qReturn to Retro
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้ออออออออ
โคจรมาพบกันอีกแล้ว สำหรับ “ช้างเหยียบ” หรือ DATSUN 1300 Pickup ยอดนิยม Retro สายกระบะบ้านเรา ที่รถยังสามารถหาได้ไม่ยากนัก และพอมีอะไหล่แพร่หลายในกลุ่มคนเล่น ซึ่งเป็นการหนีความจำเจจากรถเก๋งมาเล่นกระบะกัน สำหรับที่เคยนำเสนอไป จะเป็นเหล่า “ช้างเหยียบหัวใจซิ่ง” กันหลายคัน คันสุดท้ายก็ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมากจะนิยมทำซิ่ง เปลี่ยนเครื่องเป็น SR20DET แรงๆ เพราะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับห้องเครื่องของ “ช้างเหยียบ” อยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีคน “คิดต่าง” กันบ้าง บางทีการทำอะไรเหมือนๆ กัน มันก็ไม่เกิด “ธรรมดาโลกไม่จำ” เมื่อมี “ความเพี้ยน” จึงทำให้เกิด “ความมันส์” จนมาให้บรรจบกันที่คอลัมน์นี้จนได้…
- ท่อชี้ฟ้าแนว “โบโซ” ขอกวน Teen หน่อย
- โลโก DATSUN Pickup พร้อมแถบสี “แดง ฟ้า” พร้อมโลโก “ช่อมะกอก” ฉลองครบรอบ 50 ปี NISSAN อันนี้ในเมืองไทยเคยมีขายครับ
- กระจังแว่น เอกลักษณ์ 620 ไฟเลี้ยวแดง USDM กันชนใหม่กริ๊บ
- กันสาด “เพนกวิน” งานเก่า
- ใบปัดน้ำฝนโครเมียม พร้อมปีก “เพนกวิน” ของแต่งยอดนิยมรถยุคนั้น ซึ่งเพิ่มแรงกดปัดน้ำฝนให้แนบกับกระจก เวลาใช้ความเร็ว เวลาฝนตก
ผมกำลังพูดถึง Chang Yeahhh คันนี้ ซึ่งเป็นรถที่ปั้นขึ้นมาใหม่ของ “คุณเอ” เจ้าของ “ช้างเบิ้ม Car Wash” ย่านถนนเลี่ยงเมืองสามัคคี ที่เน้นไอเดียประหลาดๆ ด้วยการ “ยัดหอยให้พี่ช้าง” แต่ไอ้ที่แปลกก็จะเป็นเครื่องแนว “ย้อนยุค” อย่าง A Series ที่อยู่ใน SUNNY และเซตกันให้ “ตื๊ดดด” เรียกว่าได้ “งานแปลก” และการแต่งสไตล์ “อเมริกัน” ด้วยอะไหล่ของ USDM มา Mix & Match ใหม่ สไตล์ “ตามใจกู” บางอย่างอาจจะไม่ต้องเดิม เน้นแนว Custom ก็เป็นไอเดียของแต่ละคน ที่จะสรรค์สร้างออกมาสะท้อนจินตนาการของตัวเอง ซึ่งคันนี้ “ชนะเลิศ” การประกวดรถรุ่น Retro Racing ของรายการ I AM BANGKOK 2018 ที่ศูนย์การค้า ZPELL รังสิต ที่ผ่านมา เมื่อต้นปี…
- เลาะขอ ปิดโป๊ฝาท้าย เปลี่ยนไฟท้าย สไตล์อเมริกัน
- ล้อ RAGUNA ขนาด 10 x 15 นิ้ว นอตล้อสไตล์ OSAKA แบรนด์ 326 POWER เบรกหน้า BIG M
- สวยจริงๆ ต้องยิงไว้สักรูป ทับทิมท้ายสไตล์ USDM ช่วงล่างใช้โช้คอัพ ESK แบรนด์ไทย ดัดแหนบ เพลาท้าย VIGO เบรกหลัง ISUZU Mu ชุดโป่งล้อ My Design ซึ่งออกแบบกันเองตามความชอบ
- เอกลักษณ์ของ 620 ที่หายไปไม่ได้ “รุ่นใครรุ่นมัน”
Short Story of 620 (แบบอิง “อะ-เม-กา” หน่อยๆ)
– เกิดขึ้นปี 1972 โดยมี “ช่วงสั้น 4 ขอ” หรือ Regular Bed กับ “ช่วงยาว 5 ขอ” หรือ Long Bed ให้เลือก ซึ่งในตลาดบางประเทศก็จะเป็นแนวๆ “มีเฉพาะหัวเก๋ง” ด้านหลังเปลือย ก็แล้วแต่ว่าจะเอาไปต่อทำอะไร โดยมากฝรั่งจะนิยมทำกระบะแบบ Flat Deck คงเคยเห็นกันมั้ง ที่เป็น “กระบะพื้นเรียบ” ซึ่งยกพื้นให้พ้นแนวซุ้มล้อ ทำให้สามารถวางของได้เต็มพื้นที่ (ซึ่งกระบะปกติจะมีซุ้มล้อทำให้วางของได้ไม่เต็มพื้นที่) แล้วก็เป็นขอบกระบะแบบ “เปิดได้โล่งๆ เพื่อยกของขึ้นลงได้ทุกด้าน…
– ปี 1977 ก็ได้เกิดรุ่น “King Cab” ออกมา ซึ่งเป็นลักษณะของการทำห้องโดยสารให้ “ยาว” ขึ้น เพื่อที่จะใส่เบาะให้คนนั่งได้ มันก็คงนั่งไม่สบายหรอก แต่ในระยะไม่ยาวนักก็คงพอพึ่งได้ (ถ้าจำเป็น) ซึ่ง King Cab นั้น เป็นชื่อทางการค้าสากลของ DATSUN/NISSAN ในการทำหัวแค็บแบบนี้ เราจะเริ่มรู้จักกันจริงๆ ก็คือ BIG M King Cab นั่นเอง ส่วนในญี่ปุ่นเองจะเรียกว่า Custom ซึ่งจะใช้ “ใบกระบะ” ช่วงสั้น แต่วางบน Chassis ของช่วงยาว ซึ่งหัวเก๋งจะขยายยาวขึ้นประมาณ 10 นิ้ว เอาจริงๆ ก็คงอาศัยวางของ นั่งแค็บได้คนเดียวแบบขวางๆ ก็จะทรมานน้อยหน่อย…
– ในญี่ปุ่นและโซนเอเชีย จะใช้เครื่องเบนซิน J13 และ J15 ส่วนในอเมริกา เครื่อง J มันเล็กเกินไป เลยต้องใช้เครื่องใหญ่กว่าสไตล์อเมริกันนิยม เพราะต้องเผื่อไว้ “ลากรถ” โดยมากก็พวก Motor Home และสัมภารกบ้าหอบฟางทั้งหลาย เดินทางไกลๆ สไตล์เขาล่ะ เครื่องที่ใช้ คือ L Series ตั้งแต่ L16 ใช้ในรถปี 1972-73 ส่วน 1974 ขยับมาเป็น L18 และปี 1975-79 ก็จัดเต็มด้วยเครื่องยนต์ L20B 4 สูบ 2.0 ลิตร บ้านเราจะคุ้นเคยกัน เพราะอยู่ใน BLUEBIRD U910 SSS ก็จะวิ่งดี ขับสนุก เรี่ยวแรง 110 hp SAE Gross แต่เหลือเพียง 97 hp SAE Net แต่พอเอาไปใส่กับ SKYLINE GT-X BJR30 รถ “สยามกลการ” แล้วมัน “อืดดด” อาจจะเพราะตัวรถที่หนักกว่า BLUEBIRD อยู่เกือบๆ 200 กก. !!! ซึ่งใส่มาเพื่อลดต้นทุนนั่นแหละ ในสมัยนั้น ใครอยากแรงก็จัด FJ20ET หรือ L20ET เข้าไปก็แล้วกัน ซึ่ง L20B ที่ขายในอเมริกา จะมี EGR ลดมลพิษ ตามกฎหมายบังคับของ California ที่เข้มงวดที่สุด…
– ส่วนเครื่องดีเซล ก็จะเป็นบล็อก SD22 2.2 ลิตร ในตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีในรุ่น 620 จะมารู้จักกันดีก็ใน 720 “Professional D” รุ่นถัดมานั่นเอง…
– ปี 1977 ก็มี Optional ต่างๆ เช่น “เกียร์ออโต้ 3 สปีด” แบบ “ด้ามเกียร์คอ” สุดคลาสสิก ปี 1978 มี “ดิสก์เบรกหน้า” และ “ระบบจุดระเบิดแบบ Electronic” ประมาณนี้ครับ…
- ภายในคลีนๆ พวงมาลัยแบบนี้ที่เคยเห็นก็อยู่ในตระกูล DATSUN BLUEBIRD 160J (และรุ่นอื่นๆ ที่ใกล้เคียง)
- เบาะ “ตอนเดียว” หรือ “โซฟา” หุ้มแดงตัดกับสีขาวของตัวรถ
- รถเก่ามันเท่ที่ “หูช้าง” นี่แหละ
- ไปหา “วัดรอบตรงรุ่น” มาใส่จนได้ ปกติจะเป็นฝาปิดโลโก DATSUN ก็เท่ไปอีกแบบนะ
- วิทยุซิ่งยุค 70 ก็ต้อง ROADSTAR สิครับ
- ของหายาก “ชั้นวางของด้านซ้าย” อันนี้เจ้าของรถบอก “เบิกใหม่” มาเลย ปกติจะไม่มีครับ
ก็แค่ “รถส่งโต๊ะจีน” สู่ “เน็ตไอดอล”
สำหรับ “คุณเอ” เจ้าของรถ ก็ได้เล่าถึง “ที่มา” ของคันนี้ และ “ที่ไป” ว่ามัน “เป็นยังงี้ได้ยังไง” ฟังแล้วก็ “ฮาปนโฮ” ดีเหมือนกันนะ “จริงๆ แล้ว ผมเองก็ชอบแต่งรถ Retro แต่ไม่ได้อยากจะเล่นช้างเหยียบเลยนะ พอดีผมซื้อคันนี้มาเพื่อใช้วิ่งงาน “โต๊ะจีน” ก็เป็นรถส่งกับข้าว ส่งน้ำ น้ำแข็ง อะไรพวกนี้แหละ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่พอ “คอยล์พัง” หาอะไหล่ไม่ได้ เลยต้องตระเวนหาอู่แนวๆ นี้ซ่อม ไปๆ มาๆ ก็เขยิบมาเป็น WEBER พอลองศึกษากระแส Retro ดู เออ เรามีรถอยู่แล้วก็น่าสนใจนี่หว่า ส่วนตัวชอบการแต่ง Custom สไตล์อเมริกัน เลยลองเดินทางนี้ดู ปรากฏว่า มันไม่ราบรื่นเหมือนที่คิดไว้ตั้งแต่แรก เอาเครื่องไปทำที่ต่างๆ ก็หมดเป็นแสน งานไม่จบ รู้สึกท้อเหมือนกันนะ แต่พอดีไปรู้จัก ช่างแบงค์ จะทำพวก Big Bike จึงสามารถ “จูนคาร์บูเรเตอร์” ได้ เลยให้ทำเครื่อง ไส้ในพวก ลูกสูบ ก้านสูบ ก็เอาของ ISUZU 120 ซึ่งเป็นเครื่องรถบรรทุกเล็กมาใส่ ต้องหาวิธีแปลงกัน ก็ทำมาจนได้ พวกท่ออินเตอร์ เฮดเดอร์ ก็ให้ น้าเปี๊ยก THUNDER เจ้าเก่า ทำให้ ซึ่งปกติแกจะไม่ค่อยรับงาน ถ้าคุยกันไม่ลงตัว คือ ไม่ทำเลย คันนี้ใช้เวลาเกือบเดือนถึงจะขึ้นเทอร์โบและเดินท่อได้ เพราะต้องดูตำแหน่งดีๆ มันไม่ง่ายเหมือนเครื่องทั่วๆ ไป จนประสบความสำเร็จซะที ออกมาก็ถูกใจเลย เรียกว่าพอจะสนุกกับรถรุ่นใหม่ๆ ได้บ้างเหมือนกันนะ” เรียกว่าต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายจริงๆ ให้เครดิตคนที่ทำรถคันนี้ตามรายการข้างล่างเลยครับ…
-ฟ้าเจริญยางยนต์
– ช่างแบงค์ โมดิฟายเครื่อง
-น้าเปี๊ยก Thunder Performance วัดสลักเหนือ
-เสี่ยยุ้ย 510_Wheels 2 Hand อุบลฯ
-DATSUD CHAI
-ช้างเบิ้ม Car Wash (เลี่ยงเมืองสามัคคี)
-เดิมจ๋า Car Style 620
-DAIKO BRIGHT ทำบอดี้
- A15 เซตโบ โมฯ ไส้ ISUZU “ทำไปได้” งานท่องามๆ จาก “น้าเปี๊ยก ธันเดอร์” ช่างท่อซิ่งเจ้าเก่าชื่อดังของวัยรุ่นยุค 90 หม้อน้ำอะลูมิเนียม จาก “วรวิทย์” ส่วนเกียร์เป็น Dog Leg เกียร์ 1 ตบลงแทนเกียร์ 2 ส่วนเกียร์ถอยอยู่ตำแหน่งเกียร์ 1 ปกติ
- เทอร์โบจากเครื่อง TOYOTA 7M-GTE มารีดตูดให้เหมาะสมกับเครื่อง เฮดเดอร์สูตร “น้าเปี๊ยก ธันเดอร์” เทอร์โบอัดอากาศเข้าคาร์บูเรเตอร์ ที่ต้องปรับแต่งและจูนให้เป็น ไม่งั้นวิ่งไม่ได้
X-TRA ORDINARY
สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่อง A15 เพราะเครื่องตระกูล A ของ DATSUN จะอยู่ใน SUNNY ซึ่งมีการโมดิฟายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงมีของแต่งมาก ปัจจุบันก็ยังหาของแต่งได้สบายๆ (ถ้ามีตังค์) ส่วนเครื่อง J13 ติดรถ ไม่ค่อยจะมีอะไรนัก เพราะเป็นเครื่องใช้งาน ซึ่งเครื่อง A ก็จะมีตัว GX ซึ่งจะพิเศษกว่าตัวปกติ คือ “พอร์ตไข่ คาร์บูคู่” ที่เหนือกว่ารุ่นธรรมดา สำหรับต่อยอดโมดิฟายแข่งขัน และมีเกียร์ Dog Leg อัตราทดชิดกว่าปกติ นี่แหละความน่าเล่นของมัน…
XO AUTOSPORT ขอขอบคุณ
คุณเอ เจ้าของรถ
IMPACT SPEED PARK สถานที่ถ่ายทำ www.impactspeedpark.com