E30 เร็วที่สุด ผุดสถิติ “พัทยาเซอร์กิต”
BMW 316 NY 291 จาก ยนตรกิจ มอเตอร์สปอร์ต
แฉ…ความลับ มีอะไรในเปลือกขาวนั้น !!!
เรียบเรียง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ข้อมูล : นิตยสารกรังด์ปรีซ์ ฉบับเดือน 6 ปี 1986
ภาพ : GPI PHOTO BANK
แฟนๆ สายซิ่งตัวยง ที่เติบโตในยุค 80-90 นั้นใครๆ ก็ประจักษ์ดีว่า อนุกรมตัวแรงประจำค่าย “ใบพัดฟ้าขาว” หรือ “BIMMER” หรือ BMW นั้น ก็คงจะเป็นสาย “M” อย่างแน่แท้ หากรถอนุกรมใดมีอักษรนี้นำหน้า ก็หมายถึงความพิเศษในด้านสมรรถนะแบบ “มอเตอร์สปอร์ต” จะมาอยู่ใต้อุ้งตีนและอุ้งมือท่าน หากใครไม่รู้จัก BMW Motorsport หรือชื่อย่อเท่ๆ ว่า M แล้วไซร้ ก็สมควรจะคิดใหม่ว่าท่านเป็นสายซิ่งจริงหรือเปล่า ในอนุกรม 3 หรือ 3-Series ความเร้าใจอยู่ที่ M3 ในบอดี้ E30 ยอดฮิต ที่ได้ชื่อว่าเป็นรถแรงประจำชาติ ปัจจุบัน ราคานั้นถีบไปไกลแสนไกลแล้ว ความแรงระดับ 225-250 แรงม้า จากเครื่องยนต์ S14 (ไม่ใช่ SILVIA นะ) กับบอดี้เบาๆ พอเหมาะมือ ไม่แปลกที่มันจะเป็น “ไอคอนิค” สำหรับมอเตอร์สปอร์ตไปเสียแล้ว…
แต่ในครั้งนี้ เราจะมาดู “รถแข่งไทย ไทยขับ ไทยคิด ไทยสร้าง ไทยเซอร์วิส ไทยออกตังค์” ก็คือ BMW E30 ที่เป็นรถแข่งแบบ “Space frame” ชื่อกระฉ่อน ที่สร้างผลงานระดับ “เดอะแชมป์” ไว้มากมายในสนาม “พัทยาเซอร์กิต” หรือ “พีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต” ในบัดนาว ที่สำคัญ สร้างสถิติอย่างเป็นทางการของ “รถแข่งไทย” ด้วยการจารึกสถิติเวลาต่อรอบ อยู่ที่ “1.00.23 นาที” เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว !!! สถิติเวลาขนาดนี้ ปัจจุบันทำลายได้ด้วยรถระดับ Super Car เท่านั้น คุณคิดเอาเองว่า ไอ้โครงเหล็กจาก “หนองใหญ่” (สร้างขึ้นเมื่อปี 2529 เป็นคันที่1 ในโรงงานน้ำตาลหนองใหญ่ จังหวัดระยอง) ครอบกระดอง E30 สีขาว เครื่อง 4 สูบ ไร้หอย ??? ที่ไม่ใช่เครื่อง S14 จาก M3 แต่อย่างใด (แล้วมันเครื่องอะไร ???) และช่วงล่างหลังจาก “กระบะ” ?????????????? กับคนขับไทยเก๋าๆ จะทำเวลาเป็นตำนานได้ขนาดนี้ งานนี้ “ต้องรู้” ว่า “เขาทำอะไรกัน” มาเลยครับ มาเหลากันให้แหลม…
เปิดตัว “ยนตรกิจ มอเตอร์สปอร์ต” อย่างเป็นทางการ
บริษัท “ยนตรกิจ” ผู้แทนจำหน่าย BMW อย่างเป็นทางการตอนกระโน้น ซึ่งเชื่อมันในบทบาทของ BMW Motorsport ที่สร้างฝีมือระดับ “โลกแห่งความเร็ว” เอาไว้ จนต้องแยกมาเป็นอีกหนึ่งแผนก (Division) เพื่อผลิตรถแข่งและรถสมรรถนะสูงอย่างจริงจัง ในปี 1986 จึงได้ตั้งทีมแข่งอย่างเป็นทางการของเมืองไทย คือ “ยนตรกิจ มอเตอร์สปอร์ต” เพื่อผลักดันให้รถ BMW เป็นที่รู้จักและลูกค้าเชื่อมั่นในสมรรถนะ เรียกว่าไม่ได้ทำกันเล่นๆ แต่มีมาตรฐานเทียบกับระดับ “อินเตอร์” เชียวนะ แล้วก็ยังมี “Driving Training” สอนการขับรถอย่างปลอดภัยและถูกต้อง นี่เป็นเรื่องคร่าวๆ ส่วนในด้านการแข่งขันนั้น ยนตรกิจ มอเตอร์สปอร์ต จะส่งแข่งตั้งแต่รุ่นรถเดิมๆ อย่าง “โชว์รูม” (Series Production) ไปยัน “ซูเปอร์ซาลูน” หรือ “เรซซิ่ง” เต็มพิกัดในระดับ “โอเพ่น” นั่นเลย ส่วนอีกบริษัทที่สนับสนุนด้านเครื่องยนต์ อุปกรณ์แข่งขันทั้งหลาย ก็คือ “ยนตรกิจ–แพ็ค” ก็นับว่าเปิดศักราชสำหรับรถแข่งที่เป็นฝีมือการ “สร้าง” ของคนไทยอย่างแท้จริง…
กำเนิด BMW 316 NY291
ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ ว่ามันต้องเป็นรถที่ “ง่ายในการสร้าง สะดวกในการซ่อม” ไม่ยุ่งยากวุ่นวายจนทำให้ “งง” เสียเอง ครั้นจะเอารถ Stock body มา “ตัด หั่น” ก็คงไม่คุ้มค่ากับการซื้อรถใหม่ที่ราคาแพงมาหั่นเล่น ไหนๆ จะเอาระดับ Open เต็มระบบแล้ว “สร้างสเปซเฟรมจะง่ายกว่าไหม” แน่นอนครับ “ง่ายกว่าเยอะ” เพราะเราจะกำหนดสิ่งที่เราอยากได้ลงไปได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาแก้นั่นแก้นี่จากรถเดิม ท้ายสุดก็ตัดทิ้งแทบทั้งลำอยู่ดี เอาเงินจะไปซื้อรถมาสร้างรถนั่นแหละจบปิ๊ง เลยอาศัยการสร้างรถที่ “หนองใหญ่” ซึ่งเป็นโรงงานของมือขับระดับหัวของไทย อย่าง “มงคล เสถียรถิระกุล” ใน จ.ระยอง จึงเป็นที่มาของคำว่า NY ก็ย่อมาจาก หนองใหญ่ นั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่ทำกันมั่วซั่วตั้วเหล็งนะ เพราะต้องการความแข็งแรงสูง สูงพอที่จะ “โหม่ง” กำแพงสนามพัทยาฯ ในความเร็วระดับ 200 km/h ได้โดยผู้ขับขี่ไร้รอยแม้แต่แมวดม ท่อสเปซเฟรม จึงเป็นท่อโลหะ “เหนียว” ที่ยืดหยุ่นตัวได้ ไม่แข็งกระโด๊กเป็น Sak กะเบือทิ่มดิน จนทำให้รถกระด้างและไม่เกาะถนน ซึ่งการสร้างทั้งหมดนี้ เป็นการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design) และควบคุมโดย “อาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข” ที่สายซิ่งระดับลึกรู้จักกันดีนั่นเอง…
ขุมพลัง M12/7 พื้นฐาน Formula !!!
ใครๆ ก็รู้ว่าเครื่องยนต์ S14 นั้นแรงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นสายมอเตอร์สปอร์ตของ BMW แท้จริงแล้ว เครื่องยนต์ในตระกูล M10 ที่อยู่ใน 316 และ 318 นี่แหละ มันมีความพิเศษซ่อนอยู่ เพราะเป็นการใช้ท่อนล่างของ M10 มาพัฒนาเป็นเครื่องแข่งเต็มระบบ (Full Race Engine) อย่าง M12/7 ที่เปลี่ยนฝาสูบเป็น DOHC หรือ ทวินแค็ม !!! กับ 16 วาล์ว ที่เป็นสเป็กสำหรับรถสูตร 2 หรือ Formula 2 ความจุ 2.2 ลิตร ไร้หอยมาอัดอากาศ สร้างกำลังได้มากถึง 310 hp @ 9,250 rpm !!! กับรอบสูงสุดที่ตวัดได้ถึง “10,200 rpm” แต่…เดี๋ยวก่อน…เครื่อง M12/7 อันนี้เป็น “เสื้อสูบสแตนดาร์ดโรงงานของ M10” อยู่นะครับ !!! ไม่ใช่ว่าเราจะ Safe Cost เอง แต่นี่คือมาตรฐานของเครื่องแข่งตัวนี้จาก BMW Motorsport เพราะความแข็งแรงของเสื้อ M10 เหล็กหล่อนั้นเพียงพออยู่แล้ว นับว่าเป็นเครื่องที่มีอะไรดีๆ มากมายกว่าที่เราคิดจริงๆ…
แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นสุดติ่งสำหรับ “รถสูตร 1” หรือ “Formula 1” ก็จะเป็น M12/13 ลักษณะเดียวกัน แต่ความจุเหลือเพียง 1.5 ลิตร กับ “หอยยักษ์” เบ่งพลังได้มากกว่า 850 hp !!!!!! ในรอบ Qualify ส่วนแข่งจริงก็เหลือ 640 hp เพราะต้องการเซฟเครื่องและน้ำมัน เรียกว่าแรงสุดขั้วจริงๆ ในยุคนั้น คันที่ได้แชมป์โลก ก็คือ BRABHAM BT52 ที่ขับโดย “เนลสัน ปิเกต์” ทีม Parmalat และเป็นรถเทอร์โบคันแรกที่ได้แชมป์อีกด้วย ย้อนกลับมาที่เครื่อง M12/7 ตัวนี้ แน่นอนว่า ตามกติกาที่บังคับเครื่องยนต์ยี่ห้อเดียวกับตัวถัง ก็จึงต้องใช้เครื่องรุ่นนี้ ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับแข่งขันของ BMW Motorsport คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่า “Mr. Heini Mader” หรือ “ไฮนี่” ซึ่งเป็นผู้ประกอบเครื่อง M12 ของทีม และเครื่องตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะเครื่องพวกนี้จะต้องประกอบและขึ้น “ไดโนเทสต์” เพื่อวัดแรงม้าและตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์อย่างแท้จริงก่อนจะนำมาแข่งขันจริง ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีแท่นไดโนฯ ถ้าติดตั้งเสร็จแล้ว เราถึงจะประกอบเครื่องยนต์และทดสอบได้เอง…
ไฮไลต์เด็ด ช่วงล่างหลัง “กระบะ” พันธุ์แท้ ???!!!!
โดยปกติ รถยนต์ BMW ในยุค 80 และ ก่อนหน้านั้น จะใช้ช่วงล่างหน้าแบบ “แม็คเฟอร์สัน สตรัท” และช่วงล่างหลังเป็นแบบ “อิสระ เซมิเทรลลิ่งอาร์ม” ที่ว่าดีสุดในยุคนั้น แต่คันนี้ทาง “อ.ศิริบูรณ์” และทีมงาน ยนตรกิจ–แพ็ค ได้สร้างช่วงล่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยทำกันที่ หนองใหญ่ นั่นแหละ บอกแล้วว่า “ไทยทำ ไทยขับ ไทยชนะ” ช่วงล่างคันนี้เป็นสิ่งที่ อ.ศิริบูรณ์ ได้ออกแบบเอง แต่ด้านหลังนี่สิ เป็นที่ร่ำลือมาว่า “เทพจริงๆ” ซึ่งไม่ใช่ระบบอิสระ เซมิเทรลลิ่งอาร์ม ที่ BMW นิยมเหมือนเดิมเสียแล้ว แต่กลับกลายเป็นระบบช่วงล่าง “คานแข็ง 4 Links” !!! ซึ่งผมเคยสอบถามกับ อ.ศิริบูรณ์ โดยตรงถึงเรื่องนี้ ได้รับคำตอบมาว่า “เอามาจากไหนน่ะหรือ ??? มันเทพจริงไหม แล้วคุณรู้จักไหมล่ะ ??? ไอ้ TOYOTA HILUX เนี่ย” !!!!!! ซึ่งท่านก็ได้ออกแบบ 4 Links ที่ไม่เหมือนใครในโลก (คนละโลกกับของรถ Drag นะครับ เพราะ 4 Links มันหมายถึงเพียงแค่ “สี่แขน” แค่นั้น แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นอีกเรื่อง) ส่วนที่ว่าทำไมไม่ใช้ระบบอิสระ ประการแรก “หาเฟืองท้ายได้ยาก” ตอนนั้นหาไม่ทัน ก็เลยเอา HILUX นี่แหละหาง่ายดี อัตราทดก็สูงเพราะเอาไว้เผื่อโหลดน้ำหนักอยู่แล้ว เราก็มาโมดิฟายตามสูตร ส่วนที่ว่าจะเกาะถนนหรือไม่นั้น จริงอยู่ว่า ระบบอิสระนั้นดีกว่าแน่ในทางโค้ง แต่ !!! คานแข็งถ้าเซ็ตมาถูกต้อง มันก็ไม่ได้ห่วย เวลาต่อรอบนั่นแหละเป็นเครื่องพิสูจน์สมรรถนะอย่างแท้จริง…
มาถึงบทสรุป “ชัยชนะจากฝีมือคนไทย” เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 รถคันนี้ที่สร้างและออกแบบโดยคนไทยแบบ “เต็มร้อย” สามารถ “คว้าแชมป์” ในสนามพัทยาฯ ได้ ตอนนั้นรถเขี้ยวๆ จากนอก ก็มี RX-7 SA22C Group 5 ของ “ทากุ อะไคเคอิ” ทีมใจทิพย์-TAKU RACING ส่วน RX-7 SA22C อีกคันก็ “Dick Ward” คันนี้ก็แรง หรือ CHEVY MONZA ของ “Jeff Barn” พวกนี้ก็หินๆ ทั้งนั้น ซึ่งทีม ยนตรกิจ มอเตอร์สปอร์ต ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคนไทยไว้ และสร้างสถิติเวลาต่อรอบเร็วที่สุดของรถ “ล้อปิด” ในสนามพัทยา หรือ “พีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต” ไว้กว่า 30 ปี น่าเสียดายที่รถคันนี้หลังจาก Retire เลิกแข่ง ก็ได้ขายไปให้กับ “ฝรั่ง” คนหนึ่ง ซื้อต่อไปก็ไม่รู้ว่ายังไงไม่สามารถสานต่อได้ สรุป รถคันนี้ก็เลยไม่รู้ไปอยู่ไหนแล้ว น่าเสียดายเหมือนกัน ถ้าเจ้า BMW 316 NY291 คันนี้ยังอยู่ มันมีประโยชน์และเป็นตำนานในสายเซอร์กิตแน่ๆ แล้วเราก็มีโอกาสได้รู้ว่า “ทำยังไงถึงเร็ว” โดยฝีมือคนไทยที่มี “เลือดบ้า” เต็มร้อยครับ…
Fact
Racing Driver
- ฐิติ เกิดรพ หรือ ฐิติกร ลีนุตพงษ์
- มงคล เสถียรถิระกุล
- สุรชัย วีระปรศุ
Team Member
- ฐิติกร ลีนุตพงษ์ หรือ “ฐิติ เกิดรพ” นามแฝงในการแข่งขัน กับ วิทิต กำลังใจ และ สนับสนุนอะไหล่
- มงคล เสถียรถิระกุล “ตี๋ หนองใหญ่” มีหน้าที่ “ขับให้ถึงเส้นชัยก่อนคนอื่น” เท่านั้น
- อ.ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ออกแบบเชิงวิศวกรรมทั้งหมด
- อำนาจ หัวหน้าช่างประจำ, ช่างสัน งานกลึงต่างๆ, ช่างอ๊อด งานเชื่อมโลหะ, ช่างพร งานสร้างโลหะ, ช่างเติม ช่างอ๋า งานไฟเบอร์และสี, ช่างเจิด งานระบบไฟฟ้า, ช่างเทพ เตรียมยางและดูแลช่วงล่าง, ช่างหวัน ช่างอำนวย ประกอบและตรวจสอบ
TECH SPEC
BMW 316 NY291
ภายนอก
ตัวถัง : Fiber Glass ผลิตที่ หนองใหญ่
เฟรม : Space Frame ท่อเหล็กเหนียว ผลิตที่ หนองใหญ่
มิติรถ : กว้าง 1,850 มม. สูง 1,150 มม. ช่วงล้อยาว 2,500 มม. ช่วงล้อหน้าและหลัง กว้าง 1,520 มม. และ 1,450 มม. ตามลำดับ น้ำหนักรถ 825 กก. น้ำหนักเฉลี่ยหน้า/หลัง 48/52 %
ภายใน
ชุดแป้นเหยียบ : ผลิตที่ หนองใหญ่
คันเกียร์ : Short Shifter ผลิตที่ หนองใหญ่
เครื่องยนต์
รุ่น : M12/7 จาก BMW Motorsport
เสื้อสูบ : เหล็กหล่อ สแตนดาร์ด M10
ฝาสูบ : DOHC 16 วาล์ว BMW Motorsport
ลูกสูบ : BMW Motorsport ขนาด 89 มม.
ก้านสูบ : BMW Motorsport
ข้อเหวี่ยง : BMW Motorsport ช่วงชัก 80 มม.
หัวฉีด : ลิ้นสไลด์ BMW Motorsport
ท่ออ่อนพร้อมหัวต่อทั้งหมด : Aeroquip
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Getrag 265 Sport 5 สปีด
เพลาท้าย : TOYOTA HILUX
ช่วงล่าง
ระบบช่วงล่างทั้งหมด : ผลิตที่ หนองใหญ่
โช้คอัพหน้า–หลัง : KONI Aluminum
ล้อหน้า : BBS Racing ขนาด 12 x 16 นิ้ว
ล้อหลัง : BBS Racing ขนาด 14 x 16 นิ้ว
ยางหน้า–หลัง : DUNLOP Racing Slick ขนาด 270/590-16 และ 325/625-16
เบรก : AP Lockheed 227 และ 2852 จาน 12 และ 11 นิ้ว
ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี
Cr. Photo :
THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ–สอบถาม