เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (Slow Take), XO AUTOSPORT Team
เป็นอีกหนึ่ง “ไอเดีย” จาก XO AUTOSPORT Team ที่มีความพ้องต้องกัน กับการ “แฉ” เรื่องที่ไม่มีใครรู้ แต่ “Goo ต้องรู้” เพื่อนำมาให้แฟนๆ ของเราได้รับรู้กันบ้าง ว่า “สายดีเซล” ในคราบของ “โครงถัก” หรือ Spaceframe หรือ Door Slammer (กระแดะเรียกตามฝั่ง “ออสซี่” มันก็เท่ดีนะ) ซึ่งในเมืองไทยถือว่า “ฮือฮา” กันสุดๆ จนระดับโลกต้อง “พิจารณา” จะบอกให้ว่า เครื่องยนต์ดีเซลยุคไฮเทคที่ใช้ระบบ “คอมมอนเรล” มาจ่ายเชื้อเพลิง มันมีเทคโนโลยี “ในบางจุด” ที่ซับซ้อนกว่าเครื่องเบนซินอีก ทำยังไงให้แรงและประหยัด แต่เรามา “ต่อยอด” ให้มัน “แรงโคตร” สำหรับการแข่งขัน จากอดีตที่ทำกันไม่ได้ จนมาถึงยุคที่ “บรรลุ” ไปถึงขั้น “รถเฟรม” ตอนนี้ไปยัน “แดร็กสเตอร์” กันแล้ว (ไว้รอชมปลายปี) ครั้งนี้เราขอพูดถึงรถเฟรม 4 ลำดับ ที่มีผลงานโดดเด่นใน Souped Up Thailand Records 2015 ที่ผ่านมา รวมถึงจากการ “เปิดโหวต” ในแฟนเพจของ XO AUTOSPORT จนออกมาเป็น “จตุรเทพ” 4 คันนี้ บอกก่อนว่า แม้จะเป็นรถเฟรมเหมือนกัน เครื่องเดียวกัน ดูจะสร้างมาเหมือนกัน แต่รับรอง “ไม่ใช่อย่างที่คิด” งานนี้มาดูกันว่า สไตล์และสูตรการ “ปรุง” ของแต่ละอู่ มีอะไรให้ชม…
ปอลิง. คอลัมน์นี้ไม่มีสูตรเด็ด หวยล็อก ที่เป็น “ตัวเลข” ให้ชม ว่าตรงไหนค่าเท่าไร ยังไง บอกตรงๆ ว่า “ไม่รู้” แต่ละที่ก็ “สงวนสิทธิ์” ของตัวเอง ผมก็เลยไม่ถาม เพราะ “เงื่อนไข” รถแต่ละคันมีความแตกต่าง ยกตัวอย่าง แค่น้ำหนักตัว + ส่วนสูงของคนขับต่างกัน ตัวเลขการ Weight Balance มันก็ออกมาผิดกัน เพราะฉะนั้นอย่ายึดติดกับตัวเลขมากนัก สิ่งที่คอลัมน์นี้ต้องการจะสื่อ คือ “เทคนิคพื้นฐานในการวางระบบรถเฟรม” และ “เทคนิคในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” เวลาแข่งที่บีบคั้นหัวใจทุกคน อันนี้แหละ “อินไซด์” สุดๆ นะ…
“สิงห์คะนองนา” ราชาดีเซลในตำนาน
ก่อนอื่นขอ “เผาหัว” หน่อย ถึง “กระบะตัวแรง” ในระยะ “402 ม.” ในอดีตที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้มาก ก็คงหนีไม่พ้น “สิงห์คะนองนา” จาก “บางปูอะไหล่ยนต์” นำทีมโดย “เฮียอ๊อด” สำหรับคันนี้จะถือว่าเป็น “รถแข่งกึ่งเฟรม” ก็น่าจะ (พอ) ได้มั้ง เพราะใช้แชสซีเดิมของ MAZDA FAMILIA Pickup (กระบะนะครับ ไม่ใช่เก๋งเรโทรยอดฮิต) ขุมพลัง RD28T ก็โมดิฟายเต็มๆ เพิ่มความจุจาก 2.8 ลิตร เป็น 3.0 ลิตร จากการโมดิฟายแบบ Thai Custom Made ซึ่งตอนนั้นไม่มีของสำเร็จให้ซื้อหรอกครับ ก็ต้อง “จับเล่น จับโม” กันเอง ซึ่งเป็นความสนุกในสมัยนั้น มีลุ้นกันว่าใครหมกอะไรมา ให้ดูว่า “เป็นสไตล์ไทยๆ” สมัยก่อนที่ต้องคิดค้นและทำกันขึ้นมาเอง ก็เป็นเสน่ห์การโมดิฟายในยุคก่อนครับ…
ถ้าใครเคยติดตามชมรถคันนี้วิ่ง จะทีวี หรือจะดูสด ก็คงจะเห็นว่ามันไปแบบ “มือไม่ได้ ใจไม่ถึง มึงอย่า” ด้วยการควบของ “ซ้ง” ทรงศักดิ์ กรศิริสืบสกุล เวลาออกตัว “บิดทั้งคัน” วิ่งไปก็ต้อง “แก้ไป” คนขับก็ต้องชินอาการรถ ใครเห็นจะรู้ว่าต้อง “สะบัดพวงมาลัย” ช่วยตลอด ยอมรับคนขับจริงๆ ครับ สำหรับเรื่อง “สถิติ” แน่นอนว่าคันนี้ก็อยู่ในหัวแถวรุ่น “โอเพ่น” คิดดูแล้วกันว่า ต้องฝ่ารถเบนซินแรงๆ มานับคันไม่ถ้วน “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ไม่ธรรมดา จริงๆ แล้วคนที่ทำดีเซลแรงๆ ในสมัยนั้นมีเยอะ เพียงแต่ว่าคันนี้ Success และโด่งดังสุดในยุคนั้น ก็เลยขอ “ยกเป็นตัวอย่าง” ว่าที่มาที่ไปของ “ดีเซลซิ่ง” เริ่มมีกระแสมาจากตรงไหน…
สู่ยุค Common Rail เบิกบาน
หลังจากนั้น ที่ “สิงห์คะนองนา” ปลดระวาง (ตอนนี้รถก็ยังถูกเก็บอยู่นะครับ) กระแสดีเซลก็หายกันไปพักใหญ่ จนเมื่อมี “คอมมอนเรล” ขึ้นมา ถ้าเป็นสายกระบะ แน่นอนครับ TOYOTA TIGER D-4D กับเครื่องบล็อก 1 และ 2KD-FTV แถมฝาสูบเป็นแบบ DOHC 16 วาล์วอีก เลยคิดว่ามันควรจะ “ไปไกล” แต่ในตอนนั้น “ทำอะไรไม่ได้นัก” อาจจะด้วยระบบ “อิเล็กทรอนิกส์” ที่ละเอียดซับซ้อน และ “ไม่มีของให้เปลี่ยน” ตอนแรกวิ่งแพ้พวก “ปั๊มสาย” ในตอนนั้นคนก็คิดและบอกกันไปว่า ดีเซล คอมมอนเรล “เล่นอะไรไม่ได้” กระแสก็ชักจะไม่เกิด…
“ผู้พลิกวงการ” จะใช่คนที่เราคิดหรือเปล่า ???
แต่หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน “น้าค่อม มนตรีดีเซล” ผู้ใหญ่ในวงการดีเซลไทย ได้คิดค้นและ “ลงมือทำ” สรรหาวิธีมาจนทำให้วิ่งได้พิกัด “12.XX วินาที” เริ่มฮือฮากันแล้วว่า “ทรงมา” แรกๆ ใช้กล่อง Peak Power สำหรับ “หัวฉีด” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญกว่า “หอย” ในตอนนั้น น้าค่อม ได้เอาหัวฉีด NISSAN NAVARA มาใส่กับยี่ห้ออื่น เพราะมีขนาดรูใหญ่สุด ขั้นต่อมา “ถ้ามีกล่องจูนได้เหมือนเบนซิน ทำไมจะแรงไม่ได้” ทาง ECU=SHOP ได้ผลิตกล่อง ECU แบบ Programmable พอจูนได้ก็เริ่มจะ “แรงตามสั่ง” หลังจากนั้นก็จัดหนักกันทุกคัน…
สู่ยุคดีเซลเฟรม “ตอกเจ็ด”
ในช่วงนั้น “เบิร์ด หลักห้า” นับว่ามาแรงมาก ปี 2011 ก็ได้สร้าง Spaceframe คันแรกที่เป็นเครื่องดีเซลขึ้นมา ตัวเฟรม “ป๋าแดง” DRAG MASTER จัดให้ ตัวขี่ “เบสท์ เทอร์โบยำ” (ฝรั่งโหลด) ได้อันดับ 3 Over All !!! ใน Souped Up Thailand Records 2012 ด้วยเวลา “8.386 วินาที” ซึ่งมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะเป็น “คันแรก” ที่ต้องเรียนรู้อย่างมาก อีกปีหนึ่ง “โกอินเตอร์” สิวะ สร้างขึ้นมาอีกคัน เพื่อไปวิ่งแข่งและโชว์ที่สนาม TEXAS MOTORPLEX “อเมริกา” เชียวนะ รายการ NHDRA ไปโชว์สถิติในรุ่น Pro Stock ที่เวลา “8.227 วินาที” ไม่ธรรมดานะครับ (สมัครเข้าแข่งจริง แต่ไม่มีผลกับการแข่งขัน เพราะไปขอวิ่งโชว์ครั้งเดียว ไม่ได้แข่งต่อเนื่องเก็บคะแนน) แน่นอนว่า คันนี้ไปสร้างชื่อให้กับคนไทยอย่างมาก…
หลังจากนั้น ก็มีดีเซลเฟรมคลอดต่อๆ กันมา ที่เห็นผลงานได้ชัด คือ “AOR 77 SHOP” สร้างคันใหม่ขึ้นมา “สีน้ำตาลส้ม” ติดอันดับ 7 Over All ใน Souped Up Thailand Records 2013 ด้วยเวลา “8.404 วินาที” ส่วน “เบิร์ด หลักห้า” ได้อันดับ 5 Over All เวลา “8.120 วินาที” อีกหนึ่งปี สามารถ “ตอกเจ็ด” ในรอบควอลิฟายได้ หลังจากนั้นวงการดีเซลก็ต้อง “ทำสู้” มัวแต่อยู่เฉยคงไม่มีที่ยืน จบ “สะ-ตอ-รี่” แค่นี้ก่อนแล้วกัน…
Tips
เราจะรวม “สิ่งละอันพันละน้อย” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้มา “ฝอย” ให้ฟัง เป็นสิ่งที่น่าสนใจแบบ “เข้าใจง่าย” แต่บอกก่อนนะเว้ย ว่าพวกสูตรลับ ลวง พราง ตัวเลขนั่น นู่น นี่ อะไรพวกนี้ เป็นเรื่องที่ทางคนที่ทำ เขา “ไม่มีใครเปิดเผย” กันหรอก ผมเองก็อยากรู้ แต่ถามมากๆ เขาก็ไม่อยากตอบ เข้าใจนะ รู้เรื่อง เอาเป็นสิ่งที่เราสามารถสื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ละกัน…
“ทวินเทอร์โบ” ทำไปเพื่อ ???
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน (โดยประมาณที่ “จำได้”) ตัวแข่งก็เริ่มเปลี่ยนจาก “โบเดี่ยว” มาเป็น “โบคู่” กันแล้ว ซึ่งเทอร์โบคู่จะมี 2 แบบ คือ “ขนาน” (Parallel) ก็คือใช้เทอร์โบสองตัวขนาดเท่ากัน “แบ่งกันทำงาน” เช่น เครื่อง 6 สูบ ใช้เทอร์โบ 1 ลูก ต่อ 3 สูบ อะไรงี้ ซึ่งการใส่หอยคู่ในลักษณะนี้ จะเน้น “ตอบสนองต่อเนื่อง” ช่วยกันทำงาน แต่กับของดีเซล เน้น “เพิ่มบูสต์” เป็นระดับ “100 PSI ++” ซึ่งเครื่องความจุเพียง 3.0 ลิตร (มีบวกลบนิดหน่อย แล้วแต่ “สูตร”) มันปั่นไม่ไหวแน่นอน จึงต้องมาเล่นกับระบบ “อนุกรม” (Series) ที่อาศัยการ “เหนี่ยวนำ” และ “ป้อนอากาศ” จากเทอร์โบลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง ซึ่งสองตัวจะมีขนาดที่ “ต่างกัน” หลักการมันมีไว้เพื่ออะไรกัน…
ขอพูดถึง “การจัดวาง” ก่อนนะครับ เทอร์โบลูก 1 จะติดตั้งกับ “เฮดเดอร์” แบบปกติ ส่วนลูก 2 จะติดไว้ในตำแหน่งที่มันมีที่ว่าง แล้วแต่ “ดีไซน์” ส่วน “การต่อระบบ” เอา “ไอเสีย” ก่อน เมื่อมีแรงดันไอเสีย ผ่านเฮดเดอร์มา จะดันลูก 1 ให้หมุนก่อน (รอบต่ำ) แล้วไอเสียที่ออกมาจะไปปั่นลูก 2 (รอบสูงขึ้น) ส่วนฝั่ง “ไอดี” จะย้อนทางครับ ลูก 2 จะเป็นตัว “ดูดอากาศ” แทน แล้วค่อยอัดอากาศเข้าปากของลูก 1 ลักษณะนี้จะทำให้เกิดการ “ทวีคูณ” ของ “แรงดัน” หรือ “Flow” เกิดขึ้น (เหมือนกับการต่อ “แบตเตอรี่” แบบอนุกรม ที่เอา 12V มา 2 ลูก ต่อกันกลายเป็น 24V ก็คือ “แรงดันไฟเพิ่ม” นั่นแหละ) มันมีเรื่องของ “พลังงานความร้อน” ที่เกิดขึ้นและถ่ายเทได้อีก ก็หลายประการครับ โดยสรุปนะ สมมติ (เน้น “สมมติ” นะ อย่าดราม่า) เครื่อง 3.0 ลิตร ปั่นไอเสียไปปั่นเทอร์โบเดี่ยวได้เต็มที่ประมาณ 60-70 psi ต่อให้เปลี่ยนเทอร์โบใหญ่เท่าโลก บูสต์มันก็ไม่มากไปกว่านั้นหรอก เพราะ “เครื่องมันได้แค่นั้น” (ใหญ่เกินจะยิ่งแย่ลงด้วยซ้ำ) ก็เลยใช้วิธี “อนุกรม” แบบนี้ เพื่อให้แรงดันตอนจบทวีคูณ ทั้งๆ ที่แรงตั้งต้นเท่าเดิม จริงๆ เทอร์โบอนุกรมนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีทำกันมานานมากแล้ว สมัยพวก “ปั๊มสาย” ก็ยังเล่นกัน “สามตัว” อยู่เลย แต่ก็หายไปตามเวลา จนคอมมอนเรลเริ่มจะทำแรงได้เยอะ เครื่องทนขึ้น ก็อยากจะบูสต์เพิ่มขึ้น เทอร์โบอนุกรมเลยกลับมาอีกครั้ง เอาแค่นี้ก่อนละกัน…
เบิร์ด หลักห้า & ชบา เรซซิ่ง
เริ่มกันจากสถิติเวลา “7.829 วินาที” ได้อันดับ 3 Over All และอันดับ 1 Super Max Diesel งาน Souped Up Thailand Records 2015 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ กันก่อน สำหรับ “เบิร์ด หลักห้า” จะเป็นส่วนหลักในการทำเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ส่วนตัวเฟรม ให้ “ป๋าแดง” Drag Master เป็นผู้ลงมือ…
สไตล์การทำเครื่องของ “ช่างเบิร์ด” ตอนนี้ก็จะเน้นในเรื่อง “การสร้างความแข็งแรงให้กับเสื้อสูบเพิ่มขึ้น” เพราะด้วยแรงม้าระดับ 900 PS ++ เรียกว่า “วิ่งนับ Run” ได้เลย ว่าเมื่อไรจะพัง ก็น่าจะปรับปรุงในด้านของความแข็งแรงประกับต่างๆ ส่วนสเต็ปต่อไป ก็รวมๆ กับพรรคพวก ใน Project “สร้างเสื้อสูบใหม่” ค่อยว่ากันไปในอนาคต…
การใช้ “ของ” ก็ต้องอัพเกรดตามแรงม้าที่มีไปด้วย ตอนนี้มีของโมดิฟายไส้ในทำครบชุดออกมาขายแล้ว ทั้งไทย ทั้งนอก ก็เลือกดูตาม “ความเหมาะสม” จริงๆ ไม่ใช่เขาว่าอะไรดีก็ใส่ เพราะการประกอบเครื่อง ก็อยู่ที่สไตล์แต่ละคน สมมติบางคน “ถูกโฉลก” กับเครื่องกำลังอัดเท่านี้ ก็ต้องปรับไปตามนั้น…
สำหรับระบบส่งกำลัง ก็ยังเป็น “เกียร์ลม” ที่ต้องคิดอัตราทดให้พอดี ตั้งแต่ “ออกตัว” ไปเลย ทดจัดเกินไป ฟรีทิ้ง ออกไม่ได้ ทดต่ำเกินไป “ยาน” ไปช้าอีก ต้องรู้ว่าใช้กับ “ยางขนาดไหน” และ “เฟืองท้ายอัตราทดเท่าไร” ช่างเบิร์ดก็จะอาศัย “อัตราทดโดยรวม” ที่ลงตัว สามารถใช้อัตราเร่งและความเร็วสัมพันธ์กันได้ ต้องสัมพันธ์กัน สมมติว่าถ้าทดสูงเกินไป ฟีลลิ่งอัตราเร่งโคตรดุเดือด ดึงโคตร แรง G เยอะ แต่ “ความเร็วไม่ได้” ช่วงเกียร์สั้น มันก็ไปไม่เร็ว จริงๆ ก็คิดกันเป็นทุกอู่แหละครับ เพียงแต่ใครจะ “หาที่ลงตัวเจอ” ก่อนแค่นั้น…
สำหรับเครื่อง 4JJ ทาง “ช่างเบิร์ด” ก็ยังใช้ความจุ 3.0 ลิตร อยู่ จาก “ความชอบส่วนตัว” ซึ่งกระแสบางคันก็จะขยายเป็น 3.1-3.3 ลิตร ทาง ช่างเบิร์ด มองว่า พอขยายช่วงชักเพิ่ม แต่เสื้อสูบสูงเท่าเดิม “Rod Ratio” จะน้อยไปหน่อย ทำให้รอบปลายไม่จี๊ด แต่บางที่เขาก็ “ชอบสูตรนั้น” หรือมีการปรับปรุงไส้ใน เช่น ยืดก้าน ลดความสูงของลูกสูบ ฯลฯ แล้วแต่สูตรใครสูตรมัน ตรงนี้ไม่ได้ว่าใครถูกหรือผิด (อ่านและตีความให้ดี อย่าดราม่านะจ๊ะ) อยู่ที่ “ความถนัด” ของแต่ละคนครับ…
ท้ายสุด ทำรถจบ หวยมาออกที่ “สายขี่” คือ “เดอะเบสท์ เทอร์โบยำ” (ฝรั่งโหลด) ผมว่าไอ้นี่แหละ มีความสำคัญไม่แพ้รถ ทาง ช่างเบิร์ด เลือกเพราะว่าเป็นคนที่ขับรถแข่งตั้งแต่เด็ก (เริ่มจาก “เซอร์กิต” ก่อน) เคยชินกับความเร็ว และขับรถ Drag ก็ดี จับจังหวะรถได้ แต่ขับเก่งก็ส่วนหนึ่ง ประเด็นหลัก คือ “จับอาการเก่ง” และสำคัญสุด คือ “สามารถสื่อสารบอกอาการรถได้อย่างชัดเจน” ว่าตอนที่ขับเกิดอะไรขึ้น รถมีตรงไหนที่ยังไม่ดี อาการแสดงออกยังไง ต้องแก้ไขจุดไหน ไม่โทษมั่ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เพราะถ้าสื่อสารไม่ได้ ทีมช่างจะไม่สามารถแก้ไขรถออกมาได้ถูกจุด กลายเป็นบานปลายไปกันใหญ่…
Comment : ศุภโชค ลี้เลิศพันธ์ชัย “เบิร์ด หลักห้า”
สำหรับคันนี้ ผมก็อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ค่อยๆ เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ สไตล์ผมก่อนจะทำรถ ก็จะศึกษา “ทฤษฎี” ก่อน ว่าสิ่งใดเป็นไปได้ ทำออกมาแล้วน่าจะได้ผลอย่างไร เสร็จแล้วก็เอาประสบการณ์มาผสม ส่วนการเซตรถ ก็จะดู “ตามความต้องการจริง” แรงม้าที่ “ใช้ได้จริง” และการเซตระบบส่งกำลัง อัตราทดเกียร์ เฟืองท้าย ที่ต้องสัมพันธ์กัน สามารถใช้แรงม้าและความเร็วได้เต็มที่ในระยะ 402 ม. ส่วนช่วงล่าง ก็จะเน้น 60 ฟุต ให้ดีก่อน และมาถึงคนขับที่สามารถสื่อสารได้ “รู้เรื่อง” หาจุดเจอได้เร็ว ลดการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก สำคัญมากๆ ครับ ตรงนี้ที่ผมเน้นกันสุดๆ ในการทำรถแต่ละครั้ง…
Contact : Facebook/ศุภโชค ลี้เลิศพันธ์ชัย, Tel. 08-1192-8022
ภายนอก
ตัวถัง : All carbon fiber by AKANA
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน
เกจ์วัด : Defi full set
เกจ์วัดบูสต์ : Auto Meter
เบาะ : BUTLER
เข็มขัดนิรภัย : IMPACT
พวงมาลัย : PERSONAL
แผงสวิตช์ : MOROSO
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JK-1
วาล์ว : เบิร์ด หลักห้า Oversize 1 มม.
สปริงวาล์ว : เบิร์ด หลักห้า โมดิฟาย
แคมชาฟท์ : เบิร์ด หลักห้า Stage 2
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : CARRILLO H-beam custom made
ข้อเหวี่ยง : 4JJ-1 3.1 ลิตร
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 + GARRETT GT45 by เบิร์ด หลักห้า
เวสต์เกต : TIAL
เฮดเดอร์ : เบิร์ด หลักห้า
อินเตอร์คูลเลอร์ : บางมด เรซซิ่ง
ท่ออินเตอร์คูลเลอร์ : HPD สุวรรณการช่าง
ท่อไอเสีย : ม. เจริญ ท่อไอเสีย
หัวฉีด : เบิร์ด หลักห้า
เร็กกูเลเตอร์ : Mallory
หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Liberty Air shift
คลัตช์ : BRC
เพลาท้าย : Strange
เฟืองท้าย : Strange 3.3
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : Strange
โช้คอัพหลัง : KONI Drag
สปริง : HYPERCOIL
ล้อหน้า : WELD ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 14 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 24-4.5-15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 32-14.5-15
เบรก : Strange
หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณ
บุรุษจาก “อู่ทอง” สุพรรณบุรี ที่ก้าวกระโดดมาอย่างรวดเร็ว ดั้งเดิม “หนุ่ย” ก็เดินตามฝันด้วยการทำเครื่องดีเซลสำหรับตัวแข่ง Off Road หรือ “รถการ์ตูน” ทั้งหลาย แล้วก็พัฒนาเดินสู่วงการคอมมอนเรล ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ “ลองเยอะๆ” คันนี้ทำเวลาได้ “7.928 วินาที” อันดับ 9 Over All และอันดับ 2 Super Max Diesel มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง “หนุ่ย & เป๋อ” ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากกัน…
คันนี้จะเป็น “พวงมาลัยขวา” เพียงคันเดียวใน 4 คันนี้ อยู่ที่ “ความถนัด” ขับพวงมาลัยขวามากกว่า ทั้งในด้านมุมมอง การควบคุมพวงมาลัยโดยมือขวา (ซึ่งเป็นมือที่คนส่วนใหญ่ถนัด) เปลี่ยนเกียร์มือซ้าย จริงๆ แล้ว พวงมาลัยซ้ายอาจจะได้เปรียบเรื่องน้ำหนักกดฝั่งซ้าย (ไม่เหลาอีกละนะ เหลาบ่อยแล้ว) แต่ “ป๋าแดง Drag Master” ได้พูดถึงกรณีนี้ไว้ว่า อยู่ที่ “Weight Balance” ของรถ ที่จะต้องจัดวางให้เหมาะสม ถ้าจัดเหมาะๆ เซตช่วงล่างถูกต้อง จะซ้ายหรือขวาก็ไปได้ดีเหมือนกัน ท้ายสุด ก็อยู่ที่ “สไตล์” ความชอบของแต่ละคน ไม่ได้ชี้ชัด อันนี้เป็นข้อสังเกตเฉยๆ…
พูดถึงเรื่อง Weight Balance ทาง “หนุ่ย & เป๋อ” ก็มีการเตรียมวางแผนไว้อย่างดี ด้วยความที่เป็นรถพวงมาลัยขวา จึงต้องเอาน้ำหนักไปไว้ “หน้าซ้าย” หลักๆ ก็ “เทอร์โบลูก 2” ย้ายไปไว้มุมหน้าซ้าย (ส่วนเทอร์โบลูก 1 อยู่ติดเฮดเดอร์ฝั่งขวาเหมือนเดิม เป็นไฟต์บังคับ) ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ก็ย้ายไปฝั่งซ้าย โดยดูตาม “น้ำหนักที่ต้องการ” จริงๆ ไม่ใช่อะไรก็แห่ไว้ซ้ายหมด…
เวลาออกตัว รถก็จะ “ยกหน้าซ้าย” เป็นเรื่องปกติในรถ 4 Links โดยเฉพาะเครื่องดีเซลที่มีแรงบิดมาก จะยกสูงเป็นพิเศษ แต่ถ้าเซตได้ถูกต้อง เมื่อยกแล้วรถเริ่มเคลื่อนที่จะต้อง “ตก” มาจับถนน 4 ล้อ แบบปกติ ไม่ใช่ยกแล้วค้างยาวไม่ลง…
ขับรถเฟรม สิ่งที่แตกต่างจากรถแบบ Stock Chassis ในรุ่น PRO TRUCK แน่ๆ คือ “เร็ว” และ “เบา” ยิ่งสามารถฉีด “ไนตรัส” ได้ด้วย ไอ้มันส์ก็มันส์ แต่ต้อง “รู้ทรง” ด้วยว่าควรจะ “โปรย” ตอนไหน ส่วนใหญ่จะฉีดตอนที่รถ “ตั้งลำ” ไปแล้วช่วงหนึ่ง ประมาณเกียร์ 2-3 (เกือบครึ่งสนาม) ช่วง “กลางทาง” รถจะตั้งลำได้ และต้องการอัตราเร่งเพื่อ Shoot สู่ความเร็วปลาย ช่วงนี้สำคัญมากเหมือนกัน แต่ถ้ารถเกิดอาการ “เป๋” จะต้อง “หยุดฉีด” ประคองรถให้ตรงก่อน ไม่ใช่หลับหูหลับตากดมั่ว ก็พอดีละครับ…
เมื่อรถมีอาการเป๋ จะต้องแก้อาการโดย “แต่งพวงมาลัย” ช่วยนิดหน่อยพอ เพราะล้อหน้าเล็กมาก และพวกยางผ้าใบมัน “นิ่ม” ต้องค่อยๆ “เลี้ยง” ทีละนิดๆ คนขับต้องประคองสติให้ดี ถ้าหักพวงมาลัยพรวดพราด “เลี้ยวและพลิก” อย่างเดียว…
สำหรับ “แคมชาฟท์” ไอ้เรื่ององศาขอละไว้ แต่ “สไตล์” ของ “หนุ่ย & เป๋อ” จะเน้นฟีลลิ่งแบบ “ดึงต่อเนื่องช่วงรอบกลางเป็นหลัก” เพราะช่วงเปลี่ยนเกียร์ รอบตก จะต้องใช้กำลังในการส่งขึ้น ก็เลยออกแบบแคมชาฟท์ให้เป็นลักษณะนิสัยแบบนี้…
COMMENT : อนุวัตร มณีอินทร์
เป็นรถเฟรมคันแรกที่ผมได้ทำและขับเลยครับ ก็พยายามศึกษาว่า รถเฟรมมันมีลักษณะอย่างไร ก็ดีที่ว่ามันเบา และสามารถออกแบบได้เยอะ ว่าเราจะทำออกมาในลักษณะไหน เอาอะไรวางไว้ตรงไหน แต่มันก็ยากตรงที่เซตให้วิ่งตรงและออกตัวได้ดี ต้องอาศัย “ซ้อม” บ่อยๆ และศึกษาไปเรื่อยๆ ครับ พูดถึงงาน Souped Up Thailand Records 2015 ที่ผ่านมา คันนี้ก็ทำเวลาได้ตามเป้าครับ แต่เสียดายว่าอัตราทดเฟืองท้ายสูงไปนิด อยู่ที่ 3.2:1 รอบหมดก่อนเข้าเส้นนิดนึงครับ เลยต้องโหนไป กำลังหาเฟืองท้ายต่ำลงกว่านี้หน่อย ก็น่าจะทำเวลาได้สวยขึ้นครับ…
Contact : Facebook/หนุ่ย-เป๋อ สุพรรณ, Tel. 08-6688-1750
ภายนอก
เฟรม : Drag Master
ร่มช่วยเบรก : STROUD
ภายใน
เกจ์วัด : DEFI
วัดบูสต์ : AUTO METER
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : IMPACT
พวงมาลัย : STRANGE
แป้นเหยียบ : TILTON
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JK-1
วาล์ว : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
สปริงวาล์ว : MRX
แคมชาฟท์ : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : 3.1 L
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 + GARRETT GT Series
เวสต์เกต : TIAL
เฮดเดอร์ : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
หัวฉีด : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
ไนตรัส : ZEX
หม้อน้ำ : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
กล่อง ECU : ECU=SHOP Stand Alone by อ้า ECU=SHOP
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : BRC
เฟืองท้าย : อัตราทด 3.2
เพลาท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
ชุด Links ช่วงล่าง : AOR 77 SHOP
ล้อหน้า : BILLET SPECIALTIES ขนาด 5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 12 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 25.0-5.0-15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 34.5-17.0-16
เบรก : STRANGE
จ๊อบ มนตรีดีเซล
จากการเดินทางของ “แจ๊ค & จ๊อบ” ที่เป็นคนรุ่นใหม่ของ “น้าค่อม มนตรีดีเซล” ด้วยประสบการณ์ที่ถ่ายทอดมาจาก “รุ่นเดอะ” แต่… การเดินทาง 4 ปี ที่ผ่านมา รถเฟรมคันนี้ไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง… แต่ทั้งทีมก็ยังไม่ย่อท้อ ทุกอย่างถูกค้นคว้าและแก้ไข จน Souped Up Thailand Records 2015 ประสบความสำเร็จ ในเวลา “7.938 วินาที” ได้อันดับ 10 Over All และอันดับ 3 Super Max Diesel ซึ่งเป็นสองรางวัล “ในฝัน” ที่ทำสำเร็จจนได้ ผมมองในความพยายามของทีมนี้ที่สู้จนสามารถ “บรรลุ” ฝันได้ และเป็นรถเฟรมดีเซล “เทอร์โบเดี่ยว” ที่สามารถวิ่ง “ตอกเจ็ด” คันแรกในเมืองไทย !!!
น้าค่อม มนตรีดีเซล เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลเทคนิคต่างๆ ทั้งหมด จริงๆ น้าค่อม ทำรถ Circuit เยอะ แต่ด้วยความที่ชอบค้นคว้าเสมอๆ ก็เลยมาต่อยอดกับคันนี้ โดยเน้นความ “ชัวร์” และ “ทนทาน” ซึ่งยุคแรกๆ ก้านสูบชอบงอ น้าค่อมก็จัดการสั่งทำไส้ใน Custom Made จากอเมริกา และพัฒนาเรื่องเสื้อสูบ ประกับเมน ให้มีความทนทาน จนเป็นการต่อยอดในปัจจุบัน…
เหตุที่ยังใช้ “เทอร์โบเดี่ยว” เพียงคันเดียว เพราะยังเห็นข้อดีของมันอยู่ คือ “มาต่อเนื่อง ไม่รุนแรงเกินไปจนคุมยาก” ซึ่งเทอร์โบคู่อนุกรมที่มีขนาดใหญ่ทั้งสองตัว ช่วงออกตัวจะรอหน่อย แต่ไปดันช่วงกลางๆ เพราะบูสต์สูง สำหรับคันนี้ก็อาศัย “ออกไว” แล้วก็ใช้ “ไนตรัส” เพิ่มทีละหัวตามอาการของรถ คันนี้ “ฉีดเท่าที่จำเป็น” โดยการทดลองหาจุดที่เหมาะสม ไม่ได้ฉีดพรวดพราด ทำให้เครื่องไม่โทรมเร็ว คุมรถง่าย อะไรประมาณนี้แหละครับ…
ณ งาน Souped Up ที่ผ่านมา “แจ๊ค” บอกกับเราว่า รถก็ยังมีเป๋นิดๆ ตามความฝืดของแทร็กที่ต่างกัน ในรอบสุดท้าย มันแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว “จ๊อบ” ก็แก้ทางโดยการขอเข้าไฟเอง โดยไม่ต้องมีคนบอกไลน์ จอดเข้าไฟแบบ “ตั้งลำเอียง” เพื่อเวลาออกรถจะเป๋มา “ตรงพอดี” แล้วก็ตรงตลอดจนเข้าเส้นไป…
หลังจากที่บรรลุเป้าหมาย ก็อยากจะเร็วกว่านี้อีก โดยการ “ใช้เทอร์โบคู่อนุกรม” โดยหวังเวลาไว้ประมาณ “7.7 วินาที” ซึ่งก็ต้องปรับเซตกันต่อไปทั้งระบบ ซึ่ง Souped Up ปลายปีนี้ “แจ๊ค & จ๊อบ” บอกให้รอลุ้นกัน…
COMMENT : พิจารณ์ วงศ์สมบูรณ์
ผม “จ๊อบ” กับทีมมนตรีดีเซล ก็ดีใจมากที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ยอมรับว่า “เจ็บมาเยอะ” คิดว่าปีนี้จะพลาดอีกไม่ได้แล้ว เพราะรถเฟรมเกิดขึ้นเยอะมาก แถมในอนาคตรถหน้ายาวมากันอีกเพียบ ถ้า Souped Up ปี 2015 ไม่ได้ พวกผมคงยืนยากแน่ ยังไงปีนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด อาศัยประสบการณ์ของทุกคนช่วยกันแก้ไข ปรับปรุงจนออกมาได้ดี บอกตรงๆ ว่า ปีนี้ “เสียว” มาก เรื่อง “เวลา” แต่ละคัน เพราะเป็นครั้งแรกที่ Top Ten วิ่ง 7 วินาที ทุกคัน !!! และเวลาบี้ติดๆ กันมาก ผิดกันแค่สองจุดหลัง และไม่น่าเชื่อว่ารถวิ่ง 7 วินาที มีไม่ติด Top Ten ด้วย แสดงว่าปีนี้รถเร็วขึ้น สนามใหม่ก็รองรับความเร็วได้ดี เพราะฉะนั้น ในปีนี้ทางพวกผมคงยอมอยู่นิ่งไม่ได้อีกแน่ๆ…
Contact : Facebook/Job Montri, Tel. 09-0986-7716
ภายนอก
เฟรม-ตัวถัง : DRAG MASTER
ร่มช่วยเบรก : SIMPSON
ภายใน
เกจ์วัด : Defi
วัดบูสต์ : AUTO METER
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : IMPACT
พวงมาลัย : STRANGE
แป้นเหยียบ : TILTON
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JK-1
วาล์ว : MONTRI DIESEL
สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟท์ : MONTRI DIESEL
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : 3.0 L
เทอร์โบ : MITSUBISHI TD-08
เวสต์เกต : TIAL
เฮดเดอร์ : MONTRI DIESEL
อินเตอร์คูลเลอร์ : BANGMOD RACING
ท่อร่วมไอดี : บัญชายนต์
หัวฉีด : MONTRI DIESEL
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
ไนตรัส : NOS
หม้อน้ำ : BANGMOD RACING
กล่อง ECU : ALPHATECH by MONTRI DIESEL
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : BRC
เฟืองท้าย : อัตราทด 3.4
เพลาท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
ชุด Links ช่วงล่าง : DRAG MASTER
ล้อหน้า : BILLET SPECIALTIES ขนาด 5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 17 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ขนาด 25.0-5.0-15
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 34.5-17.0-16
เบรก : STRANGE
โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ทายาทอู่ซ่อมรถ จนมาเป็น “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ & BAO BAO” ที่ผันตัวเองมาเล่นคอมมอนเรล จนมาสู่ระดับการแข่งขัน เริ่มมีชื่อเสียงจากรุ่น PRO TRUCK ในงาน Souped Up 2014 ในปี 2015 ก่อนงาน Souped Up ไม่นาน ก็ได้สปอนเซอร์ใหญ่ “เสี่ยต้อง อ่างทอง” จัดการสร้างรถเฟรมคันนี้ขึ้นมา ใช้เวลา “20 กว่าวัน” จนเสร็จพร้อมวิ่ง ทัน Souped Up 2015 พอดี (ยอมรับในความพยายามจริงๆ) แม้ว่าจะไม่ติดอันดับ แต่ทำเวลาดีสุด “7.954 วินาที” เห็นมั้ย ห่างกันนิดๆ บีบหัวใจสุดๆ แถมคันนี้ยังมีเอกลักษณ์ที่แปลกกว่าคันอื่นแบบ “ต้องสังเกตดีๆ” รออะไร ชมเลยครับ…
ถ้าสังเกตดีๆ ที่ “ตัวรถ” จากพื้นถึงหลังคา คันนี้จะ “เตี้ย” กว่ารถเฟรมดีเซลคันอื่นๆ อยู่ประมาณ 6 นิ้ว (ซึ่งคันอื่นๆ จะใช้มิติเดิมของ D-MAX) ดูล้อหลัง “ทะลุซุ้ม” ไม่เหมือนคันอื่น ก่อนจะทำได้ปรึกษากับ “ป๋าแดง” ว่าต้องการแบบนี้ เลยขึ้นโครงไม่เหมือนคันอื่น เน้นหลังคาเตี้ย เสาหน้าเอนลาดมากขึ้น ส่วนหัวรถจะ Slope ลงต่ำกว่าปกติ เพราะต้องการ Aero Dynamic หรือ “แหวกลม” ที่ดีขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีผลกับเวลาที่ดีกว่า…
การวางเทอร์โบของคันนี้ค่อนข้างจะแปลกกว่าคันอื่น คือ เอาเทอร์โบทั้งคู่มาไว้ที่ห้องโดยสาร ด้านข้างคนขับ (อยู่ฝั่งขวา รถพวงมาลัยซ้าย) เพราะทาง “โอ๊ต” ต้องการให้น้ำหนักมา Balance กับคนขับ (ก่อนหน้านี้เป็นเทอร์โบอยู่ในห้องเครื่องเหมือนปกติ) สไตล์ของคันนี้เน้นน้ำหนักลง “กลางรถ” แต่ก็ต้องทำ “เกราะกำบัง” ดีๆ นะครับ เพราะเวลา “เทอร์โบพัง” (ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายกับดีเซลที่บูสต์มหากาฬ) อาจจะเกิดเพลิงไหม้ได้ ก็ควรจะมี “หัวฉีดดับเพลิง” จ่อไว้เพื่อความชัวร์ ไม่ได้แช่งนะ แต่ “เป็นห่วงทุกคน” จากใจ…
คันนี้เสร็จแบบ “ฉิวเฉียด” จริงๆ ก่อนงานเพียงไม่กี่วัน (ขอบคุณครับที่มาร่วมงาน) ถ้าเป็นวันชิง Track ที่บุรีรัมย์ จะเห็นว่าคันนี้ “วิ่งขวางตลอดทาง” แต่ก็ไปแบบไม่ยก จับว่า “ใจถึง พึ่งได้” แต่จริงๆ แล้ว ถ้ารถมัน “ขวางแล้วหยุดแค่นั้น” แก้ทาง จับพวงมาลัยคงที่ แล้ว “รถไม่ขวางเพิ่มอีก” ขวางคงที่ไปยังงั้น ก็สามารถ “เติม” ได้ตลอดครับ ขับง่ายกว่ารถที่ “เลื้อยซ้ายฉกขวา” พวกนั้นอันตรายครับ แต่ยังไงก็ต้องกลับมาแก้ไขให้วิ่งตรงตลอด เพียงแต่ตอนนั้น “สภาวะจำยอม” เลยต้องไปท่านั้น…
จับรถเฟรมครั้งแรก ก็ได้รู้ว่า “มันบิดตัวเยอะเหมือนกัน” เพราะดีเซลแรงบิดมากกว่าเบนซินเยอะ จึงต้อง Balance น้ำหนักช่วยดีๆ และคันนี้ใส่ “ล้อและยางใหญ่” กว่าคันอื่น (คันนี้ใช้ล้อ 16 นิ้ว) ส่วนเฟืองท้ายใช้อัตราทดอยู่ 3.4:1 ก็สูงกว่าคันอื่น เพราะต้องการเฟืองท้ายแบบ “เดือยหมูใหญ่” จะได้ไม่ขาดง่าย (อัตราทดต่ำกว่านั้น เดือยหมูจะเล็กกว่า) ก็เลยต้องทำอัตราทดเกียร์ใหม่ โดยยึดขนาดยางกับเฟืองท้ายเป็นหลัก…
ส่วนสไตล์ “แคมชาฟท์” ของ โอ๊ต อู่ช่างขวัญ จะเน้น “ดันรอบปลาย” เป็นหลัก ต้องการวิ่งรอบสูงได้กำลังเต็มๆ ซึ่งอัตราทดเกียร์ก็ต้อง “ชิดขึ้น” เพื่อให้รับกับช่วงกำลังรอบสูง และเฟืองท้ายอัตราทดสูง ก็ต้องทดสอบเอาเองว่า Power Band ของแต่ละคันอยู่ตรงไหน เพื่อเซตอัตราทดเกียร์ให้เข้ากัน…
COMMENT : ฐาปกรณ์ เข็มกลัด
ผมก็อาศัยประสบการณ์ที่เคยทำมาครับ เริ่มเล่นมาเรื่อยๆ จนรู้ว่าจะไปทรงไหนต่อ อาศัยมีผู้สนับสนุนที่ดี แฟนคลับ ก็เลยมาได้ ณ จุดนี้ สำหรับรถเฟรมคันนี้ เราก็อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และอยากได้เวลาที่ดีขึ้น ก็เลยได้ผู้สนับสนุนหลัก คือ เสี่ยต้อง อ่างทอง ทำรถเฟรมคันนี้ขึ้นมา ยอมรับว่ามีเวลา Setting น้อยมาก เพราะรถเสร็จก่อนงานจริงๆ ตัวผมเองก็ถึงกับทรุด พอดีขึ้นก็มา Souped Up 2015 เลยครับ ตอนนี้ผมก็เหลือปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ลงตัวมากขึ้น ไม่นานนี้จะอัพเกรดความจุเป็น 3.3 ลิตร ก็ขอให้ติดตามผลงานกันด้วยนะครับ…
Contact : Facebook/Bao Bao โอ๊ต อู่ช่างขวัญ, Tel. 08-6341-4724
ภายนอก
เฟรม : DRAG MASTER
ภายใน
เกจ์วัด : Defi
วัดแรงดันน้ำมันเครื่อง : AUTO METER
พวงมาลัย : GRANT
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : IMPACT
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ : 4JJ1-TCX
แคมชาฟท์ : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
เทอร์โบ : SCHWITZER S400 + MITSUBISHI TF08 Modified by ปิง พระอินทร์
เฮดเดอร์ : รุ่งเจริญท่อไอเสีย
เวสต์เกต : บางมด เรซซิ่ง
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
หัวฉีด : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
เร็กกูเลเตอร์ : MALLORY
หม้อน้ำ : Custom made
กล่องควบคุม : ALPHA TECH SP TYPE I
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Liberty Air Shift
ชุดคลัตช์ : BRC 11 นิ้ว
เฟืองท้าย : 3.4 : 1
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
ชุด 4 Links : DRAG MASTER
ล้อหน้า : WELD MAGNUM ขนาด 5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD MAGNUM ขนาด 17 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 26.0 x 5.0 x 15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 34.5 x 16.5 x 16
เบรก : STRANGE