KE30 7M Twin Supercharged by THAI TEC

เรื่อง : โอฬาร ล้วนปรีดา , กริช ศุภการ
รูป : นธี มณฑาถวิล
McXO เรียบเรียงจาก XO Mag vol.58 ปี 2001

ผลงานอีกคันในความทรงจำจากช่างไทยที่มีชื่อว่า “พเยาว์ Thai Tec” ที่แสดงให้เห็น “ภูมิปัญญาของช่างไทย” ออกแบบทั้งตัวรถใหม่ทั้งแชสซีส์ , ระบบขับซุปเปอร์ชาร์จ , “เกียร์ออโต้” แบบบ้านๆ ที่แม้เทคนิคการทำรถอาจจะออกแนวลูกทุ่ง แต่ก็มันส์สะใจมาถึงยุคปัจจุบัน

ผมกำลังพูดถึงรถแข่งแดร๊กสีขาวลายสายฟ้าฟาด ตามตำนานแล้วคันนี้เป็น KE30 คันที่ 2 ของช่างพเยาว์ที่สร้างขึ้นมาชดเชยคันแรกที่พังไปในการแข่งขัน Race Hard เมื่อปี 1999 การกลับมาครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นสร้างใหม่หมด ตั้งแต่โครงแซสซีส์ที่ซื้อแป๊ปเหล็กมาทำ กระดองครอบทำโดยเหล็กกล่องแบบเหลี่ยมเอามาทำโครงแทนของเดิม ซึ่งความห่างของโครงแซสซีส์ทั้งสองข้างถูกกำหนดด้วยคานล่างที่ใช้ยึดกระปุกพวงมาลัย (อย่างน้อยก็ยังมีกระปุกพวงมาลัยที่เป็นของเดิม) เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆทั้งหมดของตัวรถ ที่ช่างพเยาว์ “วัดเอาเอง” ด้วยประสพการณ์ ถ้าถามว่าตรงกับคู่มือมั๊ย ขอตอบเลยว่า ไม่ แต่ช่างพเยาว์ก็ยังมั่นใจว่ารถแก “สเถียร” แน่นอน

ช่วงล่างยกปีกนกเดิมมาทั้งพวง แปลงช่วงหัวของโช้คให้เป็น Ball Joint เพื่อให้ปรับมุมองศาล้อได้ และแปลงช่วงล่างหลัง ทำหน้าที่คล้าย Swing Arm ใช้สูตรเฉพาะช่างว่า “Three Link” (ก็ใช้สูตร Four Link นั่นแหละครับ เพียงแปลงจุดยึดติดกับเฟรม จาก 2 จุด เป็น 1 จุด นั่นเอง)

ส่วนเครื่องยนต์ใช้ 7M-GTE ขยายไซส์ขนานกระบอกสูบจากเดิม 83 mm. เป็น 85 mm. เพิ่มความจุขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 3,098.27 cc. ฝาสูบขยายวาว์ลไอเสียให้ใหญ่ขึ้น 1 mm. พร้อม แยง , ขยาย , ขัดพอร์ท ไอดี / ไอเสีย แคมชาร์ฟเปลี่ยนไปใช่ในองศาสูงขึ้น (แต่ไม่บอกองศามาให้)

บวกความมันส์ด้วยซุปเปอร์ชาร์จแบบ Root Type จากเครื่อง 1G-GZE จำนวน 2 ตัว แยกซ้ายขวาขนาบเครื่อง 2 ฝั่ง (โมขายึดใหม่ให้ซุปเปอร์ชาร์จเข้ากับสายพานได้ทั้งสองฝั่ง) เปลี่ยนพูลเล่ย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเทียบจนวัดบูสท์เพิ่มได้ 1 บาร์ เดินท่ออัดอากาศขนาดยักษ์ 2 ตัวเข้าที่ Intake Manifold โดยใน Prenum ได้ทำปากแตรเอาไว้ที่ปาก Runner ทั้ง 6 เพื่อความสะดวกในการรีดอากาศออก

เพิ่มพลังความโหดด้วยไนตรัส 7 หัวจาก KE30 ตัวแรกของอู่ โดย 1 หัวแบบ Fogger และ 6 หัวที่เหลือแบบ Jet Spray ฝังเข้าที่ Intake Manifold  ในท่อ Runner ของแต่ละสูบ และใช้ Solenoids 2 ตัวเป็นตัวเปิดไนตรัสเข้าสู่หัวฉีดทั้ง 7 สั่งฉีดด้วยสวิตช์มือกด โดยฉีด 1 หัวตอนออกตัว และอีก 6 หัวจะฉีกตอนเกียร์เปลี่ยนเข้าที่เกียร์ 2 ของเกียร์ Auto 4 speed

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับผมงานของช่างไทย ที่แม้จะผลิตผลงานออกมาโดยใช้ความชำนาญและทักษะส่วนตัว แม้จะไม่ได้อ้างอิงกฏตายตัวจากต้นแบบ แต่ก็ผลิตกำลังออกมาได้อย่างน่าตกใจ และถือได้ว่าเป็นแนวทางของหลายๆสำนักในภายหลัง KE30 คันนี้จึงเป็นอีกหลักฐานสำคัญที่ย้ำว่า “ช่างไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก”