เจาะเวลาหาอดีต “SUNNY เดอะแชมป์ Bracket”

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

                ยังคงกลิ่นของอดีต ตลบอบอวลอยู่ใน Post To The Past กับการย้อนเวลาหาอดีต กับสิ่งที่ยัง “หลงเหลือ” มาถึงปัจจุบัน ของเหล่านี้ถือเป็นสิ่งทรงคุณค่า โดยเฉพาะ “เรื่องราว” ที่มีความเป็นมาแบบน่าทึ่ง ว่าสมัยก่อนเขาเล่นอะไรกัน ของที่สมัยนี้ว่าแจ๋ว อาจจะมีมานานแล้วแต่เรายังไม่รู้ก็ได้ (รวมถึงตัวผมเองด้วย) หรือของบางอย่าง ที่สร้างมาแบบ “ทุ่มทุน” ยิ่งกว่าสมัยนี้ที่เน้น “ลดต้นทุน” หรือรถบางคัน เครื่องหน้าตาซื่อๆ บ้านๆ ไร้พิษสง แต่ “ยัดไส้” ไว้เพียบ จนสอยรถรุ่นใหม่กระเด็น มันจึงมีรายละเอียดหลายอย่างที่ “ต้องคิด” พังไปก็ไม่น้อย กว่าจะ “บรรลุ” มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่หาข้อมูลง่ายๆ รายละเอียดเหล่านี้ จึงมีที่มาที่ไป และเราจะนำมาเสนอให้คอ Retro และ Classic ได้ “เสพย์” กันครับ บอกไว้เลยว่า คันนี้มีข้อมูลเทคนิคอะไรแปลกๆ มาฝากกัน ถ้าพลาดเรียกว่าเสียดาย ไม่รักจริงไม่บอกนะ…

 

“ไก่ การาจ” อู่ดังในอดีต

สำหรับตัวแรงที่จะย้อนอดีตกันในคราวนี้ คือ “DATSUN SUNNY B110” เป็นสี “มัสตาร์ด” ดั้งเดิม ที่คนทำ SUNNY ใน 110 Series จะต้องถามหา รถคันนี้เป็นผลิตผลจากอู่ KAI GARAGE หรือ “ไก่ การาจ” โดยมีเจ้าของอู่และคนขับ “ทำเองขับเอง” คือ “ช่างไก่” คุณประเสริฐ จุลทะสี อู่เคยตั้งอยู่ “ปากซอยเสือใหญ่” ตรงข้ามร้านเครื่องเสียงชื่อดังในปัจจุบัน คันนี้จะวิ่งแข่งในสนาม “นครชัยศรี” ยุคแรกๆ โดยเน้นวิ่งรุ่น Bracket คันนี้ก็เป็น “ขาแม่น” กวาดแชมป์ Bracket แทบทุกรุ่น แทบทุกสนาม เหมาถ้วยมาเพียบ ตอนนั้น ไก่ การาจ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำรถแรงระดับหัวๆ ของเมืองไทย โดยร่วมมือกับ NEWTEC ENGINEERING ของ “คุณหนุ่ย” ชัยฉัตร ฉัตรศุภกุล ในการช่วยเหลือเรื่อง Technics ต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวเรามาว่ากันท้ายเรื่อง…

สำหรับ “สถิติ” เวลาในสนามนครชัยศรี วิ่งในระยะประมาณ 270 เมตร ได้เวลา “สิบต้น” ก็นับว่าอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดาเหมือนกัน สำหรับรถ “พันห้าไร้หอย” แบบนี้ ถ้าให้กะระยะเต็ม 402 ม. ในปัจจุบัน คันนี้น่าจะวิ่งได้เวลาประมาณ “13.XX วินาที” จากการประเมินด้วย “กำลังและน้ำหนักของรถ” เพราะ SUNNY รุ่นเก่าๆ ก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่า “เบาหวิว” รถพร้อมคนขับ (คันนี้นะ) ก็อยู่ราวๆ “7XX กก.” รื้อกันดุเดือด อะไรที่ทำเป็นไฟเบอร์ได้ก็ทำ โป่ง สปอยเลอร์ ฯลฯ พวกนี้เอาแบบมา Custom Made ขึ้นมาในแบบที่ชอบ…

A15 แคมใหญ่ ลูกโต คว้านเยื้อง เดี๋ยวนะๆ ???

ขุมพลังของคันนี้ ที่เปิดมาใครก็เอ่ยว่า “หมู” มันคือเครื่องยนต์ A15 1.5 ลิตร โอเวอร์เฮดวาล์ว หน้าตาซื่อๆ มองไปก็ไม่เห็นอะไรนอกจาก “เว็บนอน” คาร์บู WEBER 45 DCOE คู่นึง ที่ดูจะ “เทพ” หน่อยก็ท่อร่วมไอดี TOMEI แท้ อื่นๆ ก็ “แตนๆ” แต่พวกเครื่อง “แคมเยอะ วาล์วแยะ” โดนแดกเข้าไปก็ต้องพิจารณาว่า “มันทำอะไรมาวะ” ถ้าเปิดฝาวาล์วมาดู ก็จะเจอของแรง แคมชาฟต์ “TOMEI” ที่เรียกกันว่า  “80 องศา” ??? แต่ก่อนก็มีการเรียกแบบนี้จริงๆ ไม่ผิดครับ “สามารถเรียกได้หลายอย่าง” ถ้าจะพูดถึงองศาโดยรวม (Duration) แคมดุ้นนี้จะอยู่ที่ “320 องศา” ทั้งไอดีและไอเสีย ซึ่งเป็นแบบ Full Race แต่ทำไมถึงเรียก 80 องศา เนื่องจากเป็นการนับจังหวะ Overlap ทั้งไอดีและไอเสีย (40 องศา x 2) ก็มีเรียกประหลาดๆ แบบนี้เหมือนกัน สำหรับส่วนที่เหลือ ก็เน้น “ผสมสูตรไทยแท้” เพราะ “ตังค์หมด” แต่ถ้าใช้ความรู้ความเข้าใจ ก็ใช่ว่ามันจะแรงไม่ได้นะ เริ่มจาก วาล์ว ไปหยิบของ “NISSAN” มาใส่ ขนาด 40-33 มม. ซึ่งสมัยก่อนก็นิยมวาล์ว NISSAN เครื่อง L กัน หรือไม่ก็วาล์ว BMW เพราะ “ใหญ่กว่าชาวบ้าน” มุ่งเน้นมาเป็นเครื่องสมรรถนะจริงๆ สปริงวาล์ว สองชั้น จาก “BMW” ท่อนบนก็มีเท่านี้ แต่ก็ต้องมี “ลีลาการสอดใส่” กันหน่อย เพราะมันคงไม่ได้เป๊ะทุกอย่าง ต้องดูว่ามีการ “ติดขัด” อะไรมั้ย วาล์วใหญ่ แคมชาฟต์ลิฟต์สูง กดวาล์วไปโหม่งลูกหรือเปล่า ถ้าโหม่งก็ต้อง “ขุดหลบ” สปริงวาล์วใส่แล้วระยะได้ไหม “ยัน” หรือเปล่า มันก็ต้องมีการ “โมดิฟายไทยแลนด์” ขุด หลบ ตัด เว้า อะไรก็ว่ากันไป นี่แหละครับเป็นเสน่ห์การโมดิฟายแบบไทยจริงๆ…

มาดู “ท่อนล่าง” กันมั่ง ก็สไตล์ไทยๆ อีกนั่นแหละ ลูกสูบเอาของ “MAZDA” อะไรไม่รู้ว่ะมาใส่ ไปเทียบมาแล้วระยะ Pin Height ได้เว้ย แถมมีขนาดถึง “79 มม.” ซึ่งใหญ่กว่าลูกสูบ A15 เดิมๆ อยู่ประมาณ 2-3 มม. ถ้าจะคว้านก็ไม่ใช่น้อยนะเว้ย ตานี้พอจะคว้าน ก็เสือกติดปัญหาที่ผนังระหว่างสูบ 1-2 และ 3-4 เพราะตรงนี้มันจะ “บาง” กว่าเพื่อน แต่ผนังกลางระหว่างสูบ 2-3 จะ “หนา” กว่าเพื่อน สไตล์เครื่อง A ที่รู้กันดี จะคว้านแบบทั่วไป ผนังสูบก็แทบจะ “ขาด” แล้ว แต่กูจะใส่อ่ะ ก็ต้องมี “ลีลาสอดใส่” กันอีกแล้ว โดยใช้วิธีการ “คว้านเยื้องศูนย์” เยื้องสูบ “คู่ริมนอก” คือ 1 กับ 4 ออกไปด้านนอก ส่วนสูบ “คู่ชิดใน” เยื้องเข้ามาหากึ่งกลางไอ้ที่หนาๆ ก็ประหลาดดีมั้ยละครับ ใส่ส่วนของ ข้อเหวี่ยง ก็เดิม เล่นตามสูตร “กลึง ลด เจาะ เจียร์” ให้เบาไว้ก่อน ก็ไม่ใช่ว่านึกจะทำตรงไหนก็ทำนะ ต้องพิจารณาว่าจุดไหนทำได้ จุดไหนทำไม่ได้ ด้วยนะครับ ไม่งั้น “พังสนาน” อย่างเดียว ระบบคายไอเสีย เป็นฝีมือของ “ร่มโพธิ์ทอง เฮดเดอร์” ที่โด่งดังสุดๆ ในยุคนั้น…

ระบบส่งกำลัง ใช้เกียร์ของ A12 แบบ 4 สปีด ของเดิม พอแล้ว วิ่งระยะสั้นจะดิ้นรนใส่ 5 เกียร์ ทำไม จุดเด็ดอยู่ที่ “คลัตช์” เป็นแบบ Twin Plate ของ B&B หรือ Borg & Beck ที่บ้านเราเรียกเพี้ยนเป็น “บ๊อกแอนด์แบ็ค” (บ๊อกๆ บรู๊วววว) หรือฉายา “คลัตช์ป๊อกแป๊ก” ซึ่งสมัยนั้นใครใช้คลัตช์แบบนี้ได้ ถือว่า “แรงสุด” เพราะรอบเครื่องคันนี้ระดับ “หมุนหมื่น” ไม่ต่ำกว่า “10,000 rpm” ก็แล้วกัน อย่าดูถูกว่าเครื่องโบราณนี้หมุนรอบต่ำ หรือทำให้ตายห่าก็ไม่แรง ใครที่เคยได้ยินเสียงเครื่อง A โมดิฟายเต็ม จะรู้ว่า “แว้ดเต็ม” นี่ ให้พวกแคมเยอะวาล์วแยะก็เถอะ ไม่แน่จริงก็ต้องหลบ แรงม้าเครื่องพวกนี้อยู่แถวๆ “160-180 PS ++” นะครับ !!! อย่าคิดว่าธรรมดา ส่วนระบบเฟืองท้าย คันนี้ใช้อัตราทด 4.685 : 1 ยกของ DATSUN ไม่แน่ใจว่ารุ่นไหน แต่แน่ๆ เพลากับเฟืองท้ายใหญ่กว่าเดิมพอสมควร แค่นี้ก็จบสำหรับ SUNNY KAI GARAGE

ภาพสุดท้ายของรถคันนี้ คือ ในสนามเฉพาะกิจ “เมืองทองธานี กรังด์ปรีซ์ ควอเตอร์ไมล์” ปี พ.ศ. 2537 โดยมาเป็นคู่กับ “เต่ากระดูก” คันที่เพิ่งเสนอไป แต่ในสนามนี้ SUNNY KAI GARAGE เกิดมีปัญหา “หลับ” ไปซะก่อน อาจจะด้วยปัญหาเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงออกเทนไม่ถึงกำหนด (คันนี้ใช้น้ำมันออกเทน 100 ++ RON นะครับ) หรือด้วยเหตุอื่นๆ ก็ตาม เลยอดอาละวาดคว้าถ้วยมาครอง รถคันนี้ก็ถูกซื้อต่อไปโดย “TEE RACING” (ตี๋ เรซซิ่ง) อดีตช่างใหญ่สายท่อซิ่ง ของ ร่มโพธิ์ทอง เฮดเดอร์ ที่ออกมาทำร้านเอง เพื่อจะนำไปทำรถ Half Frame วาง SR20DET แต่ล้มเลิก Project ไปก่อน ส่วนเครื่องและพาร์ท คุณหนุ่ย NEWTEC ก็ได้ซื้อกลับมาเก็บเอาไว้ หลังจากที่ทิ้งไว้จนผุเกินเยียวยา มันก็ถูก “ตัดขายเป็นเศษเหล็กไป” เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นจริง มาถึงยุคนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับคันนี้ต่างก็ “อาลัย” คิดว่าถ้าย้อนเวลาไปได้ก็จะเก็บมันไว้ ตอนนี้ก็คงเหลือแต่ “มรดก” ของแรงที่ “ถูกใช้จริงกับรถคันนี้” ที่ปัจจุบันมีค่าควรเก็บรักษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเอาไว้ “ดูต่างหน้า” ว่าอดีตนั้นมีที่มาอันน่าประทับใจอย่างไร…

 

ขอขอบคุณ : คุณชัยฉัตร ฉัตรศุภกุล (หนุ่ย NEWTEC) สำหรับเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง

 

ตำนานรถเก่า เราคิดถึงเธอ… อินทรภูมิ์ แสงดี

 

+#Posttothepast#xoautosport #‎DatSun #Kai_Garage
เวบไซต์สาระรถซิ่ง :
xo-autosport.com

Cr. Photo :

THAILAND AUTOMOTIVE PHOTO HUB
By GPI Photo Bank : 02-522-1731-8
คลังภาพถ่ายวงการรถยนต์ของเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2512* ถึงปัจจุบัน
สนใจ/ต้องการใช้บริการภาพถ่าย กรุณาติดต่อ-สอบถาม