Combi Double Era : RX-3 first model replica swap 12A Turbo

19

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่  

“มาสด้ามาแล้ว” พร้อมคำเชิญชวน “เชิญท่านมาทาบ มาทดลองกันหน่อยเป็นไร เพื่อที่จะได้รู้ว่า มาสด้าใหม่ แจ่มแจ๋วกว่าใครทั้งปวง” บนหน้าโฆษณาของนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ปี 1972 ครั้งอดีต สมัยเล่มละ “ห้าบาท” ซึ่งทางบริษัท “กมลสุโกศล” หรือบางคนก็เรียกว่า “สุโกศลมาสด้า” (อยู่ตรงไหนคงไม่ต้องบอกนะครับ ถ้าเป็นแฟนคอลัมน์นี้จริงต้องรู้) ได้ป่าวประกาศศักดิ์ศรีของ MAZDA ทั้ง RX-3 และ 808 (ชื่อในญี่ปุ่น จะเรียก 808 ว่า Familia) ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้ มีทั้งแบบ 4 ประตู และ Coupe เพราะฉะนั้น RX-3 4 ประตู ก็ย่อม “เคยมีขายในเมืองไทย” แต่ด้วยความนิยมรถ 2 ประตู มากกว่า สำหรับคนที่ชอบรถสปอร์ต 4 ประตู จึงไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร แต่มาในตอนนี้ พวกรถเครื่องแรง รุ่นพิเศษ แบบ 4 ประตู ทั้งหลาย กลับกลายเป็น Rare Item เพราะมัน “หายาก” และ “น่าสนใจ” ไปอีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวผมเองก็ชอบแนว 4 ประตู แรงๆ นะ มัน “แปลกสะใจ” ดี จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับคันนี้หรอก เพียงแต่ “อยากแพ่ม” น่ะ…

First Model of RX-3 10A

                จุดเริ่มต้นของ RX-3 หรือ SAVANNA โดยมีสิ่งบ่งบอกต่อท้ายว่า GT ก็จะเกิดขึ้นในปี 1971 ด้วยรหัสตัวถัง S102 บ่งบอกว่าเป็น “ตัวแท้” โดยมีตัวถัง 3 แบบ คือ 4 ประตู Sedan, 2 ประตู Coupe และ 5 ประตู Station Wagon (ไอ้รุ่นหลังนี่เสียใจด้วย ในบ้านเราไม่มีขาย) สำหรับความแตกต่างของชื่อ RX-3 จะถูกเรียกกันเป็นสากล ส่วน SAVANNA จะเป็นชื่อเรียกในประเทศญี่ปุ่น ให้ลองสังเกตหน้าตากันดีๆ ในรุ่นแรก (Series I) หน้าตามันจะทู่ๆ หน่อย ไม่แหลมเหมือน Series I และ II  ซึ่งเราจะได้ดูในบรรยายภาพอีกทีเพื่อความชัดเจน เครื่องยนต์ Rotary รหัส 10A มีความจุอยู่ที่ 982 C.C. (491 x 2) เรี่ยวแรง 105 แรงม้า กับความเร็วตีนปลาย 200 km/h เชียวนะ แต่ถ้าเป็นสเป็กอเมริกา จะยกเครื่อง 12A ความจุ 1,146 C.C. (573 x 2) จาก RX-2 หรือ CAPELLA มาใส่แทน (ตามสไตล์อเมริกันชอบ “ของใหญ่”) ย้อนมาที่เครื่อง 10A สำหรับรุ่นปี 1972-1973 ด้านใน Housing จะมีการเคลือบแบบใหม่ เรียกว่า TCP หรือ Transplant Coating Process ที่พ่นเคลือบบนโลหะ ด้วยสารที่มีส่วนผสมของ Chrome ที่เป็นการชักเงาให้ผิวลื่น เพื่อลดความฝืด ลดเสียง ลดการสึกหรอ ซึ่งสมัยก่อนเครื่อง Rotary จะมีจุดอ่อนเรื่องนี้อยู่มาก ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน…

 

หน้านี้ หายากกกก 

                นายแบบประจำฉบับนี้ เป็นการจำแลงแปลงกายมาจาก 808 Coupe มาเป็น RX-3 GT Series I ซึ่งดูแปลกและไม่ซ้ำใคร (ส่วนมากที่เห็นจะเป็น Series 2) สำหรับการ Back Date ไปเป็น Series I ก็ต้องยอมรับว่า “ยาก” อยู่เหมือนกัน สิ่งที่ “แพง” และ “หายาก” ก็จะเป็นส่วนของ “ด้านหน้า” ทั้งหมด ของแท้ยกหน้าอยู่ที่ประมาณ “แสนกว่าบาท” ส่วนของ Re-product อยู่ประมาณ “เจ็ดหมื่น” ไอ้ที่แพงเพราะเสน่ห์ของ RX-3 มันอยู่ที่ “หน้ากระจัง” ไอ้นี่แพงสุดๆ และมันก็ “สวยสุดๆ” เลยเหมือนกัน (ยกเว้น Series 3 ที่ดูโล้นๆ ไปหน่อย) ก็เป็นเรื่องแปลกปนไม่แปลก สำหรับเสน่ห์ของ RX-3 ที่ยากจะลืม แต่ก็ต้อง “ยอมแลก” กันหน่อย สำหรับรถคันนี้เป็นของลูกค้าที่ “เข้าขั้น” ขนาดหนัก มีรถเครื่อง Rotary รุ่นต่างๆ ในครอบครองถึง “ครึ่งโหล” ผ่านฝีมือการปั้นของ “พี่ปรีชา” เป็นอู่ที่เน้นทำ RX-3 เป็นพิเศษ คันนี้เป็นสไตล์ “ผสานความแรงสองยุค” ด้วยการเอาเครื่อง RX-7 Turbo “ข้าวโพด” รหัส SA22C มาใส่แบบครบๆ ที่ยังแรงและคงความเป็น RX Series อยู่เหมือนเดิม…

 

รถเก่า “ใต้สะดือ” ยิ่งสำคัญ

เรื่อง “ใต้สะดือ” หรือ “ช่วงล่าง” ของรถเก่าที่ต้องการพัฒนาสมรรถภาพ (เหมือนคนนั่นแหละ) คันนี้ทำใหม่โดยการเปลี่ยนแพหน้าเป็นของ RX-7 (FC3S) ทั้งหมด เพื่อความแข็งแรง และสามารถหาของแต่งใส่ได้ง่ายกว่า และใช้แร็คพวงมาลัยของ TOYOTA CORONA EXSIOR (ST/AT 191) เพราะเป็นแบบ “แร็คหลังคาน” ทำไมไม่ใช้แร็คของ RX-7 FC3S เนื่องจากว่าระยะแกนพวงมาลัยของ RX-3/808 มันไม่ได้กับแร็คของ RX-7 ที่อยู่ด้านหน้าคาน ก็เลยต้องหาแร็คหลังคานมาใช้ ก็ต้องดูเรื่องของ “ระยะแขนแร็ค” ว่า “ขนานและความยาวพอเหมาะกับปีกนกหรือไม่” ถ้าไม่เหมาะกัน จะเกิดอาการ Bump Steer หรือ “ช่วงล่างยุบแล้วรถเลี้ยวเอง” จะทำให้เกิดอันตรายได้ครับ…

 

Special Thanks : ช่างปรีชา รับ Restoration MAZDA RX-3 และ Retro car อื่นๆ Tel. 08-7073-4345

X-TRA Ordinary

MAZDA RX-3 กับเรื่องราวของการแข่งขัน เป็นที่รู้กันอยู่ว่าสกัดคู่แข่งอย่าง NISSAN SKYLINE 2000 GT-R (KPGC10) ในรายการ Japanese Grand Prix 1972 ไม่ให้ชนะ 50 ครั้งติดต่อกัน สำหรับผลงานการแข่งขันแบบขึ้น “โพเดียม” จากประเทศอื่นๆ ก็มีนะครับ เช่น ออสเตรเลีย รายการ Bathurst 1000 หรือ รายการ SCCA/IMSA ของอเมริกา ที่มีชื่อเสียงก็จะเป็น RX-3 ที่ได้ฝีมือนักขับชาวไอริช John Cummins ควบแชมป์รุ่น Super Production ซึ่งคนนี้ก็ “บ้าโรฯ” เข้าขั้นเหมือนกัน มี MAZDA RX-3 และ RX-7 ตัวแข่ง GT Class ในครอบครองหลายคัน ส่วนในเมืองไทย คุณลืมคนนี้ไปหรือเปล่า “อาสุขุม เผ่าจินดา” หรือ “สุขุม โรตารี่” ที่เป็นตำนาน Rotary ที่ใช้ RX-3 ทำแข่ง โป่งยักษ์ ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในสมัยนั้น…

ข้อมูลบางส่วน : www.wikipedia.org, www.thevrl.com/profile/JohnCummins

 

Tech Spec

ภายนอก

สปอยเลอร์หน้า : GT Look โดย ช่างปรีชา

สปอยเลอร์หลัง : Rubber Mold from Japan

ฝากระโปรงหน้า-หลัง : Hand Build Carbon Fiber from Japan

โป่งล้อ : Custom Made โดย ช่างปรีชา

 

ภายใน

เกจ์ : HKS

วัดรอบ : PIVOT

เบาะ : Retro Style Bucket Seat

เข็มขัด : Sabelt

โรลบาร์ : Custom Made โดย ช่างปรีชา

 

เครื่องยนต์

รุ่น : 12A Turbo from RX-7 SA22C

โบล์ว ออฟ วาล์ว : SARD

 

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : 13B Turbo from RX-7 FC3S

เฟืองท้าย : TOYOTA AE86

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า : CUSCO RX-7 FC3S

โช้คอัพหลัง : MAZDASPEED RX-7 FC3S

แหนบหลัง : MAZDA RX-3

ล้อหน้า-หลัง : SSR Formula Mesh ขนาด 10 x 15 นิ้ว และ 11 x 15 นิ้ว

ยางหน้า : HANKOOK VENTUS R-S3 ขนาด 225/45R15

ยางหลัง : YOKOHAMA ADVAN A050 ขนาด 225/50R15

เบรกหน้า : RX-7 FC3S