Return to Retro
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
ในโลกนี้ใช่ว่าจะมีแต่ความสวยงาม ในบางมุมความเกรอะกรังใน “คราบของกาลเวลา” ก็สามารถรังสรรค์ศิลปะแปลกๆ บนโลกใบนี้ได้อย่างงดงามเช่นเดียวกัน แถมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะมันไม่มีการสร้าง ทุกอย่างไปตามธรรมชาติที่มีความต่างในแต่ละเหตุการณ์ เช่นเดียวกับรถ Retro แบบ “แห้งกรังเดิม” หรือ Pure Rat Look ที่คราบสนิมและความเก่าแบบแท้ๆ จะสร้างราคาให้กับมัน…
- มาดเท่แบบเซอร์ๆ เป็นแนวที่ต้องชอบเท่านั้น ถึงจะดูมันสวย
TOYOPET หรือ “โตโยเป็ด” ในความทรงจำ
สำหรับแบรนด์ TOYOTA ยุคโบราณ คงเคยได้ยิน “คนรุ่นเดอะ” เรียกมันว่า “โตโยเป็ด” เราก็คงงงๆ กันอยู่บ้าง จริงๆ แล้ว แบรนด์ดั้งเดิมก็คือ TOYODA หรือ “โตโยดะ” ตามนามสกุลของผู้ก่อตั้ง คือ “Sakichi Toyoda” ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็น TOYOTA เนื่องจากคำว่า TOYODA เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นในแบบ “Katakana” จะเหมือนกับคำว่า “พอแล้ว” ซึ่งไม่ค่อยดีเท่าไร เลยเป็น TOYOTA ที่เขียนแล้วมีเส้นทั้งหมด 8 เส้น ตามตัวเลขมงคลของญี่ปุ่น ที่เหมือนกับตัว Infinity หรือ “ไร้จุดจบ” (ข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ซึ่งจับใจความได้ประมาณนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน ถ้าผิดพลาด ขออภัยครับ) ตามการเขียนแบบ ทำไมต้องโตโยเป็ด จริงๆ แล้ว มาจากคำว่า TOYOPET ออกเสียงตามฝรั่งกันว่า “โตโยเพ็ท” ชื่อนี้เริ่มต้นในช่วงปี 1940-1950 ซึ่ง TOYOTA ตั้งมาสำหรับใช้กับรถยนต์นั่ง เช่น CROWN, CORONA หรือรถกระบะเล็ก อย่าง STOUT (พ่อ HILUX ในปัจจุบัน) แต่พอจะส่งรถไปขายที่อเมริกา ดันไปพ้องเสียงกับคำว่า Toy & Pet แปลว่า ของเล่น และสัตว์เลี้ยง ก็เลยยกเลิกชื่อนี้ไป…
- ถ้าเป็นยุคแรกๆ CORONA RT40 จะเป็น “ไฟเลี้ยวอยู่เหนือกันชน” ลักษณะนี้ กระจังหน้าอันนี้เป็นตัว Facelift ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก ถ้าเป็น “บิ๊กไมเนอร์เชนจ์” พวก RT41 ก็จะเปลี่ยนทรงกระจังใหม่ มี “แว่นไฟ” กระจังจะเป็นเส้นตรงๆ ไฟเลี้ยวจะอยู่ใต้กันชน ซึ่งโครงหน้าของทั้งสองรุ่นนี้ก็จะไม่เหมือนกัน
- หัวสั้น หน้าเท หรือ Slant Nose ทำให้ลู่ลมมากขึ้น โลโกแก้มเดิมครบ ล้อ CRAGAR สไตล์อเมริกัน ขนาด 7 x 15 นิ้ว เปลี่ยนแนวจากญี่ปุ่นไปบ้าง จะได้ไม่เบื่อ
- TOYOPET CORONA ชื่อมันเก๋าตรง “เป็ด” ไม่ใช่ “ต้า” นี่แหละ
- มาดกวนๆ ในเมืองไทย หากระบะพื้นฐานจากเก๋งพวกนี้ได้ยาก ใครมีก็จับมาปั้นกันหน่อย
CORONA T4 Chassis
สำหรับ CORONA ตระกูล T4 เป็น Gen. ที่ 3 ผลิตขึ้นในปี 1964 ซึ่งเป็นรถยนต์นั่ง “ขนาดกลาง” ที่เน้นความหรูหรา โดยให้นักออกแบบชาวอิตาเลียน “Battista Farina” หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “Pininfarina” เจ้าดังระดับโลกนั่นเอง ญี่ปุ่นจะเรียกมันว่า “Arrowline CORONA” สังเกตว่ารุ่นนี้ทรวดทรงมันจะออกยุโรปๆ โบราณๆ แต่ “โคตรสวย” รายละเอียดดีครับรุ่นนี้ (บอกเลยว่าชอบ) สำหรับรายละเอียดต่างๆ มีดังนี้…
• Sedan 4 ประตู จะใช้รหัส RT40-43 ซึ่งเป็นรุ่นที่เปิดตัวครั้งแรกของรหัส T4…
• Commercial Vehicle รถเพื่อการพาณิชย์ จะมีแบบ Pickup 2 ประตู (หัวเดี่ยว) และตัวแปลก Pickup แบบ Extend Cab 4 ที่นั่ง !!! แล้วก็มีตัว Van ทั้ง 2 และ 4 ประตู พวกนี้จะใช้รหัส PT/RT46-47 ซึ่ง PT จะเป็นเครื่องยนต์ 2P ส่วน RT จะเป็นเครื่องยนต์ 2R ถ้าตัว Pickup Extend Cab จะมีรหัส P ต่อท้าย เช่น PT/RT46P ถ้าตัว Van จะเป็นตัว V ต่อท้าย ถ้า Van 5 ประตู จะเป็น V-F ต่อท้ายครับ…
• Hardtop 2 ประตู แบบสปอร์ต เปิดตัวเดือนมิถุนายน ปี 1965 ใช้รหัส RT50…
• Fastback 5 ประตู เปิดตัวเดือนตุลาคม ปี 1965 ใช้รหัส RT56 ตอนนั้นคงเป็นรถที่ดู “เดิร์น” มาก…
• เดือนมิถุนายน ปี 1966 “ไมเนอร์เชนจ์” ที่เห็นชัดๆ คือ เปลี่ยนกระจังหน้าทรงใหม่ ย้ายไฟเลี้ยวมาอยู่ใต้กันชน เปลี่ยนไฟท้ายเป็นแบบ “โคมใหญ่” มีเส้นโครเมียมคาดกลาง…
• เดือนสิงหาคม ปี 1966 ออกรุ่นสุดยอดออฟเดอะไลน์อย่าง 1600 GT Coupe ใช้เครื่องยนต์ 9R ฝาสูบ DOHC บรรพบุรุษ 2T-G นั่นเอง ซึ่งรุ่นนี้ถ้าเป็นรถแท้ๆ จะมีเฉพาะโฉมไมเนอร์เชนจ์ “ไฟท้ายใหญ่” อย่างเดียว…
- เสน่ห์ของรถเก่าอีกอย่าง คือ ช่องบนหน้าปัด ที่ส่วนใหญ่จะทำได้อย่างสวยงาม บางคันก็จะเป็นช่องลำโพง ให้เสียงยิงขึ้นกระจกแล้วกระจายเข้าหู
- สิ่งที่ยังตามหา คือ มือเปิดฝาท้ายตรงกลาง นี่เป็นดีไซน์ของรถอายุ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งหายไปนานและเพิ่งเอามาใช้กับกระบะยุค 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน
- ไฟท้ายคู่ละหมื่นกว่า!!! ดูเผินๆ ซ้ายขวาจะเหมือนกัน ถ้ามองตรงๆ ล่ะใช่ แต่ฐานจะ “เอียงไปคนละมุม” ตามโค้งบอดี้รถ ใส่สลับกันได้ แต่สังเกตได้ว่ามันจะเอียงหันไปผิดทาง
- ตัวผมเองก็รู้สึกรักเจ้า T4 ก็หน้าปัด กับพวงมาลัยกระเช้า นี่แหละครับ ได้อารมณ์คลาสสิกเต็มพิกัด
- ไม่ต้องบรรยาย เสน่ห์ของรถยุค 50-60 อยู่ที่ “ไมล์เหลี่ยม” เข็มกวาดซ้ายไปขวา ซึ่งยากจะมีอะไรมาทดแทน
- นอกจาก “กระเช้า” จะเป็นที่กดแตรแล้ว รุ่นนี้ยังเป็น “สวิตช์ไฟเลี้ยวในตัว” ด้วยนะครับ ใช้วิธีกดตรงติ่งซ้ายหรือขวาตามภาพ
- สมัยก่อนเรียก “เบาะราว” ใช้กับ “เกียร์คอ” เพื่อไม่ให้ติดขา สามารถนั่งได้ 3 คน
- ขุมพลังบล็อก 2R 1.5 ลิตร แรงม้าแถวๆ 74 hp @ 5,000 rpm จัดการโอเวอร์ฮอลใหม่ พร้อม “แคมซิ่งปิยะ” สไตล์ พอก เจีย เพิ่มองศาให้จี๊ดๆ หน่อย
- กรองอากาศ UNISON ด้านในจะเป็นไส้กรองทรง “ที่ใส่ยากันยุง” เขาเรียกกันยังงี้แหละ
Comment : ปิยะการช่าง & Retro Bangkok
จริงๆ แล้ว รถคันนี้เราก็ตามล่าหากันจนเจอ เพราะตัวกระบะแท้ๆ มันมีในเมืองไทยน้อยมาก แน่นอนว่า อะไหล่ก็ย่อมจะหายากกว่าตัว 4 ประตูทั่วไป โดยเฉพาะ “ไฟท้าย” และ “มือเปิดฝาท้าย” ที่หายากและแพงโคตรๆ อะไหล่ก็ต้องซื้อ 3 คัน มายำรวมเป็น 1 คัน คันนี้ก็ทำเป็น Rat Look เพราะรถมันแห้งๆ เดิมๆ ดี แต่ก็มีการโมดิฟายเพิ่มเติมบ้างให้ขับมันส์ขึ้นครับ เปิดตัวครั้งแรกในงาน “รวมพลคนเรโทร” ที่เพิ่งผ่านไปนี้ โดยการให้ “นิกกี้” มา Sexy Wash โชว์ในงาน สร้างความ Surprised ให้กับเธออย่างมาก เพราะปกติจะล้างแต่รถสปอร์ตสวยๆ เจอคันนี้ถึงกับอึ้ง ฮ่าฮ่า…
สำหรับ CORONA รุ่น RT40 นี้ จะเป็นรุ่นแรกที่ “ประกอบในประเทศไทย” และจัดจำหน่ายโดย “พิธานโตโยต้า” โชว์รูปเก่าแก่ดั้งเดิมจะอยู่บน “ถนนสุรวงศ์” ครับ ถ้าเป็นตอนนี้ก็แถวๆ แยกที่จะเลี้ยวไปถนนนราธิวาสฯ นั่นเอง และสังเกตกระจังหน้า อันนี้คือรุ่นแรกเริ่มที่โคตรคลาสสิกจริงๆ ครับ ส่วนโลโกรถที่จำหน่ายนอกประเทศ จะเป็น TOYOTA ตามสากลแล้ว…
ขอขอบคุณ
ปิยะการช่าง : Facebook/Piya Kranchang, Tel. 08-5919-9971