วิถีกระบะสเต็ปเทอร์โบยอดฮิตวิ่งถนน : F55 Combo Test !!!

 

อินทรภูมิ์ แสงดี  / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่,

เปิดใจวิถีกระบะ กับสเต็ปเทอร์โบยอดฮิตวิ่งถนน

F55 Combo Test !!!

ต้อนรับฉบับพิเศษปลายปี ที่ครั้งนี้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น “รวมฮิตรถยอดฮิต” อย่างสายกระบะดีเซล ที่ตอนนี้นิยมเทอร์โบ “IHI F55” ในการทำสเต็ปรถวิ่งถนน ขับใช้งานได้ ไม่รอรอบมากนัก แถมยังมี “รุ่นจัดแข่งในสนาม” อีกด้วย ทำให้สเต็ปการใช้เทอร์โบ F55 ในการโมดิฟายนั้นยอดฮิตสุดๆ ในขณะนี้ เรียกว่าผู้จัดการแข่งขันรถกระบะในแต่ละรายการก็ต้องบรรจุรุ่น F55 นี้เข้าไปในด้วย เราจึงนำมาให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้อ่านที่ใช้รถกระบะ หรือรถอเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล สามารถนำบทความเราไปใช้เป็นความรู้ในการตัดสินใจโมดิฟายรถของท่านเอง ฝากทิ้งท้ายไว้หน่อย การโมดิฟายไม่จำเป็นจะต้องจำกัดว่าเฉพาะรถยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง จริงๆ แล้ว “ทำได้ทุกยี่ห้อ” อยู่ที่ความ “ชอบ” และ “ถนัด” กันมากกว่า รถแต่ละค่ายอาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง แต่ถ้าพอใจในการตอบสนอง ก็ถือว่า “จบ” ครับ…

 

 

F55 Series Story   

ผมเชื่อว่าหลายคนที่สนใจ แต่ยังไม่ได้ลงลึกเกี่ยวกับการโมดิฟายรถดีเซล (ผมขอเรียกรวมๆ นะครับ ตั้งแต่กระบะ, รถอเนกประสงค์พื้นฐานกระบะแบบต่างๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล) อาจจะมีข้อสงสัยว่า ไอ้รุ่น F55 นี่มันคืออะไร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า F55 นั้น คือ “รุ่นของเทอร์โบ IHI F55V” ซึ่งเป็นเทอร์โบที่ติด “รถบรรทุก 6 ล้อเล็ก” จากญี่ปุ่น เหตุที่เอาเทอร์โบ F55 มาใช้ เนื่องจากในยุคเริ่มแรก การโมดิฟายจะใช้เทอร์โบรุ่นหลักๆ อยู่ 2 รุ่น ถ้าสเต็ปเริ่มต้น จะเรียกว่า “เทอร์โบสามพัน” หมายถึงว่า เป็นเทอร์โบจากเครื่อง 3,000 CC. ที่นิยมมากก็คงไม่พ้นเครื่อง ISUZU รหัส 4JJ1-TCX แต่ก็ขอเล่าไปอีกหน่อย เนื่องจาก ISUZU D-MAX ในรุ่นกระบะขับสองล้อที่เป็นรุ่นธรรมดา หรือ “ตัวเตี้ย” จะมีจำหน่ายเฉพาะเครื่อง 4JK1-TCX ขนาด 2.5 ลิตร เท่านั้น ซึ่งรุ่น 3.0 ลิตร จะมีเฉพาะรุ่น High Lander หรือ “ตัวสูงขับสอง” แต่กับคนที่ต้องการโมดิฟายแบบรถเตี้ย ก็จะซื้อรถมาแล้ว “อัพเกรดความจุ” เปลี่ยน ลูก ก้าน ข้อ เบิกเอาของเครื่อง 4JJ1-TCX มาใส่ เพื่อขยายความจุ แล้วซื้อเทอร์โบตรงรุ่นมันมาด้วย ลูกละ “9,XXX” บาท (เบิกศูนย์แท้) จะโมดิฟาย “หมกใน” อะไรก็ว่ากันไป ส่วนอีกกลุ่ม ก็ซื้อ High Lander หรือถ้าเป็น TOYOTA ก็จะเป็น VIGO Pre Runner มาเล่นกัน ถ้าแบบใส่ล้อใหญ่ ไม่โหลดเตี้ย  ศัพท์วัยรุ่นเรียกว่า “ยีราฟ” แต่ก็มีหลายคนเอามาโหลดเตี้ย ซึ่งก็ต้องระวังเรื่อง “มุมล้อหน้า” ที่ต้องดัดคอม้าใหม่ ไม่งั้นศูนย์ล้อไม่ได้ งานนี้ก็ต้องหาร้านเชี่ยวชาญหน่อยแล้วกัน เรื่องศูนย์ล้ออย่าล้อเล่น เดี๋ยวจะ “เสียศูนย์” และ “สูญเสีย” อีกจุดที่ต้องระวัง ก็คือ “คานหน้าจะเตี้ยมาก” รถตัวสูงเอามาโหลดเตี้ยมันผิดไปจากเดิมเยอะ ก็จะเจอปัญหาเหล่านี้ ระวังด้วยแล้วกัน…

 

ย้อนกลับมาเรื่องเทอร์โบ ตอนนั้นที่เล่นกัน นอกจากเทอร์โบสามพันกันแล้ว ก็จะข้ามไป “เทอร์โบใหญ่” กันเลย พวกนี้เป็น “สายโหด โคตรบูสต์” แต่โดยมากก็จะ “วิ่งสนาม” มากกว่า เพราะต้องใส่ยาง Drag Slick ไม่งั้นไปไม่เป็น จริงๆ จะวิ่งถนนใช้งานมันก็พอได้ (ถ้าจะใช้นะ) แต่ “รอรอบ” แล้ว “กระชาก” เลยทำให้ขับยาก ตอนนี้สรุปกันว่า “มันยังไม่มีอะไรที่อยู่ตรงกลาง” เพราะฉะนั้น เทอร์โบ F55 จึงเข้ามามีบทบาทในการเป็น “ตัวกลาง” ด้วยบุคลิกของตัวมันที่ “ขับง่าย แรงได้แบบสนุก ไม่แรงโหดมากไป ขับใช้งานทั่วไปได้ด้วย” ถ้าเปรียบกับเครื่องเบนซิน สมัยก่อนก็เริ่มเล่นจากเทอร์โบสแตนดาร์ด อัพเกรดใบ ปรับบูสต์เพิ่ม ถ้าใครมีตังค์สายโหดหน่อยก็สร้างเฮดเดอร์ใหม่ ใส่ “เทอร์โบใหญ่” ก็ประมาณเดียวกันครับ ล่อกันไปยัน GReddy T88 หรือ HKS T51 ขับทั่วไปโคตรยาก แรงก็ทางตรงๆ โล่งๆ ตอนหลังก็เลยมีพวก T04Z สเต็ปกลางๆ ออกมาตอบสนองกลุ่มที่หายไปตรงกลาง ก็เหมือนกับ F55 นี่แหละครับ…

 

F55 ดูยังไง

บอกตรงๆ ว่ะ “ดูรูป” เอาแล้วกัน อย่าเพิ่งใจร้อน “แจกของ” ให้ดูรูปก่อนครับ ว่ารูปร่างลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร หน้าตาก็ตัวกลางๆ “พอดีมือ” ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ตอนนี้ยอดฮิตก็ต้อง F55V ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด มาดูที่ “ยอดใบหน้า” จะอยู่ที่ “48.5 มม.” ส่วนรุ่น F5 เฉยๆ จะอยู่ประมาณ “44 มม.” ในช่วงที่ F55 นิยมมาก หากเป็น “ของมือสองแท้ญี่ปุ่นสภาพดี” ราคาแพงมากๆ อยู่ประมาณ “สองหมื่นปลาย ถึง สามหมื่นต้น” และตอนนี้ก็มีทางเลือก คือ “F55 เมดอินไชน่า” เป็นของใหม่ ถ้าเป็นรุ่นใบธรรมดา ราคาอยู่ราวๆ “8,XXX” บาท จะให้ดีก็ต้อง “เปลี่ยนใบ Billet” ขนาดยอดใบยังเท่าเดิม แต่องศาของใบจะปั่นลมได้มากกว่า คุณภาพดีกว่า ช่วยให้แรงและทนมากขึ้น ถ้าเป็นสเต็ปอัพเกรดนี้ ลูกนึง “1X,XXX” บาท ส่วน “โข่งหลัง” ก็มีเบอร์ 12-15 แล้วแต่ความต้องการครับ ถ้าเน้นตอบสนองไวๆ ขับง่ายๆ ก็ “เบอร์ 12” แต่เน้นแรงม้าเยอะก็ต้อง “เบอร์ 15” จ้ะ…

 

เทอร์โบหมก ???

คงได้ยินกันบ่อยๆ คำนี้ จะหมายความว่า เทอร์โบที่มีการ “เล่นแร่แปรธาตุ” มา อย่างเช่น โข่งหน้าเป็น F55 จริง แต่เอาเสื้อกลางรุ่นที่ใหญ่กว่ามาใส่ ใบหน้าก็เอาใบเทอร์โบรุ่นใหญ่กว่ามา “กลึงลดขนาดยอดใบ” ให้ได้ขนาด 48.5 มม. อะไรประมาณนี้แหละครับ ส่วนจะมีอะไรปลีกย่อยลึกลับอีก อยู่ที่สูตรของแต่ละอู่แล้วละครับ ของพวกนี้เขาไม่บอกกัน…

ตรวจสภาพยังไง

ส่วนในการแข่งขัน ทั่วไปก็จะแบ่งเป็นรุ่น F55 Radial ก็จะเป็นกลุ่มพวก “รถวิ่งถนน” ใช้ยางเรเดียล ตัวรถต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานจริงๆ ส่วนอีกรุ่น F55 Pro ก็จะเป็นรถแข่งเต็มตัว ใช้ยาง Drag Slick ส่วนการ “ตรวจสภาพ” ถ้าเป็นรายการที่จัดโดยยึดมาตรฐาน ก็จะมีการ “ตรวจสภาพเทอร์โบ” หลังแข่ง สำหรับรถที่ได้ตำแหน่งทุกคัน ยกตัวอย่างปีที่แล้ว รายการ Souped Up Thailand Records 2014 ก็มีรุ่น F55 Pro เป็น Support Race ก็จะใช้การตรวจสอบโดยมี “ปลอกสวมปากเทอร์โบ” เสียบดูต้องพอดี ไม่หลวม เป็นการบังคับขนาดปาก เหมือนกับการบังคับ Restrictor ในรถแข่งเซอร์กิตนั่นเอง ส่วนในบางรายการ ก็จะ “ถอดโข่งหน้ามาวัดขนาดใบ” เอาให้แน่ๆ กันไปเลย…

 

ใส่ F55 ต้องทำเครื่องสเต็ปไหน ???

จริงๆ เทอร์โบ F55 บุคลิกของมันก็คือ ให้แรงม้าได้ระดับ 300-400 PS (ในรถถนนนะครับ) แปรผันอยู่ประมาณนี้แล้วแต่การโมดิฟายเครื่องยนต์ของแต่ละคัน เพราะมันบังคับด้วย “ขนาดปากเทอร์โบ” แรงม้าก็เหมือนถูกควบคุมไว้ประมาณนี้ การโมดิฟายเครื่องยนต์จริงๆ แทบไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เทอร์โบ กล่อง ก็จบแล้ว อย่าง ISUZU เครื่อง 2.5 ลิตร อัพเกรด 3.0 ลิตร จะต้องเสียค่า “ไส้” เบิกใหม่ ค่าเทอร์โบ กล่องจูน ค่าเดินท่อ ค่าอินเตอร์ ค่าชุดคลัตช์ เกียร์ เฟืองท้ายเบอร์ 2.9 ถ้าแต่งห้องเครื่องสวย ฯลฯ อันนี้คือแบบ “พื้นฐาน” (เฉพาะระบบเครื่องและระบบส่งกำลังเท่านั้นนะครับ พวกของแต่งสวยงามจุกจิกอื่นๆ ไม่เกี่ยว) เตรียมไว้ “3XX,XXX” บาท บวกลบแล้วแต่ของที่เราใช้ครับ ส่วนถ้าเราจะโมดิฟายเพิ่ม ก็จะมี “แคมชาฟต์โมดิฟาย” มีเยอะแยะให้เลือกตามความพอใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเปลี่ยนเฉพาะ “ฝั่งไอเสีย” ก็พอครับ ถ้ารถวิ่งถนนนะ ไอดีไม่ต้องก็ได้ วิ่งถนนจะได้ไม่รอรอบ เราใช้กำลังช่วงกลางกว้างๆ ไม่เน้นรอบสูงมาก หลักๆ ก็ประมาณนี้แหละครับสำหรับสเต็ป F55…