เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้อ
LANCER 1600 GSR (A73)
Safari Rally Champion Replica By DANG STICKER
ความทรงจำอันลืมเลือน ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง
ฝุ่น ผง ดินลูกรัง เส้นทางคดเคี้ยวตามป่าเขา ที่ “รถ” กำลังจะห้อตะบึงไปด้วยความเร็วแบบคนทั่วไปที่แค่ “ขับรถได้” ไม่สามารถควบคุมมันได้ วินาทีแห่งความเสี่ยงมีอยู่ทุกห้วงที่รถวิ่งไป ความมันส์ในเกม “แรลลี่” ที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจมัน แต่ใน “ยุคทอง” ของแรลลี่ กลับมี “ตำนาน” และ “เรื่องราว” ไม่น้อยไปกว่าการแข่งขันประเภทอื่น แต่น้อยคนนักที่จะจำได้ เป็นที่แน่นอนว่า รถแข่งแรลลี่ระดับตำนานต้องบันทึก MITSUBISHI LANCER 1600 GSR ไว้ในหน้ากระดาษ จากรถบ้าน ๆ ที่ไม่มีอะไรวิเศษพิสดาร กลับเป็นแชมป์ SAFARI RALLY ที่หฤโหดสุดอยู่หลายสมัย ใครจะจำได้ หรือรู้จักกันบ้าง ว่ารูปแบบของรถคันนี้เป็นอย่างไร ??? อยากรู้ก็ย้อนเวลามากับเราเลยครับ…
- มาครบ ๆ บนฝากระโปรง ติดสติกเกอร์ทะเบียนรถของ Joginder Singh และสติกเกอร์รายการ SAFARI RALLY ประเทศเคนยา ปี 1970 โลโก้ TOTAL เป็นของยุคนั้น สปอตไลต์ของ CIBIE ดวงใหญ่ รุ่น Super Oscar ดวงเล็ก (กว่า) รุ่น Oscar ด้านล่างเห็นเหมือนมีหนวด มันคือแผ่นยาง Safety Guard ที่สร้างขึ้นเอง รายละเอียดส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำมาจาก คุณม่อน และ คุณพนม
Real GSR Real Rally Feel
SAFARI RALLY ยอดตำนานระดับโลก กับนักขับขั้นเทพอย่าง Andrew Cowan ชาวสกอต (รถเบอร์ 11) และ Joginder Singh ชาวเคนยา (รถเบอร์ 46) ที่ควงแชมป์สลับกันมาถึง 5 สมัย เป็นตำนานระดับโลกที่ LANCER ภูมิใจเหลือเกิน มาถึงในเมืองไทย ยุคแรลลี่รุ่งเรืองเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จะมี LANCER รุ่นนี้ลงแข่งอยู่ ควบโดยยอดนักขับอย่าง “คุณเทียนชัย เตียวรัตนกุล” หรือ “น้าม่อน” และ “คุณพนม หนูไพโรจน์” ทั้งสองเป็นนักขับฝีมือดี ซึ่งสามารถคุม LANCER รุ่นนี้ ที่มีความอันตรายอย่างหนึ่งคือ “ท้ายเบา” และ “พร้อมจะโอเวอร์สเตียร์ตลอดตอนเลี้ยว” ซึ่งหลายคนก็ขับไม่ได้ แต่ทั้งสองก็คุมอยู่ โดยเฉพาะ “น้าม่อน” ที่เรียกว่ามี “ฝีตีนนรกสั่ง” สามารถ “สวิงรถ” และ “สไลด์” เข้าโค้งอย่างสวยงามและรวดเร็ว ใครว่าท้ายไหล ขับไม่ได้ น้าม่อนจัดให้อย่างสะใจ ไม่เฉพาะแรลลี่เท่านั้น น้าม่อนยังใช้รถคันเดียวกันนี้ลงแข่ง “ทางเรียบ” ด้วย เรียกว่าครบเครื่องจริง ๆ สมัยนั้นคนจึงรู้จัก LANCER รุ่นนี้กันมาก…
- ถอดแบบสติกเกอร์รอบคันมาจนครบ เส้นสีดำที่ท่านเห็น จริง ๆ มันคือสี Midnight Blue ไม่ใช่สีดำ คันนี้ทำถูกแบบ เพราะได้รับการยืนยันจากขาแรลลี่ยุคเก่า
หลังจากนั้น ทุกอย่างก็เลือนไปตามวัฏจักรแห่งชีวิต ปัจจุบัน LANCER ทั้ง 1400 SL (รหัส A70) ก็เริ่มจะหายาก ส่วน 1600 GSR นั้น มีเข้ามาจำนวนไม่มากนัก ก็อยู่ในการครอบครองของ “คนสะสมรถ” ที่ชอบรถสองประตู จวบจนเวลาผ่านไป “ป๋าแดง” วิชัย นุชพุ่ม แห่ง DANG STICKER อดีตผู้จัดการทีม “ใจทิพย์” ของ คุณพนม ในสมัยที่ยังใช้รถรุ่นนี้แข่งอยู่ ได้หวนรำลึกถึงเวลาเก่า ๆ อีกครั้ง จนกระทั่ง “อาร์ต” ภีมวัชช์ นุชพุ่ม ลูกชาย ก็ได้ซื้อ 1600 GSR คันนี้ ที่เป็นรถแท้ (รหัส A73) มาให้ ป๋าแดงเลยเริ่มลงมือทำ โดยยึดแบบรถแข่ง SAFARI ตัวจริง พยายามเก็บรายละเอียดไว้ทั้งหมด และไปหาเหล่า “เพื่อนเก่า” หลายท่าน เพื่อนำข้อมูลมาสร้างรถคันนี้ขึ้นมาใหม่ และได้อุปกรณ์การโมดิฟาย จนไปถึงอุปกรณ์การแข่งขันต่าง ๆ ที่หายากมากมาใส่จนครบ เป็นอีกหนึ่งคันที่ออกมาได้สมบูรณ์แบบตามใจนึกโดยแท้จริง…
- เก็บรายละเอียดครบ มี Mud Guard แบบรุ่นเก่า ก็ทำขึ้นมาให้เหมือน ท่อไอเสียทำตามแบบตัวแข่ง SAFARI RALLY แบบเป๊ะ ๆ ที่กันชนจะมี “แป้นเหยียบ” ที่เสา C จะมี “มือจับ” ทำตามแบบของจริง เอาไว้ให้ “เนว์” ขึ้นไปขย่ม เวลารถติดหล่ม ส่วนตัวยึดฝากระโปรงหลัง เป็นของที่กลุ่ม Off Road จะใช้เพื่อกันฝาเปิดเวลากระแทก โดยพยายามเก็บรายละเอียดให้เหมือนที่สุด ส่วนเพลาท้าย เอาของ MITSUBISHI STARION มาใส่ เพื่อให้ฐานล้อกว้างขึ้น ควบคุมง่ายกว่าของเดิมเยอะ
DANG STICKER ขอขอบคุณ : คุณพนม หนูไพโรจน์, คุณม่อน เทียนชัย เตียวรัตนกุล, ป๋าเป็ด กนิษฐ์ ชัยอาญา, พ.อ.ชวรัตน์ สมบูรณ์ศักดิ์ศิริ, คุณบอย วุฒิชัย ศรแดง, ไล โชคชัย 4, ผู้ใหญ่ปอง, ช่างลักษ์, ร่มโพธิ์ทองเฮดเดอร์
XO AUTOSPORT ขอขอบคุณ : DANG STICKER สนใจตัดสติกเกอร์สวย ๆ โทร. 0-2373-1996
X-TRA ORDINARY
สำหรับ LANCER หรือ COLT LANCER ตระกูลนี้ ถ้าจะอิงไปทางฝั่ง “อเมริกา” ก็จะเรียกรถรุ่นนี้ว่า DODGE LANCER ใน “แคนาดา” เรียกว่า PLYMOUTH LANCER ส่วนฝั่ง “ออสเตรเลีย” จะเรียกว่า CHRYSLER VALIANT LANCER ครับ…
- ล้อ ENKEI ก้านแบบ “กลีบมะเฟือง” ที่รถแข่งของไทยใช้ ส่วนของนอกจะเป็น MINILITE ขนาด 6 x 14 นิ้ว ยาง KUMHO R700 Snow Tire ขนาด 185/65R14
- สตรัทหน้า เอาของ MITSUBISHI STARION มาใส่ โช้คอัพ BILSTEIN Upside Down บู๊ชยูรีเทนทั้งคัน โดย ไล โชคชัย 4 สังเกตที่ปีกนกจะมี “สลิง” ร้อยไว้ เอาไว้รั้งล้อไม่ให้พับ เวลา “เหินฟ้า” สูง ๆ ส่วนโช้คอัพหลัง เป็น KAYABA สีเงิน แหนบหลัง C2 Spec
- เครื่อง SATURN 1,600 C. แท้ โมดิฟายตามสูตรคนไทยดั้งเดิม โดย “พี่บอย วุฒิชัย ศรแดง” อู่ TAB Speed และ “ผู้ใหญ่ปอง” ฝาสูบ ปาดเพิ่มกำลังอัด ขัดพอร์ตใหม่ แคมชาฟท์ C2 Spec 300 องศา (โดยประมาณ) ลูกสูบ FIAT เปลี่ยนชาฟท์ของแต่ง รองรับรอบสูง เฮดเดอร์ 4-2-1 C2 Spec คาร์บู MIKUNI เบอร์ 44 ส่วนค้ำโช้คอัพเป็นของ CUSCO มาแปลงใส่
- ภายใน ได้อารมณ์คลาสสิก วิทยุเดิม ส่วนสำคัญคือ Twin Master ตัววัดระยะทางแบบไขลาน ที่หาได้ยากมาก ของ Halda พร้อมไฟส่องสำหรับเนว์อ่าน Sign เวลากลางคืน
- ที่ว่าหายากสุด ๆ ต้องอันนี้ Rally Indicator ของ Stevens เป็นแผ่นสำหรับคำนวณเวลา ความเร็ว ระยะทาง เพื่อจะได้มาร์คจุดเข้า TC แบบ “ปิด” ได้แม่นยำ (ผมก็ใช้ไม่เป็นเหมือนกัน) ชุดนี้เป็นของ พ.อ. ชวรัตน์ สมบูรณ์ศักดิ์ศิริ อดีตเนว์เก่าของคุณพนมเป็นผู้ให้มา
- เบาะทำทรง Retro เข็มขัด Sabelt โรลบาร์ครึ่งคัน มองลึกเข้าไป จะเห็นเป็นตาข่ายมัดของไม่ให้กระจัดกระจาย
