รู้จักรถยนต์พระที่นั่ง ที่พา “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงงานในถิ่นทุรกันดารอย่างทรหด

 

                ในภาพยนตร์ข่าวพระราชสำนัก หรือในภาพยนต์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ เราจะได้เห็นกันบ่อยๆ เป็นภาพที่พระองค์ท่านได้ทรงขับรถพระที่นั่งลุยน้ำท่วมจนเกือบจะถึงฝากระโปรงหน้า เพื่อเข้าไปทรงงานในถิ่นทุรกันดารที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งรถพระที่นั่งคันนี้ก็ถูกใช้ขับทรงงานอย่างสมบุกสมบัน ทรหดอย่างยิ่ง ซึ่งพาพระองค์ท่านได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมเยียน ช่วยเหลือ และพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฏรในถิ่นทุรกันดารต่างๆ รถพระที่นั่งคันนี้ เป็นรถ JEEP GRAND WAGONEER ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดในสายการผลิตรถรุ่นนี้ ผลิตโดยบริษัท AMC หรือ American Motor Company หลังจากเปลี่ยนถ่ายยุคมาจากบริษัท Willys Overland Motors ซึ่งอยู่ในการครอบครองของบริษัท Kaiser Jeep Corporation ซึ่ง AMC ได้พัฒนา JEEP WAGONEER ในด้านสมรรถนะใหม่ให้ “สะดวกสบาย” มากขึ้น เช่น การออกแบบตัวรถ ช่วงล่าง เครื่องยนต์ ให้ลดแรงสั่นสะเทือน เก็บเสียงดีขึ้น พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ นาๆ และความสวยงามหรูหราทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งคนเคยใช้รถตรวจการณ์รุ่นเก่าแก่ จะรู้กันดีว่ารถพวกนี้มันขับไม่สบายเอาเสียเลย พวงมาลัยก็หนัก เกียร์แข็ง คลัตช์ก็แข็ง ช่วงล่างก็สะเทือนมาก เสียงดัง ได้แต่ความทนทานเป็นหลัก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอะไรก็ไม่มี เน้นสมบุกสมบันจริงๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ พระองค์ท่านได้ใช้รถพระที่นั่ง LAND ROVER Series III ทรงงานอยู่เป็นประจำ แต่ตอนนั้นรถก็เริ่มเก่าแล้ว และตัวรถก็ไม่ค่อยจะมีระบบผ่อนแรง หรือระบบอำนวยความสะดวกสักเท่าไร ดังนั้น ทางฝ่ายราชยานยนต์หลวง จึงได้สั่งซื้อ JEEP GRAND WAGONEER รุ่นนี้เข้ามาโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา (เป็นรถพวงมาลัยซ้าย เนื่องจากนำเข้ามาทั้งคัน) ซึ่งเป็นรถที่มีอุปกรณ์ความสะดวกสบายครบครัน เช่น พวงมาลัยเพาเวอร์, เกียร์อัตโนมัติ, กระจกไฟฟ้า, แอร์จากโรงงานพร้อมฮีตเตอร์ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นรถยนต์แบบ Luxury 4×4 ซึ่งพระองค์ท่านจะทรงขับได้สบายขึ้นเป็นอย่างมาก…

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถ JEEP GRAND WAGONNEER คันนี้ ภายนอกจะเป็นสีฟ้า-น้ำเงิน แบบ Two Tone พิเศษ มีการประดับด้วยลายไม้ (Wood Grain) รอบคัน หน้ากระจังเป็นแบบ Low Wide Grille ซึ่งดูแปลกไปจาก WAGONEER ตัวธรรมดา ภายในเป็นสีฟ้าเช่นเดียวกัน เครื่องยนต์ AMC V8 มีทั้งขนาด 5.7 ลิตร (สำหรับรถปี 1970) และ 5.9 ลิตร (สำหรับรถปี 1971 เป็นต้นไป) และรุ่นปีท้ายๆ จะมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ถึง 6.6 ลิตร ระบบส่งกำลัง ใช้เกียร์อัตโนมัติ เดินหน้า 3 จังหวะ รุ่น Turbo-Hydramatic 400 (THM 400) และพิเศษสุดๆ กับระบบขับเคลื่อนแบบ 4WD Quadra-Trac ของ Borg Warner แบบขับเคลื่อนส่งกำลังด้วยโซ่ ที่สามารถปรับใช้งานได้โดยง่าย ไม่เหมือนแบบเก่าที่จะเป็น Manual ต้องลงไป “ล็อกเพลาหน้า” ที่ดุมล้อ (Lock Hub) ทำให้การขับเคลื่อนสี่ล้อตะลุยไปในดงทุรกันดารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด…

อาจจะมีคำถามว่า เมื่อลุยน้ำลึกขนาดนั้น จะไม่ทำให้ “ใบพัดลมหม้อน้ำ” มีปัญหาเรื่องฟันน้ำกระจายทำให้เครื่องดับ หรือทำให้ใบพัดหักหรือไม่ คำตอบที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญรถยนต์อเมริกันรุ่นเก่า คือ ใบพัดลมหม้อน้ำของรถยุคนั้น จะเป็นแบบ “Liquid Coupling Fan Clutch” หรือบ้านเรานิยมเรียกว่า “ฟรีปั๊ม” นั่นเอง มันจะใช้ “ของเหลว” เป็นตัวถ่ายทอดกำลัง จะทำให้พัดลมหมุนตามอุณหภูมิ และใบพัดเป็นเหล็กแข็งแรง (แต่มีน้ำหนักมาก) เวลาฟันโดนน้ำ ใบพัดจะหยุดหมุน แม้ว่าเครื่องจะทำงานอยู่ก็ตาม มันจะไปหมุนฟรีใน Fan Clutch แทน เลยทำให้สามารถขับลุยน้ำลึกได้โดยไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องอยู่ในลิมิทที่รถรุ่นนั้นจะลุยได้…

สำหรับเรื่องราวของ JEEP GRAND WAGONEER ที่เป็นรถพระที่นั่งของพระองค์ท่าน ปัจจุบัน ถูกนำไปจอดเก็บรักษา ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชม นับว่าคันนี้มีตำนานอันน่าจดจำ เพราะเป็นรถที่ประชาชนชาวไทยจำติดตา จากภาพที่ลุยน้ำไปในพื้นที่กันดาร ซึ่งห่างไกลความเจริญ ไม่มีแม้แต่ถนนหนทาง เสด็จไปพัฒนาทั่วประเทศ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในถิ่นทุรกันดารดีขึ้นอย่างมาก โดยที่พระองค์ท่านยอมทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยตลอดมา เพื่อความผาสุกของประชาชนคนไทยโดยแท้จริง…

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพและข้อมูลบางส่วน : hengivy.wordpress.com/2011/02/13/รถยนต์พระที่นั่งที่ทรง/, https://www.oknation.net/mblog/entry.php?id=940959,  https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=poylovesking&month=25-04-2014&group=11&gblog=11