Corolla : the Third Generation 1974-1979

 

ช่วงเวลาของการแนะนำโมเดลรถในเจนเนอเรชั่นนี้อาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาค

รหัสรถยนต์ “สาม-ศูนย์”

หัวหน้าทีมพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สาม

ชิโร่ ซาซากิ

ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง: 1971 – 1979

ชิโร่ ซาซากิ เข้าทำงานกับโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ในปี ค.ศ. 1949 ในส่วนงานวิศวกรรมทั่วไปของฝ่ายวิศวกรรม โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานวิศวกรรมแชสซี หลังจากทำงานในฝ่ายนี้ได้ระยะหนึ่ง ซาซากิก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานพัฒนาระบบช่วงล่างด้านหลังของโตโยต้า คราวน์ (Crown) และพับบลิก้า (Publica) ในปี ค.ศ. 1963 ซาซากิย้ายไปอยู่ส่วนงานวางแผนผลิตภัณฑ์มีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาโคโรลล่าและรายงานตรงต่อ ฮาเซกาว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นแรกในขณะนั้น ต่อมา ซาซากิได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนฮาเซกาว่าในตำแหน่งหัวหน้าทีมวิศวกรปฏิบัติการเพื่อเริ่มโครงการโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สอง โดยฮาเซกาว่าได้รับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปในสายงานวางแผนผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1971 ซาซากิเป็นส่วนหนึ่งของทีมพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามอย่างเต็มรูปแบบในฐานะหัวหน้าทีมวิศวกร

[คำคม]

อย่ามุ่งมั่นที่จะเป็นนักเรียนดีเด่นในส่วนที่มีความเกี่ยวพันธ์กับต้นทุน

ถ้าคุณทำตามแผนงานต้นทุนเป๊ะๆ ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณจะจบลงด้วยผลิตภัณฑ์ราคาถูกไม่มีคุณภาพ รถยนต์เป็นสินค้าราคาแพงสำหรับลูกค้า ดังนั้น รถหรือ “ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า” ย่อมเป็นการซื้อที่มีความสุขแม้ว่าราคาจะสูงเกินไปเล็กน้อยก็ตาม

 

“โคโรลล่าคันนี้เป็นสุดยอดยนตรกรรมสำหรับครอบครัว” ตามที่ชิโร่ ซาซากิ หัวหน้าทีมพัฒนากล่าวไว้ โคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามได้รับการเปิดตัวด้วยจุดเด่นด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบายที่เทียบเท่ากับรถยนต์ในระดับที่สูงกว่า ในขณะที่ยังคงรักษาองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความเป็นรถยนต์ครอบครัวไว้ได้ ซึ่งก็คือประสิทธิภาพระดับสูงด้านความประหยัด รถรุ่นนี้ผ่านมาตรฐานการปล่อยมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาสังคมระดับโลก นอกจากนี้ รถรุ่นนี้ก็กลายมาเป็นรถโคโรลล่าที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกถึงข้อดีทางเทคนิคในระดับสูง โคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นรถที่ขายดีที่สุดทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการมีสมรรถนะที่เหนือชั้น คุณภาพและความเชื่อถือในตัวรถสูง รถรุ่นนี้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และได้รับการตอบรับอย่างดีด้วยตัวเลขส่งออกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่า 300,000 คันต่อปี ด้วยชื่อเสียงและคุณภาพที่รถมี รถรุ่นใหม่นี้จึงกลายเป็นตัวแทนสินค้าในระดับนานาชาติของญี่ปุ่น

ชิโร่ ซาซากิ หัวหน้าทีมพัฒนาโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม ครั้งหนึ่งเป็นผู้รับคำสั่งการพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สองโดยตรงจากทัตสึโอะ ฮาเซกาว่า และรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิศวกรในการพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สาม เมื่อเขาเริ่มวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามนั้น ซาซากิได้ทำการศึกษาโชกุน อิเอมิทสุ โทคุกาว่า ผู้สำเร็จราชการของตระกูลโทคุกาว่า (รัฐบาลศักดินา) ที่ทำการปกครองญี่ปุ่นในยุคเอโดะ (1603 – 1867) จากการศึกษา ซาซากิพบว่าอิเอมิทสุได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งไว้อย่างสมบูรณ์ให้กับตระกูลโทคุกาว่าซึ่งสร้างประวัติศาสตร์อันยาวนานไว้ถึง 300 ปี และด้วยข้อมูลที่ได้มานี้ ซาซากิจึงตัดสินใจสร้างโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามด้วยแนวคิด “อิเอมิทสุของโคโรลล่า” ที่จะช่วยสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับโคโรลล่า มากกว่าที่จะเป็นแค่คอนเซ็ปต์เก๋ ๆ เท่านั้น

ซาซากิเสนอไอเดียภายใต้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า “การเติมเต็มของเจนเนอเรชั่นที่สาม” เพื่อทำรถที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุก ๆ ด้านที่โมเดลก่อนหน้ามีอยู่แล้ว และเพื่อสร้างความภักดีต่อโคโรลล่าให้มีมากขึ้น

เริ่มแรก ทีมงานได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสมรรถนะการขับขี่ ฟังก์ชั่น ความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร และความเงียบ จากนั้น ความกว้างตัวรถได้รับการขยายให้กว้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงสไตล์ที่สามารถรับรู้ได้ถึงความใหม่ของโมเดล และภายในห้องโดยสารก็ได้รับการปรับปรุงให้ถ่ายทอดได้ถึงคุณภาพที่ดีขึ้น หลังจากนั้น ทีมงานก็ใช้ความพยายามในการปรับปรุงในส่วนต่างๆ ที่มีผลต่อความรู้สึก และเริ่มลงมือพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกและประสบการณ์ที่ผู้โดยสารจะได้รับเมื่อนั่งอยู่ในรถจริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ทีมงานต้องเจอกับเงื่อนไขที่เข้มงวดจากกฎระเบียบด้านการปล่อยมลภาวะ ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาสังคมอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นบทบัญญัติด้านอากาศปลอดมลพิษ “Muskie Act” มีผลบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกา และกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดเทียบเท่ากับ “Muskie Act” ก็ถูกนำมาปรับใช้ในญี่ปุ่นด้วย ด้วยเหตุนี้ รถยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกขาย เพื่อแก้ปัญหานี้โครงการขนาดใหญ่ระดับทั้งองค์กรจึงถูกริเริ่มขึ้น โดยมีการก่อตั้ง Higas hi-Fuji Technical Center ซึ่งเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการค้นคว้าเพื่อหามาตรการรับมือเกี่ยวกับก๊าซไอเสีย วิศวกร ซึ่งเบื้องต้นมาจากแผนกเครื่องยนต์ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จนในที่สุดระบบกรองก๊าซไอเสียที่อาศัยตัวเร่งปฏิกิริยาคะตะลิสต์ก็เสร็จสมบูรณ์และยังคงได้มาตรฐานจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ข้อบังคับที่มีความเข้มงวดขึ้นทุก ๆ ปีนั้น เทคโนโลยีต่าง ๆ ของโตโยต้าก็ช่วยให้ผ่านมาตรฐานข้อบังคับนั้น ๆ มาได้ตลอดเช่น วิธีการเผาไหม้ด้วยส่วนผสมบาง และวิธีการเผาไหม้ด้วยการสร้างการปั่นป่วนของอากาศ (TGP) ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานในการปล่อยมลภาวะที่ลดลงเรื่อย ๆ จึงค่อย ๆ ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาโดยตลอด

ในขณะที่ทั้งบริษัทกำลังให้ความสนใจกับมาตรการรับมือเรื่องก๊าซไอเสีย เจ้าหน้าที่แผนกออกแบบก็ได้ออกแบบโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สาม ให้มีดีไซน์โฉบเฉี่ยว ตัวรถดีไซน์ใหม่ให้ภาพของความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเส้นสายตัวรถที่อ่อนโยนของโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สองพร้อมทั้งให้ความสำคัญกับจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของโคโรลล่าเสริมเข้าไปด้วย นอกจากนี้ อุโมงค์ลมก็เริ่มเป็นที่รู้จักในเวลานั้น จึงช่วยให้ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์และค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานได้ ผลจากการศึกษาโดยใช้อุโมงค์ลมในครั้งนั้นถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโคโรลล่าอีกด้วย

นอกจากตัวถังแบบซีดานและแวนที่มีจำหน่ายในรุ่นก่อนหน้าแล้ว ครั้งนี้โตโยต้าก็นำเสนอรุ่นตัวถังใหม่ของโคโรลล่าเป็นตัวถังแบบไม่มีเสากลาง หลังคาแข็ง และนี่เป็นครั้งแรกที่ตัวถังดีไซน์หลังคาแข็งซึ่งปกติจะเป็นที่นิยมในรถระดับที่สูงกว่า ถูกนำมาปรับใช้กับรถยนต์ครอบครัว ซึ่งต่อมาตัวถังนี้ก็กลายมาเป็นฟีเจอร์เด่นของโคโรล่าเจนเนอเรชั่นที่สาม เมื่อเปิดตัวโคโรลล่าใหม่นี้เป็นครั้งแรก รถโตโยต้าโมเดลคูเป้ก็ถูกระงับไว้ชั่วคราวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนของโคโรลล่าใหม่ไม่ให้สับสนกับรถยนต์ในเซ็กเม้นต์อื่น ๆ แต่ต่อมาก็มีการกลับมาผลิตใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด นอกจากนี้ รุ่นตัวถังลิฟท์แบ็ค (ซึ่งรู้จักกันในชื่อฮัทช์แบ็คด้วย) ก็ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกและเรียกว่าเป็น “สปอร์ตวากอนเพื่อการใช้งานอเนกประสงค์” ตัวถังลิฟท์แบ็คได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ มากยิ่งกว่าตลาดในประเทศเสียอีก และจำนวนการผลิตก็สูงกว่าแผนการผลิตเบื้องต้นอีกด้วย

ในเวลาที่มีการเปิดตัวโคโรลล่าเจนเนอเรชั่นที่สามนั้น ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมซึ่งไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้กับวงการยานยนต์นัก และยอดขายก็ไม่โตตามที่คาดไว้ด้วย ถึงกระนั้น ยอดขายในต่างประเทศกลับมีตัวเลขดีกว่าที่วางไว้ตอนแรกจนยอดขายทะลุเป้าตัวเลขส่งออกต่อปี ยอดขายนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยายามในการพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพมาตรฐานระดับสากลที่เข้าใจความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อซาซากิ หัวหน้าทีมวิศวกรเดินทางไปเยอรมนีเพื่อทำการสำรวจตลาดนั้น เขาพบว่าความจุในการบรรทุกสัมภาระของรถนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งซาซากิพบและเห็นด้วยตัวเองว่าขนาดความจุมาตรฐานของห้องเก็บสัมภาระในรถนั้นมีพื้นที่ไม่พอที่จะเก็บกระเป๋าสัมภาระได้ ดังนั้น ซาซากิจึงศึกษาหาข้อมูลว่ารถยนต์ในต่างประเทศนั้นควรจะต้องมีพื้นที่เก็บสัมภาระเท่าใด จึงจะง่ายต่อการขนของ และเมื่อเขาพบคำตอบเขาก็นำมาใช้กับการพัฒนารถในโครงการของเขา

นอกจากนี้ การเพิ่มตัวเลือกด้านตัวถังรถยนต์แบบใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการในยุคนั้นเช่น ตัวถังแบบหลังคาแข็งและลิฟท์แบ็คก็ช่วยให้ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศด้วย ท้ายที่สุดแล้ว รถยนต์ตัวถังนี้ก็มียอดการผลิตมากถึง 3,755,029 คันเลยทีเดียว

ตัวถังทั้งหมดสามแบบ ออกจำหน่ายเมื่อมีการเปิดตัวโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม เป็นครั้งแรกได้แก่ ตัวถังซีดาน (รุ่น 2 ประตู และ 4 ประตู) ตัวถังแวน และตัวถังแบบหลังคาแข็งใหม่ ซึ่งต่อมาก็มีการเพิ่มตัวเลือกรุ่นตัวถังเข้าไปอีกสองรุ่นคือ ลิฟท์แบ็ค และคูเป้ รวมทั้งหมดเป็นห้าตัวถัง

เมื่อเปิดตัวเป็นครั้งแรก TOYOTA LEVIN มาพร้อมกับตัวเลือกเครื่องยนต์ถึง 4 แบบด้วยกันได้แก่ เครื่องยนต์ 3K-H ขนาด 1.2 ลิตร เครื่องยนต์ T ขนาด 1.4 ลิตร เครื่องยนต์ 2T ขนาด 1.6 ลิตร และเครื่องยนต์ 2T-G DOHC (เพลาลูกเบี้ยวคู่เหนือฝาสูบ) อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์เหล่านี้ถูกระงับไว้ชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านข้อบังคับการปล่อยมลภาวะ จะเหลือก็เพียงเครื่องยนต์ 2T-U 1.6 ลิตร และเครื่องยนต์ T-U 1.4 ลิตร เท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมาตัวเลือกด้านเครื่องยนต์ของ TOYOTA LEVIN ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นโดยมีทั้งเครื่องยนต์ 3K-U 1.2 ลิตร เครื่องยนต์ 12T และ 12T-U ขนาด 1.6 ลิตร เครื่องยนต์ 4K-U ขนาด 1.3 ลิตร 74 แรงม้า และเครื่องยนต์ 2T-GEU DOHC

เครื่องยนต์ 4K

รูปจาก https://www.thaiscooter.com/

ลักษณะเด่นของโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สามคือ การหยุดการผลิตรุ่นตัวถังคูเป้แบบในรุ่นก่อนหน้า แต่เพิ่มรุ่นตัวถังหลังคาแข็งเข้ามาแทนที่ โดยรุ่นตัวถังแบบหลังคาแข็งนั้น ได้นำเอาสไตล์แบบ “เซมิ-ฟาสท์แบ็ค” มาปรับใช้ ในขณะที่รุ่นซีดานเป็นแบบท้ายสั้นสไตล์ “เซมิ-ฟาสท์แบ็ค” มีช่องระบายอากาศที่ฝากระโปรงหน้า เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว นอกจากนี้ ก็ยังมีช่องระบายอากาศทางด้านข้างเช่นกัน ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างตัวถังซีดาน กับหลังคาแข็ง คือช่องระบายอากาศแบบลู่ลมที่ติดตั้งค่อนไปทางท้าย บนแผงบังโคลนหลัง ด้านข้างในรุ่นซีดาน ในขณะที่รุ่นฮาร์ดท็อป จะมีช่องระบายอากาศในลักษณะเดียวกัน ติดตั้งในแนวตั้งค่อนไปทางท้ายบนแผงบังโคลนหลังด้านข้างรถ

นอกจากนี้ โคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม ยังได้นำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้รูปลักษณ์ด้านหน้ารถมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ว่าจะเป็น กระจังหน้า และฝากระโปรงหน้าดีไซน์ใหม่ ที่ให้มาแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นเครื่องยนต์ ในรุ่นลิฟท์แบ็คและคูเป้นั้น ดีไซน์ด้านหน้ารถจะไม่เหมือนกับรุ่นซีดาน และหลังคาแข็ง เพื่อให้ตัวรถมีความแตกต่างโดดเด่นชัดเจน สำหรับการดีไซน์ภายในห้องโดยสาร ก็มีการศึกษาเรื่องสรีรศาสตร์ และความสะดวกในการใช้งานเพื่อนำไปพัฒนาห้องโดยสารให้ดีขึ้น แผงคอนโซลตกแต่งด้วยวัสดุบุหนา และจัดวางชุดควบคุมต่างๆ ให้ดูทันสมัย รวมถึงสวิตช์สั่งงานต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในตำแหน่งคอนโซลกลาง

เครื่องยนต์ที่มาประจำการในโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม นั้นจำเป็นต้องผ่านข้อบังคับทางเทคนิคในด้านการปล่อยมลภาวะ เบื้องต้นมีการติดตั้งอุปกรณ์แปรสภาพก๊าซไอเสียให้กับเครื่องยนต์ T-U 1.4 ลิตร และเครื่องยนต์ 2T-U 1.6 ลิตร เพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย ต่อมามีเครื่องยนต์ 12T 1.6 ลิตร ซึ่งในเทคนิคเผาไหม้ด้วยส่วนผสมบาง เข้ามาประจำการเพิ่ม หลังจากนั้นก็มีเครื่องยนต์ 12T-U ที่ประสานการทำงานของอุปกรณ์แปรสภาพก๊าซไอเสียแบบออกซิเดชั่นเข้ากับเครื่องยนต์ 12T เพื่อดึงกำลังเครื่องยนต์ที่สูญเสียไปกับข้อบังคับการปล่อยไอเสียกลับคืนมา โดยเครื่องยนต์รหัส 12T-U สามารถให้กำลังสูงสุด 88 แรงม้า ที่ 5,600 ต่อนาที และมีแรงบิดสูงสุด 13.3 กก.-ม. ที่ 3,400 รอบต่อนาที

สายการผลิตเครื่องยนต์ 2T-G DOHC ของ TOYOTA LEVIN ถูกระงับชั่วคราว เพราะไม่สามารถทำการแก้ไขเครื่องยนต์ ให้ผ่านมาตรฐานไอเสียได้ทันเวลา ณ ขณะนั้น อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์แปรสภาพก๊าซไอเสียแบบออกซิเดชั่น และ EFI (ระบบฉีดเชื้อเพลิงควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์) ก็ถูกนำมาใช้แทนโซเล็กว์ คาร์บูเรเตอร์ (Solex Carburetors) เดิม เครื่องยนต์จึงพัฒนามาเป็นเครื่องยนต์ 2T-GEU ที่ให้กำลังสูงสุดถึง 110 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุดถึง 15.0 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบต่อนาที ด้วยเหตุนี้ เครื่องยนต์ 2T-GEU สมรรถนะสูงจึงประสบความสำเร็จเป็นเครื่องยนต์ที่โดดเนเหนือกว่าเครื่องยนต์ 2T-G DOHC เดิมที่ใช้ระบบฉีดเชื้อเพลิงโซเล็กว์ คาร์บูเรเตอร์ (Solex Carburetors)

นอกจากมาตราการแก้ไขปัญหาการปล่อยมลภาวะแล้ว เทคโลโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ก็ถูกนำมาพัฒนาและปรับใช้กับโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สามนี้ เพื่อตอบโจทย์ตลาดที่มีความต้องการอย่างหลากหลายเช่น ระบบเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด และเฟืองพวงมาลัยอัตราทดแปรผัน

ภายในห้องโดยสารของโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม ก็ได้รับการรังสรรค์ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยและการตกแต่งภายในอย่างพิถีพิถัน ช่วยเสริมบุคลิกให้กับตัวรถได้เป็นอย่างดี แผงใต้หลังคาก็เป็นแบบขึ้นรูปชิ้นงานเดียว เพื่อเพิ่มพื้นที่บริเวณศีรษะและเพื่อกันความร้อนภายในห้องโดยสาร ในส่วนของเบาะแถวหน้าของรุ่นตัวถัง 2 ประตู ก็เป็นแบบปรับพับด้วยเท้าเพื่อให้เข้า-ออกเบาะหลังได้ง่ายขึ้น สวิตช์ควบุคมไฟส่องสว่าง และที่ปัดน้ำฝนก็รวมเป็นชุดเดียวติดตั้งที่คอพวงมาลัยเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกกว่าเดิม นอกจากนี้ ระบบระบายอากาศ และระบบปรับอากาศสองแบบ ก็ถูกนำมาใช้ในรถรุ่นนี้ ด้วยเพื่อให้สามารถสับเปลี่ยนระหว่างโหมดอากาศภายนอก กับอากาศหมุนเวียนภายใน  ช่วยให้การระบายอากาศภายในห้องโดยสารทำได้ดีกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นตัวรถยังมีการพัฒนาด้านการเก็บเสียง และการสั่นสะเทือนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับผู้โดยสารให้ขึ้น

ระบบความปลอดภัยเชิงรับรุ่นบุกเบิกก่อนที่จะใช้ต่อๆ กันมาอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้ก็ได้รับการติดตั้งให้กับโคโรลล่า เจนเนอเรชั่นที่สาม ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างตัวถังแบบดูดซับแรงกระแทก พร้อมบริเวณที่ยุบตัวได้จากการชนปะทะทางด้านหน้าไปด้านหลัง การชนปะทะทางด้านข้างก็ได้รับการพัฒนาโดยมีการเพิ่มความหนาของประตู จากการปรับปรุงทั้งหมดที่กล่าวมา ตัวรถโดยรวมจึงมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ก.ก. แต่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลทั้ง FMVSS (มาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์) ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ ในยุโรปที่มากมาย นอกจากนี้ เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นตัวถังอีกด้วย

 

เทคโนโลยีและอุปกรณ์อื่น ๆ

ข้อมูลจำเพาะ

 

Specifications of displayed vehicle Third generation
Model code TE30-KSBR
Grade 30 series 4-door 1400SL sedan
Model year 1974
Vehicle price (JPY) 820,000
Vehicle weight (kg) 890
Minimum turning radius (m) 4.7
Overall length (mm) 3995
Overall width (mm) 1570
Overall height (mm) 1375
Wheelbase (mm) 2370
Min. ground clearance (mm) 155
Interior dimensions:
length (mm) 1665
width (mm) 1335
height (mm) 1140
Passengers 5
Engine type T-BR
No. of cyls & arrangement Water cooled, inline 4-cylinder OHV
Fuel Gasoline
Engine displacement (cc) 1407
Fuel consumption (km/L)
60 km/h constant speed driving 19.5
10 mode fuel efficiency
10·15 mode driving
Transmission type 4-speed manual
Drive train FR
Max. output 91PS / 6000rpm

 

ข้อมูล และที่มา จาก

www.toyota-global.com/showroom/vehicle_heritage/corolla/collection/3rd_1.html

แปลโดย Neng Tanakorn (GPI)