หลังจากที่ได้ Re-entry คอลัมน์ XO Knowledge ขึ้นมา หลังจากที่มันได้ห่างหายจาก XO AUTOSPORT ไปนับสิบปี ก็รู้สึกว่าเป็น “สิ่งที่ชอบ” ของตัวข้าพเจ้าเอง และก็รู้สึกดีที่ “ผู้อ่านได้ความรู้” ไปใช้เป็นพื้นฐานของการต่อยอดการโมดิฟายรถตัวเองในอนาคต
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อมูลที่ท่านจะเอาไปโมดิฟายเองได้ แต่อย่างน้อย “ขอให้รู้ว่ามันคืออะไร ทำหน้าที่อะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร” เพื่อ “พิจารณาได้เอง” จะได้ไม่เสียเปรียบด้วยความ “ไม่รู้” ครับ ครั้งนี้ ก็ขอนำท่านไปพบกับ “กล่องสมองกลแสนฉลาด” ที่กุมชีวิตรถทั้งคันไว้ในมือ คือ ECU นั่นเองครับ แล้วมันจะมีอิทธิพลอะไรกับเรา ถึงคลั่งกันขนาดนั้น ???
- รถสมัยใหม่ หากเป็นระบบ Hi-end นับว่ามีเทคโนโลยีสุดไฮเทค ควบคุมด้วยกล่อง ECU มีความละเอียดสูง การปรับแต่งจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่งั้นถ้ากล่องมีปัญหาแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนมากแล้วก็จะเป็นการเปลี่ยนโปรแกรมใหม่ อัพโหลดโดยบริษัทในต่างประเทศ แล้วขายเป็น Package มี Step ให้เลือก
ECU เกิดมาเพื่ออะไร
ECU ย่อมาจาก Engine Control Unit ที่คนเราเรียก “กล่อง” นั่นเอง ในสมัยเก่า รถยนต์จะไม่มีกล่อง ECU เพราะยังใช้การจ่ายน้ำมันแบบ “คาร์บูเรเตอร์” ที่อาศัย “กลไก” (Mechanic) ควบคุมการจ่าย ไม่ได้มีระบบไฟฟ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่รถที่เป็นระบบ “หัวฉีดกลไก” ก็ใช้กลไกคล้ายๆ ปั๊มดีเซล คอยปั๊มน้ำมันเข้าไปในแต่ละสูบ ก็ไม่ได้มีระบบไฟฟ้าเข้าไปยุ่งอีกเช่นกัน แม้จะมีก็แค่ “ไฟเลี้ยงปั๊ม” นิดหน่อยเท่านั้น ดีเซลก็แนวเดียวกัน หลังจากนั้น มีกฏหมายบังคับเรื่องมลพิษเข้ามาบังคับใช้ในรถยนต์ ระบบกลไกโบราณมันจ่ายน้ำมันไม่ละเอียดเท่าที่ควร ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก มลพิษก็มาก จึงต้องมีการคิดค้นระบบ “หัวฉีดไฟฟ้า” ขึ้นมาแทนที่ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบกลไก ที่ค่อยๆ จะหมดไป…
- รถ Classic/Retro ก็ใช้คาร์บูเรเตอร์ หรือถ้ารถเกรดดีๆ ก็จะใช้หัวฉีดแบบกลไก (K-jetronic) แต่สมัยนี้ รถเก่าก็พยายามจะอัพเกรดเป็นหัวฉีดไฟฟ้า (EFI) เพื่อการสั่งจ่ายน้ำมันที่แน่นอน และเปลี่ยนเงื่อนไขตามการโมดิฟายได้อีกด้วย ก็จึงต้องพึ่งกล่อง ECU เข้ามาช่วยสั่งการ
กล่อง ECU จะถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็น “การปฏิบัติการควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิง และการจุดระเบิด” โดยมีการสร้างแผงวงจร หลักการเดียวกับ “วิทยุทรานซิสเตอร์” นั่นเอง มีการรับส่งสัญญาณ เพื่อถอดรหัสเป็นคำสั่ง ต้องมีการใส่โปรแกรมเข้าไป เพื่อการควบคุมที่ “แม่นยำ” และ “สั่งได้ในเงื่อนไขต่างๆ” มากมาย เช่น มีการชดเชย (Compensate) ในสภาวะการขับขี่, อุณหภูมิ, การใช้คันเร่ง, การใช้รอบเครื่อง, ตำแหน่งเกียร์ ฯลฯ มันจะมี “เซนเซอร์” ต่างๆ มากมาย คอยวัดค่าในจุดต่างๆ เช่น Oxygen Sensor วัดค่า CO2 ส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศ (A/F Ratio) พอเป็นไอเสียแล้วมีค่าเท่าไร หนาไป บางไป, Speed Sensor วัดความเร็วของรถ จากการหมุนของล้อ ว่ารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าไร, Throttle Sensor วัดองศาลิ้นเร่ง คนขับเร่งเท่าไร, Air Temp Sensor อุณหภูมิอากาศ ร้อน เย็น โอ๊ย สารพัดครับ ทั้งหมดนี้ จะส่งสัญญาณไปเข้ากล่อง ECU เพื่อ “บอกเล่า” ว่าตอนนี้รถอยู่ในสภาวะไหน แล้วโปรแกรมจะปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่ทางผู้ผลิตรถยนต์ได้ Setting มา เพื่อให้ “ตอบสนองการขับขี่สมบูรณ์ที่สุดทุกสภาวะ” เท่าที่จะทำได้นั่นเองครับ แม้ในปัจจุบัน เครื่องยนต์ดีเซลก็ยังใช้ระบบ ECU ที่ซับซ้อนเช่นเดียวกัน เพราะต้องการเหตุผลเดียวกันนี้เอง…
- กล่อง ECU จะทำหน้าที่ควบคุมสั่งการระบบต่างๆ ในรถ ใบเดียวคุมหลายอย่าง โดยเฉพาะรถระดับ Hi-end ทั้งหลาย ระบบจะยุ่งยากไปหมด จึงไม่สามารถยกเลิกระบบเดิมได้ ต้องใช้การ Reflash โปรแกรม หรือการใส่กล่องพ่วงต่างๆ แต่ก็ต้องดู ECU สมัยใหม่มีความฉลาดมาก ถ้ามีข้อมูลอะไรที่ผิดแปลกไป มันจะมีระบบ Feed Back ดึงข้อมูลกลับมาเป็นสแตนดาร์ด
โมฯ กล่อง โมฯ ยังไง มีหลายแบบ
สำหรับกล่อง ECU จากรถเดิมๆ นั้น ทางผู้ผลิตก็จะเซ็ตมาแบบ “เป็นกลาง” ตามลักษณะการใช้งานทั่วไป ไม่ได้เอาแรงบ้าเลือดอย่างเดียว มันจะต้องมีเรื่องของการควบคุมมลพิษ อัตราสิ้นเปลือง ความคงทนของเครื่องยนต์ อัตราเร่งที่ทุกคนต้องขับได้โดยไม่อันตรายเกินไป และการจำกัดความเร็ว เช่น ในญี่ปุ่น ไม่เกิน 180 km/h และในเยอรมัน ไม่เกิน 250 km/h (155 mph) แต่ส่วนใหญ่แล้ว เราจะเล่นรถญี่ปุ่นกันมากกว่า โคตรจะหงุดหงิดใจ วิ่งได้ไม่เกิน 180 km/h จะขับเครื่องแรงไปทำไมกัน ด้วยความต้องการของคนที่ไม่สิ้นสุด “ขอเพิ่ม” หน่อยก็แล้วกัน จึงมีการโมดิฟาย ECU ขึ้นมา เพื่อ “เปลี่ยนเงื่อนไขโปรแกรมกล่อง” ใหม่ ให้สั่งการเพิ่มความแรง เช่น “เพิ่มเวลาการเปิดของหัวฉีด + เพิ่มองศาไฟ + ปลดล็อกความเร็ว” ทำให้เครื่องมีแรงม้าออกมามากกว่าเดิมนั่นเอง ซึ่งการโมดิฟาย ECU ก็มีหลายแบบ แยกเป็นหลักๆ ดังนี้…
แบบโมดิฟายกล่องเดิม
ตามที่บอกเลย ใช้การ “โมดิฟายโปรแกรมใน ECU เดิมติดรถ” ไม่ได้มีการเปลี่ยนชนิดของ ECU หรือ พ่วงกล่องอื่นใดๆ เลย มันก็แยกไปเป็นหลักๆ สองประเภท ดังนี้…
E-Prompt Emulator
เราจะรู้จักกันในนามของ “โมฯ รอม” (Rom Editor) โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของ ECU เดิมอย่างที่ได้กล่าวไป จะเอาน้ำมันมาก ก็สั่งหัวฉีดยก จาก 3 Millisecond เป็น 4 Millisecond เพื่อเพิ่มน้ำมัน หรือไปลดน้ำมันในช่วงรอบปลาย เพื่อให้รอบเครื่องขึ้นเร็ว (แล้วแต่เงื่อนไขการโมดิฟาย) หลังจากได้เงื่อนไขใหม่แล้ว ก็ใส่ข้อมูลในตัว ROM อันใหม่ จากนั้น ต้องสร้าง Socket สำหรับติดตั้ง ROM ที่โมดิฟายใหม่เข้าไป เพราะกล่องเดิมไม่มีที่ใส่ ROM พิเศษตัวนี้ สังเกตครับ ถ้าใครเคยเห็นหรือเคยเล่นกล่องโมดิฟายยุคเครื่องหัวฉีด + เทอร์โบ รุ่นก่อนๆ เวลามี “กล่องโมฯ จากนอก” เข้ามา เมื่อเปิดฝาดู ก็จะพบกับ ROM ตัวนี้เสริมพิเศษขึ้นมา ตอนหลังจึงเริ่มมีการ Copy ออกมาขาย สมัยก่อนก็ทำได้แค่นั้นจริงๆ แต่ก็ใช่ว่าจะดีนะ เพราะถ้าเป็นข้อมูลจากนอก ก็ไม่รู้ว่าเค้าเซ็ตมาสำหรับเครื่องสเต็ปไหน บ่อยครั้งที่ใส่เข้าไปแล้วก็วิ่งไม่ดี กินน้ำมันมาก เดินเบาไม่เรียบ พูดง่ายๆ มัน “หาลงตัวยาก” ยกเว้น “ฟลุก” ไปเจอที่มัน Match กับเครื่องเราก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ก็อาศัย “วัดดวง” เอา บางทีก็ “พังไว” เพราะสภาวะ หรือ Condition ที่ญี่ปุ่นนั้นต่างกับเรา เช่น อากาศเขาเย็นกว่า และ น้ำมันเขาออกเทนสูงกว่า จึงสามารถ Advance ไฟจุดระเบิดได้มาก บูสต์ได้เยอะ แต่พอมาเจอบ้านเราที่ Condition ทุกอย่างแย่กว่าหมด เร่งองศาไฟมาก เครื่องก็เขก ทำให้พังได้ง่าย ปัจจุบันวิธีนี้ไม่นิยมแล้ว…
- ภายในกล่อง ECU จะมี Chip หรือ ROM หลายอย่าง ควบคุมแต่ละหน้าที่ เกาะติดอยู่บน Main Board ที่มีแผงวงจร (Circuit Print) เป็นการส่งสัญญาณไปประมวลผล
Reflash
มาถึงกล่องสมัยใหม่ ก็พัฒนาไปอีก ตัว ROM จะอยู่ในเมนบอร์ด (Main Board) ของ ECU เลย ไม่ต้องมาเสริม ROM เหมือนวิธีแรก เมื่อเรามีการแก้โปรแกรม จะเรียกว่า Reflash (รีแฟลช ไม่ใช่ Flat ที่แปลว่า “แบน”) ซึ่งสมัยนี้ สามารถดึงโปรแกรมกล่องออกมา แล้วลงมือปรับจูนได้ตามที่ต้องการ แต่ก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย เพราะกล่องสมัยนี้มัน Safety มาก และเป็นกับรถบางรุ่น ที่ไม่สามารถทำได้ เพราะมันจะ Feedback ดึงข้อมูลกลับมาเหมือนเดิม หากเราไปใส่อะไรที่ผิดไปจากเดิม กล่องมันจะรู้ครับ ประเภททำไปแรงอยู่ 2-3 วัน สักพักกลับมาวิ่งเหมือนตอนยังไม่ทำ นั่นแหละโดน Feedback แล้วในปัจจุบัน จึงมีการเขียนโปรแกรมป้องกัน Feedback ออกมา เพื่อไม่ให้ดึงข้อมูลกลับไปเป็นเหมือนเดิมนั่นเอง…
การ Reflash มันก็มีสองประการย่อยไปอีก ประการแรก “จูนแบบ Real Time” จาก Tuner เล่นกันสดๆ อันนี้จะมีข้อดี ตรงที่ว่า “สามารถจูนตามเงื่อนไขจริงได้” อยากได้อะไรก็ว่ากันไปตามจริง กับอีกแบบ คือ “จูนแบบโปรแกรมสำเร็จ” อันนี้มักจะใช้กับรถระดับ Premium หน่อย ที่เจ้าของไม่ค่อยกล้าจะให้จูนเองตามใจชอบ การจูนแบบนี้ ผู้ที่รับทำไม่จำเป็นต้องเป็น Tuner ที่มีประสบการณ์มากก็ได้ เพราะพวกนี้จะส่งข้อมูลไปบริษัทแม่ที่รับโมดิฟาย ECU มักจะเป็นต่างประเทศ แล้วบอกความต้องการไปว่าเป็นสเต็ปไหน เสร็จแล้วจะส่งข้อมูลโปรแกรมที่โมดิฟายแล้วกลับมา แล้วก็ Download ใส่ ECU เท่านั้นเอง อันนี้ดูจะง่ายครับ ข้อดี คือ “ใส่แล้วแรงม้าขึ้นแน่ๆ” เพราะจะมีการเคลมกันไว้เรียบร้อย เครื่องเดินเบาเรียบเหมือนเดิม พวกฟังก์ชันต่างๆ จากโรงงานยังใช้การได้ปกติเหมือนเดิม รวมถึงการ Warranty จากบริษัทรถยนต์ที่ยังคงอยู่ด้วย แต่ข้อเสีย คือ “ราคาค่อนข้างสูง” เพราะต้องมีค่า License ค่อนข้างแพง เพื่อการ Transfer ข้อมูล ที่บริษัทรถยนต์มักจะ Safety ตรงนี้ไว้มาก และไม่สามารถเลือกได้เหมือนการใช้ Tuner จูนแบบ Real Time เพราะแบบนี้เป็นการส่งข้อมูลกันไปมา เขาก็ทำตามเงื่อนไข Package ความแรงที่ขายไว้ ไม่สาม ารถ Over Spec ได้ เพราะจะทำให้เงื่อนไขการรับประกันและความคงทนของเครื่องยนต์ รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ นั้นเปลี่ยนไป…
- นี่แหละครับ ตัว ROM สังเกตด้านล่างจะมีรูๆ นั่นเป็นรูเสียบขา ROM (เยอะเหมือนขาตะขาบ) ROM จะถูกดึงออกไปปรับคำสั่งใหม่ หรือ E-Prompt Emulator เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิม ปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็น ROM ใน Main Board แล้ว ดึงออกมาไม่ได้ ก็ต้องใช้โปรแกรม Reflash เพื่อดึงข้อมูลเอา
Piggy Back
ปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมมาก Piggy Back หรือ “กล่องพ่วง” กล่าวคือ ยังคงมี ECU เดิมเอาไว้ เป็นข้อมูลหลัก แต่จะมีกล่องพ่วงคอยมา “กำกับการ” ECU หลักอีกครั้งหนึ่ง โดยปกติ รถที่ใช้งานทั่วไป สมัยนี้จะใช้ ECU เป็นตัวคุมการทำงานของระบบส่วนใหญ่ในรถยนต์ มิใช่เพียงระบบเครื่องยนต์อย่างเดียวนะครับ มันคุมหมดเลย นอกจากเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังแล้ว ก็ยังมีต่างๆ นานาๆ อีกเช่น ควบคุมพัดลมไฟฟ้า, แอร์, ระบบกันขโมย, ระบบล็อกประตู, ปั๊มเชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนกล่องพ่วงนั้น จะเอามาควบคุมและกำกับในด้านการทำงานของเครื่องยนต์โดยเฉพาะ เช่น องศาไฟ, อัตราการฉีดน้ำมัน ฯลฯ เพื่อ “ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข” ให้เครื่องยนต์นั้นแรงขึ้นตามที่ปรารถนา แต่ก็ยังคงฟังก์ชันการทำงานของระบบอื่นๆ ไว้ดังเดิม โดยใช้ ECU เดิมควบคุมส่วนนี้ไป ไม่ใช่ว่ายกเลิกของเดิมทั้งหมด รถจะใช้งานไม่ดี ระบบรวมมีปัญหา จึงต้องคงฟังก์ชันเดิมไว้ แล้วเอา Piggy Back มาจัดการเรื่องเครื่องยนต์อีกที…
Piggy Back แบบปรับจูนไม่ได้
Piggy Back ก็มีหลักๆ ย่อยไปอีกสองประเภท ประเภทแรก “ปรับจูนเองไม่ได้” ถ้าเป็นดีเซล ก็พวกกล่อง “ดันราง” คือ เพิ่มแรงดันในรางน้ำมันของระบบคอมมอนเรล ให้จ่ายน้ำมันได้เพิ่มขึ้น กล่องพวกนี้จะเป็นข้อมูลที่ผู้ผลิตใส่มาให้ ไม่สามารถเอามาจูนใหม่ข้างนอกได้ ใส่มายังไงก็ขับยังงั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเล่นกัน Step ต้นๆ ใส่กับเครื่องเดิมที่ไม่ได้โมดิฟายอะไร อันนี้ใส่แล้วแรงขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ ราคาก็ไม่แพงนัก คนไม่มีงบเยอะก็สามารถซื้อหาได้ ไม่ต้องยุ่งอะไร ไม่อยากใช้ก็ถอดออกไป ไม่มีผลเสียอะไรกับระบบ ECU เดิม แต่ถ้าอยากได้แรงมากกว่านี้ ก็ต้องหันไปเล่นประการต่อไป ซึ่งเป็นการอัพเกรดแบบ Case by Case กันเลยทีเดียว…
- หน้าตาของ “กล่องโมฯ” ในยุคที่เราพอจะทันได้เห็น เป็นกล่องที่โมดิฟาย ROM มาจากญี่ปุ่น ก็จะมี Logo ของสำนักแต่งนั้นๆ แปะมาด้วย จะแยกขายในราคาที่สูงพอสมควร ถ้าเป็นสำนักเทพๆ เอาเป็นว่าราคามันซื้อกล่อง Stand Alone ในสมัยนี้ได้สบาย แต่ก็ต้องเปิดดูว่ามีการทำ ROM มาจริงไหม (ดูอย่างที่บอกไปในเนื้อเรื่อง) แต่ก็ “ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าใส่แล้วต้องแรงเสมอไป” เพราะเราไม่รู้ว่าทำมาสำหรับเครื่องสเต็ปไหน เว้นแต่ฟลุคไปเจอที่ Match กันก็เฮงไป
Piggy Back แบบปรับจูนได้
แบบนี้ เราจะเรียกกันว่า Programmable หรือ “กล่องที่สามารถปรับจูนได้อิสระ” ที่ขาซิ่งทั้งหลายปรารถนากัน อันนี้กล่องจะมีราคาสูงขึ้นมาจากแบบปรับจูนไม่ได้อยู่พอควร กล่องไทยแท้สตาร์ทก็มี “สองหมื่นกว่า” ว่าไมได้ครับ อยากเล่นก็ต้องทำใจ อันนี้จะเป็นข้อดีที่ว่า “สามารถจูนได้อย่างอิสระ” โดยมี “จูนเนอร์” มาจูนกันสดๆ บนไดโน หรือบนถนน (อันหลังค่อนข้างอันตรายครับ ควรจะจูนไดโนก่อน แล้วค่อยมาเก็บบนถนนอีกที) ทั้งนี้ การโมดิฟายของรถแต่ละคันย่อมแตกต่างกัน การปรับตั้งเครื่องยนต์ก็แตกต่างกัน ดังนั้น เงื่อนไขการทำงานย่อมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงด้วย เราจึงต้องอาศัยจูนเนอร์ช่วย “ปรับเงื่อนไขให้เครื่องยนต์นั้นทำงานได้สมบูรณ์ที่สุดตามที่ได้โมดิฟายไป” ไม่งั้นเครื่องยนต์ก็ทำงานไม่ได้เต็มที่ และอาจจะ “พังเสียหาย” ได้ง่าย สมัยก่อนเครื่องโมดิฟายพังกันง่ายครับ เพราะกล่องมันสั่งการไม่ตรงตามความต้องการจริง สมัยนี้ การทำแรงม้าเป็นเรื่องที่ไม่ยากอีกต่อไป เพราะมีกล่อง Programmable มาช่วยนี่เอง…
กล่อง Programmable เอง ก็แยกเป็นสองประเภทย่อยได้อีก คือ “เป็นได้เพียง Piggy Back” ที่ต้องใช้ข้อมูลจาก ECU เดิมคอย Support อยู่ อันนี้ก็จะเป็นกล่องที่ราคาไม่สูงมาก อีกประเภท คือ “เป็น Stand Alone” ได้ด้วย กล่องประเภทนี้จะมีราคาสูง “หลายหมื่นไปยันหลักแสน” เดี๋ยวค่อยมาว่ากันในส่วนของ Stand Alone ในหัวข้อต่อไป สำหรับข้อดีของ Piggy Back แบบปรับจูนได้ ก็คือ “แรงขึ้น ลูกเล่นเยอะขึ้น แต่ฟังก์ชันเดิมของรถยังอยู่” ไม่ได้หายไปไหน เหมาะสำหรับ “รถบ้านซิ่ง” แนว Street Used ทั้งหลาย ที่ยังต้องการขับบนถนนได้อย่าง “พอจะสบาย” อยู่ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก…
- กล่อง Stand Alone ระดับสูง พวกนี้จะเน้นใช้กับรถแข่ง ซึ่งมีความละเอียดสูง และมี Data Log ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทั้งหมดเพื่อความถูกต้อง
Stand Alone
สำหรับกล่อง Stand Alone นั้น ชื่อก็บอกแล้วว่า “ยืนหยัดอย่างเดียวดาย” ไม่มีกล่องอะไรมาพ่วง หรือไม่ไปพ่วงกล่องอะไรทั้งสิ้น จริงๆ แล้ว ECU เดิม มันก็เป็น Stand Alone นะ แต่มันปรับจูนเองไม่ได้ อันนี้พูดให้ฟังเฉยๆ นะ แต่เราจะพูดถึงกล่อง Programmable กัน กล่องพวกนี้จะมีราคาที่สูง เพราะมันมีฟังก์ชันมากมายสำหรับ “เน้นการโมดิฟายอย่างเต็มที่ ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานแต่อย่างใด” ซึ่งฟังก์ชันของติดรถมาใน ECU เดิมๆ จะถูก “ยกเลิก” ทั้งหมด มันก็เหมาะสำหรับ “รถแข่ง” เป็นหลัก ที่ไม่ได้สนใจเงื่อนไขการใช้งานปกติ จริงๆ กล่อง Stand Alone บางรุ่น ก็มีเงื่อนไขฟังก์ชันการใช้งานเหมือน ECU ติดรถได้ แต่ก็มีราคาแพง และยุ่งยากในการปรับจูน เพราะคนส่วนใหญ่ก็คิดว่า ไหนๆ กูจะทำแรงสุดๆ ทั้งที ก็คงไม่ได้นึกถึงการใช้งานแต่อย่างใด เรียกว่า “ใส่กันได้เต็มที่” ความละเอียดมีสูง สามารถปรับจูนเครื่องยนต์ที่โมดิฟายมามากได้อย่างครอบคลุม ส่วนข้อเสีย ก็จะมีเรื่องราคาสูง และยังไงก็จูนรอบเดินเบา รอบช่วงต่ำและกลางได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ใครจะไปสนสำหรับเครื่องโมดิฟายระดับสูง มันก็เดินไม่เรียบอยู่แล้ว จะนับว่าเป็นข้อเสียของกล่องแบบนี้ก็คงไม่ใช่นัก…
- หน้าตาของ Data Log ที่บ่งบอกถึงว่า “เกิดอะไรขึ้น” ระหว่างการแข่งขัน ทุกสิ่งทุกอย่างจะฟ้องมาในนี้เลย ไม่ต้องมานั่งเดา
อันนี้จะเป็นเหมือน “กล่องดำ” เป็นการ “บันทึกข้อมูลการทำงาน” ในกล่อง ECU ระดับสูง ที่จะมี Data Log สำหรับการมาเปิดอ่าน ว่าที่ผ่านมา เครื่องยนต์ทำงานในสภาวะ (Condition) ใดบ้าง มันจะ “ไม่มีการเดา” ทุกอย่างต้อง “ตรวจสอบได้” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กล่องที่มี Data Log แบบละเอียด ที่รู้จักกันก็คือ MoTeC ที่บ่งบอกได้แม้กระทั่ง “สภาวะการขับขี่ในสนามจริง” ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง กับตัวรถ ช่วงล่าง เบรก ยาง รวมไปถึง “ผู้ขับขี่” สภาพไลน์สนาม เวลาต่อรอบ ความเร็ว ฯลฯ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อย่างละเอียด อย่างตัวผมเอง ที่เคยไปเรียน Singha Racing School ใน Rising Star Course ก็จะมีการเรียนการสอนขับรถแข่ง เมื่อขับเสร็จแล้ว จะมีการถอด Data Log ออกมาดู ว่าแต่ละคนขับอย่างไร มันจะฟ้องทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยไร้การโต้เถียงใดๆ แล้วมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก…Data Log
แนะนำกล่อง “คนไทย ราคาไทย”
ปัจจุบัน คนไทยสามารถพัฒนาฝีมือในการสร้างกล่อง ECU ได้เองแล้ว โดยอ้างอิงข้อมูลจากรถที่นิยมเอามาแต่งในบ้านเรา ตลาดใหญ่ก็คือ เหล่ารถ Eco Car และรถพิกัด 1,500 cc. รวมไปถึง “เหล่าดีเซล คอมมอนเรล” ที่ได้รับความนิยมสูงขณะนี้ กล่องแบบ “ไทยแท้” ก็จะมี 3 แบรนด์หลักๆ ด้วยกัน ดังนี้…
- เครื่องยนต์ที่โมดิฟาย ย่อมมีการทำงานที่ต่างไปจากของเดิม การใช้กล่องแบบ Programmable จึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่งั้นก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เครื่องไม่บื้อก็พัง
กล่องน้องใหม่ของไทย กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จากเหล่า Eco Car และ 1,500 cc. เป็นกล่องแบบ Piggy Back และ Programmable จะมีฟังก์ชันพิเศษอย่างเช่น Twin Map จูนได้สองเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น Low Boost หรือ Hi Boost และน้ำมันชนิดต่างๆ กัน ก็ดีไปอีกแบบที่เลือกใช้ได้เอง มี Launch Control ล็อกรอบออกตัวในขณะเหยียบคันเร่งจมได้ มี Anti Lag สำหรับรถเทอร์โบ แต่เหล่า N.A. ชอบกัน เพราะมีเสียงปุ้งปั้ง และไฟแลบออกทางท่อไอเสีย (แนะนำว่า ควรจะเล่นกันให้ถูกที่ถูกทาง สนุกได้ แต่ “อย่ารบกวนผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง” ครับ) ปลดล็อกความเร็ว, ใช้สำหรับเครื่องยนต์ 3 สูบ ได้ สนใจติดต่อ 084-133-9311, 085-046-6773, 086-333-4059Data Tec
ECU SHOP
ด้วยการนำทีมของ “อ.ยศ + อ.ยุทธ” จากเมืองเชียงใหม่ เปิดตัวด้วยการยืนตำแหน่ง อันดับ 10 Top Ten ใน Souped Up Thailand Records ปี 2005 แบบ “เขามาจากไหน” ทาง ECU SHOP ก็ได้สร้างกล่อง Programmable ที่เป็น Piggy Back สำหรับรถเบนซินและดีเซล ในรถเบนซิน จุดเด่นก็คือ เป็นฟังก์ชัน E85 Close loop กล่าวคือ เมื่อรถคันนี้ เติม E85 สำหรับการแข่งขัน แต่พอน้ำมันหมด หรือต้องเปลี่ยนน้ำมันอื่นเพื่อวิ่งถนน กล่องจะอ่านค่าและ “ปรับให้เองโดยอัตโนมัติ” ไม่ต้อง Switching ใดๆ เน้นความสะดวก และยังมี Twin Map ให้เลือกอีก เช่น ต้องการแรง และ ต้องการประหยัด เวลาขับใช้งาน ก็ยังมีลูกเล่นอื่นๆ อีกมากมาย ตอนนี้กำลังจะเริ่มทำตลาด และอีกไม่นาน จะมีแบบ Stand Alone ออกมา สนใจติดต่อ 087-914-1412
- โปรแกรมจูนกล่องแบบต่างๆ อันนี้เป็นแบบ Real Time คือ “ดูได้ตามสถานะที่เกิดขึ้นจริง” โดยมี “จูนเนอร์” คอยปรับข้อมูลตามที่เครื่องยนต์ต้องการ ก็ต้องดูการตอบสนองของเครื่องยนต์ด้วย ว่าจุดไหนถึงจะพอดี
- ไดโนเทสต์ จะมีความสำคัญมากในการจูน ประการแรก “ได้รู้สภาวะที่แท้จริงของเครื่องยนต์” เมื่อปรับจูน แรงม้าขึ้นหรือไม่ขึ้น มีสิ่งผิดปกติใดๆ หรือไม่ ทุกสิ่งจะฟ้องบนไดโนเทสต์
อีกยี่ห้อที่เป็นแบรนด์ไทยแลนด์ KKT จะเน้น “ราคามิตรภาพ” ไว้ สำหรับคนที่มีงบประมาณไม่มาก ก็สามารถซื้อมาใช้ได้ จุดที่ KKT นำเสนอ นอกจากฟังก์ชันอันทันสมัยแบบทั่วไปที่มีกันแล้ว จะมีฟังก์ชันเปลี่ยนแปลงการจุดระเบิด จากระบบจานจ่าย เป็น Direct-coil ได้ทันที เหมาะสำหรับเครื่องรุ่นเก่าที่อยากจะเปลี่ยนระบบจุดระเบิดใหม่, ฟังก์ชัน Launch Control ล็อกรอบออกตัว แล้วหยุดการทำงานด้วย Speed Sensor ของรถ, สามารถรองรับเครื่องยนต์ 6 สูบ ทั้งแบบ In-line และ V ได้อีกด้วย, สามารถใช้ได้กับรถยนต์ตั้งแต่รุ่นปี 1986-2103KKT
ขอขอบคุณ : POWER LAB สำหรับข้อมูลเรื่องกล่อง ECU สนใจวัดแรงม้า โมดิฟายต่างๆ โทร. 081-489-2008 (แมน)