อยากแรงต้อง “ปรับบูสสสสสสสสสสสสต์”
รู้ไว้นะวัยรุ่น ถ้าไม่อยากวุ่นโดน “ขี่หัว” !!!
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
สายหอย !!! ต้องรู้จักกับอุปกรณ์เสริมความแรง (และความพัง) ที่ชื่อว่า “ตัวปรับบูสต์” หรือ Boost Controller ที่เป็นของคู่กายของรถติดหอย เอาไว้ “บิด” สนองความอยาก อยากแรงนักก็ปรับเข้าไป แต่ถ้า “โลภมาก” จะ “ลาบหาย” (ซื้อมาถุงนึงวางไว้ตรงนี้ หายไปไหนวะ) เสียงมันจะดังว่า “พัง พัง พัง” ถ้าซี้ซั้วปรับบูสต์เพิ่มโดยไม่ “เพิ่มน้ำมันตาม” ยุคก่อนก็ระเบิดพลีชีพกันเยอะเพราะปรับบูสต์เพิ่มอย่างเดียว แต่อย่างอื่นไม่ทำ ก็ไม่แน่นะ บูสต์เพิ่มอย่างเดียวแต่ไม่เพิ่มน้ำมัน ทำให้ส่วนผสม “บาง” รถวิ่งแย่ลง แต่ “แรงทางใจ” เพราะมัวแต่คลั่งหลังพวงมาลัยกับเข็มวัดบูสต์ที่กวาดขึ้นอย่างบ้าคลั่ง แต่ได้ไม่นานก็ “ราตรีสวัสดิ์” คราวนี้ เรามาดูกันว่า “ตัวปรับบูสต์” มันมีหลักๆ กี่แบบ และ “มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรกันบ้าง” รู้ไว้ใช่ว่านะครับ ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักโดยหลักๆ ของปรับบูสต์ทั้งสองแบบก่อน ว่ามีอะไรโดดเด่น มีอะไรได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง…
- ปรับบูสต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ก็มีตัวที่ใช้งานง่ายๆ ราคาไม่แพง เหมาะสำหรับรถแบบ Light Tune ที่ไม่ได้เน้นฟังก์ชั่นอะไรมากนัก
ปรับบูสต์กลไก หรือ ปรับบูสต์มือ
อันนี้เป็นแบบโบราณกาล ยุค 80 ต้องรู้จักกันดี มีหลายแบรนด์ สมัยนั้นถ้านิยมกันสุดๆ ก็ต้องของ TRUST หัวสีฟ้าๆ พอยุคหลังๆ ก็เปลี่ยนเป็นหัวพลาสติกสีดำ ที่สายซิ่งยอมรับว่า “ค่อนข้างแม่น” และ “ปรับได้ละเอียด” หมุนแล้วบูสต์ไม่ขึ้นหรือลงพรวดพราด ซึ่งถ้าเป็นของที่ราคาถูกหน่อย มันจะปรับไม่ค่อยละเอียด หมุนนิดเดียวบูสต์ขึ้น 2-3 ปอนด์ หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นยุคของ “ปรับบูสต์ไฟฟ้า” แล้วครับ แต่ปรับบูสต์มือปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่บ้าง โดยมากเป็นสาย “ดีเซล” ที่บางคนก็ชอบเพราะมันง่ายๆ ดี หลักการมันง่ายๆ ดังนี้จ้า…
- เป็นแบบกลไกที่ควบคุม “แรงดันลมหลังท่อไอดี” ที่จะไปกดหัว Waste Gate มันก็เหมือนกับ “วาล์วก๊อกน้ำ” นั่นเอง ถ้าเปิดมา แรงดันลมก็จะไปกดวาล์ว Waste Gate ให้ “เปิดยาก” ไอเสียก็จะไหลไปปั่นเทอร์โบเยอะ นั่นคือ “บูสต์เพิ่ม” ซึ่งบูสต์จะเพิ่มเท่าไรนั้น หากปรับกันสุดๆ ก็อยู่ที่ว่า “เครื่องจะปั่นเทอร์โบได้เยอะขนาดไหน” ถ้าวาล์ว Waste Gate ไม่เปิดเลย จะกลายเป็น “บูสสสสสต์ไม่รู้จักหยุดหย่อน” หรือ Infiniti Boost ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมละครับว่าเครื่องจะทนไหวมั้ย สมัยก่อนก็มี “หน้ามืด” เวลา “เช็ง” บางคนหมุนจนสุดติ่ง ก็จบที่พังละครับ…
- การควบคุมบูสต์ก็อาจจะไม่นิ่งเท่าที่ควร มันเป็นกลไกมือหมุนจริงๆ ถ้าแผ่น “ไดอะแฟรม” เริ่มล้า หรือ เริ่มรั่ว ก็คุมบูสต์ไม่แน่นอนครับ ซื้อของเก่ามาก็ต้องระวังหน่อย…
- การเสียบสายก็ต้องไล่ดูดีๆ เพราะมันสามารถ “หมุนได้สองทาง” อยู่ที่เสียบสาย ต้องใส่แล้วลองดู สมัยก่อนถ้าเป็น “ของใหม่แกะกล่อง” จะมีสติกเกอร์ให้เราติดต่างหากว่าฝั่งไหน Down-Up หรือ Up-Down นั่นแล…
- นี่เลย โคตรตระกูล PROFEC จาก GREDDY ที่สมัยนั้นถือว่าทันสมัยมาก มีฟังก์ชั่น Over Take Booster หรือบางเจ้าเรียกว่า Scramble Boost แบบ “ม้าดีดชั่วครู่” นั่นเอง
ปรับบูสต์ไฟฟ้า
มาในยุค 80 ปลายๆ ตัวผมเองก็เคยสัมผัสกับปรับบูสต์ไฟฟ้ายุคแรกๆ ที่ชอบมาก วัยรุ่นยุค 80 ปลาย ต้องรู้จัก คือ GOING Turbo Booster หน้าตาซื่อๆ มีสองปุ่ม ใช้วิธีบิดปุ่มเอามากน้อย เวลาบูสต์มาจะมีไฟ “ดิสโก้” 1 ดวงเล็กๆ (เสียดายตอนนั้นไม่เก็บเอาไว้วะ) ยุคหลังๆ เฟื่องๆ หน่อย ก็ TRUST และที่หน้าตาทันสมัย ก็พวก HKS ยุคแรกๆ ที่เป็นตัวแบนๆ ปุ่มใสๆ มีไฟเรืองแสงสีเขียว จนยุคหลังก็เป็น “ดิจิตอล” จอสวยๆ ฟังก์ชั่นเยอะๆ มาจนถึงปัจจุบัน ปรับบูสต์ไฟฟ้าจะ “นิ่ง” ทำให้จูนได้ง่าย กำหนดการขับได้ และจะมีโปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น…
- Boost by Gear หรือ “ปรับบูสต์ตามเกียร์” อันนี้ต้องมีในยุคใหม่ เพราะการขับแต่ละเกียร์ย่อมต้องการบูสต์ที่ต่างกัน อย่างเกียร์ 1 ไม่ต้องบูสต์มากเพราะ “ฟรีทิ้ง” ไปหมด แต่พอเกียร์ 3-4 รถเริ่มทำความเร็ว ต้องดันบูสต์ขึ้นไปอีกอะไรประมาณนี้ การปรับตั้งจะต้องมีการ Learning ให้ตัวปรับบูสต์มัน “รู้” ก่อน ว่า รอบเท่านี้ ความเร็วเท่านี้ อยู่ในเกียร์ไหน เช่น เกียร์ 2 รอบ 8,500 rpm ความเร็วอยู่ที่ 120 km/h แล้วก็ไล่ไปจนหมดทุกเกียร์ กล่องมันจะคำนวณออกมาเอง โดยจับกับสัญญาณวัดรอบ และ สัญญาณความเร็ว (Speed Sensor) มันก็จะรู้ครับ แต่ถ้า “คลัตช์ลื่น” รอบแว๊วววววว แต่รถเสือกไม่ไป อันนี้มันจะ Error ไปเลย…
- Scramble Boost ไอ้นี่จะปรับบูสต์แบบ “จี๊ดชั่วคราวไม่ค้างคืน” บางคนก็เรียกจังหวะ Over Shoot หรือ Over Boost หรือ Over Take Boost แบบจังหวะ “ขี่หัว” แม่งมาแล้วเว้ยยย แล้วต้องการจะ “เช็งหนี” ก็กด Scramble Boost ปรี๊ดดดดด บูสต์เพิ่มกี่วินาทีก็ว่ากันแล้วแต่ตั้ง หลังจากนั้นมันก็ตัดมาเท่าเดิม แหม พูดแล้วเหมือนหนัง Fast & Furious ที่บูสต์มหาโหดแถม “ยิงแก๊สมหาประลัย” ซะด้วย แต่ระวังอย่าเล่นโหดเกิน จะเป็น Fast & Serious ที่ไม่พังก็ “มิด” ละพี่น้อง…
- นี่ก็ต้นตระกูล EVC จาก HKS ที่มีฟังก์ชั่น Low & High ที่ต้องบิด Volume เพื่อ Set ว่าจะปรับเท่าไร ส่วน MANU คือ Manual
ปรับบูสต์ไฟฟ้า รอรอบน้อยกว่า !!! ???
ถ้าพูดถึงข้อที่จะเข่นกันระหว่างสองแบบนี้ “ปรับบูสต์ไฟฟ้า จะรอรอบน้อยกว่า ปรับบูสต์กลไก” ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ในเงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากมันกำหนดการเปิดปิดวาล์ว Waste Gate ด้วย “แรงดันลม” เมื่อบูสต์เริ่มมา วาล์วจะเริ่มยกทีละน้อยๆ ทำให้ไอเสียเล็ดรอดออกไปก่อน แรงดันไอเสียไปขับเทอร์โบก็น้อยลง ทำให้เทอร์โบบูสต์ได้ช้ากว่า แต่ปรับบูสต์ไฟฟ้า มันจะเปิดวาล์ว Waste Gate ต่อเมื่อ “บูสต์เต็มกำหนด” เท่านั้น พูดง่ายๆ ตอนปิดมันก็จะปิดสนิท ทำให้ไอเสียไปขับเทอร์โบเต็มที่ “ทำให้บูสต์ได้เร็วกว่า” พอบูสต์ถึงตามกำหนด มันสั่งยกวาล์ว Waste Gate แบบ “พรวดเดียว” นี่แหละครับคือข้อแตกต่าง…
การเลือกใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็น ปรับบูสต์กลไก หรือ ปรับบูสต์ไฟฟ้า ต่างก็มีคุณสมบัติเด่นคนละอย่าง แต่ตอนนี้ก็นิยมปรับบูสต์ไฟฟ้ากันเพราะ “แม่น” และ “เลือกฟังก์ชันได้หลากหลาย” แต่สายดีเซลบางท่าน ก็เน้น “บูสต์หนัก” ไม่ต้องอะไรกันมาก มึงปรับให้กูได้ตามต้องการก็เอาละ แล้วแต่ครับอันนี้ ถ้าต้องการแค่บูสต์เพิ่มตามต้องการแค่นี้ก็พอ ราคาไม่แพง ตอนนี้รุ่นใหม่ๆ ก็มีการใส่ One Way Valve ให้ควบคุมแรงดันได้แน่นอนขึ้น แต่ถ้าปรับบูสต์ไฟฟ้า ก็มีหลายเกรด หลายราคา รุ่นใหม่มันมีฟังก์ชันที่หลากหลาย ปรับง่ายๆ ไม่แพง (แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ออกอ่าวเหมือนกัน) แต่ถ้าปรับง่ายๆ แต่คุมบูสต์เยอะๆ แม่นๆ อันนี้ “แพงว่ะ” ก็ลองเลือกเอาตามอัธยาศัยและตังค์ในกระเป๋าคร้าบบบบบบบบบบบ…
ภาพประกอบบางส่วนจาก GOOGLE
- ปรับบูสต์กลไกสมัยใหม่จะมีหน้าตาแบบนี้ ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดกว่ารุ่นเก่าๆ
- นี่เลย ตัวปรับบูสต์กลไกในตำนาน TRUST ที่สายยุค 80 ต้องเคยใช้
- อันนี้ GReddy ยุคใหม่ขึ้นมาหน่อย หน้าตาทันสมัยขึ้น
- ขออณุญาตเอารูปดีเจต้น หนุ่มสุดฮอตมาเป็นรูปเปิดนะครับ ^_^