เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
Drag Racing Tranny
สารพัดเกียร์ “ซิ่งทางตรง” ฉบับเพลิดเพลิน
กลับมาพบกันอีกแล้ว หลังจากที่ห่างหายไปหลายคราว บอกแล้วว่าเราจะไม่ทิ้งกันไปไหน หลังจากงาน Souped up Thailand Records 2015 เราก็จะได้เห็นรถ Drag เร็วๆ หลายคัน เรื่องเครื่องเราคงไม่กล่าวถึง แต่จะพูดถึงเรื่อง “เกียร์” กันดีกว่า เพราะเราจะได้ยินชื่อเกียร์แบบแปลกๆ หลายอย่าง ทั้งเกียร์นอกแสนแพงสุดยอด หรือเกียร์ทำในบ้านเราแต่ก็ใช้ได้ดี มันมีความหลากหลาย แต่ละอย่างก็มี “ความประพฤติ” ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะมา “เหลา” ให้ฟังกันแบบ “ฉบับเพลิดเพลิน” เพื่อทำความรู้จัก ว่าเกียร์ Drag Racing แบบที่นิยมใช้กันในบ้านเรา มันมีกี่ประเภท กี่ยี่ห้อแบบหลักๆ และมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ครั้งนี้เราได้แหล่งข้อมูลหลักจาก MACTEC และ YA SERVICE เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ได้รับชมกันครับ…
ทางตรง ระยะสั้น เน้นอัตราเร่ง
สำหรับเกียร์รถ Drag มันก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปกว่าเกียร์รถแข่งแบบอื่น เนื่องจากเป็นการแข่งแบบ “ทางตรงระยะสั้น” จึงเน้นเพียงอัตราเร่งออกตัว และในการ Shoot ความเร็วแบบ “ฉุกเฉิน” ซึ่งหลังจากนั้นก็เลิกคุยกัน เพราะฉะนั้น เกียร์จะต้องใช้อัตราทดที่ชิด สามารถวิ่งได้สุดกำลังทุกเกียร์ภายในระยะ 402 ม. และต้องมี “ความแข็งแรงสูง” เนื่องจากรถพวกนี้เข้าขั้น “บ้าพลัง คลั่งแรงบิด” กันแทบทั้งสิ้น แถมต้องเค้นกำลังแบบฉุกเฉิน เกียร์จึงต้องมีความแข็งแรงสูง รวมไปถึง “ความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น” เพราะในช่วงสั้นๆ ทุกวินาทีมีความหมายจริงๆ และตบท้าย ถ้าเป็นเกียร์ Drag จริงๆ ก็มักจะ “เปลี่ยนเกียร์ในจังหวะสูงขึ้นได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น” ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงได้ เว้นแต่ตอนจอดรถแล้วจะออกไปใหม่นั่นเอง…
- ลักษณะของการเข้าเกียร์แบบ H-Pattern ที่เป็นในลักษณะของรถบ้าน ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดเข้าเกียร์ข้ามร่องได้เยอะที่สุด
เกียร์ธรรมดา
คำว่า “เกียร์ธรรมดา” นั้น หมายถึง ระบบเกียร์ที่ใช้การส่งกำลังแบบคลัตช์แห้ง ใช้การเปลี่ยนเกียร์ด้วย “มือ” (Manual Shifting) ไม่มีตัวช่วยใดๆ เกียร์ธรรมดาสำหรับรถ Drag ถ้าเป็นแบบพื้นฐาน หรือที่เรียกกว่า “เกียร์บ้าน” นั่นแหละ หมายความว่า เป็นเกียร์ที่มีผลิตมาจากโรงงานรถยนต์ทั่วไป ส่วนใหญ่ที่ใช้กัน ถ้าเป็นรถขับหลัง ก็เกียร์ของ RB25DET, 1JZ-GTE 5 สปีด แต่ “เปลี่ยนอัตราทดเกียร์ใหม่” ของไทยหรือของนอกก็มีให้เลือกตามอัธยาศัย รถ Drag มักจะเน้นเกียร์ 1-2-3 เกียร์ 1 ทดต่ำลง ลดอาการล้อฟรี เกียร์ 2-3 ทดให้ชิดเข้ามา เพราะเป็นช่วงกลางที่ต้องการอัตราเร่งและความเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนเกียร์ 4 มันมักจะเป็นแบบ 1:1 เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ส่วนเกียร์ 5 ก็ไม่ได้ยุ่ง เพราะวิ่งกันประมาณ 4 เกียร์เป็นหลัก เป็นต้น
- เกียร์ธรรมดา ส่วนใหญ่แล้วก็จะเลือกว่าจะใช้กลไกการเข้าเป็นแบบ H-Pattern หรือ Sequential สามารถสั่งได้
หลังจากที่รถมีความเร็วและแรงมากขึ้น ระบบ Synchromesh มักจะเสียหาย ทำให้เกียร์เข้าไม่ได้ จึงได้พัฒนาใหม่ เปลี่ยนจากระบบ Synchromesh เป็น Dog Box หรือ Dog Ring หรือ Dog Engagement ลักษณะเป็นฟัน หรือ Teeth (ตามรูป) ไม่ใช่เป็นกรวย (Cone) ซึ่งทำให้การขบกันของเฟืองเกียร์รวดเร็วกว่า ทนทานกว่า เพื่อให้การเปลี่ยนเกียร์ขึ้น (Shift up) “ไม่ต้องเหยียบคลัตช์” ทำให้เกิดความรวดเร็วในการเข้าเกียร์ แต่คนขับก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วพอ หากผิดจังหวะ เกียร์จะเข้าไม่ได้ และเกิดเสียงดังจากการขบกันผิดจังหวะ ซึ่งระบบ Dog ต่างๆ (บรู๋ววว) ก็ใช้ได้กับรถแข่งหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะ Drag อย่างเดียว…
- หน้าตาของระบบ Dog Engagement ที่เห็นเป็นเม็ดสี่เหลี่ยม จะทำหน้าที่ “ขบ” ต่อกำลังเวลาเฟืองเกียร์เลื่อนมาประกบกันโดยไม่ต้องเหยียบคลัตช์ แต่ต้องมีการตัดกำลังกันนิดหน่อย จะเป็นระบบ Shift Cut ที่ลดองศาไฟจุดระเบิดลงเวลาเปลี่ยนเกียร์ เพื่อลดการกระแทกรุนแรงเกินไปจนเกียร์ตูแตกเลย
กลไกการเปลี่ยนเกียร์แบบ H-Pattern
เกียร์ธรรมดาก็จะมีสไตล์การเปลี่ยนเกียร์ได้หลายรูปแบบ แล้วแต่ประเภทของ “กลไกการเปลี่ยนเกียร์” เริ่มกันจากแบบพื้นฐาน คือ H-Pattern มันก็จะเป็นเกียร์ทั่วไปที่เราได้พบเห็นกัน การเข้าเกียร์ก็เหมือนตัว H ต่อกัน ไล่เรียงไปตามในภาพ ซึ่งเรารู้กันดีแล้วว่าต้องเข้าเกียร์ยังไง งั้นขอข้ามผ่านไป มาดู “ข้อดี” ของมันก็แทบจะไม่มีอะไรพิเศษ มันเหมาะสำหรับรถวิ่งถนนมากกว่า เพราะมัน “สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ทั้งขึ้น (Shift up) ลง (Shift down) ข้ามจังหวะ และเข้าเกียร์ไหนก่อนก็ได้” อย่างรถวิ่งถนน เข้าเกียร์ 1-2-3-4 แล้วจะหยุดรถ ก็สามารถดึงมาเกียร์ว่างได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์กลับไป 4-3-2-1 หรือจะข้ามเกียร์ก็ได้…
ต่อมา “ข้อเสีย” ที่สำคัญมากๆๆๆๆๆ คือ “มีโอกาสจะเปลี่ยนเกียร์ผิดพลาด” (Miss Shifting) ได้ง่าย อย่างเกียร์ที่อยู่ในแนวเดียวกันไม่ค่อยมีปัญหา เช่น 1-2 หรือ 3-4 แต่จะมีปัญหาตรง 2 ไป 3 ซึ่งเป็นเกียร์แบบ “ข้ามร่อง” ถ้าแม่นไม่จริง โอกาสจะเข้าผิดเป็น 5 ก็มีเยอะ ทำให้เสียโอกาสในการลุ้นตำแหน่งทันที และเท่าที่ดูรถ Drag ส่วนใหญ่ก็จะไม่นิยมใส่ด้ามเกียร์ Quick Shift แม้หลักการมันจะทำให้เข้าเกียร์ได้เร็ว แต่ก็เพราะระยะเดินคันเกียร์ (Shift lever travel) มัน “ชิดมาก” โอกาสที่จะเข้าเกียร์ผิดก็ยิ่งมีมากขึ้นครับ ส่วนต่อไป เป็นยี่ห้อเกียร์ H-Pattern ที่เป็นของ Drag Racing ยกตัวอย่าง เช่น…
- ลักษณะของ Dog Ring เมื่อประกบกัน การเข้าต้องอาศัยความเร็ว ถ้าดึงช้าเกินไปจนรอบเกียร์ตก จะทำให้เกียร์เข้ายาก เพราะรอบไม่สัมพันธ์กัน และทำให้ Dog Ring เสียหายได้
G-force VS Liberty VS Jerico
ทั้งสามยี่ห้อนี้ เป็นเกียร์ธรรมดา H-Pattern ที่มีประสิทธิภาพสูสีกัน มาทั้งลูกแบบเบ็ดเสร็จ สองยี่ห้อแรกสามารถรับแรงม้าได้ระดับเกิน 1,000 PS Dog Ring ออกแบบมาได้ดี แข็งแรง เป็นเกียร์ยอดนิยมอีกรุ่น เพราะเครื่องยนต์รถ Drag บ้านเรา ส่วนใหญ่ตอนนี้ก็ทำแรงม้าได้ระดับ 1,000 PS กันหลายคัน ส่วน Jerico นั้น ถ้าเทียบกับ 3 รุ่นนี้แล้ว เป็นรองในด้านการรับแรงม้า เพราะอยู่ประมาณ 850 PS ไปถึงไม่เกิน 1,000 PS และ Dog Ring แข็งแรงสู้สองยี่ห้อนั้นไม่ได้ด้วยครับ…
PPG
อันนี้จะแปลกประหลาดกว่าสามยี่ห้อบน เพราะมันไม่ได้มาทั้งลูก (Gear Box Set) แต่ PPG จะมาเป็น “ไส้เกียร์” มาใส่กับเสื้อเกียร์เดิม ก็นับว่าสะดวกดีไปอีกแบบ สำหรับรถ Street ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงจุดยึดเกียร์ จับไส้โมดิฟายเข้าเสื้อเกียร์เดิมก็ง่ายกว่า รับแรงม้าได้ระดับ 1,000 PS เช่นเดียวกัน ส่วนระบบ Dog Ring ก็จัดได้ว่าแข็งแรงระดับเดียวกับ G-Force กับ Liberty ครับ…
กลไกเปลี่ยนเกียร์แบบ Sequential
ก็ยังเป็นเกียร์ธรรมดา ที่มีการทำงานของกลไกในเกียร์เหมือนกัน แต่ต่างกันที่กลไกการเข้าเกียร์ จะเป็นแบบ Sequential หรือ I-Pattern กล่าวคือ จะเข้าเกียร์เป็น “แนวตรง” เท่านั้น และข้อสำคัญ คือ “ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ข้ามจังหวะได้ทั้งสิ้น” นั่นเลยกลายเป็น “ข้อดี” ของกลไกเข้าเกียร์แบบนี้ คือ “ไม่มีข้อผิดพลาดในการเปลี่ยนเกียร์ข้ามจังหวะ” ไม่ว่าจะเปลี่ยนขึ้นหรือลง ซึ่งรถแข่ง Circuit ก็จะนิยมใช้กันมาก ส่วน “ข้อเสีย” ก็คงจะเป็นของรถ Drag ที่วิ่งถนนด้วย เพราะ “การเข้าเกียร์มันไม่สามารถข้ามจังหวะได้” อย่างวิ่งมาเกียร์ 4 จะหยุดรถ ก็ต้องเปลี่ยนไล่ลงตามลำดับ 4-3-2-1-N ทำให้เกิดความยุ่งยากมากกว่าเกียร์ H-Pattern ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าใครจะเอาเกียร์แบบนี้ไปวิ่งใช้งานบนถนนบ่อยๆ กันละครับ ดังนั้น ผมจึงไม่นับว่ามันเป็นข้อเสียโดยตรง สำหรับเกียร์ Sequential ถ้าเป็นในรถ Drag ไม่ค่อยเจอ มันเหมือนก้ำกึ่งกับ V-Gate ที่เป็นเกียร์สำหรับ Drag Racing แท้ๆ คนก็เลยหนีไปเล่น V-Gate (เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไป) สำหรับรถ Drag ที่ใช้เกียร์ Sequential ของบ้านเรา ส่วนมากมักจะเป็นเหล่า SKYLINE GT-R สำหรับเกียร์ Sequential ยี่ห้อที่เห็นคนไทยใช้เยอะหน่อย ได้แก่…
- ด้ามเกียร์แบบ Sequential หรือ I-Pattern ใช้การดึงเปลี่ยนเกียร์สูง ดันเปลี่ยนเกียร์ต่ำ สามารถ Shift Down ได้ ไม่ค่อยนิยมในรถ Drag เพราะถ้าจะใช้อันนี้ ขยับไปใช้ V-Gate ดีกว่า
Liberty VS Hollinger VS OS 88
ลองเปรียบเทียบกันดู สำหรับ Hollinger อาศัยความเป็นเกียร์ฝรั่ง ที่มีความทนทานสูง แต่ว่าแข็งแรงสุดยอด ก็ต้องเป็น Liberty ที่เคลมไว้ว่ารับแรงม้าได้ถึง 2,500 PS แพงหน่อย แต่จัดมาแล้วใช้กันยาวๆ ไป ส่วน OS-88 เกียร์ การออกแบบ Dog Ring มันจะเป็นทรงประหลาดกว่าชาวบ้าน ทางผู้สันทัดกรณีก็มีความเห็นว่ามันไม่ค่อยทน เกียร์แตกเสียหายค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะ Dog Ring ที่จะไปก่อนเพื่อน…
Ikeya Formula
จริงๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกับเกียร์รถ Drag โดยตรง แต่มีความเข้าใจผิดอยู่ว่ามันคือเกียร์ Sequential จริงๆ แล้ว Ikeya Formula มันเป็นเพียง “ชุดกลไกการเข้าเกียร์ ที่เปลี่ยนจากแบบ H-Pattern เป็น I-Pattern” โดยที่ยังใช้เกียร์เดิมติดรถอยู่ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่ามันเป็นเกียร์ Sequential ของซิ่งแท้ๆ จริงๆ แล้วเป็นเพียงชุดกลไกการเข้าเกียร์เท่านั้นครับ…
- ด้ามเกียร์แบบ V-Gate สังเกตว่าจะเป็นร่องสลับฟันปลา ให้ดันและดึงสลับการเข้าเกียร์ เพื่อลดการเข้าเกียร์ผิด แต่ไม่สามารถ Shift Down ได้ จนกว่าจะหยุดรถและเข้าเกียร์ 1 ใหม่
กลไกการเข้าเกียร์แบบ V-Gate
ยังคงอยู่ในหมวดเกียร์ธรรมดาครับ ต้องแยกกันให้ออก ระหว่าง “ระบบเกียร์” และ “ระบบกลไกการเข้าเกียร์” ออกเป็นสองส่วน สำหรับกลไกการเข้าเกียร์แบบ V-Gate นั้น “เป็นของรถ Drag อย่างเต็มรูปแบบ” ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้กับการแข่งขันรูปแบบอื่นๆ ได้เลย ทำไมถึงต้องเป็น V เพราะจังหวะการเข้าเกียร์ จะเป็นแบบ “ดึง-ดัน” เดินหน้าและถอยหลังสลับกันไป มองข้างๆ เหมือนรูปตัว V และมันถูกออกแบบให้มีการล็อกจังหวะเกียร์เป็น “สลับฟันปลา” เพื่อล็อกไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในเวลาเข้าเกียร์เลย เรียกว่าใครขับ V-Gate แล้วยังเข้าเกียร์ผิดได้ก็คง “เหนือมนุษย์ปกติไปมาก” นะครับ สำหรับ “ข้อดี” ของเกียร์ V-Gate ก็อย่างที่บอกไปตะกี้ “ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำได้” เช่น 1-2-3-4-5 แล้วจะกลับลงมา 5-4-3-2-1 ไม่ได้ จะกลับได้เป็น 1 ต่อเมื่อจอดรถแล้วเข้าเกียร์ใหม่เท่านั้น จะนับเป็นข้อเสียก็ไม่ได้ เพราะรถ Drag ไม่ได้สนใจเงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ตอนนี้เกียร์ V-Gate กำลังได้รับความนิยม เพราะเป็นเกียร์ธรรมดาที่บำรุงรักษาง่าย ไม่จุกจิก ส่งกำลังได้เต็มๆ เข้าเกียร์ได้แม่นยำและเร็ว เราจึงเห็น V-Gate ใช้ในรถ Drag บ้านเราเป็นส่วนมากก็เป็นของค่าย Jerico นั่นเอง…
- เกียร์แบบ Air Shifter ที่อาศัยแรงดันลมในการเปลี่ยนเกียร์ จะมีโซลินอยด์ลมเป็นตัวเตะกลไกการเข้าเกียร์ ก็จะเห็นสายลมระโยงระยางเต็มไปหมด ก็ต้องหมั่นดูแลเยอะหน่อย เพราะจุดรั่วไหลมันเยอะ
กลไกการเข้าเกียร์แบบ Air Shifter
มาถึงสุดยอดความเร็วกับการเข้าเกียร์ด้วยระบบ “นิวเมติก” หรือ “ลม” ซึ่งระบบนี้จะเป็นกลไกที่มี “โซลินอยด์ลม” ใช้แรงดันลมมาเปลี่ยนเกียร์แทนแรงมือ ใช้เพียงแรงนิ้วกดเท่านั้น ที่คุณเห็นมันเป็นกระปุกกลมๆ หลายๆ อัน อันนั้นแหละครับโซลินอยด์ลม 1 ตัว เปลี่ยน 1 เกียร์ จะกี่เกียร์ก็กดเข้าไปสิครับ ส่วนตัวเกียร์นั้น ก็เป็นแบบ Dog Box ยี่ห้อดังๆ ที่ได้ยินกันบ่อยๆ แล้วมาประกบกลไก Air Shifter เข้าไป สำหรับ “ข้อดี” ก็คือ “มีความเร็วในการเข้าเกียร์เร็วที่สุด” และ “แม่นยำที่สุด” อย่างที่เราจะได้เห็นกันในรถ Drag ระดับ Open พวกเฟรมทั้งหลาย แต่ “ข้อเสีย” อันนี้มีแน่นอน “กลไกเยอะ” เลยทำให้ “การดูแลรักษาต้องมีขั้นตอนมากกว่าปกติ” บางทีตอนแข่งก็เจอปัญหา เช่น ลมสกปรก โซลินอยด์ตัน + ค้าง เกียร์ไม่เปลี่ยน สายลมรั่ว ฯลฯ ก็ต้องหมั่นดูแลตรวจสอบกันหน่อย…
- เกียร์ LENCO ก็จะมีเอกลักษณ์ของมัน เสื้อเกียร์จะต่อเป็นเคสๆ อย่างที่เห็นในภาพ ใน 1 เคส จะเป็นชุดเฟืองเกียร์แบบ Planetary คล้ายๆ ของเกียร์ออโต้ ซึ่งการสร้างเกียร์แบบนี้ เฟืองเกียร์จะทำขนาดใหญ่ได้ เพราะอยู่ห้องใครห้องมัน ไม่มาเกาะเป็นราวเหมือนเกียร์ธรรมดาทั่วไป ที่เฟืองเกียร์จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
กลไกการเข้าเกียร์แบบ Multi-Lever Shifters
อันนี้จะประหลาดหน่อย เพราะมันมี “ด้ามเกียร์หลายด้าม” เล่นเอา “เงิบ” กันไป แต่ก็มีใช้กันอยู่ในเมืองไทย เป็นเกียร์ของ LENCO ตระกูล CS ก็ผลิตมา ไอเดีย “เจิด” ดีนะ คันเกียร์ 1 ด้าม ต่อการเข้า 1 เกียร์ ไม่ต้องลิ้งค์ไปมา อยากได้เกียร์ไหน ดึงเอาเลยตามลำดับ ตัวเสื้อเกียร์ก็จะประหลาดอีกเหมือนกัน คือ เสื้อเกียร์แยกเป็นเคสๆ สามารถนำมาต่อกันได้เพื่อเพิ่มอัตราทด เคสหลัก 1 เคส จะมี 2 สปีด ถ้ามาต่ออีก 1 เคส จะเป็นเกียร์ 3 ถ้าต่ออีก 1 เคส จะเป็นเกียร์ 4 ข้อดีของเกียร์ตัวนี้ คือ “ความแข็งแรงสูงมาก” เพราะมันแบ่ง 1 เกียร์ 1 เคส เลยสามารถออกแบบให้เฟืองเกียร์มีขนาดใหญ่กว่าเกียร์แบบเคสเดียวทั่วไปได้เยอะ ก็รุ่น 4 สปีด เคลมว่ารับแรงม้าได้ 3,000 PS สำหรับ “ข้อเสีย” คือ “เกียร์จะมีขนาดใหญ่มาก” และ “ด้ามเกียร์เยอะ เกะกะ” ก็ไม่อยากนับว่าเป็นข้อเสีย เพราะรถระดับที่จะใช้เกียร์แบบนี้ ก็คงไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องนี้สักเท่าไร…
- ด้ามเกียร์แบบ Multi Lever Shifters ก็ดึงเอาเลย เกียร์ใครเกียร์มัน ดึง 2 ด้ามพร้อมกัน มีผสมอัตราทดได้ด้วยนะ
เกียร์อัตโนมัติ
หรือ “เกียร์ออโต้” ที่เราคุ้นเคย กลไกการทำงานของเกียร์จะแตกต่างจากเกียร์ธรรมดาสิ้นเชิง เกียร์ออโต้จะใช้ “แรงดันน้ำมันเกียร์” ที่สร้างมาจาก Torque Converter ปั่นให้เกิดแรงดันวิ่งเข้าไปในสมองเกียร์ จะเป็นช่องทางเหมือนเขาวงกต คอยไปสร้างแรงดันให้ชุดคลัตช์เปียก (Clutch Pack) เกิดแรงจับ ทำให้เกิดการส่งกำลังขับเคลื่อน ซึ่งพื้นฐานของเกียร์ออโต้ จะ “เน้นในการขับสบาย มากกว่าเอาสมรรถนะ” คลัตช์ไม่ต้องเหยียบ เกียร์ไม่ต้องเปลี่ยนเอง มันทำให้หมด ถ้าจะเทียบกันแล้ว หากเป็นรถรุ่นเดียวกัน เกียร์ธรรมดาจะมีสมรรถนะในการ “แรด” เหนือกว่า เพราะการส่งกำลังมันเป็นแบบตรงๆ คลัตช์จับเมื่อไร ก็ส่งกำลังได้ทันที ส่วนเกียร์ออโต้ จะต้องใช้แรงดันน้ำมันเป็นหลัก จึงมีการ Delay กว่าเกียร์ธรรมดา แต่ทำไมถึงมาอยู่ในรถ Drag ได้ละ ??? มันมีข้อดีตรงไหน ???
- เกียร์ออโต้แบบ Power Glide 2 สปีด ลูกสั้นๆ แค่นี้ ชิ้นส่วนน้อย แต่ถ้า “ไม่แรงจริงก็ไปไม่ไหว” เหมาะสำหรับเครื่องใหญ่ๆ แรงบิดเยอะๆ และต้องมีรอบด้วย
สิ่งที่เกียร์ออโต้เหนือกว่าเกียร์ธรรมดา คือ “จังหวะการออกตัว” ระบบ Torque Converter จะส่งกำลังแบบ Linear หรือ “ละเมียดละไม” กว่า ทำให้ช่วยลดอาการล้อฟรีได้มาก หากเป็นเกียร์ธรรมดา เร่งรอบออกตัวแล้วปล่อยคลัตช์จะจับแบบทันทีทันใด มันจะเกิดแรง Shock ทำให้ล้อฟรี หรือระบบส่งกำลังเสียหาย ตรงนี้เกียร์ออโต้จะได้เปรียบ และการเปลี่ยนเกียร์ของเกียร์ออโต้ก็ไวกว่า ไม่พลาด คนขับก็ไม่ต้องพะวงมาก ทำให้มีสมาธิกับการคุมรถมากกว่า ส่วน “ข้อเสีย” ก็คือ “การส่งกำลังจะช้ากว่าเกียร์ธรรมดา” เป็นเรื่องปกติ แต่ไปได้เปรียบใน “จังหวะเปลี่ยนเกียร์ที่แม่นยำ” ก็พอถูไถไปกันได้ อีกประการ “การบำรุงรักษาเยอะกว่าเกียร์ธรรมดา” เนื่องจากชิ้นส่วนภายในมันเยอะครับ ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น…
- เกียร์ออโต้ โมเดล TH400 หน้าตาก็บ้านๆ ทั่วไป ใส่กับรถ Street ได้ มีทั้ง 3 และ 4 สปีด แล้วแต่เราสั่ง
จำนวนสปีดของเกียร์ออโต้ เลือกอย่างไร
ก่อนอื่นขอบอกว่า เกียร์ออโต้ส่วนใหญ่ถูกพัฒนามาจากเกียร์รถบ้านของทางฝั่งอเมริกานั่นเองครับ อย่างตระกูล TH400 หรือ C-4 หรือเป็นพวก 2 สปีด อย่าง Power Glide ก็มีพื้นฐานมาจากเกียร์ของรถเครือ GM (General Motors) แทบจะทั้งหมด แต่มีการนำมาดัดแปลงไส้ในใหม่ ให้เป็น Drag Racing Purpose Only ส่วนใหญ่ยี่ห้อคุ้นๆ ก็จะเป็นพวก J.W, ATI ที่นิยมใช้กัน ส่วนอีกยี่ห้อ COAN ก็มีคุณภาพดี แต่คนไม่ค่อยใช้ ส่วน TCi ก็เคยมีใช้กันอยู่พักหนึ่ง แต่คุณภาพวัสดุจะเป็นเกรดรอง ความทนทานจึงด้อยกว่า สำหรับจำนวนสปีดของเกียร์ออโต้ ก็จะเริ่มจาก 3 และ 4 สปีด ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเครื่องแรงๆ มักจะเป็น 3 สปีด ก็พอ เกียร์ยิ่งเยอะ ยิ่งเสียเวลาเปลี่ยนเกียร์มาก…
ส่วนเกียร์ Power Glide 2 สปีด ทั้งค่าย J.W และ ATI จะเป็นแบบเกียร์โบราณจริงๆ ซึ่งตอนนี้มีใช้เฉพาะรถ Drag หลายคนอาจจะสงสัย (รวมถึงผมด้วย) ว่า “มันจะวิ่งยังไงวะ” มีแค่ 2 สปีด จริงๆ นะ สปีดยิ่งน้อยยิ่งห่วยไม่ใช่เหรอ แต่จริงๆ แล้ว มันมีเงื่อนไขว่า “เครื่องยนต์ต้องมีแรงบิดมาก” เพราะอัตราทดเกียร์มันไม่ได้สูงมาก ค่อนข้างต่ำอีกต่างหาก ถ้าเครื่องแรงบิดไม่พอ จะ “ห้อย” ออกตัวไม่ได้ ต่อมา “ยางใหญ่” เพราะเกียร์ 2 มันก็ไม่ได้ทดต่ำมาก ไม่งั้นก็ห่างจาก 1 มาก ถ้าล้อไม่ใหญ่ ช่วงตีนปลายก็จะ “หมด” เร่งไม่ไป เหมือนรถใส่เฟืองท้ายจัดเกินไปนั่นเอง “เครื่องต้องรอบจัด” ด้วย จะได้พาตีนปลายวิ่งไปได้ ส่วน “เครื่องดีเซล” ไม่เหมาะที่จะใช้เกียร์ 2 สปีด เพราะดีเซลบ้านเราใช้เครื่องเล็ก รอบน้อย เต็มที่ก็แถวๆ 5,000-5,500 รอบ ไม่สามารถลากความเร็วปลายไปได้เยอะ ส่วนการบำรุงรักษา เกียร์ 2 สปีด จะบำรุงรักษาง่ายกว่าเพื่อน เพราะชิ้นส่วนภายในน้อยนั่นเอง…
- “สมองเกียร์” ของรถแข่งจะมีการเปลี่ยนหรือเพิ่มช่องทางการเดินน้ำมันใหม่ ไม่เน้นนุ่มนวล เน้นความไวและทน
เกียร์ออโต้ “ไทยแลนด์” สไตล์
ปิดท้ายกับ “ช่างญา” แห่ง YA SERVICE ที่เป็นผู้พัฒนาเกียร์ออโต้แบบ “ไทยทำ” ขึ้นมา เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงในระดับของนอก แต่ราคาคบได้ง่ายกว่า ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับเกียร์ของช่างญา ก็จะเป็นการโมดิฟายไส้ในทั้งหมด ก็เหมือนกับของอเมริกาที่นิยมใช้เกียร์ออโต้กันมาก ส่วน “ท้าย” ที่ต่อยื่นออกมา ช่างญาบอกว่าเป็นชุดคลัตช์ที่เพิ่มขึ้นมา เอาไว้ใช้เวลาเร่งรอบออกตัว สามารถเร่งรอบเบิ้ลได้เหมือนเกียร์ธรรมดา คลัตช์ชุดในเกียร์ทำงานปกติ แต่คลัตช์ชุดท้ายเกียร์นี้จะยังไม่ทำงาน ซึ่งก็เป็นการตัดกำลังที่จะไปยังเพลา เหมือนมีคลัตช์แบบ 2 Stage พอจะไป ก็ใช้สวิตช์ต่อคำสั่งให้คลัตช์ชุดหลังนี้ทำงาน รถก็จะพุ่งออกไป เหมาะสำหรับรถที่ไม่มีไนตรัส ส่วนอีกแบบจะเหนือกว่า ก็คือ ทำชุด Trans Brake ไว้เหมือนกับพวก Power Glide ก็จะไม่มีชุดคลัตช์ด้านหลัง เหมาะสำหรับรถที่มีไนตรัสช่วยแรงในการออกตัว ก็นับเป็นเทคโนโลยีไทยๆ ที่พัฒนาไปไม่แพ้ของนอกเลยครับ…
- เกียร์ของช่างญา โมดิฟายแบบไทยๆ ชุดท้ายเกียร์ที่ต่อพิเศษมา ด้านในก็เป็นชุดคลัตช์ชุดที่สอง เอาไว้ตัดต่อกำลังที่จะส่งไปยังเพลากลาง เพื่อที่จะให้เบิ้ลรอบออกตัวได้เหมือนเกียร์ธรรมดา
ขอขอบคุณ
MACTEC โทร. 08-3770-2222, 08-7444-4999
YA SERVICE โทร. 08-1880-6673