Bangkok Bunny – กระต่ายสายฝน ซุกซนกลางกรุง

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี  / ภาพ: STREETMETAL   

การทำงานท่ามกลาง “สงกรานต์” ที่อยากจะได้ฟีลลิ่งแบบ “สาดดดด” (น้ำ) ซึ่งเป็นแนวคิดแปลกๆ ของ “แบงค์ STREETMETAL” เออ เอาก็เอาวะ แต่วันนั้น “เทวดาเห็นใจ” สาดน้ำสงกรานต์ธรรมชาติ “กระหน่ำ” อย่างไร้ปรานี แต่ไหนๆ “พี่ตี๋ V.12” เจ้าของ “กระต่ายอ้วนส้ม” และทีมงาน Y’ATT ก็มากันแล้ว “เล่นแม่มตามธรรมชาติกันเลย” จึงออกมาเป็นฉบับ “ต้อนรับหน้าฝน” โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ “ตั้งใจทำ” กันทุกฝ่าย จึงได้ภาพอัน “น่าสะพรึง” ในความงามท่ามกลางสายฝนมาฝาก ขอไม่ “แพ่ม” อะไรมากนะครับ เพราะอยากจะ “โชว์รูป” ที่พวกเราฝ่าดงฝนไปถ่ายกันมา เป็นความโชคร้ายที่ยังโชคดีแฝงอยู่ ซึ่งเม็ดฝนและความเปียก ช่วยขับแสง สี ได้อย่างน่าประหลาด เชิญชม ณ บัดนาว…

 

Acceleration Test

0-100 km/h: 4.49 sec.

0-402 m.: 12.43 sec. @197.96 km/h

Tool: Drift Box

ชวน พี่ตี๋ V.12 พาเจ้า “กระต่ายอ้วน” มาลองสมรรถนะกันหน่อย ซึ่งขอบอกไว้ก่อนว่า ผมจะทดสอบกับ “รถที่พร้อม” บน “สถานะเหตุการณ์ที่พร้อม” ด้วยทุกประการนะครับ ซึ่งผมก็พยายามให้มีทุกครั้ง ถ้าไม่มี “เหตุสุดวิสัย” ใดๆ เกิดขึ้นจริงๆ รับรองได้ชมเวลากันแน่นอน ส่วนเรื่องของ “การจับเวลา” เราขอเป็น “แบบเพลิดเพลิน” นะครับ ไม่จำเป็นต้องรีดเค้นอย่างเอาเป็นเอาตาย ขณะทดสอบ มีน้ำหนักคนนั่ง 2 คน รวมแล้วน่าจะมี 160 กก. กับน้ำมันอีกเต็มถัง  สำหรับการขับของ พี่ตี๋ ก็จะไหลออกตัวไปนิดนึงก่อน แล้วค่อยกดเต็มแบบ Rolling Start เพราะไม่อยากให้เกิดแรงกระชากแบบ Standing Stand หรือการออกจากจุดหยุดนิ่ง กราฟในช่วงแรกขึ้นชันแบบ “ดีด” อย่างมาก ด้วยแรงบิดที่มากมายในรอบต่ำจากเครื่อง VR38DETT ที่มีความจุมาก แล้วก็ “ดึงอย่างต่อเนื่อง” เปลี่ยนเกียร์ที่ 7,000 rpm จนผ่าน 100 km/h ที่เวลา “4.49 วินาที” ในระยะ 56.43 เมตร หลังจากนั้น รถก็ดึงอย่างต่อเนื่อง (สังเกตกราฟได้เลยครับ) ซึ่งปกติถ้ารถมีแรงบิดไม่มากนัก ยิ่งเกียร์สูงๆ กราฟจะยิ่งนอนตัวลง สำหรับจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ ที่กราฟก็จะมี “รอยหยัก” เพียงเล็กน้อย แสดงถึงสมรรถนะความไวของเกียร์ GR6 ได้เป็นอย่างดี เข้าระยะ 402 ม. ที่ “12.43 วินาที” ที่ความเร็ว “197.96 km/h” ครับ…

Owner’s Comment : พี่ตี๋ V.12

สำหรับรถคันนี้ ผมก็อยากได้ลุคที่ดูโหดร้ายหน่อย ผมก็เลยสั่งชุดพาร์ทแท้มา แล้วให้ทาง Y’ATT เป็นผู้สานต่อในด้านของงาน Real Carbon เพื่อเพิ่มสีสันให้กับตัวรถ และเน้นความสวยงาม แข็งแรง อันนี้ผมเน้นมากจริงๆ ซึ่งขั้นตอนแต่ละอย่างก็จะทำอย่างละเอียด ส่วนที่ผมเลือกล้อ W WORK เพราะสามารถ “สั่งสีที่อยากได้” ผมเลือกล้อหลังแบบ “สุดตาราง” เลย แต่ก็ยังไม่พอ ต้องรองออกมาให้พอดีโป่ง ส่วนเบรกก็จัดเต็ม เครื่องยนต์ยังเป็นสเต็ป MINE’S เทอร์โบเดิม สเป็กแรงม้าอยู่ที่ 600 PS ส่วนตัวผมพอใจแล้ว เพราะยังต้องการรถที่ขับได้สบาย ไม่รอรอบ มีแรงม้าระดับนึงให้พอ “แรด” ได้ ซึ่งตอนนี้ก็พอใจในสิ่งที่ทำไป แต่อนาคตจะมีอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องรอชมกันครับ หากสนใจรายละเอียดและข้อมูลของรถคันนี้เพิ่มเติม ติดต่อผมได้ครับ Tel. 08-1657-8545 ท้ายสุด ผมเครดิตการทำรถให้กับบุคคลเหล่านี้ครับ…

Editor Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี

ดูเป้าหมายแล้ว ทาง “พี่ตี๋” จะอยากได้อะไรโหดๆ ไว้มั่ง รถคันนี้ในภาพรวม ผมมองถึง “ความลงตัวในมิติของรถ” ถือว่า OK ครับ ใหญ่แบบกลมกลืน ไม่ได้ดูแล้วเทอะทะ แต่ถ้าดูจริงๆ ผมอยากจะให้ “เติมสีสัน” ในด้านข้างอีกนิด อาจจะเป็นสติกเกอร์เส้นดีไซน์เท่ๆ น่าจะดูเตะตามากขึ้น อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ส่วนอื่นๆ ก็ตามที่เห็นเลยครับ เป็นแนวทางแต่งแบบมี Performance ที่รถระดับนี้ควรจะเป็น ท้ายสุด ผมขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน “พี่ตี๋ V.12 + Y’ATT + STREETMETAL” ที่มาร่วมตากฝนสร้างงานกันในครั้งนี้ครับ…

TECH SPEC

ภายนอก
ไฟหน้า : GT-R 2015 Spec
ชุดพาร์ท : Rocket Bunny
ฝากระโปรงหน้า : GT Carbon
ช่องลมแก้มหน้า : Y’ATT Carbon
หลังคา : Y’ATT Carbon
สเกิร์ตข้าง : ZELE Carbon by Y’ATT
ฝากระโปรงท้าย : Y’ATT Carbon
สปอยเลอร์หลัง : Rocket Bunny Carbon By Y’ATT
ไฟท้าย : GT-R 2015 Spec

ภายใน
เกจ์วัดรอบ-เรือนไมล์ : NISMO
พวงมาลัย : MINE’S
เบาะ : RECARO RS-G Super Stark Limited Edition
ปรับบูสต์ไฟฟ้า : HKS EVC6
ที่นั่งหลัง : PASSWORD JDM
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ : VR38DETT
ฝาครอบเครื่อง : MINE’S Carbon
ท่อทางเดินไอดี : MINE’S TITANMIUM + GReddy
โบล์ว ออฟ วาล์ว : GReddy TYPE RZ
ลิ้นปีกผีเสื้อ : MINE’S
เวสต์เกต : MINE’S
ท่อทางเดินไอเสีย : MINE’S TITAN Custom Made
หม้อพักไอเสีย : MINE’S TITAN Custom Made
หัวฉีด : SARD 900 ซี.ซี.
ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง : SARD
อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy SPEC R
โบล์ว ออฟ วาล์ว : GReddy TYPE R
ออยล์คูลเลอร์ : GReddy
อ่างน้ำมันเครื่อง : GReddy
ถังพักน้ำหม้อน้ำ : ALPHA
ถังเก็บน้ำปัดน้ำฝน : GReddy
กล่องควบคุม : MINE’S VX ROM

ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : GR6 6 สปีด
อ่างน้ำมันเกียร์ : GReddy

ช่วงล่าง
โช้คสตรัทปรับเกลียว : OHLINS DFV
เหล็กกันโคลง : MINE’S
เบรกหน้า : ENDLESS MONOBLOCK 6 pot
จานดิสก์เบรกหน้า : 400 x 63 มม.
เบรกหลัง : ENDLESS MONOBLOCK 6 pot
จานดิสก์เบรกหลัง : 387 x 34 มม.
ตัวดักลมเป่าเบรก : Kansai
ล้อ : W WORK GENOSIS ขนาด 20 x 10.5 นิ้ว ออฟเซต -16 และ 20 x 11.5 นิ้ว ออฟเซต -48
ยาง : TOYO PROXES R888 ขนาด 285/35R20 และ 315/30R20

X-TRA ORDINARY

                หลายคนคงสงสัย ว่า Y’ATT ตกลงอ่านว่ายังไง หลายคนอ่านว่า “แย็ท” มั่ง “ยั๊ท” มั่ง (ยอมรับมาซะดีๆ) จริงๆ คำนี้ อ่านว่า “วาย-แอท” ซึ่ง “พี่หนุ่ม” เจ้าสำนัก บอกว่าเป็นคำย่อมาจากคำว่า “You Are The Theme” หมายถึงประมาณว่า “เป็นแนวทางของคุณ” ในการแต่งรถ ซึ่งก็เป็นแนว Custom made ที่เกิดมาจากความ “นิยมชมชอบ” ส่วนตัว ก็แล้วแต่ว่า สไตล์ใครนิยมอะไร ก็จัดไปครับ…

Carbon Re-Creative

                ชุดพาร์ทของคันนี้ โดยชิ้นส่วนหลักเป็นการผสมผสานกันระหว่าง Rocket Bunny + ZELE (ชิ้นไหนของอะไร ดูที่ Tech Spec) ซึ่งสั่งพาร์ทแท้มาจากญี่ปุ่น แต่มันมาเป็น “แผ่นเรียบ” ใส่แล้วดูจืดไปหน่อย แต่ก็ด้วยความ “คัน” ของคนชอบ “ของไม่ธรรมดา” เลยให้ทาง Y’ATT พัฒนามาเป็นแบบ Real Carbon ทั้งหมดในจุดที่ต้องการ นอกจากจะได้ความ “สวยงาม” แล้ว ยังได้เรื่อง “ความแข็งแรง” ซึ่งถือเป็นการพัฒนาชิ้นงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม หลังจากทำเสร็จแล้ว จะต้องมีการ “ชั่งน้ำหนัก” เทียบกัน ผลที่ออกมา น้ำหนักไม่ต่างกัน แต่ความแข็งแรงและสวยงามต่างกันครับ…

Mono block Caliper ดิ้นรนใส่กัน เพื่อ ???

กระแสซิ่ง “เบรกนิยม” จะต้องเป็น “คาลิเปอร์” แบบ One Piece หรือ “ชิ้นเดียว” เรียกให้มันเท่ๆ ว่า Mono block แล้วทำไมจะต้องเป็น Mono block ด้วยละ ??? จำเป็นจริงหรือไม่ที่จะต้องใส่มัน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้าเทียบกับคาลิเปอร์ แบบ “สองชิ้น” Two Piece หรือบางที่ก็เรียกว่า Separate Type ทั่วไป ที่มี “สองซีก” พร้อมกับยึดด้วย “Stud” (สตัด) ถ้าใช้ปกติก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าใช้กับรถสมรรถนะสูง หรือรถแข่ง ที่ต้องใช้เบรกอย่างรุนแรงต่อเนื่อง จะทำให้คาลิเปอร์เบรก “มีจุดถ่างออก” และ “มีการโก่งงอ” (Bending) นึกภาพออกไหม เวลาเบรกแรงๆ มีแรงดันเกิดขึ้นในระบบเบรกที่สูง เกิดจากลูกสูบเบรกพยายามบีบตัวเข้ามาหนีบจานเบรก แต่จานเบรกไม่ยุบตัว เกิด “แรงต้าน” มันก็เลยพยายามจะ “ดันถอยหลัง” รวมถึง “อุณหภูมิ” ที่สูงด้วย จะยิ่งทำให้เกิดอาการดังกล่าวนี้มากขึ้น (เพราะโลหะร้อนก็ต้องขยายตัว) ทำให้เกิด “ช่องว่าง” หรือ Alignment Eye ระหว่างคาลิเปอร์ทั้งสองซีก สิ่งที่ตามมาไม่ใช่เบรกรั่ว แต่จะเป็น “การตอบสนองของเบรกที่ช้าลง” เพราะมันเสียเวลาไปกับการ “อ้า” (ซ่า) แทนที่จะดันผ้าเบรกแบบเต็มที่ อีกประการ “ผ้าเบรกจะสึกแบบไม่เต็มหน้า” เป็นรอยสึกเฉียงๆ แบบ Taper  เพราะถ้ามันอ้าเมื่อไร แรงกดก็จะไม่สม่ำเสมอ ไอ้ทั้งหลายทั้งมวลที่แพ่มมานี้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพเบรก “ลดลง” นั่นเอง…

ดังนั้น ทางแก้ก็คือ การผลิตคาลิเปอร์เบรกแบบ “หล่อเป็นชิ้นเดียว” หรือ Mono Block ไม่ให้มีรอยต่อที่จะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ทำให้เวลาเบรกแล้ว ไม่มี Alignment Eye เบรกก็จะ “แน่นอน” ไม่ “ถ่าง” ให้เป็นที่บัดสี การตอบสนองของเบรกก็จะดีขึ้น รวดเร็วขึ้น จริงๆ ไอ้เรื่องนี้ก็ถูกพัฒนามานานแล้วนะ ไม่ใช่เพิ่งมี อ่านในข้อมูลที่เจอ (และพอจะมีปัญญาแปลมาได้) ก็บอกว่า ผู้ที่ผลิตคาลิเปอร์เบรกแบบ Mono Block นี้ คือบริษัท Girling หรือ “เกิร์ลลิ่ง” (คนเล่นรถยุโรปจะคุ้นเคยยี่ห้อนี้ดี) ได้สร้างคาลิเปอร์เบรก Mono Block แบบอะลูมิเนียมสำหรับ Racing Car ในยุค “Sixty” ขึ้นมา เป็นรุ่น AR, BR, CR ไล่ตาม “ความใหญ่” นับว่าเป็น Mono Block “ตัวพ่อ” ที่ตอนนี้เข้าขั้น “เบรกคลาสสิก” กันแล้ว (ดูในรูปก็รู้ครับ มันคลาสสิกจริงไหม) เป็นการหล่อ (Casting) ขึ้นมาทั้งอัน แล้วค่อยๆ ทำขึ้นเป็นรูปร่าง แต่ในสมัยนี้โคตรจะง่าย เพราะล่อโปรแกรม Auto CAD กัดขึ้นมาเป็นชิ้นงานเลย ดังนั้น คาลิเปอร์แบบ Mono block จึงมีประโยชน์ประมาณนี้แล ใครจะซื้อมาใช้ ก็ขอให้ “เห็นประโยชน์ในการจ่าย” และเอามาใส่รถเราด้วยว่ามัน “มีดีอะไร” จะได้ไม่เป็นผู้ “ตามกระแส” เพียงอย่างเดียวครับ…

ข้อมูลอ้างอิง : MONOBLOC Versus Two Piece Calipers by Carroll Smith