รู้จัก “ไฟ Christmas Tree” กันดีหรือยัง ???
รสหวาน อ่านง่าย อ่านได้แม้ตอน…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี, Tum Tinnakorn
ข้อมูล : GT-GARAGE
หลังจากงาน Souped Up 2017 ผ่านไปอย่างสนุกสนาน ด้วยความที่ปีนี้ได้ยกเลิกการ Back Up เวลา ในรอบชิง และลดเหลือ 2 Run รวมถึงแยกวิ่ง 2 กลุ่ม ทำให้งานนั้นจบในเวลาตามเป้าหมาย และทุกคนได้ดูจนจบยันรับรางวัล หลายคนอาจจะดูเพียง “เวลา” ของรถ ว่าเร็วกันขนาดไหน แต่จุดพีคจริงๆ และกดดันสูงสุด จะอยู่ที่ “จังหวะออกตัว” นี่แหละ จะรอดไม่รอด เร็วไม่เร็ว การออกตัวสำหรับ Drag Racing นั้นสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งหนึ่งที่ต้องมีไว้กำกับสัญญาณออกตัว ก็คือ “ไฟ Christmas Tree” ที่เรียกกัน แต่ละดวงมีความสำคัญอย่างมาก บอกได้เลยว่ามันไม่ใช่แค่ปล่อยตัว แต่จะต้องมีเทคนิคและหลักการ “เข้าไฟ” และไฟแต่ละดวง โดยเฉพาะ Pre-Stage นั้นมีความหมายอย่างไร และอื่นๆ ที่สำคัญ ถ้าทำความเข้าใจจะดูแข่งได้ละเอียดขึ้นครับ ล้อมวงเข้ามา…
มีอะไรบ้างกับความหมายของไฟแต่ละดวง
Pre-Stage & Stage
บน Christmas Tree ก็มีไฟอยู่หลายดวง (ซึ่งดวงไฟ ทางอเมริกาจะเรียกว่า Ball) แต่ละดวงก็มีความหมายต่างกัน จุดแรกที่ต้องเจอ ก็คือ Pre-Stage จะเป็นไฟที่อยู่ด้านบนสุด ส่วนดวงล่างถัดลงมา จะเรียกว่า Stage ไอ้ Pre-Stage กับ Stage นั้น เรียกรวมๆ ก็คือ Staging Beam จะมีเซนเซอร์อยู่อย่างละตัว (เท่ากับ 2 อัน) โดยวางตำแหน่งห่างกันประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 6 นิ้ว ที่ต้องมีแบบนี้เพราะต้องการให้ “ล้อหน้าอยู่กึ่งกลางระหว่างเซ็นเซอร์ทั้งสองอันนี้” ตัวเซนเซอร์ทั้งสองจะจับที่ “ขอบยางด้านริมนอกสุดทั้งซีกหน้าล้อและหลังล้อ” สูงจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว ที่ต้องมีแบบนี้ เพราะล้อหน้าของรถแข่งแต่ละคันนั้นไม่เท่ากัน ถ้าจับแค่ซีกหน้าอย่างเดียว เกิดเจอรถล้อหน้าใหญ่ๆ จะได้เปรียบ เพราะล้อจะนำเข้าไปก่อนรถเยอะ ทำให้ตัวรถมีระยะทาง Sprint เยอะกว่ารถล้อเล็ก (อาจจะเง็งๆ หน่อยแต่ก็ทำความเข้าใจหน่อยละกัน) แค่ไม่กี่นิ้วเวลา 60 ฟุต ก็ต่างแล้ว ก็เลยต้องทำสองจุด “ประคอง” ให้ล้อนั้นอยู่ “กึ่งกลาง” จริงๆ ป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบ เมื่อไฟ Pre-Stage และ Stage ขึ้นสองดวง ก็หมายความว่า รถอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะออกตัวได้แล้ว…
ไฟเหลือง “เตรียม” ไฟเขียว “เผ่น”
สำหรับ “ไฟเหลือง 3 ดวง” หรือ Three Amber Light ก็เหมือนสากลทั่วไป ก็คือ “เตรียมเผ่น” ซึ่งถ้าเป็นของ Souped Up ก็จะติดแบบ “ไล่ทีละดวง” จนมาถึง “ไฟเขียว” ก็คือ “พร้อมเผ่น” แต่กับของ Souped Up จะเป็นการบันทึกสถิติแบบ ET หรือ Elapse Time นับเวลาจากการออกตัว ไม่ต้องชิงไฟออกแบบ RT หรือ Reaction Time เรียกว่ารอไฟเขียวขึ้นก่อนแล้วค่อยออกตัว เพราะต้องการเอาเวลาของรถจริงๆ ไม่ได้บีบเอาเวลา RT จากการชิงไฟของคนขับ อันนี้แล้วแต่สไตล์การจัดงานของแต่ละคนนะครับว่าจะเอาแบบไหน…
Guard Beam Sensor หรือ “เซนเซอร์ไฟฟาล์ว”
สำหรับตัวที่ถัดมาจาก Staging Beam Sensor ส่วนใหญ่แล้วก็จะคิดว่ามันเป็น 60 Feet Sensor แต่จริงๆ แล้ว มันจะมี Guard Beam Sensor หรือศัพท์บ้านเราก็เรียก “เซนเซอร์ไฟฟาล์ว” หรือ Foul Line Sensor อันนี้จะอยู่ถัดจาก Stage Sensor มาประมาณฟุตกว่าๆ บางข้อมูลบอกประมาณ 15 นิ้ว อันนี้แหละครับที่เป็นตัว “เริ่มจับเวลาออกสตาร์ท” ของจริง เป็นแบบสากล ซึ่งแต่ก่อนนั้น จะจับเวลาที่ Staging Beam Sensor เมื่อรถเคลื่อนตัวออกไป แต่เวลาที่ได้จะ “ช้า” เพราะจับตั้งแต่รถเคลื่อนตัวจากจุดหยุดนิ่งจริงๆ (Standing Start) แต่พอมาจับที่ Guard Beam Sensor ในกรณีของ ET เมื่อรถหลุด Pre-Stage ออกมาแล้ว เวลาจะยังไม่เดิน จนกว่าล้อหน้าจะตัดผ่าน Guard Beam Sensor ซึ่งข้อดีก็คือ รถจะมีระยะ Take Off อยู่ประมาณฟุตกว่าๆ (ก็เหมือนกับ Rolling Start หน่อยๆ) มีความเร็วในการพุ่งผ่าน Sensor ตัวนี้ไป ทำให้เวลา 60 ฟุต และ Total Time (เวลารวม) นั้นเร็วขึ้น ถ้าเทียบกันกับจับที่ Stage Sensor พวก Dragster อาจจะเห็นข้อแตกต่างนิดหน่อย เพราะรถมันออกตัวได้เร็วอยู่แล้ว แต่พวก “ขับหน้า ยางเรเดียล” ที่ออกตัวได้ช้ากว่าพวกขับหลัง อันนี้จะมีผลแตกต่างกันมาก ส่วน RT เวลาก็จะนับตั้งแต่ “ไฟเขียว” ปรากฏ แล้วก็จับเวลา ET นำมาหักลบกัน ก็จะได้เวลา RT นั่นเอง…
ไฟฟาล์ว กับ การชิงไฟ อันนี้สำคัญ
ส่วนเรื่องการ “ฟาล์ว” นั้น ระบบก็จะเชื่อมโยง (Sync) กับสัญญาณไฟเขียว ถ้ารถวิ่งออกจนมาตัด Foul Line Sensor “ก่อนไฟเขียวขึ้น” อันนั้นไฟฟาล์วสีแดงจะขึ้น มาถึงจุดนี้แล้ว คนที่ “เป็นงาน” หากเป็นงาน “ชิงไฟ” เอา RT ก็จะรู้ว่ากูมีระยะชิงไฟประมาณฟุตเศษๆ เพราะฉะนั้น “สามารถออกตัวก่อนไฟเขียวได้นิดๆ” เรียกว่าต้องหาจังหวะชิงกันเอง ออกก่อนได้แต่รถต้องไม่ตัด Guard Beam Sensor ก่อนไฟเขียวจะขึ้นนั่นเอง เป็นที่มาของคำว่า “ชิงไฟ” ที่ต้องฝึกกันบ่อยๆ จนรู้ทรง…
60 Feet & 100 Feet & 1/8 Miles & ¼ Miles
“ฟีต” เป็นพหูพจน์ของ “ฟุต” ตอนนี้ผู้ชมหลายคนก็หันมาสนใจเวลา 60 ฟุต กันมาก ก็ทาง XO AUTOSPORT นี่แหละที่พยายามขานและวิเคราะห์เวลา 60 ฟุต ในงาน Souped Up ทุกครั้ง เพราะมันมีความสำคัญมากๆ สำหรับการแข่งขัน ในการเซ็ตรถ เซ็ตช่วงล่าง เซ็ตคนขับ มันต้องมาด้วยกัน จะต้องดูเวลา 60 ฟุต เป็นหลักก่อนจะไปดูเวลารวม ถ้าเวลา 60 ฟุต ทำได้ดี แสดงว่าเซ็ตรถมาถูกทาง คนขับตีนแม่น ก็สามารถออกตัวได้เร็ว ก็ไม่แน่ พวกรถ Stock Body อย่าง PRO 6 ออก 60 ฟุต ได้ใกล้เคียง Super Max ก็เป็นไปแล้ว ส่วน 100 ฟุต ก็จะเป็นช่วงเปลี่ยนเกียร์ 2 อันนี้ถ้าต่อเกียร์ได้ดี เวลาช่วงนี้ก็จะดีไปด้วย มันมีผลเกี่ยวเนื่องกันไป ส่วนอื่นๆ ก็ 1/8 ไมล์ หรือ 201 เมตร ภาษาบ้านเรา สนาม BDA จะเรียกว่า “แถวไดโน” ก็จะเป็นช่วงประมาณเกียร์ 3 ไป 4 ถ้าช่วงนี้เวลาดี แสดงว่า “รถเดินดี” เพราะช่วงนี้จะต้องหวดเต็มทั้งอัตราเร่งและความเร็ว และก็เข้าไปตัดเวลา 402 เมตร หรือ ¼ ไมล์ หรือ 1,320 ฟุต ก็เป็นอันจบการแข่งขัน…
เรียกว่าเป็นการทำความเข้าใจกับสัญญาณไฟปล่อยตัว รวมถึงเซนเซอร์ในจุดต่างๆ ของสนามแข่ง Drag Racing ว่าแต่ละจุดมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งแต่ละอันมีความหมาย เวลาในแต่ละจุด คนทั่วไปจะสนใจแต่เวลารวม Total Time แต่ในส่วนของทีมแข่ง จะต้องพิจารณาเวลาทุกจุดตั้งแต่ 60 ฟุต เป็นต้นไป เพราะมันเป็นการแสดงถึงสมรรถนะของรถแข่ง บางคันออกดี แต่ช่วงกลางไม่ดี เวลารวมก็จะไม่ดี ก็ต้องไปแก้ไขกันต่อ คราวหน้า มาดูการปล่อยไฟแบบ NHRA รอบ Final หรือบ้านเราเรียก “ไฟโปรฯ” ซึ่งบ้านเรายังไม่ได้ใช้แบบนี้ มันจะมีความซับซ้อนและน่าเรียนรู้มากเลย พลาดไม่ได้นะขอบอก…
ขอขอบคุณ : ตี้ GT-GARAGE สำหรับข้อมูล