Return to Retro
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
ค่ำคืนแห่งความ “สนั่น” ลั่นไปด้วย “มิตรภาพ” ของ “คนซิ่งย้อนยุค” ที่ไม่ได้มารวมกันเพื่อแข่งขัน แต่มารวมตัวเพื่อสานสัมพันธ์วัยรุ่นยุค 90 ที่ต่างคนก็ต่างสะสมรถที่ตัวเองรักเอาไว้ขับมาหาสู่กัน ต่างคนต่าง “จอดนิ่ง” แต่สิ่งที่ดังไม่ใช่เสียงท่อ กลับเป็นเสียง “เฝ็น” คุยกันแบบออกรสทุกครั้งที่เจอกัน จนเวลาล่วงไป “มิดไนต์” ก็ต่างคนต่างสตาร์ตรถ เปล่า ไม่ได้ออกไปแข่ง แต่ “แยกย้ายกันกลับบ้าน” ทำหน้าที่ “พ่อบ้านใจกล้า” กันต่อไป ไว้เจอกันใหม่ในวันว่างๆ หรือใครอยากเจอกันก็ “ลั่นหน้าเฟซ” เดี๋ยวก็เจอกัน ค่ำคืนนี้เรามีนัดกับ “พี่โอ๋” แห่งทีมดัง SIX SECONDS กับการโชว์ตัวของ MAZDA CAPELLA ROTARY หรือ RX-2 นั่นเอง ซึ่งเป็นรถในอนุกรม 626 ที่มีขนาดใหญ่กว่า RX-3 และแน่นอนว่า ความหายากของมันก็ “ขั้นกว่า” อีก แม้ตัวรถ CAPELLA Coupe ธรรมดาก็ยังหาดูได้ยากยิ่งแล้ว RX-2 จะขนาดไหน !!! แต่เราก็หามาให้ชมจนได้…
- “รถแท้ ดูแลให้ดี” สีตรงเบอร์ “OA Hershal Orange 37932” มาแบบเป๊ะๆ ทรวดทรงยังคงงดงามดั่งรถป้ายแดง
เพราะฉะนั้น มันจึงหายากฉะนี้
เอางี้ครับ ตั้งแต่ผมทำคอลัมน์นี้มา 12 ปี เพิ่งจะเคยถ่าย RX-2 ไป คันนี้เป็นคันที่ 3 เท่านั้นเอง ก็เพราะความหายากของมัน ทำไมถึงหายาก คงต้องย้อนไปถึงอดีตรากเหง้า ในปี 1971 MAZDA CAPELLA ในอนุกรม “616” ซึ่งเป็นรถขนาดกลางที่สร้างขึ้นมาให้ดูหรูหรา มีทั้งแบบซีดานและคูเป้ ซึ่งนำมาตอบโจทย์คนที่อยากได้ความเป็นสปอร์ต แต่ยังต้องขับใช้งานโดยสารได้อย่างสบาย แม้จะเป็นตัวคูเป้ แต่ก็ยังสามารถนั่งหลังอีก 2 คนได้ นัยว่าเป็นรถสปอร์ตแบบครอบครัวได้อีก และตัวรถมีราคาที่ไม่แพงมากนัก ไม่ไปทางสปอร์ตจ๋าสุดขั้วแบบ COSMO ซึ่งเป็นรถที่มีราคาแพง คนที่ซื้อจะต้อง “ถึง” และคนเหล่านี้มีจำนวนจำกัด จะว่าไม่นิยมก็ไม่ได้ เพราะรถแพง คนก็มีซื้อน้อยเป็นเรื่องปกติ…
- กระจกแก้ม “ตรงรุ่น” ครับผม
- โลโก “ว่าว” RE บนแก้มข้างด้านหน้า ว่ากันว่าหายากสุดๆ
ทาง MATSUDA หรือ “มัตสึดะ” ชื่อรากเหง้าของ MAZDA ในนามบริษัท TOYO KOGYO ได้คิดถูกที่ผลิตรถสไตล์นี้ขึ้นมาตอบสนองผู้บริโภคตลาดใหญ่ ซึ่งตัว RX-2 ก็ใช้ตัวถังร่วมกับ CAPELLA ปกติ เท่ากับว่าประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้มาก จึงไม่แปลกที่จะโด่งดังมากในยุคนั้น ซึ่งขนาดมันกำลัง “พอดี” ไม่ใหญ่และหรูเท่า LUCE (ลูเช่) ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ในค่าย แต่ก็อาจจะ “ป๊อป” สู้ RX-3 ไม่ได้ เพราะตัวรถมีขนาดใหญ่กว่า หรูหรากว่า และ “แพงกว่า” คนก็เล่นนิยม RX-3 ที่สมรรถนะปราดเปรียวกว่า…
- ยืนยันความตรงสเป็ก ด้วยล้อ HAYASHI STREET แบบ 4 รู 110 มม. ซึ่งเป็นรูเฉพาะของ MAZDA ยุคนั้น หาล้อแต่งตรงรุ่นตรงรูยากจริง
สำหรับข้อมูล ผมข้ามมา “ไทยแลนด์” ก็แล้วกัน เพราะในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะหาอ่านกันได้อยู่แล้ว เลยเน้นส่วนของข้อมูลจากนิตยสาร “กรังด์ปรีซ์” ที่นำรถรุ่นต่างๆ มาทดสอบและ “รีวิว” กัน เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไปแน่ๆ และ CAPELLA ROTARY นี้ก็เป็นหนึ่งในรถไฮไลต์ที่ไม่รอดการทดสอบไปไหนเสีย การตวัดเส้นสายปลายปากกาจาก BERTONE จะ “แบร์โตเน่” หรือ “เบอร์โตเน่” ก็แล้วแต่จะออกเสียง จึงดูทรงออกเรียบๆ แต่มีความงามเด่น โดยเฉพาะในรุ่นคูเป้ ส่วนท้ายที่เทลาด ส่วนข้างรถที่ไร้เสากลาง กระจกบานหูช้างที่เปิดลงรับลมได้สำหรับผู้โดยสารหลัง แต่สิ่งที่แตกต่างของภายนอกกับรุ่น 1600 เครื่องธรรมดา คือ “ไฟท้าย” ที่เป็นทรงกลม 4 ดวง ที่เอามาจากรุ่น FAMILIA ROTARY R100 และสัญลักษณ์ RE (Rotary Engine) รอบคัน นั้นเป็นสิ่งยืนยันถึงตัวตนมากที่สุด…
- ไฟท้ายกลม 4 ดวง เอกลักษณ์พิเศษของ RX-2 ล้อชุดนี้ Offset ลงตัวมาก พอดีๆ เพราะได้มาตรงรุ่น
ขุมพลังเป็น 12A 2 โรเตอร์ ความจุ 573 x 2 = 1,146 c.c. มีกำลังถึง 130 PS ที่ 7,000 rpm แรงบิด 115 ปอนด์-ฟุต ที่ 4,000 rpm แรงม้าขนาดนี้พอๆ กับเครื่องลูกสูบความจุ 2,000 c.c. ฝา DOHC เทียบเท่ากับพวก ALFA ROMEO 1750 หรือ BMW 2002 เลยทีเดียว ต่างๆ นับว่าทำมาเพื่อ “รับจบ” กับรถพวกนี้โดยเฉพาะ ซึ่งโรตารี่ 12A มีดีที่ “หมุนได้เสถียร” ราบลื่น แม้ในรอบจัดถึง 7,000 rpm ก็ยังไม่ส่อเค้าเสียงกร้าวๆ หรือแรงสะเทือนน่ากลัวเหมือนเครื่องลูกสูบส่วนใหญ่ (ในยุคนั้น) ความเร็วปลายทำได้กว่า 190 km/h ++ เรียกว่าไม่น้อยหน้ารถคูเป้ฝรั่งขนาดไม่เกิน 2.0 ลิตร เหมือนกัน ช่วงล่างดูจะโดดเด่นได้รับคำชมมาก ด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สันสตรัท เด่นที่เหล็กกันโคลงหน้าขนาดใหญ่ถึง 7/8 นิ้ว ช่วยให้ Handling คมและไม่ย้วย ด้านหลังเป็นคานแข็ง แต่ใช้ระบบ “คอยล์สปริง” และมี Links ยึด 4 จุด (ไม่น่าจะเหมือน 4 Links ของรถ Drag แน่ๆ เพราะทำหน้าที่คนละอย่าง) การทรงตัวทางผู้ทดสอบในคอลัมน์ “กล่าวชม” ว่ารถมีอาการค่อนข้างเป็นกลาง อาการ “ตูดออก” ที่มักจะเจอกับรถญี่ปุ่นขนาดกลางและเล็กยุคก่อนที่ใช้ “แหนบ” และ “ท้ายเบา” ซึ่ง RX-2 มีท้ายปัดน้อยมาก อีกประการ คือ “การสมดุลน้ำหนักหน้าและหลังที่ดี” เลยทำให้ขับสนุกสไตล์ ALFA ROMEO ประมาณนั้นเลย นี่เป็น Comment จากผู้เขียนคอลัมน์ทดสอบ…
- เล่นให้ถึงต้อง “มีเดิมครบ” แบบนี้
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ RX-2 มีคนซื้อน้อย ประการแรก อาจจะ “กลัว” เครื่องโรตารี่ ที่ช่างทั่วไปซ่อมไม่ได้ถ้าไม่เคยศึกษา อะไหล่ไม่แพร่หลาย และน่าจะเป็น “ราคา” ซึ่งรุ่น 1600 จะอยู่ที่ “89,000 บาท” ส่วน RX-2 จะโดดไปถึง “113,000 บาท” คนทั่วไปเลยซื้อรุ่น 1600 ซึ่งคนที่จะซื้อ RX-2 ก็ต้องเป็น “ระดับคนเล่นถึง” จริงๆ ซึ่งมีจำนวนน้อย รถมันก็เลยหายากตามไปด้วยนั่นเอง…
- ยอมรับว่าคันนี้มาเดิมสวยและดีเทลครบถ้วนจริงๆ โลโก MAZDA RX-2 สเป็ก JDM ถ้าเป็นบ้านเราจะเป็นคำว่า Capella ตวัดงามๆ ไฟทับทิมสเป็กอเมริกาจะเป็นสีแดง หรือสเป็กส่งออกบางประเทศ ถ้าสีส้มจะเป็นสเป็กญี่ปุ่น
- “ของมันต้องมี” โลโก VICTORY บนเสา C ตรงรุ่น
- ฝากระโปรงโหดด้วยช่องระบายลม ที่มีประโยชน์ในการนำความร้อนออกจากห้องเครื่อง และมีชุดรางกันน้ำให้เรียบร้อยจากโรงงาน เพราะนี่มันคือ “ของสแตนดาร์ด” ไงละครับ
Comment : โอ๋ SIX SECONDS
รถคันนี้ ผมก็ได้มานานแล้วค่อยๆ ทำ โดยให้ “พี่ใหม่” P&C GARAGE เป็นผู้ปลุกปั้นให้ทั้งหมด ยอมรับว่าตัวรถก็หายากครับ ยิ่งคันนี้เป็นรถ RX-2 แท้ๆ รหัส S122A เลยต้องคว้าไว้ก่อน อะไหล่ก็หายากกว่า RX-3 เพราะคนเล่นน้อย เรียกว่าต้องพยายามกันสูงมากจริงๆ พยายามเก็บของให้ครบ ทำสีส้มเดิมโรงงาน อะไรที่เป็นของตรงรุ่นก็ต้องหามา ใช้เวลาหลายปีเลยกว่าจะลงตัวในสภาพนี้ พอเสร็จมาก็ได้ตามหวังเลย…
- ดูเองครับ S122A “ตัวแท้”
- มาเดิมๆ เสน่ห์บนพวงมาลัยของ RX Series จะต้องเป็นโลโก “เอ็มมีหางในสามเหลี่ยม” ตัววงเป็นแบบ Plastic Wood ที่เป็นพลาสติกลายไม้ (จริงๆ หัวเกียร์เดิมก็เป็นแบบนี้ด้วย) พยายามจะหรูแต่ก็ไม่สุด
- RX-2 วัดรอบจะขึ้น “เรดไลน์” ที่ “หลักเจ็ด” แต่มี “เตือน” ด้วย “เยลโลไลน์” ก่อน ที่ “หกครึ่ง” บอกว่าชักจะลากรอบกูสูงไปแล้วนะ
- วิทยุแบรนด์คลาสสิก SANYO (อันนี้ไม่ใช่ JDM เพราะมีคลื่นถึง 108 MHz) แต่จริงๆ รถบ้านเราไม่มีวิทยุมาให้ ต้องซื้อใส่เองทีหลัง ออกจะขัดใจกับค่าตัว “เกินแสน” แต่ยังดีมีนาฬิกาของ JECO มาปลอบใจ
- คอนโซลด้านล่างมี “วิทยุซิ่ง” จาก BELTEK ที่เล่น “เทปคาสเซต” ได้
- เบาะนั่งทรง Sporty ไม่สปอร์ตจ๋าเต็มรูปแบบ ยังคงนั่งได้แน่นดี ไม่นุ่มจนยวบยาบ นั่งนานๆ แล้วปวดตูดเหมือนรถญี่ปุ่นสมัยนั้นทั่วไป
- 12A จัดการ Bridge Port แนว “ขอเสียง” ไม่เน้นแรงจัด ขับถนนได้ปกติ ใส่หัวฉีดพร้อมชุดคอท่อไอดี RACING BEAT คุมด้วยกล่อง MicroTech ของถนัด “พี่ใหม่ P&C” ฟลายวีล RACING BEAT แค่นี้ก็พอจะไหลรอบสูงได้เร้าใจกว่าเดิม
X-TRA Ordinary
เรื่อง “ไฟหน้า” ไอ้รุ่นนี้ดีไซน์จะ “สวนทาง” กับชาวบ้าน เพราะ “ไฟเหลี่ยมเกิดก่อน” ปกติรุ่นอื่นจะเป็น “ไฟกลมเกิดก่อน” สำหรับไฟเหลี่ยม จะเป็น “รุ่นแรก” ปี 1970-1971 ไมเนอร์เชนจ์ หรือ Facelift ครั้งแรก ปี 1973 จะเป็น ไฟกลมสี่ดวง และอีกทีในปี 1974-1978 จะเป็นไฟกลมสี่ดวง แต่หน้ามันจะบุ่ยๆ เหมือนผสม LUCE กับ RX-3 ยังไงบอกไม่ถูก เป็นรุ่นที่หน้าไม่สวย คนเลยไม่เล่นกัน…
ข้อมูลอ้างอิง : นิตยสารกรังด์ปรีซ์ ปี 1971 (เดือนอะไรไม่รู้จำไม่ได้) ทดสอบโดย คุณวัชระ จตุรานน และ www.ausrotary.com
ขอขอบคุณ : “พี่โอ๋ SIX SECONDS” เจ้าของรถ ไว้ ณ ที่นี้ ด้วยครับ…