้อใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะด้านหลัง เพราะคันนี้ล้อหลัง “แคมเบอร์บวก” ???
- ตำแหน่งเครื่องยนต์ก็จะต้องคิดมากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าแค่วางลงไปเฉยๆ ต้องดูตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ระดับตัวเครื่องสูงต่ำเท่าไร ตำแหน่งเพลากลาง ต้อง “ได้แนวระนาบ” เพื่อการส่งกำลังที่เป็น “แนวตรง” และ “สมดุลย์” ตำแหน่งเครื่องเดินหน้าถอยหลังแค่ไหน คันเกียร์อยู่ตรงไหน จุด Balance น้ำหนัก ก็จะเน้นว่า “ใกล้กลางรถ” มากที่สุด เพื่อให้การกระจายน้ำหนักหน้าหลังใกล้เคียงกันตามกำหนด
Max Power : 956.59 PS @ 6,300 rpm
Max Torque : 1,055.03 Nm @ 6,200 rpm
เนื้อที่เหลือไม่มาก ขี้เกียจทะเลาะกับ “อ้อย คลองแปด” เอาบนสรุปไปแล้วกัน สำหรับ “พลัง” ของคันนี้ ถ้าดูเพียงตัวเลข อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นสำหรับเครื่องที่ขยายความจุไปถึง 3.4 ลิตร แต่ขอให้ดู “แรงบิด” และ “ช่วงกำลัง” ที่จะมาให้ใช้เต็มๆ ในช่วง 6,000-8,000 rpm แรงม้าและแรงบิดมาพร้อมๆ กัน อยู่แถวๆ 6,300 rpm ถือว่ามารอบที่ไม่สูงมาก เป็นข้อดีของเครื่องความจุเยอะ กราฟแรงม้า (เส้นล่าง จะดูยากนิดนึง) จะมาตั้งแต่ 6,000-8,000 rpm มีให้ใช้กันยาวๆ ส่วนกราฟแรงบิด (เส้นบน) ก็จะโผล่ Peak มาแถวๆ 6,200 rpm หลังจากนั้นจะค่อยๆ โรยลง แต่ก็ยังมีค่าที่สูงอยู่ ตรงนี้เป็นจุดที่เจ้าของรถต้องการ เรียกว่ามีแรงเหลือๆ ในรอบไม่สูงนัก สามารถใช้งานได้หลากหลาย และมีความทนทานสูงกว่าการเค้นแรงม้ามากๆ ในเครื่องความจุน้อยกว่า…
- “ตี๋ Inkjet” สุทิน แซ่ตั้ง
- (จากซ้ายไปขวา) บอย GARAGE 2, กอล์ฟ Racing Golf, เล่ GO PRO, หนึ่ง HAI SERVICE, หนุ่ย NUI ENGINE
Comment : “ตี๋ Inkjet” & พลังชล Pattaya Drift Team
รถคันนี้เป็นการร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ผมก็อยากได้รถที่ดูแปลกๆ เลยเอามาคุยกับทีมงานทุกคน ว่าต้องการแบบนี้ ซึ่งแต่ละคนก็จัดการในแผนงานของตัวเอง ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะ “ยากในการประสานงาน” แต่พอเอาเข้าจริง ทุกคนคุยกันได้แบบ “ชัดเจน” ว่าใครจะต้องทำอะไร ทำออกมาแบบไหน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทุกคนเต็มใจที่จะทำรถคันนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด ตอนแรกก็ว่าจะเอาไว้ “วิ่งโชว์” เรียกแขกเวลาออกทัวร์ต่างจังหวัด ซึ่งรถแข่งจริงๆ คือ SILVIA S13 แต่ไปๆ มาๆ มันสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ตัวจริง” ไปเลย ส่วน S13 กลายเป็นรถสำรองไปแทน ท้ายสุด ขอขอบคุณ “บอย GARAGE 2” ในด้าน Body Work, “กอล์ฟ Racing Golf” สำหรับการวางเครื่อง และระบบต่างๆ, “พี่หนุ่ย Nui Engine” ประกอบเครื่อง และงาน Service ในสนาม, “พี่หนึ่ง ไฮ้ เซอร์วิส” สำหรับการ Setting ช่วงล่างทั้งหมด รวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำรถคันนี้ขึ้นมา และ “แฟนคลับ” ที่ชื่นชอบ และให้กำลังใจทีมของผมด้วยครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
คันนี้ก็อย่างที่ผมบอก ทำออกมาตั้งนานแล้ว เพิ่งมาลง ??? ผมแอบติดตามผลงานอยู่เงียบๆ เมื่อเจอรถคันนี้ทีไร ก็ต้อง “แอบดู” และ “ถามไถ่” ว่าทำอะไรไปบ้าง รอจนมาถึง “จุดสมบูรณ์” เต็มระบบ จึงนำมา “แฉ” ให้ชมกัน สิ่งที่ผมอยากชื่นชม คือ “ความคิดสร้างสรรค์” แค่นั้นไม่พอ ต้อง “ความบ้า” ด้วย แต่บ้าอย่างมีเหตุผล มุ่งมั่นในการทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่อยู่ “หลังม่าน” และผมเห็นความสำคัญมากกว่าการใส่ของแรงๆ เข้าไป คือ “การวางแผนกับทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” จากที่ได้ฟังมา ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน แต่ “ไม่ก้าวก่ายกันเอง” รถหนึ่งคันมีหลายส่วนประกอบ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นแหละครับ ทำให้มันเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ…
X-TRA ORDINARY
สำหรับแนวทางการตกแต่ง All New D-MAX ตอนนี้ก็จะนิยม Face-Off ไปเป็นของ “MU-X” ที่ดูอลังการและสวยงามกว่า และเทรนด์กำลังมาแรง คือ Face-Off เป็นหน้าของ D-MAX BLUE POWER รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจะดู “ฟรุ้งฟริ้ง” สวยงาม เอาไว้มีโอกาสจะนำมา “เหลา” ในขั้นตอนการทำ ไม่น่ายาก แต่น่าสนใจอยู่นะ…
Special Thanks To:
ตี๋ Inkjet @ พลังชล Pattaya Drift Team : Facebook/Allnew-drift-thailand
พี่หนึ่ง HAI SERVICE : Tel. 08-1318-3562, Facebook/Hai Service
สนามปทุมธานี สปีดเวย์ by พี่ใหม่ P&C : Tel. 08-1855-8342, Facebook/Mai PC Garage
TECH SPEC
ภายนอก
งานตัวถังทั้งหมด : GARAGE 2 (G2)
ชุดหน้า : MU-X
ฝากระโปรงหน้า : AKANA Carbon
สปอยเลอร์หลังคา : AKANA Carbon
ภายใน
พวงมาลัย : NARDI Deep Corn
คอพวงมาลัย : WorksBell
เกจ์วัด : Defi + HALTECH Racepak
เบาะ : BRIDE ZETA-III
เข็มขัด : DJ
หัวเกียร์ : OMP
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B Spec II
แผงสวิตช์ไฟ + ตัวตัดไฟ : MOROSO
โรลบาร์ : ภพ Doraemon
เครื่องยนต์
รุ่น : 2JZ-GTE
แคมชาฟต์ : BC 272 องศา
สปริงวาล์ว : BC
ลูกสูบ : ARIAS
ก้านสูบ : EAGLES
ข้อเหวี่ยง : BC 3.4 L
เทอร์โบ : BORG WARNER
เวสต์เกต : HKS GT-II
เฮดเดอร์ : บางมด เรซซิ่ง
ท่อร่วมไอดี : บางมด เรซซิ่ง
อินเตอร์คูลเลอร์ : BLITZ
โบล์ว ออฟ วาล์ว : BORG WARNER
ลิ้นเร่ง : บางมด เรซซิ่ง
หัวฉีด : INJECTOR CLINIC 1,600 c.c.
รางหัวฉีด : บางมด เรซซิ่ง
หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง
คอยล์ + สายหัวเทียน : MSD
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : M & W Ignition PRO-16
กล่อง ECU : HALTECH ELITE 2500 by อุบ วายริ่ง
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : JERICO 5 สปีด
คลัตช์ : ATS
เฟืองท้าย : SKYLINE อัตราทด 4.3
ลิมิเต็ดสลิป : ATS
ช่วงล่าง
ลิงค์ + ปีกนก + คอม้า : WISEFAB
โช้คอัพหน้า-หลัง : DG5
สปริงหน้า-หลัง : DG5 8 K และ 13 K
ค้ำโช้คอัพหน้า : NISMO
ล้อหน้า-หลัง : FATTAH SPORT FT-6S ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : WESTLAKE SPORT RS ขนาด 265/35R18
เบรก : ENDLESS
หมายเหตุ : ทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ที่ใส่ในรถ ณ วันถ่ายทำ