เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
Group B Nostalgia
ย้อนรำลึกตัวแรงทางฝุ่นสุดโหด
#แก๊งม้าหินจัดให้
Group B Rally…The Rally Supercar สุดยอดความแรงในทางฝุ่นแบบไร้ขีดจำกัด ในกลางยุค 80 มีการสร้างรถแข่งสำหรับ Group B แบบเฉพาะทางขึ้นมา และต้องมีรถถนนที่ขายตาม Homologate ของกฎการแข่งขันอีก พวกนี้ถือเป็นรถพิเศษที่มีคุณค่าสูงและหาดูได้ยากยิ่ง การแข่งขันก็เต็มไปด้วยความดุดัน รถแต่ละคันเร็วและแรงสุดๆ จนคิดกันว่า “น้าๆ เขาขับกันได้อย่างไร” ก็ต้องลองดูคลิปการแข่งขัน Group B Rally ในอดีต ซึ่งผมเองก็ “ติดตา” ด้วยความที่รถมีความแปลกและสวยงามมาก ส่วนความแรงในรุ่นคลาสใหญ่ๆ แต่ละคันก็พกแรงม้ามาไม่ต่ำกว่า 600 PS กับเครื่องเทอร์โบความจุตั้งแต่ 1.8-2.2 ลิตร และในช่วงควอลิฟาย ข่าวว่าก็ไม่ได้ต่ำกว่า 1,000 PS สรุปแล้วแรงม้ามันใกล้เคียงกับ F1 เลยนะ และ “อยู่บนทางฝุ่น” มันไม่ใช่เรื่องง่าย จนได้ฉายาว่า Rally Supercar ซึ่ง “ยอดมนุษย์” นักขับและนักนำทาง ทุกเสี้ยววินาทีต้องโฟกัสที่การแข่งขัน รถก็ดิบๆ ไม่มีระบบ Traction ช่วยแม้แต่น้อย ถนนหนทางก็แคบๆ ที่พร้อมจะหลุดได้เสมอ คนดูเสี่ยงตายยืนกันริมทางเป็นแถวๆ แบบไม่มีอะไรกั้น แม้จะมีอุปสรรค แต่เรียกว่าไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ถึงแม้จะเก่งกาจเพียงไร รถแข่งจะแรงและพร้อมขนาดไหน Group B Rally ก็ต้องแลกด้วย “ความตาย” ที่ร้ายแรงที่สุด คือ LANCIA DELTA S4 สังกัดทีม MARTINI RACING ขับโดย Henri Toivonen ชาวฟินแลนด์ (ประเทศนี้จะขับแรลลี่เก่ง เพราะเส้นทางขึ้นลงเขา หิมะตกประจำ) และนำทางโดย Sergio Cresto เกิดอุบัติเหตุขณะแข่งรายการ Tour De Corse 1986 ที่เกาะ Corsica ประเทศฝรั่งเศส ก็จะเป็นทางแคบๆ ตามเขา แต่เกิดข่าวร้าย เจ้า DELTA S4 พร้อมทั้งสองคน “หลุด” ไปชนจนเกิดระเบิด ไฟไหม้ตายคาที่ทั้งคู่ รถก็เหลือแต่ “เฟรม” (ในยุคท้ายๆ Group B Rally ส่วนใหญ่ก็จะเป็น Spaceframe) ก็เลยต้องปิดตำนาน “The End of Group B” ไปอย่างถาวร…
- พื้นฐานรถก็เป็น CELICA TA63 Coupe ออกจำหน่ายปี 1983 แต่ “ปั้นทรง” ให้เป็น TA64 Group B โดยฝีมือของ “ช่างรุ่ง สวนหลวง ร.9” ทั้งหมด ดูนี่ “เป๊ะ” เลย โดยเฉพาะ “หน้ารถ” ที่มันจะไม่เหมือนกับ TA63 สเป็กขายปกติ ถ้า TA64 Group B Version จะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น
“TTE” CELICA TA64 Group B
ปกติใน Group B Rally จะเป็นรถฝั่งยุโรป แต่ว่าค่ายญี่ปุ่นก็จะมี “คู่กัด” กันระหว่าง TOYOTA CELICA TURBO กับ NISSAN 240 RS ซึ่ง TOYOTA ก็ผลิต CELICA GT-TS TWINCAM TURBO รหัส TA64 ซึ่งเป็นรถ Group B Rally ที่ผ่านการโมดิฟายจาก TTE หรือ TOYOTA TEAM EUROPE ซึ่งปกติแล้ว ถ้าเป็นรถบอดี้ในในญี่ปุ่น ตัวท็อปจะเป็น GT-T เครื่องยนต์ 3T-GTE “ทวินแคม ทวินปลั๊ก” สองหัวเทียนต่อสูบ ซึ่งยุค 90 ฮิตกันมากๆ ให้พลัง 160 PS อันนี้มีเฉพาะ JDM อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นตัว TA64 จะเป็นเครื่อง 4T-GTE หน้าตาเหมือน 3T-GTE เป๊ะเลย แต่ท่อนล่างขยายความจุมาอีก 20 c.c. จากการขยายลูกสูบ 0.5 มม. รวมเป็น “1,791 c.c.” เพื่อให้ผ่านข้อบังคับของ FIA ที่กำหนดความจุในรุ่นที่ CELICA ต้องการจะแข่งไว้ที่ 2,501-3,000 c.c. ถ้าเครื่องเทอร์โบ จะต้องคูณด้วย 1.7 ซึ่ง 3T-GTE คูณแล้วไม่ถึงเกณฑ์ ก็เลยต้องผลิต 4T-GTE ออกมา เพื่อให้คูณแล้วผ่านเกณฑ์ เครื่อง Production จะมีทั้งหมด 200 ตัว ในรถ Production รุ่นพิเศษ “Limited Edition” จำนวน 200 คัน เพื่อให้ผ่าน Homologate ของการแข่งขัน Group B Rally แต่การแข่งขัน เครื่องจะถูกขยายความจุไปถึง “2,090 c.c.” อัดอากาศด้วยเทอร์โบในตำนาน KKK Turbolader K27 เบ่งแรงม้าได้ 326 PS ใน Group B Rally ถ้าเป็นในทางเรียบ พวก Group C หรือ IMSA หรือ Group 4-5 ก็จะขยี้ม้าได้ถึง 600 PS !!! ซึ่งตอนแรกหลายคนก็ว่า TOYOTA คิดยังไงถึงเอารถ “ขับหลัง” มาวิ่งกับ “ขับสี่” ทั้งหลาย ยังไงก็เสียเปรียบ ทำไมไม่สร้างขึ้นมาใหม่ (เดี๋ยวมีคำตอบว่าสร้างหรือไม่สร้าง ในตอนท้ายเรื่อง) แต่ด้วยฝีมือของยอดนักขับแรลลี่ในตำนานอย่าง Bjorn Waldegard, Per Eklund และที่คุ้นหูกันอย่าง Juha Kankkunen ที่ชนะ Safari Rally ถึง 3 ครั้ง และ Rally Cote d’Ivoire ในปี 1983-1986 จนได้รับฉายาว่า King of Africa !!!
- Wide Body ตามแบบตัวแข่งเป๊ะๆ ทำให้รถดูมี “เสน่ห์” มากขึ้น หน้ารถจะ “เชิด” หน่อย เผื่อเวลา “เหินเนิน” ปกติหน้าจะหนักกว่าหลัง เพราะมีเครื่อง เวลาลงก็ต้องเผื่อ Stroke ให้เยอะกว่าด้านหลัง โช้คอัพเซตโดย “ช่างนาวิน” สปริงเป็นของ EVO III มาดัดแปลงใส่ เพราะ “หาของแต่งแรลลี่ง่าย” กันชนหน้าหลัง “ไม่มี” เพราะตอนแข่งก็ไม่ต้องใส่ให้เกะกะ
แก๊งม้าหิน รำลึก Group B
จากการที่เราได้ไปถ่าย Live ช่วง “สาระเร็ว” และคอลัมน์ Street Style ที่เปลี่ยนแนวนำกลุ่ม “แรลลี่คลาสสิก” ในเมืองไทยมานำเสนอ และเมื่อเราได้เห็นกับเจ้า CELICA TA63 Group B Replica คันนี้ เลยขอแยกมาลงต่างหาก เพราะมัน “แปลกดี” จริงๆ ตัวผมเองก็เคยลงรถแรลลี่คลาสสิกแบบนี้มาครั้งหนึ่ง ในนิตยสารระดับตำนาน “Tuned by…” ตอนนั้นจำได้ว่าลงรวดเร็ว 7 คัน !!! แล้วก็ห่างหายไปเกือบ 10 ปี จนมาหวนเจอ “พี่ๆ แก๊งเดิม” เลยอยากหวนความทรงจำตัวแรงทางฝุ่นอีกสักครั้ง รถคันนี้เป็นของ “เฮียโต” คุณพงษ์เทวัญ มีวัฒนะ ส่วน “เนว์” คือ คุณเป็นหนึ่ง จีนเชื่อม สำหรับการทำคันนี้ เฮียโต บอกว่า ตอนแรกก็จะหา CELICA TA40 “Aero” มาทำ แต่พอเจอ TA63 คันนี้ที่มี “สายรายงาน” ว่าขาย ก็เลยจัดการนำมาทำ Group B Style เพราะมันแปลกดี เป็นคันแรกในเมืองไทยแน่ๆ สิ่งที่ “ยาก” ก็มีหลายอย่าง ประการแรก “งานบอดี้” จะต้อง “ปั้นใหม่ทั้งหมด” โดยเอารูปตัวแข่งให้ดู ไม่มีของขายแน่ๆ ประการที่สอง “อะไหล่บอดี้” ที่ญี่ปุ่นเองก็หาได้ยาก มาเมืองไทยก็ยิ่ง “โคตรมหายาก” รถมีน้อยมาก (สมัยก่อนที่พ่อผมยังทำอู่ ลูกค้าพ่อที่สนิทกันซื้อรุ่นนี้มา เป็นรถพวงมาลัยซ้ายแล้วย้ายมาขวา มีซันรูฟ วางเครื่อง 7M-GTE จาก “ป๋าหรั่ง ชัยศิริยนต์” และเกิดเบื่อถนนวิ่งลงข้างทาง กระจกหลังแตกก็ต้อง “ดัดสด” ไม่เท่าไร “ไฟท้ายแตก” งานมา หาอะไหล่กัน 3 เดือน จนท้อ เหมือนมีอะไรทัก ดันไปเจอซากรุ่นนี้ใน Junk แถวๆ ฉะเชิงเทรานี่แหละ ไม่รู้มาได้ไง ได้ไฟท้าย ฝาท้าย ส่วนกระจกแตกเหมือนกัน เพราะรถมันวางทับกันจนหลังคายุบกระจกแตก) คนเล่นรุ่นนี้ก็ต้อง “ระวังกันสุดๆ” ของหายากจริงครับ หายากกว่า Gen 1 อีก !!!
- กว่าจะลงมือปั้น ทั้งดูรูป และ “จินตนาการ” อยู่นานกว่า 1 อาทิตย์ เพราะเป็น Innovation ใหม่สำหรับเมืองไทย เนื่องจากแบบสำเร็จไม่มีแน่นอน แผ่นกันโคลน จาก “ไล โชคชัย 4” อู่เก่าแก่สายแรลลี่ดั้งเดิม นับว่าปั้นออกมาได้สมจินตนาการจริงๆ
ทำเสร็จปุ๊บ ขึ้นแท่นปั๊บ !!!
หลังจากที่เราไป Live รายการ “สาระเร็ว” ที่ลานหน้าเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกับถ่ายทำคอลัมน์นี้ไปด้วย เจ้า CELICA จำแลงแปลง Group B Rally คันนี้ ก็ไปแข่งในรายการ F2 Thailand Rally Championship 5 ในปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ณ เทศบาล ต.ลานหอย จ.สุโขทัย คันนี้ก็ได้ “อันดับ 2” ในรุ่น F8 2,000 c.c. นับว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับรถที่เพิ่งทำเสร็จ งานนี้ “ต้องลงตัวทุกอย่าง” เช่น รถ คนขับ และคนสำคัญที่โลกลืม “เนว์” ผู้นำทาง คนจะจำแต่คนขับ แต่ เนวิเกเตอร์นั้น คนไม่ค่อยสนใจ แต่หารู้ไม่ว่า เนว์จะต้องช่วยเหลือคนขับ เช่น ขานเส้นทาง ช่วยเปิด–ปิดสวิตช์ต่างๆ ในรถ คอยเช็กระยะทางบน Twin Trip เหมือน “ผู้จัดการ” ซึ่งต้องใช้สมาธิสูงมาก และต้อง “แยกประสาท” สำคัญที่สุด “ทั้งเนว์และคนขับต้องจูนให้เข้ากัน” เนื่องจากการสื่อสารบนรถมันต้องสั้นและถูกต้องที่สุด จะต้องมี “ภาษาแรลลี่” ย่อๆ หลักการเดียวกับภาษา “ชวเลข” เพราะรถวิ่งไปด้วยความเร็ว ไม่มีเวลาผิดแล้วมาทวนหรือยึกยักแน่ๆ เพราะมันทำให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงได้ นี่แหละครับ เราต้องให้ความสำคัญของทั้งคู่พอๆ กัน แรลลี่ขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้แน่นอน…
Special Thanks
คุณสุพจน์ กสิกรรม K45 และ สมาชิก “แก๊งม้าหิน” ทุกท่าน ที่มาร่วมความมันส์
ติดตามข่าวสาร
Facebook/F2 Thailand Rally Championship
X-TRA ORDINARY
หลังจากที่ Group B ถูก “ยกเลิก” อย่างถาวรไป ซึ่งมัน Too Fast Too Race หรือ “เร็วเกินกว่าที่จะแข่งได้” จนมีคำพูดเท่ๆ ว่า “WRC is for BOY, Group B was for MEN (and one FAST WOMAN)” ก็คือ WRC สำหรับเด็กๆ ส่วน Group B สำหรับลูกผู้ชาย เพราะต้องฝีมือกับรถแรงแบบบ้าคลั่งบนทางที่ไม่น่าจะไว้ใจ ส่วน “คำในวงเล็บ” ก็จะหมายถึง “นักแข่งหญิง” คนเดียวใน Group B ฝีมือมหาโหด คือ “Michele Mouton” (มิเชล มูตอง) ขับในทีม AUDI ที่ฝีมือทัดเทียมผู้ชาย พอยกเลิก Group B ก็มีโครงการเริ่ม Group S มาแทน ลักษณะรถจะคล้ายๆ กัน แต่จำกัดแรงม้าไว้เพียง 300 hp เพราะลดการเสี่ยงอันตราย TOYOTA/TRD Europe ก็ผลิตตัวแข่งใหม่ เป็น 222D โดยใช้พื้นฐาน MR2 AW11 มาทำขับสี่ เครื่องวางกลาง รถมันดูแปลกตาและไม่เหมือนใครจริงๆ ใช้เครื่องยนต์ 503E มันก็คือ 3S-GTE ที่เป็น “เครื่องแข่ง” โดยเฉพาะ ซึ่งว่ากันว่า ผลิตแรงม้าได้ถึง 750 hp ได้ ถ้าต้องการ แต่ยังไงไม่รู้ Group S ก็ถูกยกเลิกไปอีก ทำให้รถตัวนี้ไม่ได้แข่ง และถูกเก็บสะสมไว้วิ่งโชว์ในงาน Good Wood Festival ในข้อมูลบอกว่าออกมาวิ่งโชว์ ปี 2006 แล้วก็เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไป…
- บอกเลยว่าอะไหล่หาได้ยาก “มาก” ขนาดในญี่ปุ่น TA63 ก็แทบจะไม่เห็นกันแล้ว เหมือนกับคนไปเล่น “ท้ายลาด” XX มากกว่า ถ้าเจอที่ใดก็ตาม ก็ควรจะ “รีบคว้า” เอาไว้ก่อน
- ล้อ LINEAR SPORT UTMOSTY “JDM TURBO FAN” สไตล์ “ตรงยุค 80’s” แต่ติดสติกเกอร์ O.Z RACING เน้นความโดดเด่น ขนาด 7 x 15 นิ้ว พร้อมยาง KUMHO ECSTA R 800 L ขนาด 195/65R15 สำหรับภารกิจ “ตะกุย” โดยเฉพาะ
- ขุมพลัง ดั้งเดิมควรจะเป็น 3T-GTE (4T-GTE คงเกินเอื้อมไป เพราะไม่มีของ) ตามรุ่น 1800 GT-T ลืมบอกไปว่า ถ้าเป็นตัว “ท็อปเล็ก” จะเป็นรุ่น 1600 GT-R รหัส AA63 ด้วยเครื่อง 4A-GE แต่ด้วยความที่เครื่องมันเล็กไปหน่อยกับบอดี้ CELICA เลยต้องมาจบที่เครื่องยุค “มิลเลนเนียม” ลงตัวที่สุดกับ 3S-GE Beams จาก ALTEZZA มาได้กับ 6 เกียร์ วางเครื่องโดย “ช่างทองปลิว” ซึ่งเหมาะกับรถ และตามกติกาของ F2 RALLY รุ่น F8 ที่แข่งอยู่ ห้ามเครื่องเทอร์โบ ให้ความจุ 2,000 c.c. คันนี้เครื่องยังเดิมๆ เพราะแรลลี่ต้องการ “เหนียว” ไว้ก่อน มีเสริมความแรงด้วยกล่อง ECU จาก TOM’S และกรอง HKS
- แผงหน้าปัดสร้างใหม่ สไตล์ Group B สุดคลาสสิก ทุกสิ่งอย่างพยายาม “เสก” ให้เหมือน ซึ่งงานภายใน ก็จะเป็นฝีมือของ “ช่างทองปลิว” ทั้งหมดเช่นกัน
- ตอนแรกก็นึกว่าพวงมาลัย STARLET แต่เช็กแล้ว ของ TA63 “ตรงรุ่น 1800 GT-T” ยังมีสภาพสวยมาก ซึ่งหาได้ยากยิ่ง แต่กำลังจะ “ขึ้นหิ้ง” เพราะวงมันใหญ่เกินไป ติดเข่าเวลา “สาว” น่าจะเปลี่ยนเป็นของ NARDI แทน
- ของดีซ่อนอยู่นี่ วัดรอบ TRD by NIPPON SPORTS PARTS “Rare Item” ซึ่งกำลังจะเอาวัดรอบขาตั้งออก เหลือแค่ Shift Light ก็พอ จะได้โชว์ตัวได้อย่างสมบูรณ์
- ตัว Twin Meter วัดระยะ ของ HELLA เรือนไมล์ของรถ JEEP เอามาใส่ให้ได้รสชาติดั้งเดิม
- เบาะ FORD RACING เข็มขัด SABELT โรลบาร์ ช่างทองปลิว