How To Buy ECU

 

How To Buy ECU  

เลือกซื้อ “กล่องดวงใจ” ในสไตล์ “กระดูกติดคอ” *0*

แฟนใหม่ยุค 90’s ควรอ่านอย่างแรง

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ : ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (SlowTake)

กล่อง ECU (Engine Control Unit) หรือ ECM (Engine Control Management) ก็ว่าไป มันก็คือ “คอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์” ในเครื่องยนต์ที่ใช้ “หัวฉีดไฟฟ้า” หรือ EFI (Electronic Fuel Injection) ตานี้ ถ้าเป็นยุค “เครื่องหัวฉีด + เทอร์โบ” รุ่งเรือง ก็จะเริ่มตั้งแต่ปี 90 จริงๆ ยุค 70 ปลาย ไปถึง 80 ต้น ก็จะเริ่มมีระบบหัวฉีดเข้ามาแทน “คาร์บูเรเตอร์” โดยเน้นการจ่ายน้ำมันที่เหมาะสม ประหยัด ได้กำลัง และ มลพิษต่ำ (ถ้าเทียบกับคาร์บูฯ ที่จ่ายน้ำมันไม่ละเอียดพอ) จนมาถึงรถยุคปัจจุบันที่กล่อง ECU พัฒนาไปมาก แต่เอาเข้าจริงๆ กล่องของเครื่องยุค 90 ก็ยังมีใช้อยู่ ณ บัดนาว และก็มีโอกาส “เสื่อม หรือ เสีย” เพราะมันก็มีอายุเยอะพอควร พอมันเดี้ยงก็ต้อง “หามือสอง” มาใช้ เราลองมาดูวิธีการ “เลือกซื้อกล่อง” กันดีกว่า ว่า “ดูยังไง” จะได้กล่องที่สภาพดีมาใช้งาน ถ้าอ่านบทความนี้ ก็จะลด “ความเสี่ยง” ไปได้เยอะเลย…

 

“รู้” ก่อนไปซื้อ  

ก่อนอื่น เราควรจะ “ศึกษา” ก่อน ว่ารถเรา เครื่องเรา มันใช้กล่อง “เบอร์ไหน” ถ้ารถยังใช้กล่องเดิมตรงรุ่น ก็หา “เบอร์เดิม” ดีที่สุด บางทีรถ “วางเครื่องมาใหม่” อาจจะเจอ “กล่องไม่ตรงรุ่น” เสียบกันได้ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เช่น รถ R32 เสียบกล่อง R33 บางอันก็สตาร์ทไม่ติด บางอันติดแต่ “น้ำมันหนา” ควันดำ ฯลฯ แล้วแต่ดวงว่ะ อันนี้ก็เจอกันมาเยอะพอสมควร ตอนนี้เรื่อง “เบอร์กล่อง” มันไม่ใช่เรื่องลับๆ ล่อๆ (ถ้า “เสี้ยม ริมหาด” เจ้าของ “เปอร์โยต์ สิงห์เขย่ง ยกทรงขาด” จะเน้น “ล่อๆ แต่ในที่ลับ”) เพราะใน “เน็ต” ก็มีข้อมูลกันเพียบ อ่านกันตาลายไป หลังจากที่ได้เบอร์กล่องที่ “ตรง” กับที่เราต้องการแล้ว ก็ต้อง “ออกล่า” จะ “เชียงกง” หรือ “ออนไลน์” ก็แล้วแต่ว่าอยากจะหาตรงไหน แต่ต้องทำใจอย่างหนึ่ง ว่ากล่องเดิมจากโรงงาน ถ้ามีอายุแล้วมันก็อาจจะ “ออกอาการเจ” (ศัพท์วัยรุ่น 90 ที่ผมก็ได้แต่จำมา เพราะเกิดไม่ทัน) เพราะกลไกข้างในมันก็ย่อม “เสื่อม” เป็นของธรรมดา แต่ละรุ่นก็จะออกอาการต่างกัน อย่างของ R32 ก็มักจะเจออาการ “เครื่องเย็นไม่ดึงรอบขึ้น” IC ตัวที่คุม Automatic Choke ตอนเครื่องเย็นชอบเจ๊ง แต่ข้อมูลหลักๆ เกี่ยวกับเครื่องยนต์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าพวก RB25 ก็จะกลับทางกัน บางอันเจอ “เอ๋อ” ข้อมูลหลักๆ เพี้ยน ไปไม่เป็น ถ้าเป็นพวก MITSUBISHI บางรุ่น ภายในเมนบอร์ด จะเคลือบด้วย “เรซิน” (อะไรประมาณนี้นะ ถ้าผิดขออภัย) กันการถอดรื้อ IC หรือ Capacitor ต้องคนทำเป็นและมีเทคนิคถึงจะซ่อมได้ อะไรประมาณนี้แหละ…

 

“ดู”

ดูครับ ดูเท่านั้น เมื่อเราเจอ “เป้าหมาย” แล้ว อย่าเพิ่งคิดเข้าข้างตัวเอง ให้ “พิจารณาสภาพ” กันก่อน โดยดูกันเป็นส่วนๆ ประมาณนี้…

 

ตาดู มือลูบ นิ้วคลำ

โดยรวมต้องมีสภาพดี ไม่มีร่องรอยกระแทกอย่างแรง (เป็นรอยนิดหน่อยพอได้ เพราะเวลามาก็จะตั้งๆ สุมๆ กันมา) ไม่มีร่องรอยของ “สนิม” ลอง “เขย่า” ดู จะต้องไม่ได้ยิน “เสียงน้ำแจ๊ะๆ” (อย่าคิดมากดิ) ถ้ามีน้ำข้างในล่ะ “เลิก” หาใบอื่นเถอะ ให้ดู “Socket” ที่สำหรับเสียบสายแพ ตัว Pin หรือ “ฟัน” จะต้องมีสภาพดี ไม่มีคราบสนิม ตั้งอยู่อย่างครบ ไม่มีฟันล้ม ฟันหัก ฟันหาย ดู “รูนอตยึดสายแพ” จะต้องมีสภาพสวยใส ไม่มีร่องรอยสนิม เกลียวด้านในต้องไม่ล้ม ไม่เยิน นอตยึดกล่องไม่ควรจะเยิน แสดงว่า “ถอดนอตแกะเข้าออกบ่อย” และให้ดูชิ้นส่วนที่ชุบ Zinc มา จะต้องเป็นเหลืองอ่อนใสๆ มีคราบนิดหน่อยได้ แต่ไม่ใช่เน่า ไม่ใช่รอยสนิมเกรอะกรัง พูดง่ายๆ “องค์ประกอบต้องสวยงาม” นั่นเอง…

 

เปิดใจข้างในเธอซิ

                โดยปกติ ในสมัย 90 จริงๆ ร้านขายกล่องส่วนมากจะ “ไม่ค่อยยอมให้เปิดฝากล่องดู” แล้วแต่ดวง ถ้าร้านซี้ๆ คุ้นๆ หน้ากัน ก็อาจจะให้ใส่ลองวิ่งแป๊บนึง วิ่งได้ก็จ่ายตังค์ แต่ตอนนี้ควรจะต้อง “ยอมให้เปิดฝาดู”  เพราะกล่องมีอายุเยอะ โอกาสที่ข้างในมันจะ “ไม่เฟี้ยว” ก็มีเยอะ ให้ร้านเปิดดีกว่าครับ เราคอยดูอย่างเดียว แต่ถ้าเราต้องเปิดดูเอง ก็ขอให้ “ระวัง” กันหน่อย เวลาขันนอต ถอดเข้า ถอดออก (พอดีแป้น “ด” กับ “ก” มันอยู่ใกล้กันเสียด้วย) ก็ “เบามือหน่อย” เพราะสกรูยึดกล่องตัวมันเล็ก และถ้าขันแรงๆ มันจะ “เยิน” เอาว่าแค่พอสมควร “ตึงมือ” ก็พอ ไม่ต้องขันแน่นอะไรนักหนาหรอก พอเปิดมาก็ให้ดูสภาพโดยรวม ก็ต้องระวังพวก “สายไฟแพ” อีกนะ เวลา “อ้า” แผง Main Board ดู ค่อยๆ ครับ เดี๋ยวสายแพมันขาดแล้วจะงานมา การดูภายในกล่อง เน้นๆ ว่า “จะต้องไม่มีคราบน้ำ คราบสนิม โดยเด็ดขาด” จะต้องสวย แห้ง ไม่มีคราบใดๆ แม้จะทำให้แห้งด้วยวิธีใดก็ตาม มันจะ “ไม่ใส” ดูออกครับ ดูพวก IC ต่างๆ จะต้องไม่มี “รอยไหม้” เป็นดำๆ เขียวๆ ช้ำๆ อีกจุดหนึ่ง คือ Capacitor ที่เป็นรูปทรงกระบอก อันนี้เวลาหมดอายุ จะมีของเหลว “ไหลเยิ้ม” ออกมา ก็ขอให้เลือกไอ้ที่มัน “แห้ง” และ “ไม่มีคราบ” พวกคราบคาวๆ เอ้ย คราบน้ำยาทำความสะอาด แอลกอฮอล์ ต่างๆ มันจะทิ้งคราบฝ้าๆ เอาไว้ ดูพวก ROM ต่างๆ ถ้าเป็นกล่องเดิมๆ จะต้องดูเรียบร้อย ไม่มีรอยงัด รอยแกะ รอยบัดกรีใหม่ อะไรประมาณนี้แหละ…

 

กล่องโมฯ ROM สไตล์ซิ่งยุค 90 ดูยังไง

สมัยนั้น การโมดิฟายกล่องก็จะเปลี่ยน “ค่า” ใน ROM โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ เช่น การจ่ายน้ำมัน องศาไฟจุดระเบิด ฯลฯ สำหรับเครื่องที่โมดิฟายเพิ่ม การเขียน ROM สมัยนั้นก็จะใช้เครื่องมือ E-Prompt Emulator แล้วก็ใส่ ROM ใหม่เข้าไปในกล่องเดิม สมัยก่อนก็มีหลายสำนักอยู่นะ เช่น MITSUOKA, MINE’S โอ๊ย เยอะ ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ หน่อย ก็จะมี “ยี่ห้อ”แปะ พร้อม Seal กล่องมาเลย แต่บางทีก็ไม่แปะยี่ห้อ เปิดมาเจอ “รอมโมฯ” ถ้าเป็นกล่อง RB20DET หรือ RB26DETT ยุคนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนแค่ “ROM ตัวมุมบนซ้ายมือ” (ถ้าหัน Socket ลงข้างล่าง) แต่ถ้าเป็น SR20DET จะต้อง “เพิ่มบอร์ด” ที่นิยมเรียกกันว่า “บอร์ดสองชั้น” นั่นเอง ส่วนใหญ่ที่เจอ ถ้าเปลี่ยน ROM มา จะโดนเอา “กาวยาง” ใส่มาเพียบๆ เพื่อ “กันหลุด” อย่างกล่องตัวอย่างใบนี้ เล่น “เทเชื่อม” ติดมาแบบเวอร์ๆ แม่มเหมือน “กาวดักหนู” เลย เพื่อ “กันแกะมาก๊อปปี้” เพราะกาวยางมันจะเหนียวมาก ฝืนงัดมากๆ ROM ก็จะพัง แต่ว่าตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยสนใจกันแล้ว เพราะมีกล่อง Programmable ต่างๆ เป็นตัวหลักที่คุมการทำงานของเครื่อง จูนได้อีกต่างหาก ซึ่งกล่อง ROM ที่ได้มาก็ไม่รู้ว่าจะ Match กับเครื่องของเราจริงๆ หรือเปล่า ดังนั้น กล่องหลักพวกนี้ก็จะเอาไว้คุมพวกอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมแอร์, การป้อนข้อมูล, เซนเซอร์ต่างๆ สำหรับรถที่ยังขับถนนอยู่ จึงไม่มีผลอะไรเพราะเราใช้กล่อง Programmable ไว้สั่งการอยู่แล้ว ก็ขอบอกให้เป็นความรู้แล้วกัน…

 

“ลอง” เท่านั้น

บทสุดท้าย ถ้าสภาพทุกอย่าง “ผ่าน” แล้ว จะให้แน่ๆ เลยก็ต้อง “เปลี่ยนลอง” ดู อันนี้ต้องคุยกับผู้ขายให้เคลียร์นะครับ ขอลองใส่วิ่งว่าอาการเป็นยังไง ติดเครื่องได้จริง แต่ “สมบูรณ์มั้ย” เร่งเป็นไง สะดุดไหม เดินเบาควันออกไหม พูดง่ายๆ คือ “อาการมันเปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า” (กรณีเครื่องสมบูรณ์อยู่นะ) ถ้ามีอาการแปลกๆ แย่ๆ ก็ไม่ใช่แล้ว ถ้ามัน “แจ๋วเหมือนเดิม” (พูดถึงกล่องสแตนดาร์ดนะ) หรือ “แจ๋วกว่าเดิม” (กรณีกล่องเดิมไม่สมบูรณ์) ก็ถือว่า “รับเลี้ยงได้” จบงานครับ…

 

บทสรุป

แม้ว่าการเลือกกล่องแบบนี้จะออกสไตล์ “ย้อนยุค” อยู่สักหน่อย อาจจะโดนใจกระแสยุค 90 แต่มันก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้กับกล่องหลากหลายรูปแบบ พัฒนาไปอย่างอื่นๆ เช่น กล่องเกียร์ กล่องอะไรก็ว่าไป มันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ควรจะศึกษาก่อน เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้ามันไม่แน่นอน เห็นสวยๆ กริ๊บๆ แต่อาจจะมีปัญหาก็ได้ บางอันอาจจะเกรอะๆ กรังๆ ไปหน่อย (แต่ต้องไม่มีน้ำเข้า ไม่ชื้น ไม่เจ๊ง) ใส่ลองวิ่งแล้วดีก็คือจบเหมือนกัน ซึ่งก็น่าจะมีประโยชน์อย่างมาก ดีกว่าไม่รู้อะไรเลยครับ…

 

ขอขอบคุณ

Toon Engine Shop : Tel. 081-816-9390, Facebook/Toon Engine Shop

บิ๊กจอห์น เซอร์วิส : Tel. 081-818-1109, 089-818-1109, Facebook/บิ๊กจอห์น บางกรวย

K-SPORT : Tel. 081-821-8310, Facebook/Wanchock Chintakanon