CELICA XX (GA61) WIDEBODY 2JZ-GTE STREET USE DRAG STYLE

 

เรื่อง พงศ์พล จันทรัคคะ, อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ ทวีวัฒน์ วิลารูป

CELICA XX (GA61) WIDEBODY

2JZ-GTE MITSUBISHI TF08 TURBO + HKS F-CON V PRO

817 WHP BY PROJECT-V

จับ  RETRO CAR  มาตกแต่งในสไตล์รถแดร็ก แต่หลายคนยังงงว่ามันเป็นรุ่นอะไร  เวอร์ชั่นไหน? ที่เราพูดถึงในฉบับนี้ก็คือรถ “CELICA XX” (อ่านว่า ดับเบิล X ) ที่มีจำหน่ายในญี่ปุ่น แต่ถ้ารุ่นที่ส่งไปขายนอกประเทศแถวยุโรป โซนอเมริกาจะเรียกรถรุ่นนี้ว่า “CELICA SUPRA” ที่มี  PLATFORM เดียวกันกับ CELICA XX  และ CELICA GT-S  แต่โซนยุโรปเรียกว่า CELICA SUPRA ก็เพราะยกระบบให้เหนือ หรือพิเศษกว่ารุ่น CELICA ธรรมดา ๆ ทั่วไป โดยส่วนประกอบบางอย่างที่แตกกันบ้าง อาทิ เครื่องยนต์และออปชั่นบางอย่าง ในอเมริกาเหนือจะมี 2 เวอร์ชั่นให้เลือก คือ PERFORMANCE TYPE (P-TYPE) และ LUXURY TYPE (L-TYPE) ซึ่งในส่วนประกอบของเครื่องยนต์ก็จะเหมือนกัน จะแตกต่างกันที่ขนาดยาง  ขนาดแม็ก และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน และภายนอกบางอย่างที่แตกต่างกันตามปีที่ผลิต ส่วนในรุ่น P-TYPE บังโคลนล้อ หรือโป่งล้อจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า ทำด้วยไฟเบอร์กลาส ล้อของรุ่นนี้จะมีขนาด 14 x 7 นิ้ว แต่ถ้าเป็นรุ่น L-TYPE จะมีขนาด 14 x 5.5 นิ้ว

หลังจากนั้นในปี 1985 ได้เปลี่ยนล้อในรุ่น P-TYPE ให้ใหญ่ขึ้น เป็น 15 x 6 นิ้ว  ส่วน L-TYPE จะมีออปชั่นใหม่ คือเรือนไมล์แบบดิจิตอล ส่วนเครื่องยนต์จะเป็นเครื่องยนต์ 6 สูบ รหัส 5M-GE DOHC ที่มีแรงม้าแตกต่างกันตามแต่ละประเทศ ในอเมริกาจะเริ่มต้นที่ 174 แรงม้า ในรุ่นปี 1982-1983 ส่วน 178 แรงม้า จะเป็นปี 1984-1986 เยอรมันและนิวซีแลนด์ จะมีแรงม้า 178 แรงม้า ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน จะเป็นเครื่อง 5M-E SOHC 138 แรงม้า ส่วนญี่ปุ่นจะมีเครื่องยนต์ 1G-GE 160 แรงม้า ในบอดี้ GA61 และเครื่องยนต์ M-TE 160 แรงม้า รหัสบอดี้ MA63 เครื่องยนต์ 5M-GE 160 แรงม้า รหัสบอดี้ MA61 ส่วนระบบส่งกำลังมีทั้งแบบออโตเมติก 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด นี่ก็เป็นข้อมูลบางส่วนที่เราสืบค้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้วจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ ไว้วันหน้าเราจะลงให้เต็มที่ในคอลัมน์ RETRO CAR แล้วกันนะครับ หากเจอรถสภาพสวย ๆ แห้ง ๆ แต่สำหรับ CELICA XX เจเนอเรชั่นที่ 2 หรือที่แถบยุโรปจะเรียกว่า Mk II นับวันยิ่งหาคนเล่นยากในรูปแบบ RETRO CAR ของครบ แต่สำหรับสำนัก PROJECT-V ไม่ได้เน้นในแนว RETRO CAR แต่จะเน้นในแนว STREET DRAG STYLE พร้อมเครื่องหกสูบกว่า 817+ แรงม้า

 

ภายนอก BONNET + DOOR PANEL CARBON + WIDEBODY KIT

ด้วยน้ำหนักตัวรถของ TOYOTA CELICA XX  (GA61) กว่าตันกลาง ๆ เป็นภาระให้ระบบพละกำลัง และระบบส่งกำลังต้องทำงานหนัก หากจะเอามาเป็นรถแข่งด้วยแล้ว ต้องการลดน้ำหนักลงบ้างบางส่วน แต่ยังต้องใช้งานบนถนนได้ด้วย คือ แอร์เย็น อุปกรณ์รอบนอกยังคงเดิมครบทุกชิ้น สำหรับส่วนที่ลดน้ำหนักลงไปได้บ้าง ก็จะมีฝากระโปรงหน้า  BONNET, ประตู DOOR PANEL ทำด้วย CARBONFIBER จาก AKANA CARBON WIZARD จากนั้นนำรถเข้าอู่สีทวีสุขธนยนต์ แถว ๆ วงเวียนพระราม 5 เพื่อทำการออกแบบ WIDEBODY ใหม่ พร้อมทั้งสเกิร์ตหน้า สเกิร์ตข้าง ด้วยวัสดุเหล็กตีขึ้นรูป งานนี้ต้องใช้ฝีมือกันหน่อย สำหรับ FRONT WIDE FENDER มีขนาด 5 นิ้ว ส่วน REAR WIDE FENDER ขนาด 7 นิ้ว ส่วนสปอยเลอร์ด้านหลัง บนฝาท้าย ในรุ่นปี 1985 จะเป็นแบบ 2 ชิ้นอย่างที่เห็น คือ ROOF SPOILER และ REAR TRUNK ส่วนด้านบนหลังคาเป็นออปชั่นเสริม ที่มีซันรูฟเพิ่มความเป็นสปอร์ตมาให้ ไฟคู่หน้าแบบ POP-UP

ภายใน ลดน้ำหนัก เพิ่มความแข็งแรง

สไตล์รถบ้านแอร์เย็น พร้อมแข่ง

ภายในก็เหมือน ๆ กับรถบ้านที่ใช้แข่งทางตรงคันอื่น ๆ โดยการลดน้ำหนักบางส่วนลงไปบ้าง เสริมความแข็งแรงด้วยโรลบาร์แบบ 6 จุด คอนโซลหน้ายกเอาของ SUPRA JZA-70 มาใส่แทน พวงมาลัยแบบสามก้าน OMP เบาะฝั่งคนขับ BRIDE รุ่น ZETA III พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบ 4 จุด จาก SIMPSON นอกจากนั้นยังมีเกจ์วัดหลายตัว เริ่มจาก วัดบูสต์  SARD วัดรอบ PIVOT วัดแรงดันน้ำมันเครื่องและวัดอุณหภูมิน้ำจาก LAMCO วัดแรงดันน้ำมันเครื่อง และแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง จาก OMORI ปรับบูสต์ไฟฟ้า GReddy PROFEC B SPEC II และ HKS F-CON NAVIGATOR

 

เครื่องยนต์ 2JZ-GTE

MITSUBISHI TF08 TURBO

HKS F-CON V PRO 3.24 VERSION

ย้อนกลับไปดูที่เครื่องยนต์เดิมของ GA61 คันนี้ เป็นเครื่องยนต์รหัส 1G-GE 160 แรงม้า แต่เครื่องตัวใหม่ ใช้ของ 2JZ-GTE เป็นผลงานของพี่วี  เจ้าของอู่ที่ทำเองทุกอย่าง ไส้ในท่อนบน เปลี่ยนรีเทนเนอร์วาล์ว สปริงวาล์ว เป็นของ BC แคมชาฟท์ไอดี-ไอเสีย HKS ขนาด 280 องศา ลิฟต์ 9.3 มม. พร้อมตัวปรับเฟืองแคมสไลด์ FIDANZA ปะเก็นฝาสูบขนาด 1.6 มม. จาก HKS ส่วนท่อนล่าง ขยายลูกสูบมาใช้ขนาด 86.5 มม. จาก CP PISTON ก้านสูบ EAGLE แบบ I-BEAM แบริ่งชาฟท์ทั้งหมดเป็นของ ACL แล้วนำข้อเหวี่ยงเดิมไปบาลานซ์เพื่อความเสถียร พร้อมนำอ่างน้ำมันเครื่องไปขยายความจุน้ำมันได้มากถึง 7 ลิตร ต่อจากนั้น มาที่ระบบอัดอากาศ ครั้งก่อนเคยใช้เทอร์โบ GReddy T88-38GK แต่มีอันพังไปซะ ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้เทอร์โบของ MITSUBISHI TF08 แก้ขัดไปก่อน พร้อมเฮดเดอร์สเตนเลส จาก อาคมการช่าง คุมบูสต์ 2 บาร์ ด้วยเวสต์เกตแยกของ GReddy TYPE R ท่อทางเดินไอเสียของ SKYLINE R32 นำมาดัดแปลงเข้าชุดกับหม้อพักใบสุดท้ายจาก NITTO

 

ระบบไอดีขยายท่อทางเดินใหม่หมด พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ความหนา 4 นิ้ว จากร้านสหยนต์ ราชบุรี ท่อร่วมไอดีจาก GReddy พร้อมขยายหน้าแปลนให้กับปีกผีเสื้อจาก VH45DE ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงใช้น้ำมันออกเทน 100 ในการแข่ง หัวฉีดขนาด 1,600 ซี.ซี. ของ PRECISION รางหัวฉีด HKS พร้อมตัวปรับแรงดันจาก FSE ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง TORSER 044 GT SPEC x 3 ตัว ถังน้ำมันสร้างใหม่ ขนาด 24 ลิตร ย้ายมาไว้ด้านหลังของห้องโดยสาร ส่วนระบบไฟจุดระเบิด เปลี่ยนคอยล์ใหม่และสายหัวเทียนเป็น ULTRA พร้อมชุดเพิ่มกำลังไฟ AEM รุ่น TWIN FIRE หัวเทียน NGK เบอร์ 9 และกล่องควบคุมจาก HKS F-CON V PRO เวอร์ชั่น 3.24 จูนโดย อุบ วายริ่ง ส่วนระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์ธรรมดา 1JZ-GTE แบบ 5 สปีด ชุดคลัตช์ OS GIKEN แบบ TRIPLE PLATE ชุดเพลาท้ายและเพลาข้าง ใช้ของ SKYLINE GT-R  อัตราทด 4.1 ลิมิเต็ดสลิปของ NISMO GT-PRO

 

Max Power : 817.06 PS @ 7,200 rpm

Max Torque : 84.25 Kg.-m. @ 6,600 rpm

Dynamometer : STRYDER

บรรยายกราฟ โดย พี สี่ภาค…สำหรับ “พลัง” ของรถคันนี้ ก็จัดว่าอยู่ในขั้นที่เยอะอยู่ เพราะมีค่าแรงม้า “ลงพื้น” ระดับ 800 ++  ก็เป็นสเต็ปที่พอเพียงกับการวิ่งเลขตัวเดียว ถ้าแรงกว่านี้อาจจะขับยากเกินไปก็ได้ สำหรับลักษณะของกราฟ ก็จะเซ็ตไว้วิ่งในโซน 6,000-8,000 รอบ ที่มีแรงม้าอยู่ในระดับ 700-800 PS สำหรับแรงบิด ก็อยู่ในเกณฑ์ “เยอะ” และมาในรอบไม่สูงนัก มีให้ใช้เต็ม ๆ ตั้งแต่ 6,000-7,200 รอบ ตามนิสัยเครื่อง 2JZ ที่มีความจุมาก เลยเรียกแรงบิดมาได้เร็ว แต่ถ้าถามถึง Power Band ก็ไม่ถือว่ากว้างนัก ซึ่งการแข่งควอเตอร์ไมล์ ก็จะใช้รอบสูงเพียงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อยู่แล้ว ถ้า Power Band แบบนี้ ก็ต้องหาเกียร์ที่มีอัตราทดชิดหน่อย ประคองรอบไว้ไม่ต่ำกว่า 6,000 รอบ ก็จะไปได้ดี…ส่วนเวลาควอเตอร์ไมล์ดีที่สุด 10.04 วินาที 60 ฟุต 1.6 วินาที ช่วงล่างกำลังเซ็ตใหม่ให้ดีขึ้น เพื่อให้ระยะ 60 ฟุตแรกนั้น ทำเวลาให้น้อยกว่านี้ กับน้ำหนักรถอยู่ที่ 1,350 กิโลกรัม

 

ช่วงล่าง TEIN TYPE FLEX

เบรก AP RACING ล้อ W WORK รุ่น EQUIP

ระบบการทำงานของช่วงล่าง ด้านหน้าจะเป็นแบบแม็คเฟอร์สัน สตรัท ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบอิสระ เปลี่ยนโช้คให้เหมาะกับถนนและพื้นแทร็กด้วย TEIN รุ่น TYPE FLEX เหล็กกันโคลงตรงรุ่นจาก ARC และ MIRACLE CROSS BAR & STRUT BAR ระบบเบรกคู่หน้าจาก AP RACING ขนาด 4 pot จานดิสก์เบรกขนาด 320 มม. ส่วนระบบเบรกหลังเป็นของ SKYLINE GT-R ชุดล็อกเบรกสำหรับเบิร์นยาง JEG’S และร่มช่วยเบรก SIMPSON พร้อมด้วยล้อสำหรับการใช้งานบนถนนด้วย W WORK รุ่น EQUIP ขนาด 18 x 10 นิ้ว และ 18 x 12 นิ้ว ยาง  NITTO EXTREME ZR ขนาด 235/40ZR18 และ 275/40ZR18 ส่วนเวลาแข่งจะใช้ยาง HOOSIER DRAG RADIAL ขนาด 275/50-15

ขอขอบคุณ พี่วี เจ้าของรถ เจ้าของอู่ PROJECT-V ที่สละเวลามาร่วมถ่ายทำคอลัมน์ อู่ PROJECT-V โทร. 08-1668-0081

 

X-TRA ORDINARY

TOYOTA CELICA XX รุ่นนี้ จะเป็นรุ่นที่ขายในประเทศญี่ปุ่น JAPANESE DOMESTIC MARKET เท่านั้น ส่วนรุ่นที่ส่งออกขายต่างประเทศก็ใช้ชื่อรุ่นว่า CELICA SUPRA (Mk II) เป็นเวอร์ชั่นที่สองของรถตระกูล TOYOTA SUPRA ที่ผลิตขึ้นในช่วงปี 1982-1986 โดยมีรหัสตัวถัง GA และ MA