EVO SUV ??? Rare Item AIRTREK Full Mod. By JUN THAILAND

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป

ปกติผมเป็นคนไม่ธรรมดา เพราะบางทีผมก็ “บ้า” ไม่เลิก ก็ต้องหาอะไรที่ “แตกต่าง” ทำกันบ้าง ฉบับนี้ก็ขอเสนอ “ของหายาก” หรือ Rare Item มันคือ EVOLUTION WAGON ก็ไม่ใช่ มันคือ MITSUBISHI AIRTREK Turbo รถรุ่นนี้เกิดมาเป็นพื้นฐานกึ่ง SUV เน้นใน Life Style ที่หลากหลายขึ้น แต่ยังคงความเป็นสปอร์ตสมรรถนะสูงในแนวทางเดียวกับตระกูล LANCER EVOLUTION ซึ่งความพิเศษของเจ้า AIRTREK ก็จะใช้เครื่องยนต์ 4G63 เทอร์โบ 240 แรงม้า นับว่าไม่ธรรมดาเลย กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full Time เรียกง่าย ๆ ว่า มันเป็น EVOLUTION ในมาดของ SUV นั่นเอง เป็นรถที่จัดว่าหายากในประเทศไทย คนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก คันนี้ถูกโมดิฟายมาเต็มที่ จัดว่า “สุด” เครื่องยนต์ใช้ท่อนล่าง EVO VIII MR ขยายเป็น 2.4 ลิตร แถมของแต่งชั้นดีตรงรุ่นอีกมากมาย อาจจะดูไม่หวือหวามากที่ภายนอก แต่ “เร้าใจ” แน่นอน…

มีจำหน่ายเมื่อปี 2003 แต่ก็หายไปตามเวลา

สำหรับเรื่องราวของรถรุ่นนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2003 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ณ ตอนนั้น แต่ไม่ได้ประกอบใน เป็นรถนำเข้ามาตามออเดอร์ แต่เหมือนว่าทำเป็น “ตัวเรียกกระแส” มากกว่า จำได้ว่าราคาค่อนข้างสูง ประมาณ “สามล้าน” จะมีบวกลบก็จำไม่ได้เหมือนกัน (นานแล้ว ขออภัย) จัดว่าแพงพอสมควรเลยล่ะ ตอนนั้นผมเองก็เพิ่งเข้าสู่วงการน้ำหมึกรถยนต์ใหม่ ๆ ก็ได้สัมผัสมันบ้างเหมือนกัน เป็นรถที่มีสมรรถนะดีมาก มันคือ SUV แบบสปอร์ต แรง เร็ว ควบคุมได้ดี ก็เป็นรถที่คนอยากจะทดสอบมากที่สุดในขณะนั้นคันหนึ่ง แต่ตอนหลังก็เงียบไป เพราะราคาสูง ตอนหลังในช่วงปี 2004 จึงมีตัว OUTLANDER ออกมาอีกครั้ง ตัวถังเดียวกัน แต่ถูกตอนความดุเดือดลงไป กลายเป็นเครื่อง 4G64 2.4 ลิตร SOHC MIVEC ที่กลายเป็นรถใช้งานธรรมดา ๆ แต่กลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก…

 

EVO VIII MR Short block

2.4 L More Durability & High Torque Concept

         การโมดิฟายรถคันนี้ ทาง “คุณตี่” มีคอนเซ็ปต์ไว้ว่า “ต้องเป็นเครื่องที่ทนทาน แรง ใช้งานจริงได้ ไม่พังง่าย” ตอนแรกก็ใช้เครื่อง 4G63 ตัวติดรถมาโมดิฟาย แต่มันก็ไม่เหมือนกับเครื่อง EVOLUTION VIII แท้ (ขอเปรียบเทียบเพราะมันรถยุคเดียวกัน) เพราะไม่มี Oil Jet Spray ฉีดน้ำมันเครื่องหล่อเลี้ยงใต้หัวลูกสูบเหมือนกับเครื่อง EVO พอขับแบบโหด ๆ หน่อย เครื่องก็เลยลาโลก เลยจัดการปรับปรุงใหม่ เอาท่อนล่าง EVO VIII MR มาเลย จะสุดยอดกว่า ทำทีเดียวให้จบ เพราะมันเป็นเครื่องที่ถูกปรับปรุงจุดอ่อนมาเหนือกว่าของ AIRTREK ค่อนข้างมาก ก็นับว่าคุ้มกับการลงทุน…

 

เกียร์ออโต้เดิม ๆ อัตราทดห่าง จึงต้องขยายความจุช่วยเพิ่มแรงบิด

หลังจากที่เครื่องตัวเก่าเสียหายไป ก็วางคอนเซ็ปต์ไว้ว่า ต้องการ “เครื่องแรงบิดดี มารอบไม่สูง” จึงตัดสินใจว่าจะเล่นกับ Stroker Kit ขยายเป็น 2.4 ลิตร ด้วยข้อเหวี่ยง MANLEY ขนาดช่วงชักถึง 100.0 มม. ทั้งนี้ ไม่ต้องการแรงม้ามหาศาลอะไรนัก แต่ต้องการแรงบิดมาก ๆ เนื่องจากว่า AIRTREK เป็นรถที่ใช้ “เกียร์ออโต้” แม้จะเป็นแบบ 5 สปีด มาแล้วก็ตาม แต่อัตราทด “ค่อนข้างต่ำ” หรือ “เกียร์ยาว” ประเภทเน้นวิ่งรอบไม่สูง ได้ความเร็วเยอะ แต่เสียอัตราเร่งไปเป็นข้อแลกเปลี่ยน (อันนี้ผมยืนยัน เพราะเคยลองขับ) เข้าใจว่ามันคือ “รถครอบครัว” ก็เน้นขับสบายด้วย ไม่เหมือนกับตระกูล EVO เกียร์ธรรมดา ที่เน้นความจัดจ้าน แต่ใช้รอบสูงในความเร็วเท่ากัน ย้อนกลับมาที่คันนี้ จากเดิมรู้สึกว่าเครื่อง 2.0 ลิตร มันเจออัตราทดเกียร์ค่อนข้างต่ำและห่าง มันยังไม่ค่อยทันใจเท่าใดนัก เพราะ Power Band ไปทางรอบสูง ก็เลยขยายข้อเหวี่ยง เพื่อเอา “แรงบิดมากขึ้นในรอบต่ำลง” มาเรียกแรงบิดออกมาเพื่อสร้างอัตราเร่งให้ดีขึ้น…

 

แท่นเครื่องยูรีเทน ทำให้อัตราการตอบสนองดีขึ้น จริงหรือ ???

คันนี้ก็ใช้แท่นเครื่องยูรีเทนของ AMS ที่มีความแข็งแรงและทนทานกว่าแท่นเครื่องของติดรถอย่างแน่นอน คงเคยได้ยินคนพูดกันว่า ใส่แท่นเครื่องยูรีเทนแข็ง จะได้อัตราการตอบสนองในด้านอัตราเร่งดีขึ้น แล้วมันเกี่ยวกันตรงไหน ลองคิดตามว่า “เมื่อมีอัตราเร่ง เครื่องยนต์จะเอียงสวนทางกับทิศทางการหมุนของข้อเหวี่ยง” เมื่อตอนออกตัว หรือตอนเร่งแบบมีโหลดมาก ๆ เครื่องยนต์จะยิ่งเอียงหรือบิดตัวมาก ตัวเครื่องมันบิดไม่ได้หรอก มันเป็นโลหะ แต่ที่จะไปบิดคือ “ยางแท่นเครื่อง” นั่นเอง มันต้องบิดได้ครับ เพราะมันต้องซับแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ทำให้เกิดความนุ่มนวลในขณะขับขี่ ถ้าไม่มียางแท่น ก็จะเกิดการสะท้านสูงมาก ทำให้ขับขี่ปกติไม่ได้ เขย่ากระพือจนหูอื้อ รับรองปวดประสาทตายในเร็ววัน…

แต่ในโลกของ Motorsport การทำให้มีการบิดตัวได้ “เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ” ทุกอย่างต้อง “กระชับสูงสุด” (Stiffness) เพื่อให้มีการ Lost ของกำลังน้อยที่สุด ยางแท่นเครื่องและแท่นเกียร์แบบยูรีเทน หรือซูเพอร์รีน ที่มีความแข็งค่อนข้างสูง ประการแรก เพื่อให้เกิดความ “แข็งแรง” ในการรองรับ “แรงกระชาก กระแทก” จากเครื่องแรงม้าสูง รวมถึงการขับขี่ที่รวดเร็วและรุนแรง การแข่งขันไม่มีคำว่าปรานี ทุกเสี้ยววินาทีมีค่า ประการที่สอง ถ้าปล่อยให้เครื่อง “มีการเอียงหรือบิดตัวที่มากเกินไป” จะทำให้เกิดการ “สูญเสียกำลัง” ได้ง่ายมาก เพราะจังหวะที่ออกตัว หรือตอนเร่ง ถ้าเครื่องบิดตัวมาก แทนที่มันจะส่งกำลังไประบบขับเคลื่อนทันที มันกลับต้องมีการ “ดีเลย์” ไปกับการบิดตัวนั้น ยิ่งเครื่องแรงมาก ก็ยิ่งบิดตัวมาก แล้วก็มีการสูญเสียมากไปด้วย จะมีผลในอัตราเร่งที่ “ดีเลย์” แต่ถ้าเราทำแท่นเครื่องให้แข็งกระชับ เวลาเร่ง เครื่องไม่บิดตัวมาก มันก็สามารถส่งกำลังไประบบขับเคลื่อนได้ทันทีทันใด ทำให้เกิดการตอบสนองที่ดียิ่งขึ้น…

 

อย่างรถควอเตอร์ไมล์ โดยเฉพาะรถเฟรม จะไม่มียางแท่นเครื่องหรือแท่นเกียร์อะไรเลย จะเป็นการยึดแบบร้อยนอตกับตัวเฟรมเลย เพื่อให้มีการส่งกำลังที่รวดเร็วทันที เพราะเน้นอัตราเร่งระยะสั้นอยู่แล้ว ทุกอย่างจึง Fix ติดแบบไม่มียืดหยุ่น แต่ก็มีข้อเสียคือ “เกิดการสั่นสะเทือนสูง” ในยางแท่นเครื่องแข็ง ๆ ไม่เหมาะสำหรับรถบ้าน หรือรถใช้งานทั่วไป รับรองคุณใส่เข้าไปก็ทนไม่ไหวหรอก รถแข่งมันไม่สนเรื่องความนุ่มนวลอะไรอยู่แล้ว ทุกอย่างต้องเต็มที่ บางทีจะซื้อมาใส่ก็ควรจะคิดก่อน มันจะมีแท่นเครื่องยูรีเทนที่ “เนื้อนิ่ม” สำหรับรถใช้งานทั่วไปด้วย ซิ่งได้ด้วย จะเอาก็ซื้อแบบนี้ใช้ละกัน…

 

โมดิฟายเกียร์ออโต้  เพิ่มจังหวะกระชับในการเปลี่ยนเกียร์

เกียร์ออโต้ของคันนี้ ก็ถูกอัพเกรดตามขึ้นไปกับแรงม้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้รองรับการขับขี่ที่รุนแรงขึ้น ถ้าเป็นเกียร์เดิมทนไม่ไหว เกิดการเสียหายได้ คุณตี่จึงส่งเกียร์ไปโมดิฟายใหม่ จากสำนัก ALDO ในมาเลเซีย ก็มีการเปลี่ยนชุดคลัตช์ภายในใหม่หมด รวมถึงการโมดิฟาย Rom ของกล่องเกียร์ (Transmission ECU) เพื่อให้ “ปรับจังหวะการจับของชุดคลัตช์ให้เร็วขึ้น” โดยปกติ เกียร์ออโต้จะมีจังหวะ Delay นิดหน่อย เพื่อให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล เหมือนกับการปล่อยคลัตช์ที่เลี้ยงไว้นิดหน่อยในเกียร์ธรรมดา แต่ถ้าโมดิฟาย ก็ต้องให้การจับของคลัตช์เร็วขึ้น เพื่อให้การต่อกำลังทำได้รวดเร็ว เหมือนเราเปลี่ยนเกียร์ ปล่อยคลัตช์เร็ว ๆ นั่นเอง แต่ก็จะต้องสูญเสียความนุ่มนวลในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดหัวทิ่มหัวตำ เพราะยังทำให้ใช้งานได้อยู่…

 

Comment : คุณตี่

สำหรับ AIRTREK สาเหตุที่เลือกเล่นกับรถรุ่นนี้ ชอบเพราะมันแปลกดี ไม่ซ้ำใคร รถเป็นแนวอเนกประสงค์ ใช้งานได้สะดวก และพื้นฐานเหมือนกับ EVO น่าจะโมดิฟายได้ง่าย ก็เลยจัดการไล่เป็นสเต็ปมาเรื่อย ๆ จนมาถึงตอนนี้ โดยรวมถือว่าพอใจครับ เป็นรถที่แรงประมาณหนึ่ง ขับมันส์ ขับใช้งานปกติได้อีกด้วย ช่วงล่างและเบรก พยายามปรับปรุงให้ดี ทำให้มั่นใจกว่าเดิมมาก รวม ๆ แล้วพอใจมากครับ ขอบคุณ “ช่างสัน” และทีมงาน JUN THAILAND โมดิฟายเครื่องยนต์, “Roj Wiring” สายไฟกล่อง F-CON, “Mr.Yee” โมดิฟาย Rom เกียร์ออโต้, Toshi ECU Flash

 

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

คันนี้ผมไปเห็นที่อู่ JUN THAILAND ก็เห็นว่ารถรุ่นนี้มันมีน้อย และคนนำมาโมดิฟายเต็มชุดอย่างนี้ก็มีน้อยมาก ในมาเลเซียจะเห็นรถรุ่นนี้ค่อนข้างมาก แต่ในเมืองไทยก็เท่าที่เห็นแหละครับ ก็เลยจัดมาให้ชมกันเป็นแนวแปลก ๆ บ้าง แต่ของที่ใช้ก็เป็นของดีทั้งหมด นับเป็นรถที่ดูจะไม่มีอะไร แต่ “จัดเต็ม” และ “เรียบร้อย” ใช้งานได้จริง เจ้าของเองก็พยายามหาของแต่งตรงรุ่นมาใช้อีกด้วย นับเป็นรถที่สวยแปลกอีกคันที่น่านำเสนอ ท้ายสุด ก็ขอขอบคุณ “คุณตี่” เจ้าของรถ และ JUN THAILAND ที่ติดต่อประสานงานให้ครับ…

Photo by wikipedia

X-TRA Ordinary

สำหรับคู่กัดของ AIRTREK โดยตรงในยุคปี 2003 นั่นก็คือ SUBARU FORESTER 2.0 XT ที่ใช้เครื่อง Boxer Turbo จนได้รับฉายาว่า IMPREZA SUV เหมือนกัน เกิดมากัดกันโดยตรง และผมเองก็เคยได้ลองขับเหมือนกัน (เพราะออกมาให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับในระยะเวลาเดียวกัน กะให้กัดกันโดยตรง) ก็ให้ความรู้สึกที่ดี เป็นรถลักษณะพิเศษที่สมรรถนะดี แต่คนซื้อน้อยเหมือนกันอีกด้วย ก็เลยกลายเป็นสองคันคู่กัดที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักนัก…

 

TECH SPEC
Model : MITSUBISHI AIRTREK

ภายนอก
สปอยเลอร์หน้า : RALLI ART
กระจังหน้า : RALLI ART

ภายใน
พวงมาลัย : EVO IX (9)
Paddle Shift : EVO X (10)
เกจ์วัด : Defi + GReddy INFO TOUCH
A/F Ratio : INNOVATIVE LC1
เบาะ : RECARO EVOLUTION VI
รางเบาะ : BRIDE
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B
ไทเมอร์ : GReddy FULL AUTO 2

เครื่องยนต์
รุ่น : 4G63
สปริงวาล์ว : BC
รีเทนเนอร์ : BC
แคมชาฟท์ : JUN 272 องศา ลิฟต์ 10.8 มม.
เฟืองแคม : JUN
เสื้อสูบ : EVO VIII MR
ลูกสูบ : MANLEY 86.5 มม.
ก้านสูบ : MANLEY
ข้อเหวี่ยง : MANLEY Forged 2.4 L
แบริ่ง : CALICO
นอตเมนแบริ่ง : ARP
นอตก้านสูบ : ARP
อ่างน้ำมันเครื่อง : TOMEI Slicing Baffle
วาล์วน้ำ : RALLI ART
ยางแท่นเครื่องตัวหน้า : AMS
ปะเก็นฝาสูบ : COMETIC
เทอร์โบ : MAP PERFORMANCE EF2
เฮดเดอร์ : BUSHER RACING
เวสต์เกต : MAP PERFORMANCE
ท่อไอดี : GReddy + Monster
อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy Spec V Kit for AIRTREK
โบล์ว ออฟ วาล์ว : TOMEI
หม้อน้ำ : forged racing
ออยล์คูลเลอร์ : SETLAB + TOMEI Thermostat Killer เปิดให้น้ำมันวิ่งวนในออยล์คูลเลอร์ตลอดเวลา
แผ่นปิดเฮดเดอร์ : beatrush LAILE
หัวฉีด : FIC 1,100 ซี.ซี.
รางหัวฉีด : AMS
ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : SARD
ปั๊มเชื้อเพลิง : WALBRO
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : Spark Tech CDI Basic
กล่องควบคุม : HKS F-con V PRO 3.3 by อุบ วายริ่ง
ท่อไอเสียช่วง: INVIDIA Outlet Pipe
หม้อพักไอเสีย : A’PEX’i N1

ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Mod. By ALDO Malaysia
ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ : JMO
ลิมิเต็ดสลิป : EVO III

ช่วงล่าง
ปีกนกล่างหน้า : EVO IX
โช้คอัพหน้า-หลัง : GAB SS สปริงหน้า 10 K สปริงหลัง 6 K
ค้ำโช้คหน้า : CARBING
ค้ำช่วงล่างหน้า : CARBING
ล้อหน้า-หลัง : PRODRIVE GC010E 8.5 x 18 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : NITTO INVO 245/40R18
เบรกหน้า : GReddy 6 pot จานเบรก 355 มม.
เบรกหลัง : GReddy 4 pot จานเบรก 330 มม.