เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ZENTRADY OAT
Group 5 Hero Bring Back
LB R340 TOMICA Silhouette
And We No need RB !!!
ไม่ต้องเชื่อ เพราะมันเป็นความจริง ทุกคนย่อมมีอดีตที่น่าจดจำในแต่ละช่วงวัยของตนเอง แต่สำหรับ “วัยรุ่นยุค 90” นั้น ในช่วงวัยเด็กก็ต้องมีความทรงจำเกี่ยวกับ “รถแข่ง” ที่มีทรวดทรงแปลกไปกว่ารถเดิม พร้อมสีสันสวยสด ย้อนไปในยุค 80 สมัยที่เรายังเด็ก มีรถแข่งในความทรงจำ คือ “Group 5 Racing” หรือ “Silhouette” (ซิลลูเอท) เป็นรถสปอร์ตที่เราชื่นชอบ ถูกนำไป “ทรงเครื่อง” ด้วยโป่งทรงเหลี่ยมยักษ์ ล้อลาย Retro ที่ด้านหลังใหญ่มหึมา เครื่องยนต์เทอร์โบสุดแรงในระดับ 500-600 แรงม้า !!! ท่อไอเสียออกข้าง ถอนคันเร่งทีไฟแลบออกเป็นเมตร มันดูแล้วดิบๆ สมกับเป็นรถแข่งจริงๆ จึงเป็นที่ตรึงใจมานับตั้งแต่อดีต และวันนี้ เราก็ไม่เคยลืม…
งานสร้างจึงเกิดขึ้น เมื่อ LB PERFORMANCE หรือ LIBERTY WALK Japan ได้สรรค์สร้างผลงานใหม่ ในแบบ Dream Nostalgic Racing Car หรือ “รถแข่งในฝันเมื่อฉันเยาว์วัย” โดยการนำเอา SKYLINE ER34 25GT มา Customized เป็นตัวแข่ง TOMICA SKYLINE TURBO SUPER SILHLOUETTE (KDR30) ตัวแข่งเบอร์ 11 พร้อมนักแข่ง Mr. Masahiro Hasemi (มาซาฮิโร ฮาเซมิ คนนี้ถ้าใครที่เป็นแฟน SKYLINE ต้องรู้จักเขา) ถือเป็นบทบาทในตำนานอันเป็นนิรันดร์ ก็น่าแปลกที่ทำรถใหม่ให้เป็นรถเก่า แนวนี้ “กำลังมา” จริงๆ แถมยัง “ปฏิเสธ RB” หันไปคบกับเครื่องในตำนาน อย่าง L28 อีกด้วย อยากรู้ไหม Kato เจ้าสำนัก LB เขาคิดอะไรอยู่…
Group 5 & Silhouette Racing Story
ออกจะเป็นเรื่องไกลตัววัยรุ่นบ้าง แต่เชื่อเถอะ “ลองอ่านดูเพื่อศึกษารากเหง้า” ว่ามันมีที่มาอย่างไรกันแบบคร่าวๆ การแข่งขัน Group 5 จะถูกควบคุมโดย FIA เริ่มกันในปี 1966 จนถึงปี 1982 ซึ่งจะแบ่งตาม Generation ไป แต่สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ 4th Generation โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1976-1982 ซึ่งเป็นการแข่ง Group 5 รุ่นสุดท้าย ทาง FIA ได้กำหนดหัวข้อเป็นรถ Special Production Car ซึ่งมีรายละเอียดประมาณนี้…
- “รถแข่ง” จะต้องถูกสร้างขึ้นมาจาก “รถที่มีจำหน่ายจริง” ไม่ใช่รถที่สร้างมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะแบบในยุคก่อนหน้า…
- มีข้อบังคับว่า ฝากระโปรง + หลังคา + ประตู + ชิ้นแก้มหลัง (Rear side panel) จะต้องเป็นของเดิมเท่านั้น เป็นการบังคับให้รถ “ยังมีรูปทรงเดิมอยู่” ไม่ใช่ทำประหลาดๆ เตี้ยๆ แล้วมาติด ไฟหน้า ไฟท้าย แบบรถที่ขายจริง…
- อนุญาติให้ใส่ “โป่ง” (Flare Fender) ได้ เพื่อรองรับกับล้อขนาดใหญ่ ด้วยความที่เครื่องยนต์มีแรงม้ามาก แต่จะมีการจำกัดความกว้างโดยรวมของตัวรถ เพื่อให้เกิดความใกล้เคียงกัน เพราะรถแข่งมีหลายรุ่น พื้นฐานตัวรถไม่เท่ากัน กำหนดที่ตัวรถยาก กำหนดที่ความกว้างรวมโป่งเลยง่ายสุด ดีไซน์ของโป่งก็จะเน้นความเป็น “Boxy” หรือ “ทรงกล่อง” เหลี่ยมๆ อย่างที่เห็นกัน เพราะรถยุค 80 โดยมากจะ “เหลี่ยม” กันทั้งโลก การทำโป่งแบบนี้อาจจะดูเผินๆ ไม่สวย แต่มัน “โคตรเข้า” เตะตาดีจริงๆ และเป็นตำนานมาจนทุกวันนี้…
- สำหรับอีกชื่อหนึ่งของ Group 5 Racing ก็คือ “Silhouette Formula” (ซิลลูเอท ฟอร์มูลา) ถ้าจะแปลนิยามมันง่ายๆ ซิลลูเอท ก็คือ “ภาพเงาดำ” เห็นแต่รูปทรงรวมๆ ถ้ามาใช้กับรถแข่ง คือ “รถแข่งที่ยังมีภาพเงา เค้าโครง และเอกลักษณ์ เป็นทรงรถเดิมอยู่” ที่แน่ๆ ในส่วนของช่วง Cockpit แนวฝากระโปรงหน้า–หลัง หลังคา ยังเป็นทรงเดิม อันนี้พูดถึง Group 5 Racing 4th Gen นะครับ มันจึงมีเสน่ห์มากๆ เพราะไม่ได้ถูกสร้างทรงแปลกประหลาดจนไม่เหลือเอกลักษณ์ของรถเดิมๆ หรือมีแต่ไฟหน้า–ไฟท้าย ที่ยังเดิมแค่นั้น…
- ทาง LBWK หรือ LIBERTY WALK ได้ทำพาร์ทคันนี้ขึ้นมาแบบ Custom Show ไม่ได้ทำมาเพื่อขายบุคคลทั่วไป แต่จะมีขายสำหรับตัวแทนจำหน่าย LB ทั่วโลก สำหรับทำใส่รถโชว์ของตัวเอง
- ความทรงจำในอดีต หวนคืนมากับรถที่ห่างยุคกันเกือบ 20 ปี (1982-1998) เป็นส่วนผสมที่ลงตัว ด้วยทรงของ R34 ที่มีกลิ่นอายของ R30 อยู่บ้าง เลยเป็น R340 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สีแน่นอนว่าต้องเป็น แดง–ดำ ทูโทน อันเป็นสี Signature ของ R30 RS-TURBO
- สปอยเลอร์หลัง จากเดิมที่เป็นทรง “ม้านั่ง” ก็ประยุกต์แบบให้มัน “ร่วมสมัย” หน่อย สังเกตทรงโป่งหลังจะลงตัวกับแนวบอดี้ R34 แบบไม่น่าเชื่อ
- โฟกัสดีๆ จะเห็นกระจกมองข้างทรงซิ่ง ตรงยุค 80 เป็นทรงก้นหอย จาก CALIFORNIA VILATONI ได้รับอิทธิพลมาจาก F1 ในยุคนั้น
- เสริม Racing purpose ด้วย Diffuser ที่ไม่ใช่ “ดักลม” แต่เป็น “รีดลม” ออกจากใต้ท้อง ซึ่งลมมีความเร็วสูง เอาออกเพื่อไม่ให้ลมหมุนปั่นป่วน (Turbulence) ที่ใต้ท้อง อันจะเกิด “แรงยกจากลม” (Air lift force) ทำให้รถลอย การเกาะถนนด้อยลง ถ้ามี Diffuser พร้อมกับแผ่นปิดใต้ท้องรถ ที่มีครีบและช่องกำหนดทิศทางลม จะทำให้รถเกิดแรงกดจากลม (Air down force) ก็จะเกาะถนนมากขึ้นในความเร็วสูง
- มองมุมนี้ ก็ดูจะเหมือนรถ GT500 ในยุคแรกๆ เหมือนกัน
- เรือนไมล์ของ 25GT จะไม่เหมือนกับ GT-R ของ GT-R วัดรอบจะอยู่ด้านซ้าย สลับตำแหน่งกัน ทรงก็ไม่เหมือนเลยครับ
- อันนี้ทีเด็ด จริงๆ ก็เป็น “เกจ์สามเกลอ” เดิมๆ ของ 25 GT นั่นเอง (ของ GT-R จะเป็นจอ MFD ดิจิทัล) ทรงจะเหมือนกับ 240Z แต่ทาง LB นำมา Custom ตัว Case ใหม่ พร้อม “สวิตช์ต๊อกแต๊ก” ให้เป็นแนว Retro ชิ้นนี้ทำได้สวย
- เบาะ BRIDE LOW MAX โรลบาร์ CUSCO พ่นสีเหลือง
- ขุมพลัง L28 ขยาย 3.1 L ทำแนว Retro เต็มระบบ ที่เห็นถาดรองด้านใต้คาร์บู เพราะกันกรณีน้ำมันเบนซินรั่วไปลง “เฮดเดอร์” เนื่องจากเป็นฝาแบบ Turn flow ไอดีกับไอเสียดันอยู่ฝั่งเดียวกัน ชุดจุดระเบิด MSD BLASTER 2 ขอไฟแรงๆ ในรอบสูง
- อยากโหดต้องคาร์บูเรเตอร์ SOLEX x 3 แทนคาร์บู SU ของเดิม
Inspire of Bosozoku 80 Style
และ Group 5 Racing ก็คงเป็นความทรงจำที่แน่นหนาในยุคนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับแนว Bosozoku คุณจะเห็นเดอะแก๊งนำรถยุค 80 มาทำโป่งแบบนี้ กับสปอยเลอร์ยื่นๆ สุดเวอร์วัง ก็เข้าใจได้ว่า “ยึดถือเป็นแบบอย่าง” เลยเอามาทำกับรถตัวเองบ้าง ซึ่งรถยุค 80 จะนิยมทำกันมาก เพราะ “ตรงยุค” นั่นเอง…
Why ER34
ก็คงมีข้อสงสัยกันอีก ว่าทำไมถึงเลือกบอดี้ ER34 คันนี้เป็นรุ่น 25GT ที่เป็นขุมพลัง RB25DET NEO เหตุผลหลักๆ ในการเลือก ประการสำคัญ คือ “ทรวดทรงดั้งเดิมของมัน พิจารณาแล้วว่าใส่โป่ง Silhouette แล้วสวย” ประการแรก ไฟหน้าของ R34 ก็กลับไปเหมือนกับ R30 ส่วน “สะโพกท้าย” (Rear Side Panel) มันมี “เหลี่ยม” ที่ลงตัว อีกอย่าง R34 GT-R จะเข้าสู่ยุคการแข่งขัน GT500 ก็จะใช้โป่งลักษณะเดียวกันนี่เอง เลยเป็นจุดลงตัวและเป็นเหตุผลที่เลือกรุ่นนี้มาทำ อีกอย่าง ค่าตัวของ ER34 25GT ในญี่ปุ่น มันไม่แพงด้วย เอามาทำแบบ Freestyle ได้โดยไม่เสียดายรถ ซึ่งหลายคนก็คงมีคำถามในใจ ว่าทำไมไม่เอา R32 มาทำ ทาง LB เองก็รู้ว่ามันคงไม่เข้าอย่างแรง ด้วยทรวดทรงของมันที่ “ไม่ควรยุ่งอะไรกับมันดีที่สุด” และในยุคของ R32 เอง มันก็สุดใน Group A Racing ซึ่งบังคับทรงรถเดิม ห้ามมีโป่ง แน่ละ ปล่อยมันเป็นตำนานของมันไปดีที่สุด…
Old School L28
เรื่องหนึ่งที่เป็นจุดแปลกของคันนี้ และมันก็ยังคงมี “เรื่องราว” อีกแน่นอน สไตล์ของ Kato ที่ดื่มด่ำกับความเป็น Modern Retro จะปล่อยเป็นเครื่อง RB ก็คงจะ “ค้างคา” เลยต้องจัดการ Backdate ให้สมกันหน่อย ด้วยการเลือกเครื่องยนต์ตรงค่ายระดับตำนาน อย่าง L28 แบบ 6 สูบ ความจุ 2.8 ลิตร ซึ่งใหญ่ที่สุดในตระกูล ฝาสูบแบบ OHC วาล์วแบบพื้นๆ 2 ตัวต่อสูบ พอร์ตไอดีไอเสีย เป็นแบบ Turn-flow คือ “ไอดีและไอเสียอยู่ฝั่งเดียวกัน” เป็นดีไซน์แบบโบราณ แต่ถ้าทำเป็นก็ “แรง” ไม่ล้อเล่นนะครับ สำหรับเหตุผลที่เลือก และ Tips ง่ายๆ ที่น่ารู้สำหรับเครื่อง L-Series มาฝากกันครับ…
- ตัวแข่ง TOMICA (เรียกย่อๆ ละกันนะ) ที่ใช้พื้นฐาน SKYLINE RS-TURBO (KDR30) นั้น ปกติแล้วมันเป็นเครื่องยนต์ FJ20ET ซึ่งตัวแข่งหลายคนก็คิดว่ามันก็ควรจะเป็นตัวนี้ด้วย แต่ความจริงกลับใช้เครื่องยนต์ “LZ20B” 4 สูบ ใช้ Layout จากเครื่อง L20B 4 สูบ ที่ใส่ใน SKYLINE BJR30 ขายบ้านเรานี่แหละ แต่ก็สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะ “ฝาสูบ” ทำพิเศษขึ้นมา เป็น DOHC 16 Valves สำหรับการแข่งขัน Group 5 Racing โดยเฉพาะ อัดด้วยเทอร์โบ มีแรงม้าถึง 570 PS @ 7,600 rpm ก็น่าแปลกว่าทำไมไม่เอา FJ20ET มาโมดิฟายต่อ คาดว่าทาง NISSAN เอง มีประสบการณ์กับเครื่อง L มานานมากๆ โดยเฉพาะ LZ ก็คงจะตามนั้น เพราะตอนนั้นเครื่อง FJ20ET ก็เพิ่งเกิด เลยเลือกเอา LZ20B ตามคาดการณ์นะ…
- ส่วนตัว Kato เอง ก็เกิดจาก SKYLINE 2000 GT (GC110) หรือ “Ken & Mary” หรือ “Kenmeri” ตามสำเนียงการอ่านของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่อง L20 6 สูบ 2.0 ลิตร จากข้อมูลที่อ่านเจอ Kato หลงใหลเครื่องบล็อกนี้ การโมดิฟายก็เป็นสูตรสำเร็จ ด้วยการเอาเครื่อง L28 จากรถใหญ่ พวก CEDRIC มาใส่ แล้วโมดิฟายเต็ม ขยายความจุเป็น 3.1 ลิตร !!! คาร์บู SOLEX 3 ตัว นอนเห่าดังสะใจ ได้ยินเสียงแล้ว สาย Retro ไม่มีคำว่าปฏิเสธ ความชอบและฝังใจของเขา จึงเลือกนำมาใส่ในคันนี้ เพื่อรำลึกถึงวันวาน…
- เสียงเครื่อง L28 ขยาย 3.1 ลิตร กับ “คาร์บูนอนดูดข้าง” แบบ 2 Barrels Side Draft จำนวน 3 ตัว มันมีเอกลักษณ์ความดุดันแบบ “กร้าว” เสียงจะคำรามใหญ่ๆ โหดๆ ในรอบสูงจะแผดกร้าว (Screaming) ต่างจาก RB ที่จะออกแนว “หวาน” รอบสูง มันเป็นสิ่งที่ทดแทนกันไม่ได้จริงๆ เป็นเครื่องที่ Never die ไปจากสาย Japanese Retrolism ทั่วโลก…
- L28 อาจจะดูหน้าตาโบราณๆ แต่มันก็มีการโมดิฟายที่น่าทึ่ง การขยาย 3.1 L ทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเหวี่ยง!!! เพราะเสื้อสูบหนา สไตล์เครื่องยุคเก่า สามารถขยายกระบอกสูบได้เยอะ (Big bore) ใส่ลูกสูบโตๆ ได้ ไม่เหมือน RB26DETT ที่ขยายเป็น 2.8 L ก็ต้องเปลี่ยนข้อเหวี่ยง (Stroker kit) กันแล้ว และของโมดิฟายต่างๆ ตอนนี้ก็ยังมีทำของใหม่ออกมาขายอยู่ตลอด ปรับปรุงเทคโนโลยีจนไปไกลกว่ารุ่นก่อน เลยทำให้มันแรงสะใจได้แบบเครื่องรุ่นใหม่มีเงิบ…
- ยังไม่พอใจเหรอ ??? เอาอีกไหมล่ะ มีตังค์ก็จัดไป NISSAN เอง ก็มีเครื่อง LY ด้วยนะ ก็ยังคงเป็นแบบ OHC อยู่ แต่พอร์ตจะเป็นแบบ Cross Flow ไอดีและไอเสียออกคนละฝั่ง ทำให้การ Flow ดีขึ้นกว่าเดิมมากๆ สุดๆ ก็ต้อง LY28 ความจุ 2,870 c.c. (ขยายจากเดิมหน่อย) อยู่ใน DATSUN FAIRLADY 240ZR ตัวแข่งเซอร์กิต ที่ผ่านมือ Omori Factory ให้แรงม้าถึง 300 PS สะใจแบบไร้หอย…
- ถ้าจะเอาสุดตำบลจริงๆ ก็ต้องนี่เลย จัดชุดฝาสูบ OS Giken TC24-B1Z สร้างขึ้นใหม่ทั้งชิ้น เป็นแบบ DOHC 24 Valves เหมือนกับ S20 ใน 2000 GT-R เรียกว่า “งานเทพ” เลยทีเดียว ขับเคลื่อนแคมชาฟต์ โดย “เฟือง” (Gear drive) ไม่ใช้โซ่หรือสายพานใดๆ เพราะต้องการความ “ชัวร์” ในรอบสูง ตามแบบเครื่อง Full race สมัยก่อน แต่สิ่งที่มันแสดงออกให้เราได้ “เสพย์” คือ “เสียงของเฟืองขบกัน ที่หวีดลั่นในรอบสูง” มันเป็นอะไรที่ “ทิ่มอารมณ์” มากมาย ซึ่งรถยุคใหม่ไม่มีแน่นอน…
ข้อมูลบางส่วน
- ชุดแตรหลายเสียง มีทำนองจังหวะ สไตล์ Bosozoku ที่ต้องมี
- จริงๆ L มันก็เป็นบรรพบุรุษ RB นั่นเอง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ L28 คือ “เสียง” พร้อมกับ “คาร์บูนอนเห่า” กร้าวๆ ลั่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดในใจสาย Retro อย่างพวกเรา
- หน้าตาเครื่อง L นั้น มาจากเครื่อง MERCEDES-BENZ ซึ่งได้ Merging กันมาตั้งแต่อดีต
- สมัยก่อนนั้น “สายหัวเทียนอัปเกรด” เป็นของเท่ เพราะยังใช้ระบบ “จานจ่าย” อยู่ แต่ยุคใหม่เป็นระบบ “Direct coil” ซึ่งไม่มีสายหัวเทียนแบบนี้อีกแล้ว
- พูลเลย์ปั๊มน้ำ เจาะรูลดน้ำหนัก เน้นความสวยงาม