The Legendary of 90’s JAP Sport Car : SUPRA History

XO AUTOSPORT No.268
REEDXO268 (Supra History)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่, ภูดิท แซ่ซื้อ
ข้อมูลและภาพบางส่วน : www.retro.motoringresearch.com, www.mkiv.supras.org.nz,
www.mkivsupraownersclub.com   

หลังจากที่ SUPRA ได้ทิ้งทวนกับรหัส JZA80 ไว้ตั้งแต่ปี 2002 นับรวม “สิ่งที่หายไป” ก็ร่วม 17 ปี แต่เรื่องราวมันก็ยังไม่หายไป เพราะ SUPRA ก็ยังเป็นหนึ่ง JAP Sport ยุค 90 ที่ครองใจคนทั่วโลก โดยหลักก็คือ ขุมพลัง 2JZ-GTE อันระบือโลก โดยเฉพาะวงการ Drag ที่เครื่องตัวนี้เป็น Top Japanese Engine ตลอดกาล ทำแรงม้าได้มากมาย ทนทาน ของแต่งมีเพียบ ประกอบกับทรวดทรงปราดเปรียว จึงโดนใจคนทั่วโลก โดยเฉพาะใน USA ที่นิยม SUPRA กันมาก ทั้งแนว Street Used ไปยัน Drag Racing ซึ่งในเมืองไทย แน่นอนครับ SUPRA ก็เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับคนชอบสปอร์ตญี่ปุ่นโมดิฟาย ดีเพราะของหาง่าย มีหลากหลายแบบ จะแต่งสไตล์ “ยุ่น” หรือ “เมกา” หรือ “ไทยแลนด์” ก็มีให้เลือกตามชอบ SUPRA จึงยังไม่หายไปจากความนิยม และยิ่ง New SUPRA A90 ออกมาใหม่ โดยการแชร์พื้นฐานกับ BMW Z4 แล้วไซร้ “จะเกิดหรือจะดับ” เป็นกระแสโลกอยู่ ณ บัดนาว เราเลยอดใจไม่ได้ที่จะ “แฉตำนาน” มันสักครั้งในชีวิต…

เปิดตำนาน CELICA SUPRA MK I
ก็จะเรียกว่า “รถเทพ” ก็ย่อมได้ สำหรับ 2000 GT ที่ทุกสิ่งเพียบพร้อม แต่ “ยากที่จะเอื้อมถึง” สำหรับคนทั่วไป ดังนั้น TOYOTA จึงออก CELICA TA22 ออกมาในปี 1970 จนมาถึง “เจน 2” CELICA เปลี่ยนเป็นอนุกรม A4 ที่บ้านเราเรียกกันว่า CELICA AERO เพราะโฆษณาในด้าน “การลู่ลม” จากการออกแบบตัวถังที่ดี มาจากคำว่า Aerodynamic นั่นเอง เปิดตัวในช่วงปลายปี 1977 ซึ่งจะเป็นแบบ “ไฟหน้ากลม” และ “ไฟท้ายสั้น” ตัวท็อปในเวอร์ชัน “สี่เม็ด” 2000 GT จะเป็นเครื่องยนต์ 18R-G แต่ว่าจะมีตัวที่ “หรูหรา” กว่านั้น เป็นการยกระดับตัวรถให้สูงขึ้น จะเป็นในเวอร์ชัน XX หรือ Double X ที่ใช้เครื่องยนต์ตระกูล M แบบ 6 สูบเรียง ตัวถังจะยาวขึ้นถึง 129.5 มม. หรือประมาณ 5 นิ้ว เพราะ “ยืดหัว” ให้ใส่เครื่อง 6 สูบ ได้อย่างสบาย และเพิ่มภาพลักษณ์ความเป็นสปอร์ตชั้นสูง เฉกเช่น FAIRLADY Z ของ DATSUN โดยรุ่น XX ทั้งหลายนี้ รหัสจะขึ้นด้วย MA4X ซึ่งเลขตัวหลังก็จะขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ อย่างเช่น XX 2000 G เครื่อง M-E ความจุ 2.0 ลิตร หัวฉีด ก็จะเป็น MA45 ส่วนตัวท็อป คือ XX 2600 G รหัส M46 จะใช้เครื่อง 4M-E ความจุ 2.6 ลิตร มีกำลังถึง 140 PS มีเกียร์ออโต้ให้ใช้ พร้อม “ดิสก์เบรก 4 ล้อ” เรียกว่ายกระดับกันชุดใหญ่…

สำหรับเรื่องราวของ CELICA SUPRA นั้น จะเกิดขึ้นใน “ตลาดอินเตอร์” เช่น อเมริกา ยุโรป มีการเอาชื่อ SUPRA มาต่อ เพื่อแสดงความเป็น “พิเศษ” ไปกว่าเดิม โดยเป็นรุ่นเดียวกับ XX 2600 G ซึ่งสเป็กอเมริกาจะเน้นความ “แพรวพราว” ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย ตามกฎหมายบังคับ สำหรับ “แรงม้า” น่าเสียใจที่ CELICA SUPRA MK I US Spec นั้น จะถูกบีบเหลือเพียง 110 PS ที่ 4,800 rpm เท่านั้น จากการที่กฎหมายควบคุมมลพิษ (Emission Control) จะเข้มงวดกว่า ระบบ “กล่องควบคุม” และ “ระบบไฟ” US Spec เป็นของ BOSCH ส่วน JDM จะเป็นของ DENSO และรางวัลการันตีคุณภาพของเจ้า CELICA SUPRA MK I โดยได้รางวัล “รถสปอร์ตยอดเยี่ยม” จากนิตยสาร MOTOR TREND เมื่อปี 1978 ครับ…

CELICA SUPRA MK II
ในปี 1981 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนยุคของรถทั่วโลก จากทรงมนมาเป็น “ทรงเหลี่ยมแบน” ก็เช่นเดียวกัน CELICA ในอนุกรม A6 ก็เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ โดยมีตัวถังแบบ “สองความยาว” เหมือนกัน ในรุ่นปกติ ก็จะเป็นเครื่อง 4 สูบ เช่น 1800 GT-T เครื่องยนต์ 3T-GTE “ทวินปลั๊ก” เป็นตัวชูโรง ส่วนตัว XX ก็จะเป็นแบบ “หัวยาว” ใช้เครื่องยนต์บล็อก M ตั้งแต่ M-TEU Turbo ในรุ่น XX 2000 G แล้วก็มี 1G-GEU พลัง 160 PS DOHC 24 วาล์ว มาแนว “รอบจัดเสียงหวาน” ในรุ่น XX 2000 GT ในรหัส GA61 ส่วนสเป็ก “ส่งออก” ก็จะใช้ชื่อ CELICA SUPRA MK II โดยใช้เครื่องยนต์ 5M-GEU ขนาด 2.8 ลิตร DOHC 12 วาล์ว มาแนว “ได้ใหญ่ ทอร์คเยอะ” มีเรี่ยวแรง 145 PS สำหรับ US Spec ก็อย่างที่บอกว่า “โดนตอนม้า” เพราะ Emission Control ส่วนในยุโรป จะมีพลังถึง 175-178 PS แล้วแต่หน่วยการวัด…

L-Type & P-Type
ในตลาดอเมริกา และแคนาดา CELICA SUPRA MK II นี้ จะแบ่งเป็น 2 Package คือ L-Type ย่อมาจาก Luxury Type แนว “หรูหรา” พูดง่ายๆ ก็จะเป็นทรงปกตินี่แหละ ล้อจะเป็นขนาด 5.5 x 14 นิ้ว แล้วจะมี “หน้าปัดดิจิทัล” เป็น Option ซึ่งสามารถคำนวณ “อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง” หน่วยเป็น “ไมล์ต่อแกลลอน” สไตล์อเมริกา แล้วก็คำนวณเชื้อเพลิงที่เหลือ กับความเร็ว และการจ่ายเชื้อเพลิง ว่าจะวิ่งต่อไปได้อีกเป็นระยะทางเท่าไร ซึ่งสำคัญมาก เพราะในอเมริกา บน “ฟรีเวย์” บางจุดในช่วงระหว่างเมืองเป็นระยะทางยาวๆ ก็ไม่มีปั๊มน้ำมัน (Gas Station) บริการ คนขับจะต้องคำนวณให้แม่นว่าควรจะเติม ณ จุดไหน ส่วนตัว P-Type มันคือ “Performance Type” จะมี “โป่งล้อ” พร้อม “พาร์ทชิ้นใต้กันชน” และ “สปอยเลอร์ท้าย” ทำให้ดูสปอร์ตขึ้น ล้อจะเป็นลาย 4 ก้านคู่ ขนาด 7 x 14 นิ้ว มี “ลิมิเต็ดสลิป” มาให้ อัตราทดเฟืองท้ายขยับเป็น 4.1 (L-Type 3.7) เพื่ออัตราเร่งที่จี๊ดจ๊าดกว่า ส่วนช่วงล่างนั้น ได้ LOTUS เป็นผู้ Setting ให้ เรียกว่าพาร์ทเดิมที่ให้มานั้น “ถูกใจ” แบบที่ไม่ต้องไปสรรหาอะไรวิจิตรพิสดารเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น…

The Pure SUPRA begin
ปี 1986 ทาง TOYOTA ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ โดยการแยกไลน์การผลิต SUPRA ออกมาเป็นเอกเทศ ในตระกูล A7 จะไม่มีการแชร์ร่วมกันกับ CELICA อีกต่อไป ซึ่ง CELICA จะเปลี่ยนไปเป็นรถแบบ “เครื่องยนต์วางขวาง” ระบบขับเคลื่อน คือ “ล้อหน้า” และ “สี่ล้อ” โดยใช้ Platform ของอนุกรม T ก็จะเป็นพวก CARINA, CORONA เป็นต้น ซึ่งใช้รหัส ST16X เครื่องจะเป็นตระกูล S ตั้งแต่ 1S ไปถึง 3S ตัวท็อป คือ GT-FOUR รหัส ST165 ขุมพลัง 3S-GTE 185 PS ตะกายสี่ตีน รุ่นนี้โด่งดังจาก WRC หรือ World Rally Championship นักขับทางฝุ่นมือฉกาจก็คือ Carlos Sainz นั่นเอง แน่นอนว่า มีการแยกไลน์และคลาสกันอย่างชัดเจน โดย SUPRA ก็ดันไปเป็น Flagship Sport Car ของค่ายกันไปเลย โดยยังคงรูปแบบ “ขับเคลื่อนล้อหลัง” ไว้เป็นเอกลักษณ์ที่สายรถแรงทั่วโลกปรารถนา…

สำหรับรุ่นนี้ ก็จะแยกรุ่นรถหลักๆ 2 รุ่น คือ GA70 จะใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ 1G ความจุ 2.0 ลิตร ซึ่งจะมีตั้งแต่รุ่น S (รุ่นพื้นฐานสุด หรือ “ถูกสุด” นั่นเอง) และ G ใช้เครื่อง 1G-EU แคมเดี่ยว ไล่ไปถึง รุ่น GT เครื่องยนต์ 1G-GEU ฝา DOHC 24 วาล์ว 160 PS และสุดๆ ในรุ่น GT TWIN TURBO เครื่องยนต์ 1G-GTEU แบบ Twin Turbo ยอดนิยม “เสียงหวาน” แบบ “อินเตอร์อากาศ” ให้แรงม้าสูงสุดถึง 210 PS แบบนิ่มๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก เจ้า GA70 จะเป็นตัวถังแบบ Narrow Body ตามกฎการควบคุมขนาดมิติตัวรถของรัฐบาลญี่ปุ่น…

สำหรับตัว “พี่ใหญ่” ก็จะเป็น MA70 ในรุ่น 3.0 GT จะใช้เครื่องยนต์บล็อก M แบบใหม่ คือ 7M มีตั้งแต่ 7M-GEU 200 PS ออกมา “ชิมลาง” ก่อน แล้วในปี 1987 ได้ออกรุ่น 3.0 GT TURBO และ 3.0 GT TURBO Limited ที่ถือว่า “สุดยอด” ขุมพลัง คือ 7M-GTEU พ่วงเทอร์โบ GT26 ให้พลังถึง 230 PS ที่สมัยก่อนยุค “เซนต์จอห์น” ถือว่านี่คือ “เครื่องเทพ” แรงสุดๆ และ “แพงสุดๆ” ตัว “ปลั๊กเทา” ปีท้ายๆ ที่สภาพสดๆ คุยกัน “เอ็มละหมื่น” นิสัยเครื่องมีแรงบิดเยอะในรอบต่ำ เสียงทุ้มนุ่มดุดัน แต่ “หนักหน้าโคตร” โดยมากจะเอามาวางใน “กระบะ” แต่ต้องทำช่วงล่างดีๆ ไม่งั้น “ฟาดเสา” บางคันก็แปลงช่วงล่างหลังเป็นอิสระ ก็เอาของ A70 มาใส่นั่นแหละ ทำดีๆ ก็ดี แต่โอกาส “พลาด” มีสูง บางคันทำแล้วก็ “เป๋” หนักกว่าเดิม ทำไม่สำเร็จก็ “ทิ้งยกลำ” ไปก็เยอะ อ้อ เครื่อง 7M-GTE นี้ เป็นเครื่องตัวแรกของ TOYOTA ที่เป็นแบบ “ไร้จานจ่าย” ที่ให้การจุดระเบิดที่แม่นยำมากขึ้น…
หมายหูด เอ๊ย หมายเหตุ : ตัว U ที่ต่อท้ายรหัสเครื่องนั้น ในความหมายของ TOYOTA จะหมายถึง “เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษ” แรงม้าจะน้อยหน่อย แต่มลพิษต่ำ ตามกฎหมายควบคุมมลพิษของญี่ปุ่นครับ…

ในด้านมิติของ MA70 นั้น จะมีความแตกต่างจาก GA70 อย่างเห็นได้ชัด คือ จะเป็นแบบ “Wide Body” ทั้งในส่วนของแก้มหน้า (Front Fender) ที่จะมีเหมือน “แอ่ง” ทำให้ดูมีมิติมากขึ้น และแก้มหลัง (Rear Side Panel) ขยายบานออก ทำให้มิตินั้นดูโหด ดุดัน สวยงามกว่า GA70 อย่างเห็นได้ชัดเจน แน่นอนว่า ถ้าตัวรถกว้างเกินที่กฎหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ ก็จะต้อง “เสียภาษีในเรตที่สูงขึ้น” แต่ถ้าคนที่มีฐานะพอจะเล่นรถสปอร์ตระดับนี้แล้ว “ใครจะแคร์” กันละ สำหรับตัว Targa Top หรือ “หลังคาทาร์ก้า” หรือเรียกว่า “Sport Roof” ก็ได้ อันนี้แจ๋ว เพราะตรงใจกับตลาด “อเมริกา” และ “ยุโรป” ที่ชอบรถสไตล์นี้ ล้อก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นลาย “กงจักร” หรือ “Saw Blade” (ใบตัด) ขนาด 7 x 16 นิ้ว พร้อมยางใหญ่ขนาด 225/50R16 ดูแล้วสอดรับกับโป่งใหญ่ๆ ดีแท้…

สำหรับ “เทคนิค” ลูกเล่นของ A70 นั้น ก็มีไม่น้อยเหมือนกันนะ พวก Option ต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ระบบ TEMS หรือ Toyota Electronic Modulated Suspension เป็นระบบ “ปรับโช้คอัพแบบไฟฟ้า” ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 โหมด 2 โหมด Comfort & Sport คนขับปรับเองได้ขณะที่รถวิ่ง (Activated on the fly) และอีก 1 โหมด จะเป็น Auto ที่ปรับให้เองตามสภาวะการขับขี่ที่เซ็นเซอร์จับได้ กล่องควบคุม TEMS นี้ ทาง HKS ยังมีผลิตขึ้นมา เพื่อการปรับที่ละเอียดและกว้างขึ้นอีกนะ แต่ปัจจุบันนี้ TEMS ก็แทบไม่น่าจะเหลือใช้กันแล้ว ส่วนใหญ่ก็เจ๊งไปตามกาลเวลา เจ้าของรถก็ซื้อ “โช้คอัพโมดิฟาย” ใส่แทนเลย จบเรื่อง ระบบนี้ก็เลยเป็นความทรงจำไป ส่วนอีกอย่าง คือ ระบบเบรก ABS แบบ 3 Channel ข้างหน้า 2 แยกซ้าย-ขวา ข้างหลัง 1 โดยใช้วาล์วเฉลี่ยไปยังล้อทั้งสองข้าง…

ปี 1988 โดยรวมก็ยังไม่เปลี่ยนอะไรไปมากนักในด้านตัวรถ แต่จะมีพวก “ของไอ้จุกไอ้จ้อย” พวกอุปกรณ์อำนวยความสะเดิดทั้งหลาย เอาหลักๆ เช่น “ยกเลิกสีทองและน้ำตาลแบบ Two Tone” ซึ่งก็ดูหรูหราดีนะ สีนี้จะมีใช้ใน SOARER MZ10 ที่ใช้ Platform เดียวกัน สำหรับรถ JDM ในรุ่น 3.0 GT Limited สามารถเลือก “สีภายใน” ได้ถึง 6 สี ส่วน “หน้าปัดดิจิทัล” จะมีใช้ในรุ่น Turbo ทั้งหมด ส่วน “ภายในหนัง” จะมีเฉพาะรุ่น 3.0 GT TURBO Limited เท่านั้น…

ปี 1989 เปลี่ยนลุคใหม่ หรือ Facelift กันชนหน้าเปลี่ยนทรง จะมี “จมูก” ตรงกลางกันชน ไฟเลี้ยวจะสั้นลง ต่างจากรุ่นก่อนที่จะเป็นกระจังยาวตลอดช่วง ไฟเลี้ยวก็ยาว ส่วนไฟท้าย ก็เปลี่ยนใหม่ เป็นแบบ “ทับทิมเต็ม” โดยจะมีโคมไฟสีขาว 3 แถบ อยู่ด้านข้าง ดูทันสมัยขึ้นเยอะ ในปีนี้เอง จะมี “ตัวพิเศษ” คือ “White Package” คือ ข้างนอก ล้อเล้ออะไรแม่งก็ขาวหมดเลยไง ส่วนภายในก็ไม่ต้องเสือกเลือกเยอะ เพราะมีแค่ 2 เฉดสี คือ สีน้ำเงิน และ แดง Burgundy ส่วนอื่นๆ เช่น ระบบ Super monitor ที่คำนวณระยะทางวิ่งที่เหลือจากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง กับความเร็วที่ใช้ ว่าจะไปได้อีกสักกี่น้ำ จะมีในตัว US Spec เพราะกลัวไปน้ำมันหมดตาย 5 อยู่บน Freeway โทษนะ โดน “ปรับ” อีกนะ ข้อหาขับรถส่งเดช ทำให้เสียเวลามากู้ลาก อเมริกาไม่เหมือนบ้านเราเด้อครับ…

ขุมพลังน้องชายอีกเหมือนกัน 2JZ-GTE จาก JZA80 ที่เน้น “ขับสบาย ใช้งานได้จริง”

Turbo A !!! MA70
สำหรับตัวที่เป็นสุดติ่งกระดิ่งแมวในเวอร์ชัน MA70 นี้ ในปี 1988 การแข่งขัน Group A Racing รายการ Japanese Touring Car Championship (JTCC) กำลังเดือด แน่นอนว่า ก็ต้องมีสุดยอดสปอร์ตทัวริ่งหลายค่ายเข้าชิงชัย ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป เสน่ห์ของรถ Group A ก็คือ ตัวรถก็มิติเดิม แต่ “ยัดไส้” ไว้ไม่น้อย เช่น รถเตี้ย ล้อ Center Lock ยางสลิคหน้ากว้าง ล้อหน้าแคมเบอร์ลบเยอะๆ แต่ “ห้ามล้อล้นมานอกตัวถัง” ตัวแข่งที่โด่งดังจะเป็นทีม MINOLTA TOYOTA สีฟ้า-ขาว ที่เป็นโมเดล TAMIYA ในตำนานนั่นแหละ รวมถึงรายการแข่งใน “ออสเตรเลีย” คือ ATCC และแล้ว ด้วยกติกาของ Group A จึงต้องผลิตรถ Production อย่างต่ำ 500 คัน สำหรับแข่งขัน จึงได้เกิดเจ้า SUPRA Turbo A ออกมา ซึ่งมีข้อแตกต่างจากตัว 3.0 GT TURBO ปกติ ดังนี้…
< ตัวรถจะมีเฉพาะสีดำ เบอร์สี 202 และมีสติกเกอร์ + โลโกท้าย “3.0 GT Turbo A” กันชนหน้าจะมี “ช่องลมพิเศษ” ตรงป้ายทะเบียนเดิม เรียกว่า Turbo A Duct ดักลมเข้าเป่าอินเตอร์ฯ ล้อลาย Saw Blade ขนาดเท่ากันกับตัวปกติ แต่เป็น “สีดำ” ดุดันเหมือนกับตัวรถ…
< ภายใน จะเป็นหนังสีเทา พวงมาลัย และหัวเกียร์ เป็น MOMO ทั้งคู่เลย…
< เครื่องยนต์ 7M-GTE (โน U) มีการโมดิฟายจากโรงงาน เช่น เปลี่ยนเทอร์โบจาก CT26 เป็นเทอร์โบอะไรก็ไม่รู้ที่ขนาดใหญ่ขึ้น มีการ Stamp ตัว E บางที่ก็บอก A บางที่ก็บอกเป็นเทอร์โบ Air Research ลิ้นเร่งมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิม 60 มม. ไปเป็น 65 มม. ส่วน “ท่อไอดี” ท่อนที่คาดอยู่บนฝาวาล์ว จากเดิมที่มีโลโก 3000 ถ้าเป็น Turbo A จะไม่มีตัวเลขนี้ และมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลิ้นเร่ง กล่องกรองอากาศ เป็น “โลหะ” มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมที่เป็นแบบพลาสติก…
< ระบบ Air Flow Meter (AFM) จากเดิมที่เป็นแบบ Karman Vortex ไปเป็นแบบ MAP Sensor แบบปัจจุบัน ที่สามารถวัดอากาศได้มากขึ้น และไม่มีอะไรไปขวางปากเทอร์โบ…
< ระบบช่วงล่าง เพิ่มเหล็กกันโคลงให้ “ใหญ่” ขึ้น และดิสก์เบรกจะเป็นแบบ “มีครีบระบายความร้อน” (4 Wheels Ventilated Disc) ทั้ง 4 ล้อ…
< สำหรับ “แรงม้า” เจ้า Turbo A มีแรงม้ามากถึง 270 PS !!! เรียกว่าแรงสุดๆ ในตระกูล ในเมืองไทยผมเคยเห็นเครื่องตัวนี้หลุดมาที่ร้าน “ชัยศิริยนต์” โดยได้รับข้อมูลว่า เป็น 7M-GTE ตัวพิเศษ และเห็นเทอร์โบมันมีอักษร A หรือ E นี่แหละ และรูปลักษณ์มันไม่เหมือนตัวปกติในบางจุด ซึ่งคนที่ดูรู้ก็จะ “รีบคว้า” เอาไว้ เพราะวางแล้วแรงกว่าตัวธรรมดาแบบเห็นๆ ซึ่งหลายคนเอาไว้ “หลอกแดก” พรรคพวกด้วยซ้ำ เพราะเครื่อง Turbo A นี้ ถ้าคนไม่รู้  ไม่ได้สังเกตจริงๆ จะไม่รู้เลย…

JZA70 จุดกำเนิด “อาการเจ” 
ปี 1991 (บางที 1990) SUPRA MK III ได้เพิ่มรุ่นใหม่มา คือ 2.5 GT Twin Turbo เครื่องยนต์บล็อกใหม่บันลือโลก คือ 1JZ-GTE ความจุ 2.5 ลิตร อัดอากาศด้วย Twin Turbo รุ่น CT12 มีเรี่ยวแรงถึง 280 PS ตามกฎหมายญี่ปุ่น “ตอน” เอาไว้ เรียกว่าพอจะไปรบกับเพื่อนฝูงได้ เช่น NISSAN 300 ZX, MITSUBISHI GTO, MAZDA RX-7 และคู่แข่งในสาย Group A ตัวฉกาจ คือ NISSAN SKYLINE GT-R R32 นั่นเอง ภายนอก จุดเด่นๆ ก็คือ เปลี่ยนล้อเป็นลาย “ดาว” 5 ก้าน ขนาดเท่าเดิม อันนี้ต้องบอกก่อนนะครับ ว่า “ลุค” แบบนี้ มันมีรุ่น MA70 ปีสุดท้าย ที่ยังขายควบคู่กันไปด้วยนะครับ ตอนแรกก็เล่นเอาเง็งเหมือนกัน สำหรับ JZA70 นั้น จะมีเฉพาะ JDM อย่างเดียว รวมถึง GA70 ด้วยครับ แต่อาจจะมีไปยังประเทศที่เป็น “พวงมาลัยขวา” เช่น อังกฤษ, ออสเตรเลีย ก็ได้…

JZA70-R
อันนี้เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันพิเศษในรุ่น A70 ที่อาจจะไม่ค่อยรู้จักกันนัก คือ 2.5 GT Twin Turbo R (Racing) เป็นการปรับแต่งสมรรถนะให้ “เปรี้ยว” มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการขับขี่ มีการปรับแต่งให้เหนือกว่ารุ่นปกติไปอีก เช่น อินเตอร์คูลเลอร์ มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วงล่างอัปเกรดใหม่ เปลี่ยนเหล็กกันโคลง ใช้วัสดุที่เบาขึ้น เพื่อให้การทำงานของช่วงล่างเร็วขึ้น โช้คอัพเป็น BILSTEIN ลิมิเต็ดสลิป เป็นแบบ Torsen (ใช้เฟืองเป็นตัวกำหนดแรงขับเคลื่อน) ภายใน จะเป็นสี Dark Grey พวงมาลัย และหัวเกียร์ MOMO เบาะนั่งเป็น RECARO รวมถึงแผงข้าง ก็เป็นผ้า RECARO เหมือนกัน ล้อแบบ 5 ก้าน ลายดาว ทำสี Charcoal Grey กันชนหน้า มีช่อง Air Duct ดักลมไปเป่าเบรก ในปี 1992 เพิ่ม “สีพิเศษ” สำหรับรุ่นนี้ คือ Jade Mica Green สรุป เจ้า JZA70-R นี้ เป็นรถที่เร็วและเบา สมรรถนะยอดเยี่ยมที่สุดในตระกูล MK III ครับ…

สุดตำนานระบือโลก JZA80 MK IV
หลังจากที่ MK III หรือ A70 นั้น จบวงจรชีวิตไปในปี 1992 แล้ว เจ้า New SUPRA ในรหัส JZA80 ก็ออกมาให้แฟนๆ ได้ฮือฮากันอีกครั้ง ด้วยรูปทรงอันโค้งมน กลมกลึง ชวนหลงใหล แถมยังมีขุมพลังบันลือโลก อย่าง 2JZ ความจุ 3.0 ลิตร มีชื่อด้วยนะ คือ LASRE ALPHA II ก็คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณเครื่องตัวนี้กันให้มากนัก โดยเฉพาะ 2JZ-GTE ที่ชวนสงสัยว่า “เครื่องมันมีเยอะกว่ารถหรือยังไง” ทำไมมันเยอะจัง ทำไมมันเยอะกว่าชาวบ้านเขา แถมด้วยความจุที่กลับมาเป็น 3.0 ลิตร มีความทนทานสูง ทำให้สามารถทำแรงม้าได้มากและง่าย โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนไส้ในกันเยอะนัก เรียกว่าในวงการโมดิฟาย โดยเฉพาะในวงการ Drag คงไม่มีเครื่องตัวไหนจะ Top Hit เท่ามันอีกแล้ว…
จุดเริ่มต้นของ JZA80 นี้ สตาร์ตเครื่องเมื่อเดือนตุลาคม 1992 SUPRA คันแรกออกมาเป็นตัว “ทดสอบก่อนจำหน่ายจริง” หรือ Pre-production เลขตัวรถคันแรก 0001001 ไปจนถึง 0001010 ส่วนเดือนเมษายน 1993 แถลงข่าวเปิด “ประเดิม” การผลิต SUPRA รุ่นนี้ ในโรงงาน TOYOTA MOTOR CORPORATION MOTOMACHI ใน Plant ที่ A21-A26 และถัดมา ในวันที่ 24 พฤษภาคม ก็ได้เปิดตัวจำหน่ายจริงอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งเป็นรุ่นหลักๆ คือ…
< 3000 TWINCAM 24 : จะแบ่งเป็นรุ่น SZ และ Aero Top ซึ่งเป็นการเรียกอย่างเป็นทางการกับหลังคาแบบ Targa เครื่องยนต์ 2JZ-GE เรี่ยวแรงซิ่งสบายๆ 225 PS แบบ “ไร้หอย” รุ่น SZ จะมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ออโต้ 4 สปีด ECT-S ส่วน Aero Top จะมีเกียร์ออโต้เพียงอย่างเดียว ล้อเป็นแบบ 5 ก้าน ลายดอกไม้ๆ หน่อย ขนาด 8 x 16 นิ้ว กับยางขนาด 225/50R16 พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ไม่มี Air Bag…
< 3000 TWINCAM 24 TWO WAY TWIN TURBO : จะแบ่งเป็นรุ่น GZ ที่ภายนอกจะมาโล้นๆ ไม่มีสปอยเลอร์หลัง ภายในเป็นเบาะหนังสีดำ เป็นรุ่น “หรูหรา” ราคาแพงที่สุด คือ “4,661,000 เยน” อีกรุ่น คือ Aero Top และรุ่น RZ ที่ “ทรงเครื่องเต็ม” มีสปอยเลอร์หลัง ภายในเป็นเบาะผ้าสปอร์ตสีเทา ราคา 4,481,000 เยน รุ่น GZ พวงมาลัยจะเป็น 4 ก้าน พร้อม SRS Air Bag (รุ่น RZ เป็น Option) เครื่องยนต์ 2JZ-GTE มีเรี่ยวแรง 280 PS สำหรับ JDM สำหรับ “ราคา” รุ่น GZ และ Aero Top จะมีเฉพาะเกียร์ออโต้ แบบ 4 สปีด ECT-iS (มี i เพิ่มมา คือ Intelligent) ส่วน RZ ก็จะได้เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ของ GETRAG V160 (ผลิตในเมืองเบียร์) และเกียร์ออโต้ AISIN พร้อมระบบ ECT-iS ส่วน “ล้อ” หากดูเผินๆ จะคล้ายๆ กับ SZ แต่มีความต่างอยู่บ้างต้องสังเกตดีๆ แต่ที่แน่ๆ เป็นสี Gun Metallic ส่วนขนาดก็ไม่เท่ากัน ด้านหน้า 8 x 16 นิ้ว ด้านหลัง 9 x 16 นิ้ว ยางหลังเพิ่มขนาดเป็น 245/45R16 ส่วนล้อขนาด 17 นิ้ว กับชุดเบรก 4 Pistons คาลิเปอร์โลโก SUPRA จานหน้าขนาด 323 มม. เป็น Option
< ปี 1994 มีการเปลี่ยนแปลง โดยการเพิ่มรุ่น SZ-R แม้จะเป็นเครื่อง N.A. แต่ก็ใส่ของมาให้ไม่แพ้รุ่น Turbo เช่น โช้คอัพ BILSTEIN สปอยเลอร์หลังทรงสูงแบบ Turbo look ลิมิเต็ดสลิปแบบ Torsen ระบบเบรก ABS แบบ 4 Channel พร้อม G-Sensor เหมือนกับว่าเอาใจคนที่ไม่เน้นความแรงอะไรมากนัก แต่เน้น “ความมั่นใจในการควบคุม” ที่เหนือชั้นมากขึ้น และมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ส่วนรุ่น Twin Turbo Aero Top ปีนี้จะเป็น “ปีสุดท้าย” ที่ผลิตจำหน่าย…
< ปี 1995 เพิ่มรุ่น RZ-S เข้ามา เป็นแนว Lightweight ตัดอุปกรณ์บางอย่างออกไป เช่น วิทยุ เอาออก ก็จะกลายเป็นช่องเก็บของโล่งๆ แทน เบาะเป็นผ้าสีเทาเรียบๆ ในรุ่น RZ ก็จะมีเบาะ RECARO SR-III Le Mans เป็น Option ในรุ่นเทอร์โบทั้งหมด GZ, RZ, RZ-S จะให้ล้อขนาด 8.5 x 17 นิ้ว และ 9.5 x 17 นิ้ว พร้อมเบรกหน้า 4 pistons เบรกหลัง 2 pistons พร้อมโลโก SUPRA มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และที่สังเกตได้ชัดเจน คือ รุ่น TT (Twin Turbo) Aero Top จะ “ยกเลิกการผลิต” (Discontinued) แล้ว…
< ปี 1996 “ไมเนอร์เชนจ์” เปลี่ยนรูปทรงกันชนใหม่ ให้ดูโฉบเฉี่ยวกว่าเดิม ไฟมุมกันชนจะเปลี่ยนเป็นทรงยาว กรอบใส และมี Position Lamp ข้างกันชน ทุกรุ่นเปลี่ยน “ฝากลางล้อ” ใหม่ จากเดิมแบบเรียบๆ จะเป็นแบบ “5 หลุม” เหมือน “เตาขนมครก” ภายในเปลี่ยนใหม่ เป็น “พรมพื้นสีดำ” หน้าปัดเป็นแบบ 5 หลุม มีเรือนไมล์ วัดรอบ และ “3 หลุมเล็ก” จะมี Fuel Level, Water Temp และ Boost ในรุ่น Turbo หรือ Volts รุ่น N.A. เปลี่ยนรูปแบบ “ฟอนต์” ของเกจ์วัดใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น เป็น “สเกลละเอียด” มากขึ้น ส่วน “นาฬิกา” เปลี่ยนจาก “ดิจิทัล” ตัวก่อน มาเป็นแบบ “แอนะล็อก” หรือ “เข็ม” ย้อนยุคไปอีก สำหรับรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลง ตัว GZ เลิกผลิต ส่วนตัว RZ-S ก็ตัดอุปกรณ์บางอย่างออกไป (เหมือนขยำรวมกับ GZ) ล้อก็เป็น 16 นิ้ว แต่ได้เบรก “ลายเซ็น” อยู่ (แต่เป็นขนาดเล็กกว่าล้อ 17 นิ้ว เพื่อให้ใส่ล้อ 16 นิ้ว ได้) แล้วก็เพิ่มรุ่น SZ-R เข้ามา ที่เอาอุปกรณ์ต่างๆ ของ RZ มาใส่ ถ้าดูเผินๆ จะเหมือนกันเด๊ะเลย แถมยังได้เกียร์ 6 Speed แบบเดียวกับตัว Twin Turbo อีกด้วย ส่วนล้อ 17 นิ้ว และเบรกใหญ่ เป็น Option ส่วน Air Bag จะเป็น “อุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น” สำหรับเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ได้เปลี่ยน “ซินโครเมช” เกียร์ 2 ให้แข็งแรงทนทานมากขึ้น เพราะจังหวะ 1 ไป 2 นี่แหละที่โดน “กระแทก” มากที่สุด ส่วนรุ่น RZ ทั้งหมด เปลี่ยนเป็นหม้อน้ำอะลูมิเนียม ให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น…
< ปี 1997 เดือนเมษายน หยุดการผลิตที่ TOYOTA MOTOR CORPORATION MOTOMACHI ย้ายไปยัง TOYOTA MOTOR CORPORATION “KANTO AUTO WORKS” ใน Plant M21-22 โรงงานนี้มีประวัติอันยาวนาน เป็นโรงงานที่ผลิตรถ TOYOTA โมเดลพิเศษ โดยเริ่มตั้งแต่ TOYOTA 2000 GT ตัวพ่อของ SUPRA และตัวเทพของวงการรถคลาสสิก ในปี 1967 และรถธงหรูหราสุดๆ ที่ได้รับฉายาว่า “Japanese Rolls-Royce” คือ CENTURY นั่นเอง ปัจจุบันที่นี่ผลิตรถระดับ Hi-End อยู่นะ เช่น CENTURY หรือ LEXUS สำหรับเลขตัวถัง (Vin Code) ของ SUPRA ที่ผลิตที่นี่ จะต้องถูก “รีเซต” ใหม่ โดยจะเริ่มจากเลข 1000000 เป็นต้นไป ซึ่งตัวที่ “ไม่มี VVT-i” นี้ จะถูกผลิตเป็น Lot ท้ายๆ ที่นี่เอง…
< ปี 1997 ต่อนะ ตั้งแต่เลขตัวถัง 1000849 จะเปลี่ยนแปลงอีกรอบ ด้วยการใช้เครื่องยนต์ 2JZ-GE และ GTE แบบมี VVT-i หรือ “สองเจวีวี” นั่นแหละ ชื่อของเครื่องจะเปลี่ยนจาก LASRE ALPHA II มาเป็น BEAMS (มันไม่ได้เป็นชื่อที่มีเฉพาะใน 3S นะครับ) ตัวเทอร์โบมีแรงม้าเท่าเดิม แต่มีแรงบิดเพิ่มจาก 44.0 kg-m ไปเป็น 46.0 kg-m “สุดขั้วหัวใจ” กันเลยทีเดียว เปลี่ยนแอร์โฟล์วมิเตอร์ (AFM) ไปเป็นแบบ “ขดลวด” หรือ Hot Wire รุ่นเกียร์ธรรมดา 6 สปีด เปลี่ยนเกียร์รุ่นใหม่เป็น V161 ที่อัตราทดเกียร์ 6 จะ “จัด” ขึ้นกว่าเดิม ส่วนเกียร์ออโต้ เปลี่ยนแปลงใหม่ เป็นแบบ ECT-iE เพิ่มระบบ Lock up torque converter ในเกียร์ 4 พร้อมระบบ Tiptronic เปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยได้ ส่วนภายใน เปลี่ยนพวงมาลัยทรงใหม่ แบบ 3 ก้านโค้ง ดูสปอร์ตกว่าเดิมเยอะ เบาะในรุ่น RZ กับ SZ-R จะเป็น RECARO SR-III มาเลย ส่วนระบบช่วงล่าง ก็เปิดตัวระบบ REAS (Relative Absorber System) หลักการก็คล้ายๆ กับระบบ TEMS ใน A70 แต่พัฒนาให้การปรับและตอบสนองนั้นรวดเร็ว ทันสมัยมากขึ้น…
< ปี 1999 เลิกการผลิตรุ่น SZ-R Aero Top เท่ากับว่า หลังจากนี้ไปจะไม่มีรุ่น Aero Top อีกแล้วนะจ๊ะ !!! และเปลี่ยนรหัส Vin Code ตัวหน้าสุด จาก E เป็น GF เช่น GF-JZA80-XXXXX ไอ้เรื่องห้าตัวหลังนี้ “มันยาว” ถ้าเขียนหมดคงไม่ต้องมีคอลัมน์อื่นกันละ เลยขอ “ละไว้” ก่อนนะ…
< ปี 2002 “จบสายการผลิต” SUPRA JZA80 อย่างถาวร ในปีนี้จะมีรถตั้งแต่เลขตัวถัง 1005856 เป็นต้นไป สำหรับ “ราคา” รุ่น RZ จบที่ 4,555,000 เยน (ยังไม่รวม Tax) เรียกว่าเป็นรถที่มีอายุการผลิตยาวนานมากเกือบ 10 ปี นานที่สุดในสายการผลิตของ TOYOTA Sport Car…

UK Spec
ขอพูดถึง “โดยสรุป” ก็แล้วกัน จริงๆ แล้ว มันก็จะมีแบ่งหลักๆ 3 ตลาดใหญ่ๆ คือ Japan Spec หรือ JDM, US Spec สำหรับอเมริกา ที่มีกำลังถึง 320 PS และ UK Spec สำหรับอังกฤษ จะเป็นรถที่มี “สเป็กสูงสุดในโลก” มีกำลังมากที่สุดถึง 326 PS ซึ่ง UK Spec นี้ จะใกล้ตัวมากที่สุดเพราะ “เป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกับบ้านเรา” ซึ่งในสมัยก่อน “ผู้นำเข้าอิสระ” บางที่ก็นำเข้าตัวนี้มาขาย เพราะตอนนั้นรถ JDM มีปัญหาเรื่อง “Speed Limit Cut” ที่ 180 km/h จริงๆ แล้วก็ใส่ตัว Defenser ปลดล็อกก็ได้ แต่ UK Spec แรงกว่าแต่กำเนิด และจำกัดความเร็วถึง 155 mph หรือ 248 km/h (ซึ่งรถซึ่งนับว่าเดิมๆ ก็เหลือจะพอแล้ว เอาเป็นว่า สรุปเลยละกัน ว่ามัน “พิเศษ” กว่า JDM อย่างไรบ้าง โดยเราจะพูดถึง “อุปกรณ์มาตรฐาน” ติดรถเป็นหลัก…
< ภายนอก จะมี Scoop ดักลมบนฝากระโปรงเฉพาะ UK Spec เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ว่ามันโคตรขัดตาจริงๆ หลายคนจึงหาทางกำจัดมัน แต่ตอนนี้ “อย่างกับทอง” ต่อมา “ไฟหน้า” จะเป็น “โคมแก้ว” พร้อม “ที่ฉีดน้ำ” ติดกับกันชน ส่วน “ไฟท้าย” ก็เช่นเดียวกัน ถ้า JDM จะเป็นโคมพลาสติก “ไฟทับทิมข้าง” จะมีด้านหลังเพิ่มมา ตามกฎหมายของอังกฤษ, ยุโรป, อเมริกา สำหรับ “ลิ้นหน้า” JDM รุ่น RZ จะเป็นแบบ “ปรับยื่นหุบได้ตามความเร็วรถ” เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ UK จะเป็นแบบ “ยึดตาย” ปกติจะเอาแบบหุบเข้าหุบออกก็สั่งเป็น Option ได้ กระจกมองข้างมีระบบอุ่น “ละลายฝ้า” เพราะเน้นเมืองหนาว ส่วน JDM จะเป็นแบบ “พับเก็บได้” นะครับ…
< ภายใน เบาะนั่งจะเป็น “หนังสีครีม Ivory” หรือ “หนังสีดำ” เบาะหน้าจะมีระบบ “อุ่นตูด” เรือนไมล์จะเป็นแบบ 180 mph ส่วนวงในจะเป็น 300 km/h มี Air Bag ฝั่งคนนั่ง และ Cruise Control เครื่องเสียงมาเต็ม พร้อมเล่น CD 6 แผ่น และรีโมท กับลำโพง 6 จุด ยังมี “วัดอุณหภูมิภายนอก” อยู่ที่นาฬิกาแบบดิจิทัล ส่วนสเป็กอื่นๆ ไม่มี…
< เครื่องยนต์ แคมชาฟต์องศาสูงขึ้นเป็น 233 องศา ลิฟต์ 8.24 มม. (JDM 224 องศา ลิฟต์ 7.8 มม.) เทอร์โบเป็นรุ่น CT12B แบบ “ใบเหล็ก” ยอดใบหน้า 58 มม. ยอดใบหลัง 52 มม. ส่วน JDM จะเป็นเทอร์โบ CT20A แต่เสือกขนาดใหญ่กว่า งงมะ ??? เป็นใบ “เซรามิก” ยอดใบหน้า 62 มม. ยอดใบหลัง 60 มม. มีระบบ EGR การวัดอากาศเข้าเครื่อง อีนี่ใช้ Air Flow Meter ส่วน JDM เป็น Map Sensor…
< ระบบส่งกำลัง มีเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และ ออโต้ 4 สปีด ตัวออโต้จะมี “ออยล์คูลเลอร์น้ำมันเกียร์ 2 จุด” คือ ใต้หม้อน้ำ และหลังช่องดักลมที่กันชน (JDM มีจุดเดียว) เฟืองท้าย UK อัตราทดต่ำกว่า อยู่ที่ 3.133 พร้อมลิมิเต็ดสลิปแบบ Torsen เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ส่วน JDM อยู่ที่ 3.266 ระบบ Traction Control จะเป็น TCS (JDM = ETCS) และยังมีสิ่งพิเศษ คือ “ระบบช่วยเบรกหลัง” เอง กรณีล้อฟรีหรือลื่นไถล…
< ล้อ และเบรก UK จะได้ล้อ 17 นิ้ว เป็นอุปกรณ์มาตรฐานตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงเบรกใหญ่ 4 pistons กับจานหน้า 323 มม. เช่นเดียวกัน…
< Vin Code ตัวหน้าสุด JDM จะเป็น E หรือ GF ส่วน UK จะเป็นตัว R ครับ…

A90 หรือโลกแห่งสปอร์ตจะเปลี่ยนไป
ปี 2019 หรือ “17 ปี แห่งความหลัง” New Supra กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางความคิดถึงและ “การคาดหวังที่สูง” ของแฟนๆ Jap Sport Car แต่…การคาดหวังนั้น มันคงไม่ได้เป็นไปตามใจเราทุกประการ ตาม “กาลเวลา” ที่เปลี่ยนไป แน่นอน…สิ่งเดิมๆ ย่อมไม่หวนคืนมาอย่างที่เราคาดหวังแน่ๆ  แล้วยิ่งมารวมร่างกับ BMW Z4 อีก มันชักจะยังไงๆ กันแน่ ??? เอางี้แล้วกัน เรื่องข้อมูล สเป็ก ตัวรถต่างๆ ผมก็เคยเขียนถึงกันไปแล้ว และในเว็บไซต์ต่างๆ ก็กระหน่ำเช็ดกัน สามารถเลือก “เสพย์” ได้ เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องกล่าวซ้ำกันอีก เอาไว้รอ “ตัวจริงออก” แล้วเราจะขยี้กันอีกคราโดยละเอียด แต่ตอนนี้เรามาคุยกันถึง “มุมมอง” ว่า “ทำไมถึงออกมาแบบนี้” ดีมั้ย ??? บอกก่อนนะ ว่าเราจะเป็นการ “คาดการณ์” โดยดุลยพินิจจากข้อมูลรอบตัว และ “คนรอบข้าง” มันจึงไม่ตรงใจกับทุกคน ใครจะศรัทธาเซียนคนไหนก็ว่ากันไป ไม่มีใครผิดใครถูก OK นะ…
< SUPRA A90 จะไม่ใช่ “รถธง” เช่นอดีตอีกต่อไป ความเข้าใจนี้เกิดจากที่ TOYOTA ไปดัน LEXUS ขึ้นเป็นรถธงระดับ Premium Brand ตัวแรงๆ พวกตระกูล F ทั้งหลาย เช่น RC-F หรือสุดประเทศก็ต้อง LFA ที่เทียบชั้นระดับ Super Car ส่วน SUPRA ทาง TOYOTA ก็พยายามให้เป็นรถที่ “เอื้อมถึงได้ง่าย” เฉกเช่นเดียวกับ 86 ที่ผ่านมา…
< การร่วม Platform กับ BMW นั้น เกิดจากที่ BMW ให้ TOYOTA พัฒนาระบบ “ไฮบริด” ให้ ทาง TOYOTA ก็เห็นว่า BMW เชี่ยวชาญทางด้านรถสปอร์ต ก็เลย “สะเวิ้บ” รวมกันซะเลย สิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ คือ “ราคาที่ถูกลง” เพราะไม่ต้องไปทำ R&D เพื่อออกแบบรถใหม่ทั้งหมด เหมือน GT-R หรือ NSX ซึ่งจะมีราคาสูงมาก การแชร์ Platform & Engine ร่วมกัน จึงทำให้ลด Cost การผลิตลงได้โข เอาง่ายๆ ราคาที่อเมริกา ตัว RZ 3.0 L ตัวท็อป คิดเป็นเงินไทยประมาณ “เฉียดสองล้านบาทไทย” มาบ้านเราโดนภาษีก็น่าจะประมาณ “ห้าล้านกว่าถึงหกล้าน” ส่วนตัวรอง 4 สูบ ก็น่าจะราวๆ “สามล้านกว่า” ก็ไม่ยากต่อการตัดสินใจ ถ้าเทียบกับ GT-R ราคาไทยก็ “สิบห้าล้าน” แม่งเกือบสามเท่าเลยนะเว้ยเฮ้ย เพราะฉะนั้น อย่าได้บ่น คุณจะได้มีงบเหลือเอามาโมดิฟายให้หนำใจโดยไม่ต้องคิดเยอะ…
< สุดท้ายแล้ว หลายๆ คนคงจะผิดหวัง ที่เป็นเครื่อง BMW B58B30 3.0 เทอร์โบแปรผัน เออ แต่อย่าดูถูกนะเว้ย แรงม้าเดิมๆ อยู่ที่ 340 PS แล้วนะ แล้วเครื่องใหม่ๆ ทำนิดหน่อยแม่งก็ขึ้นไปเยอะแล้ว เรียกว่าระดับนี้ 500 PS สบายมาก จริงๆ แล้ว เครื่อง BMW นี่ทนนะ แล้วก็ทำแรงม้าได้เยอะ ขอให้ “ของถึง เงินถึง” หน่อยแล้วกัน แต่มันอาจจะไม่ง่ายเหมือน 2JZ-GTE ที่เกลื่อนกลาดและเราถนัดกันอยู่แล้ว เอาน่า ไม่ลองก็ไม่รู้หรอก คนไทยทำได้อยู่แล้ว ขอเวลาอีกไม่นาน…

ขอขอบคุณ
K-FACTORY : “พี่ประชา” และ “พล” ที่ช่วยอำนวยความสะดวก, Facebook/K Factory
SUPRA CLUB THAILAND : “ท๊อป” และ “แอ๊ด” เอื้อเฟื้อรถและข้อมูล JZA80, Facebook/Supra Club Thailand