เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), วุฒิชัย คำภิระยศ
I heart HONDA !!!
“SPOON Story” 40 ปี กับชีวิตบน HONDA
By Oak Club Thailand
For SPOON-ISM
ผมเชื่อแน่ว่า สาวก HONDA นั้นมีทั่วโลก จากเสน่ห์ของรูปทรง ตัวรถมีราคาไม่แพง คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้ ของแต่งมีมากมาย เครื่องยนต์ VTEC อันทรงพลังในรูปแบบ N.A. ขับสนุก ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบ้านเราจะมา “ฟีเวอร์” กันมากใน EG 3 ประตู ซึ่งตอนนั้นรถใหม่ก็มีราคายั่วใจ อยู่ประมาณ “สามเก้าเก้า” เรียกว่าขายกันระเบิดระเบ้อ และต้องวางเครื่อง B16A DOHC VTEC ขนาด 1.6 ลิตร แต่มีกำลังให้ใช้ถึง 170 แรงม้า !!! โดยไม่พึ่งเทอร์โบ จึงเป็นกระแส HONDA Fever กันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน…
- คุณโอ๊ค OAK CLUB Thailand พาเยี่ยมชม TYPE ONE แบบล้วงลึกถึงกึ๋น
หนึ่งในสำนักโมดิฟายคู่บุญ HONDA ในดวงใจของใครหลายๆ คน ย่อมมีชื่อของ SPOON ติดอยู่ในใจเสมอ ด้วยความเป็นมาอันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ จากเจ้าสำนัก “นกกระเรียน” ที่ทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้กับรถ HONDA ที่เขารัก และทุ่มเทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน พัฒนาความรู้มาจาก “มอเตอร์สปอร์ต” ปรับปรุงเพื่อใช้กับรถ Street ที่สามารถขับใช้งานได้จริงอย่างสะดวกสบาย และ “แรดได้” แบบเต็มสมรรถนะ พูดง่ายนะ แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่จะ Combination หรือ “สะเวิ้บ” สองเงื่อนไขนี้เข้าด้วยกันให้ได้ แต่ SPOON ก็สามารถทำได้จริง จนเป็นแบรนด์ซิ่งสาย H ที่ตรึงใจไปทั่วโลก…
- ลุงคนนี้แหละครับ “อิชิซัง” เจ้าสำนัก SPOON ที่สร้างตำนานไว้กว่า 40 ปี ในภาพเป็นงานครบรอบ 40 ปี SPOON SPORT ที่จัดพร้อมกันกับ Tokyo Auto Salon 2018 ซึ่งก็มีสื่อต่างๆ พร้อมสาวก “นกกระเรียน” มากมายไปงานนี้
ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสำนัก SPOON และ TYPE ONE กันแบบ “เบื้องลึก” มีเรื่องราวมันส์ๆ สนุกๆ สไตล์ Reed It More มันไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่มีข้อคิดดีๆ แฝงอยู่ ว่าทำไมถึงประสบความสำเร็จในด้านการโมดิฟาย จนเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกได้ ครั้งนี้เรามาตีแผ่ชีวิตของ SPOON SPORTS เพื่อให้ “ชาวนกกระเรียน” ที่เรียกกันว่า SPOON-ISM ก็มาจาก “สปูน-ลิซึ่ม” หรือ “คนคลั่งไคล้ SPOON” นั่นเอง มาอ่านกันเพลินๆ สบายๆ กันครับ…
จากช่างมอเตอร์ไซค์ ยิ่งใหญ่สู่รถแข่ง
เกร็ดชีวิตของ “ลุงอิชิ” หรือ “Mr. Tatsuru Ichishima” (ทัตสุรุ อิชิชิมะ) ซาโจ้ หรือประธานใหญ่ ผู้ก่อตั้ง SPOON SPORTS อันยิ่งใหญ่นั้น ถือว่าเป็น “ตำนานการเดินทาง” ที่น่าสนใจ และหลายๆ คนอาจจะไม่ทราบ จุดเริ่มต้นมาจากการเป็น “ช่างมอเตอร์ไซค์ HONDA” ในช่วงวัยหนุ่ม แล้วก็เขยิบมาแข่งรถยนต์ ครั้งแรกเริ่มกับรถ HONDA N Series อย่างพวก N360 ที่ใช้เครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ขนาด 360 ซี.ซี. ที่ HONDA ได้เริ่มผลิต “รถเก๋ง” ในแบบ 2 Box Car ขับเคลื่อนล้อหน้าออกมาในยุคนั้น เพื่อให้มีเนื้อที่ภายในเพียงพอสำหรับ 4 คน และประหยัดน้ำมันเป็นหลัก ขับง่าย จอดสะดวกสไตล์ญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็มีสปอนเซอร์เข้ามาเรื่อยๆ ก็เปลี่ยนรถใน “เวล” สูงขึ้น เป็น S Series สปอร์ตพันธุ์แท้ (บรรพบุรุษ S2000) เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ ตอนนั้นก็ “ทำเอง แข่งเอง” ยังไม่มี Branding อะไรทั้งสิ้น ก็มีสปอนเซอร์ต่างๆ สนับสนุนกันไปตามอัตภาพ จนถึงจุด Peak ขั้นต่อไป…
- ภาพในอดีต ที่ อิชิซัง ยังหนุ่ม น่าจะเป็นยุคที่เขาเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่
- ภาพนี้ อิชิซัง แข่งรถยนต์เต็มตัว ในภาพคือ HONDA SPORT พวก S600-S800 ซึ่ง “ทำเอง แข่งเอง” นับว่าเจ๋งจริงๆ ทำคนเดียวด้วย
80’s ยุคทองแห่งการเปลี่ยนแปลง
ยุค “Eighty” จะมีการแข่งขันในรูปแบบ Group A ที่กำลังรุ่งเรือง อิชิซัง อาชีพหลักนอกจากจะแข่งรถแล้ว ก็ยังเป็น Test Driver ของบริษัท HONDA ซึ่งตัว อิชิซัง เอง ก็มีความสนิทสนมกับ HONDA เป็นพิเศษ แล้วจึงได้สร้างรถแข่ง HONDA CIVIC Si Hatchback รหัส E-AT ใน Gen 3 มีนิยามว่า “WONDER CIVIC” จะใช้คอนเซปต์การออกแบบ MM หรือ Man Maximum, Mechanics Minimum เป็นรถที่ขับสนุก มีสมรรถนะดี โครงสร้างไม่ซับซ้อน ถือว่าเป็นรถสไตล์สปอร์ตขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมสูง ขุมพลัง ZC ในตำนาน แบบ DOHC 16 Valves ยังไม่มีระบบ VTEC ความจุ 1.6 ลิตร แต่กระนั้นก็ให้แรงม้าสูงถึง “130 PS” และถูก SPOON SPORTS โมดิฟายเพื่อแข่ง Group A Division 1 (ไม่เกิน 1,600 ซี.ซี.) เรื่องรายละเอียดก็คงต้องไปย้อนดูเอง เพราะมันเยอะมาก รถคันนี้ก็ถือว่าสร้างชื่อให้ SPOON SPORTS เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่นั้นมา แล้วก็คันนี้แหละที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง Win ตลอด มีร่วงบ้าง รุ่งบ้าง ก็เป็นธรรมดาของการแข่งขัน แต่จะนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไขยังไง อันนี้แหละสำคัญที่สุด…
- CIVIC EA ที่ตอนนั้นเป็นรถใหม่ กำลังปั้นเป็นตัวแข่ง Group A ที่เราเคยเห็นกัน
- เริ่มโกอินเตอร์ในยุคต้น 90 กับ CIVIC EF9 รูปนี้ขึ้นหน้าปกหนังสือพิมพ์ Tabloid (แทบ–ลอยด์) แจกฟรี ตอนที่ TYPE ONE จัดงาน โดยมาก อิชิซัง จะนิยมแข่งพวก “สายอึด” อย่าง Endurance เพราะได้เก็บประสบการณ์ในการทำรถให้ “แรงพอดีและทนทานสูง” เพื่อนำมาทำรถลูกค้าให้เกิดความ “พึงพอใจ” และ “มั่นใจ” เมื่อทำกับ SPOON
SPOON SPORTS V.S KUROKI RACING
“เบิ้ลกันสนั่นฮอลล์”
ขอ “คั่นรายการ” กันหน่อย มันเป็นเรื่องใน Time Line ของ SPOONS SPORTS กับ KUROKI RACING ถามว่า “สองสิงห์เฒ่า” ฝีมือระดับลายครามทั้งสองท่านนี้ โคจรมาป๊ะกันได้อย่างไร แล้วเกิดอะไรขึ้นใน Event หนึ่ง ที่ อิชิซัง เจอหน้า ป๋าคุโรกิ แล้วเกิดการสตาร์ตเจ้า EA Group A แล้วเบิ้ลรอบสนั่นกลางฮอลล์ต่อหน้าประชาชีชาวไทย อะไรที่ทำให้ลุงแกของขึ้นขนาดนั้น…
ย้อนกลับไปช่วงยุค 80 ตอนที่ อิชิซัง แข่งด้วยรถคันนี้ และเป็นการแข่งขันแบบ Endurance ที่จะต้องมี “Co-Driver” ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น “ป๋าคุโรกิ” Mr. Kenji Kuroki แห่ง KUROKI RACING ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง อิชิซัง ก็รู้จัก คุโรกิ มาตั้งแต่สมัยแข่งรถยุคโบราณกาล พอหลังจากที่มีชื่อเสียง ก็ชวน คุโรกิ มาขับรถแข่งคันเดียวกัน จนตอนหลังก็ต่างคนต่างแยกไปทำทีมของตัวเอง และมีโอกาสได้ “โคจร” มาเจอกันใน Event นี้ ซึ่ง Oak Club Thailand ก็ได้แหวกแนวเอารถ CIVIC EA คันนี้เข้ามาโชว์ (แล้วเราก็ได้รับเกียรติให้ไปถ่ายคอลัมน์แบบเจาะลึกมาฝากกันไง) นอกเรื่องหน่อยละกัน อย่านึกว่ารถเก่าๆ แบบนี้มาโชว์จะค่าตัวถูกๆ ไม่เหมือนกับรถแพงๆ เอาจริงๆ นะ รถคันนี้อย่างที่บอกว่า “มีมูลค่าทางจิตใจของ อิชิซัง สูงมาก” เพราะฉะนั้น เรื่องของ “วงเงินประกัน” ในการนำรถมาโชว์ ได้ข่าวว่าสูงในระดับ “สิบล้านบาท” ถ้าเกิดการเสียหายขึ้นมา เพราะฉะนั้น มันจะต้องถูกดูแลอย่างเข้มงวด อีกอย่าง รถคันนี้ “สตาร์ตยาก” เพราะเป็นเครื่องแข่งเต็มระบบ คนที่สตาร์ตได้จะต้องเป็นตัว อิชิซัง เอง หรือทีมช่างที่ไว้ใจได้เท่านั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยปละละเลยคันนี้ได้แม้แต่น้อย…
และแล้ว ความโกลาหลก็เกิดขึ้น ในงานนี้ “คุโรกิซัง” ได้มาเจอกับ “อิชิซัง” เพื่อนรักเก่าแก่ คุโรกิซัง ได้เจอคันนี้แล้วก็ตกใจ เพราะเป็นรถแข่งในอดีต ตัวเองเคยขับคู่กัน ไม่น่าเชื่อว่าจะยังอยู่ !!! และได้เปิดคำถามกับ อิชิซัง ในเชิงแหย่ๆ ว่า “รถคันนี้มันยังวิ่งได้อีกเหรอ” แทนคำตอบ อิชิซัง ได้มาหยิบกุญแจที่ “คุณโอ๊ค” ตอนแรกก็ไม่นึกอะไร คงจะเปิดรถดูอะไรละมั้ง แต่เหตุการณ์มันพลิกผัน อิชิซัง ได้สตาร์ตเครื่องคันนี้ แล้วก็ “เบิ้ลสนั่นลั่นฮอลล์” อยู่แป๊บนึง แต่ก็ทำให้คนแตกตื่นแห่มาดูกัน แล้วยิ่งเสียงเครื่อง Group A คันนี้ ถ้าใครเคยได้ยิน ผมบอกได้เลยว่า “มันไม่ใช่เสียงแบบรถซิ่งทั่วไปแน่ๆ” มันทั้งแผดกร้าว และดุดันสไตล์รถแข่งจริงๆ งานนั้นเกือบซวย เพราะทางฝ่ายอาคารยกพวกกันมาเลย ดีว่าเคลียร์ได้ เลยรอดไป…
มีอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งสองคนนี้เดินทางในวงการเซอร์กิตมาด้วยกัน สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของทั้งสองค่ายนี้ คือ “ไม่บ้าพลังคลั่งแรงม้า” เพียงอย่างเดียว รถที่แข่งมีแรงม้าประมาณหนึ่ง แต่ “ต้องใช้ให้หมดได้โดยไม่พัง” ซึ่งการทำเครื่องยนต์หรือรถยนต์จะเน้นการตอบสนองที่ดี เหมาะสมกับแรงม้าที่มี และไม่เบ่งพลังจนเกินเหตุ ดูแลรักษาตามปกติ มันก็ไม่พัง นี่แหละครับ เป็นจุดที่เป็นนโยบายของ SPOON SPORTS เลยละครับ…
- ภาพขณะแข่งด้วย CIVIC EG6 3 Doors รถรุ่นนี้ที่ทำให้คนไทยเริ่มหันมาเล่น HONDA กันสนั่นเมือง เบอร์ 95 เป็นเลขที่ อิชิซัง ชอบ และเชื่อว่านำโชคมาให้เขา
90’s โกอินเตอร์
หลังจากที่ยุค 80 ตระเวนแข่งในบ้านจนประสบความสำเร็จแล้ว ก็มีความคิดที่จะ “โกอินเตอร์” ทางของ SPOON ก็คือ Endurance ที่ทำให้เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสนามแข่ง เพื่อมาพัฒนาการโมดิฟายให้เหมาะสมสำหรับรถยนต์ โดยที่เน้นว่า “แรงกำลังดี มีความทนทานสูง ลูกค้าทุกท่านจะต้องขับรถที่ทำจากเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ ปลอดภัย สมรรถนะสูง ใช้งานได้จริง” ในปีนี้ก็ใช้รถ CIVIC Si Hatchback EF9 และนี่คือจุดที่ทำให้ก้าวไปอีกระดับกับเครื่องยนต์ B16A อันเลื่องลือ เหตุผลอีกประการที่ SPOON ดันตัวเองสู่สากล เพราะต้องการเก็บประสบการณ์จากต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันในแบรนด์ SPOON ที่เป็นของคนญี่ปุ่น ให้ต่างชาติได้เห็นและยอมรับผลงานของ “ชาวเอเชีย” นั่นเอง…
- นี่แหละครับ CIVIC EA Group A ตัวแสบ แรงโคตรๆ และสร้างชื่อให้กับ SPOON SPORTS จนถึงปัจจุบัน รถคันนี้มีความหมายกับ อิชิซัง มากๆ
- เป็นรถแข่ง Group A “คันจริง” ที่ใช้แข่งตั้งแต่ในอดีต ไม่ใช่ทำขึ้นมาใหม่ เพราะตอนที่ทำคอลัมน์ ของดั้งเดิมที่ปัจจุบัน “หาไม่ได้แล้ว” ยังอยู่ครบ ซึ่งมันก็ยัง “ซ่า” ได้เต็มตีนอยู่ จนเกิดเหตุการณ์เบิ้ลสนั่นฮอลล์เพื่อโชว์ “คุโรกิซัง” ว่ามันยังเตะปี๊บดังอยู่นะ
ชื่อ SPOON มาจากไหน ???
อันนี้ขอให้ย้อนไปเมื่องปี 2016 ตอนนั้นผมเขียนคอลัมน์ Return to Retro ซึ่งก็เป็นรถ CIVIC “Wonder” EA Hatchback ตัวแข่ง Group A Racing แท้ๆ และเป็นรถแข่งจริง คันเดียว คันเดิม ที่ อิชิซัง เก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะรถคันนี้มี “ความหมาย” กับเขามาก แบบแทนค่าเป็นตัวเงินมิได้ ในครั้งนั้นผมได้เขียนเรื่องของที่มาของชื่อ “SPOON” เอาไว้ ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัย ว่ามันเกี่ยวอะไรกับ “ช้อน” วะเนี่ย ก็ขอทวนอีกทีละกัน ในช่วงที่แข่งขัน อิชิซัง ได้เป็นแชมป์ในรายการแข่งขันที่เรียกว่า SPOON CUP ณ สนาม Twin Ring MOTEGI ที่จะมี 2 Loops การแข่งขัน คือ จะเป็นรูป “วงรี” ที่ทำมาเพื่อเรียกเหล่า Indy Car จากอเมริกา ก็เป็นรถล้อเปิดคล้ายๆ F1 แต่วิ่งวนเป็น High Speed ส่วนอีก Loop ก็คือ เซอร์กิต เมื่อ อิชิซัง แข่งรายการนี้ชนะ จึงเอามาตั้งเป็นชื่อสำนักแต่งของตัวเอง คือ “SPOON SPORTS” นี่แหละครับ…
- SPOON SPORTS ณ บัดนาว
- นี่เป็นตึก Office ของ SPOON SPORTS ที่เป็นออฟฟิศเต็มระบบ ไม่มีอะไรซิ่งๆ ให้ดูหรอก
- ถ้าเข้ามาเยี่ยมชม SPOON SPORTS ก็มีของแต่งแค่นี้แหละครับ เล็กๆ น้อยๆ ให้ซื้อติดมือไป
Shop History
ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องราวการแข่งขันทั้งหมดก็คงจะยาวเกินไป งั้นเข้าเรื่องในการเริ่มตั้ง Shop ของ SPOON กันดีกว่าครับ ในเดือนมกราคม ปี 1989 ก็ได้ก่อตั้ง SPOON SPORTS ขึ้น ตั้งอยู่ย่าน Koshu Highways ก็เป็นร้านเล็กๆ ที่เปิดมาสำหรับ “ทำรถแข่งเพียงอย่างเดียว” ซึ่ง อิชิซัง ก็ทำงานคนเดียวเหมือนกัน ทั้งทำรถ ขายของ นู่นนี่นั่น ก็ถือว่าเก่งมาก แต่คนที่ “เปลี่ยนเกม” และมาช่วยให้ SPOON ไปไกลมากขึ้น คือ “Mr. Yuki Imamura” (ยูกิ อิมามูระ) ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน รองจาก อิชิซัง เรียกว่าตัวติดกันเลย ยูกิซัง เป็นคนที่แทบจะเป็น “ทุกสิ่งอย่าง” ของ SPOON ไปแล้ว ตั้งแต่ R&D จนไปถึงเรื่องการตลาด ยอมรับว่าเป็น “ตัวกลยุทธ์” ฝ่ายบุ๋นเลยก็ว่าได้ เหตุเกิดก็เหมือนความบังเอิญ กว่าเกือบ 30 ปีที่แล้ว ยูกิซัง ยังทำงานอยู่บริษัททั่วๆ ไปนี่แหละ ทำงานอยู่แผนก “ไอที” เวลาไปกลับออฟฟิศ ก็จะต้องเดินผ่าน SPOON ทุกวันทำการ พื้นฐาน ยูกิซัง เป็นคนที่ชอบรถซิ่งอยู่เป็นทุนเดิม เดินผ่านทีก็แวะเหล่ทีนึง แล้วก็ไปทำงานต่อ ผ่านไปผ่านมาประมาณ 2 ปี ผ่านไป น่าจะเป็นช่วงปี 1995 โชคชะตาพาเพลิน วันหนึ่ง อิชิซัง ปิดประกาศ “รับสมัครงาน” หน้าร้านเลย เหมือนองค์ลง ยูกิซัง เดินผ่านแล้วเห็นป้าย ก็ไม่รีรอที่จะเดินเข้าไปเพื่อสมัครงาน แล้วก็สำเร็จ ยูกิซัง ก็ได้เดินตามฝัน ทำงานควบคู่ไปกับ อิชิซัง กันสองคน ทำทุกอย่างเลย ขายของ ทำบัญชี ทำรถ สร้างของแต่งขึ้นมาขาย แข่งรถ ฯลฯ ยอดมนุษย์จริงๆ ว่ะ ตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ ยูกิซัง ก็มีอำนาจตัดสินใจทุกอย่าง ส่วน อิชิซัง ก็เริ่มจะถอยห่างออกมาเพื่อเป็นที่ปรึกษา แล้วให้ ยูกิซัง ดำเนินบทบาทหลักไปแทน…
- อยากตื่นเต้นต้องมานี่ TYPE ONE ที่โชว์ Work Shop กันเห็นๆ
- TYPE ONE อยู่ถนนเดียวกับ SPOON SPORTS ห่างกันนิดเดียว เพราะต้องการแยกมาเป็น Shop ในการเซอร์วิสเต็มระบบ
“TYPE ONE” Debut
ในปี 2001 หลังจากที่ SPOON SPORTS ย้ายมาที่ใหม่ “ใหญ่กว่าเดิม” ซึ่งก็คือร้านในปัจจุบัน มาอยู่บนถนน Kanpachi ใน Tokyo ซึ่งสามารถโดยสารรถไฟมาที่สถานี OGIKUBO ได้ รอบๆ ละแวกนั้นก็จะมีสำนักซิ่ง HONDA เช่น Seeker และ HONDA TWINCAM รวมถึง AUTOBACS นับว่าเป็นพื้นที่อันเหมาะสม หลังจากนั้นได้เปิดสำนักใหม่ในเครือ คือ TYPE ONE หรือ “ไทป์ วัน” ซึ่งแยกออกมาเพื่อทำเป็น Speed Shop อย่างเต็มตัว ตัวอาคารจะเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นห้องประกอบเครื่อง ส่วนด้านบนหลักๆ ก็จะเป็นที่เก็บรถ ที่เซอร์วิส ที่เก็บอะไหล่ มีโต๊ะทำงานเล็กๆ (เล็กจริงๆ) ก็ลองดูในรูปตอนที่แก๊ง XO autosport ไปทัวร์เอาก็แล้วกัน ที่สำคัญ “ไม่มีของขาย” ส่วนตึก SPOON ก็อยู่ถนนเดียวกัน ห่างกันไม่มาก แต่ที่นี่จะเป็นแค่ออฟฟิศ ไม่มีที่ทำรถ ไม่มีอะไรให้ดู อย่างมากก็มีของ Souvenir ของที่ระลึกระทึกอะไรนิดๆ หน่อยๆ วางไว้บน Shelf ให้พอดูน่ารักว่า เออ มึงมาไม่ผิดที่นะ และเพิ่งเอามาวางไม่นาน ตอนแรกเขาไม่มีอะไรขายเลยนะ แต่ที่ยอมขายเพราะคนส่วนใหญ่มาเที่ยว ก็อยากจะซื้อของจุ๊กจิ๊กที่ระลึกติดไม้ติดมือไปสักหน่อย พอโดนบ่นเยอะขึ้น ก็เอาซะหน่อยวะ ส่วนใครอยากจะมาท่องเที่ยว ก็จะดันให้ไปที่ TYPE ONE เพราะตื่นเต้นกว่า ก็อย่างที่บอกว่า SPOON มันเป็นออฟฟิศ ก็คงไม่มีอะไรให้ดูหรอก…
- ส่วนของห้องประกอบเครื่อง ทาง SPOON บอกว่า เราจะใส่ใจรายละเอียด แม้เพียงเศษเสี้ยวของการวัดค่า เราก็จะไม่ปล่อย เพราะทุกอย่างมีความสำคัญต่อความแรง การตอบสนอง และความทนทานในระยะยาว
- ช่างประกอบเครื่องโชว์ถึงทักษะอันคล่องแคล่วและความละเอียด ที่สำคัญ “ความสะอาด” ขาดไม่ได้เลยสำหรับช่างฝีมือชั้นนำ
- SPOON ได้สิทธิในการเบิกเครื่องยนต์ใหม่ได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ตอนนี้ “ของหมด” ก็เลยต้องทำกับเครื่องที่มีทั่วไป ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ได้เน้นแรงอย่างเดียว แต่เน้น “Restore” ปรับสภาพให้ใหม่ที่สุด การทำเครื่องที่นี่จะเน้นความ “เนียน” ในการขับ ไม่ได้เน้นแรงม้ามากมายแต่กระโชกโฮกฮาก ขับยาก เป็นนโยบายเลยว่า ลูกค้าต้องแฮปปี้กับรถที่เราทำ
- อีกด้านจะเป็น “ห้องประกอบเกียร์” และ “ระบบส่งกำลัง” จะแยกโซนไปจากห้องประกอบเครื่อง
How to visit TYPE ONE
สำหรับการเข้าเยี่ยมชม คุณสามารถมาด้วยตัวเองได้ (Self-Guide Tour) โดยมีข้อปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้…
เยี่ยมชมได้ในวันเปิดทำการ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
จะอนุญาตให้ทุกท่านเข้าชมได้ในชั้นที่ 1 และ 2 ยกเว้นบริเวณหวงห้ามเฉพาะ…
มีอะไรอยากถาม ถามเลยครับ !!! เรามี Staff ที่พูดภาษาอังกฤษได้ เรายินดีตอบ…
อนุญาตให้ถ่ายรูปได้ แต่ให้เฉพาะการถ่ายภาพที่นำไปใช้ส่วนตัว ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในทางธุรกิจใดๆ…
TYPE ONE ไม่ได้ขายของ ถ้าอยากได้สินค้า กรุณาติดต่อที่ตัวแทนจำหน่าย SPOON ในแต่ละประเทศ…
เรารัก HONDA แต่เราก็อยากให้ผู้ที่รัก HONDA รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านได้เข้าเยี่ยมชม ไม่ต้องมีพิธีอะไรมากครับ ทำใจสบายๆ ผ่อนคลาย และเคาะประตูเรียกเราได้เลย…
- พาร์ท SPOON ที่ผ่านการทดสอบมาอย่างหนัก ประสบการณ์จากสนาม Endurance ระดับอินเตอร์
- ชั้นสต๊อกอะไหล่ RIGID COLLAR
SPOON กับความพิเศษหนึ่งเดียวในโลก
อย่างที่บอกว่า อิชิซัง นั้นมีสัมพันธภาพกับ HONDA มาตั้งแต่แรกเริ่ม และมี “สิ่งพิเศษ” คือ “เป็นสำนักแต่งเจ้าเดียวในโลก ที่สามารถสั่งอะไหล่หายากต่างๆ ของ HONDA ได้” และที่เหนือกว่านั้น “สามารถสั่งเครื่องยนต์ใหม่กิ๊บๆ ป้ายแดงจาก HONDA ได้อีกด้วย” เรียกว่าคงมีความสนิทสนม หรือ มี Relation พิเศษอะไร เราก็ไม่ทราบได้ เพราะตอน อิชิซัง ประชุมกับทาง HONDA Japan ก็เป็นความลับส่วนตัวที่เขาไม่บอกกัน แน่นอนว่า คนก็จะมาทำ SPOON ไม่ใช่เรื่องของรถแข่งอย่างเดียวละ ด้วยความที่สามารถเบิกอะไหล่เดิมหายากได้ คนก็เริ่มจะมาให้ Restore หรือ “ปรับสภาพ” รถของตัวเองให้กลับไปสวยสดดังตอนเอ๊าะๆ ตอนหลังลูกค้า SPOON ก็เลยมาแนวนี้ เปลี่ยนไปจากในอดีตที่เน้นรถแต่งเยอะ แต่ตอนหลังน่าเสียดายที่นโยบายของ HONDA ที่วางไว้นานแล้ว คือ “หยุดการผลิตอะไหล่ หรือ Discontinue Parts สำหรับรถอายุเกิน 20 ปี” แต่กระแสรถเก่า รถ 90 ดันมานิยมกันมาก และเล่นกันราคาแรงด้วย ใครจะคิดล่ะ ว่า “อะไหล่เดิมที่เคยไร้ค่าจะแพงกว่าของแต่ง” ไปมากๆๆๆๆๆๆๆ แต่ก็แก้ไขไม่ทัน เพราะนโยบายเลิกผลิตก็คือเลิกผลิต ก็ใครจะไปรู้ว่ากระแสรถ 90 จะมาแรงทั่วโลก ตอนนี้เครื่องยนต์ใหม่ก็ไม่มีขายแล้ว ก็ต้องทำจากเครื่องมือสอง หรือเครื่องติดรถ มาโอเวอร์ฮอลใหม่ อะไหล่ใหม่ถ้ายังมีก็ว่ากัน และถ้าจะแต่งก็ต้องใส่ของ SPOON เท่านั้น…
- ขึ้นมาชั้น 2 อันนี้ตื่นเต้นแน่นอน เพราะเป็นพื้นที่เซอร์วิส และ เก็บรถแข่งในตำนาน ของต่างๆ ที่ อิชิซัง เก็บสะสมมาตลอดชีวิต
- HONDA DREAM 50 ของสะสมที่ต้องมี
- มุมของสะสมหายากต่างๆ ฝาวาล์วเครื่อง B Series, ZC จาก CIVIC EA, C32A จาก NSX ฯลฯ และ HONDA SPORT Series ต้นตระกูล S2000 ซึ่ง อิชิซัง เคยใช้รุ่นนี้แข่งในยุคแรกเริ่ม
- ภายในของ SPORT Series ที่ยังสวดสดงดงามเหมือนวันวาน
- นี่แหละโต๊ะทำงานเล็กๆ แต่อัดแน่นในด้วยข้อมูล และทำ R&D Product ต่างๆ
- เครื่องใหม่แกะกล่อง รอให้บริการ
- ด้านบน Work Shop แขวนด้วยกระจัง HONDA SPORT Series และ N Series รุ่นที่เคยใช้แข่ง
- วันนั้นมีงานฉลองครบรอบ 40 ปี SPOON SPORTS พอดี ก็เคยคึกคักมากหน่อย
- โฆษณาของ SPOON ในยุคแรกเริ่ม ของบริษัท OVERSEA MARKETING SERVICE
SPOON in Thailand
เรื่องราวในญี่ปุ่นก็พอประมาณนี้ เราก็รู้แล้วว่า SPOON และ TYPE ONE เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเขียน Biography หมดก็คงได้โดน “อ้อย คลองแปด” ฆ่าแน่นอน (ยิ่งปิดต้นฉบับใกล้สงกรานต์หยุดยาว งานไม่จบเดี๋ยวมีเฮ) แต่เรื่องราวของ SPOON ในเมืองไทย รับรองเด็ดไม่แพ้กันทีเดียว เพราะเด็กซิ่งเด็กแซ๊ดรุ่นใหม่ก็จะรู้จัก SPOON ในนามของ Oak Club แต่จริงๆ แล้ว SPOON เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างไร นั่งไทม์แมชชีนมากับเราเลยครับ…
อันนี้เอาเป็นความทรงจำของผม “พีพีพีพี สี่ภาค” กันก่อน ในอดีตย้อนไปประมาณ 20 กว่าปีก่อน ได้อ่านนิตยสาร “นักเลงรถ” คอลัมน์ “เดอะแชมป์” มีรถแข่ง CIVIC EG 3 Doors เป็นรถที่คาดลายทูโทน “เหลือง-ฟ้า” แบบตัวแข่ง SPOON มาแข่งเซอร์กิตรายการในประเทศไทยนี่แหละ ตอนนั้นเป็นรถที่โมดิฟายในเมืองไทย เป็นทีม SPOON เต็มระบบ มีรถ 2 คัน เบอร์ 95 ขับโดย “คุณช้าง ทัชชะ ชัยปาณี” และ เบอร์ 96 ขับโดย “คุณพีท ทองเจือ” และอีกคันเป็น “รถบ้าน” แต่ง SPOON สุดสวย และฮือฮามากในยุคนั้น ของ “คุณจั๊ว ถาวร พร้อมพันธ์” เป็นสี SPOON ทูโทน ล้อ BBS ขอบ 15 นิ้ว เบาะ RECARO (จำรุ่นไม่ได้ มันนานแล้ว) เกจ์วัด HKS เรียกว่าคันนี้ดูไฮโซมากๆ ใช้ของซิ่งเบิกใหม่ทั้งหมด แต่ตอนนั้นคนจะไปอินกับ MUGEN มากกว่า แต่ของ SPOON ก็จะต้องเป็นคนที่ชอบแนว “อนุรักษ์นิยม” เพราะสไตล์ SPOON เขาจะไม่หวือหวา มีเอกลักษณ์แค่เพียงไม่กี่อย่าง แต่ดูได้นาน…
หลังจากนี้ “คุณโอ๊ค” ยังเล่าต่อว่า ในตอนนั้นตัวแทนจำหน่าย SPOON อย่างเป็นทางการ คือ บริษัท OVERSEAS MARKETING SERVICES อยู่ชั้น 1 อาคารไสวบราวน์ ตั้งอยู่ที่ 22 ซอยรื่นฤดี ถนนสุขุมวิท 1 คลองเตย (ใครผ่านไปแถวนั้น อยากจะแวะดูที่เก่าก็เชิญเลย) ซึ่งเจ้าของบริษัทนี้ได้ข่าวว่าเป็นชาวญี่ปุ่น เป็นเหมือนนักข่าวฝ่ายต่างประเทศ (Overseas Correspondent) ของหนังสือพิมพ์หรืออะไรสักอย่างในญี่ปุ่น แต่มาตั้งกิจการในเมืองไทย และตัวเองก็ชอบรถซิ่ง ชอบ HONDA ชอบ SPOON ก็เลยเปิดเองซะเลย รถแข่งทั้งสองคันก็ได้เจ้านี้แหละเป็นสปอนเซอร์ให้ และน่าจะเปลี่ยนชื่อหรือแยกชื่อสปอนเซอร์ทีมแข่งออกมาเป็น OCS หรือ OVERSEAS COURIER SERVICE (อ่านจากรูปที่ค้นเจอในขณะยังแข่งขันอยู่) ก็ประมาณนี้ครับ ส่วน Dealers ก็จะมีหลายเจ้า อาทิ TOON MOTORSPORT ของ “เฮียทูน” และ DREAM SPORT ของ “เฮียปุ๊ย” เป็นต้น พอตอนหลังเหมือนกับว่าเจ้าของย้ายกลับไปบ้านเกิด บริษัทปิดตัวลง ชื่อ SPOON ก็หายไปจากบ้านเราพักใหญ่…
Oak Club สานต่อความนิยม
ทาง Oak Club เอง ก็ได้รู้จักกับ SPOON จากนิตยสารนี่แหละครับ ก็เห็นรถ คุณจั๊ว และโฆษณาของร้านในยุคแรก ปี 1998 คุณโอ๊ค ก็เป็นคนที่ชอบรถซิ่งแบบวัยรุ่นทั่วไป คันเก่งก็ BENZ C220 เครื่องเดิมพัง ก็ “จัดเจ” ไปตามสมัยนิยม (เครื่อง JZ ถือว่าสุดยอดในยุค 90 และมาถึงปัจจุบัน) ก็ตระเวนทำอู่นู้นอู่นี้ไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยรุ่นซิ่ง ก็เข้ามาอยู่ร่วมทีม DECISIVE ก็ได้รู้จักกับ “คุณหนุ่ม G-FORCE” ที่ตอนนั้นก็เป็นตัวแทนจำหน่าย GReddy คงจำกันได้ (แต่ถ้าเกิดไม่ทันก็ให้รู้ไว้ว่าเคยมี) นี่ก็ไฮโซสุดๆ เพราะเปิดร้านครั้งแรกใน Siam Discovery ที่ตอนนั้นห้างก็เพิ่งเปิดใหม่ๆ เหมือนกัน มีเครื่อง SR20DET โมดิฟาย GReddy ทั้งตัวตั้งโชว์ จำได้ว่าตั้งราคาไว้ “หกแสน” สบายๆ ใครจะคิดว่าในห้างสไตล์นี้จะมีคนกล้าเปิดร้านขายของแต่งรถ แล้วก็ไปทัวร์ Tokyo Auto Salon ด้วยกัน ตอนแรกก็ชอบ Top Secret เพราะชอบรถสีทอง ตอนนั้นก็ดังเพราะ SUPRA JZA80 วาง RB26DETT บ้าดี ตอนนั้นก็ชอบเกจ์ Defi ด้วย เลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเจ้าแรกในเมืองไทยเลย และตัดสินใจเปิดร้าน Oak Club ขึ้นมา…
- ของหายากที่ คุณโอ๊ค สะสมไว้ โมเดล CIVIC EG6 ที่ Hasegawa Hobby Kits ผลิต สังเกตว่าหน้ากล่องก็ยังอุตส่าห์วาดหน้า “อิชิซัง” จนเหมือนเป๊ะ
ตัด “วาร์ป” มาที่ SPOON ก็แล้วกัน ตอนนั้นก็อาจจะมีลุ่มๆ ดอนๆ กันบ้าง เพราะคนแต่งรถช่วงแรกๆ นั้นจะซาๆ ไป เพราะต้องไปได้งานเกี่ยวกับการบิน ต้องมีการเทรนงานและทำงานตลอด ก็เลยต้องห่างจากวงการแต่งรถไป ขายรถซิ่งที่เคยมี เพื่อเก็บเงินไว้ก่อนหนึ่ง เอามาทำทุนต่อร้าน ในช่วงปี 2003 ก็เลยคิดว่าซื้อ HONDA มาซิ่งนี่แหละวะ “แม่งถูกดี” ไม่ได้แพงเหมือนรถยุโรป หรือ สปอร์ตญี่ปุ่นตัวดังๆ ทั้งหลาย จริงๆ ในสมัยก่อนก็เคยเล่น HONDA ACCORD ตาเพชร เกียร์ออโต้ โหลดแป้ก ยัดล้อ BBS 18 นิ้ว แต่มันเตี้ยเฉยๆ ไม่แรง และตอนหลังกระแสรถเตี้ยมันเริ่มหายไปเพราะมันขับใช้งานลำบาก (ถนนบ้านเราโคตรจะดี) ก็เลยเล่นกับ CIVIC EG 3 ประตู ปรึกษารุ่นใหญ่ในวงการ HONDA ยุคนั้น ก็ได้รับคำแนะนำว่า “มึงทำ SPOON เหอะ เพราะยังไม่ค่อยมีคนทำนะ” เพราะตอนนั้นคนก็จะนิยม MUGEN กัน เราก็เอาวะ ลองดู เอาแนวที่แตกต่างดูมั่ง… ความเรียบง่าย กลายเป็นฝังลึก
ตอนนั้นก็แค่อยากจะแต่งรถตัวเอง ก็บินไปประชุมกับ Defi Japan แล้วก็ถามเขาว่า รู้จัก SPOON SPORTS ไหม อยู่ตรงไหน เขาก็ถามว่าเอ็งจะไปทำไม ก็บอกว่าจะไปซื้อของแต่ง HONDA กูเนี่ยแหละ ทาง Defi Japan ก็รู้จักกับ SPOON SPORTS เป็นการส่วนตัว ก็เลยโทรไปบอกว่าจะมีคนไทยไปหานะ เหตุที่อยากไป เพราะส่วนตัวชอบความเรียบง่ายของ SPOON มันดูได้นาน คลาสสิก ไม่ชอบอะไรที่หวือหวากิ๊บก๊าบ และสามารถขับซิ่งได้จริง ไม่เน้นของน้ำจิ้ม ตอนไปถึงก็เป็นร้านใหม่ที่ในปัจจุบันนี่แหละ ตอนนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ไปถึง อิชิซัง ก็ลงมาหา ถามว่าอยากได้อะไร ก็บอกว่า อยากได้สปอยเลอร์แก๊ปหลัง “อันเดียว” อิชิซัง ก็บอกว่า “เอาของ SPOON ไปขายเหอะ” เพราะเขารู้ว่าเรามีร้านขายของแต่งรถ แต่เอามายังไง เพราะบ้านเราแม่งก็มีแต่ EG 3 ประตู ที่ตรงกับญี่ปุ่น ที่เหลือก็รุ่นประหลาดๆ อย่าง EK9 ตอนนั้นบ้านเรามีที่ไหน อย่างดีก็ INTEGRA DC2 รถบ้านเราก็มีไม่เยอะ แล้วเสือกเป็นไฟกลมไม่เหมือนในญี่ปุ่นอีก S2000 ก็มีไม่เท่าไร ยิ่ง NSX ก็นับคันได้ แล้วกูจะไปขายใครวะ ก็เลยไม่เอา อิชิซัง ก็นั่นนู่นนี่ งงว่าทำไมเมืองไทยบ้านมึง พวกบ้า HONDA ก็เยอะ ทำไมไม่เอาของกูไปขายวะ ??? (เอาฮานะ อย่าดราม่า) ซึ่งรถบ้านเรากับญี่ปุ่นมัน Application ลักษณะต่างๆ แทบจะไม่ตรงกันเลย ก็ต้องปฏิเสธไป กรูไม่เอา…
JAZZ GD อัศวินขี่ม้าขาว จุดกระชากของ HONDA JDM ไทย
มาถึงจุด “ไคลแมกซ์” ตอนที่ อิชิซัง ตบไหล่เบาๆ บอกว่า “FIT หรือ ฟิตโตะ ไง ยังไงเมืองไทยก็ต้องมี SPOON กำลังทำของแต่งอยู่นะ” โอ๊วว บ้านเราเหรอจะมี ไม่มีหรอกฟิตต่งฟิตโตะ แต่ อิชิซัง ยืนยันว่าเพิ่งประชุมกับ HONDA มาหมาดๆ ยังไงเมืองไทยก็มีผลิตแน่ๆ (แต่จะชื่ออะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง) อำกูป่าววะ แต่ก็เชื่อ เพราะพวกนี้มันไม่ใช่เล่นขายของ ก็เลยเดินไปดู FIT ของ อิชิซัง สีเขียว ที่เพิ่งซื้อมานี่แหละ เออ รถแม่งน่ารักว่ะ ก็เหมือนกับคนไทยที่เห็น JAZZ ครั้งแรกแล้วรู้สึกชอบมากๆ แล้วก็ยืนยันว่า “ยังไงก็มี” แล้วก็มีจริงๆ เลยตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่าย SPOON เลย ตอนแรกคนไทยก็ไม่อินนะ เพราะของ SPOON มันจะเรียบๆ ไม่ฟรุ้งฟริ้งโดนใจคนไทย ล้อ SW 388 ก็ดำๆ ด้านๆ แต่ถ้าดูนานๆ แล้วมันจะสวยในรูปแบบของมัน และตอนนั้นช่วงปี 2004 กระแสแต่ง JDM เริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ในยุค 90 จะฮิตแต่ง “ตัวนอก” (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า JDM) เช่น กระจกชา ภายในนอก แล้วก็หายไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาอีกครั้งกับ JAZZ GD นี่แหละ…
สัญลักษณ์ “นกกระเรียน”
คงสังเกตเห็นกันว่า สัญลักษณ์ “นกกระเรียน” นั้นมาจากไหน จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาก เพราะมาจากคำแปลชื่อของ อิชิซัง คำว่า Tatsuru แปลว่า นกกระเรียน เป็นสัตว์มงคล ที่มีความหมายดี ประมาณว่า อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง หน้าที่การงานราบรื่น อะไรประมาณนี้ อิชิซัง เลยเอามาเป็นสัญลักษณ์ของ SPOON SPORTS นั่นเอง…
We’re Racing Company !!!
และอีกสิ่งหนึ่ง ทาง SPOON SPORTS จะเป็นพวก “หัวดื้อ” หรือ “Conservative จัด” แต่ไปในทางที่ถูกนะ อิชิซัง มีแนวทางอันแน่วแน่ ทุกสิ่งอย่างของ SPOON ต้อง “เพิ่มพูนสมรรถนะได้จริง” ทั้งการแข่งขัน และการขับขี่ทั่วไป ต้อง “ทนทาน” ไม่แรงบ้าบอแต่เดี๋ยวพังๆ อันนี้เป็น “ปณิธาน” ของเขา สังเกตว่าของแต่งค่ายนี้จะว่าเขามีสไตล์เรียบง่าย ดูแล้วไม่เวอร์วังอลังการ หลายคนอาจจะมองว่ามันดูเชยๆ เรียบๆ แต่นี่แหละคือเสน่ห์ของ SPOON ที่คนอายุ 30 ++ จะชอบ ดูแล้วมันไม่เบื่อดี แล้วก็ไม่ตกยุคง่ายๆ ยิ่งดูยิ่งชอบว่างั้น…
สำหรับ “ของแต่ง” ก็อย่างที่บอกไปว่า SPOON จะผลิตของเน้นสมรรถนะอันยอดเยี่ยม ซึ่งการผลิตของเขาจะมีข้อมูลเปรียบเทียบกับของสแตนดาร์ดเสมอ เช่น เบรก มีการเทียบน้ำหนัก ขนาด ฯลฯ เขาจะเน้น “ของที่เบาแต่ทนทาน” และสามารถใส่กับรถได้เลย และต้องถูกกฎหมายด้วย อันนี้แหละต้องใช้ทุนสูง ต้อง R&D กันอย่างแน่วแน่ ส่วนของ “น้ำจิ้ม” พวกสปอยเลอร์อลังๆ หางปลาวาฬ หน้ารถไถ โป่ง Wide Body ไอ้นั่นไอ้นี่แบบหวือหวา ของจุ๊กจิ๊กอะไรต่างๆ หลากสีสันSPOON ไม่ทำ !!! เพราะเขายืนยันว่า “We’re Racing Company” เขาเป็นบริษัทที่ผลิตรถแข่ง และ รถซิ่งสมรรถนะสูง สินค้าทุกอย่างที่เขาผลิตออกมาจะต้องมีสมรรถนะอันยอดเยี่ยมดังกล่าว และแบบจะเรียบๆ ลองดู “เว็บไซต์” ของ SPOON นั่นก็ได้ จะเป็นหน้าเว็บโบราณๆ ง่ายๆ เก่าๆ ตัวอักษรแบบพิมพ์ดีด อันนี้แหละที่เขาเป็น และ SPOON จะไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางของตัวเองเด็ดขาด…
Facts
แถมให้อีกนิด ในยุคที่หนังรถซิ่งอย่าง THUNDER BOLT หรือ “เร็วฟ้าผ่า” ที่ “เฉินหลง” เล่น ก็คงจำกันได้ในยุค 90 ที่วัยรุ่นรถซิ่งต้องดู ก็จะมีรถ 90 ในฝันเยอะแยะ ฉากที่แข่งกันในสนาม ก็จะมีการ Edit ภาพ หรือถ่ายทำจากการแข่งขันจริงมาผสมๆ กันเข้าไป ถ้าดูกันดีๆ ในยุคนั้นก็จะมีสำนักดังต่างๆ มากมาย แน่นอนว่าต้องมี SPOON SPORTS ร่วมด้วย ในฉากก็ยังมีทั้ง อิชิซัง กับ ยูกิซัง เดินเข้าฉากอยู่…
Credits
Oak Club Thailand : Facebook/OAK CLUB Thailand, Tel. 08-4160-6600
SPOON SPORTS & TYPE ONE : Facebook/SPOON SPORTS, www.spoon.co.jp