Hiper Tire Explain “ยางซิ่ง” คืออะไร ???

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ที่ปรึกษา : .ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข 

Hiper Tire Explain

ยางซิ่งคืออะไร ??? 

         เรื่องของยางนั้น ผมเชื่อว่ายังมีหลายคนที่เข้าใจถูก และยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจผิดในการเลือกใช้ยางสำหรับการขับขี่ลักษณะต่างๆ อยู่อีกมาก คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับยางมากนัก และก็ไม่ค่อยศึกษากันสักเท่าไร จึงเป็นที่มาของเรื่องยางที่ควรจะต้องรู้ไว้ให้ถ่องแท้ จะได้รู้กันว่าคุณสมบัติมันเป็นอย่างไร โดยในครั้งนี้จะกล่าวถึงยางที่เป็นในลักษณะ Hi-Performance กับ Competition หรือเพื่อการแข่งขันว่ายางแต่ละชนิด สำหรับการแข่งขัน หรือสำหรับการขับขี่ลักษณะต่างๆ ในเชิง Motor Sport รวมไปถึงค่าต่างๆ ที่มีปรากฏบนแก้มยางว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ ก็ขอเริ่มกันที่ลักษณะของยางในแบบต่างๆก่อน ดังนี้

ทำความเข้าใจ ทำไมยางนิ่มจึงเกาะกว่ายางแข็ง

         โดยปกติยางรถยนต์ก็จะมีหลายเกรด ถ้าเป็นยางรถยนต์นั่งธรรมดา พวกนี้ก็คงจะไม่ต้องมีเนื้อยางนิ่มนัก ไม่ต้องการเกาะถนนมาก ที่ต้องการคือทนทานวิ่งระยะทางได้ไกล โดยเฉพาะเหล่าแท็กซี่ที่จะมียางเฉพาะทาง เนื้อโคตรแข็ง ทนทาน วิ่งได้หลักแสน กม.เชียวนะ แต่เรื่องการเกาะถนนไม่ต้องคุย เรื่องความนิ่มนวลไม่ต้องสืบ แต่ถ้าเราๆ ก็คงจะไม่แยแสยางเหล่านี้ใช่ไหม ??? เราจึงมาพูดกันถึงยาง  High Grip หรือ High Performance พวกยางสไตล์สปอร์ตทั้งหลาย และยาง  Ultra High Performance หรือยาง Soft ในภาษาชาวบ้าน ที่ใช้แข่งขันได้ เพราะฉะนั้น ยางที่กล่าวมานี้ จึงต้องมีการยึดเกาะถนนสูงกว่ายางปกติทั่วไป แน่นอนว่า เนื้อยางจะต้องนิ่มแต่หนึบบอกแค่นี้ใครก็รู้ว่ามันเกาะ แต่ที่มันเกาะ เพราะว่าเนื้อยางที่นิ่ม เมื่อถูกแรงกดจากน้ำหนักรถ เนื้อยางมันก็จะถูกฝังลงไปกับพื้นถนนที่มีช่องว่างจาก หิน กรวด ได้เต็มที่ เหมือนเรากดดินน้ำมันลงไปนั่นเอง แต่ถ้าเนื้อยางแข็ง มันก็จะไม่ถูกฝังลงไปได้ดีนัก มันก็จะมีส่วนที่ลอยอยู่ หน้ายางจึงสัมผัสไม่เต็มที่เหมือนกับเนื้อยางนิ่ม แต่เนื้อยางที่นิ่ม ก็ย่อมสึกหรอเร็ว หมดเร็วเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมันก็ไม่ทนกับสิ่งแหลมคมต่างๆ ที่จะเจอบนถนนเมืองไทยสุดวิเศษของเรา เพราะฉะนั้น รถวิ่งถนนที่จะเอายางเนื้อนิ่มพิเศษไปขับใช้งาน ก็จะออกแนวคลั่งไปสักหน่อย ถ้าจะวิ่งแข่งด้วย ใช้งานด้วย ก็ควรจะมีล้อและยางสองชุดไว้สลับกัน แต่ก็ใช่ว่านิ่มที่สุด จะเกาะที่สุดนะครับ ไม่เกี่ยวกัน ถ้านิ่มเกินไปก็จะไม่เกาะอีกด้วย มันต้องพอดีๆ อยู่ที่ Compound ของยาง แต่ถ้ายางดีมากๆ ก็พอจะอนุมานได้ว่าทั้งนิ่ม ทั้งเหนียวแน่นก็ทำให้เกาะได้ดีที่สุด

ยางสำหรับการแข่งขันประเภทต่างๆ

                  ก็ขอพูดถึงคุณสมบัติหลักๆ ของยางสำหรับการแข่งขันแต่ละประเภทก่อนก็แล้วกัน ขอบอกก่อนว่า ผมไม่ได้ถามอาจารย์ในเรื่องของ Compound อะไรพวกนี้หรอกครับ มันลงลึกมากเกินไป และแต่ละคนก็มีสิทธิในการเลือกยางที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนก็อยากได้ยางที่เกาะถนนยอดเยี่ยมทั้งนั้น แต่ด้วยความที่มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น งบประมาณ, สไตล์ความชอบ, ผู้สนับสนุน ฯลฯ จึงมีการเลือกที่แตกต่างกันไป Detail เหล่านี้จึงไม่อยากจะลงไปยุ่งเกี่ยวด้วย เอาเพียงพื้นฐานนิสัยของยางแต่ละประเภทก็พอแล้วนะ

ยางสำหรับควอเตอร์ไมล์

         อันดับแรก การแข่งขันควอเตอร์ไมล์ หรือ Drag Race จะเป็นการวิ่งทางตรงอย่างเดียว ยางเหล่านี้จึงต้องมีความนุ่มเป็นพิเศษ และถ้าเป็นยางที่มีดอก ตัวดอกยางก็จะเตี้ยเพียงแค่ 2-3 มม. เท่านั้นเอง เพื่อให้รถสามารถออกตัวได้อย่างรุนแรง ถ้ายางแข็งเวลาออกตัว มันก็จะไม่ห่อที่สำคัญแก้มยางจะนิ่มมากในเวลาออกตัว ยางอยู่กับที่ จังหวะที่มีการส่งกำลังมาถึงเพลา มาถึงกระทะล้อ แล้วจึงค่อยมาถึงยาง ล้อจะต้องหมุนได้ก่อนนิดหน่อย แก้มยางจะต้องบิดได้ มันเป็นการซับแรงในเบื้องต้น เพราะถ้ากระชากหมุนทันที ล้อก็จะฟรีทิ้งไปเลย แต่แน่นอนว่า แก้มยางที่นิ่ม มันจะเคลื่อนที่ได้แต่ในทางตรง (Longitude) แต่ไม่สามารถเคลื่อนที่ในแนวขวาง (Lateral) ก็คือการเลี้ยวเวลารถ Drag เสียอาการ มันจึงเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เวลามันเป๋ไปเป๋มาแบบไร้ทิศทาง ก็เพราะยางมันไม่ Support ในทิศทางด้านข้างนั่นเอง ส่วนยาง Drag ก็จะมีแบ่งหลักๆ เป็น 2 ลักษณะ คือ

Drag Radial

         มันเป็นยางเรเดียลที่มีเส้นสวยใยเหล็กอยู่ด้านใน หน้าตามันก็ดูเหมือนกับยางสปอร์ตวิ่งถนนทั่วไป (Street Tire) นี่เอง เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างอย่างที่บอกไป คือ แก้มนิ่ม ดอกยางบาง บางทีดอกยางเขาก็ทำมาเพื่อให้มันมีลุคของยางถนนตามรุ่นแข่งที่เน้นความเป็น Street Car เยอะหน่อย ไหนๆ ก็พูดถึงยางเรเดียลแล้ว พวกนี้ก็มักจะบอกขนาดหน้ากว้างเป็นมิลลิเมตรอย่างขนาดยอดนิยม คือ 275 มม. จริงๆ แล้ว หน้ากว้างมันไม่ได้เป็น 275 มม. แบบเต็มๆ หรอก มันใช้การวัดตั้งแต่ขอบบ่ายางจากอีกด้านไปอีกด้าน ส่วนของขอบบ่ายางมันก็ไม่ได้สัมผัสพื้นถนน เว้นแต่เวลาเลี้ยวโค้ง เพราะฉะนั้น หน้ายางก็จะสัมผัสพื้นจริงๆ เพียงแค่ 240-250 มม. โดยเฉลี่ย ก็แล้วแต่ว่ายางยี่ห้อไหน เพราะยางแต่ละยี่ห้อก็หน้ากว้างไม่เท่ากันอีก แม้จะเป็นยางเบอร์เดียวกันก็ตาม ส่วนการเอายางเรเดียลธรรมดามาแข่ง Drag ก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะยางที่มีดอกสูง ตัวบ่าดอกยางจะโย้ตัวได้มาก ทำให้เกิดการฟรีทิ้ง ควบคุมรถลำบาก ไม่เหมือนยางดอกเตี้ยๆ ที่กล่าวไปนั่นเอง

Drag Slick

         ยางสลิค ก็คือยางหน้าเนียนไร้ดอกไม่ว่าจะอะไรสลิคก็เหมือนกันละ สำหรับยาง Drag Slick อันนี้เป็นโครงสร้างแบบผ้าใบเน้นความนิ่มเป็นหลัก โครงสร้างไม่ได้แข็งแรงมาก เพราะมันวิ่งแค่สั้นๆ เอาความหนึบตอนออกตัวจะดีกว่า อันนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงกันมาก เพราะคนก็รู้จักกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือเบอร์ยางที่มีหน่วยแปลกประหลาดกว่ายางเรเดียล คือเป็นเบอร์นิ้วยกตัวอย่าง 28.0-9.5 R15 ตัวแรกจะหมายถึงเส้นผ่านศูนย์กลางยางก็คือ 28 นิ้ว อันนี้เป็นการวัดยางเปล่าๆ ไม่มีน้ำหนักโหลดนะครับ ถ้าไปใส่ในรถจริงๆ เส้นผ่านศูนย์กลางมันก็จะหายไป เพราะมันมีน้ำหนักกดให้ยางแฟบลง ก็ต้องลดความสูงเผื่อไว้ประมาณหนึ่ง ส่วนตัวต่อมา คือหน้ากว้าง” 9.5 นิ้ว ถ้าเทียบเป็น มม. ก็อยู่ที่ 241 มม. อันนี้ก็เป็นการดูซีรีส์ยางสำหรับคนที่ยังไม่เคยกับเบอร์นิ้ว จะได้เทียบถูกว่ามันพอๆ กับยางเบอร์ มม. ตรงไหน

ยางสำหรับเซอร์กิต

         ในกรณีของรถเซอร์กิต ถ้าจะนับกันแล้ว ก็มีการแข่งหลายประเภท ตั้งแต่มือสมัครเล่น อย่าง Track Day จนไปถึงระดับโลก ที่เปิดเสรีเกือบทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ยางก็มีหลายเกรด ตั้งแต่ยาง High Performance ก็จำพวกยางสปอร์ตทั้งหลาย ยาง Ultra-High Performance หรือยางซอฟต์ที่เราเรียกกัน และไปถึงยาง Slick ไร้ดอก แต่มันก็จะมีโครงสร้างหลัก คือหน้ายางนิ่ม แก้มยางแข็งเพื่อเอาไว้ให้เลี้ยวได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง หน้ายางนิ่ม ไว้สำหรับการยึดเกาะ แต่ถ้าแก้มยาง หรือ Side Wall นิ่ม เลี้ยวมันก็โย้มาก มันใช้ไม่ได้ จึงต้องทำแก้มแข็งๆ มันก็ตอบสนองได้ฉับไว อันนี้เป็นหลักสากล

Circuit Radial

         อันนี้ผมจะพูดเป็นรวมๆ ไปเลยแล้วกัน ยางเรเดียลสำหรับแข่งเซอร์กิต พวกยางสปอร์ต High Performance อันนี้เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นยาง Ultra-High Performance ละ มันเป็นอย่างไร สังเกตได้ง่ายๆ ว่ามันจะทำดอกยาง (Tread) ไม่ลึกมาก เหมือนเอาคัตเตอร์ไปตัดกรีดร่องไว้เฉยๆ ดอกมันจะเป็นเส้นๆ สวยๆ ก็แล้วแต่ดีไซน์ สาเหตุคือ ถ้าดอกไม่ลึก เนื้อยางมันจะสัมผัสได้มากกว่าพวกดอกยางลึก การเกาะถนนก็ย่อมมีมาก เลี้ยวโค้งได้คมกว่า เพราะดอกยางตื้น มันไม่โย้ไปมาถ้าเอาดอกยางลึกๆ มาเลี้ยวแรงๆ มันจะเกิดการโย้ตัวมาก เมื่อดอกยางโย้ตัวมาก จะทำให้เกิดความร้อนสูงจัดเกินไป (Over Heat) ก็ไม่เป็นผลดี แต่ถ้าเป็นยางดอกตื้น การโย้ตัวต่ำ ความร้อนสะสมก็น้อยกว่า ตัวเนื้อยางจะนิ่ม Tread Wear ไม่มาก ทำให้การสึกหรอสูง วิ่งได้สักระยะก็ต้องเปลี่ยน สำหรับการแข่งขันคือเรื่องปกติ ไอ้เรื่อง Tread Wear เดี๋ยวต้องคุยกันต่อ ขอพักไว้ตรงนี้ก่อน

Circuit Slick

         มาถึงยางสลิคสำหรับการแข่งขันเซอร์กิตบ้าง อย่างที่บอกไปแล้วตั้งแต่เมื่อกี้ ว่ามันมีคุณสมบัติอย่างไร ขอย้อนไปถึงเรื่องของแก้มยางนิดหนึ่ง นอกจากแก้มจะแข็งแล้ว ยังเตี้ยอีกต่างหาก เพราะยางแก้มเตี้ย จะมีความแข็งมากกว่าแก้มสูง (เมื่อใช้วัสดุและโครงสร้างเดียวกัน นึกออกไหมครับ) การโย้ตัวก็น้อยกว่า อันนี้ก็คงไม่มีอะไรมาก แต่จะมีก็เป็นเบอร์ของยางที่จะไม่เหมือนกับยางเรเดียล และไม่เหมือนกับ Drag Slick เพราะมันดันมีเลขประหลาดๆ อยู่ เช่น 250/650R18 ซึ่งตัวเลข 250 คือ หน้ายางสัมผัสพื้นเป็นความกว้าง เท่ากับ 250 มม. ตัวเลขกลาง คือเส้นผ่านศูนย์กลางของยาง เท่ากับ 650 มม.” สาเหตุที่ต้องบอกมา ไม่ได้เป็น Series เหมือนยางปกติ เพราะว่า ในรถเซอร์กิตจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราทดเกียร์อยู่บ่อยครั้งซึ่งการคำนวณหาความเร็วจะต้องใช้เส้นผ่านศูนย์กลางยาง นำไปคำนวณถึงเส้นรอบวงยางเพื่อเอาตัวเลขไปคำนวณในสูตร Gear Calculator แต่ตัวเลขที่ปรากฏบนยางนี้ มันจะวัดเป็นตัวเลขยางเปล่าที่ไม่มีน้ำหนักโหลดใดๆ เข้ามา (หลักการเดียวกันทั้งหมด) แต่ถ้าใส่อยู่ในรถแล้วลงพื้น ยางจะถูกกดลงไป ก็จะต้องลดค่าลงไปประมาณ 25-30 มม. โดยเฉลี่ย ก็แล้วแต่การเติมลมยางด้วย ถ้าลมยางแข็ง ยางก็สูงหน่อย ถ้าลมยางอ่อน ยางก็จะเตี้ย ค่าก็จะหายไป อะไรทำนองนี้แหละครับ

         นอกจากนี้ ยางสลิคยังมีแยกย่อยไปอีก เป็นค่าความแข็งของเนื้อยางแบบต่างๆก็จะมีตั้งแต่ นิ่มมาก, นิ่มปานกลาง, ค่อนไปทางแข็ง ดูๆ แล้วก็ปวดกบาลดี มันก็มีกฎอยู่ว่านิ่มมาก สึกเร็วอาจจะวิ่งดีสักครึ่งเรซ แต่พอเริ่มร้อน ยางเริ่มสึก เวลาก็แย่ลงไปอย่างเห็นได้ชัด อีกอันนิ่มน้อยหน่อย แต่สึกช้าคงสภาพได้นาน ไอ้รอบแรกๆ ก็ไม่เท่าไร พอมารอบหลังๆ ยางยังคงสภาพได้ดีอยู่ มันก็ทำเวลาได้ดี พวกนี้บางทีมันเหมือน Game ที่ทำให้การแข่งขันมีลุ้นมากขึ้น Race Engineer ต้องมีการวางแผน บริหารการใช้ยางให้ถูกต้อง พูดง่ายๆ ก็คือหาเรื่องให้เข้ามาเปลี่ยนยางการแข่งขันจะได้มีลุ้นบ้าง ไม่ใช่นำโด่งไปแบบไม่ต้องมีลุ้น (Unpredictable) จริงๆ จะทำให้ยางมีแบบเดียวก็ได้ แต่ก็ต้องมีหลายแบบ เพื่อให้มีการวางแผน มีลุ้น คนดูก็จะสนุกมากขึ้น แต่ Race Engineer และ Pit Crew รวมถึง Racer ปวดหัวชิบห… 

ยางสำหรับแข่งทางเปียก

         ทางเปียก มันก็ต้อง Wet ใช่ไหม ??? คนส่วนใหญ่จะเรียกยางแข่งทางเปียกว่า Wet Slick จริงๆ แล้วเรียกไม่ถูกนัก เพราะถ้าเป็น Slick “หน้ายางต้องไม่มีดอกแต่ถ้ามีดอก หรือ Tread มันจะเรียกว่า Slick ไม่ได้ ยางถนนเปียก ก็ต้องมีดอกยาง เพื่อที่จะรีดน้ำออกจากหน้ายางไม่งั้นก็จะเกิดอาการเหินน้ำยางพวกนี้ก็จะมีแบ่งไปอีกถึงความลึกของดอกยางถ้าดอกลึกมาก ก็เอาไว้วิ่งทางน้ำขัง ฝนตกมาก ถ้ายางดอกไม่ลึกมาก ก็จะไว้วิ่งทางที่น้ำขังน้อย บางทีฝนตกมากน้อยก็ไม่ใช่ประเด็นหลักเสียทีเดียว มักจะขึ้นอยู่กับพื้นผิวของ Track มากกว่า ว่ามีน้ำขังมากหรือไม่ ถ้าพื้นสนามดี มีการระบายน้ำที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ดอกลึก เพราะถ้าดอกลึก มันก็โย้ตัวมากอย่างที่บอกไป การเลี้ยว เร่ง เบรก ก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ต้องระวัง เมื่อถนนเริ่มแห้งแล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนออก ฝืนไม่ได้ เพราะยาง Wet พวกนี้มันทนความร้อนสูงไม่ได้เพราะมันดีไซน์ไว้วิ่งทางเปียก ซึ่งมีน้ำระบายความร้อนให้กับยางอยู่ ถ้าวิ่งถนนแห้งๆ ร้อนจัดๆ ก็เสี่ยงกับการระเบิดได้ จริงๆ มันไม่มีใครแผลงทำหรอก เพียงแต่บอกไว้เป็นวิทยาทานเท่านั้นเอง

ยาง Intermediate

         ไอ้คำว่าอินเตอร์มีเดียทอาจจะเคยได้ยินพูดถึงบ่อยๆ ยางแบบนี้ก็จะทำมากึ่งแห้งกึ่งเปียกประเภททางหมาดๆ ฝนตกไม่มาก ถามว่ายางแบบนี้เจ๋งหรือเปล่า ??? ก็ไม่น่าจะดีนะ เพราะมันไม่ดีสักทางแห้งก็ไม่ดีที่สุด เปียกก็ไม่ดีที่สุด มันครึ่งบกครึ่งน้ำยังไงบอกไม่ถูก บางคนอยากจะใช้ก็ใช้ แล้วแต่การวางแผน

DOT หมายถึงอะไร

         เป็นที่ถกเถียงกันเหลือเกิน ว่ายางที่ผ่าน  DOT มันคือยางถนนที่ใช้ได้ถูกกฎหมายก็ที่เรียกๆ กันยางดอทอะไรนั่นน่ะ คำว่า DOT ที่ปรากฏบนแก้มยาง มันมาจากคำว่า Department of Transportation หรือกรมการขนส่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทดสอบและตั้งมาตรฐานของยางรถยนต์ที่จำหน่ายทั่วไป บริษัทที่ผลิตยางจะต้องส่งยางรุ่นที่จะจำหน่ายไปทดสอบที่นั่น ต้องผ่านมาตรฐาน DOT ก่อน ถึงจะจำหน่ายได้ เพื่อเป็นมาตรฐานยืนยันถึงคุณภาพของยางนั่นเอง ซึ่งก็จะมีการตั้งมาตรฐานไว้พอสมควร ไม่ได้เขี้ยวอะไรมากมาย เพื่อให้ยางนั้นขายได้ มีต้นทุนไม่แพงเกินไปนัก

         สำหรับการทดสอบยางของ DOT ก็จะมีขั้นตอนอยู่ว่า ต้องส่งยางตัวอย่างไปก่อนทุกขนาดและทุกรุ่นที่จะจำหน่าย แล้วก็ต้องซื้อยางที่ DOT ผลิตขึ้นมาเอง เพื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบขนาดต่อขนาด รุ่นต่อรุ่น ตัวยาง DOT ไม่ต้องไปหาครับ มันเป็นยางที่ผลิตขึ้นมาทดสอบในสนามอย่างเดียว หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่มีคุณสมบัติเหมือนยางทั่วไปที่จำหน่ายจริง แล้วก็จะต้องเช่ารถ จ้างคนขับทดสอบในสนามเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง ก็จะมีการขับทดสอบเปรียบเทียบกัน ระหว่างยางที่ส่งไป กับยาง DOT ว่าสึกไปแค่ไหน ในระยะทางเหมือนกันจะมีการบันทึกสถิติเอาไว้ โดยปกติยางที่จำหน่ายก็จะหมดช้ากว่ายาง DOT อยู่แล้ว แต่จะหมดช้ากว่ากันเพียงไรนั้น จึงมีตัวเลข Treadwear เข้ามาเกี่ยวข้อง เชิญชมต่อไป

Treadwear

         มาดูกันก่อน ว่าไอ้ตัวเลขเทรดแวร์นี่มันมาอย่างไร จากการทดสอบของ DOT ที่จะวัดการสึกหรอและทนทานของยาง สมมติว่ายาง DOT วิ่งได้ 1,000 กม. ยางสึกไป 1 มม. แต่ถ้ายางที่ร่วมทดสอบ (ก็คือยางที่จะขายจริง) วิ่งได้ 2,000 กม. ยางสึกไป 1 มม. เท่ากัน คำนวนแล้วเท่ากับว่าได้ระยะมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ตัวเลขเทรดแวร์ 200 แต่อีกยี่ห้อ วิ่งได้ถึง 3,500 กม. คำนวณแล้วเท่ากับ 350 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้เลขเทรดแวร์ 350 พวกยาง TAXI เนื้อแข็งๆ ก็อาจจะมีตัวเลขถึง 500 ก็เป็นได้ แต่ถ้ายางแบบ Ultra-High Performance ตัวเลขก็จะอยู่แถวๆ 180 ก็จะนิยมใช้กันอยู่ สำหรับค่าเทรดแวร์ 140 จะนับเป็นค่าต่ำสุดสำหรับยางวิ่งบนท้องถนนถ้าต่ำกว่านี้ จะถูกบ่งชี้ว่าเป็นยางสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ… 

         เจ้าเทรดแวร์นี่แหละครับที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดง โดยเฉพาะเวลาแข่งขันก็ซีเรียสกันมากๆ มันมีผลอย่างไร เทรดแวร์จะบอกในด้านความคงทนของยางนะครับ ไม่ได้เป็นตัวบอกว่ามันจะเกาะถนนหรือไม่เกาะอย่าเพิ่งเข้าใจผิด มันก็อยู่ที่เนื้อยางหรืออะไรหลายๆ อย่าง ยางเทรดแวร์ 140 บางตัว เกาะสู้ 180 ไม่ได้ก็มีอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นอย่าไปฝังใจกับมันมากนักแต่เชื่อไว้หน่อยก็ดีแนวโน้มยางเทรดแวร์ต่ำๆ จะเกาะถนนมาก เพราะเป็นยางเนื้อนิ่มกว่า แต่ท้ายสุดแล้ว ก็อยู่ที่การทดสอบขับขี่จริงนั่นแหละจะบอกได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับคุณ

Traction Rate

         สัญลักษณ์ Traction บนแก้มยาง นี่ก็เป็นข้อถกเถียงและยึดถือกันมาผิดเสียส่วนมาก แหม เห็นคำว่า Traction AA ล่ะก็ตาโต เชื่อว่ามันจะต้องเกาะถนนระดับเกรดเอชั้นเลิศ ใจเย็นๆ จะบอกว่า มันไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการเกาะถนนแห้งเลย แต่มันจะหมายถึงการทดสอบการยึดเกาะในถนนที่มีน้ำขังเพียงอย่างเดียว และก็อย่าเชื่อมาก ส่วนใหญ่ก็เห็นเป็น AA กันทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ยางบางรุ่นก็ร่อนน้ำก็เหมือนเดิม อย่าไปฝังใจกับมันมากนัก แต่เชื่อไว้หน่อยก็ดี

Temperature Rate

         อันนี้ตรงตัว หมายถึงความสามารถในการทนความร้อนของยาง การทดสอบก็จะใช้ยางหมุนบนแท่นทดสอบ สูบลมตามมาตรฐานของขนาดยางนั้นๆ แล้วก็โหลดน้ำหนัก หมุนบนแท่นทดสอบไปเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน แล้วดูว่ายางสามารถทนอุณหภูมิได้แค่ไหนก่อนระเบิด ก็จะแบ่งเป็นเกรดเหมือนกันครับ แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นเป็น A นะ

         ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเป็นเรื่องสาระในบางมุมที่น่ารู้เกี่ยวกับยาง ซึ่งอาจจะไม่ได้ลงลึกโดยไม่จำเป็น แต่ให้รู้เรื่องหลักๆ ของยาง รวมไปถึงค่าต่างๆ ที่น่ารู้ หรือยังเข้าใจผิดกันอยู่ จะได้เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร ก็เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านแน่นอนครับ