XO เล่ม 168 เดือน ต.ค. 2553
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
JDM THAILAND Present
MUGEN & KANSAI CR-Z
สปอร์ตรักษ์โลก กับมาดโฉบเฉี่ยวที่แต่งเติม
สำหรับรถสปอร์ตสายพันธุ์ใหม่ HONDA CR-Z จัดว่าเป็นรถที่นอกจากจะมีความโฉบเฉี่ยวและทันสมัยมากแล้ว ยังคงเป็น “สปอร์ตรักษ์โลก” หมายถึง การที่เป็นรถยนต์แบบ “ไฮบริด” ที่มีการนำกำลังไฟฟ้าเข้ามาช่วยในขณะขับขี่ จะช่วยลดการใช้น้ำมันให้น้อยลง มลพิษก็ต่ำกว่า กำลังไฟฟ้าจะสามารถผลิตขึ้นมาได้เองจากระบบขับเคลื่อนในตัวรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังมาแรงในขณะนี้ คุณสามารถใช้เครื่องที่มีกำลังน้อยลง แต่มีความแรงเท่าเดิม หรือใช้เครื่องกำลังเท่าเดิม แต่ได้ความแรงมากขึ้น จากระบบไฮบริดนี้เอง สำหรับ CR-Z ก็กำลังได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น มีของโมดิฟายกันอย่างหลากหลาย และเป็นธรรมเนียมว่า ในเมืองไทยก็หนีไม่พ้นที่จะนำมาตกแต่งกัน โดยคันที่นำเสนอนี้ เป็นของ “คุณเจต” จาก JDM THAILAND ซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบรถแบรนด์นี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จับ CR-Z คันโปรด มาแปลงโฉมด้วยพาร์ทจาก MUGEN มิกซ์รวมกับ KANSAI ได้อย่างลงตัว…
Linear Dynamic
สิ่งที่สำคัญของ CR-Z คือ การออกแบบตัวถังที่ลู่ลม ปราดเปรียว มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความแข็งแรง เพื่อให้รถไม่มีภาระมาก การต้านลมน้อย เพิ่มอัตราเร่ง เสียงเงียบ มีความคล่องตัว แต่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยไว้สูง ตัวถังออกแบบในลักษณะ “Low-Short-Wide” โป่งหน้าและหลังขยายกว้าง เพิ่มลุคความก้าวร้าว ผสมกับความสะอาดตา ทำให้ CR-Z มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ภายในมีการออกแบบที่ล้ำสมัย มาตรวัดเป็นแบบ 3 มิติ ที่สังเกตง่าย ให้ความเร้าใจ เหมาะกับการเป็นรถแห่งปัจจุบันและอนาคตโดยแท้จริง…
IMA Technology of HONDA HYBRID ENGINE
เรื่องราวของระบบไฮบริดในเมืองไทย ที่มีชัดเจนก็ค่าย HONDA นี้เอง โดยเริ่มจาก INSIGHT เมื่อปี 2000 ก็มีโอกาสได้ให้สื่อมวลชนไทยได้ลอง ด้วยอัตราสิ้นเปลืองในระดับ “30 กม./ลิตร” กับการขับขี่แบบ Cruising ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ตัวผมเองก็ได้สัมผัสกับ CIVIC HYBRID (ตัวถัง ES) ในช่วงปี 2002 บนเส้นทางจาก จ.สุราษฎร์ธานี–กรุงเทพฯ ด้วยอัตราสิ้นเปลืองเฉียด ๆ 30 กม./ลิตร ที่ความเร็วเฉลี่ย 100-120 กม./ชม. ก็นับว่าน่าสนใจมาก แต่ด้วยสนนราคาที่แพงมาก จึงเป็นเพียงความฝันของคนทั่วไปเท่านั้น ก็แคลงใจว่า ถ้าภาครัฐสนับสนุนให้รถไฮบริดมีราคาต่ำลงจะดีกว่าไหม คนทั่วไปจะได้ใช้ด้วย เป็นการลดมลพิษและความสิ้นเปลือง (ข้อยไม่เข้าใจเหมือนกัน) ในปัจจุบันรถไฮบริดกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งทั่วโลก เพราะความประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่จะ “ตื่น” กันเสียที…
กลับมาที่เรื่องเดิม ทาง HONDA ได้คิดค้นระบบไฮบริดของตัวเองขึ้นมา ในนามของ “IMA” หรือ Integrate Motor Assist เป็นการทำงาน “ร่วมกัน” ระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบนี้ถูกติดตั้งในรถ INSIGHT สมัยนั้นเป็นรถที่มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง “ต่ำที่สุดในโลก” เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ธรรมดาในความจุพิกัดเดียวกัน ในปี 2003 เป็นระบบ IMA รุ่นที่สอง โดยใช้เครื่องยนต์แบบ “i-DSI” ในรุ่นใหม่นี้ ถือว่าเป็นรุ่นที่ 5 ระบบเปิด–ปิดวาล์วแบบ 3 Stage i-VTEC โดยปกติเราจะคุ้นเคยกับระบบ VTEC ที่มีการปรับเปลี่ยนกระเดื่องวาล์ว เพื่อใช้กับ Cam Lobe สองชุด ชุดรอบต่ำ (Low Profile) กับชุดรอบสูง (High Profile) ต่อจากนั้นพัฒนามาเป็น i-VTEC ที่เพิ่มระบบ “ปรับ Overlap ของแคมชาฟท์ทั้งแท่ง” แต่พอมาเป็น 3 Stage i-VTEC ในรุ่นไฮบริด ซึ่งมี “ระบบตัดการทำงานของวาล์วในรอบเดินเบา” เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย มันคืออะไร ???
ระบบนี้จะใช้ในขณะที่เครื่องยนต์ดับ ใช้แรงขับเคลื่อนจากมอเตอร์เพียงอย่างเดียว ตัวเครื่องยนต์จะไม่มีการจุดระเบิดใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลไกเครื่องยังหมุนตามมอเตอร์อยู่ ที่กระเดื่องวาล์วจะมีตัว “พินล็อก” พิเศษมาอีกชุดหนึ่ง ตัวนี้จะเชื่อมระหว่างกระเดื่องที่ถูกลูกเบี้ยวเตะ กับกระเดื่องฝั่งวาล์ว ในตอนที่ระบบตัดการทำงาน พินล็อกก็จะ “ถอยกลับ” ไม่เชื่อมติดต่อกัน ดังนั้น เมื่อแคมหมุน ลูกเบี้ยวก็จะเตะฟรีไป ไม่มีการส่งแรงมาเปิด–ปิดวาล์ว ในขณะที่ชิ้นส่วนอื่นก็หมุนไปตามปกติ อันนี้จะช่วยลดอาการ “Pumping Loss” หรือการสูญเสียแรงอัดไประหว่างที่ลูกสูบเคลื่อนขึ้น–ลง ถ้าวาล์วยังเปิด–ปิดปกติ ลูกสูบก็จะดูดอากาศและคายอากาศโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดแรงเสียดทานสูงขึ้น ดังนั้น ระบบนี้จะช่วยลดภาระที่เกิดกับเครื่องยนต์ระหว่างที่ไม่ทำงานได้ดี ทำให้การสูญเสียน้อย ไม่เปลืองพลังงานมากไป…
ส่วนอีกฟังก์ชัน “Automatic Idle Stop” นั้น จะเป็นกรณีการจอดเฉย ๆ เช่น ติดไฟแดง ระบบจะประมวลผลจากการ “เบรก” ของผู้ขับ ถ้าเบรกจนกระทั่งรถหยุดสนิท ระบบจะสั่งดับเครื่องยนต์ คงเหลือแต่ระบบไฟฟ้า เพื่อหยุดการสร้างมลพิษ แต่ไม่ต้องกลัวครับ ระบบ “ปรับอากาศ” ก็ยังทำงานอยู่ เพราะใช้คอมเพรสเซอร์แอร์แบบพิเศษ ที่มีการขับเคลื่อนได้ทั้งจากกำลังเครื่องยนต์ปกติ และขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ตอนเครื่องดับ มอเตอร์ไฟฟ้าของคอมฯ แอร์ก็ทำงานแทน แอร์ยังคงใช้ได้ตามปกติ รวมถึงระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วย ก็นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน ก็ไม่แน่เหมือนกัน อีกไม่นานถ้าฝันเป็นจริง เราจะได้สัมผัสเทคโนโลยีนี้อย่างถ้วนหน้า ก็หวังไว้เช่นนั้น…
X-TRA ORDINARY
เครื่องยนต์แบบ “พลังผสม” ของญี่ปุ่น กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง แม้กระทั่งแบรนด์รถชั้นนำจากเยอรมัน อย่าง BMW, PORSCHE และ MERCEDES-BENZ ก็เริ่มให้การสนับสนุน อีกไม่นานทางค่ายเหล่านี้ก็จะมีรถไฮบริดออกมาจำหน่ายหนาตาขึ้น รถไฮบริดเยอรมันที่เห็นในบ้านเราก็ PORSCHE CAYENNE นำร่องมาก่อน แต่รุ่นต่อไปจะเป็นอะไร ก็ดูกันอีกทีในอนาคต…
- ชุดพาร์ทรอบคัน และกรอบป้ายทะเบียน เป็นของ MUGEN ส่วนที่เป็นลิ้นล่างรอบคันเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ของ HKS KANSAI
- งานของ KANSAI จะเป็นแนวเรียบร้อย แต่กลับดูดีและไม่เป็นภาระกับการขับบนท้องถนน
- ทรวดทรงก้าวร้าว จนคิดว่าไปเป็น TYPE R จะดีกว่าไหม ฐานล้อหน้าหลัง กว้างถึง 1,500 มม. ซึ่งมากกว่ารถขนาดเล็กทั่วไปมาก ทำให้เรื่องการทรงตัวหายห่วง
- สปอยเลอร์หลัง MUGEN ทรงโหด
- แผ่นปิดถังน้ำมัน เป็น Accessories ที่น่าซื้ออีกชิ้น
- Low-Short-Wide กับสิ่งที่ลงตัว ทำให้ CR-Z มีเสน่ห์อย่างยิ่ง ทำนิดหน่อยก็เตะตามาก รู้จากการเช็กเรตติ้ง “คนดู” ตอนถ่ายทำ
- ล้อ VOLK RE30 ขอบ 18 นิ้ว ยาง NITTO 205/40R18 บางเฉียบ สปริงโหลด RS*R เตี้ยลงกำลังดี มองขึ้นไปที่กระจกมองข้าง จะมีตัวครอบของ Modulo ติดอยู่
- แผงหน้าปัดดีไซน์ได้ “ล้ำ” มาก สวยงาม แพรวพราว ด้วยมาตรวัดแบบ 3 มิติ วงกลางในวัดรอบ จะเป็นตัวเลขความเร็ว ขอบวงจะเปลี่ยนสีได้ ถ้าเป็นสีเขียว แสดงว่าขับได้อย่างประหยัดสูงสุด แต่ถ้าเริ่มเป็นสีน้ำเงินเข้ม แสดงว่าคุณเท้าหนักไปหน่อยแล้ว ถ้าเป็นสีแดง แสดงว่าใช้ Sport Mode เรียกกำลังเต็มที่ เกจ์สามเกลอ MUGEN ตัว Case ตรงรุ่นพอดี ระบบส่งกำลังจะมีให้เลือกสองแบบ คือ เกียร์อัตโนมัติ CVT และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด (อันหลังนี้ท่าจะมันส์) ซึ่งทาง HONDA กล่าวว่า เราเป็นเจ้าแรกของโลก ในการนำเกียร์ธรรมดา 6 สปีด มาใช้กับรถไฮบริด
- เบาะเดิมทรงสปอร์ต ถ้าไม่พอใจก็สามารถสั่ง RECARO ที่ทาง KANSAI มีชุดขาเบาะแบบสำเร็จรูปขาย
- ขุมพลัง LEA 1.5 ลิตร ที่ออกแบบให้มีขนาดเล็กกว่าเครื่องรุ่นก่อน 5 เปอร์เซ็นต์ ให้เรี่ยวแรงได้ 113 PS ที่ 6,000 รอบ (ถ้าเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา จะมากกว่า 1 PS) แรงบิด 14.7 kg-m. ที่ 4,800 รอบ ส่วนกำลังของมอเตอร์ IMA จะมีอยู่ 14 PS ที่ 1,500 รอบ แรงบิด 8.0 kg-m. ที่ 1,000 รอบ ตอนนี้โมดิฟายเพียงเปลี่ยนกล่องของ J’s RACING ก็ขับสนุกขึ้นกว่าเดิมเยอะ ส่วนที่เห็นเป็น “ท่อสีส้ม” อยู่หลังกรองอากาศ อันนี้คือชุด “เคเบิล” สายไฟที่เชื่อมต่อกับ IPU (Intelligent Power Unit) ที่อยู่ท้ายรถ รับหน้าที่เป็น “กล่องสมอง” ที่ควบคุมระบบ IMA อีกที โดย IPU สั่งการ ควบคุม พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ IMA และในทางกลับกัน IMA ก็ปั่นไฟย้อนกลับเข้าสู่แบตเตอรี่โดยผ่านชุดสายเคเบิลเส้นนี้เช่นกัน สรุปคือ ระบบไฮบริดจะเชื่อมโยงการทำงานทุกอย่างโดยผ่านสายเคเบิลเพียง “เส้นเดียว” เท่านั้น