BRiOTOR

 

Don’t mind VTEC Lets Rotary

คันแรกในโลก โปรเจกต์หนีเมีย by JO-MO-GAS & PROJECT-V

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี/ ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

บอกตรงๆ ว่ารถแนว Street ผมก็ไม่ค่อยได้เขียนสักเท่าไร แต่คันนี้ขอหน่อย เพราะ “มันบ้าจริงๆ ว่ะ” ทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน แน่นอนว่าจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ แต่ “กูจะทำ” เป็นจุดกำเนิดของ “โปรเจกต์หนีเมีย” ที่แน่ๆ ทำไอ้แบบนี้ก็ยังไม่รู้จะออกมาท่าไหน จากความคิดในหัวของ “โจ้โมแก๊ส” ที่อยากจะทำอะไรประหลาดๆ กันหน่อย อยากจะเป็น “บริโอ้โรตารี่คันแรกในโลก” ซึ่งไอ้ตอนคิดล่ะก็ได้ แต่ไอ้ตอนทำนี่สิ หนักกว่าหลายเท่า จึงได้ปรึกษากับ PROJECT-V ว่าจะยัดมันลงไปยังไง ลำพังไอ้เครื่องมันไม่ยากหรอกครับ แต่มีจุดที่ยากกว่านั้นอีกเยอะ แน่นอน เราจะนำเสนอกันแบบสไตล์เรา ให้ “ลงลึก” กันไปเลยว่าเขาทำกันยังไง และจะแรงแค่ไหนกัน…

 

ก็อยากจะ K อยู่หรอกนะ

            ใจอยากจะได้ของแรง คงไม่พ้น K20A Type R ซึ่งใจจริงก็อยากจะเป็น “ติดหอย” ด้วย ถ้าเล่นธรรมดาก็คงจะไม่เฟี้ยวเท่าไร แต่พอคำนวณต้นทุนแล้วไม่น้อย เครื่องก็แพงอยู่แล้ว แถมยังต้องโมดิฟายไส้ในให้รับกับเทอร์โบได้อีก ซึ่งแรงม้าเป้าหมายในอนาคตของผมอยู่ที่ 500 PS อย่างต่ำ ก็เลยคิดว่าจะหาเครื่องเทอร์โบแท้ๆ จากโรงงาน เครื่องลูกสูบก็ไม่แปลก ไหนๆ จะให้ประหลาดสุดก็ต้อง “โรตารี่” มันก็เป็นเครื่องขับหลัง ที่ดูแล้วแหวกแนวแน่ๆ ลำพังไอ้ยัดเครื่องลงไปไม่ยาก เพราะตัวเครื่อง 13B-REW มันเล็กกว่าเครื่อง L15A ประมาณสองนิ้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ยากกลับไม่ใช่ตรงนี้…

 

จัดเซ็นเตอร์เกียร์ให้ได้ก่อน (ตั้งสติก่อนอ่าน)

            จริงๆ แล้ว คนที่ไม่ใช่ช่างวางเครื่อง จะต้องเข้าใจว่าการ Swap Engine นั้น ตอนวางจะต้องดูตำแหน่งเครื่องก่อน จริงๆ แล้ว มันเป็นอันดับสองครับ อันดับแรกจริงๆ ต้องหา “เซ็นเตอร์จากเกียร์” มาก่อน ตำแหน่งเพลาจะต้องตรง ไม่งัด ถ้าเป็นขับหลังก็ต้องเล็งตำแหน่งจาก “กึ่งกลางหน้าแปลนเฟืองท้าย” ก่อน แล้วค่อยจัดตำแหน่งเครื่องให้ได้ตามเซ็นเตอร์ แต่ “ขับหน้า” ยากกว่านั้น เพราะจะต้องดูตำแหน่ง “เพลาข้าง” เป็นหลัก และทรงของเกียร์ขับหน้ามันไม่ได้เป็นยาวๆ หน้าแปลนท้ายเกียร์ออกตรงๆ เหมือนของขับหลัง อันนี้แหละครับที่เป็นงานยาก โดยเฉพาะถ้า Swap กันข้ามตระกูลไปมากๆ แบบคันนี้…

ก่อนอื่นจะต้องเลือก “เกียร์” จะเอาของ K20A ก็แพงเกินเหตุ ลองไปหลายลูกแล้วก็ทรงไม่ได้ จุดที่ต้องกำหนดเลย คือ “ต้องเป็นเกียร์ที่มีมอเตอร์สตาร์ตอยู่ติดกับฝั่งเกียร์เท่านั้น” มันต้องแยกต่างหากกันไป เพราะเครื่องกับเกียร์มันคนละเรื่องกัน ถ้าตัวมอเตอร์สตาร์ตอยู่ติดกับเครื่องก็จะมีปัญหาที่ไม่ควรจะไปยุ่งกับมัน ดูทรงแล้วไปเจอกับเกียร์ BP Turbo ของ MAZDA 323 GT-R แต่หายากนะ ไปๆ มาๆ 3S-GE เกียร์เล็ก ที่ดูแล้วเหมาะสม มอเตอร์สตาร์ตอยู่ติดเกียร์ ดูๆ มันก็ฉิวเฉียดยังไงดีวะ ก็เลยต้องเสี่ยงซื้อมาลองดู เกียร์ไม่แพงครับ มีเกลื่อน ของ TOYOTA พวกคลัตช์และลิมิเต็ดสลิปโมดิฟายก็มีขายทั่วไป ก็เลยเอาวะ เอานี่แหละ…

ยังนะ ยังไม่จบ พอมาประกบเกียร์ มันก็ติดนั่นนู่นนี่มากมาย ประการแรก เครื่องโรตารี่จะเป็นทรงกลม ข้อเหวี่ยงอยู่กลางเครื่องเด๊ะ ส่วนเครื่องลูกสูบ ข้อเหวี่ยงจะอยู่ค่อนไปทางด้านล่าง ตามสรีระปกติของมัน ดังนั้น ต้อง “หมุนเกียร์หาตำแหน่งที่เหมาะสม” งานนี้ต้องไปหา “น้ากาหลง” ช่างรุ่นเดอะ โดยการเอาเสื้อเครื่องคว่ำหน้าลง เอาตูดชี้ขึ้น แล้วรื้อเสื้อเกียร์ไปต่อท้าย จัดการหาเซ็นเตอร์เกียร์ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นก็ “หมุนหาทิศทางที่ทุกอย่างมันหลบกันได้” จนเจอตำแหน่ง แต่ก็ติดปั๊ม Auto Lube เลยต้องถอดออกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ พอได้ตำแหน่งก็ทำ Adaptor คอมแอร์เปลี่ยนเป็นของ DAIHATSU MIRA ที่ลูกเล็ก แต่ก็เย็นใช้ได้เลย เรื่องระบบระบายความร้อน รู้กันว่าเครื่องโรตารี่มีกำลังมาก ความร้อนจะสูง เลยเอาหม้อน้ำของ PORSCHE CARRERA มาใส่พร้อมพัดลมไฟฟ้า และมีออยล์คูลเลอร์ขนาดใหญ่ของตรงรุ่นเครื่องมาให้ครบ เรียกว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Detail การ Swap นะครับ จริงๆ ยังมีลึกกว่านี้อีก ผมก็เข้าใจในงานแต่ “ยากที่จะสื่อเป็นตัวหนังสือได้” ในบางจุดครับ…

Max Power: 261.3 hp

Max Torque: 252 Nm

พูดสรุปเลยละกันนะ กราฟแรงม้าและแรงบิดก็จะมาช่วงปลายๆ ตามสไตล์โรตารี่ ที่ต้อง “ใช้รอบเรียกกำลัง” แต่ไม่ถึงกับรอรอบมาก เพราะเทอร์โบบอลแบริ่งมันมาไวอยู่ Power Band มาให้ใช้ช่วงปลาย ก็ต้องลากรอบสูงจึงจะเจอกับความมันส์ และใช้อัตราทดเกียร์ชิดๆ หน่อย เพื่อให้มันยังอยู่ในย่านกำลัง ตอนปั่นม้าใช้บูสต์ประมาณ 0.6 บาร์ เรียกว่าเทอร์โบตัวนี้ยังไม่ได้สำแดงอะไรนักเลย อันนี้เขาไม่เอาม้ามาก เพราะต้องการ “เซตระบบต่างๆ” ให้เรียบร้อยก่อน ไอ้เรื่องแรงม้าน่ะเพิ่มทีหลังได้สบาย แต่ถ้าพื้นฐานไม่ดี จู่ๆ จัดหนักเลย เสี่ยงพังและอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตครับ โดยเฉพาะรถดัดแปลงที่ไม่เคยทำกันมาก่อนแบบนี้…

Comment : “โจ้ โมแก๊ส” กิตติชัย ขาวไพบูลย์

คันนี้เป็นสเต็ปเริ่มต้น เน้นแปลกและท้าทายงานฝีมือแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นคันแรกของเมืองไทยแน่นอน และมีโอกาสที่จะเป็นคันแรกของโลก กับ BRIO เครื่อง Rotary เริ่มแรกแรงม้าไม่มากนัก สาเหตุที่ม้าไม่สะใจเท่าไร เพราะต้องการจะเซตรถให้สมบูรณ์ก่อน โดยไล่จากแรงม้าพอประมาณ มีข้อผิดพลาดจะได้แก้ไขทัน ค่อยๆ ทำให้มันถูกทางเพิ่มขึ้น แต่แรงม้าที่จะทำให้ อนาคตหากทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็อยู่ที่ 500 PS ++ ซึ่งเครื่องโรตารี่มันทำได้อยู่แล้ว ของที่ใส่ไปก็เตรียมขยับได้เลยถ้าทุกอย่างพร้อม (เทอร์โบก็พร้อมแล้วแน่ๆ) ฟีลลิ่งเครื่อง Rotary รอบต่ำไม่ค่อยมีแรงบิดครับ ต้องไหลๆ ได้รอบยาวๆ คราวนี้ดึงต่อเนื่องเลย มันส์ดีครับในบอดี้เบาๆ แบบนี้ อนาคตถ้าจัดเต็มก็ต้องเพิ่มความแข็งแรงของตัวรถและช่วงล่างให้มากกว่านี้ครับ ก็ต้องขอบคุณ “Project-V” ที่จัดการเรื่องวางเครื่องให้ผมครับ…

 

X-TRA Ordinary

สำหรับเทอร์โบแบบ “บอลแบริ่ง” เรื่องน้ำมันเครื่องสำคัญ ทั้งในด้านคุณสมบัติ และการคุมอุณหภูมิ จึงต้องมี “น้ำเลี้ยง” จากหม้อน้ำมาช่วย จริงๆ มันดี๊ดีครับ ลื่น ติดบูสต์ไว ใช้รอบน้อยลงก็บูสต์แล้ว และจังหวะการหมุนกวักลม (Spool) แต่ก็ต้องระวังหน่อย โดยเฉพาะพวก “ปุ้งปั้ง” ประเภท “ตดตลอดทาง” ทำให้เกิดความร้อนที่เทอร์โบสูงกว่าปกติ หน้าแปลนท่อน้ำมันเลี้ยงแกนเลยรั่ว ระวังหน่อยก็ดีครับ…

 

ขอขอบคุณ

 

TECH SPEC
ภายนอก
กระจังหน้า : Carbon Custom Made

ภายใน
ปรับบูสต์ : GReddy Profec Color
คันเกียร์ : K-TUNED
หัวเกียร์ : K-TUNED

เครื่องยนต์
รุ่น : 13B-REW from SAVANNA FC3S
พอร์ต : Modified from Japan
เทอร์โบ : GARRETT GT45
เฮดเดอร์ : JO-MO-GAS
โบล์วออฟวาล์ว : TIAL
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
หัวฉีด : 840 CC.
หัวเทียน : HKS
สายหัวเทียน : RE AMEMIYA
หม้อน้ำ : PORSCHE CARRERA
กล่อง ECU : HKS F-Con V PRO Version 3.3

ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : 3S-GE
อแดปเตอร์หัวหมู : กาหลง เนตรเดชา
คลัตช์ : OS Giken
เฟืองท้าย : อัตราทด 4.3
เพลาข้าง : Modified by PROJECT-V

ช่วงล่าง
โช้คอัพ : RS-R BEST 1
Traction Bar : BRD
ล้อ : VOLK TE37 ขนาด 7 x 15 นิ้ว
ยาง : YOKOHAMA NEOVA AD08 ขนาด 195/50R15