เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ISUZU Official
แฉ !!! ความลับ
เปิดโปง New D-MAX 2020 “ดีขึ้นยังไง แต่งอะไรได้บ้าง”
MONZA SHOP & AE RACING GARAGE Present
หลังจากที่ ISUZU D-MAX ได้เดินทางชีวิตมากว่า 17 ปี นับตั้งแต่รุ่นแรกออกจำหน่ายเมื่อปี 2002 ด้วยเครื่องยนต์ “ปั๊มไฟฟ้า เทอร์โบ” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “คอมมอนเรล” ในรุ่น “ไฟหน้าข้าวหลามตัด” และหากินกับ “ออลนิว” มานาน จนได้ฤกษ์ “ยกใหม่ทั้งลำ” โดยเปิดตัวกับสื่อมวลชนในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ณ IMPACT Challenger Hall เมืองทองธานี โดยจะเรียกว่าเป็นรุ่นปี 2020 ซึ่งรุ่นนี้เป็นการ “พลิกโฉม” กระบะไทย ด้วยคอนเซปต์ “พลานุภาพ พลิกโลก!” หรือ Infinite Potential เรียกว่าเน้นความเป็น Premium Pickup อย่างแท้จริง ให้ความหรูหรา สวยงาม สะดวกสบาย สมรรถนะสูงขึ้น และ “ความประหยัด” ที่เป็นสิ่งลือชื่อของ ISUZU มาอย่างยาวนาน…
ในครั้งนี้เราจะมาฝอยกันถึงเจ้า D-MAX 2020 นี้ ว่านอกจากรูปโฉมภายนอก ภายใน ที่เรามองเห็น ลูบคลำมันได้แล้ว แต่ส่วนของ “ไส้ใน” กับ “สิ่งที่เรามองไม่เห็น” มีการพัฒนาตรงจุดใด และความน่าสนใจของคอลัมน์ ก็คือ “จะสามารถโมดิฟายอะไรได้บ้าง ณ ตอนนี้” เพราะด้วยความที่ระบบมันทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับสมรรถนะ ความประหยัด การโมดิฟายจะต้องมีเทคนิคอะไรบ้าง รวมไปถึง “ความสวยงาม” ที่เป็นหัวใจหลักในการแต่งรถ จะมีอะไรให้เล่นบ้าง แล้วจะออกมาแนวไหน เล่มนี้เราได้รับ “ข้อมูลจริงเชิงลึก” จาก “MONZA SHOP” และ “เอ้ เรซซิ่ง การาจ” เรียกว่าทั้งสองก็เป็นแฟนพันธ์แท้ ISUZU มาอย่างยาวนาน ทั้งรุ่น 3.0 Ddi HI- LANDER และ 1.9 BLUE POWER GEN 2 คันนี้เป็น “ตัวตกแต่งพิเศษของ ISUZU” เรานำมาเจาะรายละเอียดให้ชมแบบ Exclusive พลาดแล้วจะเสียใจ…
สองสไตล์ ใส หล่อ แรง
หลังจากที่ออกมาได้ไม่กี่เดือน แน่นอนว่า สายซิ่งย่อมไม่พลาดที่จะนำมา “เสริมหล่อ” รวมถึงการ “เสริมสมรรถนะ” ให้ “ขับสนุก” ยิ่งขึ้น โดยแยกเป็น 2 สไตล์ ตามลักษณะของตัวรถ…
- HI-LANDER ที่ตอนนี้ “คนเมือง” นิยมกันมาก เพราะ “ไปได้ทุกสภาวะ” เหนือกว่ารถเก๋ง และอเนกประสงค์ เหมาะสำหรับครอบครัวที่นิยมกิจกรรม Outdoor
- รุ่นความสูงมาตรฐาน หรือ “ตัวเตี้ย” ได้รับความนิยมในการนำมาแต่งมากที่สุด
- นับว่าเป็นกระบะยุคใหม่จริงๆ ที่ภายในหรูหรา จนทัดเทียมรถเก๋งชั้นดี
- แชสซี ช่วงล่าง มีการพัฒนาใหม่ เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ต้อง “ลองเอง” แล้วจะรู้
- แต่งสไตล์ “ยีราฟซิ่ง” ที่สวยและต้อง “ใช้งานได้ปกติ”
- ฝากระโปรง MONZA SHOP เน้นเส้นสายที่ดุดัน สำหรับตัวสูง
HI-LANDER 3.0 Ddi BLUE POWER
สำหรับคันแรก เป็น “ตัวสูง” หรือ “ยีราฟ” HI-LANDER 3.0 Ddi M A/T รุ่น Top of the line ในตระกูล HI-LANDER ซึ่งเป็นรถส่วนตัวของ “เอ้ ปลาทูววววว” เรียกว่าเห็นตอนเปิดตัวก็รีบ “ลั่น” มานอนเฝ้าหน้าโชว์รูมตรีเพชรฯ 1 คืน เพื่อที่จะจับจองก่อนใคร ได้มาแล้วก็ต้อง “ทำกันหน่อย” ไม่ให้เสียชื่อ “วัยรุ่นบ่อกระเฉด” ครับ…
- ฝาหน้าคาร์บอนฯ “ม่อนซ่า” จัดให้ : สำหรับ HI-LANDER คันนี้ ทรวดทรงจะเน้นความแข็งแกร่ง ตามสไตล์ยานลุย แม้จะมีช่องลม แต่ทาง MONZA SHOP ก็ทำ “ทางระบายน้ำ” เอาไว้อย่างดี เพื่อให้น้ำไหลลงในจุดที่ปลอดภัย ไม่ไปโดนอุปกรณ์ที่ “สุ่มเสี่ยง” จะพังเพราะน้ำ และช่องระบายลมต่างๆ ด้านใน ที่ออกแบบด้วยการคำนวณทิศทางลม จะทำให้ลมไม่ดันจน “ฝาแตก” ขึ้นมาฟาดกระจกหน้า หรือ “บิน” ไปทั้งแผ่นซะก่อน รวมถึงการสร้าง “กระดูก” เหมือนกับของติดรถทุกประการ โดยเน้นความแข็งแรงจริงๆ…
- กล่อง ท่อ พอแล้ว : ด้วยความที่รถเดิมมันตอบสนองดีขึ้นอย่างมากแล้ว และ “เน้นใช้งานจริง” เลยไม่จำเป็นต้องลงมือกันเยอะ คันนี้อย่างที่บอก มีกล่อง ECU=SHOP ULTRA BOOST และชุดท่อไอเสีย “MRX PERFORMANCE” แค่นี้เอง แรงม้าได้ถึง “250 PS” ใส่กล่องอย่างเดียว จูนแบบ “ไร้ควัน” ขับสนุกขึ้นเยอะเลย ควอเตอร์ไมล์ ออกตัวปกติจากรอบเดินเบา จัดไป “15.8 sec” แรงและประหยัดด้วย เสียงก็ไม่ดังโวยวาย…
- ล้อก้านยก : ยอดฮิต VOLK TE37 Large P.C.D. PROGRESSIVE MODEL “แท้” แน่นอน ขอบ 18 นิ้ว กว้าง 9 นิ้ว ออฟเซต 0 ซึ่ง Fitment จะพอดีกับโป่งของ HI-LANDER พอดี…
- เบรก : ENDLESS ยอดนิยม ของแท้เช่นกัน เหตุที่ต้องใส่เบรกใหญ่ ประการแรก รถมีน้ำหนักมาก แรงเฉื่อยสูง เกียร์ออโต้ เบรกต้องรับภาระหนัก เบรกเดิมอาจจะได้แค่ระดับหนึ่ง แต่นี่เราเปลี่ยน “ล้อใหญ่ ยางโต” มันเกาะถนนขึ้น มันก็ยิ่งจะ “เอาชนะแรงของเบรกได้มากขึ้น” เช่นกัน เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่คาดคิด จึงต้องหาเบรกที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ และที่สำคัญ “ยังคงมีระบบ ABS” เช่นเดิม ค่ายนี้เขา “ห้ามถอดเด็ดขาด” ของดีมีให้ใช้จะไปถอดให้อันตรายเล่นทำไม ส่วนเบรกหลังยัง “เดิม” เพราะ “เอ้” เน้นใช้งานจริงๆ ยังคงชอบฟีลลิ่งเบรกหลังที่ “นุ่มนวล” อยู่…
- ช่วงล่าง : ไม่มีอะไรพิสดาร ยังคงรูปแบบเหมือนทั่วไป คันนี้ใช้โช้คอัพของ ADVANCE Mono Tube ส่วนแหนบและสปริงเดิม มีความ “ยืดหยุ่น” ที่ดีอยู่แล้ว คันนี้มีการโหลดด้านหน้า 1 นิ้ว ด้านหลัง 2 นิ้ว ให้ดูแล้วพอดีๆ ด้านหน้าและหลัง Balance กัน…
Technical Zone
- รหัสเครื่องยนต์ : จากเดิมที่เป็น 4JJ1-TCX เปลี่ยนเป็น 4JJ3-TCX ลักษณะหน้าตาเครื่องเหมือนเดิมที่คุ้นเคยครับ เปลี่ยน “ฝาครอบพลาสติกบนเครื่อง” ให้ดูสวยและทันสมัยมากขึ้น แรงม้ามากถึง 190 PS ที่ 3,600 rpm ส่วนแรงบิดสุดขั้วหัวใจ 450 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,600 rpm ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ถือเป็น Generation ที่ 5 ของ 4JJ ตั้งแต่ออกรุ่นแรกมา ในรุ่นไฟหน้าข้าวหลามตัด…
- เทอร์โบ : ดูหน้าตาจะคล้ายๆ เดิม (ยังไม่มีโอกาสได้ถอดออกมา “สำรวจหอย”) แต่ทางผู้ผลิตบอกว่า “มีขนาดใหญ่ขึ้น” ตำแหน่งของเทอร์โบจะอยู่ “สูงขึ้น” เหมือนกับรุ่น 1.9 เป็นตำแหน่งที่ “รถซิ่งชอบ” เพราะได้ “โชว์ของ” รวมถึง “แลดู” และ “ดูแล” ได้ง่าย ส่วนของรุ่นก่อนจะอยู่ “ค่อนไปด้านล่าง” ก็ต้องหาทางแก้เขาเฮดเดอร์พลิกมันขึ้นมาอีก…
- ระบบแปรผันเทอร์โบ : สิ่งที่สำคัญก็คือ “ระบบแปรผันเทอร์โบ” หรือ “VGS” (Variable Geometry System) ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของ ISUZU ของตัวใหม่นี้ จะเป็นแบบ Electronic VGS Turbo ว่าเป็นภาษาบ้านเฮา ก็คือ “ระบบแปรผันที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า” รุ่นก่อนจะใช้ “แวคคัม” คุม ข้อดีของระบบแปรผันไฟฟ้านี้ จะควบคุมด้วยกล่อง ECM จะสั่งให้ “ครีบ” (Vane) ที่โข่งหลังเปิด–ปิด มากน้อยแค่ไหน ตาม “สภาวะการขับขี่” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่ On-Off อย่างเดียว มันมีความต่อเนื่องและละเอียด (Linear) สูงกว่าระบบแวคคัม ทำให้รถมีอัตราเร่งดี ต่อเนื่อง ประหยัดน้ำมัน…
- ปั๊มดีเซล : อันนี้แหละที่เริ่ม “ลึกสุดใจ” ไปมาก เพราะจากรุ่นก่อนที่สร้างมาแบบไม่ซับซ้อนมากนัก สามารถถอดมาโมดิฟายได้ง่าย ไม่ต้องมีเครื่องเทสต์ปั๊มก็ยังพอทำได้ ลักษณะปั๊มของเดิมเป็นแบบ “2 โรเตอร์” แต่รุ่นใหม่เหลือเพียง “1 โรเตอร์” !!! ถามว่าจะพอเหรอ “พอครับ” ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย แม้ว่าจะ “เล็ก” แต่ “ชักยาว” วิดน้ำมันได้มาก ซึ่งข้อมูลผู้ผลิต เคลมว่าสร้างแรงดันไว้ถึง “250 MPa” (เมกะปาสคาล) หรือ “36,259 psi” !!! ซึ่งสูงกว่ารุ่นก่อนเยอะ ฟีลลิ่งประมาณปั๊มตัวก่อนที่โมดิฟายแล้ว เหตุที่พัฒนามาเป็นลักษณะนี้เนื่องจากพอแรงดันสูงขึ้น มันก็จะทำให้ “น้ำมันฉีดเป็นละอองฝอย” ละเอียดยิบเหมือน “ผงแป้ง” ทำให้การคลุกเคล้า แตกตัว ละเอียดมากๆ ได้กำลังสูงสุด ประหยัดน้ำมัน มลพิษต่ำลง อีกอย่าง ต้องการ “ลดภาระให้เครื่องยนต์” ใช้ชิ้นส่วนให้น้อย ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตอนนี้เลยยังไม่มีใครโมดิฟาย เพราะต้อง “ศึกษา” กันก่อน…
- หัวฉีด : จะถูกพัฒนาใหม่ โดยเน้นความละเอียดมากขึ้น ศัพท์สายดีเซลจะเรียกว่า G4 หรือ Generation 4 ซึ่ง G1 จะเป็นรุ่น “คอมมอนเรลตัวแรก” ส่วน G2 คือ “ออลนิว” (ตัวก่อน) ส่วน G3 ก็จะเป็น 1.9 BLUE POWER ลักษณะหัวฉีดรุ่นใหม่นี้จะเป็นแบบ “เข็มเล็ก” การจ่ายน้ำมันทำได้อย่างละเอียด ลดแรงในการยกหัวฉีดลง และระบบการไหลกลับ จะมีความละเอียดมากขึ้น ในช่วงเบ่งพลัง “หัวฉีดจ่ายน้ำมันได้เยอะ” แต่ “ไหลกลับได้น้อย” จากการควบคุมของกล่อง ECM (ศัพท์ของ “อีซุ” เขา) ที่ฉลาด ทำให้การรักษาแรงดันทำได้ดีมาก การสูญเสียแรงดันต่ำลงมาก ทำให้ปั๊มไม่จำเป็นต้องใช้ Flow หรือ “ปริมาตรการไหล” มากๆ จนทำให้กินแรงเครื่อง (คนละส่วนกับแรงดันนะครับ) อันนี้ทาง “เอ้” บอกว่าเป็นลักษณะความเข้าใจจากประสบการณ์ที่ได้ทำมานะครับ อาจจะไม่ได้อธิบายเป็นศัพท์เทคนิคมากนัก เอาแบบบ้านๆ เข้าใจได้…
- วาล์วท้ายราง : จริงๆ มันก็เป็น “Regulator” ควบคุมแรงดันในรางหัวฉีดนั่นแหละ จากรุ่นก่อนคุมด้วย “Mechanic” แต่รุ่นใหม่นี้คุมด้วย “Electronic” ทำให้มีความแม่นยำสูง ควบคุมแรงดันได้ตามโหลดการขับขี่จริง ได้ Logic การทำงานหลากหลายมากๆ ตามที่กล่องสั่ง…
- กล่อง ECM : ตามคำเรียกของ “อีซุ” หรือ Engine Control Module ก็เหมือนกับ ECU นั่นแหละครับ ตัวใหม่นี้จะใช้กล่องยี่ห้อ TRANSTRON เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนรุ่นใหม่ ไม่มีอะไรที่เหมือนรุ่นเดิมที่สลับกันใส่ได้ ติดเครื่องได้ (ถ้าไม่ติด Code ของกุญแจ Immobilizer นะ) สำหรับการโมดิฟาย ตอนนี้ก็มีกล่อง ECU=SHOP ULTRA-BOOST ที่มีจำหน่าย จูนทั้งในจังหวะ Pilot หรือ “ฉีดนำ” และจังหวะ “ฉีดจริง” ได้ ให้ตอบสนองดีขึ้นอย่างชัดเจน…
- ช่วงล่างหน้า : ชัดเจนครับ Lay out เปลี่ยนไป เป็นแบบเดียวกับค่าย M และ F ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเกาะถนน สิ่งที่เห็นแน่นอน ก็คือ “คอม้า” จะมีความยาวมากขึ้น ลักษณะคล้ายๆ “CIVIC EG” (เป็นการเปรียบเทียบรูปแบบกัน) เข้าใจว่าให้ “มุมล้อ” ที่มากและดีขึ้นในขณะเข้าโค้ง อันนี้จาก “ความรู้สึกในการขับ” แตกต่างกันชัดเจน โช้คอัพ สปริง ยังคงรูปแบบเดิมไว้ แต่ต้องระวัง !!! ถ้าใครจะทำ “ยีราฟเตี้ย” เพราะการโหลดลงมา ล้อหน้าจะ “แบะมากเกินไป” จนขับไม่ได้ อันนี้ต้องศึกษาก่อนทำ อาจจะมีชุดแต่งเปลี่ยนมุมคอม้าในอนาคตออกมา…
- ดุมล้อหน้า : อันนี้แตกต่างชัดเจน จากเดิมจะเป็นแบบ “ถอดหน้าแปลนแยกออกมาได้” ถอดนอตดุมออกตัวเดียว มี “ดุม 5 รู” ของแต่งออกมาขาย แยกชุดลูกปืนล้อออกมาได้ แต่รุ่นใหม่ “ติดมาทั้งชุด” ไม่สามารถแยกชิ้นออกมาได้ทั้งดุมล้อและลูกปืน เลยไม่สามารถเอาดุมของแต่งแบบเดิมมาใส่ได้เลย ซึ่ง D-MAX 2020 เป็นแบบนี้ทุกรุ่น…
- เบรกหน้า : จะเปลี่ยนรูปแบบใหม่ จากเดิม “จานเบรกติดหลังดุม” ถอดแยกชิ้นออกมาได้ แต่ตัวใหม่จะเป็น “จานครอบดุม” ตำแหน่งขายึดคาลิเปอร์ก็เปลี่ยนตาม อันนี้เข้าทาง เพราะจะเปลี่ยนเบรกแต่งได้ง่าย…
- ช่วงล่างหลัง : สิ่งที่เห็นแน่ๆ คือ “แหนบ” เหลือรวมเพียง “3 แผ่น” เท่านั้น (จากเดิม 6 แผ่น) แต่ “แผ่นแหนบหนากว่าเดิมมาก” แสดงถึงการใช้เกรดโลหะที่ดีขึ้นอย่างมาก ข้อดี คือ “น้ำหนักใต้สปริงลดลงไปเยอะมาก” ทำให้ช่วงล่างตอบสนองได้เร็วขึ้น ลดอาการสะเทือน นุ่มนวล เกาะถนนขึ้น เป็นการแก้จุดอ่อนของช่วงล่างแหนบได้อย่างดี อันนี้เหมือนกันทุกรุ่น ส่วนตำแหน่ง “ยึดเพลาท้าย” ตัวนี้จะเป็น “แหนบเหนือเพลา” เพราะจะให้ความสูงได้เยอะขึ้น…
- กันชนหลัง เป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถ ถ้าถอดกันชนออกจะ “ข้างโบ๋” ไม่เหมือนรุ่นปกติ ซึ่งมี “ดราม่ากันชน” กันบ้าง ตอนนี้มีชุดแต่งแผ่นปิดข้าง สำหรับถอดกันชนออกใส่ค้ำ อันนี้แล้วแต่ชอบนะครับ
- ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมาก ใส่กล่อง กับท่อ พอแล้ว เอาตอบสนองดีๆ ทนๆ ดีกว่า
- ชุดท่อ MRX PERFORMANCE แรงขึ้น เสียงไม่ดังกระตุกต่อมตำรวจ
- รูปแบบช่วงล่างหน้า ให้สังเกตที่จุดยึดคอม้าที่ปีกนกบน จะอยู่สูงกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด
- ช่วงล่างหลัง แหนบเหนือเพลา ตัวแหนบเหลือเพียง 3 แผ่น แต่หนาขึ้น รวมถึงการใช้แหนบที่ยาวขึ้น ทำให้เกิดการยืดหยุ่น (Flexible) ที่ดี รถจะนุ่มนวล
- ตัวเครื่องพื้นฐานเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงแนว “พัฒนาอุปกรณ์” ใช้ของที่ไฮเทคมากขึ้น เน้นความแม่นยำในการจุดระเบิด เน้นพลัง และมลพิษต่ำ เป็นเรื่องบังคับของรถรุ่นใหม่
- เทอร์โบของ 4JJ3-TCX จะย้ายตำแหน่งอยู่ด้านบน พร้อมโซลินอยด์ คุมแปรผันเทอร์โบแบบไฟฟ้า
- ตัวเตี้ยก็หล่อนะ ดูเผินๆ รูปทรงเหมือนตัวก่อนหน้า แต่จริงๆ แล้ว “ไม่มีอะไรเหมือนเลย” เป็นการเปลี่ยนโมเดลอย่างเด็ดขาด
- เส้นสายจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามลักษณะของรถ แต่ยังยืนยันผ้าลาย F1 เช่นเดิม
1.9 Ddi BLUE POWER “GEN 2”
คันนี้เป็นรุ่น Cab 4 หรือ “ตัวเตี้ย 4 ประตู” ตามภาษาวัยรุ่น ซึ่งเป็นรถที่ ISUZU “ตกแต่งพิเศษ” เพื่อเป็นรถโชว์ในงานต่างๆ โดยร่วมมือกันกับ MONZA SHOP และ เอ้ เรซซิ่ง การาจ ทำรถคันนี้ขึ้นมา โดยเน้นความเรียบร้อย ใช้ของตรงรุ่นทั้งหมด ไม่มีการดัดแปลงอุปกรณ์ ตัดเฉือนที่ตัวรถใดๆ ทั้งสิ้น…
- ชุดซูเปอร์ฮิต : ก็ยังคงเป็นสเต็ปการโมดิฟายเครื่อง 1.9 ที่เน้นการตอบสนองที่ดีขึ้น มีกำลังมากขึ้น จากเดิมที่นิสัยเครื่องจะต้อง “มีรอบ” อันนี้ต้องเข้าใจเครื่องเล็กกันหน่อยนะครับ อันนี้ไม่ยาก เพราะทำกันมาเยอะแล้ว ตามสเต็ป “เอ้ ปลาทู” หลักๆ ก็จะมี เทอร์โบ ISUZU 3,000, ชุดแก้วาล์วลอย, ปั๊มและหัวฉีด, ชุดคลัตช์ BRC กับรายละเอียดของแต่งในห้องเครื่องสวยงามแบบคลีนๆ เน้นสะอาดตา…
- ชุดฝาคาร์บอนรอบคัน : ของ MONZA SHOP อีกเช่นกัน โดยเป็นลาย “F1” เอกลักษณ์ของที่นี่ จะมีตั้งแต่ ฝากระโปรงหน้า ทรงจะดู “พลิ้วไหว” กว่าตัว HI-LANDER แต่เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนกัน ฝาท้าย ตอนแรกนึกว่าหุ้ม แต่จริงๆ ผลิตขึ้นมาทั้งชิ้น รับน้ำหนักได้ 100 กก. พอจะกางฝามานั่งกินอะไรชิวๆ ได้ ส่วน “สปอยเลอร์หลังคา” สร้างขึ้นมาให้ดูมีมิติมากขึ้น…
- ล้อก้านไม่ยก รูตรงรุ่น : สไตล์ของคันนี้ ทาง ISUZU ให้โจทย์มาว่า “ต้อง Keep look สวยเรียบร้อย” เอาไว้ ล้อไม่ยื่น ต้อง Fitment พอดีตัวรถ ไม่มีการดัดแปลงใดๆ ที่ตัวรถ ทุกอย่างต้องใส่ได้แบบเป๊ะๆ และ “ถูกกฎหมาย” ล้อก็ยังคงเป็น VOLK TE37 PROGRESSIVE MODEL ขอบ 18 นิ้ว เช่นกัน แต่เป็นออฟเซต +30 เพราะ “พอดีซุ้ม” เนื่องจากตัวเตี้ย โป่งจะเล็กกว่าตัวสูง ส่วนรูนอต เป็น 6 รู 139.7 มม. ตรงของเดิม ไม่ต้องใส่ Adaptor แปลงใดๆ ทั้งสิ้น…
- เบรกงาม 4 ล้อ ABS ต้องอยู่ : คันนี้เน้นต้อง “อลังการ” ไว้หน่อย เพราะเป็นตัวโชว์ เบรกจึงใช้ ENDLESS ทั้ง 4 ล้อ แต่บอกตรงๆ ฟีลลิ่งเบรกจะ “ไว” กว่าเดิมเยอะ ตอนขับต้องศึกษามันก่อน แต่ส่วนสำคัญ “ระบบ ABS ห้ามถอด” นั่นยิ่งจะ “หายนะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ ถ้าอยากจะห้องเครื่องโล่ง ทางแก้ก็คือ “ย้ายตำแหน่ง ABS” ใหม่ ไปที่ที่ไม่เกะกะ และที่สำคัญกว่านั้น “ระดับการติดตั้งต้องอยู่ในแนวระนาบเหมือนเดิม” ระบบถึงจะทำงานได้สมบูรณ์แบบ ฝากไว้หน่อยว่า ใครที่เอะอะอะไรก็จะถอดๆๆๆๆ เราเป็นห่วงนะ…
Technical Zone
- โปรแกรมกล่อง : ตามที่เขา (ฝอย) ว่า มีการปรับปรุงโปรแกรมกล่อง ECM ใหม่ ให้การตอบสนองที่ดีขึ้น จากเดิมที่รู้กันว่ารุ่น 1.9 จะค่อนข้าง “ต้นอืด” โดยเฉพาะรถเกียร์ออโต้ ก็เลยปรับให้ตอบสนองฉับไวขึ้น แต่เรื่องของการ Remap นั้น “ทำได้ยากขึ้น” เพราะมันมีการ “ล็อกโปรแกรม” เพื่อเป็น Safe mode กัน “พัง” ที่แน่นหนามากขึ้น แต่ก็ขอเวลาอีกไม่นาน…
- Safe mode : ที่เห็นได้ชัด คือ “ล็อกรอบตอนออกตัว” ในเกียร์ธรรมดา เพื่อ “กันระบบส่งกำลังพัง” กับการเจอ “บาทา” เหล่า “ยังไงก็บอก จอดออกก็ได้” นี่แหละ ระบบ Safe mode จะทำงานในเงื่อนไข “หากเข้าเกียร์ไว้ และ ความเร็วเป็นศูนย์” จะ “ไม่สามารถเร่งรอบได้เกิน 2,500 rpm” มันจะ “หนืดมาก” (เกียร์ธรรมดา มันก็มีเซนเซอร์นะ) แต่ถ้าเกียร์ว่าง ก็ยังสามารถเร่งตัวเปล่าได้จนรอบตัด ต้องไหลออกไปหน่อยนึง ให้เริ่มมีความเร็วขึ้น กล่องก็จะปลดระบบให้ไปได้ปกติ สายจอดออกไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่ทำไงได้ เพราะเขาต้องทำกันพังไว้ก่อนสิ จริงๆ ระบบนี้เป็นตั้งแต่ “ออลนิว” ตัวที่แล้ว ทำได้ก็คือ “ถอดปลั๊กเซนเซอร์ที่เกียร์ออก” รอบจะแว้ดขึ้นมาทันใด แต่ขับแล้วจะ “กระเด้า” หน่อย เพราะคันเร่งมันไวเกิน ทางแก้ อย่าถอดปลั๊ก ต้อง Remap เพื่อปลดระบบนี้ ในรุ่น 1.9 GEN 2 ตอนนี้ยังไม่สามารถปลดได้ แต่อย่างที่บอก ขอเวลาอีกไม่นาน อันนี้ต้องเข้าใจนะครับ ว่าถ้าเกิดพังขึ้นมาในระยะรับประกัน ตรวจสอบเจอเหตุจากการขับแบบไม่ปกติ ทางศูนย์ฯ จะไม่เคลมให้ ไปด่าเขาไม่ได้นะครับ…
- ช่วงล่างหน้า : อันนี้ภาพรวม “ดูแล้วเหมือนเดิม” แต่อาจจะมีข้อแตกต่างกันบ้างหรือไม่นั้นยังไม่ได้ทดสอบรื้อสลับของกับตัวก่อนดู แต่ไม่เหมือน HI-LANDER แน่นอน…
- เบรกหน้า : ยังเป็นแบบ “จานหลังดุม” เหมือนเดิม แต่ตำแหน่งขายึดคาลิเปอร์เปลี่ยนใหม่ ถ้าจะเอาเบรกแต่งมาใส่ก็เล่นสูตรเดิม จานครอบดุม และใส่อแดปเตอร์ขายึดคาลิเปอร์ใหม่…
- ช่วงล่างหลัง : แหนบ 3 แผ่น เหมือนกัน (พูดถึงตัว Cab และ Cab 4 นะ) แต่การติดตั้งเพลาท้าย จะเป็น “แหนบใต้เพลา” จะโหลดก็ใช้วิธีสามัญประจำบ้าน “รองกล่อง” เอา ง่ายๆ ตามนี้…
Transmission
อันนี้ขอพูดในภาพรวมของทั้งสองรุ่นเลยละกันนะครับ เลยขอแยกมาต่างหาก…
– เกียร์ธรรมดา : หลายคนที่เคยเห็น จะบอกว่าเกียร์มันมีส่วนคล้ายกับค่าย M เป็นอย่างมาก นัยว่ามีการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เราจะได้ใช้ของรุ่นใหม่ไงล่ะ ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา ให้สังเกตที่ “คันเกียร์” จะเปลี่ยนใหม่ การเข้าเกียร์ถอยหลังจะใช้การ “เกี่ยวแหวน” หรือ Reverse ring ขึ้น แล้วผลักไปตำแหน่งข้างเกียร์ 1 อย่างรุ่น 1.9 เดิม แบบ 6 สปีด จะใช้การผลักเลยไปด้านซ้ายอีกหน่อย ถ้าใครจะเข้าเกียร์ 1 แต่ผลักแรงหน่อยอาจจะมีพลาดได้ แต่รุ่นใหม่ “กันพลาด” 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอัตราทด จะมีการเปลี่ยนแปลงในเกียร์ 5 และ 6 จะเป็น “Over drive” ที่อัตราทดต่ำกว่า 1 : 1 (ปกติจะ Over drive เฉพาะเกียร์สุดท้ายเท่านั้น) ทำให้ช่วงความเร็วเดินทาง ใช้รอบต่ำลงมาก ช่วยเรื่องประหยัดน้ำมัน เสียงเงียบ ลดการสึกหรอ นอกจากนี้ ยังมี Genius sport shift มี “ไฟบอกตำแหน่งเกียร์” และ “แจ้งเตือนการเปลี่ยนเกียร์” ที่รอบและความเร็วที่เหมาะสม…
– เกียร์ออโต้ : ดูกันที่ “คันเกียร์” ที่ดู “หะรูหะรา” มากขึ้น ออกแนว “ยุโรป” ที่ให้การต่อเนื่องมาก จากการคุยกับ “เอ้” ที่ใช้งานจริง พร้อมระบบ REV TRONIC เปลี่ยนเกียร์ได้เหมือนเกียร์ธรรมดา อัตราทดก็เปลี่ยนเป็นแบบ Over drive โคตรๆ รุ่น 3.0 Ddi ในเกียร์สุดท้าย ความเร็ว 140 km/h ใช้รอบเพียง 2,000 rpm เท่านั้น ส่วนความเร็ว 180 km/h ใช้รอบเพียง 2,500 rpm โคตรต่ำจริงๆ “เหมาะกับการขับไปดาวอังคารมาก” และเรื่องของ “โปรแกรมกล่องเกียร์” จะต่างจากตัวก่อน ที่พอใส่กล่องจูนเพิ่มจะเกิดปัญหา หากเซนเซอร์ในเกียร์มันจับได้ว่ามี “แรงม้าและแรงบิดมากกว่าเดิม” มันจะ “Drop” และ “สั่งไม่เปลี่ยนเกียร์” ศัพท์สายจูนเรียกว่า “นึก” ต้องรอกำลังเครื่องลดลงก่อน แล้วค่อยเปลี่ยน กัน “เกียร์พัง” แต่มันจะมีปัญหาในเกียร์ 1-2 ยิ่งสายจอดออกนี่ “นึกนาน” ชัดเจน จูนเนอร์ก็ต้อง “จูนหลอกเกียร์” กัน (อันนี้เทคนิคเฉพาะแต่ละคนนะครับ) แต่รุ่นใหม่นี้ไม่ต้องครับ จูนเพิ่มแรงม้าได้เลย เต็มที่ก็ “เกียร์พัง” ตัวใครตัวมันละครับ ผมแนะนำนะ ถ้า “อยากแรง” ก็ซื้อ “เกียร์ธรรมดา” เถอะนะ เกียร์ออโต้ สงวนไว้ใช้งานสบายๆ แรงพอดีๆ ขับสนุกเนียนๆ ไม่รอรอบ จะ “ถูกวัตถุประสงค์” กว่า…
Special Thanks
MONZA SHOP THAILAND : Facebook/Monza Shop Thailand – เพจแท้, Tel. 08-1988-7731
AE RACING GARAGE : Facebook/เอ้เรซซิ่งการาจ, Tel. 09-4824-6259
- ฝาท้ายคาร์บอน ผลิตใหม่ทั้งบาน แต่ยังคงใช้งานได้ปกติ
- เน้น “คลีน” แต่ไม่ดัดแปลง ของแต่งทุกชิ้นที่นำมาใช้ หรือการติดตั้ง จะต้องไม่มีการดัดแปลง หรือตัดเฉือนตัวรถโดยเด็ดขาด
- เทอร์โบสเต็ปยอดฮิต รุ่น 1.9 ต้อง “ไล่ขนาด” ให้พอดี ไม่ใช่ใหญ่ไว้ก่อน จะรอรอบมาก เพราะเครื่องเล็ก
- ชุดท่อไอเสีย คันนี้เป็นของ BRD
- เบาะ H-DRIVE เบลท์ SIMPSON คุมโทนให้กลมกลืนกับภายในเดิม
- RZ4E-TC ที่ตอนนี้ก็ยังคงรูปแบบเดิม แต่เติมเรื่องกล่องที่ทันสมัยขึ้นตามยุคสมัย
- ช่วงล่างหน้า ไม่เหมือน HI-LANDER เลย คันนี้ใช้โช้คอัพ AZTEK FORCE สำหรับตัวเตี้ย
- ช่วงล่างหลัง เป็นแบบ “แหนบใต้เพลา” สำหรับรถเตี้ยก็ต้อง “รองกล่อง” เข้าไปตามสูตร
- ชอบชุดสวิตช์และจอคอนโทรลแอร์ในรุ่น Top จริงๆ ออกแนว “ยุโรปคลาสสิก” มาก ส่วนคันเกียร์ออโต้ เปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้ทันสมัย พร้อมระดับ REV TRONIC เพิ่มความสนุก เปลี่ยนเกียร์ได้ตามใจชอบ
- เกียร์ธรรมดา จะมี Reverse ring ต้องเกี่ยวขึ้นเวลาเข้าเกียร์ถอยหลัง ต่างจากรุ่นเดิมที่ใช้ผลักอย่างเดียว